xs
xsm
sm
md
lg

เด็กติดเกมผู้ไขความลับสุดยอดในจักรวาล "ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไปได้ความเก่งมาจากไหน?
อาจฟังดูเป็นคำถามไม่เข้าท่า แต่เราก็เชื่อว่า มันตรงจุดที่สุดแล้ว
“อ๋อ...” คนหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ลากเสียงยาว แซมยิ้มที่มุมปาก คล้ายรู้สึกนึกขำในคำถามเริ่มต้นของเรา แล้วค่อยกล่าว...
บอกก่อนเลยครับว่า ผมไม่ใช่คนเก่งหรืออัจฉริยะอะไรหรอกครับ อีกทั้งผมยังเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นอัจฉริยะได้เหมือนกัน เพียงแต่เป็นในแบบของตนเอง เราอาจจะแค่ยังหามันไม่เจอ อย่างแม่บ้านของผมนี่ เขาเป็นอัจฉริยะในด้านการทำอาหารมาก แล้วถ้าเขาได้ไปทำอาหารที่โรงแรมดังๆ ฝีมือก็ไม่แพ้เชฟโรงแรมห้าดาว

โธมัส อัลวา เอดิสัน คนที่ประดิษฐ์หลอดไฟ กล่าวไว้ว่า ความเป็นอัจฉริยะของคนคนหนึ่ง มันมีแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่เป็นพรสวรรค์ ส่วนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นพรแสวง ความเป็นอัจฉริยะในความคิดของเอดิสัน คือการเฝ้าเพียรพยายามพัฒนาในสิ่งที่ตัวเองเก่งอยู่แล้ว

ขณะที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็พูดไว้เช่นกันว่า ถ้าเราตัดสินปลาด้วยการปีนต้นไม้ มันจะกลายเป็นปลาที่รู้สึกว่าตัวเองโง่มาก เนื่องจากปลาไม่ได้เกิดมาเพื่อปีนต้นไม้ มันเกิดมาเพื่อว่ายน้ำ เพราะฉะนั้น เราต้องหาให้เจอก่อนว่าเรื่องที่เราเก่งคือเรื่องอะไร แล้วก็พัฒนาไปด้านนั้น”

“ขุนเขา-สินธุเสน เขจรบุตร” เว้นวรรคความคิดเล็กน้อย เหมือนครุ่นคำนึงถึงบางสิ่งบางอย่างในความเงียบ เราจึงถือโอกาสใช้เวลาช่วงนี้อ่านโปรไฟล์ประวัติคร่าวๆ ของเขาอีกรอบ

สมัยเรียนหนังสือ เขาคือหัวหน้าวงแจ๊ส, ประธานสมาคมโต้วาที, คอลัมนิสต์ประจำวารสารพระมนูแถลงสาร, รางวัลเกียรติคุณเกรดเฉลี่ย 4.00, ชนะเลิศรางวัลการแสดงความสามารถเรียนรู้พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ในระดับมัธยมต้น และระดับมัธยมปลาย, รางวัลชนะเลิศการประกวดแข่งขันความรู้รอบตัวสองสมัย, รางวัลชนะเลิศกวีนิพนธ์ดีเด่นระดับมัธยมต้น, ตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันการตอบปัญหา Shell Quiz, ตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ได้รับทุนไปฝึกงานเต็มเวลาที่สถาบัน Smithsonian, Washington D.C.

เมื่อจบการศึกษา ได้เป็นผู้ช่วยเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์และที่ปรึกษาประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับคัดเลือกเข้าอบรมหลักสูตรพิเศษ “สร้างความรู้อย่างผู้นำ” จัดอบรมโดยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย อีกทั้งเป็นวิทยากรรับเชิญบรรยายในสถานศึกษาและบริษัทชั้นนำมาแล้วหลายร้อยแห่ง ในด้านความรู้เกี่ยวกับสมอง การพัฒนาชีวิต จิตวิทยา พุทธปรัชญา ศาสตร์แห่งความสำเร็จ ทักษะการสื่อสาร รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษประจำสถาบัน Bangkok School of Management

ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดรายการวิทยุ แขกรับเชิญรายการโทรทัศน์ และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารชื่อดังอย่าง Secret ซึ่งถ้าจะสรุปอย่างรวบรัด งานของเขาทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องจิตใจ สมอง และความสุขของชีวิต และสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนออกมาผ่านตัวอักษรในหนังสือของเขา ไม่ว่าจะเป็น “สมองสงสัย ใจตอบ”, “กรรมตามสมอง”, หรือ “รู้มากไปทำไม รู้ใจก่อนดีกว่า”...

สำหรับผมอาจจะโชคดีที่ได้ลองหลายๆ อย่าง ได้หาตัวเองจนเจอว่าตนเองมีความสามารถด้านการเขียนการพูด ตั้งแต่เด็กๆ คนจะชอบทักเราว่า เอ๊ย โตขึ้นน่าจะเป็นนักเขียนนะ เราก็พัฒนาตรงนี้แบบเน้นๆ ถามว่าโดนติเตียน โดนว่ามาเยอะมั้ย เยอะครับ แต่ถ้าเราไม่ย่อท้อ ไม่หยุดยั้งความพยายาม มันจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เขาเรียกว่ากฎหนึ่งหมื่นชั่วโมง ตามที่มัลคอม แกลดเวลล์ เขียนไว้ว่า ถ้าคนเราฝึกในสิ่งที่เราเก่งประมาณหนึ่งหมื่นชั่วโมง เราจะเก่งในด้านนั้น และเราจะสามารถประสบความสำเร็จในด้านนั้นได้"

...ในบรรยากาศยามเย็นอันร่มรื่นที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ บทสนทนาดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อน ใต้แมกไม้ใกล้บึงน้ำ เราเอ่ยปากแซวเล่นๆ ว่าสถานที่นี้จะขาดก็เพียงแค่ “ขุนเขา” โดยไม่ทันฉุกคิดว่า ที่จริงแล้ว คนหนุ่มคนนี้ก็มีงานเขียนประจำในนิตยสาร “ธรรมดี” ซึ่งมีชื่อคอลัมน์ว่า “ข้อคิดจากขุนเขา
และถ้าเช่นนั้น ก็เป็นอันกล่าวได้ว่า ครบองค์ประชุมแห่งธรรมชาติ “แมกไม้ สายน้ำ และขุนเขา”...

• ไม่ได้กินวิตามินบี 12 มาตั้งแต่เด็กใช่ไหม?

(หัวเราะ) จริงๆ จะบอกว่าวิตามินหรืออาหารก็สำคัญนะครับ เพราะมีการค้นพบล่าสุด ระบุว่ากระเพาะของเราถูกเรียกว่าเป็นเซกัน เบรน หรือว่าเป็นสมองที่สอง และสมองที่สองจะรวมระบบย่อยอาหารทั้งหมดของเราเลย มหัศจรรย์มาก เขาพบว่าคนเรากินอะไร เราจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ยูอาร์วอตยูอีต (You are what you eat.) สมมติว่าเวลาเราไม่ได้กินอะไร แล้วเราจะรู้สึกโมโหหงุดหงิดจริงไหม นั่นก็เนื่องจากกระเพาะของเราส่งสัญญาณประสาทตรงไปที่สมอง ทำให้เรารู้สึกเครียด โกรธ และหงุดหงิดทันที กระเพาะคุยกับสมองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าเราทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย บางทีเราก็คิดอะไรออก หัวสมองเราก็โล่ง ปลอดโปร่ง แต่เวลาเราทานอะไรหนักๆ หรือทานเยอะเกินไป ง่วงทันที หนังพุงตึง หนังตาหย่อน เนื่องจากสมองกับท้องเชื่อมกันเสมอ

เส้นที่เชื่อมตรงระหว่างสมองกับท้อง ภาษาวิทยาศาสตร์เขาเรียกว่า เวกัส เนิร์ฟ (Vagus Nerve) เป็นเส้นประสาทที่เหมือนกับสายตรงถึงกัน แต่ไม่ใช่แค่นั้น เขายังพบอีกว่า สารแห่งความสุขหรือเซโรโทนิน มีอยู่ในกระเพาะของเรามากกว่าในสมองของเรา เห็นมั้ยครับว่ามันมหัศจรรย์อย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากมีความสุข ให้ดูแลการกินของตัวเองให้ดี แต่ถ้าเราอยากจะตายเร็ว แล้วก็เครียดและเป็นทุกข์ ก็กินอาหารแย่ๆ ไป

สุดท้ายแล้วตรงนี้ ผมอยากสรุปว่า สมองหรือจิตใจของเรามีอำนาจเหนือกระเพาะหรืออาหารที่เราทาน มีคนมากมายที่ไม่ได้ทานอะไรเป็นเวลาหลายวัน อาจจะเป็นพระป่าหรือโยคี ทานแต่น้ำ แต่ก็ยังสามารถที่จะเป็นสุขได้ คนบางคนทานแต่เนื้อ คนบางคนทานแต่ผัก คนบางคนไม่ทานอะไรเลย จิบน้ำไป สามสี่วันไม่กินอะไรเลย ประเด็นของผมก็คือ คนเหล่านี้ก็ยังสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีหรือประสบความสำเร็จมีความสุขได้ หรืออย่างบางคนก็กินแต่แป้งหรือกินแต่บิสกิตเขาก็อยู่ได้ อย่างไมเคิล แองเจโล ตอนที่เขาวาดภาพที่ซิสแตงเชเพิล ภาพเต็มเพดาน สวยมากๆ เลย มีเรื่องเล่าในประวัติของเขาว่า ตอนที่เขาวาดภาพนี้ เขากินแค่ขนมปังแห้ง แค่นั้นแหละครับ กินทุกวันเลย วันละประมาณก้อนหนึ่ง แต่เขาสามารถทำได้ เนื่องจากแม้ว่าท้องของเราจะมีผลกระทบต่อสมอง แต่ถ้าเราฝึกจิตใจและสมอง เราจะพบเลยว่ามันมีอำนาจเหนือทุกสิ่งในร่างกายเรา แม้แต่ผ่าตัดสดๆ ถ้าฝึกจิตใจฝึกสมองมาดีจริงๆ ก็อาจจะทำได้ ผมยังทำไม่ได้นะครับ แต่มีคนที่ทำได้เยอะมาก เพราะฉะนั้น นี่คืออำนาจของสมองที่ฝีกดีแล้ว

• เท่าที่ฟังมา เหมือนจักรวาลความรู้ของเราจะหลากหลายมาก ไปได้ความรู้พวกนี้มาจากไหน หรือว่าอะไรที่กระตุ้นให้เราเริ่มต้นค้นหาความรู้พวกนั้น

อย่างแรกเลย ผมเป็นคนที่ชอบสงสัย แล้วผมต้องหาคำตอบให้เจอ เป็นคนหิวกระหายในความรู้มากๆ อย่างเช่น พอผมสงสัยในความลับด้านอารมณ์หรือสมองหรือจิตใจของมนุษย์ว่าคืออะไร เหมือนที่พูดไปเมื่อสักครู่ว่าทำไมบางคนไม่กินข้าวตั้งนาน ถึงอยู่ได้ แล้วมีความสุข ส่วนอีกคน ไม่กินข้าวแล้วทุกข์ หงุดหงิด เครียด ทำไมเหตุการณ์เดียวกัน เกิดขึ้นกับคนสองคน กลับส่งผลกระทบที่แตกต่างกัน ทำไมคนหนึ่งล้มละลายแล้วฆ่าตัวตาย ทำไมอีกคนล้มละลายแล้วพลิกกลับมาได้ นี่เป็นสิ่งที่ผมสงสัย ดังนั้น ถ้าสมองหรือจิตใจของเรามันเป็นต้นกำเนิดของทุกอย่าง เพราะฉะนั้น หนึ่ง มันจะต้องลึกลับมากๆ สอง มันจะต้องทรงพลังสุดๆ คำถามสำคัญก็คือ แล้วเราแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเป็นนายของมันได้หรือไม่ พอพบคำตอบว่าเราเปลี่ยนมันได้ เราพัฒนามันได้ ผมเลยไม่หยุดเลยที่จะพยายามใฝ่หาความรู้ทุกวันเพื่อจะล่วงรู้สิ่งที่เป็นความลับมหัศจรรย์มากที่สุดในจักรวาล นั่นก็คือ สมองหรือจิตใจของมนุษย์

• ทุกศาสตร์ที่ศึกษา เหมือนจะพุ่งเข้าหาเป้าหมายเดียวกัน คือความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของคน

ถูกครับ แม้แต่ประวัติศาสตร์ อย่างผมเป็นคนที่ชอบเรื่องประวัติศาสตร์มาก ผมเพิ่งจะเข้าใจว่า ถ้าศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ดีๆ ประวัติศาสตร์มีความเป็นจิตวิทยาอยู่เยอะมาก เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าเราลองนึกดีๆ ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม แผ่นดินไหว สิ่งเหล่านี้มันส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ไม่มากเท่ากับการกระทำของมนุษย์ เช่น ฮิตเลอร์ ดูสิครับ คนคนเดียวที่เกิดความโลภ เกิดความอยากจะเอาชนะ เกิดความทะเยอทะยาน สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง นิวเคลียร์ คนตายเป็นหลักสิบล้าน ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไปหมด จากมนุษย์แค่คนเดียว ซึ่งแน่นอนว่ามีลูกน้องมีผู้ช่วยเขา แต่ว่าความฝันมันมาจากคนคนเดียว เห็นไหมว่าประวัติศาสตร์มันถูกเปลี่ยนแปลงโดยน้ำมือและจิตใจของมนุษย์มากกว่าธรรมชาติเยอะ

เช่นเดียวกัน เรื่องดีๆ บ้าง อย่างมหาตมะ คานธี นั่นก็คนเดียวที่กล้ายืนหยัดต่อสู้เพื่ออิสรภาพ มีขันติ และมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ กับความมุ่งมั่นที่ไม่ธรรมดา สามารถทำให้อินเดียเป็นอิสระจากการกดขี่ของประเทศอังกฤษ แล้วทำให้คนในที่อื่นๆ อย่างมาร์ติน ลูเธอ คิง ในอเมริกา หรือ อองซาน ซูจี ที่พม่า เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทำให้คนอีกหลายคนบนโลกใบนี้เกิดการฮึกเหิมและเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และเอาไปทำตาม

เห็นไหมครับว่า มนุษย์คนเดียวสามารถสร้างกระแสเปลี่ยนแปลงให้เกิดประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักจนถึงทุกวันนี้ จากคนแค่คนเดียว ผมถึงบอกครับว่า ทุกอย่างที่ศึกษา พอดูให้ดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือแม้แต่ดาราศาสตร์ ก็มีเรื่องของจิตใจคนที่เอาไปใส่อยู่ในนั้นเยอะมาก เพราะถามว่า ใครล่ะครับที่ตั้งชื่อดาวบนท้องฟ้า ถ้าไม่ใช่คน คนมีอิทธิพลต่อสิ่งทั้งหมด ถึงแม้เราจะไม่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่เรามีอิทธิพลในฐานะที่ทำให้สิ่งที่เรารู้จัก เปลี่ยนไปในการรับรู้ของเรา ดวงดาวที่เราเห็นบนท้องฟ้า แทบจะมีชื่อหมดเลย ดูสิความมหัศจรรย์ของการที่มนุษย์ใส่ตัวเองเข้าไปในทุกๆ ศาสตร์ ทุกๆ วิชา ด้วยเหตุนี้ ผมถึงกล้าพูดว่า ถ้ารู้เรื่องจิตวิทยา ถ้าศึกษาเรื่องจิตใจคน ศาสตร์ทุกศาสตร์มันจะมหัศจรรย์ขึ้นอีกหลายเท่าเลยครับ

• แล้วอย่างโหราศาสตร์ที่คนฮิตๆ กันทุกวันนี้ล่ะ

นี่ก็จิตวิทยาเต็มๆ เลยครับ เต็มๆ เลย (เน้นเสียง) คือคุยเรื่องนี้มันจะยาวมาก แต่สุดท้าย มันก็แล้วแต่ความเชื่อคน แต่ความเชื่อผม ผมคิดว่าความเชื่อด้านโหราศาสตร์เป็นเรื่องที่ทำให้ความกลัวของคนลดน้อยลง คนเรามีความต้องการความแน่นอนอยู่บนพื้นฐานชีวิต อันนี้คือความเชื่อผมและความรู้ที่ผมได้มา คือสุดท้ายแล้ว เราอยากจะรู้ว่า วันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เศรษฐกิจของเราจะเป็นยังไง เราจะได้รักคนนี้มั้ย แล้วพอเรารักคนนี้ เราจะได้รับรักตอบมั้ย ลูกเราจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แล้วพอเขาโตขึ้น เขาจะติดยาหรือเปล่า อะไรอย่างนี้เป็นต้น ทุกอย่างมันทำให้เกิดความกลัว ความไม่แน่นอน สิ่งเหล่านี้ถ้ามันถูกกำจัดไปได้ มันจะลดความกังวลและเพิ่มความรู้สึกแน่นอนในชีวิตของเรา นี่คือจิตพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ทุกคน

จิตใจของมนุษย์ทุกคนต้องการความแน่นอน ต้องการความชัวร์ในชีวิต พอยิ่งชัวร์ ความสุขก็ยิ่งมาก เพราะว่าเราจะไม่กลัว เพราะฉะนั้น สิ่งที่โหราศาสตร์หรือการทำนายทายทักช่วยเราได้ ก็คือการลดความกลัว เพิ่มความแน่นอน ทำให้การตัดสินใจของเรามั่นคงมากขึ้น ผมไม่เคยเชื่อว่าอิทธิพลของดวงดาวจะมีผลต่อชีวิตเรามากกว่าจิตใจของเราเอง ผมเชื่อว่าดวงมันมี เพียงแต่เราสร้างดวงมากกว่าจะรอให้ดวงมาสร้างเรา นี่ท่านพุทธทาสพูดไว้ เพราะฉะนั้น โหราศาสตร์ก็เป็นจิตวิทยาแบบหนึ่ง เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ผมแค่อยากจะบอกว่า อย่าเอาชีวิตไปแขวนไว้กับดวง แต่ให้เราสร้างชีวิตโดยมีดวงเป็นตัวเสริมแค่นั้นพอ เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่ปล่อยชีวิตไปตามกระแสดวง ผมไม่เคยจะเห็นประสบความสำเร็จมากเท่ากับคนที่ตั้งใจสร้างชีวิตของตัวเองอยู่ให้เหนือดวง

• ในหนังสือเล่มหนึ่งของคุณ “รู้มากไปทำไม รู้ใจก่อนดีกว่า” มีคำโปรยปกว่า “ยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งทุกข์มาก” แล้วสำหรับตัวคุณเอง เป็นแบบนั้นไหม คือยิ่งรู้มากยิ่งทุกข์มาก

ทุกข์จำเป็นต้องมีครับ คนที่ไม่มีทุกข์เลยคือคนที่ตายไปแล้ว คนทุกคนมีความทุกข์เหมือนกันหมด แต่คนที่ฝึกตัวเองบ่อยๆ ฝึกจิตฝึกสมองบ่อยๆ จะทุกข์น้อยลง ทุกข์นานน้อยกว่าเดิม คือว่า นอกจากอัตราความทุกกข์น้อยลงแล้วนี่ ยังหายทุกข์เร็วด้วย อย่างเมื่อก่อน เราอาจจะทุกข์มากถึงขนาดที่ต้องขังตัวเองอยู่ในห้องเป็นเวลา 1 อาทิตย์หรือมากกว่านั้น เราจะกลายเป็นว่าขังตัวเองแค่ครึ่งวัน ครึ่งชั่วโมง แล้วกลายเป็นไม่ต้องขังตัวเองเลย ทีนี้ พอทุกข์ปุ๊บ แค่ครึ่งนาทีหาย สมมติว่าเราอกหัก เมื่อก่อน อาจจะแทบเป็นบ้าไปเลย คือเดี๋ยวนี้อกหักก็ยังทุกข์นะ ไม่ทุกข์ก็บ้าแล้ว เพราะไม่มีใครไม่มีหัวใจได้ขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเราสามารถที่จะก้าวข้ามความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ภายในเวลาอันรวดเร็วขึ้น อย่างเมื่อก่อน ผมทุกข์แล้ว กินเหล้ามั้ย กิน สูบบุหรี่มั้ย สูบ แต่เดี๋ยวนี้ เราเข้าหาความทุกข์ด้วยวิธีที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์เพิ่มขึ้น อย่างเช่นว่า พอทุกข์ปุ๊บ ก็ไปนั่งเงียบๆ สักพักหนึ่ง ไม่ต้องขังตัวเองด้วยซ้ำ นั่งเงียบๆ ไป แล้วสิบนาทีหายเลย ความทุกข์ตรงนั้นหยุดเลยครับ หายไปเลย นี่คือผลจากการฝึกนานๆ นี่แค่ระดับธรรมดานะครับ เพราะอย่างพระปฏิบัติที่ท่านฝึกจริงๆ ผัวะเดียว อนิจจัง หายไปแล้ว ครึ่งนาทีหายเลย นี่คือท่านฝึกมาแล้ว

เพราะฉะนั้น ความทุกข์ต้องมีอยู่เสมอ ถ้าเราฝึก เราจะมีความสุขเร็วขึ้น และเราจะทุกข์น้อยลง แค่นั้นเอง และเราจะรับมือกับความทุกข์ได้ด้วยความฉลาด ไม่ใช่ว่าทุกข์แล้วยิ่งไปหาความทุกข์ใส่ตัว แต่ทุกข์แล้วสามารถจะก้าวข้ามมันไปได้ด้วยการไม่สร้างความทุกข์เพิ่มให้ตัวเองและคนอื่น

แต่ย้อนกลับไปที่คำถามว่า ทุกข์มากมั้ย? ต้องบอกว่าทุกข์มากขึ้น หมายถึงเมื่อก่อน ไม่ใช่ตอนนี้นะ คือประมาณสองสามปีก่อนตอนที่เริ่มเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับหลายๆ ศาสตร์ ก็พบว่าหัวหนัก หัวหนักก็เพราะว่ารู้เยอะ แต่รู้เยอะก็ไม่ได้หมายความว่าสุขมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเอาความรู้มาใช้ในชีวิตจริงได้ สมมติว่าผมรู้หมดเลยว่า ประเทศทุกประเทศในโลกนี้มีเมืองหลวงชื่ออะไร แล้วผมรู้ว่าเศรษฐกิจ ทำไมมันเป็นมาในทางนี้ แล้วมันจะเป็นไปในทางไหนต่อไป ผมรู้เยอะไปหมดเลย ความรู้ท่วมท้น แต่บางที ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะอะไรครับ เพราะว่าเราไม่ได้เอากลับมาพัฒนาจิตใจของเรา เราไม่ได้เชื่อมต่อเลยว่า เศรษฐกิจที่ว่าเรารู้จักมันดีน่ะ แล้วเราจะสามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เรารู้ชื่อเมืองหลวงของทุกประเทศในโลก แต่อันนั้นน่ะ มันจะทำให้เรารู้ว่าเราจะรับมือกับความโกรธหรือความกลัวได้มากขึ้นหรือเปล่า ก็ไม่

รู้ทุกเรื่อง ไม่เคยทำให้เรามีความสุขมากขึ้น อาจจะทำให้เราเก่งขึ้น อาจจะทำให้เราดูเท่ขึ้น อาจจะทำให้เราสามารถที่จะคุยกับคนได้รู้เรื่องมากขึ้น แต่ความสุขทั้งหมดมันไม่ได้เกิดจากการรู้เรื่องโลก หากแต่มันเกิดจากการรู้เรื่องใจตัวเอง เฮ้ย ทำไมเราถึงอกหัก แล้วเราจะก้าวข้ามความอกหักของตัวเองไปได้อย่างไร ทำไมพอคนมาพูดไม่ดีกับเรา เราถึงโกรธเจ็ดวันต่อเนื่อง แต่บางคนโกรธเจ็ดวินาทีก็หาย นี่ล่ะ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราไม่ค่อยจะเคยตั้งใจเรียนรู้ เพราะฉะนั้น สามสี่ปีที่แล้ว ผมก็เลยเป็นพวกรู้หลายเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ทุกข์น้อยลง แล้วก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้เอามันมาใช้

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ปีสองปีที่แล้ว ผมก็เอาสิ่งที่ผมเรียนรู้มาใช้พัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข้นิสัยแย่ๆ การสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ที่ดีต่อชีวิต อย่างเช่น เคยติดเกม ก็เอาความรู้มาปรับใช้เพื่อให้ตัวเองเลิกติดเกม

• เคยติดเกมด้วย แล้วเลิกได้อย่างไร?

โห...ยาวเลยครับเรื่องนี้ เอาเป็นว่า มนุษย์ทุกคนจะเคลื่อนที่เข้าหาความสุข นี่คือทฤษฎีหรือกฎของมนุษย์ทุกคน ถ้าเรามองว่าตรงนั้นเป็นความสุขของเรา เราจะเคลื่อนที่เข้าหาสิ่งสิ่งนั้นเสมอ ถ้าผมยังมองว่าเกมเป็นความสุขของผม ผมจะเคลื่อนที่เข้าหาเกม ผมใช้วิธีหลายวิธีเพื่อให้ตัวเองเลิกติดเกม ก็ยังไม่เลิก โอ้ ยากมาก เขาบอกว่าต้องไปออกกำลังกายให้มากขึ้น พอออกเสร็จ กลับมาเล่นเกมต่อ (หัวเราะ) เขาบอกว่าต้องคบเพื่อนที่ไม่เล่น แล้วเราจะค่อยๆ เลิกเล่นเกม พอไปคบเพื่อนที่ไม่เล่นเกม เราก็เล่นคนเดียวเลย อย่างแรงที่สุด อันนี้เด็ดมาก ลบเกมทุกเกมออกไปจากคอมพิวเตอร์ ผ่านไปสามสี่วัน ไปซื้อแผ่นมาใหม่ ซื้อแผ่นที่เคยซื้อแล้วทิ้งไปนั่นแหละ เอามาลงแล้วเริ่มเล่นใหม่อีกรอบ คืออย่างแรงเลย นี่เขาเรียกว่าเสพติด

ทีนี้ ถามว่าผมเลิกได้อย่างไร ผมเลิกได้ด้วยวิธีการเปลี่ยนฐานความสุขของตัวเองใหม่ เปลี่ยนฐานความสุขหมายถึงว่า ถ้าเรายังมีความสุขจากการเล่นเกม ต่อให้เอาเกมขึ้นไปวางไว้บนสวรรค์วิมาน ผมก็จะปีนขึ้นไปเล่น โยนลงไปในกระทะทองแดง ผมก็จะกระโดดลงไปแล้วคว้ามันขึ้นมา เนื่องจากมันคือความสุขของผม วิธีเปลี่ยนของผมคือการเปลี่ยนฐานความสุขทีละน้อย ผมค่อยๆ เริ่มต้นด้วยการเขียนหนังสือ แล้วก็ส่งนิตยสารซีเคร็ต จนกระทั่งวันหนึ่งพบว่า ผมได้รับความสุขจากการเขียนหนังสือมากพอๆ กับการเล่นเกม คราวนี้การเล่นเกมของผมมันก็ค่อยๆ ลดลง เวลาและพลังงานที่ผมเริ่มใช้กับเกมเริ่มลดลง มันช้ามาก มันค่อยๆ เปลี่ยน มันเพิ่มอัตราส่วนนิสัยดี แล้วลดอัตราส่วนนิสัยแย่

ผมจึงอยากจะบอกว่า เราจะไม่มีทางกำจัดนิสัยแย่ได้ ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะสร้างนิสัยใหม่ที่ดีอันไหนขึ้นมาแทนที่ มันต้องหานิสัยดีอันใหม่ขึ้นมาให้ได้ก่อนว่าเราจะต้องเอาอันนี้แทน ไม่อย่างนั้นเราก็จะเคลื่อนที่เข้าหาสิ่งเดิมซึ่งเคยให้ความสุขเราเสมอ เพราะคนทุกคนที่ติดสิ่งเสพติดและสารเสพติด ตลอดจนพฤติกรรมแย่ๆ จริงๆ แล้วติดด้วยสาเหตุเดียวเท่านั้นคือ เครียด ถามว่าทำไมถึงต้องสูบบุหรี่ เล่นยา เล่นเกม ติดเซ็กซ์ ติดละคร ชอปปิ้งเกินขนาด เที่ยวกลางคืน เนื่องจากเราเครียด มันไม่มีทางที่เราไม่เครียดแล้วเราจะทำ เราเครียดเราก็เลยไปทำมัน

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากเลิกติดอะไรก็แล้วแต่ หาทางรับมือกับความเครียดอย่างไรก็ได้โดยไม่ต้องไปทำสิ่งเก่า อย่างเช่นผม เครียดแล้วเล่นเกม แต่ทีนี้ ผมค่อยๆ เขียนหนังสือแทน มันไม่ใช่ว่า โอ๊ย วันรุ่งขึ้นเลิกเล่นเกมเลย มันไม่ใช่ มันค่อยๆ มา อย่างนี้คือ เขียนหนังสือบ้างสักสองชั่วโมง เล่นเกมสักสองชั่วโมง แล้วทีนี้ พอเป้าหมายหรือฐานความสุขของผมกลายเป็นการเขียนหนังสือ ประมาณปีครึ่งหลังจากนั้น แล้วผมตื่นขึ้นมาวันหนึ่ง ผมพบเลยว่าตัวเองหายแล้วครับ ไม่อยากจะเล่นเกมเลย จนถึงทุกวันนี้ไม่มีความอยากเลย แล้วถามว่าเวลาไม่เขียนหนังสือทำอะไร ก็อ่านหนังสือ แต่ก่อนมีอย่างเดียวเลย คือเล่นเกม

พอฐานความสุขเปลี่ยน เรารับมือกับความเครียดด้วยตัวกระตุ้นใหม่ แค่นั้นมันก็เลิกได้ คนที่เลิกเหล้าเลิกแอลกอฮอล์ได้ เขาหาวิธีการแก้เครียดได้ด้วยวิธีอื่น เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเลิกบุหรี่ได้ ไม่ใช่ว่าเลิกแล้วเลิกเลย หรือเปลี่ยน หยุดทันที เขาหาวิธีการอื่นที่จะมีความสุขเวลาเขาเครียด แต่ก่อนเขาอ่านหนังสือเสร็จ เครียด ต้องไปสูบบุหรี่ แต่เดี๋ยวนี้เขาไปวิ่งแทน มันไม่ใช่ทีเดียวหายครับ มันค่อยเป็นค่อยไป เป็นปีๆ ครับ แล้วหลังจากนั้น พอเครียดปุ๊บ วิดพื้นเลย หายเครียด อารมณ์ดี บุหรี่ไม่ต้องใช้ แต่มันต้องใช้เวลา ทุกอย่างที่มีค่า ใช้เวลาในการทำ ใช้เวลาในการเปลี่ยน แต่เปลี่ยนได้มั้ย ได้ ด้วยการเปลี่ยนฐานความสุข และหาวิธีการจัดการความเครียด ด้วยตัวกระตุ้นใหม่

• ช่วงที่ติดเกมนี่ได้ศึกษาหาความรู้จริงจังไหม เพราะอย่างที่เขาว่ากัน บางคนติดเกมแบบไม่เป็นอันทำอะไรเลย

อ่อ...ถ้าพูดเรื่องการศึกษา ผมศึกษามาตลอดนะครับ ตั้งแต่สิบกว่าขวบแล้วล่ะ แล้วก็พบว่า สิ่งที่เราศึกษา มันมีผลต่อชีวิตเราเสมอ มันมีอิทธิพลและมันก็สามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ในทุกด้านเสมอเลย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องของหุ่นยนต์ อันนี้ผมชอบ เราก็เอาเรื่องหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้กับคน เช่นว่า หุ่นยนต์มันจะมีสามกระบวนการ คือกระบวนการอินพุตหรือรับข้อมูล กระบวนการอินติเกรชันคือแปลงข้อมูล และกระบวนการเอาต์พุต คือเอาข้อมูลออกมา อย่างเช่น ผมกดตัวยูที่แป้นพิมพ์ สัญญาณจะเข้าไปในคอมพ์ แล้วคอมพ์จะแปลงสัญญาณตัวยูให้กลายเป็นสิ่งที่มันจะสามารถเอาไปใช้ต่อได้ ซึ่งก็คือเอาต์พุตที่จะเป็นตัวยูในจอมอนิเตอร์

ผมพบว่า ถ้าคนเรายังไม่เปลี่ยนโปรแกรมในสมอง ต่อให้เราเปลี่ยนเอาต์พุตหรือสิ่งที่ออกมาแค่ไหน ชีวิตเราก็ไม่เปลี่ยน ผมยกตัวอย่างแบบนี้ว่า สมมติว่าผมมีพรินเตอร์อยู่เครื่องหนึ่ง ผมพิมพ์ตัวอักษรแล้วพรินต์ออกมา ตั้งใจพิมพ์คำว่า “สวัสดีครับ” แล้วมันกลายเป็นคำว่า “สวัสดีครัช” ผมเอาลิควิดลบที่คำนั้นในกระดาษ แล้วผมพรินต์ใหม่ แต่ผมไม่เปลี่ยนโปรแกรมนะ โปรแกรมที่ผมสั่งยังเป็น “สวัสดีครัช” อยู่นะ พอผมใส่กระดาษเข้าไปใหม่แล้วพรินต์ออกมา ตัวอะไรจะออกมา ก็เหมือนเดิม พิมพ์ครั้งที่หนึ่งพันหนึ่งก็ยังต้องใช้ลิควิดลบเหมือนเดิม ผมพบว่า คนเราถ้าไม่เปลี่ยนโปรแกรมในสมอง สิ่งที่จะออกมาในชีวิตเรา จะเป็นเหมือนเดิมเสมอ เราต้องเปลี่ยนข้างในครับ ไม่ใช่เปลี่ยนข้างนอก ไม่ใช่เปลี่ยนตอนออกมาแล้ว คุณบอก เอ๊ย คุณจน คุณอยู่ที่ไหน คุณก็จน คือเป็นคนกระเป๋ารั่ว แล้วคุณก็ไปเปลี่ยนข้างนอก คุณก็ไปลดการใช้เงิน คุณก็ไปหักบัตรเครดิตทิ้ง คุณไปลองหาเงินน้อยๆ จะได้ไม่ต้องใช้เงินเยอะ นี่ก็คือแก้ที่ปลายเหตุ คุณกำลังเอาลิควิดลบอยู่ แล้วก็ว่า โอ๊ย ไม่ไหวแล้วว่ะ เพื่อนไม่ดี ทำให้เราใช้เงินเยอะ ย้ายไปอยู่ปาปัวนิวกินีดีกว่ามั้ง มันจะดีกว่านี้ แต่เชื่อสิว่า คุณย้ายไปปาปัวนิวกินี คุณก็ไปใช้เงินอยู่ที่นั่น ก็จนเหมือนเดิม คุณต้องแก้ที่โปรแกรม

นี่คือการศึกษาเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ผมเอามาใช้ ว่าสุดท้ายแล้ว มันมีโปรแกรมบางอย่างในสมองเราผิดพลาด ที่ทำให้เราเวลาคิดหรือทำอะไรผิดพลาดไปหมด เพราะฉะนั้น เวลาเปลี่ยน ให้เปลี่ยนที่โปรแกรม ไม่ใช่เอาลิควิดลบ อย่างนั้นมันก็ลบทั้งชีวิตน่ะครับ

• ถามเรื่องการศึกษาต่ออีกนิด คือเวลาเราศึกษาแต่ละเรื่องนี่ เราจำเป็นต้องลงลึกเลยใช่ไหม

ผมลงลึกในทุกเรื่องครับ เพราะผมเป็นคนที่เชื่อว่า ถ้าไม่รู้จริง ก็อย่าเอาข้อมูลมาเผยแพร่ ผมนึกถึงคำของท่าน ว.วชิรเมธี คำหนึ่ง ท่านบอกว่า
“เขาว่า เขาว่า เอา 5 หาร เหลือเท่าไหร่ให้เอาไฟเผา ฝุ่นธุลีที่ส่งต่อมาถึงเรา ถ้าเป่าแล้วไม่ไป คือความจริง”
คือถ้า “เขาว่า เขาว่า” กันมานี่ ให้เอา 5 หารเลย เพราะมันอาจจะไม่จริง แล้วเอาไฟเผาด้วยเพื่อดูว่าเนื้อมันคืออะไร เอาไฟเผาเสร็จแล้วเป่าดูด้วย ถ้ามีผงที่เป่าแล้วไม่ไป อันนั้นคือความจริง ซึ่งหมายความว่า เราต้องทั้งหารมัน เผามัน เป่ามัน ให้เหลือแต่ความจริงเนื้อๆ แล้วเราถึงจะเอาไปแบ่งปันต่อได้ หมายถึงว่า เวลาที่ผมเรียนรู้อะไร ที่ศึกษาจนลึก เพราะไม่อยากนำสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาเผยแพร่ มันจะเป็นการสร้างสังคมที่รู้แต่ผิว วิจารณ์แต่ไม่วิจัย แล้วนี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมหลายสังคม รวมทั้งสังคมไทย ที่เรานี่มักจะวิจารณ์โดยไม่วิจัย

ถ้าเราอยากให้สังคมนี้เป็นสังคมที่ดีขึ้น ขอให้ทำวิจัยก่อนวิจารณ์ รู้ให้จริง อย่าใช้แค่ความรู้สึก แต่ให้ใช้ความรู้ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าเราเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไป มันก็จะสร้างสังคมที่มองแต่เปลือก แล้วก็จะเป็นสังคมที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ซึ่งถามว่าอารมณ์มันมีข้อดีมั้ย มีครับ แต่อารมณ์มันจะเป็นภัยอย่างยิ่ง ถ้าถูกใช้โดยไม่มีปัญญาเข้าไปควบคู่ เพราะฉะนั้น ถึงบอกครับว่า ผมอยากจะศึกษาให้ลึก เพราะอยากจะให้สังคมนี้ได้รับข้อมูลที่จริงและถูกต้อง ก่อนที่เราจะแบ่งปันข้อมูลที่เรามีไปให้ใคร ทำวิจัยให้ดีก่อน แล้วค่อยวิจารณ์ แล้วเราจะสามารถสร้างสังคมที่มีความเบิกบานมากกว่าความทุกข์

• คือรู้จริงแล้วจะไม่ทุกข์?

ถูกต้องครับ ยิ่งถ้าเรารู้ใจตัวเองมาก ถ้าเราวิจัยตัวเองบ่อย เข้าใจตัวเองลึกซึ้ง เราจะสามารถใช้ชีวิตได้โดยสามารถสร้างความทุกข์ให้ตัวเองและคนอื่นน้อยลง สมมติว่า ผมให้อุปกรณ์แก่คุณไปอันหนึ่ง สมมติว่าเป็นมีดสวิส แล้วผมไม่บอกวิธีใช้เลย แล้วคุณก็ไม่รู้ด้วยว่ามันคือมีดสวิส และต้องใช้อย่างไร โอกาสที่จะบาดเจ็บก็สูง หรือแม้แต่เป็นตัวเลเซอร์อันหนึ่ง เป็นเลเซอร์ที่เผาผิวได้ แต่ผมไม่บอกวิธีใช้ ก็ปล่อยให้กดมั่วๆ กันไป จนเผาตัวเอง เผาเสื้อ เกิดอันตราย ฉะนั้น ขอให้จำไว้ว่ายิ่งสิ่งหนึ่งทรงพลังแค่ไหน เรายิ่งต้องใช้ให้เก่ง ไม่ต้องอะไรหรอกครับ เอาตัวอย่างอันนี้ดีกว่า คือรถ ขับรถไม่เป็นนี่ชนไหมครับ เละเทะครับ นี่คืออุปกรณ์มันทรงพลัง พาเราไปเชียงใหม่ได้ พาเราไปกัมพูชาได้ แต่ก็พาเราลงนรกได้เช่นกันถ้าใช้ไม่เป็น แถมอาจพาคนอื่นลงนรกไปด้วย รถมันทรงพลัง แต่รู้ไหมครับว่าใจของเรานี่ทรงพลังกว่ารถเป็นล้านเท่า แต่เราไม่เรียนรู้วิธีใช้มันอย่างจริงจัง ไม่เคยมีใครก่อตั้งโรงเรียนสอนใช้ใจ และไม่มีใบขับขี่สมอง แต่เรากลับใช้มันทุกวัน สุดท้ายคนที่ใช้สมองไม่เป็น ก็เหมือนกับคนที่ขับรถไม่เป็นนั่นแหละ คือเขาจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งตัวเองและคนอื่น ต่างกันตรงที่คนขับรถไม่เป็นฆ่าคนได้อย่างมากก็ไม่เกิน 10 คน แต่คนใช้สมองไม่เป็นฆ่าคนได้เป็น 10 ล้านคน

• ยากเหมือนกันนะเรื่องพวกนี้

ยากครับ ไม่มีอะไรที่ดีแล้วง่าย สิ่งที่ดีมักจะมีความท้าทาย เช่น การปลูกต้นไม้ ปลูกให้โต มันยากกว่าตัดต้นไม้ เพราะตัดต้นไม้คุณมีขวานด้ามหนึ่งแล้วโมโหๆ คุณก็ตัดได้แล้ว แต่ปลูกต้นไม้ คุณต้องใส่ปุ๋ย คุณต้องรดน้ำ คุณต้องให้แดด คุณต้องดูแลมันอย่างดี ใบมันเป็นรู ใบมันขาว คุณต้องหาวิธีทำให้มันหาย ยากครับ แต่ถามว่าต้นไม้สวยมั้ย สวย มีประโยชน์มั้ย มี เพราะฉะนั้น การสร้างสิ่งที่ดีมันยากกว่าการทำลาย แต่ถ้าเราตั้งใจจริง ผลของมันงดงามและคุ้มค่าแน่นอนครับ

• ศึกษามาหลายๆ ศาสตร์ ชอบอะไรมากเป็นพิเศษ เพราะเห็นบอกว่าพุทธปรัชญาก็ศึกษา

อ๋อ อันนี้แหละครับที่ชอบมากเลยคือพุทธปรัชญา จริงๆ แล้ว พุทธศาสนากับปรัชญามันคือวิชาเดียวกัน สอนให้เรารู้จักใจตัวเอง สอนให้เรามองกลับมาข้างใน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนว่า สุดท้ายแล้วนี่ ถ้าเห็นธรรม นั่นแหละคือเห็นท่านแล้วโย ธัมมัง ปัสสติ โส มัง ปัสสติ” หรือ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ถามว่าธรรมะนั้นคืออะไร มันคือทุกสิ่งรอบตัวและทุกสิ่งในตัวเรา ถ้าเรารู้จักใจของเรา แปลว่าเรารู้จักธรรมะหรือธรรมชาติ ใจเราคือสิ่งที่สอนธรรมชาติให้แก่เราได้ดีที่สุด นั่นคือธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง วันนี้คิดอย่างนี้ พรุ่งนี้ไม่ใช่แล้ว วันนี้เกลียด พรุ่งนี้ไม่เกลียดแล้ว วันนี้ชอบ พรุ่งนี้เลิกชอบแล้ว นี่ไงครับคือความเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมชาติของใจเรา ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของใจและธรรมชาติของสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา มันก็คือเราเข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ถามว่ามันดียังไง มันก็ทำให้เราสามารถจูนจิตใจของเราให้ตรงกับความเป็นจริง ทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ผมถึงชอบแก่นของพุทธศาสนา ผมไม่ชอบเปลือก ผมไม่ชอบอะไรที่มันเป็นการประกอบพิธีเยอะๆ แล้วบอกว่าสิ่งนี้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น คุณทำก็ทำไป แต่ผมว่ามันไม่ใช่แก่น เพราะแก่นคือว่า คุณไม่ต้องใช้ “พิธี” แต่ใช้ “วิธี” “พิธี” กับ “วิธี” นั้นต่างกัน “พิธี” คือเปลี่ยนที่เปลือก “วิธี” คือเปลี่ยนที่ภายใน

วิธี” คือการเปลี่ยนที่การปฏิบัติ อย่างเช่น คุณเป็นคนขี้โกรธขี้โมโหใช่มั้ย ไปเลยครับ ฝึกหายใจวันละสิบห้านาทีทุกวัน เดี๋ยวคุณหายโกรธแน่ แค่สิบวัน ฝึกหายใจลึกๆ เอาอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงสมอง กลับมาดูตัวเอง มันเริ่มโกรธตรงไหน มันเลิกโกรธตรงไหน ดูไป นี่คือวิธี แต่ถ้าคุณไปบวงสรวงบนบาน คุณก็ทำไปเถอะ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ามันไม่ช่วยให้คุณหายโกรธหรอก มันอาจจะทำให้คุณสบายใจขึ้น แต่การจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันต้องใช้ “วิธี” ไม่ใช่ “พิธี” แล้วถ้าศึกษาไปที่แก่นของพระพุทธศาสนาจริงๆ นี่ พระพุทธเจ้าท่านสอน “วิธี” ครับ ท่านไม่เคยสอน “พิธี”

• ฟังดูธรรมะๆ เหมือนกันนะ

ใช่ครับ แต่ไม่ใช่เรื่องแก่หรือว่าเป็นเรื่องของคนสูงอายุครับ ธรรมะเป็นเรื่องของคนทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้

• ศึกษาเยอะๆ รู้เยอะๆ ยังสนุกกับชีวิตไหม อย่างบางคนถึงกับบอกว่า รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว หรือกระทั่งว่าเป็นพระอรหันต์แล้วชีวิตจะหมดสนุก หรือกลัวกินข้าวไม่อร่อย

สนุกครับ สนุก อย่างเฟซบุ๊กผมก็ยังเล่นเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ก็ต้องดูว่า จิตใจของเราเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราเห็นมากเพียงใด คนมาชมเรา พอง คนมาว่าเรา แฟบ คนบางคนมาคอมเมนต์เราโกรธ คนบางคนมาคอมเมนต์เราสุข จริงๆ แล้วเฟซบุ๊กคือที่สุดของการปฏิบัติธรรม ทุกอย่างที่เป็นอุปกรณ์อันรวดเร็ว อย่างเช่น อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ คือที่สุดของการปฏิบัติธรรม เพราะมันจะทำให้เราเห็นอารมณ์ของเราแปรปรวนเร็วมาก ทุกอุปกรณ์มันแฝงมาด้วยข้อคิดชีวิต ถ้าเราใช้อุปกรณ์อย่างฉลาด เราจะสามารถพัฒนาจิตใจได้เสมอ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญก็คือว่า ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไร ก็ใช้ได้ พระเก่งๆ หลายรูปก็ใช้เฟซบุ๊กหรือโทรศัพท์ เพียงแต่ว่าท่านใช้แล้วใจสูง ถ้าใช้แล้วใจต่ำ อย่าใช้ หรือขอให้เรียนรู้วิธีการใช้มันให้เก่ง ใช้ให้เป็น ใช้ไปเถอะครับ แต่ใช้แล้วมันก่อให้เกิดประโยชน์หรือเปล่า ถ้าใช้แล้วใจสูง ใช้ไปเลย

• คือก็เหมือนปุถุชนคนปกติทั่วไป ไม่ฝืนต้าน?

ใช่ครับ ชีวิตมันไม่ใช่เรื่องยาก บางคนบอก ชีวิตนี่มันยากมันแย่ ไม่หรอกครับ มันยากและมันแย่ก็ต่อเมื่อเราใช้ชีวิตที่ขัดกับความจริงเท่านั้นแหละ ถ้าเราอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันคงอยู่แบบเดิมตลอดไป ถ้าเราอยากให้คนรักของเราคงความหล่อความสวยไปตลอดกาล มันก็ยากแน่นอน เพราะนั่นคือคุณกำลังใช้ชีวิตที่ขัดกับความเป็นจริง ขนาดคุณตั้งน้ำไว้ครึ่งชั่วโมง มันยังระเหยเลย แล้วคุณจะไปเอาอะไรกับใจคนที่ผ่านไปครึ่งวันแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งมันเปลี่ยนตลอดครับ เมื่อวานคุณเป็นสิว ตื่นมาวันนี้สิวคุณหาย ขนาดหน้าคุณยังเปลี่ยนเลยครับ แล้วคุณจะไปเอาอะไรกับการที่วันนี้คนคนหนึ่งรักคุณ แล้วพรุ่งนี้เขาอาจจะไม่รักคุณ ถ้าคุณสามารถจูนใจให้ตรงกับความเป็นจริงได้เสมอ ใช้ชีวิตโดยไม่ขัดกับธรรมชาติ ชีวิตไม่ยากหรอกครับ แต่ถ้าคุณใช้ชีวิตโดยไม่เข้าใจความเป็นจริงแล้วพยายามฝืนให้สิ่งที่ไม่สามารถคงอยู่ คงอยู่ได้ หรือพยายามกำจัดความเปลี่ยนแปลงออกไป มันจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ ก็เลยทุกข์ไงครับ

ทุกข์มาจากคำว่าอะไร มาจากคำว่า “ทุกขัง” ทุกขังแปลว่าทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ถ้าคุณไม่อยากเจอทุกขังหรือการอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ง่ายๆ เลยครับ “เล็ท อิท โก” (Let it Go) เหมือนเพลงใน Frozen (หนังแอนิเมชันรางวัลออสการ์) ปล่อยตัวเองให้ลอยไป ไม่ใช่ลอยแบบล่องลอยนะครับ แต่ลอยไปตามกระแสของธรรมชาติกับความเป็นจริง ลอย ไม่ใช่ปล่อยชีวิตให้ล่องลอย แต่ปล่อยจิตใจให้ลอย หมายความว่า ถ้ากระแสลมของความเปลี่ยนแปลงมันพัดมาแล้ว อย่าไปต้านมันครับ แต่ให้หาวิธีที่จะลอยไปตามมันอย่างมีความสุขให้ได้

คนที่ฉลาดที่สุด ไม่ใช่คนที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าปล่อยชีวิตให้ไหลไปลมๆ แล้งๆ แต่เขาสามารถที่จะดูออกว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปทางไหนแล้วเขาเปลี่ยนตามมันทัน ผมพูดคำหนึ่งตลอดว่า You can’t stop change but you can steer change สเตียร์คือการหักเหหรือหันเห นั่นหมายถึงว่า คุณหยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่คุณสามารถหันเหหรือปรับความเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ได้ คุณปรับความเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ได้ แต่คุณหยุดมันไม่ได้ คุณหยุดน้ำให้ไม่ไหลไม่ได้ เปิดก๊อกแล้วน้ำต้องไหล กระแสน้ำในลำธารต้องไหล คุณสร้างเขื่อน เดี๋ยวเขื่อนก็แตก แต่สิ่งที่คุณทำได้คือปรับกระแสน้ำ ย้ายมันไปให้ใกล้บ้านคุณ เปลี่ยนกระแสน้ำให้เป็นพลังงานกล ทำให้กระแสน้ำโม่ข้าวให้คุณได้ อย่างนี้เป็นต้น เห็นไหมครับว่า ความเปลี่ยนแปลงมันไม่ดีหรือร้ายโดยตัวของมันเอง แต่มันจะไม่ดีก็ต่อเมื่อคุณใช้ความเปลี่ยนแปลงไม่เป็น คนที่ใช้ความเปลี่ยนแปลงเป็น จะมีชีวิตที่สุขเย็นเสมอ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอด แต่คุณตักตวงจากมันได้หรือเปล่า แค่นั้นเอง

• คุยไปคุยมา เหมือนว่าทุกอย่างจะไปจบลงที่แนวคิดด้านศาสนา ถามคุณตรงๆ ว่าเรื่องศาสนาคือที่สุดของที่สุดแล้วใช่ไหม

อืมม..ไม่ครับ ศาสนาเป็นแค่เรือ สำหรับผมนะ เป็นแค่เรือที่จะพาเราไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง เรือมีไว้ให้พาย ไม่ได้มีไว้ให้แบก ถ้าเราศึกษาศาสนาแล้วเราเอาไปข่มคนอื่น หรือรู้สึกว่าเราดีกว่าคนอื่น สูงส่งยอดเยี่ยมกว่าคนอื่น นั่นคือการศึกษาศาสนาอย่างไม่ถูกต้องแล้ว จริงๆ แล้ว สำหรับผมนะ ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่ควรมีอยู่ในศาสนา เพราะศาสนานั้นเหมือนเรือที่เราจะใช้พายเพื่อไปสู่เกาะแห่งความจริง ทำให้เราเข้าใจว่าความจริงของโลกนี้คืออะไร และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความรักและมีความสุขมากขึ้น แต่ถ้าเราพายเรือเสร็จแล้วเรายังแบกเรือต่อ ก็คือแบกสิ่งที่ตัวเองเรียนมานั่นแหละ แล้วว่า ฉันเรียนรู้เยอะนะ รู้มากกว่าแก ฉันคือคนที่เข้าใจศาสดามากกว่าแก พระเจ้ารักฉันมากกว่าแก เพราะแกไม่เข้าใจพระเจ้า อะไรอย่างนี้ มันคือเปลือกหมดเลย มันคือเราแบกเรือ แล้วเราเอาเรือไปไล่ตีหัวคนอื่น มันไร้ประโยชน์หมดเลยครับ เรือมีไว้ให้พายครับ แล้วพาคนอื่นเข้ามาในเรือ ช่วยให้เขาไปถึงฝั่งหนึ่งได้ ไม่ใช่มีไว้ข่มคนอื่น เพราะพอแบกเรือ ตัวเองก็หนัก ก็ทุกข์

เพราะฉะนั้น เรือมันเป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจความจริง คนไม่มีศาสนาก็เข้าใจความจริงได้ ก็ไปถึงเกาะแห่งนั้นได้ อาจจะต้องว่ายน้ำ อาจจะต้องช้า อาจจะเหนื่อย ถามว่าไปถึงไหม ไปถึง ถามว่าใช้เรือเร็วกว่าไหม เร็ว แต่สิ่งที่แย่กว่าการไม่ใช้เรือก็คือแบกเรือไว้ เต็มไปด้วยอัตตา เหมือนแบกเรือไททานิคไว้บนหัว ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถามว่าศาสนาคือสิ่งที่สำคัญที่สุดไหม ไม่หรอกครับ สิ่งสำคัญสุดคือ คุณเปิดกว้างต่อความจริงมากแค่ไหน คุณรู้จักจิตใจตัวเองมากแค่ไหน ต่อให้คุณเป็นคนไม่มีศาสนาเลย แต่คุณมีความรักและคุณเข้าใจความจริง แค่นั้นก็พอแล้วครับ

• ไหนๆ ก็พาดพิงโยงใยไปถึงเรื่องศาสนา คุณมองปรากฏการณ์เกี่ยวกับศาสนาอย่างที่เป็นข่าวดังอย่างไรบ้าง

คือทุกอย่างมันบอกเราอยู่ว่าอะไรคือแก่นอะไรคือเปลือก สุดท้ายแล้ว ถ้าเราไปใช้เปลือกมากๆ เราจะพบว่าแก่นมันโบ๋แล้วมันหายไป ถ้าเราอยากเป็นคนหนึ่งที่เน้นเรื่องแก่น แล้วก็ทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีคุณค่า เนื่องจากเราใช้แก่น เราไม่ได้กินเปลือก ก็ขอให้เราเป็นคนหนึ่งซึ่งเผยแพร่สิ่งที่เป็นแก่น ผมจะไม่บอกว่าอะไรคือแก่นอะไรคือเปลือก ผมเชื่อมั่นในปัญญาของคนไทยทุกคนว่าดูออก เพียงแต่ว่าเราต้องไม่ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความกลัว จำไว้ว่าอะไรก็ตามที่อยู่บนพื้นฐานของความกลัว มักจะไม่ดี กลัวไม่ได้บุญ กลัวตกนรก กลัวไม่ได้เลื่อนขั้นไปเป็นบุญที่สูงขึ้น อะไรอย่างนี้เป็นต้น จำไว้ว่า สิ่งเหล่านี้มันเล่นกับความกลัวของคน อะไรก็ตามที่เล่นกับความกลัวของคน มักจะส่งผลเป็นความโกรธความเกลียดและความมืดบอด เพราะความกลัวมักมากับความมืดบอดเสมอ แต่อะไรที่มันเป็นแก่น มันจะมาพร้อมกับความรักและความเมตตา การโอบอุ้ม การเปิดเผย ความรักชนะความกลัวเสมอ

เพราะฉะนั้น อยากฝากให้คนไทยทุกคนว่า ขอให้ดูให้ดีว่าสิ่งที่เรากำลังจะเข้าหา เราเข้าหามันเพราะเรากลัวอะไรบางอย่าง หรือเราเข้าหามันเพราะความรัก ถ้าสิ่งนั้นสอนให้เรากลัวมากๆ ขอให้เราทิ้งมันไป แล้วให้เราเคลื่อนเข้าหาความรักแทน เพราะสุดท้ายแล้ว ความกลัวจะส่งผลออกมาเป็นสิ่งที่ไม่สวยงามเสมอ แต่ความรักไม่ว่ายังไง จะส่งผลออกมาเป็นสิ่งที่สวยงาม

• เท่าที่ฟังมา เหมือนว่าเราศึกษาเรื่องศาสนามาเยอะนะ

เยอะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานของท่านพุทธทาส เช่น “แก่นพุทธศาสน์” ท่านพูดเรื่องแก่นของธรรมะว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไรจริงๆ เวลาเราทานผลไม้ อย่างทุเรียน ถ้าไม่มีเปลือก เม็ดมันจะโตไม่ได้ เนื่องจากหนอนมันจะมากินแก่นไปหมด แต่ถ้ามีแต่เปลือกแล้วไม่มีแก่น ก็ไร้ค่าเหมือนกัน สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ ทุกอย่างต้องมีทั้งแก่นและเปลือก พุทธศาสนาก็เหมือนกัน ต้องมีทั้ง “วิธี” และ “พิธี” มันต้องมาคู่กัน พุทธทาสท่านแค่สอนว่าให้เราเน้นเรื่องวิธีมากกว่าพิธี ท่านจะพูดเสมอว่า แก่นของสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ คืออะไร แล้วให้เน้นไปที่สิ่งนั้น ไม่ใช่ไปเน้นที่พิธีกรรมอย่างเดียว

ท่านพุทธทาสจึงมีอิทธิพลต่อความคิดผมมาก โดยเฉพาะความคิดในด้านการเข้าใจความจริงโดยไม่ต้องผ่านเปลือก แน่นอนว่าเปลือกทำให้แข็งแกร่ง แต่เม็ดคือคุณค่าที่แท้จริง เราต้องใช้ทั้งเปลือกและแก่น ใช้ทั้งเม็ดและสิ่งที่ห่อหุ้มมันอยู่ แต่เลือกใช้อย่างมีปัญญา ไม่ใช่กินเปลือกแล้วเลือกทิ้งแก่น แต่ขอให้กินแก่นแล้วทิ้งเปลือก ปอกเปลือกให้เจอแก่นแล้วกินเนื้อของมัน อย่าลืมว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มันมีความหมายของมันอยู่ เราใช้ก๊อกน้ำเพื่อต้องการน้ำ ก๊อกราคาหนึ่งล้านบาทกับหนึ่งพันบาท สามารถจะเปิดแล้วทำให้น้ำออกมาได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการน้ำ ก๊อกล้านบาทอาจจะไม่จำเป็น ก๊อกพันบาทก็พอ เลือกให้ดีว่าเราต้องการอะไรแล้วใช้สิ่งนั้นให้เป็น

• นอกจากศึกษางานของท่านพุทธทาสแล้ว มีอะไรอีกไหมที่คุณต้องเพิ่มเติมให้ตนเอง

การคิดทุกวันครับ แล้วก็พยายามดูตัวเองตลอด ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดมีประโยชน์หรือเปล่า เมื่อรู้ว่าเริ่มคิดวนเวียน ก็ให้หยุด แล้วคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ผมตั้งใจทำอย่างนี้มานานแล้ว คือคนหลายคนไม่รู้ว่า เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของความคิดในแต่ละวัน คือความคิดที่ตนเองเคยคิดมาแล้ว อย่างถ้ามีความรัก ก็จะแบบ “เอ๊ย เขาจะรักเราหรือเปล่า ทำไมเขาตอบข้อความเราช้าจัง” อันนี้วนมาประมาณร้อยๆ ครั้งต่อวัน เนื่องจากถ้าเราศึกษาความคิดตัวเองดูดีๆ เราจะพบเลยว่าสมองของเราถูกสร้างมาให้ทำงานแบบวน ถ้าเราไม่ตั้งใจที่จะปรับสมองให้มันหายวน แล้วตั้งใจคิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตดีต่อชีวิต มันจะเอาสิ่งแย่ๆ วนกลับมาให้เราดู วนกลับมาให้เราคิด และวนกลับมาให้เราทุกข์เสมอ

ดังนั้น ถ้าเราอยากมีความสุข เราต้องรู้จักหยุดความวนในสมองของเราให้เป็น เราต้องรู้ว่า เอ๊ย เรื่องนี้มันมาหลายรอบแล้วนี่ แล้วมันไม่ทำให้เกิดประโยชน์เลย คิดเรื่องใหม่ ถ้าฝึกบ่อยๆ พอเราบอกมันแล้วมันจะหยุดเลยครับ ต้องลอง เช่นตั้งใจคิดว่า จะวางแผนพรุ่งนี้เพื่อให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร พรุ่งนี้จะไปคุยกับใคร จะไปทำอะไรให้ตัวเองมีฐานะที่ดีขึ้น มีความสุขที่มากขึ้น เริ่มต้นด้วยการคิดแบบนี้ สมองของเราก็จะเริ่มปรับจากช่องวน เป็นช่องที่สามารถพาเราไปสู่จุดที่สูงขึ้นได้ จำไว้ว่าจิตใจคนเราเหมือนน้ำ เวลาปล่อยไว้เฉยๆ มันจะไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ ถ้าเราอยากให้จิตใจเราไหลไปสู่ที่สูง เราต้องเป็นผู้บริหารและเป็นกัปตันของจิตใจเราเอง ควบคุมหางเสือให้เรือแห่งจิตใจเป็นไปตามทิศทางที่เราต้องการ เผลอได้บ้างไม่เป็นไร ผมก็เผลอบ่อย แต่กลับมาได้เมื่อไหร่ ใจเป็นสุขเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ใจเรามันชอบไหลลงสู่ที่ต่ำ ถ้าเราอยากให้มันไหลสู่ที่สูง เราต้องเป็นผู้สั่งการมัน

คนที่สามารถเข้าใจจิตใจของคน คือคนที่จะสามารถประสบความสำเร็จในทุกด้านได้ เนื่องจากไม่มีธุรกิจไหนหรืองานไหนที่เราไม่เจอกับคน ตื่นนอนมา ถึงแม้ว่าเราไม่เจอมนุษย์สักคนบนโลกใบนี้ แต่เราก็เจอตัวเอง ซึ่งเราก็คือคน ถ้าเราเข้าใจคนปุ๊บ รับรองเลยครับว่าธุรกิจรุ่งแน่นอน เหมือนกับที่พระเอกในหนังเรื่องฟิฟตี้ เชดส์ ออฟ เกรย์ (Fifty Shades of Grey) พูดไว้ว่า จริงๆ แล้ว นักธุรกิจไม่ต้องเก่งอะไรเลย แค่เข้าใจคน ก็รวยแล้ว เพราะคุณจะรู้ว่าคนเขาต้องการอะไร อย่างคนมาคุยกับคุณ เขามีลักษณะอย่างไร เขาอยากได้อะไร แล้วถ้าคุณให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้นะ สิบล้านเขาก็ยอมจ่าย ความรักก็เช่นกัน คุณรู้ว่าผู้ชายคนนั้นชอบอะไร ผู้หญิงคนนั้นต้องการอะไร คุณให้เขาได้ แล้วคุณรับจากเขาได้ สมดุลปุ๊บ ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จ ทุกเรื่องครับ การงาน ครอบครัว สังคม ถ้าคุณอยู่กับคน แล้วเก่งเรื่องคน ไม่มีทางที่คุณจะไม่ประสบความสำเร็จ

• แล้วทำยังไงถึงจะเข้าใจคน อย่างที่คุณว่า เพราะบางคนก็บอกว่าคนนี่แหละ สุดแสนจะเข้าใจยาก

เข้าใจตนเองก่อน ถ้าเราอยากเข้าใจคนอื่น เราต้องเข้าใจตัวเองให้ได้ก่อน ถ้าเราเข้าใจตัวเองปุ๊บ เราจะเห็นเลยว่า มันมีเส้นด้ายเส้นหนึ่งซึ่งโยงชีวิตเจ็ดพันกว่าล้านบนโลกเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็คือเส้นด้ายที่เรียกว่าสมองและจิตใจ เมื่อเราเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้นะครับ กลายเป็นว่าเราเข้าใจคนอีกเจ็ดพันกว่าล้านคนพร้อมๆ กันเลย เพราะถามว่า มีมนุษย์คนไหนในโลกบ้างที่ไม่เคยมีความสุขเลย หรือมีมนุษย์คนไหนบนโลกบ้างที่ไม่เคยมีความทุกข์เลย มีมนุษย์คนไหนในโลกบ้างที่ไม่เคยรู้จักความโกรธ หรือไม่เคยรู้สึกหวาดกลัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว... ไม่มีครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้แล้ว กลายเป็นว่าเราจะเข้าใจสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์อีกเจ็ดพันกว่าล้านบนโลกได้พร้อมๆ กัน ฉะนั้น ถ้าอยากจะยิ่งใหญ่ ถ้าอยากประสบความสำเร็จ เริ่มแรกจากการศึกษาตัวเองก่อน แล้วสุดท้ายเราจะพบว่า ยิ่งมองเข้ามาข้างในจิตใจของตัวเองได้ลึกแค่ไหน เราจะยิ่งมองออกไปข้างนอกได้กว้างไกลแค่นั้น...

เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

**สามารถติดตามมุมมองความคิดของเด็กหนุ่มคนนี้ได้ทางเฟซบุ๊ก <#KhunkhaoWriter>

กำลังโหลดความคิดเห็น