xs
xsm
sm
md
lg

จากเด็กขายขนมปัง สู่เจ้าของแบรนด์ดัง Shuberry “กรกนก สว่างรวมโชค”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากเด็กตัวน้อยๆ ที่ถือตะกร้าขนมปังเร่ขายตามบ้านนู้นทีบ้านนี้ที สู่การเป็นเจ้าของแบรนด์ดัง Shuberry ที่ตอนนี้มีถึง 12 สาขา แถมยังมีตลาดส่งออกยังต่างประเทศอีกด้วย นับว่าสาวคนนี้เป็นนักธุรกิจหญิงที่น่าจับตามองยิ่งนัก เนื่องด้วยความสามารถที่มากถึงขนาดได้รับรางวัลชนะเลิศในฐานะผู้ออกแบบนวัตกรรมยอดเยี่ยมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมของกระทรวงพาณิชย์ แล้วยังไม่พอเธอยังได้รับเลือกให้เป็น Young Entrepreneur นักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากนิตยสาร Lisa อีกด้วย

แม้หนทางการใช้ชีวิตในวัยเด็กของเธอนั้นจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมันอาจจะเต็มไปด้วยขวากหนามของหนามกุหลาบแทนก็ตาม แต่ทว่าความพยายามและความที่มีใจสู้ก็สามารถทำให้เธอก้าวพ้นจากความลำบากนั้นไปได้

“ป้อ- กรกนก สว่างรวมโชค”
      • เรียกได้ว่าเป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ช่วยย้อนเล่าให้ฟังหน่อยค่ะว่าก่อนที่จะมีแบรนด์เป็นของตัวเองคุณป้อทำอะไรมาก่อน

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า จริงๆ แล้วทางบ้านป้อเองไม่ใช่ว่าจะฐานะดีอะไร ค่อนข้างลำบากเหมือนกัน แต่ก่อนก็ทำขนมปังขาย ซึ่งเราลูกๆ ก็มีหน้าที่ช่วยกันทำ และป้อเป็นคนชอบการค้าขายอยู่แล้วด้วย หรือเกิดไอเดียอะไรปุ๊บก็จะทำทันที อย่างขนมปังก็เหมือนกันมันเกิดจากที่ป้ออยากมีรายได้ อยากซื้ออะไรด้วยตัวเองได้บ้าง จึงขอแม่ว่าขอเอาขนมปังไปขายได้ไหม ตอนเด็กๆ ป้อชอบขายขนมปัง ชอบชวนเพื่อนๆ ไปเดินขายตามถนนหนทาง ตามบ้านคน จะเคาะประตูทุกบ้านเลยค่ะ (หัวเราะ) ว่ามีใครสนใจขนมปังไหม ก็ตระเวนขายจนหมด เราถึงจะกลับบ้าน เพราะเป็นคนที่ถ้าของไม่หมดก็จะไม่กลับ (หัวเราะ) พอขึ้นมัธยม ป้อก็ยังขายอยู่ แต่จะเอาไปขายเพื่อนๆ ในโรงเรียน จนครูไม่ให้ขาย (หัวเราะ)

จะว่าไป เรื่องการค้าขาย ป้อมีแววมาตั้งแต่ ป.1 แล้วนะคะ ป้อเป็นคนที่ชอบเล่นตุ๊กตากระดาษ ซึ่งบางทีที่เขาขายตามท้องตลาด ไม่ใช่อย่างที่เราต้องการ ป้อจึงวาดรูปในแบบของเราเอง ออกแบบเสื้อผ้าของตุ๊กตา ตอนนั้นทำเล่นเองแต่เพื่อนดันชอบ เพื่อนเกิดอยากได้ เราเลยถามว่าเอาไหมเราขายตัวละบาท (หัวเราะ) ป้อเป็นคนชอบขายของ มีอะไรขายได้ก็จะขายหมด (ยิ้ม)

และอย่างที่บอกไปว่า ที่บ้านฐานะไม่ค่อยดี แถมคุณพ่อก็มาเสียตอนที่ป้ออยู่มัธยมปีที่ 1 ซึ่งคุณแม่ก็ต้องดูแลลูกๆ ทุกคนด้วยตัวคนเดียว จริงๆ ตอนที่ป้อขายตุ๊กตากระดาษตอนนั้น ฐานะไม่ได้แย่มากเท่าตอนที่คุณพ่อเสีย เพราะยังมีคุณพ่ออยู่ แต่ว่าด้วยเป็นคนที่อยู่ไม่สุข เลยชอบหาอะไรมาขาย เช่น ขายตุ๊กตากระดาษ เก็บเปลือกหอยมาระบายสีแล้วเอาไปขายที่ตลาด จนกระทั่งคุณแม่เริ่มหันมาทำขนมปัง

      • แล้วมาเป็นเจ้าของธุรกิจตอนไหนคะ เพราะหลายคนมองว่าคนที่จะมีธุรกิจได้ ก็น่าจะต้องมีฐานะที่ดีหน่อย

ป้อเริ่มทำตั้งแต่มหาวิทยาลัยปี 4 ซึ่งแรกเริ่มที่ลงทุน ป้อไม่ได้ใช้เงินลงทุนเลยแม้แต่บาทเดียว แต่จะใช้วิธีออกแบบ

เริ่มจากออกแบบกระเป๋าก่อน จำได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่ยุคเซ็นเตอร์พอยต์กำลังบูม เป็นช่วงที่เขาเปิดรับไอเดียของทุกคน คือจะเป็นผลงานยังไงก็ได้ ป้อก็เลยลองออกแบบกระเป๋าแล้วไปหาโรงงาน แต่การหาโรงงานเป็นอะไรที่ยากมาก เปิดตามสมุดหน้าเหลืองก็มีแต่โรงงานใหญ่ๆ โทร.ไปก็ไม่มีใครสนใจที่จะทำให้ เพราะว่าข้อจำกัดของเราคือนอกจากจะต้องทำให้เราแล้ว ยังต้องทำตัวอย่างให้เราก่อนเพื่อที่เราจะเอาไปเทกออเดอร์ ซึ่งตอนนั้น ป้อก็มีโอกาสได้มาเจอโรงงานหนึ่งเป็นโรงงานเล็กๆ จำได้ว่า ป้อเข้าไปในชุดนักศึกษาเลย (หัวเราะ) ไปขอให้เขาช่วย ซึ่งเขาก็โอเค ช่วยเรา คือตอนนั้นจะทำตัวอย่างขึ้นมาก่อนค่ะแล้วถ้ามีลูกค้าสั่งก็จะเอาไปให้เขาช่วยทำ ทำเสร็จก็จะไปเก็บเงินที่ลูกค้าแล้วเราก็ค่อยนำมาจ่ายโรงงาน ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นแรกของป้อเลยค่ะ (ยิ้ม)

      • เริ่มจากธุรกิจเล็กๆ แล้วทำไมถึงจับพลัดจับผลูมาทำเป็นแบรนด์ใหญ่อย่าง ShuBerry ได้

พอกระเป๋าเริ่มบูมแล้วป้อก็คิดว่าทำแต่กระเป๋ามันเริ่มไม่ใช่แล้วมันไม่เพียงพอ มันไม่ครบวงจร ตอนแรกก็ทำเสื้อผ้าด้วย ทำกระเป๋าด้วย ขายในร้าน แต่ก็มองว่ายังขาดรองเท้า ป้อเป็นคนค่อนข้างตัวเล็กเลยจะเน้นเรื่องรองเท้าเป็นหลัก

ตอนนั้นที่เริ่มออกแบบกระเป๋าจนมีโรงงานผลิตให้ก็กลับกลายว่าพอตลาดเริ่มโตเต็มที่ เราก็เริ่มอิ่มตัว มันเป็นอารมณ์ประมาณว่าบางเจ้าเขาเริ่มไม่รับสินค้าเราแล้ว หรือบางเจ้าก็เริ่มที่จะรับน้อยลงหรือแม้แต่บางเจ้าเลิกขาย เราเลยรู้สึกว่าได้รายได้ไม่เท่าเดิม กระทั่งมานั่งคิดว่าเริ่มอยากมีร้านของตัวเอง เพราะว่าเราจะได้ไม่ต้องพึ่งคนอื่น

ป้อมองว่าทำกระเป๋า ทำเสื้อผ้านี่ไม่ยากนะคะเพราะเรารู้จักโรงงานอยู่แล้ว แล้วเสื้อผ้าก็หาคนตัดเย็บเก่งๆ ง่ายมากในเมืองไทย แต่พออยากทำรองเท้าขึ้นมา มันเป็นอะไรที่ยากมาก หาโรงงานรองเท้ามันเหมือนไม่ได้อยู่ตามท้องถนนทั่วไป เสิร์ชโรงงานทำรองเท้ายังไม่มีชื่อเลยค่ะ ณ ตอนนั้น นอกจากจะเป็นระดับใหญ่ๆ จริงๆ มันเป็นอะไรที่หาคนทำไม่ได้จริงๆ ป้อก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดี ใช้เวลามากพอสมควรเลยค่ะตรงนี้ ก็เป็นอุปสรรคในชีวิตอย่างหนึ่งเหมือนกัน

จนกระทั่งวันหนึ่งเราได้ไปเดินที่สวนจตุจักร ไปเจอคนหนึ่งคล้ายๆ ชาวเขาซึ่งเขาไม่ใช่ชาวเขานะคะ แค่เป็นคนฮิปปี้หน่อย ผมยาวๆ เขานั่งขายรองเท้าสานทำมืออยู่หน้าร้านคนอื่นๆ เป็นร้านเล็กๆ แต่เรากลับปิ๊งไอเดีย เพราะมันเป็นรองเท้าที่คล้ายๆ กับที่เราอยากได้ เราเลยไปคุยกับเขา อธิบายให้เขาฟังว่าเราอยากดัดแปลงยังไง ซึ่งตอนนั้นจากที่เขาทำรองเท้าแบกะดินก็เปลี่ยนมาทำส่งให้ร้านเราแทน (ยิ้ม) จนเขาสามารถเปิดโรงงานของตัวเองได้แล้วค่ะ

ป้อเลยเอาเงินจากการขายกระเป๋าครั้งนั้นมาทุ่มกับการเปิดร้าน เอามาทุ่มกับตรงนี้หมดเลยเป็นหลักแสน ตอนนั้นก็คิดนะคะว่าเงินเป็นแสนที่เราเก็บจากตรงนี้ได้มันเยอะนะแต่ไม่เป็นไร เราก็เลือกที่จะสู้ ตอนแรกเริ่มจากไปเปิดร้านที่สยามสแควร์ จริงๆ แบรนด์แรกที่ทำและเปิดร้านเองเป็นแบรนด์ชื่อว่า Sexy de Cute ที่เป็นโลโก้ผู้หญิงหัวฟู ถ้าใครอยู่ในรุ่นสมัยนั้นจะรู้จักแบรนด์นี้ดี เพราะตอนนั้นคนใช้ของเราเยอะมากเหมือนกันค่ะ ตอนนั้นแรกๆ ขายดีนะคะ เริ่มที่จะขายไม่ทันเพราะการแข่งขันในสมัยนั้น ป้อมองว่ามันยังไม่เท่ากับสมัยนี้

จากเปิดร้านแรก ก็เริ่มมีร้านที่สอง ที่สาม ที่สี่ ห้า และหกตามมาจนเรียกว่าตอนนั้นป้อคุมในสยามเลยก็ว่าได้ค่ะ พอแบรนด์ Sexy de Cute เริ่มเป็นที่รู้จักและติดตลาดจะมีช่วงหนึ่งที่เศรษฐกิจเริ่มซบเซา สินค้าที่เป็นแฟชั่นประมาณนี้รวมทั้งของเราเองก็เริ่มดร็อปลง ป้อก็เลยเริ่มมองว่าแทนที่เราจะอยู่แค่ในสยาม เราลองออกไปกว้างกว่านี้ดีกว่าไหม นั่นจึงเป็นจุดที่ป้อเริ่มคิดจะทำขึ้นห้าง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ป้อคำนึงถึงเลยก็คือ ถ้าเราเข้าห้าง แต่เราจะแฟชั่นจ๋าแบบในสยามหรือราคาสูงขนาดนี้มันอาจจะไปได้ไม่ทั่ว ป้อเลยคิดและตั้งใจจะทำแฟชั่นที่เบาๆ ใครๆ ก็สามารถใส่และใช้ได้ ราคาสามารถเอื้อมถึงก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ SHUBERRY ขึ้นมา พอมีหนึ่งสาขาปุ๊บก็มีสอง สามสี่ตามมาจนตอนนี้มี 12 สาขาแล้วค่ะ (ยิ้ม)

      • จากจุดเริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ มองย้อนไปแล้วคิดเห็นอย่างไร

ความพยายามเป็นคุณสมบัติของทุกคนที่เขาประสบความสำเร็จ เราต้องมีใจสู้ ซึ่งคนที่มีใจสู้ แม้ว่าจะลำบากแค่ไหน เขาก็จะผ่านความลำบากไปได้อย่างธรรมดา มันเป็นเรื่องที่ต้องเจออยู่แล้วค่ะ เป็นเรื่องที่เรารับได้

ส่วนเรื่องอุปสรรค ป้อว่าจริงๆ แล้ว การที่เราจะเริ่มทำธุรกิจมันมีอุปสรรคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อย่างเช่น ตอนที่ป้ออยากทำกระเป๋าไปขายตามเซ็นเตอร์พอยต์ มันก็เกิดอุปสรรคตั้งแต่ตอนหาโรงงานแล้ว มันหายากมากซึ่งถ้าบางคนอาจจะท้อ เลิกหา พอแล้วจบ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งป้อไม่เคยคิดแบบนั้น เพราะเวลาที่เจอปัญหา ป้อจะพยายามแก้ปัญหา

สำหรับป้อ ป้อไม่เคยคิดว่าเราอยากทำอะไรแล้วเราจะทำได้หรือเปล่า ไม่เคยคิดเลยจะคิดแต่ว่าถ้าเราอยากทำอะไร เราต้องพยายามทำให้ได้

      • ทุกวันนี้มีครบครันเรียกได้ว่าเพอร์เฟกต์ลงตัวหมดทุกอย่างแล้ว ถ้าย้อนกลับไปมองความลำบากในวัยเด็กเราได้อะไรจากตรงนั้นบ้าง

ป้อมองว่าชีวิตที่ลำบากในวัยเด็กมันเป็นอะไรที่สอนป้อมาก โดยเฉพาะเรื่องใจ เพราะมันทำให้เราใจสู้ มันสำคัญมากเลย การที่เราต้องดิ้นรนเองอะไรเอง มันทำให้เราเข้มแข็ง ตอนนั้นทุกคนต้องตื่นแต่เช้า ตี 4 ตี 5 ก็ต้องตื่นแล้วค่ะมาช่วยทำขนมปัง แทนที่จะได้ออกไปเล่นนอกบ้าน กลับมาจากโรงเรียนก็ต้องไปช่วยทำขนมปังต่อ อย่างวันเสาร์อาทิตย์แทนที่จะได้หยุด ได้เล่นกับเพื่อนๆ เหมือนคนอื่นๆ ก็ต้องมานั่งช่วยทำขนมปัง ซึ่งป้อชอบนะคะและไม่เคยคิดว่าเราทำแล้วเราจะเสียโอกาสไปเล่นกับเพื่อน แต่กลับกันคือเราอยากเอาไปช่วยขาย ซึ่งคุณแม่ก็จะให้รายได้เราจากตรงนี้ด้วย พอได้รายได้มา ป้อก็เก็บหอมรอมริบ เพราะไม่อยากให้คุณแม่ลำบาก

ป้อได้เงินมาจากการขายขนมก็จะเก็บหอมรอมริบเพื่อนำมาออกค่าใช้จ่ายในการเรียนเอง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่เราก็พอจะแบ่งเบาภาระได้ อย่างเช่น ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน

ตอนที่เรียกว่าลำบากสุดๆ ในชีวิตป้อ น่าจะเป็นตอนที่คุณพ่อเสีย แล้วเราต้องไปช่วยแม่ทำขนมปังแล้วเอาไปขายด้วย หลังจากนั้น พอเราโตมา เราก็เลือกเรียนโรงเรียนพาณิชย์ ทั่วๆ ไปเพราะว่าคิดว่าเรียนสายอาชีพ จบปุ๊บจะได้ทำงานเลย จะได้ไม่เป็นภาระ ป้อคิดไว้ว่าเราเรียนพาณิชย์ เราก็ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ติด เพราะถ้าเราสอบมหาวิทยาลัยรัฐไม่ติด เราคงจะไม่ได้เรียนต่อแน่ๆ เพราะค่าเทอมเอกชนค่อนข้างแพง แต่ถ้าเราติดรัฐบาลขึ้นมา คุณแม่ก็น่าจะยังพอไหว ป้อเลยพยายามซื้อหนังสือมาอ่านเองจนสามารถสอบติดที่จุฬาฯ คณะบริหารได้ (ยิ้ม) ตอนนั้นป้อภูมิใจในตัวเองมากนะคะที่เราเป็นเด็กพาณิชย์ ที่สอบติดมหาวิทยาลัยรัฐได้เพียงคนเดียวของโรงเรียน

จากจุดนี้พอเราเข้าเรียนที่จุฬาฯ ปุ๊บ เราก็คิดว่าตัวเองพอที่จะมีความรู้ ก็เลยไปรับสอนพิเศษติวหนังสือให้กับน้องๆ ด้วย ซึ่งตอนที่ป้ออยู่มหาวิทยาลัย คุณแม่จะไม่ได้ทำขนมปังแล้ว ป้อเลยหารายได้พิเศษไปรับสอนพิเศษ จนกระทั่งขึ้นมหาวิทยาลัยปี 4 ก็เลยเกิดไอเดียอยากจะทำกระเป๋าขึ้นมา

      • ถ้าไม่ใช่ในแง่เงินทอง คุณป้อมองว่าเราได้อะไรจากที่ทำตรงนี้ค่ะ

ป้อว่านอกจากเราจะได้ธุรกิจ ได้รายได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเราได้ก็คือการคิดบวก มันทำให้เราคิดว่าอะไรก็เป็นไปได้หมด มันทำให้เรามีความสุข เพราะเราก็ทำในสิ่งที่เราชอบ เราถนัด แล้วป้อก็ไม่เคยย่อท้อด้วยนะคะ อย่างตอนเด็ก ป้อไม่เคยท้อที่จะเลิกขายนะ แต่จะมีจุดหนึ่งที่เวลาไปขายขนมปัง ก็จะมีคนอื่นที่เขาอยู่ตามบ้านหลังใหญ่โต เราจะมองว่าเขาสบายดีเนอะ แต่เราไม่ได้อิจฉาเขานะคะ แต่เราอยากที่จะเป็นอย่างนั้นให้ได้มากกว่า เราเห็นแล้วประมาณว่าเราอยากมีบ้านอย่างนี้ แต่ก็ไม่ถึงกับท้อว่าเรามาเดินขายของแล้วต่ำต้อย ไม่ได้รู้สึกเลย แล้วอีกอย่างป้อไม่ได้อายเพื่อนด้วยนะคะ บางทีขายแล้วเจอเพื่อน ป้อก็จะขายให้เพื่อนเลย (หัวเราะ) คือเรารู้ว่าเราอยู่จุดไหน

อย่างที่ป้อไปขายขนมปัง บางคนเขาให้กำลังใจเราด้วยซ้ำ เขาชื่นชมเรา ป้อชอบตรงนี้ค่ะ ทำให้เรารู้สึกว่าการทำมาหากินไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร เราเหนื่อย เพราะเราทำอะไรเยอะกว่าคนอื่น ป้อว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีประสบการณ์มากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ

      • ในตลาดการแข่งขันค่อนข้างที่จะสูง เรามีจุดยืนอย่างไรบ้าง

ยอมรับนะคะว่าสมัยที่ป้อทำธุรกิจแรกๆ มันรุ่งเร็วมากเพราะว่าไม่มีใครออกแบบรองเท้าหรือกระเป๋าเอง เพราะสมัยก่อนเขาจะใส่เหมือนๆ กัน แต่ถ้า ณ ปัจจุบันนี้พูดถึงอุตสาหกรรมมันโตเร็ว ใครๆ ก็สามารถทำได้ การแข่งขันสูงซึ่งส่วนตัวป้อก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปด้วย ตอนนี้ป้อก็มีโปรเจกต์ที่อยากจะทำอีกเยอะเลยค่ะ ที่อยากทำเพิ่มเติมน่าจะเป็นในแนวแฟชั่นไปก่อน อาจจะเป็นเสื้อผ้าหรืออาจจะเพิ่มรองเท้าเด็กขึ้นมา

ป้อชอบแฟชั่นมาก เพราะเป็นคนที่รักสวยรักงามมาตั้งแต่เด็ก เราสามารถคิดออกแบบอะไรได้ ทั้งที่เราไม่ได้เรียนมาทางนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเรารักสวยรักงามชอบแต่งตัว แต่เราไม่มีรายได้ ทุกวันที่ผ่านมาตอนเด็กๆ คือเราอยากสวยมากๆ เลยนะแต่เราไม่มีเงินซื้อ เราเลยใช้วิธีอะแดปต์ เคยมีครั้งหนึ่ง ป้อจะเอาเสื้อของพี่สาวที่มีอยู่มาใส่กับเนกไทคุณพ่อและก็ใส่กับกางเกงคุณแม่สมัยก่อน ซึ่งเราจะดูแตกต่างจากคนอื่นมาก ตอนนั้นจำได้ว่าเราไปเดินสยามก็มีแมวมองมาติดต่อเพราะเขารู้สึกว่าการแต่งตัวของเราไม่เหมือนใคร กระทั่งตอนที่โตมาเป็นสาวแล้วก็เหมือนกันนะคะ ตอนนั้นเขาฮิตใส่ขาม้ากัน ป้อก็มีแต่พอเราใส่ไปสักพักมันเริ่มเบื่อ ป้อก็เอามาเย็บขาตรงเลย อยู่ดีๆ จากขาม้ามาเป็นขาเดฟเลยให้มันแตกต่างจากชาวบ้านเขา คือป้อจะคิดดัดแปลงให้ตัวเองมีอะไรใส่ตลอด

ตอนเด็กๆ ป้อไม่เคยคิดเลยนะคะว่าตัวเองจะมาถึงทุกวันนี้แต่ก็ไม่เคยคิดว่าเราจะไม่ทำอะไร จะใช้หลักที่ว่าเราต้องดีกว่าเดิมเสมอ

      • ถ้าอยากประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยอย่างคุณป้อ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างคะ

สิ่งหนึ่งที่ต้องมีเลยคือใจสู้ เพราะไม่ว่าเราจะลงมือทำอะไร เราต้องสู้ ใจสู้ในที่นี้คือเราต้องพร้อมเผชิญกับความยากลำบาก การที่เราจะเป็นเจ้าของกิจการไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่สบาย มันมีอุปสรรคเข้ามาเยอะ เราต้องพร้อมที่จะสู้ฟันผ่ามันไปให้ได้ เรื่องของใจสู้มันขึ้นอยู่กับเรื่องของจิตใจทั้งหมดนะคะ คนที่อยากจะลุกขึ้นสู้ ป้อว่าต้องปรับที่พื้นฐานของจิตใจตัวเองด้วย ใจสู้และก็คิดบวกด้วย ป้อว่าทุกอย่างมันมีอุปสรรคนะ อย่างตอนขายขนมปังยังมีอุปสรรคเลยค่ะ คือเดินขายบางบ้านก็ไม่ซื้อนะคะ ไม่ใช่ว่าเราจะเดินขายแล้วเขาจะซื้อกินทุกบ้าน แต่ว่าเราจะมองว่ามันเป็นอุปสรรคหรือเปล่ามันก็อีกเรื่องหนึ่ง

ที่ผ่านมาเวลาที่ป้อเจออุปสรรค เจอปัญหาอะไร ป้อจะไม่เคยท้อเลยนะคะ เพราะการที่เราท้อมันไม่สามารถแก้อุปสรรคได้ เราต้องพยายามหาทางแก้ไขมันจะดีกว่า เราต้องหาวิธีไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้ามองกลับไป ป้อว่ามันยากสำหรับคนคนหนึ่งที่กำลังเริ่มเหมือนกันนะคะ แต่เราต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วก็พัฒนาจากตรงนั้นต่อไปเรื่อยๆ

      • ในฐานะคนทำธุรกิจแถมประสบความสำเร็จด้วย อยากจะแนะนำคนที่อยากทำธุรกิจอย่างไรบ้างคะ

สำหรับคนรุ่นใหม่นะคะ ถ้าอยากจะทำอะไรก็ขอให้ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด สิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจ เพราะถ้าเราเจออุปสรรคอะไร เราจะได้สามารถฟันฝ่าไปได้ และจะได้ไม่เป็นเรื่องยาก และก็ขอฝากว่า ถ้าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ จะต้องมีใจสู้อย่างที่บอกไป อย่ามองอุปสรรคเป็นเรื่องท้อแท้เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ต้องเจอในการทำธุรกิจอยู่แล้ว ขอให้ใจสู้และคิดบวกเข้าไว้ ที่สำคัญตอนที่เราเริ่มไม่จำเป็นต้องเริ่มจากใหญ่ๆ ให้เริ่มจากเล็กๆ จะดีที่สุด เริ่มอะไรที่ไม่ต้องลงทุนได้ยิ่งดี เพราะว่าเราไม่จำเป็นต้องไปทุ่มที่ตัวเงิน ให้ทุ่มที่แรงกายแรงใจจะไม่มีขาดทุนค่ะ

ถ้าไม่ประสบความสำเร็จให้หันมาดูที่มุมมองของตัวเอง บางทีมุมมองของตัวเองหรือสิ่งที่เราทำอยู่ เราเข้าใจมันจริงๆ หรือเปล่า บางทีที่เราไม่ประสบความสำเร็จ มีหลายอย่าง อย่างเช่น สินค้าเราโดนใจลูกค้าไหม อยู่ในตลาดที่ถูกต้องไหม เรื่องพวกนี้ อุปสรรคพวกนี้มันอยู่ที่เราต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เราต้องศึกษาแล้วก็หาทางแก้ต่อไป

      • แล้วในอนาคตวางแผนอยากจะทำอะไรต่อไปบ้าง

ในอนาคต เราจะเปิดเป็นประเทศอาเซียน เป้าหมายของป้อคืออยากมีสินค้าไปอยู่ตามประเทศในกลุ่ม AEC ตอนนี้มองแล้วพยายามศึกษาแล้วเปิดโรงงานสอนทำรองเท้าด้วย

ตอนนี้ทางร้านจะมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของรองเท้ามา 20 กว่าปีเป็นคนคอยดูแลโรงงาน ซึ่งโรงงานเราก็สามารถสอนคนงานจนทำรองเท้าเป็นด้วย ป้อเลยคิดอยากจะเปิดสอนทำรองเท้าให้กับคนทั่วไป ป้อคิดว่าการที่จะหาโรงเรียนสอนทำรองเท้าในไทยยากมากเกรงว่าความรู้นี้จะสูญหายไป ป้อเคยคุยกับเพื่อนที่บ้านทำรองเท้า เขาบอกประมาณว่าอันนี้เป็นธุรกิจในครัวเรือน ส่วนมากเขาจะเก็บความรู้ไว้ไม่เอาไปเผยแพร่

ป้อมองว่ามันอาจจะทำให้เมืองไทยพัฒนาในเรื่องนี้ได้น้อย ถ้าเราเปิดให้ใครก็สามารถทำรองเท้าได้ วงการรองเท้าจะพัฒนาไปได้ไกลขึ้น ถ้าเราเด่นในเรื่องนี้ก็จะทำให้ต่างชาติหันมาสนใจเรามากขึ้น เชื่อว่าความเจริญเริ่มมาทางฝั่งตะวันออกอย่างพวกเอเชียแล้ว คิดว่าคนไทยน่าจะมีชื่อเสียงในด้านนี้ได้เพราะคนไทยมีความสามารถในเรื่องของงานฝีมือ อีกอย่างในเรื่องของแฟชั่นคนไทยก็ไม่ได้น้อยไปกว่าใครก็อยากจะพัฒนาตรงนี้ค่ะ (ยิ้ม)




PROFILE
ชื่อ : กรกนก สว่างรวมโชค
ชื่อเล่น : ป้อ
วันเกิด : 11 กันยายน 2521
อายุ : 36 ปี
อาชีพ : เจ้าของแบรนด์ SHUBERRY
คติประจำใจ : คิดบวก
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วชิร สายจำปา

กำลังโหลดความคิดเห็น