xs
xsm
sm
md
lg

“โค้ชกระสุน สุนทร ใจมาบุตร” 2 ล้อวีลแชร์ผู้ไม่ยอมแพ้แก่ชะตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพมนุษย์ล้อหนุ่มดุนล้อไปมาพร้อมกับตะโกนโหวกเหวกตามคนว่ายอยู่ริมสระว่ายน้ำ เชื่อว่าใครๆ ที่เห็นภาพนี้ต้องตั้งคำถามในใจว่าเขาคนนี้เป็นใคร ไม่ครบอาการ 32 แล้วมาทำอะไรในสถานที่แบบนี้

นั่นก็เพราะเขาคือโค้ชว่ายน้ำ โค้ชปั่นจักรยาน โค้ชวิ่ง หรือที่เรียกรวมกันว่า "โค้ชไตรกีฬา" ผู้ปั้นนักกีฬาติดอันดับประเภทนี้มานักต่อนัก อย่าง "โปรอุ้ย-ทัศน์วรรณ ศิริวงศ์" นักไตรกีฬาสาวมือวางอันดับต้นๆ นัมเบอร์วันเมืองไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการปั้นของเขา

แนะนำกันอย่างนี้ รังแต่เพิ่มคำถามขึ้นไปอีกว่าเขาทำได้อย่างไร
มิสู้เราไปรับฟังจากปากของเขาเองดีกว่า
ว่าจะคม แรง เสียงดังปังเปรี้ยงสมฉายาหรือไม่
"โค้ชกระสุน สุนทร ใจมาบุตร"...

อยู่ร่วมและยอมรับกับวิกฤติ
เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

"แค่ผมลืมตา ผมมองเห็น มันเป็นอะไรที่สุดยอดแล้ว คุณเห็นสิ่งสวยงาม คุณฟังเพลงเพราะ กินข้าวอร่อย คุณพอแล้ว ผมว่ามันพอแล้ว ก็อยากจะฝากบอกไว้เลยว่ามันไม่มีอะไรแน่นอนเลย ไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ ในชีวิตคนเรา ความไม่แน่นอนนี่แหล่ะที่แน่นอนตายตัว"
โค้ชหนุ่มเจ้าของสมัญญา "กระสุน" ที่ใครต่างเรียกขาน เพราะสมรรถนะด้าน "ความเร็วแรง" ของการเล่นกีฬาว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยาน และชีวิตดาวรุ่ง ความหวังของวงการไตรกีฬาบ้านเรา เริ่มกล่าวถึงความคิดอ่านตอนนี้ ที่อุบัติเหตุจากความประมาท พรากทุกสิ่งอย่างไปโดยไม่คาดคิด ซึ่งหากนับระยะเวลาก็ร่วม 2-3 ปีแล้วที่อดีตนักไตรกีฬาระดับประเทศต้องศูนย์เสียประสาทยืดเหยียด ร่างกายตั้งแต่หน้าอกไล่ลงมาถึงฝ่าเท้าสถิตอยู่ในความแน่นิ่ง

"คนที่เป็นหนักกว่าผม มีเยอะมากนะ หลังจากออกมาจากศูนย์ฟื้นฟูสภากาชาดบางปูด้วยกัน แล้วเราก็จะเป็นแก๊งด้วย แก๊งวีลแชร์ที่ชอบนัดกันไปเที่ยวต่างจังหวัด" เจ้าตัวแซมหัวเราะยืนยัน ก่อนจะเผยว่า "ความพิการ" ไม่ใช่อุปสรรคของชีวิตที่จะทำให้เขาหายใจ
ส่วนความสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากรึ?...
"ผมไม่เคยคิดฆ่าตัวตายเลยด้วยซ้ำ บุญเท่าไหร่แล้วที่เรายังมีชีวิต ที่ไม่ตายในน้ำทั้งๆ ที่เป็นทีมชาตินักกีฬาว่ายน้ำ" โค้ชหนุ่มกล่าว

“ก็แค่เดินไม่ได้ แต่มันไม่ได้ตาย มันยังใช้ชีวิตอยู่ได้ มันยังเดินเหินได้ มันก็แค่เปลี่ยนจากเดินเป็นนั่ง ทุกวันนี้ผมก็ยังแอบออกไปเที่ยว ออกไปโน้นนี้ ไปต่างจังหวัดบ้าง ก็ไปของผมไปเรื่อยขึ้นรถไฟ รถไฟฟ้า"

"อย่างตอนที่อยู่ศูนย์ฟื้นฟูใหม่ๆ ก็มีแก๊งเพื่อนๆ ที่เคยอยู่ด้วยกัน ที่เที่ยวด้วยกันทุกวันนี้ เขาก็ถามว่าทำไมเราไม่มีท้อบางเลยหรือ เราก็บอกว่า ตอนที่เราแย่ มีใครอยากรู้ไหมว่าเราแย่ขนาดนั้น มันไม่มีใครอยากรู้ จริงไหม แล้วจะพูดออกไปทำไมให้ใครเขารู้ มันไม่จำเป็นต้องพูด แต่สิ่งที่คนอยากรู้ ทำอย่างไรต่างหาก เราถึงตื่นจากตรงนั้นขึ้นมาได้ เนี่ยคือสิ่งที่คนอยากรู้

"ไม่ใช่ว่า...โอ้ชีวิตแย่ๆ ผมเห็นโพสเต็มเฟซบุ๊กเลย ชีวิตแย่ ชีวิตมีแต่ปัญหา ทะเลาะกับแฟนบ้าง พ่อแม่ทะเลาะกันบ้าง แล้วชีวิตจะไปทางไหนดี มีครั้งหนึ่งเป็นเพื่อนตั้งสถานะอย่างนี้ ผมเลยพิมพ์บอกว่า มึงๆ มาเปลี่ยนกับกูดิ มานั่งอย่างเนี้ย เดี๋ยวไปเจอปัญหาแทน คุณจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองดีขึ้นเยอะเลย คือเราก็ไม่ได้ว่าตัวเองเจ๋ง แต่คุณคิดว่าคุณเจออะไรที่หนักๆ แล้ว มันก็ยังมีคนที่เจออะไรหนักๆ กว่าคุณอีกตลอด

"คือทุกวันนี้ ผมใช้ชีวิตมีความสุขกว่าเมื่อก่อนเสียอีก เพราะว่าก่อนหน้านี้ผมต้องบอกเลยว่าผมเป็นคนที่อีโก้สูงมากๆ เพราะด้วยความที่เราประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นตัวเยาวชนว่ายน้ำทีมชาติตั้งแต่อายุ 17 ปี แล้วพอได้มาเล่นไตรกีฬาก็ได้แชมป์ประเทศ 3 สมัยติดต่อกัน ในปี พ.ศ.2548 -49 -50 อันดับหนึ่งพัทยาไตรกีฬาอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ 2 รายการเอเชียนแชมป์เปี้ยนชิพ รุ่นโอเวอร์ออล แต่อันดับที่ 1 ของคนไทย รายการใหญ่ต้นๆ ของเมืองไทยทั้งนั้น เรียกได้ว่าตอนนั้นเป็นตัวเป้า เป็นเหมือนดาวรุ่งพุ่งแรง ฉายา “กระสุน” ก็ได้มาก็เพราะอย่างนี้"

"ช่วงอายุ 25-26 ก่อนถึง 27 เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมาก เราก็เลยคะนองแล้วอีโก้ก็สูงสุดๆ อยากได้อะไรก็ต้องได้ ดิ้นรนทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีความสุข เพราะเราเป็นเด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว คุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน จนมาได้รับอุปการะจากท่านอาจารย์ “เดือน เจริญยศ” อาจารย์โรงเรียนสตรีวิทยา2 สนับสนุนให้โอกาสจนเรามีวันนี้ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดไง เราไม่คิดเลย เราวาดฝันแค่ว่าต้องมีบ้าน มีรถ ไม่สนใจใคร กลัวคนอื่นดีกว่า แล้ววันหนึ่งมันก็...ปึ้ง!!

"จากที่เคยมี ตื่นขึ้นมามันไม่มีแล้ว ไม่มีแม้กระทั่งความรู้สึก" โค้ชหนุ่มเว้นวรรคเรื่องราว ให้เสมือนแรงเฉื่อย "ความเร็ว" หมดแรง "ความคม" ของกระสุนที่ดุดันยุติลงเมื่อถึงจุดปะทะ เพราะว่าหลังจากฟื้นขึ้นมา สภาพร่างกายก็ไร้เรี่ยวสัมผัสประสาท ความรู้สึกนึกคิดตอนแรกๆ ที่ยังมองว่าคงเกิดจากอาการบอบช้ำจากอุบัติเหตุศีรษะฟาดพื้นในตอนนั้น ทว่าความจริงไม่ใช่

"พอตื่นขึ้นมาไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะมันขยับไม่ได้ แล้วมือก็หงิกพับงอขึ้น ตอนแรกก็คิดว่า เอ๊ย...มันคงเส้นประสาทอักเสบ บอบช้ำ (ยิ้ม) ทั้งๆ ที่โดนเจาะคอด้วยนะ ก็ยังคิดว่าไม่เป็นอะไร แต่หลังจากนั้น 2 วัน คุณหมอมาบอกอาการ เขาฟันธงเลยว่าเราต้องนอนหลังติดเตียงไปตลอดชีวิต ไม่สามารถกลับไปลุกนั่งเหมือนก่อนได้ มันไม่มีทาง มันยากมาก ต้องทำใจ เราต้องยอมรับ

"เพราะว่ามันแย่มาก ขยับคอก็ไม่ได้ แม้แต่จะพูดยังไม่มีเสียง แถมพูดไม่ถึง 2 คำ ก็เหนื่อยต้องหยุดเพราะหายใจไม่ทัน เนื่องจากตอนที่หมดสติลงไปในน้ำ น้ำเข้าปอด ทำให้ปอดแฟบ จากนักกีฬาที่ปอดแข็งแรงมากๆ ฟิตมากๆ ความจุปอด 5000 กว่า เหลือไม่ถึง 60"

"เราก็อึ้งเลย แล้วก็ช็อค คือในความคิดเราไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ อย่างที่บอกว่าตอนนั้นทุกอย่างมันกำลังรุ่งเรื่องมาก แล้วก็มีเหมือนดูๆ คนไว้ว่าจะสร้างครอบครัวด้วยกัน เราก็ถามว่าเขารับได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ ก็ไปเลย หายไปเลย เราก็รู้สึก มันเกิดอะไรขึ้นวะ"

ทั้งอาชีพนักกีฬา ทั้งโค้ชและอาจารย์ผู้ฝึกสอนประจำโรงเรียนสตรีวิทยา 2 หรือรวมไปถึงร้านอาหารที่เป็นหุ้นส่วนทุกสิ่งอย่างในชีวิตที่บอกไว้ว่าดิ้นรนไขว่คว้ามา สุดท้ายเหลือเพียงคำว่า "เคยมี ครั้งหนึ่งในชีวิต”

"เพราะทุกอย่างมันพลิกชนิดหน้ามือเป็นหลังตีนเลย ช่วงนั้นนอนโรงพยาบาลอย่างเดียวก็ 3-4 เดือนแล้ว เราเป็นแม้กระทั่งแผลกดทับ เพราะเราขยับตัว เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จากคนที่อีโก้สูงๆ ไม่สนใจใคร เราต้องมานับหนึ่งใหม่ มานั่งทบทวนหลังจากผ่านไปได้ 2 อาทิตย์ที่ทุกอย่าง สุดท้ายมันก็แค่คำว่าเคย เราแค่เคยมี”

"ช่วงนั้นก็มีถึงขั้นระเบิดเหมือนกัน แต่ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ด้วยความที่จังหวะนั้นคิดว่าทำไมต้องเป็นเราๆ ซ้ำๆ แล้วมันก็เหมือนทุกอย่างเข้ามาหาเราเรื่อยๆ เราก็ปึ้ง!!"

"คือปึ้งครั้งนี้มันหมายถึงเราต้องทำอะไรกับชีวิตแล้ว จริงอยู่ที่หมอบอกว่าเราจะไม่สามารถกลับไปเป็นอย่างเก่า แถมเพื่อนที่มาเยี่ยมหมอก็บอกว่าเราต้องใช้เวลา 2-3 ปี ถึงจะรับตัวเองได้ แต่สำหรับเราไม่ใช่ เพราะหลังจากนั้นเราก็ทบทวนทันที มานั่งทบทวนไล่เรียงความสำคัญทุกอย่างในชีวิตว่าเราต้องทำอย่างไรกับชีวิต คือจริงๆ ตอนนั้น ชั่วโมงนั้น คิดอย่างเดียวเลย เอาตัวเองให้รอด เราต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นชีวิตอยู่ยากมาก ด้วยนิสัยอีโก้ ด้วยการแข่งขันที่สูง"

"จากมือที่หงิกๆ ผมก็เอาหนังยางมัดแกงมายืดๆ คล้ายๆ ดีดยาง ทุกวันๆ ทำอยู่อย่างนั้น จนผมสามารถเหยียดแขนที่ตอนแรกมันหงิกติดลำตัวได้ ทั้งๆ ที่ตอนแรกเคสอย่างผมผู้ป่วยไขสันหลังระดับ C4 เดือนแรกไม่มีพัฒนาการในการฟื้นตัวเลย ความหวังที่จะกลับมาได้ก็มีขึ้นมา"

"ตอนนั้นก็ยังคิดนะว่าเดี๋ยวเราก็ดีขึ้นทำไปเรื่อยๆ อีก 2 เดือน แล้วพอบวกกับตอนนั้นมีโค้ชไตรกีฬาที่รู้จักกันเขาบอกเชิงแนะนำที่กายภาพบำบัดแล้วหาย เดี๋ยวถ้าไปทำคงดีขึ้น กำลังใจเราก็มาเลยทีนี้ แต่ท้ายที่สุดพอไปที่ศูนย์ฟื้นฟูสภากาชาดไทยบางปู เขาบอกว่า "รู้ใช่ไหมว่าเราจะเดินไม่ได้เหมือนก่อน" ความหวังเราก็วูบลง

"แต่ตอนนั้นก็ยังคิดนะ คิดว่าเขาคงหมายถึงเราอาจจะเดินไม่ได้เหมือนก่อน เพราะเขาไม่ได้บอกว่าเราเดินไม่ได้สิ้นเชิง" โค้ชหนุ่มว่าพลางยิ้มให้กับตัวเองในวันนั้นที่นิสัยไม่ยอมแพ้ ยังคงคุกรุ่นในสัญชาตญาณนักกีฬา

"ผมชอบอะไรที่มันยากๆ อยู่แล้ว ด้วยความที่เราเป็นนักกีฬา ก็เลยเริ่มฝึก มันก็มีพัฒนาการ แต่ถามว่าก่อนหน้านั้นพอได้ยินก็ยังช็อคยังอึ้งอยู่เหมือนเดิม ก็เสียความรู้สึกไปเป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ เพราะแม้ว่าเราจะขยับแขนได้ แต่มือเราขยับไม่ได้ แล้ววันนั้น เขาบอกให้เรายื่นมือไปแตะเขาหน่อย เราก็ยังไม่มีปัญญาทำได้ ร้องไห้เลยนะ แค่นี้เรายังทำไม่ได้ ก็คิดว่าถ้าแค่นี้เรายังทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องเดินได้"

"เราก็เลยรั้นขอคุณหมอ ช่วงนั้นย้ายมาได้ 2-3 เดือน พอเราคิดได้หลังจากนั้นก็ขอคุณหมอว่าไม่ต้องมีคนดูแลได้ไหม เพราะหมอบอกว่าเราอยากไปไหนก็ได้ไง ชีวิตผมไม่ต้องการคนดูแลตามติดตลอดชีวิต ผมอยากใช้ชีวิตด้วยตัวเอง คือถ้าผมอยู่ที่นี่ ที่ๆ มีคนดูแล มีเจ้าหน้าที่ยังอยู่ไม่ได้ ผมก็ใช้ชีวิตในความเป็นจริงไม่ได้

"แต่ครั้งแรกก็ได้เรื่องเลย... จากปกติที่มีคนคอยถามเอาโน่นเอานี่ กินข้าวหรือยัง มีคนเข็นให้ ทีนี้เราต้องเข็นเอง ก็เป็นลมไป 2 รอบ ในระยะทางไม่ถึงร้อยเมตรด้วยซ้ำ คือตอนนั้นที่ทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นลมนับครั้งไม่ถ้วน สุดท้ายก็ฝึกจนสำเร็จ จนไม่มีอะไรเกิดขึ้น"

เข้าฝึกก่อนเวลา8 โมงเช้าที่กำหนด เลิกฝึกหลังเวลาเลยเที่ยงในช่วงเช้า ไล่ไปจนถึงรอบ 2 ตอนบ่ายก็ไม่ต่างกัน จนสามารถว่ายน้ำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและเกิดมาได้

"พอเราทำอย่างนั้นเขาก็ถาม เขาก็แซว ว่าเราต้องการอะไร เราก็บอกว่าเราเกิดมาจากว่ายน้ำ เล่นกีฬามาทั้งชีวิต เราอยากกลับไปว่ายน้ำอีกครั้ง แต่ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นไปไม่ได้ เราเหลือแต่แขน มือก็ยังหงิก คือหงิกจนทุกวันนี้ แต่พอได้ยินคุณไม่ได้เป็นทีมชาติแล้ว เราก็จี๊ด ก็ถามเขาว่าแล้วกีฬาประเภทผมมีแข่งไหม เขาก็บอกว่ามี เราก็อ้าวงั้นถ้ามีแล้วทำไมเราจะแข่งไม่ได้ ถ้ามีแข่งเราก็ต้องว่ายได้ เพราะคนอื่นก็ว่ายได้"

"คือเราเชื่ออย่างหนึ่งว่า "กำแพงเมืองจีนมันก็ยังไม่ได้สร้างวันเดียวเสร็จ" เราก็มีทางเป็นไปได้

"ตอนนั้นก็ถ่ายคลิปแล้วก็โพสลงเฟซบุ๊กว่า "มันลอยๆ" แล้วพี่ๆ โค้ชที่รู้จักกันเขาก็โทรมาบอกว่ามีคัดแข่งนักกีฬาคนพิการทีมชาติ สนใจอยากไปลองไหม เราก็เอาเลย เพิ่งลงน้ำครั้งแรกในรอบเกือบปี วันเดียวก็วันเดียว ก็ไป"

50 เมตร 4 นาที 30 วินาที คือสถิติที่แม้จะไม่ได้ผ่านเข้าเป็นนักกีฬาคนพิการทีมชาติ แต่เขาก็ไม่หวาดหวั่น ซึ่งหากใครเจอะเจอความฝันที่พังครืนลง 3 หน ในรอบขวบปีอย่างเขาคงจะท้อแท้ยอมแพ้โชคชะตา แต่เมื่อถามว่าแล้วทำอย่างไรต่อ เขายิ้มแล้วบอกว่า "ก็เรายังว่ายได้"

"มันมีเป้าหมายแล้วไง จากคนที่ไม่มีอะไรเลยตอนนั้น คือคนอื่นอาจจะหัวเสียไม่เอาแล้ว แต่สำหรับผม ผมคิดว่า ก็เรายังว่ายได้ คนธรรมดา 50 เมตร บางคนยังว่ายไม่ได้เลย คือผมไม่คิดอย่างนั้นเพราะถ้าคิดอย่างนั้นจะหมดกำลัง ผมจะไม่คิดว่ามันเป็นจุดต่ำสุดของชีวิต แต่มันคือก้าวแรกของระยะทางในการเดินต่างหาก หลังจากนั้นก็คิดว่าเราต้องเริ่มกลับมาจริงจังกับการว่ายน้ำ ชีวิตจากที่ไม่มีเป้าหมาย ก็กลับมามีอีกครั้ง หลังจากนั้น 3 เดือน เวลาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เหลือ 50 วินาทีนิดๆ"

ปัจจุบันตอนนี้ โค้ชกระสุนสามารถทำเวลาได้ดีขึ้นอีกหลายเท่าและเพิ่มระยะทางไกลเป็นหลักพันสบายๆ โดยไม่ต้องหยุดพัก

"ทุกวันนี้ผมก็เลยคิดว่าที่เราพิการไม่ได้เป็นข้ออ้าง คนอื่นอาจจะเป็นอย่างอื่น เราโชคดีแค่ไหนแล้วที่เราเป็นอย่างนี้ ที่เรายังใช้ชีวิตอยู่ได้ เรายังมีแรงแขน เรายังพูดได้ เรายังคิดได้ ซึ่งคนอื่นๆ อาจจะคิดไม่ได้เท่าเราด้วยซ้ำบางที อย่างคนบางคนกินข้าวไม่รู้สึก ต่อให้อาหารเลิศรสขนาดไหน เพราะคุณไม่มีสมาธิอยู่ตรงนั้น คุณคิดแต่เรื่องงาน แต่เรื่องเงิน เมื่อก่อนผมก็เคยรู้สึกอย่างนี้เพราะความดิ้นรนของตัวเอง

"ก็มีหลายคนพอได้คุยกับผมตอนนี้ ตอนที่พิการนี่ล่ะ เขาบอกว่าผมต้องมีปรัชญาชีวิตที่ดีมากแน่ๆ ต้องแบบเป็นคนวางแผน ตกผลึกกับชีวิต แต่จริงๆ ผมไม่มีหรอก เอาง่ายๆ ท่องคุณธรรม 12 ประการผมยังท่องไม่ได้เลย แต่สิ่งที่ผมมีตอนนี้คือผมอยู่กับความจริง"

"คือคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตไม่มีความสุข หรือเกิดปัญหาอะไรขึ้นแล้วใช้ชีวิตไม่ได้ เพราะเขาไม่ยอมรับความจริง แต่คนอย่างพวกผม มนุษย์ล้ออย่างพวกเราบางทีมีความสุขกว่าคนธรรมดาที่เดินไปเดินมาด้วยนะ เพราะอะไรรู้ไหม" โค้ชหนุ่มย้อนถาม

"ก็เพราะสิ่งที่เราไปเจอ สิ่งที่เราเป็น คือคนปกติจะลุกไปหยิบของเองหรือไปทำอะไรเอง คุณสามารถทำได้หมด แต่พอเรา เราไม่ครบ 32 เราทำไม่ได้ปุ๊บ มันก็คือทำไม่ได้ คุณจะลงไปตะกายๆ ทำไม ทำไม่ได้ แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมากับชีวิตคุณหรือ มันคือความจริง แล้วคุณจะทำอย่างไรล่ะ คุณก็ต้องยอมรับตัวเองให้ได้ ถ้าเรายอมรับได้ เราก็ใช้ชีวิต2ล้อมีความสุขได้ ถ้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วเดินได้ ก็เป็นกำไรชีวิต แต่ถ้าไม่ได้ เราก็ยังมีความสุขอยู่"

ทุกชีวิตมีปัญหา
แต่ทว่าจะสู้หรือเปล่า?

ถึงบรรทัดนี้เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าอดีตนักกีฬาทึมชาติเจ้าของฉายากระสุน เขามีหลักยึดอะไร จึงทำให้ผ่านคืนวันเหล่านั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แม้ว่าอาการร่างกายจาก 32 จะเหลือเพียง 2 แขน และอวัยวะตั้งแต่ช่วงคอขึ้นไปเท่านั้นที่ใช้การได้ กระนั้น สภาวะจิตใจตอนนี้ของโค้ชกระสุนตอนนี้กลับแลดูมีความสุขเฉกคนที่ไม่ขาดตกบกพร่อง

"เพราะผมไม่คาดหวังกับชีวิต" เจ้าตัวโพล่งคำตอบขึ้นในทันทีกับคำถามทำนองไม่เชื่อว่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นเขาผ่านพ้นมาเพียงลำพังด้วยความคิดอ่านของตัวเองด้วยระยะเวลาเพียงแค่นี้

"แต่ทุกวันนี้พอ 2 ปี ที่เกิดอุบัติเหตุ แล้วคุณจะคาดหวังอะไร มันไม่มีอะไรให้คาดหวัง คุณตั้งความหวังได้ แต่คุณอย่าไปคาดหวังว่ามันจะต้องเป็น ชีวิตมี 2-3 อย่างที่ทำให้เราท้อแท้หรือสู้ คือความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราสร้างเองหมดทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าเราตามพวกนี้มันก็จบ แต่ถ้าคิดว่า เกิดเป็นคน อย่ายอมจำนน ตราบใดที่คุณยังหายใจ มันยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะชีวิต

"คือตอนแรกผมก็ยังไม่เข้าใจนะว่าตัวเองคิดขึ้นมาทำไม เพราะทั้งๆ ที่ตัวเองตอนนั้นก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นเรื่องราวหรือเป็นประโยชน์กับเราหรือเปล่า แต่แค่เพียงประโยคเดียวในวันนั้นซึ่งผมเองก็จำไม่ได้แล้วว่าใคร เขาพูดประมาณบอก "ก็อย่าตั้งความหวังซี" เท่านั้นล่ะ พอได้ยินเราก็ปิ๊งขึ้นมาเลยทันที ไม่อยากผิดหวังก็อย่าหวัง ก็ทำไป ก็ไม่ต้องตั้งความหวังมาก เป็นคติเตือนใจตลอดมา

"ทุกวันนี้ที่ผมใช้ชีวิต ก็มักจะมีคนถามว่าอีก 10 ปี 20 ปี ข้างหน้าจะทำอย่างไร แก่ตัวไปจะทำอย่างไร ใครจะเลี้ยงใครจะดู คุณจะสามารถเป็นโค้ชได้แบบทุกวันนี้หรือ ผมพูดตรงๆ เลยชีวิตผมไม่มีพรุ่งนี้นะ ชีวิตผมมีแต่วันนี้ เพราะว่าผมเคยคาดหวังแล้วเป็นทุกข์อย่างที่เล่าไปแล้ว เคยนอนๆ อยู่หายใจไม่ออกกลางดึกตอนที่ป่วย ดีที่มีคนมาเห็น แล้วพาเราไปเข้าโรงพยาบาลเลย ชีวิตผมเป็นอย่างนั้น ผมก็เลยคิดว่าวันหนึ่งคนมันก็ต้องตาย จะไปคาดหวังอะไรกับชีวิตมันมาก"

และใช้ว่าพูดอย่างนี้จะหมายถึง หมดหวังสิ้นกำลังใจ แต่อันที่จริงแล้วคือการก้มหน้าก้มตาทำโดยไม่คาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

"ต้องถามก่อนว่าคุณเชื่ออะไร คุณเชื่อในคนอื่นตัดสินหรือคุณเชื่อในคุณค่าของตัวเอง" โค้ชหนุ่มย้อนถาม "คือผมไม่ต้องเห็นนะ ผมต้องเชื่อก่อน ผมต้องเชื่อว่าผมทำได้ แล้วผมจะทำให้เห็น อย่างบางคนเขามารอให้คนอื่นตัดสินว่า คุณทำได้หรือคุณทำไม่ได้ คุณก็ยอมไง ก็ถอย แต่ผมไม่ใช่ เอาง่ายๆ ถ้าผมเชื่อหมอ ผมก็ไม่ได้มาทำงานทุกวันนี้หรอก ถ้าผมเชื่อหมอ ผมก็ยังไม่ได้ว่ายน้ำทุกวันนี้หรอก จริงไหม

"ผมไม่เชื่ออะไรกับการตัดสินคน ทำได้ก็ฝึกต่อ ทำไม่ได้ก็กลับไปฝึกใหม่ มีแค่นี้ชีวิตอยู่ที่ทำไม่ทำ"
"ต่อให้ต้องล้มอีกครั้ง" เราถามความรู้สึก
"ดูอิท ทำเลย อยากทำต้องทำ คือสมมุติว่าคุณอยากว่ายน้ำ แต่คุณเอาปากกาไปเขียนฝาผนังว่าอยากไว้น้ำได้ คุณจะว่ายน้ำได้ไหม ไม่ (ลากเสียง) คุณต้องใส่กางเกงลงไปว่ายเลย แม้ว่าจะทำไม่ได้ในวันแรก แต่วันแรกๆ ไม่มีใครว่ายได้หรอก ผมมักจะพูดบ่อยๆ เวลามีคนมาถามเรื่องว่ายน้ำ ผมไม่ได้ว่ายออกมาจากท้องแม่เหมือนกัน ผมก็คลอดออกมาเหมือนคนปกติ ไม่ได้ว่ายท่าฟรีสไตล์ออกมา ผมก็ต้องหัดต้องทำ คุณอยากว่ายได้คุณก็ต้องทำ

"เรื่องชีวิตก็เหมือนกัน คนที่ท้อถอย คุณลองหันไปมองคนอื่น คุณบอกคุณแย่ ทุกคนบนโลกมันก็แย่หมดล่ะ แต่ว่ามันอยู่ที่คุณจะเข้าใจ ยอมรับหรือว่าคุณจะปฏิเสธแล้ววิ่งหนีความจริง คุณเป็นทุกข์เพราะคุณปฏิเสธมันไง อย่างที่ผมบอก ชีวิตต้องยอมรับความจริง แต่ถ้าคุณลองรับมันมันอาจจะไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพราะความมันไม่มีอะไรเลวร้าย คุณรับได้คุณก็ใช้ชีวิตต่อ

"คุณรับไม่ได้คุณก็วิ่งหนีมันไป แล้วคุณจะหนีตลอดชีวิต คุณหนีได้หรือ หลับตาพรุ่งนี้เจอ มะรืนก็ต้องเจอ ถ้าคุณใช้ชีวิตได้ ก็อยู่ได้ ถ้าคุณท้อ คุณมองอีกหลายๆ คน ทำไมทุกคนเขาถึงอยู่ได้ ทำไมผมที่ตอนแรกสมเพชตัวเอง เวทนาตัวเอง ลุกขึ้นได้ คือท้ายที่สุด คนที่เราต้องให้กำลังใจคือตัวเรา ถ้าเราไม่ให้กำลังใจตัวเราเอง แล้วจะไปหวังจากใคร คำพูดคนล้านคน ถ้าคุณไม่สะกิดตัวคุณขึ้นมา มันก็ไม่ทำให้เราขึ้นมาหรอก เราก็ต้องสู้เพื่อตัวเรา"

เพราะการให้
ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ “ฝัน”

"แรกๆ ก็มีโดนฟีดแบคต่อต้านเยอะ แน่นอนใครเห็นภาพเรา เขาก็เลือกที่จะดูที่ภายนอกก่อนอยู่แล้ว เราพิการ เราทำไม่ได้ทันที คุณพิการแล้วคุณจะมาสอน คุณจะมาเป็นโค้ชว่ายน้ำได้อย่างไร แต่ในความรู้สึกผม ผมรู้สึกว่า เราเดินไม่ได้ แต่เราไม่ได้ไม่มีปัญญา เรามีความคิด เราสื่อสารรู้เรื่อง มี 2 แขน แค่ขาเท่านั้นที่เดินไม่ได้ อย่าเข้าใจผิด" โค้ชหนุ่มเผยนาทีที่อุตส่าห์สู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานาจนกลับมาเป็นโค้ชนักกีฬาไตรกีฬาได้สำเร็จเมื่อ 2-3 เดือนไม่นานมานี้
 
"แล้วก็มีกระแสบอกว่าเหมือนเราฉวยโอกาสที่เราป่วย ผมก็ไม่ว่าอะไร เป็นสิทธิ์ของคุณที่จะคิด แต่ถ้าผมไม่มีความสามารถ ถ้าผมฉวยโอกาสจริงๆ คนพวกนี้เขาจะเลือกผมทำไม ตัวเลือกอื่นๆ มีมากมาย เราก็ไม่ได้สมประกอบ แต่ไม่ใช่ ผมไม่ได้ทำอย่างนั้น ผมยังมีคำว่า "คน" ไง ผมยังเป็นคนอยู่"

"คือยิ่งเราเป็นอย่างนี้ เรายิ่งต้องทำการบ้านหนักขึ้นอีก 2 เท่า และยิ่งเราเป็นอย่างนี้ เราเจอชีวิตแบบนี้ เราเคยเป็นนักกีฬาทีมชาติ 8 ปี มีโอกาสได้เก็บตัวในแคมป์ เราก็รู้ ก็เข้าใจว่าคำพูดเป็นสิ่งสำคัญ คำพูดเพียงบางคำสามารถเปลี่ยนแปลงคนคนหนึ่งให้มีกำลังใจหรือหมดกำลังใจได้ เราก็ใช้หลักการนี้ทดแทนส่วนที่ขาดของเรา เรามีเวลาใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพราะสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รวมกันแล้วมันใหญ่

"แล้วอีกอย่างก็เหมือนโชคด้วย ที่เทคโนโลยีทุกวันนี้ ทั้งไลน์ ทั้งจีพีเอส สามารถทำให้เรารู้ ทำให้ดูนักกีฬาเขาได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เราก็สามารถสอนเขาได้ คือทุกครั้งที่เขาซ้อมเสร็จ ระยะทางเป็นอย่างไร ส่งมาดูว่าทำตามที่บอกไปได้ไหม หัวใจเฉลี่ยตามที่ต้องการไหม"

"โปรอุ้ย" (ทัศน์วรรณ ศิริวงศ์) นักไตรกีฬาที่เป็นอันดับหนึ่งของหญิงไทยคือหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงอันเป็นที่ประจักษ์ หลังจากฝึกกับโค้ชกระสุนเพียงไม่ถึง 2 เดือนก่อนการแข่งขันลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬารายการใหญ่ระดับประเทศบ้านเรา เธอก็สามารถคว้าที่ 1 ประเภทคนไทย และลำดับที่ 3 นานาชาติ นี่ยังไม่นับลูกทีมที่ตอนนี้แห่กันมาสมัครเข้าสังกัด Tri-Bullet อย่างเนืองแน่น

"หลังจากนั้นก็มีเข้ามาเพิ่ม แต่เราไม่ได้รับหมดทุกคน เราดูคนที่เข้ากันได้ คือก่อนที่ทุกคนจะเข้ามาหาผม ผมจะบอกเสมอว่า ต้องคุยกันรู้เรื่อง หมายความว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าคุณต้องการประสบความสำเร็จ ผมอาจจะทำให้คุณไม่ได้ แต่ถ้าทำให้มีการพัฒนาการขึ้น ผมทำได้ เล่นให้มันมีความสุขมีความหวัง ไปเที่ยวเฮฮากันยกแก๊ง ผมแฮปปี้ ตอนนี้ก็มี 10 คนพอดีในทีม ก็กะว่าขอแค่นี้ก่อน เพราะผมเน้นการอยู่แบบครอบครัว ไม่ใช่นักกีฬากับโค้ช

"คือถ้ามาแล้วตั้งความหวังต้องได้ที่ 1 ทุกแมตช์ ผมว่ามันไม่ใช่กีฬาแล้ว มันกลายเป็นการแข่งขันแบบไร้มิตรภาพ จริงอยู่ที่กีฬามันเป็นการแข่งขัน แต่ว่าสิ่งคุณจะปลูกฝังให้เขาเอาแต่ชนะอย่างเดียวหรือ แพ้ไม่ได้ เราเคยเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่อยากให้ลูกทีมครอบครัวเรารู้สึกและเป็นเหมือนในอดีตของเรา"

และทุกวันนี้ แม้เจ้าตัวจะมีโอกาสสามารถไต่เต้าลุ้นเป็นนักกีฬาว่ายน้ำอีกครั้งในฐานะนักกีฬาคนพิการที่ฝันใฝ่ แต่กระนั้นเมื่อถามถึงเป้าหมายเขากลับบอกว่า "ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา"

"คือผมต้องเบรกเรื่องกีฬาไว้ก่อน เพราะว่าโค้ชกับกีฬามันไปด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว คือถ้าเราไปเก็บตัวนักกีฬา เราก็ไม่มีโค้ชซ้อม เราก็ดูนักกีฬาเราไม่ได้ เนื่องจากทุกวันนี้ ทุกคนจะต้องมาซ้อมว่ายน้ำที่นี่ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วนวันพฤหัสบดีมาวิ่งรวมกันตอนเช้า ปั่นจักรยานตอนเย็น เราก็จะนั่งรถตามเขาไป ผมก็เลยขอหยุดไว้ก่อน

"ถ้าถามเหตุผลว่าทำไม ผมถึงยังไม่ทำตามฝัน ผมเคยได้คุยกับคนคนหนึ่ง เขาบอกผมว่า คนที่มีฝัน ไม่จำเป็นต้องทำตามฝันที่ตัวเองต้องการเสมอไป คนเราอยู่ที่ไหนถ้ามันมีค่า มันมีค่าเสมอ ไม่ต้องเป็นนักกีฬาคุณก็มีค่าได้ คุณอาจจะผลิตนักกีฬาขึ้นมา คุณก็มีค่า มีค่าต่อสังคม ให้โอกาสคนก็มีค่า สนับสนุนคนก็มีค่า และอีกอย่าง ค่าที่สำคัญกับผมก็คือตรงนี้ ความสุขของเราคือครอบครัว เขามาจากที่เราไม่มีอะไร แล้ววันนี้มีทุกคนอยู่ในทีม เหมือนครอบครัว อยู่ดีๆ เราจะไปปล่อยเขาหรือ"



เรื่อง: รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ: ศิวกร เสนสอน

กำลังโหลดความคิดเห็น