xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพระลิขิต 5 ฉบับ สมเด็จพระสังฆราชฯ ชี้ “ธัมมชโย” อาบัติปาราชิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - จากกรณีปัญหาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายและธัมมชโย ในปี 2542 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระลิขิตที่ถูกเผยแพร่จำนวน 5 ฉบับ แบ่งเป็น 3 ฉบับที่เป็นทางการและได้การรับรองโดยสมบูรณ์จากที่ประชุมของมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ 16/2542 โดยสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมระบุว่าเป็นมติที่ 193/2542 เรื่อง พระดำริของสมเด็จพระสังฆราช เรียนถึงผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม ลงนามโดยนายประยูร รักยิ้ม เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2542 ขณะที่อีก 2 ฉบับ ซึ่งทางวัดพระธรรมกายอ้างว่าเป็นพระลิขิตปลอม

ในประเด็นนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เคยอธิบายไว้ว่า กรณีวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องข้องใจของสังคมอย่างยิ่ง ว่า ทำไมกลไกต่างๆ ที่คุ้มครองพิทักษ์พระพุทธศาสนาถึงไม่ทำงาน ทั้งที่มีเรื่องกระทำผิดผิดร้ายแรง อาบัติถึงขั้นปาราชิก ทั้งที่มีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชว่าต้องปาราชิก 2 ประการ คือ เรื่องบิดเบือนคำสอน ทำให้สงฆ์แตกแยก และเรื่องเอาทรัพย์สินที่คนจะให้วัดโอนเป็นชื่อของตัวเอง ซึ่งวันแรกที่โอนก็ปาราชิกแล้ว โดยสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2542 มหาเถรสมาคมก็ประชุมในวันเดียวกัน แต่ออกมติเลี่ยงว่าเป็นเรื่องการจัดการของวัดต่างๆ เพราะพระลิขิตไม่ได้ระบุชัดว่าเป็น ธัมมชโย วัดพระธรรมกาย สมเด็จพระสังฆราชจึงมีพระลิขิตอีกฉบับ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2542 คราวนี้ระบุเลยว่าเป็นวัดพระธรรมกาย หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเพิ่มเติม สมเด็จพระสังฆราชเลยมีพระลิขิตอีกฉบับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2542 ทั้งหมด 3 ฉบับ เพื่อยืนยันว่าเกี่ยวกับธัมมชโย มหาเถรสมาคมจึงมีการประชุมวันที่ 10 พ.ค. โดยเอาพระลิขิต 3 ฉบับเข้าที่ประชุม โดยรับทราบพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช และมีมติให้มีผลตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากนั้นได้ดำเนินการเฉพาะเรื่องโอนที่ดินคืนวัด ส่วนเรื่องปาราชิกไม่ดำเนินการ จึงเป็นเรื่องที่สังคมข้องใจมาโดยตลอด

ทั้งนี้คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ได้ยึดเอากรณีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเป็นหลัก ถ้าทางวัดพระธรรมกายอ้างว่าเป็นพระลิขิตปลอม ตนขอชี้แจงว่าพระลิขิตมีทั้งหมด 5 ฉบับ โดย 2 ฉบับแรกไม่เป็นทางการ แต่ 3 ฉบับหลัง รับรองโดยที่ประชุมของมหาเถรสมาคม มีมติว่านำพระลิขิตทั้ง 3 ฉบับเข้าที่ประชุมพิจารณา เท่ากับรับรองสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งต้องบังคับให้เป็นไปตามที่มติที่ประชุมมหาเถรสมาคม แต่กลับไม่มีการดำเนินการ แถมมีการพูดว่าคืนสมบัติแล้ว ไม่น่าปาราชิกแล้ว

ด้วยเหตุนี้เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการจึงขอรวบรวมเอาเนื้อหาของพระลิขิตทั้ง 5 ฉบับ ของสมเด็จพระสังฆราชฯ มาแสดงดังนี้

ฉบับที่ 1

“ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไปกลายเป็นสอง มีความเข้าใจความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้ามเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง คือ ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที

ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นพระ ให้แก่วัด ทันที (5 เมษายน พ.ศ.2542)

หลังจากที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มีพระลิขิตฉบับที่ 1 ออกมาแล้วนั้น อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ยังมิได้คืนทรัพย์ทั้งหมดแก่วัด สมเด็จพระสังฆราชจึงมีพระลิขิตฉบับอื่นๆ ตามมาดังต่อไปนี้

ฉบับที่ 2

ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ให้ ว่าในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระ ให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้ง ว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศานา

(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
26 เมษายน พ.ศ.2542


ฉบับที่ 3

การโกงสมบัติผู้อื่นตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไปคือประมาณไม่ถึง 300 บาทในปัจจุบัน ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิกฐานผิดพระธรรมวินัยพ้นจากความเป็นพระทันที ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้เห็นหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการสั่งให้สึก ไม่ว่าจะมีการจับสึกหรือไม่ก็ตาม

ภิกษุผู้ละเมิดพระธรรมวินัยข้อนี้ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ ที่ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรก็เพื่อเตือนให้รู้ทั่วกันว่า ผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้นไม่ใช่พระในพุทธศาสนา เป็นเพียงผู้นำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง เป็นพระปลอม

ต่อจากนั้นย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้รักษากฎหมาย หรือของผู้มีหน้าที่ในการพุทธศาสนา จะต้องรักษาพระพุทธศาสนาไม่ให้มีพระปลอมมาทำลาย ทำให้เสื่อมเสีย เช่นที่ผู้รักษากฎหมายเคยทำมาแล้ว เคยบังคับให้เป็นผู้ปลอมเป็นพระ ถอดผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากตัว การปฏิบัติต่อพระปลอมต้องไม่มีแตกต่างกัน ต้องไม่มียกเว้นว่า คนนั้นปลอมได้คนนี้ปลอมไม่ได้ เป็นพระปลอมมีอยู่ในพุทธศาสนาไม่ได้ทั้งนั้น

ประกาศนั้นเป็นคำบอกเล่าเป็นคำเตือนให้รู้ เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับมหาเถรฯไม่บังคับให้เชื่อ ไม่บังคับใครให้ทำอะไร แสดงความถูกผิดให้ปรากฏอยู่เท่านั้น ในฐานะที่เป็นประมุขแห่งสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงต้องทำหน้าที่ส่วนตนให้เรียบร้อยถูกต้อง บอกความจริงด้วยความหวังดีมิได้บังคับ จงเข้าใจทั่วกัน

ฉบับที่ 4

ในกรณีเกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย เราได้ทำหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชสมบูรณ์ตามอำนาจแล้ว จึงไม่มีอะไรจะพูดอีกขณะนี้ ขออนุโมทนาทุกท่านที่สนใจห่วงใยพระพุทธศาสนา แสดงความเป็นคนดี ด้วยมีกตัญญูกตเวทิตาธรรม

(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
1 พฤษภาคม พ.ศ.2542


ฉบับที่ 5

ได้แจ้งให้เป็นที่เข้าชัดเจนดีทั่วกันแล้วก่อนหน้านี้ ว่าในตำแหน่งผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อเทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย สมบูรณ์ดีที่สุดแล้วตามอำนาจ ท่านกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหลายจะทำอะไรต่อไปตามความต้องการ จะไม่มานั่งฟัง รับรู้ในที่ประชุมวันนี้ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2542

(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
10 พฤษภาคม พ.ศ.2542



กำลังโหลดความคิดเห็น