xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ... “เบิร์ด เอกชัย” หนุ่มไทยผู้ชนะการแข่งกีตาร์คลาสสิกระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หลังจากสิ้นเสียงปรบมือจากบรรดาผู้ชมโดยส่วนใหญ่ และบางคนก็เปล่งเสียงร้องอย่างสุดเสียงให้กับชายหนุ่มเจ้าของงานคอนเสิร์ตใหญ่ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องปกติ ถ้านี่คือคอนเสิร์ตปกติทั่วไป แต่คอนเสิร์ตครั้งนี้มันไม่ใช่คอนเสิร์ตอย่างที่เราคิดกัน เพราะมันคือ การแสดงทางดนตรีในแง่ของ ’กีตาร์คลาสสิก’ ของผู้บรรเลงที่มีนามว่า เบิร์ด-เอกชัย เจียรกุล เจ้าของตำแหน่งชนะเลิศ Guitar Foundation of America International Concert Artist Competition หรือเรียกสั้นๆ ว่า GFA ประจำปี 2014

จากเด็กหนุ่มเมืองดอกบัว จังหวัดอุบลราชธานี ที่เริ่มสนใจกีตาร์คลาสสิก จากการได้ยินเพื่อนรุ่นพี่บรรเลงเพลง ‘ชะตาชีวิต’ ให้ฟัง และนั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่เปลี่ยนชีวิตให้กับตัวเขา และถึงแม้ว่าเขาอาจจะมีการคลุกคลีกับดนตรีทุกรูปแบบมาโดยตลอดบ้าง แต่สิ่งที่แน่วแน่สำหรับตัวเขา นั่นคือ กีตาร์คลาสสิก นั่นเอง

ชายหนุ่มคนนี้ มีการฝึกซ้อมวันละ 8 ชั่วโมง แทบจะทุกวัน ผ่านการแข่งขันมาตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งในและนอกประเทศ อาจจะประสบความสำเร็จบ้าง หรือล้มเหลวบ้าง แต่สิ่งที่ติดตัวเขา และเชื่อมั่นมาโดยตลอดก็คือ ‘คนไทย...ตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก’ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจเสมอ ว่าวันหนึ่งจะต้องประสบความสำเร็จให้จงได้ โดยอย่างที่เราได้เห็นว่า ณ ตอนนี้ เขาก็ประสบความสำเร็จจริงๆ

ในบทสนทนาช่วงหนึ่ง เอกชัยได้บอกถึงก่อนที่จะคว้าชัยชนะรายการระดับโลกมาได้นั้น เขาต้องผ่านความพ่ายแพ้มาแทบนับไม่ถ้วน ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า เส้นทางสู่หนทางชัยชนะในการคว้าแชมป์โลกด้านกีตาร์คลาสสิกนั้น มีอุปสรรคและขรุขระมากพอควร แต่ “การเดินหน้าต่อ” ของเขานั้น สะท้อนให้เห็นถึงสุภาษิตที่ว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ เป็นตัวแทนสถานะของเขาได้จริงๆ

• เด็กผู้ชายช่วงวัยรุ่นโดยส่วนใหญ่ อยากเป็นที่สนใจด้วยกีตาร์ไฟฟ้า แต่ทำไม คุณถึงเลือกกีตาร์คลาสสิก และเหตุผลในการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้

ในความรู้สึกผมตอนนั้นนะ ผมว่ามันเท่กว่า เพราะว่ากีตาร์ไฟฟ้า ผมก็เคยเห็นนะ แต่มันจะโซโลกัน เสียงเดียว แล้วมันต้องมีวงและแบนด์ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่เท่นะ กีตาร์คลาสสิกคนเดียวสิ เพราะว่ามันเล่นคนเดียวมันจบเลยนะ คนเดียวแล้วก็สามารถลีดได้ แล้วก็ไม่ต้องอะไรมากมายเลย ความรู้สึกนั้นผมคิดอย่างงั้นเลยว่า อยากเรียนอย่างกีตาร์คลาสสิกแบบนี้

ส่วนเหตุผลที่เราสนใจกีตาร์คลาสสิก มันมาจากการได้ยินเพลงพระราชนิพนธ์ เพลง ชะตาชีวิต ด้วยกีตาร์คลาสสิก จากรุ่นพี่คนหนึ่ง คือเมื่อก่อนผมเล่นเพลงพระราชนิพนธ์อยู่แล้ว เป็นทรัมเป็ต เมื่อก่อนเป็นเด็กวงโยธวาทิตของโรงเรียน ก็จะรู้จักเพลงพระราชนิพนธ์จากทรัมเป็ต มันแค่เสียงเดียวน่ะครับ แต่พอเป็นกีตาร์เนี่ย มันทำให้รู้ว่ามันทำได้หลายเสียงเลยนะ เหมือนมายากลโชว์ เล่นตัวเดียวแต่เพราะ ได้หลายๆ เสียงในเวลาเดียวกัน นี่คือจุดเริ่มต้นที่อยากเล่นมากๆ

• ถึงแม้ว่าเราเริ่มสนใจกีตาร์คลาสสิก แต่เราก็สามารถเล่นดนตรีแนวอื่นได้ด้วย

ใช่ครับ ตอนนั้นผมก็ยังเล่นทรัมเป็ตอยู่ในวง เล่นกีตาร์เบสไฟฟ้าในวงดนตรีของผม ที่ได้แชมป์เป็นการแข่งขันวงดนตรีป็อปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ ตอนนั้น ผมค่อนข้างที่จะคุ้นเคยกับดนตรีทุกแนว จำได้ว่า วงที่ผมเล่น จะเล่นเพลงพวก dream theater ประมานนั้นลย แล้วก็เล่นเพลงฝากเลี้ยงของพี่เจ (เจตริน วรรธนะสิน) ด้วย มาเรียบเรียงใหม่ เป็นแบบร็อกเลย หรือ แบบแนวลูกทุ่งกับหมอลำ ผมก็เล่น เพราะวงผมแข่ง ลูกทุ่งคอนเทสต์ เล่นมาร์ชชิงแบนด์ ก็ไปเล่นที่สนามศุภชลาศัย ผมก็ไปมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน

• ณ ช่วงเวลานั้น ไอดอลทางดนตรีก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่บ้าง แต่ตอนนั้น ครอบครัวโดยส่วนใหญ่ ก็ยังมองไม่เห็นทางอยู่ คุณมีปฏิกิริยายังไง ที่พูดให้เค้าเข้าใจได้

ถูกต้องเลยครับที่พ่อแม่คิดแบบนั้น คือเราอยากที่จะทำอาชีพแบบนักดนตรี แต่เราก็ไม่ได้พูดอะไรมาก แต่เน้นการกระทำเอาว่าเราชอบดนตรีจริงๆ เราตั้งใจอ่านหนังสือดนตรีจริงๆ เวลาว่างเราก็ไม่เอาไปเล่นเกม ก็มาซ้อมกีตาร์ แล้วพอที่บ้านมาเห็นความตั้งใจจริงของเรา ว่ามันไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียวว่าชอบ แต่เพราะตั้งใจที่จะทำจริงๆ และนั่นก็เป็นสิ่งที่แม่ตัดสินใจให้เรียนได้ เพราะก่อนเรียนจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเหมือนกันว่าจะให้เรียนมั้ย เพราะว่าสอบได้แล้ว แต่ตอนแรกแม่ก็ไม่อยากให้เรียน เพราะว่าค่าเทอมแพง อย่างที่สองเรียนดนตรีจบไปทำอะไร แน่นอน และตอนนั้นผมยอมรับว่า ผมไม่มีความคิดว่าจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต ขอแค่ให้รู้สึกว่าอยากเรียนน่ะ แค่นี้เอง เพราะชอบ สุดท้ายก็ได้มาต่อ ม.4 ที่นี่

• การจากบ้านมาไกล เพื่อมาเรียนที่เมืองใหญ่ ใช้เวลาอยู่นานไหม กับที่จะปรับตัวได้

ช่วงนั้นยอมรับว่าทรมานมาก เพราะด้วยที่ผมไม่ค่อยห่างบ้านมา ช่วงแรกๆ แล้วต้องมาอยู่หอพักกับเพื่อนที่เราไม่รู้จักเลย รู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมากๆ ช่วงนึง คือช่วง ม.4 และ 5 ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้เรียนในสิ่งที่เราชอบนะครับ แต่ใจนึงเรารู้สึกว่า ลำบากมาก ก็รู้สึกปรับตัวยาก แต่เราก็ผ่านมาด้วยการซ้อมกีตาร์

คือผมมองเลยว่า มันต้องผ่านอุปสรรคแน่ๆ เพราะเราเปลี่ยนจากเพื่อนเดิมๆ หรือครอบครัวที่เราคุ้นเคยที่อุบล พอย้ายมาที่นี่ อยู่คนเดียว อยู่หอพัก อยู่กับเพื่อนที่ไม่คุ้นเคย มันทำให้เราปรับตัวเยอะ แต่ผมก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ ไม่ไปคิดเรื่องนั้น แต่จะเอาไปคิดกับการซ้อม แล้วอีกอย่างช่วงเสาร์-อาทิตย์ ผมก็จะทำงานหนักมาก ผมจะสอนดนตรี เพราะว่าต้องหาเงินเอง ช่วยที่บ้านด้วย เพราะค่าเทอมแพงมากๆ และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมผ่านมาได้ โดยที่ไม่เอาเวลาไปเสียกับเรื่องอื่นๆ

• คิดว่าตัวเองเป็น “เนิร์ด” ในด้านนี้มั้ย

พูดตรงๆ ก็ใช่นะครับ และตอนนั้น ผมก็ยอมรับด้วยว่าผมเป็น แต่มันก็ส่งผลดีต่อตัวเอง ผมว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะทำอย่างงั้น เพราะมันก็ส่งผลถึงปัจจุบันของผม มันก็แล้วแต่ว่าเราชอบยังไง คือ เมื่อก่อนถ้าให้ย้อนไป แบบเด็กวงโย ผมต้องเข้าค่ายกับเพื่อน คือรู้แล้วว่าเป็นยังไง ไปอยู่ค่าย 2 เดือน ในโรงยิมพละ ซี่งผมรู้ว่าผมไม่ชอบแบบนั้นไง แล้วผมต้องผ่านมันมา สุดท้ายผมคิดว่า ถ้าเราอยู่ ม.ปลายแล้ว เราพอแล้วกับกิจกรรมแบบนั้น เราน่าจะทำอะไรในสิ่งที่เรารักจริงๆ

• ในช่วงที่เรียน ก็มีทำกิจกรรมให้กับวิทยาลัยด้วย

ส่วนใหญ่ก็จะเป็น อ.สุกรี (เจริญสุข) ที่เป็นผู้อำนวยการจัดให้ เพราะว่าช่วงนั้น ผมเป็นหนึ่งในนักเรียนที่ค่อนข้างโดดเด่น ที่เวลามีกิจกรรม อย่างมีผู้ใหญ่มาเยี่ยม หรือว่ามีกิจกรรมภายนอก ก็จะมีให้ไปเล่น ไปโชว์เป็นผลงานของวิทยาลัย เพราะเราจะเป็นเด็กแบบว่า แข่งมาเยอะ มีความมุ่งมั่นในเครื่องดนตรีของผม แต่ส่วนกิจกรรมโดยรวมก็ยอมรับว่าไม่ค่อยได้ร่วมเท่าไหร่ เพราะถ้าแยกประเภทนักศึกษา ก็จะมีหลายประเภท แบบพวกที่บ้ากิจกรรม พวกที่จัดทุกอย่าง แต่ส่วนตัวก็จะไม่โอเค แต่ผมจะเน้นว่า ค่อนข้างที่จะเน้นกิจกรรมส่วนตนเป็นหลัก และส่วนรวมด้วยบ้าง ถ้ามีโอกาส

• คุณเริ่มแข่งขันในนามตัวเอง มาตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมแข่งมาตั้งแต่อยู่ที่อุบลฯ แล้ว แข่งที่ยามาฮ่า ซึ่งผมเรียนกีตาร์ที่ยามาฮ่ามาก่อน แล้วทางยามาฮ่าก็มีแข่งประจำปีอยู่แล้วว่า ให้นักเรียนเข้าแข่งเป็นกิจกรรม ผมก็เป็นที่ 2 ของประเทศไทย ก่อนที่จะมาเรียนที่มหิดลน่ะครับ พอเรียนที่มหิดลก็แข่งรายการเดิมๆ อีก จนได้แชมป์ประเทศไทย ช่วง ม.4 ม.5 นี่แหละ แล้วสุดท้าย เราคิดว่าเมืองไทยนี่เต็มที่แล้ว ก็เลยออกต่างประเทศตอน ม.6 ประสบการณ์ก็เริ่มมาตรงนั้น

ความจริงคือในตอนนั้นยังไม่ค่อยบูมเท่าไหร่ แน่นอนคือ ผมอาจจะไม่ดังเท่าที่ควร เพราะไม่มีใครรู้จัก เพราะแข่งก็แข่งในประเทศ ก็คงไม่มีใครสนใจ แต่พอเริ่มออกไปต่างประเทศก็เริ่มมีสื่อมาสัมภาษณ์ตั้งเยอะ

• สถานะย่อมแตกต่างเลยทีเดียว ยามที่ได้ไปแข่งต่างประเทศ

ผมคิดว่ามันอยู่ที่กลุ่มคนมากกว่าครับ คือที่เมืองนอกที่ผมโด่งดัง อาจจะเป็นตรงกีตาร์คลาสสิก แต่ต้องยอมรับว่า คนเดินถนนรู้จักผมไหม ก็ไม่มีใครรู้จักนะ มันจะเป็นแค่เฉพาะกลุ่มนะ ถ้าเป็นแบบแวดวงกีตาร์คลาสสิกรู้จักมั้ย รู้ แต่ว่าในเมืองไทย ผมคิดว่าผมโอเคในระดับหนึ่ง ที่มีคนสนใจ แต่อาจจะไม่ได้สนใจในฝีมือผม แต่สนใจในเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ เยาวชน ในสิ่งที่ตัวเองฝันน่ะครับ จะเป็นอย่างงี้มากกว่า

• หลังจากเรียนจบที่เมืองไทย แล้วพอได้ไปเรียนที่ออสเตรีย ที่เป็นแหล่งดนตรีแรกๆ ของโลก ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง

การไปที่นั่น มันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เรามากๆ เพราะเราเคยเรียนดนตรีคลาสสิกในแบบฉบับของคนไทย แต่พอไปอยู่ในเมืองเค้า มันทำให้ได้แรงบันดาลใจหลายๆ อย่าง ทั้งสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และผู้คนของเค้า และมันส่งผลต่อดนตรีของเรา เหมือนกับคนที่เรียนดนตรีไทย แต่ไม่เคยมาเมืองไทย มันก็ไม่น่าใช่นะ เหมือนซึมซับได้ไม่เต็มที่ พอผมไปอยู่แหล่งอื่นว่าเค้าเป็นยังไง บ้านเมืองเค้า วิถีทางกีตาร์มันชัดเจนขึ้น ซึ่งส่งผลต่อดนตรีเยอะเลย

ผมอยู่ที่นั่น 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก ได้ประสบการณ์เยอะเลย ที่ว่านี่คือ นอกจากห้องเรียนแล้ว ประสบการณ์จากการเดินทาง การได้ไปเห็นเมืองต่างๆ เพราะตอนอยู่เมืองไทย การไปเยอรมันในแต่ละครั้ง ต้องใช้เครื่องบินบินไป แต่พออยู่ที่นั่น ผมนั่งรถไฟข้ามประเทศ นั่งเหมือนแท็กซี่เลยครับ ชั่วโมง 2 ชั่วโมง ก็ไปถึง ไปฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ซึ่งมันใกล้มาก เหมือนเรานั่งรถไปพัทยา

• แสดงว่าการเรียนที่นั่น ก็ต้องแตกต่างจากที่เมืองไทยพอสมควร
 
แตกต่างอย่างสิ้นเชิงครับ อย่างผมเล่นกีตาร์ คือไม่ได้เรียนตัวต่อตัวเหมือนที่นี่นะครับ เราจะเรียนเป็นคลาสใหญ่ห้องใหญ่ เราจะนั่งกับอาจารย์สองคนบนเวที แล้วข้างล่างจะมีผู้ชมซึ่งก็คือเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งเวลาเล่นทุกครั้งมันตื่นเต้นมากๆ นะ แค่เล่นต่อหน้าอาจารย์ก็ตื่นเต้นแล้ว แต่พอเล่นแล้วมีคนฟัง มันก็ยิ่งตื่นเต้นไปใหญ่ เพราะทุกครั้งเวลาเรียน เพื่อนทุกคนก็จะเตรียมตัวมากกว่าคอนเสิร์ตอีก แล้วเวลาเล่นมันต้องเป๊ะมากๆ

แล้วอีกอย่าง อาจารย์ก็ไม่ค่อยมีเวลาสอน อาจารย์เขาจะเป็นศิลปินระดับโลก ก็จะทัวร์ตลอดเลย ไม่ค่อยมีเวลาสอน นานๆ จะโผล่มาซักครั้ง บางทีเราต้องนั่งรถไปตามที่บ้านแกเลย ผมนั่งรถไฟไปกลับ หกชั่วโมง เพื่อเรียนแค่ 40 นาที เสียค่าตั๋วรถไฟไป 2-3 พันบาท เพื่อสิ่งนี้ เพราะอาจารย์ไม่มีเวลาสอน ไม่เหมือนเมืองไทย บางทีอาจารย์ต้องวิ่งตามหาศิษย์ (หัวเราะ) มันไม่เหมือนกันตรงนี้แหละ แล้วก็ถ้าใครไม่สนใจ เขาก็ไม่สนใจเหมือนกัน หมายถึงที่นั่นนะ คือถ้าเราไม่พยายามด้วยตัวเอง อาจารย์ก็จะไม่มาตามเรา ก็ทิ้งไป

• การแข่งขันที่ไปได้แชมป์มาล่าสุด ได้ไปแข่งขันยังไง

รายการนี้ไปแข่งที่ลอสแองเจลิส เป็นการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกที่ใหญ่ที่สุดในโลก กีตาร์คลาสสิกมันมีการแข่งทุกเมือง ทุกปีในหลายๆ ประเทศ แต่รายการนี้คือรายการที่โดดเด่นที่สุด และคนก็จะใฝ่ฝันกันมากว่าอยากจะได้แชมป์รายการนี้ เพราะเค้ารู้ว่าถ้าได้แชมป์ก็จะเปลี่ยนชีวิตของเค้าคนนั้นเลย จากที่ไม่มีใครรู้จักก็จะเป็นที่รู้จักทันที ก็จะมีคนตามรอลุ้นว่าใครจะได้แชมป์ในแต่ละปี ส่วนการเตรียมตัว ผมก็เตรียมตัวทั่วๆ ไป ผมก็ซ้อมหนักเหมือนปกติ แต่รายการนี้ ผมพร้อมมากๆ เพราะว่า ผมแข่งมาเยอะมากๆ ก่อนหน้านี้ คือมีการเตรียมตัวที่ดีอยู่แล้ว แล้วพอมาเล่นในรายการนี้ ก็รู้สึกว่ามันเต็มที่

• ในรอบชิงชนะเลิศ นี่คือเป็นคนเอเชียเพียงคนเดียวด้วย

ใช่ครับ และก็เป็นเอเชียคนแรกที่ได้แชมป์เลย ตอนนั้นเล่นเพลงคลาสสิกนี่แหละครับ อย่างรอบชิงเค้าให้ครึ่งชั่วโมง เพลงบังคับ 5 นาที แล้วเพลงเลือกอีก 25 นาที ซึ่ง 25 นาทีนี้ เราเลือกเพลงที่เราถนัด ผมเลือกเพลงที่เราเล่นอยู่แล้วหลายๆ เวที มาเล่นก็ไม่มีปัญหา

• แน่นอนว่าการแข่งในแต่ละครั้ง มันต้องเปลี่ยนรูปแบบหรือเปลี่ยนเพลง แต่ทำไมเราถึงมั่นใจในเพลงที่เราเล่นมาตลอด

ผมว่าการแข่งขันครั้งนี้ มันไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเพลงบ่อย เพราะกรรมการไม่ได้ตัดสินว่าเพลงนี้คุณเล่นมานานขนาดไหน มันเป็นการแข่งขันที่วัดกันตรงนั้นน่ะครับ ว่า 30 นาทีนี้ คุณจะเล่นเพลงอะไรออกมาแล้วกรรมการชอบคุณที่สุด แล้วคุณชนะผู้เข้าแข่งขันมากที่สุด แล้วผมคิดว่าผมจะเล่นเพลงอะไรที่ผมถนัดที่สุด แล้วทำออกมาให้ดีที่สุด คือไม่จำเป็นจะต้องเล่นเพลงยากเลย เพราะก็มีคนเล่นเพลงยากกว่าผมก็มี แต่ทำออกมาไม่ดี ผมเล่นในเพลงที่เราสามารถควบคุมได้ดีที่สุดเท่านั้นเอง

ผมเล่นเพลงของนักประพันธ์ชาวคิวบา ซึ่งมันเป็นเพลงสมัยใหม่ ซึ่งซาวนด์จะออกมาแบบแปลกๆ ถ้าเปรียบเป็นภาพวาดก็จะเป็นแบบแอบสแตรกต์ แบบมั่วๆ ดูไม่รู้เรื่อง ดนตรีก็เหมือนกัน ที่จะมีคอร์ดแปลกๆ มาบรรเลง หรือจะมีการเคาะกีตาร์บ้าง ซึ่งถือว่าเป็นการคิดค้นแบบแปลกๆ ในการแต่งเพลง และเพลงนี้เป็นเพลงหลักที่ผมใช้ แล้วเพลงที่สองก็จะเป็นเพลงคลาสสิกเลย เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ฟังรู้เรื่อง แต่เราจะโชว์เทคนิคนิ้ว ความว่องไวของเรา โชว์ทักษะว่าเราแม่นขนาดไหน เพลงที่สาม จะเป็นโชว์ความไพเราะของการประพันธ์เพลง ซึ่งเพลงนี้เราเล่นเพลงชิ้นโบแดงของนักประพันธ์ชาวแม็กซิกัน แล้วเหมือนกับถ่ายทอดบทเพลงของเขาให้ดีที่สุด ซึ่งการโชว์ของเค้ามันสมบูรณ์แบบ มันมีหลายๆ แนว อย่างคนที่ได้รองแชมป์เป็นคนฝรั่งเศส เขาเล่นเพลงเดียวเลยยาว 25 นาที คือความหลากหลายไม่มีครับ และนั่นคือการที่เขาเตรียมมาผิดแผนวางแผนมาผิด

• หลังจากได้แชมป์แล้ว เคยคิดมั้ยว่า หลังจากนี้จะต้องตั้งรับกับการต้อนรับในประเทศไทย

(หัวเราะ) คือแน่นอนว่าหลังจากรายการนี้ พอได้แชมป์แล้ว คนไทยต้องรู้จัก ถ้าไม่รู้จัก เรานี่โกรธสื่อเลย เพราะว่ามันเป็นความภาคภูมิใจ ที่คนไทยทั้งชาติควรจะภูมิใจด้วยกัน เพราะเวลาผมไป เขาจำชื่อผมไม่ได้หรอก แต่จำประเทศได้ ว่ามาจากประเทศไทยแล้วได้แชมป์ คนจีนเค้ายังดีใจกับผมเลย ชมรมกีตาร์ของที่นั่น เอารูปไปลงเฟซบุ๊กเลยว่า คนเอเชียได้แชมป์ อย่างน้อยคนไทยแม้ว่าเป็นกลุ่มเล็กก็ได้ ควรจะมีความภาคภูมิใจด้วยกัน ว่าคนไทยสร้างชื่อเสียงในด้านดนตรีคลาสสิก

• มันก็มีประเด็นเช่นกันว่า เราอุตส่าห์ไปคว้าแชมป์มา แต่ก็มีคนไทยส่วนใหญ่ ไม่รู้จักเรา ในความรู้สึกเราเป็นยังไง

ไม่ถึงกับน้อยใจ แต่เข้าใจแหละว่า เมืองไทยมีการเสพข่าวกันเยอะหลายรูปแบบ และข่าวแบบประเภทนี้ก็รู้ๆ กันอยู่ มันก็ช่วงนึงคนสนใจ แต่ต่อมาก็จะเงียบไป แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะว่ามันก็เป็นวัฒนธรรมในการเสพข่าวอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำ แน่นอนว่าอย่างน้อยอาจจะมีคนเห็น และอย่างน้อยก็มีคนได้รับแรงบันดาลใจจริงๆ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เสพหรือติดตามผมมากก็ตาม แต่ได้รับแรงบันดาลใจจนชีวิตเขาดีขึ้นจริงๆ

แต่ก็มีบางส่วนเช่นกันครับ ที่เขามาบอกผมว่า มีผมเป็นแรงบันดาลใจ อย่างในเฟซบุ๊ก ก็จะมีส่งข้อความมาว่า ขอบคุณพี่มากที่เป็นแรงบันดาลใจ พี่เป็นไอดอลของผม ซึ่งผมก็ดีใจที่สิ่งที่ผมทำมามันมีประโยชน์ อย่างน้อยแค่คนคนเดียวก็ยังดี ดีกว่าเป็นข่าวเยอะๆ แต่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย ผมคิดว่าอย่างงั้น

• จากการร่วมแข่งขันมาตลอดชีวิต ให้อะไรกับคุณบ้าง

ให้ประสบการณ์การเดินทางกับผม แน่นอน ให้ประสบการณ์กับการรับผิดชอบ ต่อสิ่งที่เราทำ แล้วก็ให้การเรียนรู้ การยอมรับความพ่ายแพ้ แล้วก็ไม่ไปใส่ใจกับมันมาก ให้เรียนรู้สิ่งที่เราแพ้ ผมเชื่อว่าการแพ้ มันได้ให้การเรียนรู้มากกว่าการชนะ การแพ้แต่ละครั้ง มันทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้นเยอะเลย เพราะกว่าที่จะชนะรายการนี้ได้ ผมแพ้มาเยอะมาก แพ้บางทีตกรอบแรก ตกรอบคัดเลือก เค้าไม่ให้แข่งก็มี แต่เราก็ผ่านมาได้ เพราะเราเรียนรู้ในสิ่งที่พลาดไป

ถ้าย้อนไป 2-3 ปีก่อน ตอนแพ้เยอะๆ ถ้าผมมีความท้อ ผมหยุดการแข่งขัน ผมก็จะไม่มีวันนี้ นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ตลอดเวลาที่ผ่านมา (รู้จักแพ้บ้าง) ใช่ครับ คือแพ้แต่เราก็เรียนรู้กับมัน หาเหตุผลว่าทำไมเราแพ้ เราต้องหามุมมองอีกแบบนึง ไม่ใช่ไปนั่งร้องไห้ แล้วไม่มีอะไรดีขึ้น มันต้องพัฒนาสิ่งที่เราด้อยไปให้ดีขึ้น (คือเสียใจได้) ผมจะเป็นคนอย่างนี้ คือเสียใจได้ช่วงนึง จะให้เวลาตัวเองวันนึง 2 วันพอแล้ว วันต่อมาก็เริ่มใหม่

• อนาคตอันใกล้ หลังจากการเป็นแชมป์ คุณจะเป็นยังไงต่อ

หลังจากนี้จะเป็นทัวร์รอบโลกครับ ภายในปีนี้ คือเริ่มเดือนมิถุนายนปีนี้เลย แล้วก็ทำอัลบัมกับสองค่ายเพลงชื่อดังของโลก ซึ่งผมไปอัดมากับค่ายแรก เป็นค่ายเพลงที่ผมอัดที่แคนาดา จะเห็นผมตามแผงซีดีทั่วโลกเลย นี่คือรายการนี้ผลักดันให้แชมป์ นอกจากเงินรางวัล แตกต่างกับรายการอื่นๆ ที่ให้เงินแล้วจบไป คุณก็ไปทำอะไรก็ได้ แต่รายการนี้สร้างคอนเสิร์ต ให้ชาวโลกได้เห็น ส่วนผลงานในเมืองไทย ในตอนนี้ยังไม่มีครับ แต่อัลบัมที่ผมทำนั้น สามารถหาซื้อได้ในเมืองไทย




เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช

กำลังโหลดความคิดเห็น