xs
xsm
sm
md
lg

จากดินสู่ดาว “ฉัตรชัย เพียงอภิชาติ” เมกอัพอาร์ทิสต์ชื่อดังระดับโลกของเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นอกจากจะเป็นเมกอัพอาร์ทิสต์ "หนึ่งเดียว" จากประเทศไทยที่ได้มีโอกาสโชว์ฝีมือระดับอินเตอร์ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และฮ่องกงฟิล์มอวอร์ด
ยังสามารถเรียกได้อีกว่าเป็น "เด็กน้อย" เพียงคนเดียวในโลกแสงสีของวงการแต่งหน้าทำผมบ้านเราที่มีคิวทองหนาแน่นยาวนับข้ามปีไม่แพ้ผู้ใด

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เขายังเป็นเด็กคอยซับหน้าช่วยเติมแป้งตามงานแฟชั่นวงการบันเทิงไฮโซ และโนเนม...

ด้วยวัยเพียง 25 ปี อะไรที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมาสู่ระดับคำกล่าวถึงตัวเองที่ว่านี้
และอะไรที่ทำให้จากลูกแม่ค้าหาบเร่ หาเช้ากินค่ำ คนธรรมดา
กลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ
และจากเงิน 20 บาทในวันนั้น ต่อเติมเพิ่มฝัน กลายเป็นเงินล้านวันนี้
นี่คือเรื่องราวชีวิตอันน่าเชิดชู ของ "ฉัตรชัย เพียงอภิชาติ"
เมกอัพอาร์ทิสต์คิวทอง ที่อายุน้อยที่สุด ณ เวลานี้...

มุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ย่อท้อ
ฝันก็จะไม่ใช่เพ้อฝัน

“คือตอนนั้นเราเรียนอยู่ ม.2 โรงเรียนสรรพวุฒิ เราเห็นคุณแม่ลำบาก ก๋วยเตี๋ยวขายไม่ได้ เนื่องจากช่วงนั้นเชื้อแอนแทรกซ์ระบาด ท่านก็ต้องไปหาบเร่ขายขนมกะหรี่พัฟฟ์ เราก็เลยอยากหารายได้ช่วยแม่” เมกอัพอาร์ทิสต์ชื่อดัง เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งความรักความชอบในวัยละอ่อน เริ่มออกเดินทางเป็นครั้งแรก

"คือพอเราเห็นผู้หญิงสวยๆ ในแมกกาซีน หรือในทีวีที่เขาสอนเรื่องพวกนี้ เราก็จะจำแบบ พยายามดูว่าเขาแต่งอย่างไร แล้วก็เครื่องสำอางของคุณแม่บ้าง ของน้าบ้าง เอามาหัดแต่ง (หัวเราะ)

"ก็ทำไปเรื่อย ตาสีฟ้าบ้าง แก้มสีแดงบ้าง ผมติดกากเพชร เรียกได้ว่าเด็กๆ แถวนั้นพอเลิกเล่นกลับไปบ้าน สวยทุกคน” ฉัตรชัยกล่าวถ่อมตนถึงการประสบความสำเร็จตามฝัน--ฝันที่อยากมีชื่อเสียง-- ได้ลงหนังสือออกทีวี--ได้มีคนกล่าวชมว่านี้คือคุณ... "ฉัตรชัย เพียงอภิชาติ" เมกอัพอาร์ทิสต์ชื่อดังของเมืองไทย

“ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีมากๆ ของเรา ที่เรารู้ว่าตอนนั้นเราชอบอะไร เราฝันอยากเป็นอะไรแล้วได้เป็น ทั้งๆ ที่ตอนนั้นที่บ้านเราไม่มีเงิน ก็เกือบไม่ได้เรียนเหมือนกัน” ฉัตรชัยเผยวินาทีแรกที่เกือบไม่มีสกุลเมกอัพอาร์ทิสต์นำหน้า เพราะด้วยความที่ครอบครัวมีคุณแม่หาเลี้ยงชีพเพียงลำพัง อาหารการกิน ฉัตรชัยก็ต้องอาศัยห่อข้าวจากร้านพี่สาวแม่ไปประทังที่โรงเรียน มิหนำซ้ำ บางวันทั้งครอบครัวมีเงินติดตัวเพียงแค่ 20 บาท ก็แทบจะคือทั้งหมดทั้งมวลของชีวิตเช้า-ค่ำในทุกๆ วันที่สองแม่ลูกต้องประคอง

ค่าเล่าเรียนวิชาช่างเสริมสวยหรือ? แทบจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เลิกล้ม เมื่อคิดที่จะมุ่งสู่ถนนสายนี้
กระนั้นก็ดี เมื่อรู้ว่าลูกรักและชอบเส้นทางสายนี้ ผู้เป็นแม่ก็ไม่รีรอหยิบยื่น "หาเงินมาส่งให้เราเรียนจนได้” ฉัตรชัยกล่าวดวงรอยยิ้มเต็มดวงหน้า เมื่อคิดถึงเงิน 1,500 บาทที่แม่หามาให้เพื่อใช้ในการเริ่มต้นศึกษาด้านความสวยความงาม ซึ่งแม้อาจจะเป็นจำนวนไม่มากมายสำหรับใครบางคน แต่ในความรู้สึกของฉัตรชัยด้วยวัยเพียง 13 ปี นั้นถือว่าเป็นสิ่งมีค่ามหาศาลเกินกว่าจะไขว่คว้าได้ และ “ศูนย์ฝึกอาชีพ” ในพื้นที่ละแลกบ้าน ก็เป็นสถาบันแห่งแรกๆ ที่เปิดโลกการตกแต่งความงามให้แก่เขา

“คือจริงๆ ตอนนั้น นอกจากเราอยากเรียนที่ใหญ่ๆ ที่ๆ มีชื่อเสียง แล้วก็อยากจะเรียนทั้งแต่งหน้า เรียนทั้งทำผม แต่พอกลับมาคิดคำนวณดูเงินเท่าไร เราก็มีไม่ถึงที่จะไปเรียนได้ครบสองอย่าง เรียนแต่งหน้าใช้เงินเยอะกว่า เราก็เลยตัดใจเลือกเรียนทำผมก่อน เลือกเรียนศูนย์ฝึกตรงนี้ไปก่อน เพราะเมื่อพอคิดดูดีๆ แล้วเราก็ได้พื้นความรู้เหมือนกัน แล้วอีกอย่างค่ารถค่าเดินทางเราก็ไม่ต้องเสียให้เป็นภาระคุณแม่เพิ่ม”

“เราก็ลองไปสมัคร แต่เขาไม่รับเรา...” ฉัตรชัย เล่าถึงตรงนี้ก็เว้นวรรคสะดุดเล็กน้อยเช่นเดียวกับความรู้สึกในตอนนั้นที่คำปฏิเสธผ่ากลางใจกับคำปรามาสว่า “ว่าจะทำได้หรือ”

“คือตอนที่ไปสมัครแล้วเขาปฏิเสธเรา เขาบอกกับเราประมาณว่าเราเด็กเกินไป เราจะทำได้หรือ” ฉัตรชัยว่า “แล้วหลังจากนั้นพอดีคุณน้าแถวบ้านเขารู้จักกับอาจารย์อีกท่านที่ศูนย์ฝึกนั้น เขาก็คุยให้เรา ก็เป็นอันว่ารับเราเข้าเรียนเป็นกรณีพิเศษ เราก็รู้สึกว่าเดี๋ยวจะทำให้ดู เดี๋ยวฉันจะต้องทำให้ได้”

และด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นตั้งแต่เช้าจดเย็นตลอดระยะเวลาปิดเทอมยันเปิดเทอมกว่า 3 เดือน ที่ฉัตรชัยตรากตรำร่ำเรียนอย่างหนักทั้งสองทาง เมื่อสำเร็จหลักสูตร ฉัตรชัยจึงอยากใช้วิชาชีพที่ร่ำเรียนตอบแทนผู้มีพระคุณ โดยเริ่มจากโต๊ะเครื่องแป้ง หวี ไดร์ ในราคาย่อมเยาเท่าที่มี

“จริงๆ ตอนแรกก็คิดว่าจะไปสมัครร้านเสริมสวยก่อน เพราะไม่คิดว่าจะสามารถทำที่บ้านได้ แต่พอไปขออนุญาตคุณแม่ ท่านก็สนับสนุนเราเต็มที่ ให้เราเปิดร้านที่บ้านได้เลยตามต้องการ เราก็เลยเปิดทำที่บ้านหลังเลิกเรียนกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ คิดราคาหัวละ 20-30 สระไดร์”

100-300 บาท คือรายได้ประมาณการต่อวันที่ฉัตรชัยบอกว่าภูมิใจมากที่น้ำพักน้ำแรงของตัวเองสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้จากงานที่รัก และสามารถส่งเสียตัวเองจนเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานเทียบเท่า ม.6 จากโรงเรียนพณิชยการบางนา ก่อนจะต่อด้วยใบปริญญาตรีจากรั้วราชภัฏสวนดุสิต และสร้างฝันพื้นฐานการแต่งหน้าทำผมระดับมืออาชีพจนคว้ารางวัลรายการมากมาย

"ก็มีได้แชมป์เยาวชนครั้งหนึ่ง นอกนั้นก็รายการต่างๆ ที่เขาจัดประกวด ชนะบ้างแพ้บ้าง ก็คิดว่าเป็นประสบการณ์มากกว่า ถึงแม้จะมีแอบคิดเล็กคิดน้อยตามประสาเด็กว่าของเราก็สวยทำไมไม่ได้

"ด้วยความที่เรายังเป็นเด็กประสบการณ์เรายังไม่มาก บางครั้งก็มีทำผิด ทำพลาด อย่างไดร์ผมลูกค้าเสร็จยังไม่ทันก้าวออกนอกร้านผมเขาไม่ตรงแล้ว หรือทำผมเขาหลุดเป็นกระจุกใหญ่ เพราะด้วยความที่เราเป็นคนชอบลอง ชอบตามเทรนด์ตามอาจารย์ในทีวี ก็ต้องรีบวิ่งเอาเงินไปคืน ปฏิเสธรับเงิน (หัวเราะ) เพราะเรารู้สึกว่าเราทำให้เขาไม่ดี แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าเขาก็จะบอกเราว่าไม่เป็นไร แต่ถึงอย่างนั้นสำหรับเราเงิน 30 บาท มันก็ยังเยอะอยู่ดี

“ก็เลยรู้สึกมาตลอดว่าต้องขอบคุณคุณน้าคุณอาที่เอ็นดู เพราะการที่เราจะมามีวันนี้ได้จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเกิดไม่มีพวกเขาเหล่านี้” ฉัตรชัยเผยความรู้สึกถึงย่างก้าวแห่งความสำเร็จของตัวเอง ที่นอกเหนือจากความสามารถที่เขาใช้คำว่า 'วิ่ง' ไล่หาโอกาสทั้งงานร้านงานกิจกรรมโรงเรียน เขาก็ขันอาสา และหลังจากผ่านการฝึกงานกับเครื่องสำอาง Mac ชื่อดังได้สำเร็จ คอนเนกชันก็ไหลมาเทมา เพราะเนื่องจากรุ่นพี่ที่ฝึกงานในอีกด้านหนึ่งก็พ่วงตำแหน่งช่างแต่งหน้าอิสระ ดังนั้น เมื่อรู้ว่าฉัตรชัยมีฝีมือเรื่องตรงนี้ก็ชักชวนฉัตรชัยเข้าสู่วงการ

“เพราะว่าพี่ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นช่างแต่งหน้ากัน ทีนี้พอเขารู้ว่าเราทำผมได้ เวลามีแต่งหน้าลูกค้าข้างนอก เขาก็มักจะชวนเราไปทำผม เราก็จะได้แล้ว 500 บาท” ฉัตรชัยกล่าวแซมยิ้ม ก่อนจะเปิดเผยว่าแม้จะได้เงินมากกว่าทำที่บ้าน แต่เมื่อเทียบกับค่าเดินทางที่เหลือก็ติดไม้ติดมือกลับบ้านจริงๆ ก็คือ ประสบการณ์ที่มากกว่าค่าเงินเสียด้วยซ้ำ

“คือสมัยก่อนบ้านเราอยู่ปู่เจ้า แต่เราต้องไปทำผมรับปริญญาสวนผักอย่างนี้ แถวพุทธมณฑลอย่างนี้ เราได้หัวละ 500 บาท ก็จริง แต่หักค่ารถก็หมดแล้ว (หัวเราะ)

“ถ้าถามว่าทำไมถึงทำ เป็นคนอื่นเขาคงไม่รับแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ เราคิดที่อยากจะทำอย่างเดียว งานฟรีก็ไป งานทัชอัพหน้าคอยซับเติมแป้ง ไม่ได้ไปในฐานะช่างเราก็รับ เราไม่เคยปฏิเสธงานเลยสมัยนั้น ต่อให้โทรมาว่าจ้างให้เวลาหนึ่งชั่วโมงสำหรับเดินทาง เราก็คว้ากระเป๋าวิ่งกลับบ้านไปเอาอุปกรณ์แล้วก็นั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปเลย

"เพราะเรามองว่าหนึ่งนอกจากมันเป็นโอกาสที่ทำให้คนเห็นผลงานเรา สองเราก็ได้เทคนิคจากการดูเขาแต่งหน้าทำผม ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่ได้เยอะกว่าค่าจ้างอีก เชื่อไหมว่าไม่เคยคิดถึงมูลค่าเงินเลย "

จากอัตราค่าบริการกิจการซาลอนที่บ้าน 20-30 บาท แต่งหน้าเจ้าสาวในชีวิตคนแรก 700 บาท ต่ำกว่ามืออาชีพที่คิดราคากว่า 4-5 พันบาทถึงเท่าตัว หรือกระทั่งคิวล่วงหน้าก็ไม่ต้องสั่งจองนัด แต่ปัจจุบันราคาเริ่มต้นที่ 3 หมื่นบาท และต้องนัดคิวจ้างชนิดกางปฏิทินข้ามคืนปีก่อนได้ฤกษ์ดีมงคล

“เพราะได้รับการสั่งสอนมาว่า ทำงานก็ต้องทำงานให้มีคุณค่า แล้วเดี๋ยวมูลค่ามันจะตามมาเอง ซึ่งมันก็จริง เพราะพอเราทำตรงนี้เราก็ได้ไปทำแฟชั่นต่อ แต่งนางแบบ แต่งดาราต่อ ได้ทำงานร่วมกับไอดอลที่เราชื่นชอบ (ต้อ ชรภาส) ซึ่งดังมาก เก่งมากในเรื่องแก้ไขรูปหน้าสาวเอเชียสมัยนั้น” ฉัตรชัยกล่าวด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุขที่ความสำเร็จค่อยๆ ขยับก้าวตามชีวิต ก่อนจะเผยนิยามการทำงานของตัวเองที่ยึดมั่นมาตลอด ซึ่งถึงวันนี้ก็ราวร่วม10 กว่าปี นับตั้งแต่วัยละอ่อนหัดถักเปียแต่งหน้าทาตาสีฟ้าให้พี่สาวและเด็กๆ ละแวกแถวบ้านจนเป็นที่รู้ทั่วกันดีสำหรับคนย่านนั้น และที่เขาเชื่อว่าเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จอีกดอกหนึ่ง นอกเหนือไปจากการเริ่มต้นรู้เร็วว่าตัวเองชอบและรักสิ่งใดจนทำให้เขากลายเป็นเมกอัพอาร์ทิสต์เด็กน้อยที่สุดในวงการที่โกอินเตอร์ในเวลานี้ของตนเอง

“คือทำงานนี้คือต้องเต็มที่ที่สุด เราต้องเต็มที่กับงาน ไม่ว่าเขาจ้างเราเท่าไหร่ 30 บาท ก็เต็มที่ 500 บาท ก็เต็มที่ งานฟรีเราก็ต้องแต่งให้เขาเต็ม ให้เขาสวยที่สุดเท่าที่เราสามารถเนรมิตเขาได้

“ก็เหมือนกับว่าถ้าเที่ยว ก็เที่ยวให้สนุก ทำงานก็ทำงานให้เต็มที่ อันนี้คือหลักการใช้ชีวิตของเรา หลักๆ เลยก็คือทำอะไรก็เต็มที่ อย่าท้อ สมมติว่าเราผิด เราไม่ดีตรงไหน ให้เราปรับปรุง แล้วก็ทำตามฝันนั้นให้สำเร็จทุกอย่างมันก็เป็นจริงขึ้นมาได้ แล้วก็อย่างที่บอก หลังจากนั้น เขาชอบเรา เขาชื่นชมผลงานเรา เพราะเรามอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา

สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าต้องทำอะไร... "เพื่อใคร"

นอกจากความรักความชอบส่วนตัว เมกอัพอาร์ทิสต์ชื่อดังยังบอกด้วยว่า "ความรักจากครอบครัว" ก็มีความหมายไม่แพ้กัน
"โชคดีอันแรกคือเราค้นหาตัวเองเจอใช่ไหม ครอบครัวยอมรับก็เปรียบเป็นโชคดีชั้นที่สองที่เรียกได้ว่าเป็นจุดสำคัญเลยที่ทำให้เรามีวันนี้เลยก็ว่าได้"

"ถึงได้บอกว่าโชคดี" ฉัตรชัย ย้ำยืนยัน ก่อนจะพูดเสริม "เพราะว่าแม้พ่อแม่เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน ครอบครัวเราไม่ได้เป็นครอบครัวที่อบอุ่น แต่เรากลับว่าไม่ได้รู้สึกขาด เพราะว่าแม่เราทำหน้าที่ได้ดี แล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดี

"ส่วนพ่อ แม้ว่าภายนอกเขาจะไม่ได้ดูสนับสนุนเหมือนคุณแม่ ที่มองเราออกว่าเราเป็นคนแบบไหน แต่เขาก็ยังสนับสนุนเรา เขามองดูเราอยู่ห่างๆ เราก็รู้สึกว่าตรงนี้ทำให้เราไม่อยากเกเร อยากเป็นคนดี ตอบแทนสิ่งที่เขามอบให้"

ไดร์เป่าผมเอย ที่ม้วนผมเอย อุปกรณ์ทั้งหมดฉัตรชัยเล่าว่าก็ได้คุณพ่อเป็นผู้จัดหาให้ได้มีฝึกมีหัดและประกอบอาชีพ ทั้งๆ ที่ตอนแรกก็ไม่เห็นด้วยถึงความเหมาะสมลูกผู้ชายกับช่างทำผมแต่งหน้า แต่สุดท้ายจนแล้ว สิ่งที่ฉัตรชัยตอกย้ำว่า "โชคดี" ของตัวเองนั้นก็คือการที่คุณพ่อได้ย้ายจากโรงงานทำเหล็กมาเป็นโรงงานผลิตเครื่องอุปกรณ์เสริมสวยและเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น

"ตอนนั้นที่เราแอบๆ เราก็จะกังวล และรู้สึกไม่ชอบมากตอนที่คนมาถามว่าชอบผู้หญิงหรือชอบผู้ชาย หรือบางทีคนข้างๆ บ้านก็แซวเหน็บแม่บ้าง เราก็จะไม่พอใจ แต่เมื่อพอได้เปิดใจคุยกับแม่ คุณพ่อเข้าใจ กลายเป็นว่ามันไม่รู้สึกกดดันหรือคิดกังวลอีกต่อไป

"คือครอบครัวเรายังให้โอกาสเลย แล้วเราจะแคร์คนอื่นทำไม ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าใครจะมองยังไงก็ช่างเขา ทุกวันนี้พอใครถามว่าชอบผู้หญิงหรือชอบผู้ชาย ฉัตรก็จะบอกไปเลยในสิ่งที่เราเป็น"

"อย่างวันหนึ่ง มีคนที่เราชอบโทรมาที่บ้าน แล้วเหมือนกับว่าแม่เขารู้ และเขาก็เป็นห่วง ไม่อยากให้เราปิดๆ แอบๆ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น แม่เขาก็กลัวว่าคนประเภทอย่างเรานี่ เราอาจจะถูกหลอกได้ หรือเดินทางผิด เพราะในสมัยนั้น คนอย่างเรา ภาพลักษณ์จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คืนนั้นก็เลยได้เปิดใจคุยกัน เราก็ได้แต่พยักหน้าอย่างเดียวเพราะคิดว่าโดนแน่ แม่ต้องจัดการไม่เอาเราไว้ประมาณนั้น แต่ไม่ใช่..." ฉัตรชัยบรรยายอาการอกสั่นขวัญแขวนของตัวเอง ก่อนจะเผยคำพูดที่แม้จะผ่านมากี่ปีก็ยังไม่ลืมเลือนจากความทรงจำ...

"แม่พูดกับเราคำเดียว แม่ก็เสียใจนะ แต่ถ้าเกิดเรากลับมาเป็นผู้ชายแท้ๆ ไม่ได้ แม่ก็ไม่เป็นอะไร ลูกแม่ยังไงแม่ก็รัก ขอให้ลูกแม่เป็นคนดีก็พอ"

"แค่นั้นแหละ น้ำตาไหลเลย แล้วรู้สึกว่าต่อไปนี้ฉันจะต้องเป็นคนดี ฉันจะทำหน้าที่ที่ผู้ชายแท้ๆ ทำให้หมดให้ได้ เราก็ให้สัญญากับแม่"

และนับจากนั้น เรื่องราวทั้งหมดหลังปมคาใจถูกคลี่คลายหมุดหมาย ปลายทางก็ไม่มีอะไรมาฉุดรั้งฉัตรชัยให้ก้าวเดินในเส้นทางถนนแตกต่าง

"คือพอหมดเรื่องตรงนั้น เหมือนเราต้องทำอะไรแอบๆ ซ่อนๆ มันก็สบายตัว ทุกวันนี้ก็เลยไม่รู้สึกว่าเหนื่อย เพราะชีวิตมันดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันก็ทำให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้

"เราก็มุ่งเรื่องงาน เรื่องฝันที่เราอยากจะเป็นและเรื่องฝันอยากจะทำให้ครอบครัวสบาย สามารถเลี้ยงดูคุณแม่ได้ เพราะคุณแม่ท่านเหนื่อย ท่านทำงานหนักมาเพื่อเรามากแล้ว เราทำให้ครอบครัวเรามีความสุข เราทำให้เขาภูมิใจ แค่นี้ก็พอ ถ้าคนอื่นไม่ยอมรับ ก็ปล่อยเขาไป"

กตัญญู ไม่ลืมตัว ไม่เมามัวชื่อเสียง
เคล็ดลับคงกระพัน 'คิวทอง'

"จริงๆ ฉัตรว่ามันเป็นคนโชคดีนะ คือถามว่าทำไมถึงต้องเป็นเรา ก็ไม่เคยรู้เหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นเรา เพราะคนแต่งหน้าสวยมีเยอะมาก และเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็สามารถแต่งกันได้เอง แล้วสวยทุกคนด้วย แต่ว่าอาจจะเพราะเราเฟรนด์ลี่มากกว่า ตามใจลูกค้า พบกับลูกค้าคนละครึ่งทาง เพราะถ้าเขาแฮปปี้ ความสวยมันก็จะถูกดึงออกมาใช้ได้หมด"

"และไม่ใช่ว่าเก่ง เราไม่เคยบอกว่าเราเก่ง แต่เราจะบอกว่าเราโชคดี ไม่เคยบอกว่าฉันแต่งหน้าเก่ง เพราะคนเก่งกว่าเรามีเยอะมาก พี่ช่างใหญ่ๆ ทุกคน หรือแม้กระทั่งช่างต่างจังหวัดเก่งกว่าเราอีกก็มีเยอะมาก" ฉัตรชัยเอ่ยถ่อมตนเมื่อเราถามถึงรายละเอียดที่ทำให้เขาโดดเด่นกว่าช่างแต่งหน้าทำผมทั่วไปที่มีอยู่ล้นถนนเส้นนี้ จนกระทั่งมีคิวทองหนาแน่ชนิดนานข้ามปีที่ต้องจองตัวสำหรับวันพิเศษ

"คือวันนั้นก่อนที่เราจะไปแต่งให้พี่ญิ๋ง (ญาญ่าญิ๋ง-รฐา โพธิ์งาม) ที่คานส์ เราบังเอิญไปแต่งให้พี่ตั๊ก (บงกช คงมาลัย) เรื่องจันดาราก่อน และพอพี่เขาเห็นเราเขาก็ชวนเราไป"

"นี่ใช่ไหม...น้องฉัตร เห็นคนเขาพูดถึงกัน" ฉัตรชัย ย้อนเลียนแบบน้ำเสียงดีใจเมื่อนางเอกคนดังทึ่งในอายุอานามทว่ามากด้วยฝีมือ ก่อนจะติดต่อให้ไปร่วมงานกันหนึ่งครั้งและชักชวนฉัตรชัยไปโกอินเตอร์ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วยกัน

"ตอนนั้นพอพี่ญิ๋งเขาถามเราตารางช่วงวันนี้เวลานี้ว่างไหมไปคานส์กัน เราก็ถึงกับ (ยิ้ม) เฮ๊ย! จริงๆ หรือ คือเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริงไม่ใช่ฝันไปใช่ไหม เพราะว่าช่างในวงการมือดีๆ ก็เยอะ ตอนนั้นก็ยังไม่กล้าบอกใคร กลัวไม่ได้ไปแล้วหน้าแตก จนวันที่ไปเราลงรูปผลงาน หลังจากกลับงานนั้น ชีวิตก็เปลี่ยนเลย"

"มันเหมือนขึ้นลิฟท์" ฉัตรชัยกล่าวเล่าด้วยสีหน้าท่าทางอย่างมีความสุขในห้วงนาทีความเป็นจริงนั้น ซึ่งในขณะที่อีกด้านยอดฟอลโลว์อินสตราแกรมก็พรุ่งปรี๊ดหลักหมื่นคนติดตาม ก่อนจะเล่าเสริมเรื่องชวนหัวให้ฟังอีกว่า ทั้งๆ ที่ดีใจอยากพูดคุยบอกกล่าวกับคนที่เรารู้จักสนิทว่าเราทำได้แล้ว แต่วันนั้นทั้งวันก็ต้องตัดขาดโลกไร้สายกันเลยทีเดียว เพราะระงมไม่ด้วยคอมเม้นต์ คำถาม คำยินดี และคิวนัดงานวันต่อวันเป็นหางว่าว

"ก็ต้องขอบคุณที่สื่อลงข่าวเรา เราถึงมีคนรู้จักมากขึ้น คือถ้าถามเรื่องความสามารถก็อย่างที่บอก เราโชคดีที่ได้โอกาสตรงนั้น ซึ่งมันก็อาจจะเป็นที่ยุคของโลกนี้ด้วย เพราะตอนนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามามีบทบาท คนสามารถพรีเซนต์ตัวเองได้ สามารถขายงานตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลัก เราก็มองว่าเรามาในยุคนี้พอดี เราก็เลยดัง"

...แพรรี่พาย (อมตา จิตตะเสนีย์) ทีนเมกอัพอาร์ทิสต์รุ่นใหม่อีกคนที่รู้จักก็แนะนำ "ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์" 1 ใน 100 ของบุคคลที่มีใบหน้าสวยที่สุดในโลกปีที่ผ่านมาก็ได้ฝีมือฉัตรชัยเนรมิตความเฉิดฉายในงานฮ่องกงฟิล์ม อวอร์ด 2014 นี่ยังไม่รวมไปถึงงานสำคัญๆ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างงานแต่งงานของเหล่าดาราคนดังแถวหน้าของเมืองไทย อาทิ "พิงค์กี้-สาวิกา ไชยเดช (ชวลิตธำรง)" กับเศรษฐีหนุ่มพันล้าน งานแต่งหวานใจพระเอกหนุ่มเจ้าเสน่ห์ กรรชัย กำเนิดพลอย กับความสวยของเจ้าสาว "เมย์ เฟื่องอารมย์" ที่ใครๆ ต้องเหลียวมอง งานพรีเวดดิ้งนักร้องสาวสุดสวยที่ถูกแชร์ส่งต่อของ "นัท มีเรีย" กระนั้นเจ้าตัวก็ยังถ่อมตนถึงความเก่งความสามารถนี้

"คืออาจจะเป็นเพราะเราเป็นคนชอบมองโลกสวยก็ได้ เพราะชีวิตเราก็มาอย่างนั้น ถึงได้บอกว่าโชคดี แต่เรารู้สึกอย่างนั้น เราพูดมาจากใจ เราก็ไม่สามารถห้ามความคิดคนอื่นได้ ก็วันหนึ่งถ้าเราเป็นอย่างไร ถ้าเราดีพอ อีก10 ปี ผ่านไปเราก็คือคนดี"

"คือยุคนี้มันเป็นยุคที่คนเครียดเยอะแล้ว คนจิตตกกันเยอะ ดังนั้น วันหนึ่ง 24 ชั่วโมง ถ้าเกิดเรามัวแต่ไปนั่งเครียด มันก็ไร้ประโยชน์ สู้เราก็คิดว่าปล่อยเวลาให้มันผ่านไป ทำให้เราโลกสวยดีกว่า เราจะได้ไม่เครียดด้วย

"แล้วเราเป็นคนที่ปล่อยวาง อย่างสมมติงานนี้มันจะต้องเป็นของเรา เราจะต้องทำ แต่เราไม่ได้ ก็ให้มองว่าไม่เป็นไร คนเรามันไม่ได้มีแค่วันนี้วันเดียวเรายังมีชีวิตต่อที่เราจะอยู่ไปอีก เดี๋ยวเราอาจจะเจองานที่ดีกว่าก็ได้ หรือดเราอาจจะทำอะไรอีกก็ได้ คืออย่าท้ออย่าไปอิจฉาคนอื่น แต่เราคิดไว้ว่าบางทียุคนี้มันเป็นแบบนี้ เราก็ควรข่มจิตใจตัวเองให้ปล่อยว่าง เดี๋ยววันนี้มันก็ผ่านไป" ฉัตรชัยอธิบายถึงเหตุผลความนึกคิดที่กล่าวมา

ขณะที่ล่าฝันเก็บเกี่ยวความมาสำเร็จมาพอสมควร หมุดหมายโปรเจกต์ต่อไปนอกจากจะสานต่อแผนงานสอนเคล็ดลับแต่งหน้าฟรีๆ ทำผมฟรีๆ ลงยูทูปร่วมกับเพื่อนที่แตกต่างความถนัดในชื่อ "สวยตามสั่ง" ฉัตรชัยยังวาดโครงการคอร์สอบรมระยะสั้นสำหรับผู้ที่สนใจ เพื่อให้คนที่คล้ายๆ กับตัวเองในอดีตได้รับโอกาสเช่นเดียวกับตัวเอง ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ตอกย้ำถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้ที่เมื่อสำเร็จแล้วพึ่งกระทำ ก็คือตอบแทนบุญคุณกตเวทิตา

"ก็เพราะคนพวกนั้นเป็นบุคคลที่ผลักดันให้เรามีวันนี้ได้ ทำให้เราอยากดีมีเงินขึ้นกว่านี้อีก เพราะเราอยากดูแลตอบแทนพระคุณ เพราะเราไม่เคยลืม อาจารย์ที่ให้โอกาสสอนเราทำผม อาจารย์ที่สอนเราสมัยมัธยมที่คอยเป็นที่ปรึกษา

"ตอนนี้ก็ค่อยๆ ทำไปทีละสเต็ป เราดูแลคุณแม่ ครอบครัว ญาติพี่น้อง พอได้แล้วเมื่อไหร่ เราก็จะเข้าไปช่วย คือคิดไว้หมดแล้วว่าจะทำอะไรบ้าง ก็มีจะเปิดตึกอบรมเป็นคอร์ส แล้วให้หลังอาจารย์เกษียณช่วยดูแล

"ที่เราอยากจะทำอย่างนี้เพราะรู้สึกว่าพอเราโตขึ้น คนบุคคลเหล่านั้นเขาก็แก่ลง และพอเขาแก่เขาก็ไม่สามารถทำงานอะไรได้ไหว แล้วคนที่สนิทชิดเชื้อกันส่วนมากเขาก็เป็นเพศเหมือนเรา เขาก็ไม่มีลูกหลาน อย่างน้อยเขากลับบ้านไปต่างจังหวัด เขาก็อาจจะเหงา เพราะคนเคยทำงาน ให้เขาอยู่กับพวกเราดีกว่า อย่างน้อยๆ ก็ช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน" ฉัตรชัยเผย ซึ่งคงไม่ต้องถามว่าหน้าที่ภาระที่แบกรับหรือวาดฝันอยากจะทำนั้นหนักหนาเพียงไร เพราะคำว่า “เหนื่อย” คงไม่มีในพจนานุกรมชีวิตเขาที่นึกถึงคนรอบข้างผู้มีพระคุณที่ทำให้มีวันนี้เสมอ

"มันก็ไม่เหนื่อยนะ เพราะมันสนุกไง มันมีเพื่อน มีทุกคนอยู่ มีทุกคนที่รักคอยดูแลชี้นำด้วยใจจริง มันเหมือนกระจกที่ส่องเราให้เราเดินถูกทาง แต่ถ้าเราทำคนเดียว ตัวคนเดียว หรือคิดแต่ตัวเอง เราก็เห็นแต่ด้านเดียวของชีวิต ก็เหมือนเราเรียนรู้อะไรบางอย่าง เรียนคนเดียวกับเรียนเป็นกลุ่มอันไหนที่เราจะได้เห็นอะไรมากกว่ากัน"





เรื่อง: รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น