xs
xsm
sm
md
lg

เฮียชิว-สุพล เตชะธาดา ผู้ตราชื่อประพันธ์สาส์น เสียชีวิตแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (วันที่ 15 ม.ค.2558) เวลา 06.50 น.นายสุพล เตชะธาดา หรือ เฮียชิว ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้เสียชีวิตแล้ว โดยตั้งศพบำเพ็ญกุศล ที่ ศาลา 1 วัดหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร

สุพล เตชะธาดา หรือที่รู้จักกันในแวดวงนักเขียนว่า “เฮียชิว” บุตรชายคนโตของคุณทรวง แห่งสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ คลุกคลีอยู่กับสำนักพิมพ์ของที่บ้านมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อเขาโตขึ้นจนรับผิดชอบงานได้แล้ว ก็รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับนักเขียนและโรงพิมพ์ ร้านค้า สายส่ง ฯลฯ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นผู้จัดการของสำนักพิมพ์นั่นเอง

สุพลช่วยพ่อทำงานมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จนเมื่อผดุงศึกษาไปเปิดสาขา ๒ ที่วังบูรพาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่สุพลแต่งงานกับประพันธ์ สองสามีภรรยาก็ช่วยกันดูแลกิจการอยู่ที่ร้านวังบูรพา และได้ตั้งสำนักพิมพ์ใหม่ของตัวเอง ให้ชื่อศรีภรรยานำโชค ว่า “ประพันธ์สาส์น” เพื่อตีพิมพ์ผลงานแนวใหม่ โดยทำควบคู่ไปกับผดุงศึกษา ระยะแรกประพันธ์สาส์นจึงตั้งอยู่ที่เดียวกับผดุงศึกษาสาขาแรก ที่บ้านเลขที่ ๒๓๐ นครเกษม กรุงเทพฯ โดยตรงกลางยังติดป้ายใหญ่ว่า “ผดุงศึกษา” ส่วนด้านข้างติดป้ายเล็กๆ ว่า “ประพันธ์สาส์น”

ผลงานตีพิมพ์ชิ้นแรก โดยการจัดการของสุพล อันเป็นก้าวแรกก่อนการตั้งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้มาจากคำแนะนำของประเสริฐ พิจารณ์โสภณ ให้รวมพิมพ์ผลงานของ “รงค์ วงษ์สวรรค์” ซึ่งเขียนประจำให้กับสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในขณะนั้น และเริ่มมีผลงานเป็นที่ติดตามของบรรดานักอ่าน ผลงานรวมเล่มเรื่องแรกของ รงค์ วงษ์สวรรค์ และก้าวแรกของสุพลในการจัดพิมพ์งานแนวใหม่ที่ต่างจากผดุงศึกษาของบิดาชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาในชื่อ หนาวผู้หญิง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นปกแข็งขนาดมาตรฐานที่กำลังนิยมกันอยู่ในขณะนั้น ปรากฏว่า หนาวผู้หญิง ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ผลงานตีพิมพ์ส่วนมากเป็นของนักเขียนรุ่นใหญ่ เช่น น้อย อินทนนท์ (มาลัย ชูพินิจ) และ มนัส จรรยงค์ ชุด “เฒ่า” เช่น เฒ่าโลกีย์ เฒ่าลอยลม เฒ่าโพล้ง เฒ่าเหมือน เฒ่าหนู และจบด้วยเล่มสุดท้ายคือ สวัสดี ฒ ผู้เฒ่า ผลงานของอิงอร เช่น ดรรชนีนาง งานของประมูล อุณหธูป เรื่อง จันดารา เป็นต้น ผลงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนิยายขนาดยาวที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร แล้วจึงนำมาพิมพ์รวมเล่มเป็นปกแข็ง

ประพันธ์สาส์นเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะรากฐานที่มั่นคงจากการส่งต่อจากสำนักพิมพ์พ่อ สู่สำนักพิมพ์ลูก ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นที่มีกับนักเขียนรุ่นใหญ่ และมิตรภาพที่เกิดขึ้นกับนักเขียนรุ่นของสุพลเอง ทำให้ธุรกิจเดินควงคู่ไปกับความเป็นเพื่อน และเดินไปข้างหน้าด้วยหนทางที่ราบรื่น

กำลังโหลดความคิดเห็น