“ครูเห็นภาพความเหน็ดเหนื่อยที่ท่านทำเพื่อประชาชนมาเยอะมาก
ครูถึงได้รู้ว่าท่านเต็มที่กับประชาชนของท่านมากๆ”
เพียงเปิดประตูบ้านเข้าไป ก็ต้องพบกับภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ผ่านการจัดวางอย่างสวยงามเป็นระเบียบ ตั้งเด่นเป็นสง่าอย่างที่ไม่เคยได้พบเห็นที่ไหนมาก่อน ซึ่งหากคาดคะเนจำนวนภาพด้วยสายตา คงนับได้ร่วมเรือนหมื่นเรือนแสนภาพ
เป็นเวลากว่า 42 ปีที่ครูสอนภาษาไทยวัย 72 ปีคนหนึ่ง ได้เก็บสะสมภาพของในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจที่ได้รับและถูกปลูกฝังมาจากพ่อผู้ให้กำเนิดเลยทำให้ครูอาวุโสท่านนี้ชื่นชอบและสะสม
“ครูสนอง บำรุงราษฎร์” คือครูที่เรากำลังกล่าวถึง
เพราะอะไร คนคนหนึ่งถึงใช้เวลามากกว่าครึ่งชีวิตในการติดตามสะสมภาพเหล่านี้
เบื้องหลังการกระทำ ย่อมมีความคิด
และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการกระทำที่ต่อเนื่องยาวนานตลอดทั้งชีวิต
ยิ่งต้องมีความคิดและแรงบันดาลใจ
ที่ไม่ธรรมดา...
• ฟังมาว่า ครูสนองชอบสะสมภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และภาพพระบรมวงศานุวงศ์มาก ถึงขั้นที่ว่าเก็บสะสมไว้ร่วมแสนภาพเลย
จริงๆ ครูเก็บภาพเหล่านี้มาได้สี่สิบกว่าปีแล้ว (ยิ้ม) เริ่มเก็บมาตั้งแต่อายุ 30 ปีต้นๆ ตอนนี้อายุก็ 72 ปี ย่าง 73 ปีแล้ว แรกๆ ที่เริ่มเก็บ จะเป็นภาพพระองค์ท่านเดี่ยวๆ พอหลังๆ นอกจากภาพในหลวง ครูก็จะเก็บภาพเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ด้วย ครูรู้สึกนะว่าตัวเองโชคดี ดวงชอบไปเจอด้วยนะ ตอนที่คิดจะเริ่มเก็บ เวลาครูไปบ้านใคร เห็นเขาแขวนรูปไว้ ครูจะถาม อย่างปฏิทินปีเก่าๆ เห็นเขาแขวนไว้ ครูจะถามเขาว่าเขาใช้ไหม ไม่ใช้เราขอนะ หรืออย่างไปต่างจังหวัด ถ้าได้มาครูจะม้วนเก็บกลับมาบ้านอย่างดีเลย ไม่ให้ภาพยับ
บอกตามตรงเลยว่าตอนแรกที่ยังไม่ได้เก็บจริงจัง ได้ภาพมาแล้วก็ไม่รู้จะนำรูปท่านไปทำอย่างไร ก็เลยเก็บใส่ถุงเอาไว้ เอากระดาษสีน้ำตาลมาทำเป็นถุงใหญ่ใส่ไว้ พอตอนหลัง เกิดความคิดว่าไปซื้อสมุดวาดเขียนเล่มใหญ่ๆ มาเก็บใส่ไว้ เป็นสมุดภาพดีกว่า ครูชอบเอาภาพท่านมาตัดทากาวทั้งสี่ด้านแล้วแปะลงสมุดวาดเขียนเก็บเป็นสมุดภาพ พอทำเป็นสมุดภาพนานเข้า กระดาษก็เริ่มเหลืองเลยมาเปลี่ยนเป็นแผ่นภาพ ใช้กระดาษแข็งแล้วหุ้มกรอบให้สวยงามแทน (ยิ้ม) หรือถ้าบางภาพได้มาแบบยับๆ ครูจะตัดตามภาพท่านแล้วนำมาติดกับกระดาษสี ตกแต่งใหม่เพื่อให้ภาพดูสวยงามยิ่งขึ้น อีกอย่างในบ้านครูจะติดภาพเหล่านี้ไว้ด้วย ติดจนไม่มีช่องว่างที่จะติด (ยิ้ม)
• แล้วมีร่วมแสนภาพ นี่จริงไหมคะ
จริงๆ ครูรับรองเป็นตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่คนที่มาเห็น เขาประมาณการให้ว่ามีร่วมแสนภาพ เขาประมาณการกันเองจากการที่เจอแฟ้ม เจอรูปภาพเป็นแผ่นตั้งๆ เจอหนังสือ เจอรูปภาพที่ยังไม่ได้เอามาใส่แฟ้มอีก เขาเลยคงจะประมาณการกันจากตรงนั้น (ยิ้ม) เวลาที่มีคนมาเห็น เขาก็จะพูดตลอดว่า “อู้หู เยอะขนาดนี้เลยเหรอ จริงอย่างที่เขาโจษขานไว้เลยว่ามีเป็นหมื่นเป็นแสนภาพ” อะไรทำนองนี้
• มีเยอะขนาดนี้แสดงว่าครูสนองก็ชอบที่จะแสวงหาภาพของพระองค์ท่านด้วยใช่ไหมคะ หรือว่าได้ภาพเหล่านี้มาจากที่ไหนบ้าง
ตอนที่เริ่มต้นเก็บ ครูจะหาซื้อบ้าง แต่ตอนนั้นยังไม่เยอะเท่าไหร่ เพราะเรายังไม่รู้แหล่ง จะหาซื้อได้ก็เฉพาะวันสำคัญ อย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษา เขาจะออกเป็นรุ่นๆ ตามนิตยสารมากกว่า แต่ต้องบอกก่อนว่า หลังจากปี พ.ศ. 2554 ภาพทั้งหมดได้มาจากตลาดกรมชลประทานปากเกร็ด ที่นั่นจะมีร้านหนังสืออยู่สามร้าน วันไหนที่ครูจะไปที่นั่น จะต้องยกมือไหว้ ขอให้ได้ ขอให้เจอภาพ ครูจะซื้อทุกเล่มไม่เพียงเฉพาะที่มีภาพในหลวง มีภาพพระราชินี หรือภาพที่เกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ครูจะตามหมด จะเก็บทั้งหมดเลย
ตอนหลังพอทางร้านเห็นครูไปซื้อบ่อยๆ เขาก็กรุณา ไม่รู้ว่าเขาเจตนาหามาให้ด้วยหรือเปล่านะ พอเขาเห็นครูไป เขาก็บอกว่ามีทันทีเลย แล้วก็เอามาให้ เขาก็เลือกมาให้ว่ามีกี่เล่ม อย่างบางเล่มปกติเขาขายอยู่เล่มละ 150 บาท เขาก็บอกอาจารย์เอาไปเถอะ เอาเล่มละ 50 บาทพอ ซึ่งเล่มนั้นหนามาก มีภาพเยอะมาก เราก็ได้แต่ขอบคุณที่เขากรุณา ซึ่งส่วนนี้ครูถือว่าเป็นพระคุณมากๆ หลังๆ ได้จากเขาเยอะมากเหมือนกัน อีกทางหนึ่งก็คือ คนบ้านใกล้เรือนเคียงที่เขารู้ว่าครูชอบ เขาก็จะเอามาให้ตลอด บางทีได้ภาพเหมือนกันเป็นปึกๆ เลยก็มี (ยิ้ม)
• แล้วอะไรคือความคิดและแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูเก็บภาพได้มากมายขนาดนี้คะ
(ยิ้ม) อ๋อ ส่วนตัวแล้วครูเองมีพ่อเป็นครู คิดว่าครูก็คงจะได้รับมรดกมาจากตรงนี้ เพราะครูจะมีนิสัยคล้ายกับพ่อ ครูจะถูกพ่อสอนมาโดยตลอด พ่อจะสอนทุกเย็นหลังกลับมาจากการสอนเด็กๆ ที่โรงเรียน ครูชอบที่จะฟัง ฟังทุกวันๆ มันก็ซึมซับมาเรื่อยๆ ตอนนั้นจำได้ว่าที่บ้านครูไม่มีภาพในหลวงเยอะมากมายขนาดนี้ จะมีก็แต่รูปที่เขาใส่กรอบเดินขาย
พ่อจะสอนเสมอว่าถ้าต่อไปข้างหน้า เจอรูปในหลวงท่าน หนูต้องเก็บไว้บูชา หนูอย่าเหยียบรูปเป็นอันขาด ถ้าเราเหยียบย่ำจะไม่เจริญ เรามีบุญแค่นี้ แต่ท่านมีบารมีสูงส่ง เราเองนี่แหละที่จะแพ้ภัยแก่บารมีของท่าน จะทำให้เราตกต่ำไม่เจริญรุ่งเรือง
พ่อยังชอบพูดอีกว่าพระมหากษัตริย์ท่านเกิดเป็นคนเหมือนเราก็จริง (ขอพูดภาษาชาวบ้านๆ ตามที่พ่อท่านสอนมา) ท่านได้สร้างเสริมบุญบารมีมามาก กว่าท่านจะเกิดเป็นคนซึ่งในที่นี้พ่อจะสอนไปถึงพระพุทธเจ้าด้วยว่า กว่าท่านจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ท่านต้องสะสมบุญบารมีมาเยอะมาก พ่อจะบอกว่าคนโบราณเขาบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทวดา เป็นพระอินทร์ พระพรหมลงมาเกิด แต่สมัยนี้ต้องเรียกว่าสมมติเทพลงมาเกิด ตอนเด็กที่ครูฟัง ยอมรับว่ายังไม่ได้คิดว่าจะสะสมจริงจัง เพราะตอนนั้นยังเป็นเด็กมากๆ แต่พ่อสอน ครูก็จำเอาไว้ เจอภาพก็จะยกมือไหว้ แต่ยังไม่คิดว่าจะเก็บ
• อย่างที่บอกว่า มรดกทางความคิดนี้ได้รับมาจากคำสอนของคุณพ่อ แล้วเมื่อตัวครูได้มาเป็นครู มีการถ่ายทอดคำสอนของพ่อมายังลูกศิษย์ยังไงบ้าง
ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ครูจะชอบพูดถึงพื้นฐานแผ่นดินไทยแต่ก่อน จะเอาเรื่องพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ มาเล่าประกอบด้วย เช่น รัชกาลที่ 5 ท่านทำอะไรไว้บ้าง จะบอกเด็กๆ ตามภาษาชาวบ้านว่ารัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าปู่ของในหลวง หรือยกตัวอย่างให้เด็กเห็นชัดแจ้ง ก็จะยกในกรณีของรัชกาลปัจจุบันเลยว่าธรรมชาติลงโทษมนุษย์ให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำอะไรไม่ได้ ใครเอาชนะธรรมชาติได้ ก็แกล้งถามเด็กไป เด็กตอบกลับมาเลยว่าในหลวงไงครับ ครูเลยย้อนถามไปว่าทำไมถึงบอกว่าในหลวง เขาก็ตอบกลับมาว่าในหลวงสร้างฝนเทียมให้ฝนตกได้ครับ ครูก็จะบอกเล่าเรื่องราวพวกนี้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เกี่ยวกับพระราชกรณีกิจของท่านให้เด็กๆ ฟัง
เรามีอาชีพครู มีหน้าที่สอนเด็ก ครูจะปลูกฝังตลอดซึ่งเด็กที่โรงเรียนจะรักในหลวงมากๆ อย่างวันนี้ ครูจะสอนเรื่องประโยค ก่อนที่จะเข้าเรื่องวิชาการ ครูจะสอนเรื่องความดี ความงาม บาปบุญ อาจจะไม่ได้สอนทุกชั่วโมง แต่ถ้ามีโอกาสก็จะสอนตลอด ในห้องจะมีภาพในหลวง เราก็จะพูดในลักษณะให้รู้จักคุณค่าของพระมหากษัตริย์ตามที่ครูถูกคุณพ่อสอนมาตั้งแต่เด็กๆ จะเอามาถ่ายทอดเด็กต่อ จะสอนเขาเสมอว่าให้เชื่อคำสอนของท่าน เราทำไม่ดีต่อพ่อแม่จะไม่เจริญ ซึ่งพระมหากษัตริย์ก็เรียกได้ว่าเป็นพ่อของคนไทยทั้งประเทศ ก็ต้องเชื่อฟังคำท่าน เราจะได้เจริญ ยิ่งพ่อหลวงด้วยแล้วท่านเป็นของสูงเราจะยิ่งเจริญ เด็กเขาก็รับคำ ครับ/ค่ะเข้าใจสิ่งที่ครูพูด
• แบบนี้แสดงว่ามีสอดแทรกเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ลงไปในแผนการเรียนการสอนด้วยไหมคะ
ครูจะให้อิสระเด็กๆ มีเวลามีโครงงาน อย่างโครงงานหนึ่ง มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งเสนอขึ้นมาว่าอยากทำโครงงานที่เกี่ยวกับในหลวง ครูก็จะถามเขาว่าอยากทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องในหลวง ก็มีเด็กเสนอมาว่าอยากค้นคว้าพระบรมราโชวาท (คำสอนของในหลวง) เขาก็คุยกันเองว่าเขาอยากจะทำเรื่องความดีของท่าน ซึ่งครูมีหนังสือความดีของท่านอยู่พอดี ก็ให้เด็กได้ค้นคว้าจากตรงนั้น ซึ่งที่ครูประทับใจเลยคือเด็กๆ จะเขียนคำนำว่าที่กลุ่มเขาเลือกทำเรื่องนี้เพราะเขามีความจงรักภักดีต่อชาติ พระมหากษัตริย์ เขาเลยอยากทำโครงงานนี้ขึ้นมา
อาจจะไม่ได้สอนโดยตรงมาก เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์จะอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ค่อนข้างเยอะกว่า ครูก็ได้แต่สอดแทรกและเสริมของครูเข้าไป อย่างบางทีจะเอาภาพท่านที่ทำพระราชกรณียกิจต่างๆ ไปเล่าให้นักเรียนฟังบ้าง จะพูดถึงค่อนข้างบ่อย ส่วนใหญ่เท่าที่สังเกต ตอนครูสอนเด็กๆ จะเปิดใจรับเรื่องแบบนี้กันดีมาก (ยิ้ม)
• ย้อนถามนิดหนึ่งที่ครูบอกว่าชอบนำภาพของพระองค์ท่านที่ได้มา มาตกแต่งให้สวยงามทั้งจัดเข้าเล่ม ทำเป็นสมุดภาพ ทำเป็นแฟ้ม ทำเป็นแผ่นภาพแถมยังนำมาติดเต็มบ้านจนละม้ายคล้ายกับพิพิธภัณฑ์แบบนี้ มีแววจะเปิดทำเป็นพิพิธภัณฑ์บ้างไหมคะ
บ้านที่ครูอยู่ตอนนี้เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ไปในตัวแล้วเหมือนกันนะ ใครที่อยากเข้ามาเยี่ยมชมสามารถมาได้ตลอด ถ้าครูอยู่ จริงๆ อย่างที่บอกว่าครูสะสมภาพมาก่อนนานแล้ว แต่บ้านหลังนี้ที่ติดรูปในหลวงเยอะขนาดนี้ เพิ่งทำมาตอนปี พ.ศ. 2544 เรียกได้ว่าสิบกว่าปีมาแล้วที่เริ่มติดภาพบนฝาผนังและตกแต่งแบบนี้
บ้านหลังนี้ยังเป็นห้องสมุดชุมชนอีกด้วย เพราะครูเป็นคนชอบอ่าน ชอบซื้อหนังสือ ครูรักหนังสือมาก อ่านจบก็จะไม่ทิ้ง ไม่ขาย จะเก็บเรื่อยๆ พอเยอะเข้า ก็เลยทำเป็นห้องสมุด สะสมไว้เป็นห้องสมุดไปในตัว มีคนเอาหนังสือมาบริจาค ตอนหลังเลยทำให้กลายเป็นห้องสมุดชุมชนไป ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นห้องสมุดอยู่ เพียงแต่ว่ามีรูปพระมหากษัตริย์และรูปพระบรมวงศานุวงศ์ติดอยู่ด้วย
เรียกได้ว่า ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ครูได้มีโอกาสสักการะและเข้าเฝ้าในหลวงทุกวัน ได้กราบท่านทุกวันจากรูปที่บ้าน เป็นความสุขนะ เป็นความสุขอยู่ข้างใน เวลาเราได้ภาพท่านมาแล้ว ได้เอามาตกแต่ง เอามาประดิษฐ์ให้สวยงาม มันมีความสุขในใจ เป็นความสุขมาโดยตลอด อย่างเข้ามาบ้านครูต้องพนมมือไหว้พระก่อน
ตื่นเช้ามาตอนตีสามครึ่ง ครูจะสวดมนต์ทุกวันในห้องนอน สวดมนต์แล้วก็จะอธิษฐานให้ท่านก่อนเลยว่ากุศลนี้ขอถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ขอให้ท่านอยู่กับปวงชนชาวไทยไปยิ่งยืนนาน จะอธิษฐานก่อนทุกครั้งเลย พอสวดมนต์ให้ท่านเสร็จก็จะสวดให้ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ตามลำดับ จิตใจเราก็จะสบาย ยิ่งมาสะสมของที่รักที่ถูกใจแล้วด้วยยิ่งมีความสุข ไม่เชื่อลองดูสิ สะสมอะไรก็ได้ที่เรารัก สะสมยิ่งมากขึ้นๆ มันก็ดีใจ มันก็มีความสุข เช่นเดียวกัน ครูก็มีความสุขแบบนั้น
ครูจะใช้เวลาว่างช่วงเย็นๆ มานั่งตกแต่งภาพให้ดูสวยงาม ทำจนเพลิน บางทีหันไปดูนาฬิกา ดึกแล้ว อ้าว นอนได้แล้ว ทำไปยิ่งเห็นรูปพระองค์ที่เป็นรูปพระราชกรณียกิจ ยิ่งทำยิ่งเพลิน ทำไปชมไป เมื่อเรารักในหลวง เราจงรักภักดีต่อท่าน ทำไปมันมีความสุขในใจ มันบอกไม่ถูกว่ายังไง แต่ความสุขนั้นมันปลอดโปร่ง มันสุข มันสะอาดอยู่ในใจ ทำไปเพลินไป ตัดรูป ตัดกระดาษ มันมีความสุขทำไปจนลืมเวลา ครูจะทำเองทั้งหมด อย่างที่เอามาแขวนติดตามผนังห้อง ครูก็ปีนติดเอง อาจจะมีภาพบนสุดแถวเดียวที่วานลูกหลานติดให้
ครูมีความสุขที่ได้ชื่นชมภาพท่าน มากกว่าความสุขก็คือความภาคภูมิใจที่ตัวเองสามารถเก็บภาพในหลวง ภาพพระบรมวงศานุวงศ์ได้มากมายขนาดนี้ โดยที่ตัวครูเองก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน เคยนะที่ถามตัวเองว่าเราเก็บได้มากขนาดนี้เชียวเหรอ (ยิ้ม)
• สะสมภาพเหล่านี้มาร่วมสี่สิบกว่าปีมีภาพไหนที่ครูสนองประทับที่สุดบ้างไหมคะ
ครูจะชอบภาพพระราชกรณียกิจของในหลวงมาก เวลาได้มองภาพ ครูจะระลึกและมองลึกเข้าไปถึงน้ำพระทัยของท่าน ท่านเมตตา ท่านใกล้ชิดและเป็นกันเองกับประชาชน ท่านเรียนรู้และหาข้อมูลความเป็นอยู่ของประชาชนว่าเป็นอยู่ยังไง ภาพจะฟ้องในตัวเลยว่าท่านต้องรู้ว่าประชาชนมีปัญหาเช่นไร ท่านเลยได้ลงไปช่วยเหลือ ท่านไม่เคยรังเกียจประชาชน ซึ่งบางภาพ ท่านนั่งลงกับพื้นเลยก็มี ครูชอบตรงนี้ ชอบตรงที่ท่านเข้าไปเยี่ยมประชาชน ถามสารทุกข์สุกดิบ เป็นการสื่อสารเพื่อนำทางไปช่วยเหลือประชาชนของท่าน ซึ่งใครดูภาพเหล่านี้แล้วคิดให้ลึกซึ้ง จะรับรู้ได้เลยว่าท่านคงไม่ได้เข้าไปพูดคุยอย่างธรรมดา แต่ท่านต้องถามแน่ๆ ว่าประชาชนของท่านนั้นสบายดีไหม กินอยู่หลับนอนเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรไหม
ครูจะมีภาพหนึ่งที่ดูตลอด หลังกลับมาจากข้างนอกเหนื่อยๆ เป็นภาพที่ในหลวงกับคุณยายที่อยู่บนดอย (พูดพร้อมชี้ให้ดู) ภาพนี้ได้ทั้งบรรยากาศ วิวทิวทัศน์บนที่สูง ดูแล้วสดชื่น มีดอกไม้มีวิว มีคุณยายกำลังถวายของให้ท่าน เห็นพระพักตร์ท่านยิ้ม ดูแล้วมีความสุข ดูแล้วชื่นใจ ดูแล้วบางทีก็ยิ้มคนเดียว (ยิ้ม)
อีกภาพหนึ่งที่ประทับใจมากๆ เลยจะเป็นรูปของคุณยายตุ้มที่ประทับใจ เพราะคุณยายอายุร้อยกว่าปี แล้วไปคอยรับเสด็จท่านตั้งแต่เช้าจนบ่าย คิดดูอายุมากขนาดนี้ยังอดทน ซึ่งดอกบัวที่คุณยายทูลเกล้าฯ ให้กับท่าน ถึงจะเหี่ยว คอตก ซึ่งในหลวงท่านก็โน้มพระวรกายไปหาใกล้มากโดยไม่ได้รังเกียจเลย ประทับใจภาพนั้นมาก เป็นภาพที่ครูเองประทับใจทั้งตัวท่านและคุณยายตุ้มมากๆ (ยิ้ม)
• เรียนถามตามตรงว่ามีภาพมากมายขนาดนี้ เคยคิดไหมว่าจะเลิกซื้อ เลิกเก็บ
ไม่คิดเลย (ตอบเร็ว) จะเก็บไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ครูจะไปซื้อแฟ้มมาทีละหลายๆ โหล ซื้อกระดาษสีทีละหลายปึก ไส้ในแฟ้มจะซื้อเก็บไว้เป็นลังๆ เลย เพื่อที่จะเอามาทำ มาเก็บภาพ ว่างเมื่อไหร่จะได้ทำได้ทันทีเลย (ยิ้ม) ไม่เลิกเก็บแน่ๆ เพราะตอนนี้ครูยังทำไหว และจะไม่เลิกแสวงหาด้วย แต่ยอมรับว่าเคยมีช่วงท้อแท้ใจเหมือนกัน
• ท้อแท้ใจยังไงคะ
ตอนปี พ.ศ. 2554 ช่วงนั้นน้ำท่วม ตอนนั้นครูเก็บภาพท่านเก็บไว้บนหลังตู้ไม้อัด คิดว่าอยู่แล้ว ไม่เป็นไร เก็บไว้เยอะมาก เก็บไว้ประมาณ 3,000-4,000 ภาพ แต่ก็ไม่รอด น้ำทำให้สูญภาพไป แต่ก็พอมีเหลืออยู่บ้าง ไม่ถึงกับศูนย์หรือเริ่มต้นใหม่เสียทีเดียว
ตอนนั้นท้อแท้ใจมาก แต่พอได้เห็นภาพของพระองค์ท่าน เห็นภาพพระราชกรณียกิจต่างๆ ของท่านก็มาเริ่มคิดใหม่ ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะเก็บอย่างเดียว แต่ไม่จัดไม่ทำแล้ว แต่มานั่งนึกดูอีกทีว่าท่านยังไม่ท้อเลย ท่านไปทั่วประเทศ ช่วยเหลือประชาชนตามที่ต่างๆ แล้วเราจะท้อไปทำไม ก็เลยจัดทำใหม่ ให้คนช่วยต่อชั้นวางให้พ้นน้ำ โต๊ะวางก็ซื้อมาใหม่เพื่อให้พ้นน้ำ ถ้าน้ำมาคราวนี้ ครูไม่กลัวแล้ว (หัวเราะ)
หลังจากน้ำท่วม เลยคิดว่าไม่เก็บเป็นแผ่นภาพแล้ว หันมาเก็บใส่แฟ้มดีกว่า จะบอกว่าในแฟ้มที่เห็นทั้งหมดนี่เพิ่งเริ่มทำและเริ่มเก็บจากหลังปี พ.ศ. 2554 ทั้งนั้นเลยนะ เริ่มต้นจากหารูปใหม่ ส่วนรูปเก่าที่เป็นแผ่นๆ ก็ยังพอเหลืออยู่บ้าง ยังเก็บรักษาเหมือนเดิมอยู่
• นอกจากสะสมภาพแล้ว ครูประทับใจในคำสอนอะไรของพระองค์ท่านบ้างคะ
ความพอเพียง (ตอบเร็ว) ครูเอาหลักอยู่อย่างพอเพียงที่ท่านสอนมาใช้ ครูเองเป็นคนอยู่ง่าย ใช้ของง่ายไม่ฟุ่มเฟือย อย่างแจกัน กระถางธูป ที่เอามาตกแต่งบ้าน ก็ไม่ได้ซื้อหา จะใช้กระป๋องนมผงเด็กที่เหลือใช้เอามาประดับตกแต่ง หรือไหปลาร้า เอามาล้างมาขัดทำเป็นแจกัน ไม่ต้องไปซื้อหาเอามาทำเอง หรืออย่างปี๊บ จากสนิมเขรอะ ครูจะเอามาล้างมาทำความสะอาดและตกแต่ง เอาวอลเปเปอร์หุ้มหรือไม่ก็กระดาษห่อของขวัญหุ้มให้สวยงาม เอาดอกไม้มาตัดตกแต่ง
อีกอย่าง พระองค์ท่านก็อยากให้ลูกๆ ท่านเป็นคนดี ไม่อยากให้ทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนตัวครูเองจะคิดเสมอว่า ถึงแม้เราทำไปท่านจะไม่รู้ ไม่เห็นก็ตามแต่เราเอาคำสอนของท่านมายึดมาปฏิบัติ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ถึงแม้ท่านไม่รู้ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำของเรา ทำตามคำสอนท่านเราก็ได้บุญแล้ว
• แบบนี้ถ้ามีคนเดินเข้ามาถามว่าทำไมถึงรักในหลวงจะตอบเขาไปว่าอย่างไร
จะตอบว่าพูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ เพราะอะไร เหตุผลมันมากมายสุดที่จะบรรยายออกมาให้หมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นท่าน ที่ท่านกระทำ เพราะท่านทำทุกอย่าง เหตุผลมันเยอะมาก รวมๆ แล้วมันมหาศาล สารพัดอย่างที่ท่านทำให้กับพสกนิกร โดยที่ประชาชนรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เป็นสิ่งที่เรามองเห็นรูว่าคุณค่าเหล่านั้นมันมีอยู่ มันตีความหมาย ตีค่าไม่ได้ว่าเพราะเหตุผลอะไร ถ้าจะเอาเหตุผลจริงๆ คงต้องบอกว่าเป็นเหตุผลทุกประการที่ท่านทำเพื่อประชาชน
ครูเห็นมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าบางภาพ คนอาจจะไม่ได้เห็นถึงความลำบากตรากตรำของท่านก็ตาม แต่บอกได้เลยว่าครูเห็นภาพความเหน็ดเหนื่อยที่ท่านทำเพื่อประชาชนมาเยอะมาก ครูถึงได้รู้ว่าท่านเต็มที่กับประชาชนของท่านมากๆ อีกอย่างมีคนตามเสด็จใกล้ชิดท่านเคยมาพูดทางโทรทัศน์ซึ่งครูก็เคยได้ฟังเขาบอกว่าใครจะตามเสด็จนั้น ต้องฟิตร่างกายให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจตามท่านไม่ทัน เพราะท่านกระฉับกระเฉงและว่องไวมาก นั่นแหละที่ครูได้เห็นถึงความตรากตรำพระวรกายของท่านมากๆ
ครูจะมีหนังสือพระราชกรณีกิจของในหลวงเก็บไว้อ่านตลอด เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับท่าน ตอนนั้นท่านเสด็จประพาสยุโรป น่าจะช่วงปี พ.ศ.2500 ตอนนั้นท่านยังหนุ่ม ครูได้อ่านหนังสือเล่มนั้น เป็นเล่มที่คนตามเสด็จเขียนขึ้นมา ไปเจอข้อความหนึ่งที่เขาได้เขียนไว้เกี่ยวกับในหลวงว่า ตอนนั้นที่ในหลวงได้เสด็จไปต่างประเทศ ประเทศนั้นเขาต้อนรับเป็นอย่างดี วันนั้นที่สนามบิน ทัศนวิสัยไม่ดี ฝนคะนอง พายุเข้า ฝนฟ้าตก จำไม่ได้ว่าประเทศอะไร ซึ่งประเทศนั้นที่เขารอต้อนรับอยู่ วิตกกังวลอย่างมากว่าจะทำอย่างไร แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้คนต่างชาติต้องตะลึงซึ่งคนเขียนเขียนไว้ว่าคนต่างชาติยังมหัศจรรย์กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะก่อนนี้ครึ่งชั่วโมงฝนฟ้ากระหน่ำ ก่อนในหลวงจะถึงครึ่งชั่วโมงที่นั่นฟ้าแจ่มใส ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ฟ้าเปิด ครูอ่านถึงตรงนั้นขนลุกเลย ซึ่งคนต่างชาติทึ่งไปเลย คนไทยที่ไม่เคยรู้ก็โปรดรู้ไว้ด้วยว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริงๆ
ครูเชื่อเสมอว่ามีพลังอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองคนที่มีอำนาจบารมีสูงๆ ซึ่งครูมีอีกภาพยืนยันเป็นภาพที่เกิดขึ้นนานแล้ว เป็นภาพที่วัดหนึ่ง กุฏิที่เก็บอัฐบริขารของวัดไหม้หมด แม้กระทั่งเสาก็ไม่เหลือ ที่เหลือซากก็จะเป็นเพียงเหล็ก แต่ทุกอย่างไหม้หมดเลย ตอนนั้นเขาลงพาดหัวข่าวเลยว่ากุฏิไหม้ แต่ไฟไม่ไหม้ภาพในหลวง หน้าปกเป็นภาพของท่านที่ไหม้เพียงขอบ วางอยู่ท่ามกลางกองเพลิง ครูเชื่อว่านี่แหละคือพลังบารมีที่เกิดขึ้น ที่เชื่อหนักเลย เพราะกระดาษเป็นเชื้อเพลิงแต่ไม่ไหม้ สิ่งนี้เลยทำให้ครูเชื่อมาโดยตลอดว่านี่แหละคือพลังบารมีที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้หนังสือเล่มนี้อยู่บนโต๊ะบูชาของวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งครูจำวัดไม่ได้ว่าเป็นวัดอะไร ใครที่ดูผ่านๆ อาจไม่คิดอะไรแต่ครูคิดและเชื่อมาโดยตลอด
• ท้ายนี้ ในฐานะที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติและเป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อยากให้เป็นตัวแทนกล่าวถวายคำอวยพรให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันเจริญพระชนมพรรษาหน่อยค่ะ
(อยู่ในท่าประนมมือ) ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2558 พระพุทธเจ้าขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดจนพลังอิทธิฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ขอได้เสริมส่งให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงและมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญ เป็นที่พึ่งของพสกนิกรชาวไทยไปตลอดกาลยิ่งยืนนาน ด้วยเทอญ
Profile
ชื่อ : สนอง บำรุงราษฎร์
อาชีพ : รับราชการครู (สอนวิชาภาษาไทย) ที่โรงเรียนประชุมวิทยา จังหวัดปทุมธานี
อายุ : 72 ปี
ของสะสม : ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ