xs
xsm
sm
md
lg

การ์ตูนไทยกำลังกลับสู่ยุคมืด! : สารจาก “ตาโปน” หนึ่งเทพการ์ตูนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่ยังอายุ 18-19 เขาอาศัยความกล้าแบบเด็กหนุ่มดุ่มเดินเข้าไปหา “พนมเทียน” นักเขียนผู้เลื่องชื่อเจ้าของบทประพันธ์ขึ้นหิ้งเรื่องพชรพระอุมา เพื่อขอความเมตตานำพานวนิยายเรื่องดังกล่าวมาบอกเล่าในรูปเงาของการ์ตูน และนั่นก็น่าจะนับเป็นครั้งแรกๆ ที่เรื่องราวของ “รพินทร์ ไพรวัลย์” กับผองเพื่อนนักผจญภัยในป่าดงดิบ ถูกยกหยิบมาถ่ายทอดผ่านเส้นสายลวดลายในแบบฉบับของการ์ตูน


ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านพ้น จวบจนปัจจุบัน “ชัยยันต์ สุยะเวช” หรือที่คอการ์ตูนตัวจริงรู้จักกันในนาม “ตาโปน” ได้สร้างผลงานและตัวตนจนเป็นที่ประจักษ์ ผ่านเอกลักษณ์ลายเส้นที่หลายต่อหลายคนผ่านความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า สวยงามที่สุด อีกลายเส้นหนึ่ง ขณะที่ใครบางคนอาจวงเล็บ แล้วใส่คำว่า (เทพ) ไว้ในนั้น

ในวันที่วงการการ์ตูนไทยได้รับการกล่าวขานในหลากหลายแง่มุม...
“การ์ตูนไทยขายได้ที่เมืองนอก”
“นักเขียนการ์ตูนไทยได้ร่วมงานกับเมืองนอก”
“คนนั้นคนนี้ได้ไปเขียนการ์ตูนที่ญี่ปุ่น” (โอ้โห เมืองหลวงของการ์ตูนเลยนะนั่น!!)
และอีกสารพัน ข่าวสารน่าชื่นใจ

แต่ในมุมมองของนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหญ่ เขาออกปากในเบื้องต้นว่า “ผมไม่ได้จะต่อต้านใครนะ” และบทสนทนาถัดจากนี้ ก็เพียงเพื่อชี้ให้เราเห็นถึงสิ่งที่เป็นอยู่จริงๆ
ไม่ใช่ภาพลวงตา ไม่ใช่โปรโมตโฆษณา
อย่างที่เรามักจะเห็นตามหน้าสิ่งพิมพ์
...ลืมตา และมองความเป็นจริง...

ทำไมถึงกล้าพูดคำว่า วงการการ์ตูนไทย กำลังกลับเข้าสู่ยุคมืด
 
ผมรู้สึกว่าตอนนี้มันเป็นช่วงที่ตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า 20 กว่าปีที่ทำงานมา ถ้าทำอาชีพอื่น คงรวยไปแล้วนะ (หัวเราะ) คือถ้ากูเป็นบันไดขั้นแรก โห แม่งเหยียบจนบันไดสึกแล้วนะนั่น คือเราก็หวังเหมือนกันนะว่าจะเป็นบันไดขั้นแรก แล้วให้บรรดารุ่นใหม่ๆ เหยียบไปขั้นที่สาม ที่สี่ ที่ห้า แล้วตัวเราก็จะเหยียบไปขั้นหกบ้าง แต่เปล่าเลย ทุกวันนี้ก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม (หัวเราะ)

การ์ตูนไทยจริงๆ ในตอนนี้ ผมใช้คำว่า ‘เหมือนจะเกิด’ หรือแม้หลายคนจะพูดว่าเกิดก็เถอะ แบบมีการ์ตูนเรื่องนี้ดัง ยอดขายดี หรือเรื่องนั้นส่งเมืองนอก แต่เอาเข้าจริงๆ ผมว่าเหมือนกำลังหลอกและโฆษณาให้กับตัวเองมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะถ้ามันดีอย่างที่คุณว่าจริง วงการการ์ตูนไทยคงไม่เป็นแบบที่เป็นอยู่ คือดังแค่เรื่องเดียว แล้วมันสร้างระบบหรือสร้างอะไรให้กับวงการหรือเปล่า สุดท้ายมันก็ไม่ใช่ การ์ตูนไทยในช่วงนี้มันก็เป็นแค่รูปแบบ นักเขียนการ์ตูนเขียนงานมา ส่งสำนักพิมพ์ แล้วก็จบ หรือนักเขียนเขียนไม่ได้ก็จบ

แล้วสิ่งที่ควรจะเป็น มันเป็นอย่างไรในความคิดของคุณ
 
ว่ากันตามความจริง การทำงานของการ์ตูนไทย แทบไม่มีการพรีโปรดักชันกันเลย ไม่เหมือนวงการภาพยนตร์ที่ก่อนจะทำสักเรื่อง มันจะมีการพรีโปรดักชันกันเป็นปีๆ กว่าที่จะไปสู่ขั้นตอนต่อไป แต่การ์ตูนไทยไม่มี มีโครงเรื่องปุ๊บก็ข้ามขั้นสู่วิธีการโปรดักชันเลย จะบอกว่า เพราะเม็ดเงินมันไม่สูง ก็ไม่ใช่ มันอยู่ที่ว่าจะทำกันหรือเปล่าเท่านั้นเอง

อย่างตอนที่ผมทำเรื่อง “ไกรทอง” ผมทำการพรีโปรฯ เป็นปีๆ หาข้อมูลอะไรต่างๆ ก่อนจะเขียน ตกตะกอนกับมัน นั่งพิมพ์บท แถมลงพื้นที่ อยู่ฟาร์มจระเข้ทั้งวัน ไปนั่งดูเลย เข้าไปโซนที่กักจระเข้ที่มันไม่ได้โชว์ ซึ่งเป็นกรงเล็กๆ แคบๆ เหมือนเราไปซึมอยู่ตรงนั้น

ดูเหมือนกระบวนการ “พรีโปรดักชัน” จะสำคัญมากในความคิดของคุณ ในแง่ที่จะทำให้แวดวงการ์ตูนรุ่งเรืองหรือว่าตกต่ำก็ได้

เอาอย่างงี้แล้วกัน สมมติว่าเราเป็นนักเขียนการ์ตูน ผมชอบเรื่อง hot beach ผมชอบเรื่องวอลเลย์บอลชายหาด ผมก็จะหาผู้หญิงใส่ชุดชั้นใน ใส่ชุดว่ายน้ำ สะโพกโค้งเว้า อะไรทั้งหมด เรามองตรงนี้ขาดหมดแล้ว พอเราไปคุยกับโปรดิวเซอร์หรือบรรณาธิการหนังสือ หรืออะไรก็แล้วแต่ พอเราไปคุยปุ๊บ เขาก็จะมองในมุมว่าพี่ต้องอย่างนู้นอย่างนี้ ในขณะที่เขาเองไม่ได้ลงลึก แต่เราเห็นมากกว่า และขณะที่เขาควรจะไปทำหรือวางแผงการตลาดต่อ ไม่มี ผมแค่ยกตัวอย่างนะ หรือแม้แต่ผมมีตังค์ ผมเขียนการ์ตูนไม่ได้ ผมจะพิมพ์หนังสือการ์ตูน เฮ้ย ผมอยากให้คุณเขียนเรื่องนี้ให้ผมหน่อย ผมไม่รู้ว่าคุณมองตรงไหนออก คุณเขียนมา ผมชอบ แล้วก็พิมพ์เลย แล้วพอมันเจ๊งหรือขายไม่ออกขึ้นมา แม่งก็มาด่านักเขียนการ์ตูนว่าเขียนห่วย (หัวเราะ)

คล้ายจะมีระบบ แต่ไม่มี?
 
มันปฎิเสธไม่ได้ไง เราเขียน เราก็ต้องยอมรับตรงนั้น ผมถึงชอบระบบการทำงานของฝรั่ง อย่างเวลาฝรั่งทำหนังเรื่องนึง เขาจะมีการเตรียมงาน มีทีมงานในส่วนเตรียมงานตรงนั้นด้วย แต่การ์ตูนไทยมันไม่มี แล้วผมมามองว่า เฮ้ย ถามว่าคนไทยทำได้มั้ย ทำได้ ไอ้ระบบโฆษณาเนี่ย ก่อนจะทำชิ้นนึง มันต้องช่วยกันคิด ช่วยกันบ่ม หรือแม้แต่วงการเพลง ซึ่งสมัยนั้น ผมก็เห็นนะว่ามันมีการคิด มีการทำขึ้นมา แต่พอมาดูวงการการ์ตูน ทำไมมันไม่มีวะ เพราะเม็ดเงินมันยังไม่สูงใช่ไหม แต่ถามว่ามันเริ่มใกล้มั้ย ใกล้นะ อย่างค่ายจีทีเอชชัดเจนมาก ระบบตั้งแต่ executive producer ไล่ไปๆ โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักแสดง คนเขียนบท หรืออะไรก็แล้วแต่ โอ้โห เป็นระบบเป็นแพตเทิร์น โคตรดี ดีถึงขั้นที่ว่าใครเอาแพตเทิร์นนี้มาทำกับการ์ตูนไทยได้ ผมว่าเกิด แต่ปัญหาก็คือ หลายคนจะบอกว่านักเขียนการ์ตูนไทย อิ่มมากก็อืด เขียนงานไม่ออก หิวมากก็เร่ง กลายเป็นงานลวก แต่ผมว่าเป็นทุกอาชีพแหละ

ฟังๆ ดู ก็เหมือนกับว่าการ์ตูนไทยมันยากจะเกิดได้ใช่หรือเปล่า
 
ถ้าจะทำการ์ตูนไทยโดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขอย่างทุกวันนี้ ผมคิดว่าเราไม่ไหวแน่ แล้ววงการตอนนี้มันก็ทำตัวของมันเองอยู่แล้ว คือตราบใดที่เรายังเอาการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่เป็นหัว แล้วพยายามจะทำงานตามเขา หรือพูดง่ายๆ เราเอาการ์ตูนญี่ปุ่นมากดหัวการ์ตูนไทยอย่างทุกวันนี้ ทำงานให้ตายยังไง แม่งก็ไม่เกิด หนังสือการ์ตูนวางบนแผง การ์ตูนญี่ปุ่น ล่อไปเต็มแผง การ์ตูนไทยโผล่มาเล่มสองเล่ม ทำให้ตายยังไง คุณก็ไม่เกิด คุณซื้อหนังสือญี่ปุ่นมาพิมพ์ขาย ยังไงราคาการ์ตูนญี่ปุ่นที่คุณซื้อมา เขาพิมพ์ต้นฉบับจากที่โน่นราคาเท่าไหร่ แล้วเขามาขายให้คุณในราคาลิขสิทธิ์ มันก็ไม่ได้สูง คุณซื้อมาพิมพ์ในราคาที่ถูกกว่าการ์ตูนไทย แค่นี้การ์ตูนไทยก็ไม่มีทางเกิดแล้ว

ดังนั้น พอการ์ตูนญี่ปุ่นเล่มละ 45-50 บาท การ์ตูนไทยที่ใช้ต้นทุนมากกว่า แค่นี้ราคาก็สู้กันไม่ได้แล้ว และสุดท้าย นักเขียนการ์ตูนไทยก็ถูกกดด้วย เหตุนี้นักเขียนการ์ตูนไทยก็ไม่มีงบไปวิจัยข้อมูล ไปสังเกตการณ์สถานที่ หรือจะไปอะไร ไม่มีทาง เต็มที่ คุณก็ต้องจุดเทียนตั้งขึ้นมาเล่มหนึ่งแล้วคุณก็นั่งคิดเอาเองว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้วคุณก็เขียน ดังนั้น การ์ตูนไทยไม่มีทางจะเกิด ใช้คำนี้เลย ซึ่งถ้าจะเกิดได้ ถ้าไม่แนวอินดี้ แนวเฉพาะตัว ก็เป็นแนวแบบ...คล้ายแนวตัวตน เหมือนคล้ายๆ คนเขียนแนวปรัชญา แล้วคนบูชาความคิดคนนั้น เช่น hesheit อะไรแบบนั้น การ์ตูนสไตล์นั้นจะเกิด แต่การ์ตูนสไตล์คอมิกจริงๆ จะไม่เกิด แนวที่เล่าเรื่องจะไม่เกิด ไม่มีทาง และนี่คือตลาดใหญ่สุด

ด้วยเหตุนี้ ถ้าถามผม ผมรู้สึกว่า นี่คือบั้นปลายแล้ว แล้วผมมาเห็นมันเป็นแบบนี้มานาน ยี่สิบกว่าปีที่กูสู้กับมันมา แม่งโคตรไร้สาระเลย เลิกต้มซะทีเถอะ ผมนั่งคุยกับทีมงาน จากนี้ เราจะเขียนการ์ตูน อย่างที่เราอยากทำ โดยที่ว่าเราจะมองโจทย์ ส่วนตลาดหรือระบบธุรกิจจะเป็นยังไงช่างมัน แต่เราจะทำระบบของเรา ว่าใช้ทุนสูงแค่ไหน โอเค เราจะทุ่มกับมันตรงนั้น เราจะใช้เวลากับมันแค่ไหน เราก็คำนวณเวลากับมัน ถ้าผมทำสำเร็จตรงนี้ คงตอบโจทย์ให้หลายๆ คนได้ ถ้าสมมติทำได้ มันก็คงตอบโจทย์ให้กับสำนักพิมพ์หลายที่ เริ่มเห็นช่องทางได้บ้าง แต่ไม่แน่ว่าผมจะทำสำเร็จ เพราะมันอาจจะล้มไม่เป็นท่าก็ได้

ทั้งๆ ที่คุณใช้คำว่า “นี่คือบั้นปลายของวงการการ์ตูน” แต่เท่าที่เห็น ก็มีคนไปได้รางวัลจากเมืองนอกหรือได้ร่วมงานกับเมืองนอกให้เห็นอยู่เรื่อยๆ นะ
 
มันใช้คำว่าโปรโมตมากกว่า พอได้ตรงนั้นมาปุ๊บ เขาก็จะเอามาโปรโมต การ์ตูนไทยเจ๋งๆ เรื่องหนึ่ง นักเขียนการ์ตูนไทยคนหนึ่ง ได้รางวัลเว้ย แต่ถ้าคุณมีตังค์ติดตัว 45 หรือ 50 บาท แล้วเดินไปแผงหนังสือการ์ตูน คุณอยากอ่านการ์ตูน คุณอยากซื้ออะไร ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น คุณก็ต้องซื้อญี่ปุ่นก่อน เพราะอ่านมาตั้งนาน ซึ่งตราบใดที่ยังเป็นอย่างงี้อยู่ การ์ตูนไทยก็ไม่มีทางเกิดได้ เหมือนวงการหนังเลย การ์ตูนญี่ปุ่นราคาเดิม แต่การ์ตูนไทยหนีไปเล่ม 170 กว่าบาท

ผมอยากได้แบบ GTH อ่ะ ออกมาเรื่องไหน ก็ถล่มทลาย อยากให้วงการการ์ตูนไทยเป็นแบบหนังค่ายนี้ มีการวางระบบชัดเจนจริงๆ อย่างทุกวันนี้ ช่วยพี่ทำการ์ตูนสักเรื่องนึง ได้ค่ะพี่ แล้วหนูจะกินอะไร อ๋อ กินจากค่าต้นฉบับ (หัวเราะ) ทุกวันนี้มันแสนเข็ญอยู่แล้ว ยังต้องถามอีกเหรอ ผมมีลูกมือ ผมต้องการปั่นต้นฉบับให้ได้อาทิตย์นึง 30 หน้า ผมต้องมีลูกทีม 4 คน หน้าละ 100 บาท ต้นฉบับกูเหลือหน้าละ 50 บาท แค่นี้ก็อยู่ไม่ได้แล้ว เป็นไปไม่ได้
เพราะอะไรถึงอยู่ไม่ได้ เป็นไปไม่ได้
 
ด้วยเงื่อนไขของการตลาด ผมว่าตัวนี้เป็นตัวหลัก ตราบใดที่ยังซื้อของเมืองนอกได้ถูกแล้ว มาพิมพ์ขายถูก ส่วนของที่เราผลิตเองต้นทุนสูงกว่าอยู่แล้ว จะมาบอกว่ามากดราคาต้นทุนเราให้ถูกลง ผมก็นึกไม่ออกว่าเราจะอยู่กันยังไง ผมเขียนต้นฉบับ เดิมทีได้สูงกว่านี้นะ แต่มาโดนถัวเฉลี่ย ไม่รู้ว่าใครมาตั้งกฎให้ว่า 500 บาท แต่ผมก็ได้ราคานี้มาตั้งแต่สิบกว่าปีก่อนแล้วนะ เมื่อไหร่ว้าจะหน้าละพันหรือสองพันบาทบ้าง (หัวเราะ)

แล้วอย่างนี้ พวกเลือดใหม่จะไม่หนักกว่าเหรอ
 
คือถ้ามองจากเด็กรุ่นใหม่ ก็มีกระแสแล้วว่า เฮ้ย ทำไมเขียนการ์ตูนลงเว็บ ลงแอปฯ หรือ สติกเกอร์ไลน์ (หัวเราะ) ก็มีคนชวนว่าให้ไปเขียนสติกเกอร์ไลน์บ้าง รายได้ดีนะ ผมก็คิดนะว่าจะให้ไปเขียนเนี่ยนะ ผมว่าอย่าทำเลย ถ้าคุณเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้วมาทำ สมมตินะ ผมเป็นนักเขียนการ์ตูน แล้วไปบอกใครต่อใครว่า เฮ้ย ผมเขียนสติกเกอร์ไลน์ มากกว่าต้นฉบับผมอีก แล้วอย่างงี้ ผมจะมีหน้าไปบอกใครได้ว่าผมเป็นนักเขียนการ์ตูน คือมันไม่ใช่ศักดิ์ศรีหรอก ถ้างั้น คุณก็ไม่ต้องมาเป็นนักเขียนการ์ตูนหรอก ผมอยากทำการ์ตูนไทย ผมก็ต้องสู้กับมัน

ได้ลองฟังเสียงของคนในวงการคนอื่นๆ ไหม เขาว่าอย่างไรกันบ้างส่วนใหญ่
 
ผมว่าทุกคนรู้ดีอยู่ว่ามันไม่เกิด แต่มันยังมีบางจุดที่พอหยิบมาขายได้ ก็จะถูกหยิบมาขาย หยิบเอามาโชว์ได้ ก็หยิบเอามา แต่ถามว่าจะผลักดันให้มันฟู่ฟ่าแบบเมื่อก่อน ไม่มีทาง ในมุมมองของผม การ์ตูนมันจะมีขึ้นและลงของมันอยู่ เป็นไปตามวัฎจักร แต่ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงลง ดังนั้น จะขึ้นหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับคนที่ทำงานอยู่ในวงการ หรือคนที่อ่านการ์ตูน อะไรสักอย่างที่มันสะกิดแล้วปิ๊งขึ้นมาสักหน่อยนึง แล้วหลายๆ คน ก็อาศัยแรงปิ๊งนั้น ในการร่วมผลักดันมันขึ้นไป แล้วพอถึงจุดนึงปุ๊บ มันก็จะดร็อปลงมา วนเวียนไปเรื่อยๆ แต่ไอ้ปิ๊งรอบใหม่นี่ ก็ยังไม่มาซะที นานมากแล้ว

แต่ในความเห็นผม คิดว่าไม่น่าจะเกินปีสองปี คือหลายกระแสก็ว่าดี อีกกระแสก็ว่าไม่ดี ผมไม่รู้ ผมจะรู้แค่มุมผมที่เห็น และจากมุมที่ผมเห็น จากโฆษณาเมื่อปีสองปีก่อนว่าการ์ตูนไทยขายเมืองนอกได้ มีเมืองนอกซื้อลิขสิทธิ์ ผมมองว่าถ้าซื้อจริง ป่านนี้การ์ตูนไทยเปรี้ยงปร้างไปแล้ว อานิสงส์ผลบุญมันย่อมเกิด แต่นี่มันไม่มี มันเหมือนคุณโยนหินลงไปในน้ำ แล้วมันหาย ต๋อมเดียวไปเลย แม่งไม่มีคลื่นด้วย ถ้าคุณว่าทำได้อย่างที่โฆษณา มันต้องเห็น แต่นี่มันไม่เห็นเลย

เอาล่ะ ไม่ว่าจะอยู่ได้ไม่ได้ เกิดไม่เกิด แต่สำหรับคุณที่ทำงานในวงการมานานกว่า 20 ปี มีระบบในการทำงานอย่างไร
 
ผมพยายามเขียนการ์ตูนหลายเรื่องหลายแนว และพยายามสร้างระบบการทำงานขึ้นมา คือเวลาทำงานแต่ละชิ้น ผมจะมีทีมงานเข้ามาช่วยทำงานเป็นทีม ช่วยคิดช่วยอะไร ไม่ใช่จบงานนี้ กูคือพระเจ้า

ส่วนเวลาเขียน หลักๆ ก็จะดูจากความรู้สึกอยากก่อนว่า ตอนนั้นเราสนใจอะไรอยู่ อยากเขียนเรื่องอะไร เรามองอะไรไว้ แล้วมันมีแรงพอที่จะให้เราอยากเขียนไปจนจบได้มั้ยด้วย แล้วเราเห็นอะไรจากที่เรารู้ เห็นจากอะไรที่เราสนใจตรงนั้น สำหรับผม ความสนใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้ามาบอกว่า อยากได้การ์ตูนเรื่องนี้ เขียนให้หน่อย ถ้าเราไม่รู้หรือไม่ถนัด ทำให้ตาย มันเขียนได้แต่มันไม่ดี คือมันต้องมีการศึกษาเบื้องต้นก่อน สมมติว่าผมไม่ถนัดแนวสงครามสู้รบ ถ้าให้ไปเขียน ผมก็ต้องไปทำการบ้านเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบบการเมือง การทหาร หรือแนวคิดอะไรพวกนี้ก่อน พอเราไม่ใช่แนวนั้น เราย่อมรู้ดี แล้วถ้าเขียนการ์ตูนไป ความเชื่อมันไม่เกิด และเราเริ่มไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเขียนแล้ว มันก็ยากที่จะทำให้คนอ่าน อ่านแล้วเชื่อ ดังนั้น จะเขียนการ์ตูนสักเรื่อง มันต้องอาศัยจากความสนใจของตัวเราเป็นฐานสำคัญ

พูดอย่างสรุป ผมจะทำงานสองแบบ แบบแรก ถ้าจะทำการ์ตูนสักเรื่องให้ดีที่สุด เราต้องรู้ลึก รู้รายละเอียด ศึกษามัน คลุกคลีอยู่กับมัน แล้วก็ต้องมองมันให้ขาด ส่วนอีกแบบ ไม่จำเป็นต้องรู้ลึกมากก็ได้ แต่เราเห็นมุมมองที่แตกต่าง หรือเห็นมุมมองที่น่าสนใจ แล้วเราหยิบมุมมองตรงนั้นออกมา เอามาเล่าขยาย เอามาพล็อตเรื่องหรือแต่งเรื่องเพิ่ม การทำงานก็จะมีอยู่สองแบบนี้ และถ้าจะให้ดี ก็คลุกมันทั้งสองแบบเลย แต่ช่วงนี้ ดูเหมือนพวกเราไม่ได้เขียนการ์ตูนแบบศึกษาอะไรขนาดนั้น ทุกวันนี้ต้องเขียนให้เร็ว บางทีเราต้องอาศัยแบบหามุมมองแปลกหรือหามุมมองที่แตกต่าง แล้วเอามาเขียนเลยก็มี ส่วนมากจะเป็นแบบนี้

ทำงานมา 20 กว่าปี กับระบบที่ไม่มีระบบ เคยท้อหรือเบื่อหน่ายอยากเลิกบ้างไหม
 
ไม่ท้อครับ คือมันเคยมีบทท้อบ้าง แต่ก็ไม่ได้ห่อเหี่ยวขนาดนั้น เพราะถ้ามันไม่ดีจริง ผมจะหยุดก่อน จะถอยออกมาเลย สมมติว่าถ้าเราเจอตรงนี้ แล้วมันไม่ใช่ หรือมันไม่เหมาะไม่ถูกแล้ว ผมก็ไม่ฝืนทำต่อ แต่ผมจะขอถอยออกมาห่างๆ หน่อย ออกมาดูแบบไกลๆ ถอยออกมาดูก่อนว่าจะเอายังไง จะแก้ไขยังไงดี เมื่อมันโอเคแล้ว ผมคิดตรงนั้นได้แล้ว ตัดสินใจได้แล้ว ถึงจะบอกแก่ทีมงานหรือคนที่อยู่กับเราทั้งหมดว่าจะยังไงกับมัน เมื่อทุกคนโอเค ก็จะกลับมาทำ

เพราะความฝันไม่มีวันสูญสิ้น กับวันเวลานับจากนี้ มีความคาดหวังอย่างไรบ้าง ทั้งคาดหวังตัวเองและวงการการ์ตูน
 
(นิ่งคิด) ผมอยากเขียนการ์ตูนสักเรื่องหนึ่งซึ่งสามารถส่งอิทธิพลถึงคนกลุ่มใหญ่ๆ แล้วมาชาบู ศรัทธา ได้พูดหรือคิดอะไรจากมัน ผมอยากเห็น ซึ่งถ้าไม่ใช่ผม ก็อาจจะเป็นใครก็ได้ ผมชอบตรงนี้โคตรๆ ถ้าเห็นเขาตีโจทย์ วิจารณ์ หรือด่า ผมชอบที่จะอยู่ห่างๆ แล้วดูคนพูดแทนเรา คือปกติผมจะไม่คุยเรื่องการ์ตูนกับใครง่ายๆ เพราะผมกลัวที่จะหลุดความรู้สึกตรงนี้ออกมา คือถ้านั่งคุย ไม่ชอบ ชอบที่จะเขียนงานของผมให้คุณอ่าน แล้วไปตีความเอง ผมก็จะดูอยู่ห่างๆ ผมก็ดูพวกคุณคุยกันเกี่ยวกับการ์ตูนที่ผมเขียน นี่คือสิ่งที่อยากเห็น แล้วผมจะมีความสุขโคตรๆ เลยนะ

เวลาเขียนการ์ตูนในแต่ละเรื่อง ผมจะแวะทุกเว็บหรือทุกกระทู้ ที่มีการพูดถึงการ์ตูนของผมว่าด่าหรือชมผมยังไง มีความสุขที่ได้อ่าน หรือมีใครติว่าตาโปนเขียนแบบนี้อีกแล้ว ผมก็ชอบนะ มันทำให้ผมได้เห็นว่าผมสะท้อนส่วนหนึ่งของผมให้คุณดูแล้ว คุณก็สะท้อนความคิดเห็นของคุณกลับมาให้ผมเห็นด้วย ไม่ต้องมาคุยกับผม เราคุยกันผ่านผลงาน แล้วมันทำให้เราได้เติมตัวเองด้วย
.................................................................................................................................

ตลอดระยะเวลามากกว่ายี่สิบปีที่ผ่าน “ตาโปน” หรือ “ชัยยันต์ สุยะเวช” ได้รับการยอมรับในแง่ของฝีไม้ลายมือ และผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและหลายเรื่องมากมาย เช่น เพรชรพระอุมา, ตระก้อ, ลูกไม้, ไกรทอง, กากี, ยันต์แมน, ไกรทอง, โอริณกับจินณา, Hot Beach ตบแหลก เป็นต้น

โดย "ตาโปน" มีผลงานการ์ตูนชิ้นแรก คือ 'เพชรพระอุมา' ด้วยวัยเพียง 17 ปี ก่อนที่จะเพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเอง ด้วยการเขียนการ์ตูนแนวเล่มละบาท เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี จนต่อมาก็ได้มาเขียนแนวคอมิกส์ (Comics) ในช่วงการเกิดของนิตยสารการ์ตูน "ไทคอมิค" (ประมาณปี พ.ศ. 2535) และเขียนแนวนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน








เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์
กำลังโหลดความคิดเห็น