xs
xsm
sm
md
lg

ผมสีเขียว ฟ้า เสื้อผ้าสไตล์เทพบุตรรันเวย์แคตวอล์ก เขาล่ะ “เก่ง เดอะ วอยซ์” ธชย ประทุมวรรณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้วยลุคหรือภาพลักษณ์ที่ก้ำกึ่งเส้นยาแดงคำว่า “หลุด”
ผมสีเขียว ฟ้า เสื้อผ้าสไตล์เทพบุตรรันเวย์แคกวอล์ก
บวกกับสำเนียงเสียงร้อง “จั๊กกะแว๊กๆ” แตกต่างพิสดาร
และท่าทางพิลึกกึกกือประกอบเพลง
ใครหลายคนอาจจะมองด้วยความรู้สึกว่าเขาเป็นบ้าอะไรของเขา
แต่นี่คือศิลปินอีกหนึ่งคนที่นับว่าค้นพบแล้วซึ่งแนวทางของตนเอง
เขาคือ ‘เก่ง ธชย’ (ธะ-ชะ-ยะ) คนหนุ่มผู้ทุ่มเทพลังงาน
ให้กับสิ่งที่หลายคนอาจไม่เห็นค่า หรือกระทั่งไม่กล้าที่จะทำ...
..........................................................................................

เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ หรือที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันในฐานะศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกของสำนัก “เดอะ วอยซ์” กระทั่งมีคำสร้อยห้อยท้ายชื่อเหมือนนามสกุลการันตีคุณภาพว่า “เก่ง เดอะ วอยซ์”

หลังจากคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาจากเวทีดังกล่าว เก่ง ธชย ก็ใช้ประสบการณ์ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลสร้างมวลสารงานเพลงของตนเองเรื่อยมา “โดนบ้างไม่ดังบ้าง” อย่างที่เขาบอก แต่บทบาทวิถีของบทเพลงแบบ “ไทยผสมเทศ” ในประเทศนี้ คงไม่มีใครจัดจ้านเท่ากับเขาอีกแล้ว

เอกสารบางอย่างอาจปลอมแปลงได้
เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ที่ใครจะปรุงแต่งให้เลิศหรูดูวิลิศอย่างไรก็ย่อมได้
แต่ลึกลงไปในเนื้อหาแห่งตัวตน คนแต่ละคนย่อมรู้ว่าตนคือของจริงหรือของปลอม...

ขณะที่บทเพลงใหม่ของเขา ในชื่อ “อีปริก” กำลังเรียกยอดคลิกจากคนดูผู้ชมทางโลกออนไลน์ เราเดินเข้าไปหาผู้ชายวัยคร่อมเบญจเพสคนนี้ และติดตามความคิดความอ่านของเขา

คงไม่แปลกนัก หากเราจะสรุปว่า ทุกๆ อย่างที่เป็นตัวเขา มันสอดประสานกันเป็นเนื้อเดียว
ทั้งตัวตนและผลงาน
และคงไม่แปลกนัก หากใครจะใช้สโลแกนจากเวทีเดอะ วอยซ์ ในการนิยามบุคคลคนนี้
“ตัวจริง เสียงจริง”...

• ถ้าใครสักคนอยากรู้ว่าทำไม คุณถึงแต่งตัวจัดจ้านเหมือนคนหลุดโลกแบบนี้ คุณจะให้คำตอบแก่เขาอย่างไร
คงต้องย้อนไปตั้งแต่ผมประกวดชนะเลิศรางวัล 'โค้กมิวสิคอวอร์ด' (ก่อนจะมาประกวดเดอะ วอยซ์) แล้วเราได้เซ็นสัญญาทำเพลงเพลงหนึ่ง ชื่อว่า 'กลับสู่โลก' คือเพลงนี้เวลาอยู่ในหนังสือวิจารณ์ดนตรี เขาก็บอกว่าเป็นเพลงที่ดีที่สุดในอัลบัม แต่พอไปแสดงคอนเสิร์ต ผมแทบไม่อยากจะก้าวออกไปร้องเพลงตัวเองเลย เพราะมันนอยด์ เนื่องจากวงที่เล่นก่อนหน้าเราคือ the Richman Toy คือ Musketeers พอเขาประกาศว่าต่อไปเป็น “เก่ง สิทธิกร" (ชื่อเดิมตอนนั้น) คนก็เงียบ เราก็ไม่รู้จะร้องไปทำไม ต่างจากวงก่อนหน้านี้ที่เพลงของพวกเขาดังมาก แต่เพลงเราไม่ดังเลยอ่ะ เราออกไปร้องแล้วเราจะทำอย่างไร ยิ่งตอนนั้นคนกำลังกระโดดอยู่ แล้วเราไปร้องเพลงช้า คนจะเอาไหม ก็คิดไปหมด เฟลตั้งแต่ออกไปร้อง เพอร์ฟอร์มออกมาก็ไม่ดี ก็เครียด แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร หลังจากนั้น เราก็เฟดตัวเองออกไป คิดค้นหาวิธีด้วยตัวเอง

• คิดและทำอะไรอยู่บ้าง ตอนที่ท้อแท้แล้วหายไปพักใหญ่
เราคิดว่าเราอาจไม่เหมาะกับทางนี้หรือเปล่า ก็ไปเป็นครูสอนดนตรี จนมีการประกวดเดอะ วอยซ์ เราก็เลยขอทางค่ายมาประกวด ก็ตัดสินใจเอาสิ่งที่เคยเห็น เอาประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยผ่านมาทั้งหมด แล้วก็บอกกับตัวเองว่าเวทีนี้เราจะทำให้มันดีที่สุด

• มีอะไรที่ผลักดันให้เกิดการตกผลึกทางความเชื่อมั่นแบบนั้น
ต้องเล่าย้อนไปอีกหน่อยว่าตอนที่ผมเฟล ผมกลับไปอยู่บ้าน ทำนองว่าประชดตัวเอง แต่ก็ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง “ทวนกระแสธุรกิจ คิดต่าง ไม่มีทางตัน” เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่นซึ่งสอนให้เราคิดต่าง สวนกระแสหมดเลย

• หลังจากอ่านหนังสือเล่มนั้น สิ่งที่ลงมือทำคืออะไร
รีแบรนดิ้งตัวเอง...ถ้าใครอยู่วงการประกวดจะรู้จักจะเห็นหน้าผมอยู่แล้ว ผมประกวดมาตั้งแต่เรียน ป.4 จนถึงตอนแข่งเดอะ วอยซ์ ดังนั้น ผมจะทำอย่างไรให้คนไม่จำภาพ ก็เปลี่ยนชื่อครับ เปลี่ยนชื่อเลย จาก “สิทธิกร” เป็น “ธชย”

• นอกจากเปลี่ยนชื่อ การแต่งเนื้อแต่งตัวก็แปลกหูแปลกตาตามไปด้วย?
คือผมมานั่งวิเคราะห์ตัวเองว่าเราเป็นศิลปินที่แบบว่า เดินๆ อยู่ คนจำไม่ได้ หน้าตาเราไม่ได้หล่อหรือเป็นหน้าที่มีเอกลักษณ์ ดังนั้น ต้องหาคาแรกเตอร์ให้ตัวเอง ผมจึงสร้างทรงผมขึ้นมา สร้างเสื้อผ้าขึ้นมา ไปดูเทรนด์เสื้อผ้าว่าตอนนี้มีเสื้ออะไรที่มา ก็ไปเจอตัวนั้นที่มันได้ฟีลเหมือนเวอร์ซาเช่ แต่พอได้เวอร์ซาเช่มาใส่ ลุคกลับออกไปทางโคตรเกย์ ก็คิดว่าทำยังไงดี เลยลองใส่ไว้นอกกางเกง ใส่เป็นเสื้อตัวเดียวกางเกงสีดำ มันก็ทำให้เสื้อดูเด่น แต่ก็ยังกลบจุดที่ดูเกย์ไม่ได้อีก งั้นใส่ต่างหูให้มันดูดาร์กๆ ลงไหม ก็หาต่างหู และต่างหูที่มันต้องใส่แล้วไม่เหมือนชาวบ้านด้วย ได้ทุกอย่างเสร็จสรรพ ก็เกิดเป็น “เก่ง ธชย” ที่เราจะไปพีอาร์ที่เวทีเดอะ วอยซ์ ที่ใช้คำว่าพีอาร์ เพราะตอนแรกนั้นเราไม่ได้คิดว่าเราไปแข่ง คิดว่าเราไปประชาสัมพันธ์ตัวเอง เพราะเราเป็นนักร้องที่ไม่มีคนจำได้ใช่ไหม ก็เลยลองทำ

• แล้วสไตล์การร้องล่ะ ไปตกผลึกได้ตอนไหนยังไง
จริงๆ เราก็เลือกเพลงป็อปธรรมดาๆ ล่ะครับ เป็นเพลงติดหู เพลงที่ชอบเปิดในผับ ก็เลยได้ What's My Name แต่เอามาทำใหม่ มาใส่เทคนิคการร้องใหม่ ผสมสไตล์ Soul, Jazz ที่ผมกำลังอินอยู่ในช่วงนั้นผสมผสานเข้าไป ก็ซ้อมๆๆ ซ้อมเยอะมาก จนมีอยู่วันหนึ่ง ผมซ้อมๆ อยู่ เหมือนเสียงสวรรค์มันมา ก็คือเสียง “จั๊กกะแว๊กๆ” อย่างที่ได้ฟังกันนั่นล่ะครับ

• เข้าใจกันว่าเอกลักษณ์ของเก่ง เดอะ วอยซ์ คือการเอาขนบเก่ากับใหม่มาผสมผสานกัน ตรงนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร
จริงๆ ผมกับดนตรีไทยเราอยู่ด้วยกันมานานแล้วครับ เพราะผมเรียนดนตรีไทยตั้งแต่เด็ก พร้อมๆ กับเรียนดนตรีสากลไปด้วย แต่ตอนนั้นก็คิดนะว่ากูจบไปเนี่ย กูจะร้องดนตรีสากล เพราะดนตรีไทยจบไปแล้วทำอะไร แต่พอได้ไปประกวดเดอะ วอยซ์ พอพี่โจ้ (โจอี้บอย) รู้ว่าเราขับเสภาเป็น แกก็บอกให้ขับเสภาเลย ตอนแรกเราก็เกร็งๆ ไม่อยากจะทำตามที่พี่เขาบอก เพราะเหมือนเราดูถูกอาชีพตัวเองอ่ะครับ มันค้านกันไปหมด จากตอนแรกที่มาอย่างไฮคลาส จู่ๆ จะให้ไปทำดนตรีประยุกต์ดนตรีไทย มันก็รู้สึกเฟลๆ เหมือนกัน แต่ก็คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลองเชื่อคนอื่นดูบ้าง แล้วสุดท้ายมันออกมาดี

ดีจนมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมไม่ลืม จะไม่ทิ้งความเป็นไทยไปเลย คือวันนั้นผมไปร้องเพลงที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หลังจากขับเสภาร้องเพลงชู้จบแล้ว กระแสออกมาดีมาก สุดลูกหูลูกตาเป็นนักศึกษาหมดเลย แล้วเด็กเขาก็ขอเพลงชู้กัน เราก็นึกว่าเขาจะร้องเป็นเนื้อ แต่เชื่อไหมครับ เขาขับเสภาตามผมหมดเลย พอเราได้ยินอย่างนั้น ทำให้นึกถึงตอนร้องเพลงตัวเองยังไม่มีใครร้องตามเลย แต่ตอนนี้มันตรงกันข้าม มันทำให้รู้ว่าผมละเลยสิ่งสำคัญที่มีกับตัวไป มันเหมือนครูเอาอะไรบางอย่างมาตีหน้าแล้วบอกว่า “มึงโง่มากเลย ที่มึงทิ้งความเป็นไทย” อะไรแบบนี้ แล้วมันมีความตะลึงและความสุขในขณะเดียวกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่เรามองข้ามไปตลอดเลย

• รู้สึกนึกคิดยังไงจริงๆ กับการที่เราเอาความเป็นไทยมาผสมกับสากล
ผมว่าไม่ทำลายนะ เพราะว่าเราเป็นคนเรียนดนตรีไทยมา ดังนั้น เราจะรู้ว่า ลิมิตเท่าไหนที่มันถือว่าเป็นการทำลาย คือเรามีมาตรฐาน ผมเป็นคนที่ทั้งเล่นทั้งฟังดนตรีไทยและดนตรีสากล แล้วผมเป็นเด็กรุ่นใหม่ เราเกิดในยุคนี้ด้วย ผมก็ชอบฟังดนตรีใหม่ๆ ผมจะรู้ว่ารสนิยมของเด็กปัจจุบันมันเป็นแบบไหน ดังนั้น สิ่งที่ผมเลือกใช้คือ ปริมาณความเป็นไทยในระดับที่คนฟังเพลงสากลพอจะรับได้ หรือสกิลไทยอันไหนเจ๋งและกำลังพอดี ผมก็เอามาใช้ ผมว่ามันเป็นโชคดีที่ผมเรียนมา ผมจึงเลือกใช้สิ่งที่ถูก เพราะอย่างในปัจจุบันก็มีหลายคนที่พยายามเอาความเป็นไทยมาใส่ แต่ด้วยความที่เขาไม่ได้เรียนดนตรีไทย เขาก็จะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว สกิลไทยมันมีอะไรที่จะเอามาเล่นได้บ้าง แต่เราเรียนมา เราจะรู้ว่าควรหยิบตรงนี้มาเล่นได้ แล้วก็ตรงไหนที่มันกำลังพอดี

• ลิมิตที่เราว่าพอเหมาะพอดีนั้น คิดว่าอยู่ประมาณไหน
ผมคิดถึงคำว่าสร้างสรรค์ คือคุณจะสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้แก่นแท้มันแล้ว เพราะดนตรีไทยมันคือดนตรีที่ปนอยู่ด้วยความเชื่อ คนที่ทำลายคือคนที่ไม่รู้จริง รู้แค่ผิวเผินแล้วเอาไปทำ มันก็เลยเละตุ้มเป๊ะไปหมด คนถึงมองกันไม่ออกว่าอย่างไหนคือสร้างสรรค์ อย่างไหนคือทำลาย

อีกอย่าง ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เสียหาย ก็คือคนที่วางกรอบนี้ด้วย คือคุณต้องบอกหลักการให้ชัดเจนว่าอะไรคือทำลาย อะไรคือไม่ทำลาย อย่างผมเคยพูดไว้เกี่ยวกับประเด็นการประยุกต์ว่าเราควรจะปรับเปลี่ยนได้ เพราะบางอย่างที่เขารังสรรค์มาแต่เดิมก็ควรจะมีอยู่ แต่บางอย่างที่มันเกิดจากวิถีชีวิตของเขาในสมัยนั้นๆ แต่มันไม่ใช่ยุคสมัยเรา เราก็ควรมีสิทธิที่จะประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสมัยของเรา แต่ว่าเราก็ต้องยังรักษาสิ่งที่เป็นรากเหง้าเดิมอยู่ ผมถึงบอกไงว่า เราต้องเรียนรู้ให้ถึงแก่นแท้มัน ถ้าคุณไม่รู้แก่นแท้ คุณจะไปพัฒนาไม่ได้หรอก เหมือนคุณไม่รู้ว่าแก้วน้ำมันมีลักษณะอย่างไร คุณมองแค่ผิวเผิน คุณไม่รู้พัสดุมันทำจากอะไร ฉะนั้น คุณจะไปพัฒนาเป็นสิ่งของให้มันมีคุณค่า ก็ไม่ได้ มันจะไปเป็นเซรามิกอย่างอื่นได้อย่างไร คุณก็ต้องรู้แก่นแท้มันก่อน แต่ปัจจุบันมันมีคนที่ไม่รู้แก่นแท้แล้วไปแตะต้อง ก็เลยเกิดวิพากษ์วิจารณ์กัน

นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมหนีมันไปไม่ได้แล้ว เพราะว่าเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กตั้งแต่เริ่มเรียนดนตรีไทยว่า “เราควรจะอนุรักษ์ความเป็นไทย” แต่มันมีน้อยคนที่เล่นดนตรีไทย มีคนที่รู้วิธีอนุรักษ์แบบถูกต้องน้อย เราเป็นหนึ่งคนที่เล่นทั้งดนตรีไทยและสากล เรามีคุณสมบัติตรงนี้อยู่ ก็เลยเหมือนเป็นป้ายแขวนคอว่าเราต้องทำ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ผมก็ไม่รู้จะไปเป็นคนอื่นทำไม ในเมื่อความเป็นไทยมันก็คือผม ผมหนีมันไม่ได้แล้ว

• มองว่าอะไรคือเป้าหมายใหญ่ๆ ที่เราต้องการสะท้อนผ่านงานเพลงหรือกระทั่งเอกลักษณ์ตัวตนของเรา
ผมต้องการจะเอาความเป็นไทยมาทำให้คนเจเนอเรชันถัดไปได้สืบสานต่อครับ ได้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ยังเสพความเป็นไทยอยู่ ผมมองว่า แม้แต่สิ่งที่ผมทำอยูทุกวันนี้ มันยังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ผมเรียนมาด้วยซ้ำ ต่างกันลิบลับ มันคือแค่หางเพลงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่มันก็ต้องค่อยๆ ต่อยอดกันไป ซึ่งถ้าเรารู้ว่าผู้ฟังเพลงของเราต้องการแบบไหน เราจะทำได้ง่ายขึ้น อย่างสมมติถ้าผมแต่งตัวเป็นไทยจ๋าเลย แล้วร้องเพลง “ชู้” หรือขับเสภาเอาดนตรีไทยใส่หมดเลย เด็กก็ไม่เอา มันก็ต้องเอาสิ่งอื่นๆ มาเบรก ให้รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนเขา อาจจะเอาคาแรกเตอร์ หรือเอาความเป็นวาไรตี้สนุกสนานมาเบรก ก็ต้องมีการวางแผน แล้วสักวันหนึ่ง ต่างชาติจะฮือฮากับความเป็น T-Pop ด้วย

ผมบอกเลยว่าความเป็นไทยสร้างมูลค่าได้มหาศาล คือยิ่งคนให้ความสำคัญ มูลค่ามันยิ่งสูง อย่างเมื่อก่อนผมเล่นดนตรีไทยได้เงินชั่วโมงละ 100-200 บาท แต่ตอนนี้ขับเสภาแต่ละครั้งได้สามหมื่นบาท เห็นไหมว่ามูลค่ามันสูงขึ้นเลย และไม่ใช่ว่าติสต์ และไม่ใช่ว่าต้องรวย ถึงจะคิดอย่างนี้ทำอย่างนี้ได้ คือพวกที่บอกว่าติสต์ ไม่รวยจริงติสต์ไม่ได้ ผมจะบอกเลยนะ ติสต์คือศิลปะ ถูกไหม มันมาจากคำว่า “อาร์ทิสต์” ศิลปะมันต้องมากับชีวิต เหมือนวิชาที่เราเรียนไง ศิลปะมันคู่กับชีวิต ดังนั้น ถ้ารักในศิลปะจริงๆ เราก็ต้องหาเงินให้ได้จากสิ่งที่เรารักสิ คนจนก็ติสต์ได้ เพราะเราสามารถสร้างมูลค่าจากสิ่งที่รักได้ ถ้าไม่แสดงว่าไม่ได้เก่งจริง ไม่ได้ติสต์จริง แล้วพยายามจะพรรณนาเอาคำพูดต่างๆ มาล้อมกรอบตัวเองว่าคืออย่างนี้ คือคนเรา ถ้าเกิดรักในอาชีพรักในงานศิลปะจริงๆ หาเงินได้อยู่แล้ว

เหมือนทุกวันนี้ ผมเจอเด็กที่เรียนดนตรีไทย แล้วหันมาถามผมว่าพี่เก่ง ผมเรียนดนตรีไทยไม่รู้จะไปทำอะไรเลย ผมก็เอาปรัชญาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาบอกว่า เราเรียนทางด้านนี้ เราจะเรียนไปสมัครงานทำไม เราเรียนมาเราก็ไปสร้างผลงานสิ เราเรียนมาเพื่อสร้าง เราจบมา เราจะออกไปหางานทำไม จบมาก็สร้างงานสิ ในเมื่อก็เห็นอยู่แล้วว่าดนตรีไทยมีงานกี่อย่าง ฉะนั้น ถ้าเราไม่ชอบงานที่มีอยู่ เราก็ต้องสร้างขึ้นมาเอง เป็นอาชีพใหม่ มันก็มีอีกอาชีพตั้งร้อยแปดที่เรายังไม่เคยเห็น มันเป็นไปได้หมด ถ้าเกิดคนเราสู้จริงๆ มันไม่มีวันอดตาย ทุกครั้งที่ผมไปเจอรุ่นน้องดนตรีไทย ผมจะบอกอย่างนี้ แล้วย้ำว่า “อย่าทิ้งดนตรีไทยนะ” ดนตรีไทยไม่ใช่อาชีพที่จบไปเป็นแค่ครู หรือศิลปิน หรือเล่นงานศพ จริงๆ มันเป็นอาชีพที่สร้างมูลค่าได้มหาศาล อยู่ที่เราจะสร้างได้มากน้อยแค่ไหน มันอยู่ที่คน เราต้องพิสูจน์ให้เห็น แค่นั้นเอง ผมว่าการกระทำมันสำคัญกว่าคำพูด ไม่ต้องพยายามจะพูดหรอก ตอนนี้ เพราะว่าคนพูดเยอะแล้ว แต่คนทำยังน้อยอยู่

• เหมือนเราต้องการจะล้มความคิดเดิมๆ ด้วยใช่ไหม
ไม่ๆ ผมว่างานของผมมันไม่ได้ไปล้มใครนะ งานของผมมันเป็นงานที่ประยุกต์ขึ้นมา คือผมรู้ว่าขอบเขตมันอยู่ตรงไหน กรอบมันอยู่ประมาณไหน ผมไม่เคยคิดไปล้มหรือคิดทำลายรากเหง้าของเก่า ผมมีครูบาอาจารย์ คนเราต้องมีราก วิชาคือความรู้ วิชาคือครู ถ้าคนเราอกตัญญูกับครู ก็ไม่เจริญ ถูกไหม

• จากกระแสความแตกต่าง การประยุกต์ตลอดจนผสมผสานและการค้นหาตัวตน มันทำให้เลยเถิดบ้างไหม เพราะความที่เราต้องการจะแปลกแหวกแนว
ถามว่าการจะคิดอย่างนี้มันเลยเถิดไปไหม ส่วนตัวผมว่าไม่ เพราะผมยอมรับว่าสิทธิเรามีแค่ไหน มันคือเสรีภาพ แต่ก็ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ผมทำอย่างนี้ก็ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย คือแปลกแหวกแนว แต่งตัวเยอะ มากมายขนาดไหน คนว่ามากมายเพียงใด ก็แล้วแต่ แต่เราต้องมีจรรยาบรรณในการคิดว่ามันสร้างความเดือดร้อนไหม แต่จะว่าไป ปกติการทำผม การใส่เสื้อผ้า มันก็ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครอยู่แล้ว

• คิดไหมว่า ลุคหรือภาพลักษณ์ของเราก็กระทบเข้ากับสายตาคนอื่น จนอาจจะมองว่าไม่ดี
ใช่...แต่ผมชอบประชด ผมเป็นคนชอบประชดสังคม คือผมเป็นคนมีความคิดอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร มันก็เป็นสิทธิของเรา ผมเป็นคนหนึ่งที่เชิดชูสิทธิเสรีภาพ ผมมีความรู้สึกว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์หนึ่งชาตินี้ มันเป็นชีวิตของเรา มันไม่ใช่ชีวิตของคนอื่น เราต้องเลิกเอาความคิดของคนอื่นมาปรับชีวิตของเรา ไม่ได้หมายถึงวิธีการปรับตัวนะ แต่มันหมายถึง เสรีภาพว่าเขาก้าวข้ามเสรีภาพเราอยู่หรือเปล่า อย่างเช่นเรื่องเสื้อผ้า มันเป็นสิทธิ เราอยากแต่ง คุณไม่แต่งก็ไม่เป็นไร

อย่างหนึ่งที่ผมแสดงให้เห็น ผมลองดู แล้วผมก็ลองเล่นกับความคิดคนความคิดตัวเอง คือรอบที่ผมไปประกวด ผมร้องเพลง “I Feel Good” ผมใส่โรลม้วนผมบนหัว แล้วผมนั่งเมล์สาย 515 จากศาลายาแล้วมาต่อ BTS คนมองตลอดทางเลย ผมเลยรู้และเข้าใจในวันนั้น สิ่งที่ผมได้คือ “ต่อให้คนมองเราอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราต้องการ ใครก็เอาไปจากเราไม่ได้” ยกตัวอย่างเช่นโรลม้วนผม อย่างน้อยๆ โรลมันก็ยังอยู่บนหัวผมโว้ย...(ยิ้ม) คือคนวิจารณ์ แซว พูดได้ต่างๆ นานา แต่ก็ไม่สามารถเอาโรลม้วนผมอันนี้ไปใส่บนหัวตัวเองได้ เพราะมันอยู่ที่ผม แล้วมันก็เป็นความสุขของผม เปรียบก็เหมือนกับเสื้อผ้า เสื้อผ้ามันสีจัดจ้านหรือว่าสีมันดูแว้น แต่ที่สุดแล้ว ก็แล้วยังไงล่ะ มันก็เป็นความสุขของเรา ไม่มีใครเอาไปจากเราได้ มันเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

• สรุปแล้วมันดีหรือไม่ดี
ดีๆ (รีบตอบ) ผมว่าโดยเฉพาะการเป็นศิลปิน เพราะว่าปัจจุบันศิลปินเขาขายวิญญาณกัน เขาไม่ได้มองแค่เพลง เขามองว่าตัวศิลปินเป็นอย่างไร เป็นยังไง เพราะว่าโลกมันเป็นสังคมออนไลน์ ปัจจุบันเราสามารถมองในอีกฟากโลกว่าศิลปินต่างชาติเขาทำอะไรกันอยู่ เขากินอะไรกันอยู่ มันเป็นแบบนี้กันหมดแล้ว ดังนั้น ผู้เสพเขาจะดูว่าตัวศิลปินนั้นเป็นอย่างไร เราจะไปเป็นเหมือนคนอื่นทำไม จะใส่เสื้อผ้า เสื้อยืดเหมือนคนอื่นทำไม คือเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเหมือนกัน คนเราเกิดมาเพื่อแตกต่าง แค่หน้าตาก็ไม่เหมือนกันแล้ว ผมคิดแค่นั้นเอง

ดูดี ดูไม่ดี มันก็คือคำพูดคนอื่น เหมือนที่บอก หยุดนำคำพูดคนอื่นมาเป็นความคิดของเรา ถ้าเราคิดว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพ มันก็โอเค อย่างเราเจาะหู เขาบอกว่ามันเป็นความรุนแรง แต่เรามองว่ามันเป็นศิลปะ แล้วมันก็คือร่างกายของเรา เราจะแคร์ทำไม สังคมคือใคร เราก็อยู่ในที่ที่เราอยากอยู่สิ เราจะไปอยู่ในที่ที่เราไม่อยากอยู่ทำไม เรารู้ว่าที่ไหน เราอยู่แล้วแฮปปี้ เราก็อยู่ครับ ที่ไหนที่เราอยู่แล้วไม่แฮปปี้ เราก็ไม่ต้องอยู่ครับ ซึ่งใครจะคิดอย่างไร เราก็ปล่อยให้เขาคิดไป ให้เขาทำไป ชีวิตเราเกิดมาหนึ่งชีวิต เราจะเกิดมาเพื่อเหมือนคนอื่นทำไม

• คือการทำอะไรที่เหมือนๆ คนอื่น สำหรับเราไม่ใช่ใช่ไหม
ก็อย่างที่บอก เราก็ต้องยอมรับว่ามันจะมีคนแบบนี้แบบนั้น มันจะทำให้ทุกคนคิดต่างไปตลอดเหมือนกันก็ไม่ได้ จะทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมดก็ไม่ได้ แต่ผมว่าในปัจจุบันมันมีคนเริ่มคิดต่าง แตกต่างกันเยอะ มันมีคนแปลกๆ เกิดขึ้นมาเยอะในโลก ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ควรเฝ้ามองก็คือ ผมว่าคิดต่างได้ ดี แต่ต่างเยอะไปก็ไม่ดี ต่างจนไม่อยู่ในกรอบเสรีภาพของตัวเอง เพราะบางทีเราคิดต่าง แต่เราไปพาดพิงบุคคลอื่น ให้คนอื่นพยายามคิดเหมือนเรา มันก็ไม่ใช่ คืออยู่ในพื้นที่ของเรา ไม่ก้าวล้ำพื้นที่ของคนอื่น

• ถามตรงๆ ว่าลำบากมากไหม กว่าจะเป็นในแบบที่เป็นได้อย่างทุกวันนี้
ผมคิดว่ามันต้องผ่านการยำ การย่อย มันอยู่ในกระบวนการที่แต่ละคนจะต้องเจอจนกว่าจะถึงเป้าหมายด้วยตัวเอง คืออย่างผม กว่าจะถึงวันนี้ ใช้เวลาครับ แนวเพลงที่ทำอยู่ ผมก็เหมือนกรุยทางเอง ซึ่งมันยากเสมอ เหมือนถ้าเราเป็นร็อก เรารู้ว่ามีวงเด่นๆ ให้เราเห็น ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จอย่างคนนี้ เราก็ตามได้ แต่ทางของเรามันไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่รู้ว่าถ้าเราเป็นไทยประยุกต์ ใครคือคนประสบความสำเร็จวะ มันไม่มี คนที่ทำแล้วไม่เชย ไม่มี มีแต่ยิ่งทำแล้ว ยิ่งดูเชย

ก็เหมือนกัน คนเราทุกคนมีเส้นชัยในชีวิต คนเราจะถึงเส้นชัยในชีวิต ระยะทางต่างกันมาก ผมเคยเจอเพื่อนที่แข่งด้วยกัน แล้วแข่งปุ๊บดังเลยก็มี เราก็นั่งมองว่าเมื่อไหร่เราจะเหมือนกับเขา คิดว่าทำไมเขาไปไกลแล้ววะ แต่เรายังอยู่ตรงนี้อยู่เลย ผมเป็นแบบนี้มานานมาก จนวันนี้ เราถึงรู้ว่าระยะทางของคนไม่เท่ากัน บางคนเดินแป๊บเดียวก็ถึงเส้นชัย แต่เราเดินไกลมากกว่าจะถึงเส้นชัย ดังนั้น ระหว่างทางที่เราโดนด่า โดนยำ มันก็อยู่ในระหว่างทางที่จะไปถึงเส้นชัย มันก็ต้องผ่านกระบวนการต่อสู้ ผ่านกระบวนการอะไรต่างๆ มากมาย แต่เราจะให้ทุกคนประสบความสำเร็จหรือค้นพบตัวเองในชีวิตทุกคน มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันอยู่ที่ความคิดของเขาเองด้วย

• แล้วคุณคิดว่าอะไรที่สำคัญหรือจำเป็นต่อการไปถึงเส้นชัยของคนคนหนึ่ง
ประสบการณ์มันจะสอน ปัญหาอุปสรรคก็เหมือนกัน นอกจากมันจะทำให้เราท้อ มีบาดแผลเต็มตัวแล้ว มันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นเสมอ อย่างเมื่อก่อน ผมชอบเถียง มีอีโก้ ตลอดเวลาที่ผมแข่ง ผมก็ด่ากรรมการเขามาตลอดทุกเวที แต่ว่าวันนั้นผมยอมรับได้ แค่เพียงผมลดอีโก้ในตัวเอง แล้วก็ยอมรับขีดจำกัดของตัวเอง เลิกคิดว่าตัวเองไม่มีขีดจำกัด เลิกคิดว่าเราเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลก พยายามจะเปลี่ยนตัวเองเพื่อสู้กับเขา เพราะถ้าคนเราไม่รู้ขีดจำกัดตัวเอง เราจะไม่มีวันข้ามมันไปได้ แต่ถ้าคุณรู้ว่าขีดจำกัดคุณมีแค่นี้ คุณจะรู้ว่าอะไรคืออะไรที่มากกว่า คุณถึงจะข้ามมันไปได้ พอเรารู้ว่าขีดจำกัดเรามีแค่ไหน เรายอมรับ เราปรับใช้ มันก็เกิดเป็นเรา

• จากตอนแรกที่ไม่ฟัง เคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นคนไม่ยอมแพ้ อะไรที่ทำให้เราลงได้ ยอมหลีกทางมาเชื่อมันในดนตรีไทย
อาจจะเพราะว่า เราดันทุรังมามากพอแล้ว มันตกตะกอนแล้ว แล้วก็ได้คำพี่เช วง The Richman Toy แกเป็นอาจารย์สอนที่มหิดล ตอนนั้นแกบอกว่า “การจะเป็นศิลปินเราจะต้องเลือกทางของเรา” ดังนั้น จะเป็นศิลปินอะไรก็ต้องดู ทางแต่ละทาง คือตอนนั้นผมร้องเพลงแบบบ้าพลัง เราก็ต้องลองคิดนะว่าสายบ้าพลัง เราจะต้องไปเจอใครบ้าง ไปเป็นสายป็อป ต้องไปเจอกับใครบ้าง แต่ ณ ตอนนั้น เราไม่รู้ว่าเราควรจะเป็นใครไง แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าอันนั้นเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญ ถ้าเรารู้แล้วว่าเราต้องไปแข่งกับใคร เราจะเริ่มประเมินว่าเราสู้เขาได้ไหม ถ้าเราสู้ไม่ได้ ก็ถางทางใหม่เองเลย แต่ก็ไม่ทิ้งทางเดิม

และที่สำคัญ อย่าหยุดนะ บางคนแบบว่าท้อแล้วก็หยุดไปทำอย่างอื่นอย่างนี้ คือเหมือนที่บอกความสำเร็จอยู่ข้างหน้าแหละ แต่เราไม่รู้ว่าอาจจะอีกแค่ก้าวเดียวหรือกี่ก้าว คือสมมติว่าถ้าเราท้อวันนี้ ท้อตรงนี้ เรายอมแพ้เลย แต่ถ้าเรายอมสู้อีกนิด เราอาจจะถึงความสำเร็จก็ได้ ไม่มีใครรู้

ถ้าย้อนถาม ถ้าผมไม่ประสบความสำเร็จบนเวทีในวันนั้น ผมก็ยังไม่ท้อ ก็สู้ต่อไป เพราะความสำเร็จมันมาแล้วมันก็หมด มันก็เหมือนกระแส ชีวิตผมมันก็ขึ้นๆ ลงๆ ตลอด เวทีไหนชนะ สักพักก็จะแพ้อีก อีกสักพักก็กลับมาชนะ แล้วก็แพ้ อย่างเวทีโค้ก เราคิดว่าเราสูงสุดของเราแล้ว แต่เราก็ตกลงมาอีก จนมาเดอะ วอยซ์ พีคขึ้นมาเลย แล้วพอจบจากเดอะ วอยซ์ เราก็ต้องยอมรับว่า เราก็ต้องพยายามทำเพลงหลายๆ เพลง พยายามคิดสไตล์เยอะ ซึ่งดังบ้างไม่ดังบ้าง มันก็เป็นช่วงตกของเราอีก ผมก็เลยเชื่ออย่างลึกๆ ว่า ผมจะทำเพลงดังให้ได้สักเพลงหนึ่งซึ่งเป็นเพลงฮิต ซึ่งวันนั้นก็คงจะเป็นวันสำเร็จ แล้วมันก็ต้องดร็อปลงไปอีก มันคือประสบการณ์ที่เราเจอ ที่เราเห็นว่า ชีวิตมันก็ไม่จีรัง

ชีวิตมันสั้น เราจงมีความสุขกับปัจจุบัน เพราะเหมือนสิ่งที่เราพูดอยู่ตอนนี้ อีกไม่กี่นาทีข้างหน้า มันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว เรามองอนาคตดีกว่า ถามว่าผมวางแผนอนาคตไว้อย่างไร ผมเห็นความสำเร็จอยู่ในอนาคตครับ แต่ผมไม่รอ ผมจะดึงมันมาหาผม ฉะนั้น ผมจะต้องทำทุกวัน ผมรู้แล้วว่าอนาคตอยู่ตรงนี้ แทนที่เราจะเดินช้าๆ เพื่อรออนาคต ผมก็ต้องเดินถี่ๆ ถี่ๆ (เน้นเสียง) เพื่อให้ถึงอนาคตให้ได้ เพื่อให้ถึงความสำเร็จให้ได้ และสมมติเราไม่เก่งเท่าศิลปินคนอื่น ยกตัวอย่างเขาซ้อมหนึ่งชั่วโมง เขาเก่ง ต่อให้เราซ้อมหนึ่งล้านชั่วโมง เพื่อให้เก่งเท่าเขา เราก็ต้องทำ ถ้าเราอยากสำเร็จ

• เหมือนว่าทำอะไรก็ต้องสุดๆ
ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จ อยากค้นหาชีวิตตัวเองเจอน่ะนะ คุณก็ต้องสุดโต่งสิ ถ้าคุณไม่เดินให้เร็ว คุณรอโอกาส ไม่รีบซอยเท้า เมื่อไหร่มันจะถึง และถึงวันนั้น อาจจะแก่เกินแล้วก็ได้ ที่ผมพยายามจะสุดโต่ง คือพยายามจะทำให้ทุกอย่างมันเดินเร็วขึ้น เพราะผมเชื่อว่าชีวิตมันสั้น ใครอยากจะรอเวลาตายก็เชิญ แต่ผมไม่รอ แค่นั้นเอง เราพูดไปก็มีใครหลายคนอาจจะหาว่าผมบ้าก็ได้ มันเป็นวิถีชีวิตของแต่ละคน มันเหมือนกรรม กรรมแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน และวิธีการดำรงชีวิตของผมก็คือ ชีวิตมันสั้น ดังนั้น ทำอะไรก็ต้องรีบทำ








เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
กำลังโหลดความคิดเห็น