xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “สาวมือกลอง” เดี่ยวมือหนึ่งเมืองไทย - จุรีพร กมลธรรมกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ ขณะนี้ หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่อง 'Whiplash' แล้วนั้น แน่นอนว่าคงสัมผัสได้ถึงความเกรี้ยวกราด ความเข้มงวด และความเจ็บปวดต่างๆ ผ่านบทแผ่นฟิล์ม และน่าจะเข้าใจหยั่งถึงได้ว่า การจะประสบความสำเร็จถึงขั้นสุดยอดนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ
กลับมาที่เมืองไทย หากใครเป็นคอเพลงไทยสากลในระดับขั้นหนึ่งและมักไปชมการแสดงคอนเสิร์ตตามงานต่างๆ แน่นอนว่า อาจจะได้พบกับหญิงสาวมาดเท่ที่อยู่หลังกลองชุดคนหนึ่ง และย่อมสัมผัสได้ถึงความหนักแน่น ดุดัน จริงจัง และขึงขัง ยามที่ได้บรรเลงหวดจังหวะลงบนพื้นกลอง จนผู้ชมต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ฝีมือการตีกลองของเธอนั้น แทบไม่แพ้ผู้ชายอกสามศอกเลย (เผลอๆ อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ)
ขณะเดียวกัน 'บทเพลงกระซิบ' หนึ่งในซิงเกิลประกอบซีรีส์ "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2" ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ จนกลายเป็นเพลงฮิตประจำปี 2014 ไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งเธอผู้นี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของบทเพลงนี้นั่นเอง

ใช่แล้ว...เรากำลังกล่าวถึง "จุ-จุรีพร กมลธรรมกุล" หญิงสาวมาดเท่ผู้ดำรงสถานะมือกลองวง Abuse The Youth กับ The Krrrr และเป็นเบื้องหลังให้กับวงดนตรีและศิลปินมากหน้าหลายตา ในระยะเวลากว่า 10 ปี ของวงการเพลงบ้านเรา จนบางคนอาจจะแซวเล่นๆ ก็ได้ว่า เธอเป็นมือกลองหญิงเดี่ยวมือวางอันดับหนึ่งของไทย ในตอนนี้...

รู้แล้วหรือยังว่าวงตัวเองดังใหญ่แล้ว ตอนนี้
 
ดังแล้วเหรอ (หัวเราะ) ก็รู้สึกดีใจและขอบคุณทางซีรีส์ฮอร์โมน ที่สนใจนำเพลงของเราไปประกอบ มันก็ตรงจุดประสงค์อย่างที่วงเราทำว่าอยากทำเพลงให้ถึงคนฟังได้เยอะๆ ซึ่ง “บทเพลงกระซิบ” เป็นซิงเกิลที่วงเราชอบกันทุกคน แล้วมั่นใจว่าแพร่ออกไปแล้วเป็นเพลงที่ดีคนน่าจะชอบกัน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ต้องยอมรับว่าวงของเราเป็นวงอินดี้พอสมควร และไม่ได้ถูกโปรโมตออกสื่ออะไรเยอะอยู่แล้ว พอเราเห็นมันอยู่มันค่อนข้างไปในมวลมหาชน ก็รู้สึกว่าเขินๆ นิดนึง (ยิ้ม) ตอนนี้ยอดวิวเพลงนี้ในยูทูปก็เกือบ 3 ล้านกว่าวิวแล้ว
แต่กว่าจะถึงวันนี้ได้บังเอิญทราบมาว่าเบื้องหลังใบกลองเราก็ต้องเคี่ยวกรำหนักพอดูใช่ไหม
 
คือกว่าจะถึงวันนี้ได้ก็หนัก แต่ถ้าถามว่าส่วนตัวรู้สึกอะไรไหม เรารู้สึกแค่ว่าสบายมาก เพราะเรารักที่จะเล่นดนตรี คือถ้าย้อนให้ฟังเราจำได้แม่นเลยว่าไปเล่นเป็นแบ็กอัพให้กับวงฟลัวที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บนเวทีกลางสนามฟุตบอลใหญ่มาก และเด็กๆ มาดูแบบเยอะมาก เราก็รู้สึกว่า โห! นี่มันเป็นก้าวแรกในการเป็นนักดนตรีอาชีพจริงๆ แล้วใช่ไหม คือเราตื่นเต้นทำให้เล่นผิดเล่นถูกหมดเลย เล่นทุกเพลงผิดทุกเพลง อย่างท่อนไหนที่ไม่ต้องหยุดเราก็หยุด ท่อนไหนที่ต้องหยุดก็ไม่หยุด เพราะใครที่ฟังเพลงฟลัวจะรู้ว่าฟลัวอารมณ์เพลงจะเล่นตามฟีลลิ่ง
 
เราก็แอบกดดันตัวเอง วันนั้นเล่นเสร็จเราก็ขอโทษเขาใหญ่เลยที่เล่นไม่ดี เล่นแย่ ก็รู้สึกว่าเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรกในชีวิตที่ถ้าใครอัดวิดีโอไว้ดูคงจะแบบ...อย่าเผยแพร่ได้ไหม (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็เลยกดดันตัวเองให้ซ่อมเยอะๆ เพราะเรารู้สึกว่าเราเล่นแย่ แต่ถ้าเราซ้อมมันก็ต้องดีขึ้นได้

จากจุดนี้เองที่ทำให้เริ่มขยันซ้อมกับกลองมากขึ้น
 
ก็ส่วนหนึ่ง คือเรารู้สึกว่าถ้าเราเล่นดนตรีแล้วไม่กดดันเราจะสนุก แต่ถ้าเราเล่นไม่ดียังไงมันก็ต้องกดดัน ก็เลยต้องซ้อมมากขึ้นเพื่อให้มันมั่นใจ พอมั่นใจขึ้นไปเล่นมันก็สนุก
 
และอีกอย่างคือเราอยากจะเอาชนะตัวเองให้ได้ เหมือนเป็นคำพูดในหัว "มึงต้องทำได้ดิ" ก็เลยซ้อมๆ ช่วงนั้นรู้สึกว่าจะซ้อมวันละประมาณ 6-7 ชั่วโมง พักเหนื่อยกินข้าว กินเสร็จแล้วซ้อมต่อ เป็นตารางของชีวิตไปเลย
นอกจากการที่เรากดดันตัวเอง เคยวิเคราะห์ไหมว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
 
ก็เรื่องประสบการณ์ เพราะอย่างหลังจากที่ไม่ได้เล่นให้ฟลัว เราก็มาเล่นให้พี่อรอรีย์ (จุฬารัตน์) เรายิ่งรู้สึกเกร็งมากกว่าเดิม เพราะดนตรีเขาจะมีความเป็นกรันจ์ มีความดิบเยอะ แต่เราไม่ได้ขนาดนั้น เราเป็นส่วนผสมครึ่งๆ กลางๆ คือคนอาจจะมองว่าเราเป็นสาวร็อกก็จริง แต่จริงๆ เราไม่ได้ฟังเพลงร็อกจ๋า ไม่ได้ชอบเล่นดนตรีร็อกขนาดนั้น ก็ต้องมาปรับหาจุดตรงกลาง คือเหมือนกับการร่วมวาดภาพบนผืนผ้าใบเดียวกันมันก็ต้องแชร์พื้นที่กัน ไม่ได้เป็นตัวเราเองทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์
 
อย่างร่วมงานกับเซเว่นธ์ซีน (อดีตวงดนตรีของ แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข), วงเครสเซนโด้ วงสครับบ์หรือวง Abuse The Youth ก็ต่างกัน ด้วยแนวเพลง ด้วยดนตรี มันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ลองใช้ไอเดีย หรือได้ประสบการณ์เรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกัน การทำงานกับคนที่ต่างกัน เราก็จะได้ทัศนคติจากเขามาปรับใช้กับชีวิตของเรา

ประสบการณ์ชีวิตและทัศนคติที่ว่านี่มันยังไง

ก็อย่างช่วงที่เล่นให้พี่อร ด้วยความที่เขาอายุมากกว่าเรามาก พี่เขาก็จะมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตหลายๆ อย่างที่ดี เช่นเรื่องความสมถะ ทั้งๆ ที่พี่เขาเป็นคนมีฐานะ แต่เขากลับใช้ชีวิตเรียบง่าย ใช้รถแบบถูกๆ สบายๆ เขาเคยบอกว่าสำหรับเขารถมันก็แค่วัตถุหนึ่งที่พาเราจากจุด A ไปจุด B แค่นั้น เราฟังแล้วก็ทำให้รู้สึกว่าจริงอย่างที่เขาบอก ซึ่งตอนเราเด็กๆ เราก็เคยคิดว่าอยากจะใช้รถแบบแพงๆ มั่ง คิดจะเปลี่ยนคันใหม่ทั้งๆ ที่คันเก่าก็ยังใช้ได้อยู่
 
แต่พอได้ฟังสิ่งที่พี่อรบอกมา เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ปัจจัยชีวิต มันแค่วัตถุหนึ่งที่พาเราไปถึงที่หมายก็พอแล้ว แต่ถ้าคนมีเงินก็ตามสบายนะ แค่เราคิดว่าเราเดินทางสายกลางน่าจะดีที่สุด ใช้ชีวิตแบบกลางๆ ไม่ต้องสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ก็เอามาปรับใช้กับการใช้ชีวิตหลายๆ อย่าง สะท้อนในตัวเราว่า การใช้ของ เรื่องวัตถุ มันเป็นเรื่องรูปธรรม เราไปเล่นดนตรีกับวงต่างๆ เราก็ได้ทัศนคติดีๆ จากแต่ละคนเยอะพอสมควร
ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้น อยากทราบว่าเริ่มตีกลองตั้งแต่เมื่อไหร่
 
เริ่มเล่นกลองตอนมัธยมปลายค่ะ แต่จริงๆ ก่อนหน้านี้ เคยเล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นมาก่อนแล้ว เพราะตอนสมัยเรียนประถมเราอยู่วงดุริยางค์ เราอยากเล่นกลองแต่ครูไม่ให้เล่น ด้วยเหตุผลว่า เราตัวเล็กไปควรจะเล่นอย่างอื่นมากกว่า คือครูกลัวแบกกลองไม่ไหว (หัวเราะ) ก็เลยได้เล่นขลุ่ยแล้วก็มาเป็นเมโลเดียน

ทีนี้ พอมาถึงช่วงมัธยมปลาย มันจะมีการประกวดดนตรีของนักเรียนมัธยม “ฮอตเวฟ มิวสิก อวอร์ด” เราเห็นโรงเรียนอื่นเขาประกวดกัน เราก็อยากให้มีชื่อของโรงเรียนเราเป็นหนึ่งในนั้นบ้าง แต่ด้วยความที่เราเป็นโรงเรียนหญิงล้วน (โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ) ชมรมดนตรีสากลที่โรงเรียนก็ไม่มี ก็เลยเริ่มฟอร์มวงกับเพื่อนๆ กันขึ้นมาตอน ม.6 เพื่อจะไปประกวดบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้าประกวด ได้เล่นแค่งานกิจกรรมโรงเรียนหน้าเสาธงงานเดียวแล้วก็แยกย้าย เพราะด้วยเวลาด้วยฝีมือตอนนั้น แล้วก็เรื่องต้องเตรียมตัวเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ก็เลยทำให้เล่นแบบก๊อกๆ แก๊กๆ มาเรื่อยๆ

ทำไมเราถึงเลือกที่จะเล่นดนตรีประเภทกลอง
 
เพราะรู้สึกว่าเสียงกลองมันดูโหวกเหวกโวยวายซึ่งขัดกับนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนเงียบๆ ขี้อาย ไม่ค่อยกล้าจะทำอะไร แต่พอมาลองเล่นลองจับแล้วเรากลับรู้สึกว่า เวลาที่อยู่หลังกลองเราจะมั่นใจ ทำให้คนเงียบๆอย่างเรากล้าที่จะพูดอะไรออกมาผ่านการตี แล้วเราก็รู้สึกสบาย รู้สึกสนุกกับมันทุกครั้ง

แต่จริงๆ ก็ไม่ได้เล่นเป็นแค่กลองอย่างเดียว เพราะเรารู้สึกว่าการที่เราเล่นเครื่องดนตรีอื่นไปด้วยมันทำให้เราเข้าใจเพื่อนร่วมวง เข้าใจเมโลดี้ของเพลงด้วย ดีกว่าเล่นกลองอย่างเดียว
ความสนใจของเด็กผู้หญิงทั่วไปมักจะอยู่ที่เรื่องความสวยความงาม ไปไงมาไงเราถึงมาสนใจทางดนตรี

คือต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยตอนเด็กๆ (หัวเราะ) แม่เลี้ยงเราเหมือนเด็กผู้ชาย เพราะว่าด้วยความที่ที่บ้านมีพี่ๆ น้องๆ เป็นผู้ชายเยอะ เราก็จะไม่ค่อยได้มานั่งเล่นตุ๊กตาเหมือนเด็กผู้หญิงซักเท่าไหร่ ก็จะมาเล่นฟันดาบ แปลงร่าง ยอดมนุษย์ อะไรอย่างนี้ แล้วทีนี้ที่บ้านลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นลูกของน้าก็ชอบเล่นดนตรี มีทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล เวลาเราไปเที่ยวบ้านเขา เราก็จะเห็นเครื่องดนตรีเยอะมาก ทั้งแซกโซโฟน คีย์บอร์ด กีตาร์ เบส กลอง เราก็รู้สึกว่ามันเป็นโลกที่น่าตื่นเต้นสำหรับเรา แล้วยิ่งเห็นเขาเล่นกันเป็นวงเราก็รู้สึกชอบ อยากเล่นดนตรีขึ้นมาตั้งแต่เด็กๆ 7-8 ขวบเห็นจะได้ตอนนั้น

แต่แรกเริ่มก็ฟังเพลงจีนอยู่แล้ว เพราะฟังตามคุณพ่อคุณแม่ เนื่องจากเรามีเชื้อสายจีน ทีนี้พอโตขึ้นมาหน่อยได้อิทธิพลจากพี่ๆ เขาก็ฟังเพลงสไตล์ร็อกแบบโหดๆ อย่าง ดีพ เพอร์เพิล, กัน แอนด์ โรสเซส และเนอร์วาน่า, กรีนเดย์ อินคิวบัส ซึ่งเราก็รู้สึกในตอนนั้นนะว่ามันตื่นเต้นดี แต่ก็ไม่ได้อินขนาดนั้น เป็นจุดที่เราเลยฝึกเล่นดนตรีร็อก อยากเล่นดนตรีร็อกขึ้นมา

มันไม่ได้ขัดกับความเป็นผู้หญิงเราหรืออย่างไร
 
ส่วนตัวคิดว่าไม่นะ แต่คนอื่นอาจจะมองอย่างนั้น เพราะถ้าเป็นผู้หญิงคนอื่นๆ ที่เลือกเล่นดนตรี เขาก็จะเลือกเล่นกีตาร์ เล่นเบส หรือเป็นนักร้องแทนใช่ไหม แต่จริงๆ อาจจะแค่ผู้หญิงไม่ค่อยเลือกที่จะเล่นกันเท่านั้น แต่ตอนนี้ก็รู้สึกว่ามีเยอะขึ้นแล้วนะจากยุคที่เราเริ่มเล่น
พูดถึงทัศนคติผู้หญิงกับดนตรี เคยถูกมองในแง่ลบ หรือมองเราเป็นผู้หญิงกลางคืนไหม

ถ้าในเรื่องแง่ลบ จากคนอื่นๆ หรือเพื่อนๆ จะไม่ค่อยมี แต่จะมีมาจากญาติพี่น้องมากกว่า เพราะตอนที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาเล่นดนตรีทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดเลยว่า ไม่ให้ออก เราก็เข้าใจว่าผู้ใหญ่เขาอยากให้เราทำงานมั่นคง มีโบนัส มีสวัสดิการ มีอะไรที่ดูทุกอย่างมั่นคง แต่ตอนที่เราตัดสินใจเราก็มองถี่ถ้วนแล้ว ทั้งปรึกษาพี่ที่เป็นหัวหน้าเรา ว่าทำยังไงดี จะลาออกดีไหม เพราะเราก็รู้สึกว่าเราเต็มที่กับงานมาตลอด 2 ปี เรียนรู้ทุกอย่างจนแทบจะหมดแล้ว ไม่รู้จะเรียนรู้อะไรอีก พี่เขาก็แนะนำว่างานประจำทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่โอกาสไปเล่นแบ็กอัพให้กับวงฟลัวอย่างนี้มันไม่ได้มีมาง่ายๆ เราก็เลยตัดสินใจเลือกทางนี้

จากการที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มันเหมือนการพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่า “เราก็ทำได้” ประมาณนั้น

มันเป็นเรื่องที่เราต้องพิสูจน์ คือต้องยอมรับก่อนว่าเล่นดนตรีอาชีพ รายได้ถ้านับเป็นชั่วโมงทำงาน มันก็คุ้มกว่าตอนที่เราทำงานประจำอีก เพียงแต่ว่า อาจจะไม่ได้มีความมั่นคงซักเท่าไหร่ แต่เหมือนเราก็พิสูจน์ให้เขาเห็นแล้วว่า เราก็มีรายได้จากตรงนี้ มันก็พอๆ กับที่เราทำงานประจำ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ
 
เราก็เลยทำฟรีแลนซ์เสริมด้วยคือให้เขารู้เลยว่า เราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเราเอง ซึ่งทางบ้านก็ค่อยๆ เริ่มที่จะโอเค ไม่ห่วงกังวลเรา เพราะหลังจากที่ลาออกจากงานประจำ เราก็มีการวางแผนรองรับไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าออกมาไม่ได้เตรียมแผนอะไรสำรอง เราก็คิดว่าออกมาเล่นดนตรีตรงแล้ว ก็สามารถทำงานฟรีแลนซ์ไปด้วย ก็รับงาน 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน เพราะหากอย่างใดอย่างหนึ่งมันไม่โอเค เราก็ต้องมีอีกอย่างรองรับอยู่
ในปัจจุบัน วงการดนตรีในบ้านเรา เริ่มมีผู้หญิงขึ้นมาบ้างแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง

ยังรู้สึกเหงาอยู่ดี (หัวเราะเบาๆ) เพราะว่าเมื่อเทียบสัดส่วนดูแล้ว นักดนตรีผู้หญิงในบ้านเราก็ยังน้อยเหลือเกิน แต่ก็ถือว่าเยอะกว่าช่วงที่เราเล่นดนตรีใหม่ๆ นะ สังเกตได้จากกลุ่มที่ทำเพลงแบบใต้ดิน ก็เยอะขึ้น แต่ถ้าถามว่าขึ้นมาเล่นอาชีพจริงๆ ก็ยังถือว่าน้อยอยู่ดี เพราะอย่างประชากรหญิงเยอะกว่าชาย แต่ว่าผู้หญิงที่เล่นดนตรีก็น้อยกว่าผู้ชาย แล้วคนที่เล่นแบบจริงจังเป็นอาชีพก็ยิ่งน้อยไปอีก ก็เหมือนการใช้ชีวิตทั่วไป ไอ้การที่ผู้หญิงจะแบบ “ฉันอยากตีกลองทุกวัน” มันแทบจะไม่มีเลย เขาก็อยากไปแฟชั่นไปความสวยความงาม นั่งเล่นพันทิปดีกว่า จะมานั่งซ้อมอะไร 5-6 ชั่วโมงต่อวัน คงไม่มี ถึงมีก็น้อย (หัวเราะอีกครั้ง)

เหมือนกับว่าตอนนี้ก็พอใจในชีวิตแล้ว

ถ้าเทียบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงให้ประมาณเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะอาจจะมีเรื่องการควบคุมเวลานิดหน่อยที่เรากำลังรู้สึกว่าตัวเองทำงานเยอะเกินไปหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ช่วงหลังๆ ก็ได้ท่องเที่ยวเยอะเหมือนกัน ออกไปใช้ชีวิต ออกไปดูงานเทศกาลต่างๆ หรือไปดูงานศิลปะที่ต่างประเทศบ้าง เหมือนกับเราได้ออกไปเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเอง และก็เอาสิ่งที่เราเห็น แรงบันดาลใจจากตรงนั้นมาต่อยอดให้กับงานของเราอีกที ทั้งเรื่องดนตรีแล้วก็ศิลปะ แต่ก็ไม่ใช่ร่ำรวยนะ ยังทำงานเก็บเงินแล้วท่องเที่ยวอยู่ คืออย่างน้อยมันก็ได้ใช้ชีวิตบ้าง
คิดว่าอยากให้ผู้คนจดจำ “จุ Abuse The Youth” อย่างไร

อยากให้จดจำที่ผลงานค่ะ (ตอบทันที) จะเป็นงานดนตรี งานศิลปะ หรือว่างานกราฟิกที่เราทำก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีอะไรที่อยู่ถาวรหรอก อยากให้คนจดจำเราที่ผลงาน เพราะว่าศิลปินทุกคนอย่างน้อยๆ หากตัวเราไม่อยู่ แต่งานที่เราสร้างมันยังอยู่ให้คนรุ่นต่อๆ ไปเอาไปใช้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อไป

................................................








เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี


กำลังโหลดความคิดเห็น