xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-31 ส.ค.2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.โปรดเกล้าฯ ครม. "ประยุทธ์ 1" แล้ว บิ๊ก คสช.เพียบ “ประวิตร” นั่งรองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหมตามคาด!
บรรยากาศพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ที่ บก.ทบ.(25 ส.ค.)
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้ถ่ายทอดสดพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพิธีจัดขึ้นที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.)

หลังเสร็จสิ้นพิธี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นเกียรติอันสูงสุดในชีวิตแก่ตนและวงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้ และว่า ตนตระหนักดีถึงภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งว่า ต่อจากนี้ไปต้องรับผิดชอบในการนำพาประเทศชาติและประชาชนเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อบริหารราชการแผ่นดินโดยเร็วที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ถึงการจัดตั้ง ครม.ที่มีการจับตาว่า อาจมีทหารร่วม ครม.จำนวนมากด้วยว่า “อย่ามาดูทหารมาก ทหารน้อย ผมใคร่ครวญดูแล้ว ถ้าไม่มีทหารเลยก็ไม่ได้ เพราะว่าความมั่นคงก็มีปัญหา... ผมพยายามจะเกลี่ยสัดส่วนต่างๆ ให้ดี อย่าระแวงกันจนเกินไปนัก เถียงกันไปจนหาคนดีไม่ได้เลยในวันนี้ ผมไม่เข้าใจ ใครจะว่า ใครจะเสนอใคร จะพูดกับใคร เดี๋ยวดูกันต่อไป ถ้าเขาทำงานไม่ดีก็ปรับใหม่ได้หมด... ใครทำทุจริตก็ติดคุกไป ก็มีแค่นั้น จะกลัวอะไร ใช้กระบวนการประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปไล่ล่าฆ่าฟัน วันนี้ผมไม่ใช่พรรคไหนเลย เป็นพรรคของคนไทยเดินหน้าประเทศไทย เพราะฉะนั้นไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผมต้องการให้ทุกคนมองชาติเป็นหลัก อย่าสนใจตัวบุคคลให้มากนัก...”

ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ส.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม , ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี , นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , นายวิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรี , ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี , นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม , นายสมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม , พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , นายพรชัย รุจิประภา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร , นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , นางอภิรดี ตันตราภรณ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ , พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายสุธี มากบุญ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน , นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม , นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ , นายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ , พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ , นายรัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข , นายสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข , นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ส่วนความคืบหน้าการรับสมัครสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 14 ส.ค.-2 ก.ย.นั้น ล่าสุด นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงยอดผู้สมัครตั้งแต่วันที่ 14-31 ส.ค. พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 4,797 คน

ทั้งนี้ ผู้สมัคร สปช.เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนจำนวนมาก ได้แก่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม สมัครในนามสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ , พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เสนอชื่อโดยสมาคมชาวสงขลา , นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา เสนอชื่อโดยมูลนิธิสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ,คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และอดีต ส.ว.กทม. เสนอชื่อโดยสมาคมสถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้สมัครเป็น สปช.เช่นกัน โดยส่งเอกสารการสมัครทางไปรษณีย์ในนามมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกประเทศไทย หลังพรรคมีมติไม่ส่งผู้สมัคร เพราะเกรงว่าจะเป็นปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน ซึ่งนายอลงกรณ์ ชี้ว่า การที่ 3 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ,พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เข้าร่วมเป็น สปช.เป็นสัญญาณถึงความขัดแย้งในอนาคต เมื่อเห็นพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ ก็จะปฏิเสธว่าเป็นผลพวงจากรัฐประหาร เท่ากับว่าการปฏิรูปประเทศใช้เวลากว่า 2 ปีสูญเปล่า

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่นายอลงกรณ์สมัคร สปช.ว่า ยังไม่ได้คุยกับนายอลงกรณ์ แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรค เป็นสิทธิของนายอลงกรณ์ พรรคไม่ได้ห้ามสมาชิกไปสมัคร เพียงแต่พรรคสงวนสิทธิไม่ส่งผู้สมัคร และว่า เมื่อนายอลงกรณ์ตัดสินใจไปแล้ว จะทำให้มีอำนาจในการอนุมัติรัฐธรรมนูญ จึงต้องพิจารณาต่อว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

2. คสช.ไฟเขียว 12 ทีวีดาวเทียมออกอากาศแล้ว ด้าน กสท.ปล่อย 7 ช่องก่อน ขณะที่ ASTV เปลี่ยนชื่อเป็น NEWS1 ดีเดย์ออนแอร์แล้ว!

ASTV เปลี่ยนชื่อเป็น  NEWS1
ความคืบหน้ากรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มีคำสั่งระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ 14 สถานีตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาวันที่ 14 มิ.ย. คสช.มีคำสั่งอนุญาตให้สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ และสถานีโทรทัศน์ทีนิวส์ ออกอากาศได้ แต่ยังระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ที่เหลืออีก 12 สถานี(รวม ASTV) โดยอ้างว่า ยังมีภาพของความขัดแย้งอยู่ กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้(17 ส.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้ออกมาเผยว่า หาก ASTV จะออกอากาศอีกครั้ง คสช.ต้องการให้เปลี่ยนชื่อใหม่ ดังนั้นจะเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีข่าว NEWS1 โดยได้มีการยื่นผังรายการไปเรียบร้อยแล้ว

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ออกมาเผยว่า คสช.เห็นชอบให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่ถูกระงับออกอากาศทั้ง 12 สถานี กลับมาออกอากาศได้ตามปกติแล้ว โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและประกาศ คสช.โดยเคร่งครัด

จากนั้น วันต่อมา 25 ส.ค. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) ได้ประชุมรับทราบคำสั่งของ คสช. พร้อมนัดให้สถานีโทรทัศน์ทั้ง 12 สถานีเข้าเซ็น MOU กับ กสท.ในวันที่ 26 ส.ค. ก่อนส่งเรื่องให้ที่ประชุม กสท.นัดพิเศษรับทราบในวันที่ 27 ส.ค. โดยสถานีที่เข้าเซ็น MOU จะสามารถออกอากาศได้ทันที

สำหรับสถานีโทรทัศน์ที่ กสท.อนุญาตให้ออกอากาศได้แล้วมี 7 ช่อง ซึ่งแต่ละช่องมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ ประกอบด้วย 1. Five Channel จากบริษัท เอซี เทเลวิชั่น จำกัด (ชื่อเดิม เอ็มวี 5) 2.ฟ้าวันใหม่ จากบริษัท บลูสกาย จำกัด (ชื่อเดิม บลูสกาย) 3.โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม บุญนิยม จากมูลนิธิบุญนิยม (ชื่อเดิม เอฟเอ็มทีวี) 4.สถานี NEWS1 จากบริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด (ชื่อเดิม ASTV) 5.People TV จากบริษัท พีแอนด์พี ชาแนล จำกัด (ชื่อเดิม พีทีวี) 6.Peace TV จากบริษัท รวยทันที จำกัด (ชื่อเดิม UDD) และ 7. 24 TV จาก เดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (ชื่อเดิม DNN)

ส่วนอีก 5 สถานีที่เหลือ มี 1 สถานีที่เซ็น MOU กับ กสท.แล้ว คือ DNC TV (ชื่อเดิม เอเชียอัพเดท) แต่ต้องรอ กสท.ตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากมีการเปลี่ยนนิติบุคคล คือ บริษัท ดีเอ็นซี นิวส์ จำกัด ขณะที่อีก 4 สถานี ยังไม่ได้เข้าเซ็น MOU กับ กสท. ประกอบด้วย 1.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมโฟร์ชาแนล 2.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมฮอตทีวี 3.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเร็สคิ้ว และ 4.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ(คปท.)

สำหรับบันทึกข้อตกลงที่สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องทำไว้กับ กสท.ในการอนุญาตให้ออกอากาศ ได้แก่ ต้องทำผังรายการไม่ให้มีเนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. ,ห้ามเชิญนักวิชาการหรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ หรือผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลหรือองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนแก่สังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ,ให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. และให้งดเว้นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ของ คสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง อาจถูกสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ฯลฯ ทั้งนี้ ในส่วนของ NEWS1 หรือ ASTV เดิม ได้เริ่มทดลองออกอากาศแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.เป็นต้นมา โดยรับชมได้ทางกล่องรับสัญญาณ IPM ช่อง 64

3.“สนธิ” เปิดใจหลังได้ประกันตัว ชี้ ปัญหาชาติไม่ใช่แก้ที่คุก เห็นใจราชทัณฑ์ถูกละเลย พร้อมอยากเห็น “ทักษิณ” กลับมาติดคุก!

บรรยากาศหลังสนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับอิสรภาพ ที่เรือนจำกลางคลองเปรม(25 ส.ค.)
ความคืบหน้ากรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ,น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เป็นเวลา 20 ปี ฐานทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ได้ยื่นขอประกันตัวบุคคลทั้งสาม แต่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งว่าจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาหรือไม่ ซึ่งตอนแรกศาลฎีกายกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า ต้องให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เซ็นรับรองให้จำเลยฎีกาได้ จึงจะยื่นขอประกันตัวได้ ส่งผลให้นายสนธิและจำเลยอีก 2 คน ถูกคุมขังตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ศาลฎีกาได้อนุญาตให้ประกันตัวนายสนธิและพวกอีก 2 คนแล้ว โดยให้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 10 ล้านบาท เป็นคนละ 12 ล้านบาท ทั้งนี้ ศาลฎีกาให้เหตุผลที่ให้ประกันตัวว่า เนื่องจากจำเลยทั้งสามได้ยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาลงชื่ออนุญาตให้ฎีกา และศาลได้มีคำสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ประกอบกับจำเลยทั้งสามได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีพฤติการณ์หลบหนีมาก่อน ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามระหว่างฎีกา โดยตีราคาประกันคนละ 12 ล้านบาท

หลังศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำหมายศาลไปยังเรือนจำกลางคลองเปรมและทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อปล่อยตัวจำเลยตามคำสั่งศาล ซึ่งกว่าขั้นตอนทางเอกสารจะเรียบร้อย กินเวลาหลายชั่วโมง ส่งผลให้นายสนธิ-น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส.ยุพิน ได้รับการปล่อยตัว ในเวลาประมาณ 22.00น.

หลังได้รับการปล่อยตัว นายสนธิ ให้สัมภาษณ์ว่า ดีใจที่ได้รับการปล่อยตัว อยู่ในเรือนจำมีความสุขดี แค่เปลี่ยนที่นอนเฉยๆ พร้อมเผย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนดีกับตนหมด ทุกคนเป็นห่วงอยู่อย่างเดียว ว่ามีการว่าจ้างใครมาทำร้ายตนหรือเปล่า นายสนธิ เผยด้วยว่า อยู่ในเรือนจำได้เรียนรู้ชีวิตคนเยอะมาก และรู้ว่าปัญหาของชาติบ้านเมืองไม่ใช่แก้ที่คุก แต่แก้ที่รัฐบาล แก้ที่ต้นน้ำคือตำรวจ ถ้าตำรวจไม่จับผู้ต้องหาแบบเหวี่ยงแห ผู้ต้องหาก็จะไม่เยอะขนาดนี้ ตนเห็นคนจนอยู่เยอะเลย ทั้งนี้ นายสนธิ อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก 2 ปี ซึ่งบอกมาตลอดว่าอยากกลับประเทศไทย เดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อติดคุกบ้าง

นายสนธิ ยังเปรียบด้วยว่า ราชทัณฑ์คือถังขยะสุดท้ายที่สังคมสร้างปัญหาขึ้นมา “ตำรวจและรัฐบาลสร้างปัญหาขึ้นมา แล้วเอามาใส่ถังขยะ แล้วก็บอกราชทัณฑ์ให้สร้างคุกเพิ่มขึ้น ผู้ต้องหา 290,000 คน มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หมื่นกว่าคน ทำงานเป็นทั้งตำรวจ ทั้งนักจิตวิทยา นักการศึกษา ทำงานเป็นทุกอย่างที่เกี่ยวกับหน้าที่ที่ทำให้ผู้ต้องหาดีขึ้น แต่ว่าเงินเดือนต่ำ เบี้ยเลี้ยงน้อย ชีวิตส่วนตัวไม่มีเลย ต้องเข้าเวรตลอดเวลา ผมสนิทสนมกับพวกเขามาก คุยจนทราบถึงปัญหาส่วนตัวเขาหลายอย่าง ซึ่งแต่ละคนบอกว่า การเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คือการตกนรก เพราะฉะนั้นแล้ว จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คือคนติดคุกเหมือนผม แต่ต่างกว่าที่ว่าสามโมงครึ่ง ผมต้องขึ้นตึกเข้าห้องนอน ส่วนเขานั้นยังเดินไปเดินมาได้ แต่ก็ออกนอกคุกไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้ว ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจสักนิดหนึ่งว่า กรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นั้นเป็นหน่วยงานที่ถูกละเลยมากอย่างมหาศาล...”

ด้านนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่นายสนธิได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางคลองเปรมว่า “ขอบคุณคุณสนธิ ที่เห็นใจและเข้าใจสภาพเรือนจำประเทศไทย ในขณะที่อยู่ 19 วันก็ไม่ได้เรียกร้องหรือสร้างปัญหาใดๆ จริงๆ แล้วคุณสนธิไม่ใช่อาชญากร แต่เข้ามาเรือนจำเพราะอุบัติเหตุทางธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ดีใจแทนคุณสนธิที่ได้รับความเมตตาจากศาลให้ประกันตัวออกไป”

นายวิทยา ยังเผยด้วยว่า กรมราชทัณฑ์รับนโยบายจาก คสช. ให้ปฏิรูปงานราชทัณฑ์ ให้คัดแยกผู้ต้องขัง ให้หาทางลดจำนวนคนที่ไม่สมควรอยู่ หรือทำผิดเล็กน้อย ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน เพื่อให้เรือนจำมีที่ว่างพอสำหรับดูแลผู้ต้องขังรายสำคัญได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ให้ดูแลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ตามหลักมนุษยธรรม และเมตตาธรรม ให้สวัสดิการเจ้าหน้าที่และสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้คุม รวมทั้งรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของอาญาแผ่นดิน “ผมเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ได้ 2 เดือน แต่ก็เป็นคนเก่าที่นี่ จะพยายามทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ปัญหานี้สะสมมานาน คงต้องเริ่มสะสางอย่างเป็นระบบกันเสียที...”

4.เสวนาปฏิรูปพลังงาน ปตท.กั๊กไม่ยอมบอกชื่อลูกค้าภาคอุตฯ ซื้อ LPG ราคาต่ำ ด้าน “ปิยสวัสดิ์-ไพรินทร์” รับ มีหุ้น ปตท.!

บรรยากาศการเสวนา “ถาม-ตอบ ปัญหาพลังงานชาติ” ที่สโมสรทหารบก(27 ส.ค.)
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนา “ถาม-ตอบ ปัญหาพลังงานชาติ” ที่สโมสรทหารบก เพื่อเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นถึงการปฏิรูปพลังงาน สำหรับผู้เข้าร่วมเสวนา มีทั้งตัวแทนกระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ตอบคำถาม เช่น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ปตท. ,นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ขณะที่ฝ่ายตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ตั้งประเด็นคำถาม ได้แก่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน ,นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ,นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ,นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 โดยมีหลวงปู่พุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมฟังการเสวนากว่า 1,000 คน

สำหรับประเด็นแรกที่มีการสอบถามคือเรื่องการคืนท่อก๊าซของ ปตท.ให้แก่รัฐ ซึ่งภาคประชาชนย้ำเรื่องข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ระบุว่า ปตท.คืนท่อก๊าซให้รัฐไม่ครบทั้งบนบกและในทะเล มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท โดย ปตท.คืนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2551 เฉพาะท่อก๊าซบนบก มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ด้าน ปตท.ชี้แจงว่า คำสั่งศาลปกครองถือเป็นที่สุด พร้อมอ้างว่า ศาลให้คืนสมบัติเฉพาะกรณีเงินลงทุนของ ปตท.ที่ใช้อำนาจมหาชนรอนสิทธิเท่านั้น ซึ่งหลังการชี้แจงของ ปตท. ปรากฏว่า ภาคประชาชนยังมีข้อโต้แย้ง ทำให้หลวงปู่พุทธะอิสระสรุปว่า หากโต้แย้งไปมาคงไม่จบ ดังนั้นเรื่องนี้อาจจะมีการฟ้องร้องเพื่อขึ้นสู่ศาลอีกครั้ง

จากนั้นได้มีการถามประเด็นโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ที่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อได้ในราคาถูกกว่าภาคขนส่งและภาคครัวเรือน ซึ่ง ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ได้สอบถามถึงรายชื่อบริษัทที่ซื้อก๊าซแอลพีจีในราคาถูก แต่ทาง ปตท.ไม่สามารถให้รายชื่อได้ อ้างว่าจะกระทบต่อการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านั้น ขณะที่นายปิยสวัสดิ์ บอกว่า ถ้าจะให้รายชื่อ ก็ต้องขออธิบายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งระบบก่อน เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด

ขณะที่นายปานเทพ ถามว่า จากตารางภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้แอลพีจี 37% แสดงว่าใช้มากกว่าภาคขนส่งและครัวเรือนใช่หรือไม่ นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงานและอดีตผู้บริหารบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ตอบว่า 37% นั้นเป็นการใช้จากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นรวมกัน แต่ถ้าใช้จากโรงแยกก๊าซอย่างเดียว ก็พอๆ กับภาคอื่นๆ ด้าน พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ จึงได้ถามย้ำว่า ไม่ต้องแยกระหว่างโรงแยกก๊าซและโรงกลั่น ให้ตอบตรงๆ ว่าใช้มากกว่าภาคอื่นหรือไม่ ส่งผลให้นายมนูญไม่พอใจ ตอบกลับอย่างมีอารมณ์ว่า อย่าถามแบบทนาย ตนไม่ใช่จำเลยของใคร ทำให้การเสวนาตึงเครียดขึ้น หลวงปู่พุทธะอิสระจึงขอให้ทั้งสองฝ่ายสงบสติอารมณ์ ก่อนที่นายปิยสวัสดิ์ จะตอบว่า จากตัวเลขก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ 37% ขณะที่ภาคครัวเรือนและขนส่งใช้ 63% แสดงว่ามากกว่าภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่แล้ว

นายปานเทพ จึงถามอีกว่า ทำไมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงแค่ 1 บาท ทั้งที่ซื้อแอลพีจีเป็นวัตถุดิบแค่ราคา 11 บาทกว่า แต่ภาคขนส่งและครัวเรือนจ่ายเข้ากองทุนมากกว่าทั้งที่ซื้อในราคาที่แพงกว่า นายปิยสวัสดิ์ ตอบว่า ราคาเฉลี่ยที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อแอลพีจีคือ 22 บาทต่อกิโลกรัม และไม่ได้รับการชดเชยจากกองทุนในช่วงแรกเหมือนภาคครัวเรือนและขนส่ง จึงเก็บเข้ากองทุนแค่ 1 บาท

ด้าน ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ ถามว่า ประเทศไทยผลิตแอลพีจีได้มากพอที่จะใช้ในภาคครัวเรือนและขนส่ง ฉะนั้นถ้าให้แอลพีจีที่ผลิตได้นำมาใช้เฉพาะภาคครัวเรือนและขนส่งที่ประสบความเดือดร้อนได้หรือไม่ ส่วนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้นำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศมาใช้ นายปิยสวัสดิ์ ตอบว่า ถ้าจะทำแบบนั้นก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล พร้อมอ้างว่า ต้องดูที่มาที่ไปของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ขณะที่ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม และประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ถามว่า ปตท.สามารถกำหนดราคาซื้อเองได้ อย่างนี้เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ปตท.เป็นเสือนอนกินใช่หรือไม่ นายปิยสวัสดิ์ ตอบว่า ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ จะทำอะไรก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ก็ต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้นด้วย เนื่องจากมีเอกชนถือหุ้น 49% จะต้องทำตามกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ด้านนายวีระ สมความคิด ถามว่า ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมนี้มีใครถือหุ้น ปตท.บ้าง นายปิยสวัสดิ์ ตอบว่า ตนถืออยู่ 4,400 หุ้น พร้อมยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อห้าม เพราะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง เพียงแต่ถ้าจะซื้อขาย ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่ ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ ถามย้ำอีกครั้งว่า ใครถือหุ้นบริษัทในเครือ ปตท.ด้วยบ้าง และมูลค่าหุ้นทั้งหมดเท่าไหร่ นายปิยสวัสดิ์ ตอบว่า ถ้าอย่างนั้นต้องไปตรวจสอบก่อน และจะส่งรายละเอียดให้อีกครั้ง ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ยอมรับเช่นกันว่า ถือหุ้น ปตท.แต่ไม่ยอมบอกว่าจำนวนเท่าใด โดยอ้างว่าต้องไปดูรายละเอียดก่อน

นายไพรินทร์ ยังยอมรับด้วยว่า ปตท.มีกำไรปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท หลังจากหักภาษี กำไรส่วนนี้จะนำไปปันผลให้ผู้ถือหุ้น 40% และรัฐบาลก็ถือหุ้น ปตท.อยู่ เพราะฉะนั้นเงินกำไรของ ปตท.ก็จะเข้ารัฐด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายปิยสวัสดิ์ ยอมรับว่า มีการส่งออกน้ำมันเบนซินไปขายต่างประเทศด้วย เนื่องจากระยะหลังผู้ใช้รถหันไปใช้แอลพีจีและดีเซลมากขึ้น ทำให้เบนซินเหลือส่งออก พร้อมอ้างว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออก แค่ส่วนน้อยและส่งไปหลายประเทศ ราคาจึงต่างกัน โดยเฉลี่ยแล้วราคาถูกกว่าราคาขายในประเทศ เนื่องจากมีการเสียค่าขนส่งและไม่รวมภาษี

ทั้งนี้ ช่วงท้ายของการเสวนา หลวงปู่พุทธะอิสระได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเสนอแนะเรื่องที่ต้องการให้ปฏิรูปพลังงาน ซึ่งภาคประชาชนเสนอหลายประเด็น เช่น ขอให้ปรับโครงสร้างการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพราะปัจจุบันมีการบิดเบือน ,ขอให้ราคาแอลพีจีของภาคปิโตรเคมีเป็นราคาเดียวกับภาคครัวเรือนและขนส่ง และไม่ให้ข้าราชการเป็นกรรมการบริษัทพลังงาน เพราะอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่กระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท.เสนอให้มีการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่มีความเหมาะสมและอยากให้มีการประหยัดพลังงาน

ด้านหลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวหลังเสร็จสิ้นการเสวนาว่า จะรวบรวมประเด็นถาม-ตอบของทุกฝ่ายสรุปเสนอ คสช.ต่อไป และว่า หลังจากนี้อาจจัดเวทีเสวนาพลังงานอีกครั้ง เพื่อหารือเรื่องพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเสวนาปฏิรูปพลังงานได้ 1 วัน(28 ส.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มี พล.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดตามนโยบาย คสช. ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าสถานีน้ำมันทั่วประเทศปรับลดลง โดยเบนซิน 95 ลดลง 3.39 บาทต่อลิตร ,แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 2.12 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.68 บาท แก๊สโซฮอล์ E20 ลดลง 1 บาท ส่วน E85 ราคาคงเดิม แต่น้ำมันดีเซลปรับราคาขึ้น 14 สตางค์ ทั้งนี้ ที่ประชุม กบง.ให้เหตุผลในการปรับราคาน้ำมันว่า เนื่องจากต้องการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น