xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยคดี “นพ.วิสุทธิ์” ฆาตกรรมซ่อนเงื่อนฆ่าหั่นศพเมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ต่อมาเป็นหลักฐาน ว่า นพ.วิสุทธิ์ เป็นคนสุดท้ายที่พบกับพญ.ผัสพร โดยไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันที่ร้านโออิชิ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่  โดยในภาพนพ.วิสุทธิ์เดินประคองภรรยาที่มีอาการสะลึมสะลือคล้ายถูกมอมยา
เรือนจำกลางบางขวางได้ปล่อยตัว นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ อดีตสูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ต้องขังในคดีฆาตกรรม พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ภรรยา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2544 โดย นพ.วิสุทธิ์ ได้รับการอนุญาตให้พักโทษจากกระทรวงยุติธรรม ก่อนหน้านี้ ได้รับพระราชทานอภัยโทษหลายครั้ง เนื่องจากปฏิบัติตัวดี นับรวมระยะเวลาที่นพ.วิสุทธิ์ ถูกจำคุกเป็นระยะเวลา 10 ปี 9 เดือน

คดีสะเทือนขวัญนี้ถือเป็นสุดยอดแห่งการฆาตกรรมซ่อนเงื่อนอีกหนึ่งคดี ที่ต้องต่อสู้กันมายาวนาน ตั้งแต่ต้นปี 2544 ในคดีที่ นพ.วิสุทธิ์ ตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าชำแหละศพ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร หรือโรงพยาบาลรถไฟ ภรรยาของตนเอง ซึ่งกว่าตำรวจจะได้หลักฐาน และกุญแจไขปริศนาคดี จนนำไปสู่การจับกุมนพ.วิสุทธิ์ นั้นซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งนัก

สำหรับตัว นพ.วิสุทธิ์ เองนั้น นับว่าได้สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการแพทย์ไทย เพราะได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการทางแพทย์มาจัดการฆ่าและชำแหละภรรยาตัวเองอย่างแยบยล จนแทบจะไม่เหลือชิ้นส่วนไว้ให้เป็นหลักฐาน จึงถือเป็นการท้าทายฝีมือทีมสืบสวนสอบสวน ก่อนจะรวบรวบพยานหลักฐานจนสามารถคลี่คลายคดีและนำตัว นพ.วิสุทธิ์ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลได้ในที่สุด

ย้อนกลับไป คดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 44 เมื่อ นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ว่า พญ.ผัสพร ภรรยาตัวเองหายตัวไป

ตำรวจสืบพบว่า ก่อนที่ พญ.ผัสพร ผู้เป็นภรรยาจะหายตัวไปนั้น มี นพ.วิสุทธิ์ ซึ่งเป็นผู้แจ้งความพา พญ.ผัสพร ไปรับประทานอาหารที่ร้านโออิชิ ในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ โดยมีกล้องวงจรปิดจับภาพ นพ.วิสุทธิ์ เข้าประคองร่างพญ.ผัสพร ออกจากร้านไป จากนั้นก็ไม่มีใครได้พบกับ พญ.ผัสพร อีกเลย และนี่คือจุดเริ่มต้นของการคลี่คลายคดี

พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อวันที่ 20-22 ก.พ. 2544 โดยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. หมอวิสุทธิ์ได้วางแผนลวงแพทย์หญิง ผัสพร ไปรับประทานอาหารที่ห้องอาหารโออิชิ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สองต่อสอง โดยหมอวิสุทธิ์ได้ใช้ยานอนหลับผสมในอาหารและเครื่องดื่มให้ผู้ตายกินจนเกิดอาการง่วงนอน มึนงง แล้วประคอง พญ.ผัสพรออกจากห้องอาหารท่ามกลางสาธารณชน โดยหากไม่สังเกตให้ดีคงไม่ใครคาดคิดว่า พญ.ผัสพร จะถูกวางยาและหมอวิสุทธิ์จะกล้าลงมือกลางร้านอาหารเช่นนี้

หมอวิสุทธิ์ได้หน่วงเหนี่ยวกักขัง พญ.ผัสพร ไว้ที่ห้องพักเลขที่ 318 อาคารวิทยนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะใช้ของแข็งมีคมเป็นอาวุธทำการประทุษร้ายร่างกาย พญ.ผัสพร จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และใช้มีดผ่าตัดแล่ชิ้นเนื้อและอวัยวะต่างๆ จากศพ ก่อนนำไปทำลายศพหรือส่วนของศพ ขณะเดียวกัน ได้เปิดห้องพักเลขที่ 1631 โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลพลาซา แล้วได้ยักย้ายซ่อนเร้นศพ นำชิ้นเนื้อ เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ของศพไปลอบฝัง ลอบทิ้งในสถานที่ต่างๆ อันเป็นการซ่อนเร้นทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายและเหตุแห่งการตาย

21 ก.พ. 2544 หมอวิสุทธิ์ได้ปลอมหนังสือขอลางานของ พญ.ผัสพร เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมดังกล่าว พญ.ผัสพร ได้ทำขึ้นจริง และเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของบุคคลที่ใกล้ชิด พญ.ผัสพร ให้หลงเชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ไม่ได้พบเห็น เพราะผู้ตายไปประกอบศาสนกิจปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ฝึกจิตใจ ภายหลังจากที่หมอวิสุทธิ์ได้ทำเอกสารปลอมได้ใช้และอ้างเอกสารหนังสือที่จำเลยได้ทำปลอมขึ้นยื่นต่อ นายสุรังษี จงวิวัฒน์สุนทร หัวหน้างานผู้ตาย

และได้ปลอมจดหมายถึงนายชัชวาล และนางสาวกิ่งกาญจน์ บุญเกษมสันติ บุญชายและบุตรสาว เพื่อให้บุตรทั้งสองและผู้อื่นหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมดังกล่าว พญ.ผัสพร ได้ทำขึ้นจริง และเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของบุตรทั้งสอง และบุคคลที่ใกล้ชิด

จนได้มาเจอหลักฐานเด็ดเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2544 พนักงานสอบสวนเข้าตรวจสอบที่ห้องพักเลขที่ 318 อาคารวิทยนิเวศน์ พบคราบโลหิตที่ผ้าม่านและพบชิ้นเนื้อในบ่อพักสิ่งปฏิกูลหนัก 330 กรัม และสืบทราบว่าจำเลยได้เปิดห้องที่โรงแรมโซฟิเทล ก่อนเข้าตรวจค้นพบชิ้นเนื้อมนุษย์ในบ่อพักสิ่งปฏิกูล จากการชันสูตรชิ้นเนื้อของเจ้าหน้าที่สถาบันนิติเวชที่อาคารวิทยนิเวศน์ พบว่าเป็นชิ้นเนื้อบริเวณลำตัว เป็นเศษของกระบังลม ผนังลำไส้ พังผืดไขมัน และยังพบชิ้นส่วนบริเวณต้นขาและแขน หนักประมาณ 3,330 กรัม ซึ่งชิ้นเนื้อดังกล่าวถูกแล่ด้วยของมีคมลักษณะประณีต เสียชีวิตมาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ผู้ตายหายตัวไป จึงเชื่อว่าเป็นเนื้อจากศพผู้ตาย ที่เกิดจากการฆาตกรรมอำพราง

และจากหลักฐานซึ่งเป็นวิดีโอวงจรปิดภายในร้านโออิชิ ประกอบกับหมายเลขโทรศัพท์ของหมอวิสุทธิ์ซึ่งได้ติดต่อกับ พญ.ผัสพร ก่อนจะหายตัวไปครั้งสุดท้าย อีกทั้งพนักงานในร้านโออิชิ ระบุว่า เห็นหมอวิสุทธิ์นั่งอยู่ที่ร้านกับ พญ.ผัสพร ก่อนที่จะเดินคล้องแขนกับ พญ.ผัสพร ออกไปในลักษณะพยุง และพบพิรุธในจดหมายลางาน เนื่องจาก พญ.ผัสพร ไม่ชอบพิมพ์ดีดหรือใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่รับพิมพ์งานในย่านดังกล่าว ระบุว่าหมอวิสุทธิ์ได้ว่าจ้างให้พิมพ์จดหมายและจ่าหน้าซองจดหมายรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกส่งให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร อีกฉบับส่งให้บุตร โดยลงชื่อว่า พญ.ผัสพร อีกทั้งบุคคลทั้งสองมีเรื่องทะเลาวิวาทกันอย่างรุนแรงมาก่อนหน้านี้

ในที่สุดจากพยานหลักฐานบุคคลและพยานแวดล้อม รวมทั้งผลการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงมีน้ำหนักเพียงพอที่ทำให้ศาลชั้นต้นเชื่อว่า นพ.วิสุทธิ์ เป็นผู้ลงมือฆ่าหั่นศพภรรยาตัวเองจริง 7 ต.ค. 46 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต นพ.วิสุทธิ์ โดยให้เหตุผลว่า “จำเลยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูงย่อมจะใช้สติยั้งคิดในการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้วิธีดังกล่าว และเมื่อจำเลยถูกจับกุมก็ยังไม่สำนึกผิด ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมา จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องปรานี เห็นควรลงโทษสถานหนัก พิพากษาประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว”

สำหรับในทางชั้นศาล ภายหลังการต่อสู้คดีเป็นเวลา 2 ปี ในที่สุด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ศาลชั้นต้น ได้อ่านคำพิพากษา สรุปใจความว่า พฤติกรรมของจำเลยต่างๆ เกี่ยวข้องกันตั้งแต่จำเลยหายไปตั้งแต่แรก โดยพฤติกรรมจำเลยแสดงให้เห็นถึงเจตนาและการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่การนัดผู้ตายไปรับประทานอาหารที่ร้านโออิชิ และเปิดห้องพักที่อาคารวิทยนิเวศน์ ซึ่งอยู่ใกล้กับร้านโออิชิโดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 10-15 นาที และจำเลยยังไม่คืนกุญแจห้องพัก ล้วนสอดคล้องเชื่อมโยงกับการที่ผู้ตายหายตัวไป มีการฆ่าหั่นเพื่อซ่อนเร้นทำลายศพในห้องน้ำดังกล่าว โดยให้ผู้ตายกินยาดอมิคุมจนมีอาการเหม่อลอย แล้วนำตัวไปที่อาคารวิทยนิเวศน์ก่อนฆ่าชำแหละศพ แล้วซื้อถุงดำจำนวนมาก กระดาษทิชชู ก้อนน้ำยาดับกลิ่นจากห้างโรบินสันสีลม เพื่อนำมาใส่ชิ้นส่วนที่ชำแหละแล้ว ก่อนทำจดหมายลางานปลอม แม้ว่าจะไม่พบกะโหลกศีรษะและกระดูกของผู้ตายหรือมีประจักษ์พยาน แต่ก็เพราะจำเลยได้วางแผนแล้วและปกปิดวิธีการอำพรางคดีไว้อีก ทั้งจำเลยและผู้ตายเคยมีสาเหตุทะเลาะเบาะแว้งกัน จึงมีสาเหตุให้จำเลยฆ่าผู้ตายได้ ข้อปฏิเสธของจำเลยเป็นเพียงข้อปฏิเสธลอยๆไม่มีน้ำหนักมาหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ทั้งที่จำเลยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูง ย่อมจะใช้สติยั้งคิดในการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้วิธีดังกล่าว และเมื่อจำเลยถูกจับกุมก็ยังไม่สำนึกผิด ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมาจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องปรานี เห็นควรลงโทษสถานหนัก พิพากษาประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ประหารชีวิต นพ.วิสุทธิ์ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่พบมีการชันสูตรพลิกศพ แต่เมื่อชิ้นเนื้อมนุษย์ที่พบในบ่อพักที่อาคารวิทยนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลพลาซา ซึ่งเมื่อส่งผู้ชำนาญการด้านนิติเวชวิทยาตรวจพิสูจน์แล้วลงความเห็นตรงกับว่าเป็นชิ้นเนื้อของผู้ตายจริง นอกจากนั้น จากการตรวจชิ้นเนื้อและคราบโลหิตที่พบในห้องพักเลขที่ 318 อาคารวิทยนิเวศน์ ก็ตรงกับดีเอ็นเอของแพทย์หญิงผัสพร

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ดีเอ็นเอและชิ้นเนื้อได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุอันใดที่พนักงานสอบสวนจะกลั่นแกล้งจำเลย อีกทั้งก็ไม่มีเหตุขัดแย้งกับจำเลยมาก่อน ส่วนดีเอ็นเอที่จำเลยอ้างว่าเป็นการเร่งรัดตรวจพิสูจน์และไม่เป็นธรรม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่มีความไม่โปร่งใสแต่อย่างใด

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าแพทย์หญิง ผัสพร เสียชีวิตจริงหรือไม่ ศาลเห็นว่าจากเนื้อเยื่อและผลพิสูจน์ดีเอ็นเอที่ปรากฏในสำนวนคดี รับฟังได้ว่าแพทย์หญิงผัสพรเสียชีวิตแล้ว

นอกจากนี้ มีพยานหลักฐานบ่งชี้ได้ว่าจำเลยได้นำตัวผู้ตายไปขังไว้ที่ห้องพัก 318 อาคารวิทยนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะลงมือฆ่า อันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และกระทำความผิดฐานซ่อนเร้นทำลายศพ และปลอมแปลงเอกสาร จดหมายลางานของผู้ตาย

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีเหตุจูงใจให้ฆ่าภรรยาตนเอง จากการนำสืบพยานรับฟังได้ว่า จำเลยและผู้ตายมีเรื่องบาดหมางกันมาโดยตลอด โดยจำเลยขอหย่าขาดจากผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ยอมเพราะเป็นห่วงบุตรทั้ง 2 คน อีกทั้งผู้ตายจับได้ว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับคนไข้ที่มีสามีแล้ว โดยผู้ตายขู่ว่าจะนำเรื่องดังกล่าวฟ้องแพทยสภา จนเป็นเหตุทำให้จำเลยมีเรื่องขัดแย้งกับผู้ตายและข่มขู่ผู้ตายมาโดยตลอด ดังนั้น อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว

จนกระทั่งการต่อสู้ทางคดีเดินมาถึงชั้นฎีกา ในวันที่ 25 ก.ค. 50 ศาลฎีกาได้พิพากษายืน ประหารชีวิตสถานเดียว ต่อมาหมอวิสุทธิ์ ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ปีเดียวกัน ก็มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2550 โดย นพ.วิสุทธิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม ชีวิตในเรือนจำ นพ.วิสุทธิ์ ได้รับการอภัยโทษหลายครั้ง เนื่องจากปฏิบัติตัวดี เคยได้ทำเรื่องถึงกรมราชทัณฑ์ขอพักโทษ และกรมราชทัณฑ์ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณา ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาได้อนุมัติให้นพ.วิสุทธิ์ พักโทษได้ สุดท้ายมาถึงวันนี้จึงมีการปล่อยตัว โดย นพ.วิสุทธิ์ หมอผู้เลือดเย็นถูกจำคุกเป็นระยะเวลา 10 ปี 9 เดือน
พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ อดีตสูตินรีแพทย์ รพ.บุรฉัตรไชยากร (รพ.รถไฟ)
เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสอบภายใน “บ่อเกรอะ” จนพบเศษชิ้นเนื้อของมนุษย์จำนวนมากถูกชำแหละทิ้งเอาไว้
ในที่สุด นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ  อดีตสูตินรีแพทย์ รพ.จุฬาฯ ก็ตกเป็นจำเลยคดีฆ่าหั่นศพ ภรรยา
กำลังโหลดความคิดเห็น