31 มี.ค.ชี้ชะตา “อาร์เอส” คนไทยจะได้ดู “ฟุตบอลโลก 2014” ทั้ง 64 นัดผ่านฟรีทีวีหรือกล่อง ย้อนรอย “กฎมัสต์ แฮฟ” คืออะไร สิทธิหรือกฎหมาย จับตา กสทช.รับมืออาร์เอส ใครได้ใครเสีย
ในวันจันทร์ที่ 31 มี.ค.นี้ เวลา 14.00 น.จะเป็นวันชี้ชะตาสำหรับคนไทย ว่าจะได้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีทั้ง 64 นัดหรือไม่ โดยศาลปกครองกลาง ได้นัดอ่านคำพิพากษา ณ ห้องพิจารณาคดี 8 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ
ประชาสัมพันธ์ศาลปกครองกลาง ได้แจ้งว่า ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 726/2556 ระหว่าง บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ 1 กับพวกรวม 12 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฟ้องขอให้ยกเลิกประกาศ กสทช.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปและมิให้นำประกาศดังกล่าวมาใช้กับการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย)
คดีนี้บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ฟ้องว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 12 คน ได้มีประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2556 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการออกประกาศดังกล่าวเป็นการสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของ FIFA และผู้ฟ้องคดีในอันที่จะใช้สิทธิเผยแพร่การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายผ่านสถานีโทรทัศน์ในระบบโทรทัศน์ดาวเทียมซึ่งเป็นกิจการของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้ขอผ่อนผันการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว แต่ได้รับการเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
สรุปคำขอ : ขอให้ยกเลิกประกาศ และมิให้นำประกาศมาใช้บังคับในการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
คดีนี้บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางเพื่อฟ้อง กสทช.ให้ยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือกฎมัสต์ แฮฟ (Must Have) ที่ครอบคลุมให้ 7 รายการกีฬาต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวีเท่านั้น โดยมีฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้ง 64 นัด เป็น 1 ในรายการที่อยู่ในข่าย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 57 พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช.และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยระบุว่า มีคำถามว่า ในกระบวนการออกกติกา Must Have กสท.และ กสทช.ได้คำนึงถึงเอกชนที่อาจจะได้รับความเสียหายจากกติกาฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งในประกาศ Must Have ได้กำหนดไว้ว่า การดำเนินการใดๆ ที่นอกเหนือจากประกาศ ดำเนินการได้ โดยการขอรับการยกเว้นจาก กสท.
ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศออกไป มีผลบังคับใช้ RS ก็ได้ยื่นขอยกเว้นการปฏิบัติตามประกาศ สำหรับกรณีของการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2014 โดยมีเหตุผลประกอบในการร้องขอ คือ ข้อจำกัดจากสัญญาที่ทำกับฟีฟา ซึ่งสำนักงาน กสทช.ก็ได้ขอดูสัญญาดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อ กสท.แต่ RS ไม่นำส่งสำเนาสัญญาดังกล่าว จนกระทั่งในการขอเอกสารครั้งที่ 3 สำนักงาน กสทช.ก็เปลี่ยนเป็นขอให้ RS ช่วยสรุปประเด็นสำคัญให้ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจาก RS ทางสำนักงาน กสทช.จึงจำเป็นจะต้องเสนอต่อ กสท.เพื่อพิจารณาเท่าที่มีเอกสารและข้อเท็จจริงที่มีในขณะนั้น
กสท.พิจารณาแล้ว เห็นว่า RS อาจไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากเป็นชั้นสำนักงาน ดังนั้น จึงมีมติให้ขอสำเนาสัญญาประกอบการพิจารณา ซึ่งเป็นการขอสำเนาสัญญาเป็นครั้งที่ 4 ในชั้นกรรมการ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ เมื่อสำนักงานรายงานกรณีดังกล่าว กสท.ก็ได้มีมติเพิ่มเติม โดยถ้า RS ไม่ส่งเอกสารสำเนาสัญญา กสท.ก็ขอให้ส่งรายละเอียดความเสียหายที่บริษัทคาดว่าจะได้รับจากการปฏิบัติตามประกาศเป็นการขอเอกสาร เหตุผลประกอบ เพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนของ กสท.เป็นครั้งที่ 5 และเป็นครั้งที่ 2 ในชั้นของ กสท.จนในที่สุด RS ก็ไม่ส่งเอกสาร แต่ขอถอนเรื่องดังกล่าว ไม่ต้องการให้ กสท.พิจารณายกเว้นให้ตามที่กำหนดไว้ตามประกาศ กสทช.
ขณะที่ทางบริษัทเลือกไปใช้สิทธิในการฟ้องร้องเพิกถอนประกาศ Must Have ต่อศาลปกครอง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กสท.ออกกติกาโดยคำนึงถึงความเสียหายของเอกชนแล้ว แต่เอกชนไม่ต้องการให้ กสท.พิจารณายกเว้นให้ตามกติกา ต่อมาศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามประกาศของบริษัท RS ซึ่งมีตอนหนึ่งได้มีข้อวินิจฉัยว่า ประกาศไม่ได้ทำให้ RS ต้องปฏิบัติผิดไปจากสัญญา หรือข้อตกลง เพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์กับฟีฟ่าในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้ายแต่อย่างใด
สอดคล้องกับข้อมูลที่ RS แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อ 18 มี.ค. 57 ว่าสามารถจะปฏิบัติตามประกาศได้หากศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงคิดว่า กสท.ได้กำหนดประกาศกติกา Must Have เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยคำนึงถึงเอกชนที่อาจเสียหายด้วยแล้ว แต่การดำเนินการต้องมีเหตุผล หลักการที่ชัดเจนในการที่จะดำเนินการ มิเช่นนั้น กสท.ก็อาจเข้าข่ายใช้ดุลยพินิจเอื้อต่อเอกชนได้
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ดร.นที ได้ย้ำถึงบทลงโทษต่อผู้ที่ละเมิดกฎว่าจะโดนปรับ 5 แสนบาท และรายวันอีกวันละ 1 แสนบาท ตลอดจนมีสิทธิ์โดนเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
ทาง กสทช.ได้เตรียมรับมือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดไว้เรียบร้อยแล้ว 3 กรณี คือ
1.หากศาลยกคำฟ้องของทางบริษัท อาร์เอสฯ ทาง กสทช.จะดำเนินการตามกฎที่มีต่อไปพร้อมเผยแพร่บทย่อของคำพิพากษาเพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างต่อประชาชน
2.หากศาลมีคำสั่งเพิกถอนกฎมัสต์ แฮฟ ทั้งหมดหรือบางส่วน ทาง กสทช.ก็จะยื่นอุทธรณ์ทันที พร้อมนำคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องมายื่นประกอบการพิจารณา
และ 3.หากศาลมีคำสั่งชะลอการพิจารณาพร้อมมีคำสั่งคุ้มครอง ทาง กสทช.ก็จะยื่นเรื่องให้ไต่สวนฉุกเฉินโดยทันที
กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ, เบลเยียม และ ออสเตรเลีย มาแล้ว ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลของสหภาพยุโรป (อียู) และทาง กสทช.เองก็ใช้ไกด์ไลน์นี้เป็นเกณฑ์การระบุรายการกีฬาที่จะต้องอยู่ในกฎมัสต์ แฮฟ ที่สำคัญก่อนหน้านี้ทาง กสทช.ได้เปิดช่องทางแก่ผู้ที่ขอยกเว้นไม่ทำตามกฎไว้แล้ว แต่ทางอาร์เอสเองไม่ได้ส่งเรื่องและเอกสารสัญญาเข้ามาและสุดท้ายเป็นผู้ถอนคำร้องออกไปเอง
“ทางคณะกรรมการฯยืนยันว่ากฎกติกาที่ออกมาทุกอย่างเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล และเราจะพยายามอย่างเต็มความสามารถให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งหลังจากนี้ตนก็ยังมั่นใจว่าจะมีผู้เข้ามาซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแน่นอน ส่วนจะมีการเพิ่มรายการกีฬาอื่นๆ เข้ามาอีกหรือไม่นั้นก็สามารถเป็นไปได้ แต่ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นกีฬาที่สำคัญจริงๆ ขณะที่ระยะเวลาการตัดสินของศาลตนไม่ขอก้าวล่วง” ดร.นที ทิ้งท้าย
ถามว่า มัสต์ แฮฟ (Must Have) คืออะไร มัสต์ แฮฟ หรือชื่อเต็มๆ ว่า หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ออกกฎมาปกป้องสิทธิให้ประชาชนคนไทยได้รับชมกีฬาผ่านฟรีทีวี โดยไม่เสียเงินแต่ในขณะนี้กำลังถกเถียงกันว่า การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง มิ.ย.-ก.ค.นี้ ประชาชนจะได้รับชมรอบสุดท้าย จำนวน 64 นัด ตามมัสต์ แฮฟ หรือ รับชมได้เพียง 22 นัด ตามที่อาร์เอสซึ่งเป็นผู้ทำการตลาดประกาศไว้ ยังคงต้องรอลุ้นต่อไป
แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกประชาชนควรรู้อันดับแรกคือ มัสต์ แฮฟ เป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิประชาชนให้รับชมกีฬา 7 ประเภทผ่านฟรีทีวี แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1.การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกีฬาซีเกมส์ (South-East Asian Games, SEA Games) 2.การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games) 3.การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย หรือเอเชี่ยนเกมส์ (Asian Games)
4.การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการเอเชี่ยนพาราเกมส์ (Asian Para Games) 5.การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) 6.การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการหลายประเภทจากทั่วโลก หรือกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games) และ 7.การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)
ดังนั้น มัสต์ แฮฟ จึงเป็นกฎที่สร้างโอกาสให้คนไทยได้รับชมกีฬาอย่างทั่วถึงในสังคม และกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อีกทางหนึ่ง