xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยสมรภูมิผ่านฟ้า ไอ้โม่งนอกเครื่องแบบ ที่แท้กองกำลังต่างด้าว?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปฏิบัติการ “คืนความสงบสุขแก่ชาวกทม.” ขอคืนพื้นที่ซึ่ง ศรส. แต่กลับต้องพบกลับความสูญเสียโดยมีตัวเลขคนบาด 69 ราย เสียชีวิต 5 ราย เป็นประชาชน 4 ราย ตำรวจ 1 ราย และ หากใครติดตามข่าวสาร และ ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงจะเกิดคำถามขึ้นไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะชุดปฏิบัติภารกิจของ ศรส.ที่ทำให้ประชาชนสับสนและงงงวยไปหมดว่า คือ อะไรกันแน่ เพราะ ภาพตำรวจในเครื่องแบบชุดต่างๆ ทั้งแบบควบคุมฝูงชน ปราบจราจล พร้อมอาวุธครบมือ รวมไปถึงตำรวจสวมหมวกไอ้โม่งปิดบังอำพรางใบหน้าเดินเผ่นพล่าน ปรากฎอยู่อย่างเปิดเผย ว่า ที่จริงแล้วมันถูกต้องตามหลักสากลของการเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ อย่างไร ประการสำคัญ จะใช่กองกำลังต่างชาติที่ถูกนำเข้ามาร่วมปฎิบัติการโจมตีฝ่ายไล่รัฐบาลใช่หรือไม่?

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปดูภารกิจของ ศรส.ชุดที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้สั่งการได้มอบหมายให้ตำรวจระดับผู้บัญชาการ ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในพื้นที่การชุมนุมที่ต้องการขอคืนจำนวน 5 จุด คือ ทำเนียบรัฐบาลให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่างผบช.น. เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์,ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ให้ พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผบช.ภ.1 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์, สะพานผ่านฟ้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้ พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ผบช.ภ.2 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์, กระทรวงพลังงานให้ พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผบช.ภ.5 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ กระทรวงมหาดไทยให้ พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผบช.ภ.7 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ขณะที่ ผบช.ภ. 3, ผบช.ภ.4 และ ผบช.ภ.6 ให้ทำหน้าที่ด้านยุทธการที่ บช.น.

แผนปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ครั้งนี้ ให้ใช้กำลังตำรวจจากสังกัดตามที่ผู้บัญชาการต่างๆ ได้รับมอบหมาย โดยวางแผนให้กองกำลังแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็น 4 ชุด คือ 1 ชุดปฏิบัติภารกิจบุกทะลวงเข้าพื้นที่ โดยใช้แก๊สน้ำตา และ เครื่องยิงคลื่นเสียง ยิงเปิดทาง เพื่อให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ หลังจากนั้นให้ชุดที่ 2 เข้ายึดและควบคุมพื้นที่ โดยใช้รถบรรทุกน้ำและเครื่องฉีดน้ำความดันสูงผลักดันให้ผู้ชุมนุมที่เหลือออกจากพื้นที่ควบคุม แล้วให้ชุดปฏิบัติการชุดที่ 3 เข้าจับกุมผู้ชุมนุมในพื้นที่ควบคุม โดยเปิดทางให้ผู้ชุมนุมทะลุแนวตั้งแถวของตำรวจเข้ามา แล้วจับกุม เป้าหมายคือการ์ด และแกนนำผู้ชุมนุม หลังจากนั้นจะให้ตำรวจชุดที่ 4 ทำหน้าที่คุ้มกันออกจากพื้นที่ชุมนุม โดยแบ่งกำลังชุดคุ้มกันแฝงไปกับชุดปฏิบัติการอื่นส่วนหนึ่ง ขณะที่อีกส่วนให้ประจำอยู่บนที่สูง เพื่อปฏิบัติภารกิจยิงคุ้มกัน

โดยมีจุดที่สำคัญก็คือ ศรส.ได้จัดกำลังตำรวจออกเป็น 2 ชุดหลักๆ ชุดแรกคือ ตำรวจควบคุมฝูงชน จะทำหน้าเจรจาและผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเปิดการจราจร กำลังตำรวจชุดนี้จะมีโล่ กระบองและปืนยิงกระสุนยาง ห้ามพกอาวุธอื่นซึ่งก็คือกองตำรวจภูธรภาค 2 ภายใต้การนำของ พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภ.2 ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ศรส.ให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำนวน 14 กองร้อย หรือราว 1,700 นาย เข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม

ส่วนชุดที่ 2 คือ ชุดปราบจลาจล (ปจ.) หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษ(ปพ.) มีทั้ง อรินทราช 26 สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และ นเรศวร 261 สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อคุ้มกันชุดปราบจลาจล และ ตอบโต้กองกำลังไม่ทราบฝ่าย

หน่วยกำลังที่ถูกวางไว้สำหรับปฏิบัติภารกิจจู่โจม จับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมมีอยู่ 5 หน่วยงาน คือ 1.ชุดปฏิบัติการพิศษนเรศวร 261 สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, 2.ชุดปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล, 3.ชุดปฏิบัติการสยบไพรี ของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, 4.ชุดปฏิบัติการสยบริปูสะท้าน สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ 5.ชุดปฏิบัติการพิเศษปราบไพรีอริศัตรูพ่าย สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ซึ่งกองกำลังทั้ง 5 หน่วย พล.ต.อ.อดุลย์ มีคำสั่งให้เตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่มาระยะหนึ่งแล้ว

กองกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษดังกล่าว อยู่ในความควบคุมของ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. ซึ่งรับบทบาทหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ มี พล.ต.ท.ปริญญา จันทร์สุริยา ผบช.ประจำสำนักงานผบ.ตร. ทำหน้าที่เชี่ยวชาญด้านสืบสวน เป็นรองหัวหน้า และมี พล.ต.ต.ศรกฤษ แก้วผลึก ผบก.ฝรก. เป็นประจำชุด

ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ตามแนวการบริหารวิกฤติการณ์ ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ในครั้งนี้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยอรินทราช 26 โดยตรง เพราะอยู่ในพื้นที่เมืองหลวง และปริมณฑล

หน่วยอรินทราช 26 เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษระดับกองร้อย สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) ขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งปัจจุบันมี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็นผบช.น. หน่วยงานนี้ได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเป็นระยะ มีอุปกรณ์ครบมือ เช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิล, ระเบิดมือ, รวมถึงอุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล

นอกจากสถานการณ์อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว การเลือกหน่วนอรินทราช 26 เป็นชุดปฏิบัติการลำดับแรกๆ เนื่องจาก ทั้ง พล.ต.อ.วรพงษ์ และ พล.ต.ท.ปริญญา เคยเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของหน่วยอรินทราช 26 มาก่อน ทั้งในตำแหน่งผบช.น. ซึ่ง พล.ต.อ.วรพงษ์ เคยทำหน้าที่ และในตำแหน่งรองผบช.น. ที่ พล.ต.ท.ปริญญา เคยทำหน้าที่ ทำให้มีความคุ้นเคยกับทีมปฏิบัติการเป็นอย่างดี

ถัดมาคือหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 เป็นหน่วยที่มีขีดความสามารถในการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหาร และไม่ใช่ทหาร ในการสงครามพิเศษ และการแก้ไขปัญหา การก่อความไม่สงบ, การก่อการร้าย ทุกรูปแบบ ด้วยการปฏิบัติการปกปิด มีพื้นที่รับผิดชอบปฏิบัติการทั่วประเทศ มีความเชี่ยวชาญในการจู่โจมทางอากาศ ซึ่งเหมาะกับภารกิจจู่โจมชิงตัวแกนนำโดยวิธีการโรยตัวจากที่สูง ซึ่งหน่วยงานนี้มีการฝึกฝนภารกิจดังกล่าวเป็นระยะ

นเรศวร 261 ประกอบกำลังในลักษณะกองร้อยปฏิบัติการพิเศษ (ร้อย.ปพ.) จำนวน 3 กองร้อย, กองร้อยกู้ชีพ และงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ขึ้นตรง บก.สนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ขณะที่ทางยุทธการ ขึ้นตรงกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย กองบัญชาการกองทัพไทย

ขณะที่ชุดปฏิบัติการพิเศษสยบไพรี ของ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) น่าจะเป็นชุดปฏิบัติการถัดมาที่ ศรส. เลือกใช้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานในสังกัดซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศรส.ในขณะนี้ เดิมชุดปฏิบัติการพิเศษสยบไพรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กวาดล้างคดีอาชญากรรมและยาเสพติด มีขีดความสามารถในการต่อสู้และปราบปรามผู้ก่อการร้าย ผ่านการฝึกอบรมจากหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์สงครามพิเศษกองทัพบก กรมนาวิกโยธิน กองทัพเรือ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธินกองทัพอากาศ และหน่วยรบพิเศษจากต่างประเทศ ดีอีเอ ของหน่วยงานยาเสพติดประเทศสหรัฐอเมริกา

ถัดมาคือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบไพรีอริศัตรูพ่าย สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 อาจจะถูกเรียกใช้เช่นกัน แม้หน่วยนี้จะยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ แต่กองกำลังมีศักยภาพในปฏิบัติภารกิจจู่โจมไม่แพ้กัน ทั้งการจู่โจมทางอากาศ มีความเชี่ยวชาญในการโรยตัวเข้าอาคาร และปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วในการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ผ่านมามีการฝึกฝนจำลองเหตุการณ์สถานการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองมาเป็นระยะ หน่วยนี้มีกำลังประมาณ 2 กองร้อย

อีกชุดคือ ชุดปฏิบัติการพิเศษสยบริปูสะท้าน ประกอบกำลังจากหน่วยคอมมานโดกองปราบปราม เป็นหน่วยงานที่มีขีดความสามารถในการต่อสู้สูง มีขอบเขตการปฏิบัติงานทั่วประเทศ เหมาะกับภารกิจจู่โจมเพื่อระงับเหตุฉุกเฉิน หรือปราบจลาจล การก่อวินาศกรรม การจับกุมคนร้ายที่มีอาวุธร้ายแรง

ทั้งนี้ แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมฝูงชน ให้ข้อมูลว่า เท่าที่เห็นในเหตุการณ์ผ่านฟ้า จะมีตำรวจควบคุมฝูงชน ชุดปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2และอีกส่วนคือหน่วยปฏิบัติการพิเศษ(ปพ.) มีทั้ง อรินทราช 26 สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และ นเรศวร 261 สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ทั้งสองชุดดังกล่าวดูจะสับสนในหน้าที่ภารกิจที่เกิดขึ้น เนื่องจากว่าความเป็นจริงแล้ว จากพฤติกรรมของผู้ชุมนุมยังเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้เป็นการก่อจราจล จึงไม่ทราบได้ว่า ศรส.มีเหตุผลอะไรต้องจัดหน่วยปราบจราจลพร้อมอาวุธครบมือมาตั้งใจเหมือนจะปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยเป็นการผิดหลักสากลที่จะต้องมีการเจรจาก่อน และสุดท้ายนำไปสู่การใช้อาวุธอย่างไม่สมเหตุสมผลจึงเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือในเหตุการผ่านฟ้า กลับพบกองกำลังนอกเครื่องแบบ ที่กำลังเข้าตรวจ จับ ควบคุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพในลักษณะปิดหน้าคาดตา โดยไม่มีเครื่องแบบระบุฝ่ายและสังกัดชัดเจนนั้น ภาพชายฉกรรจ์ชุดดำหลายกลุ่มถืออาวุธปืนครบมือไม่ว่าจะเป็นปืนพก หรือแม้แต่ปืนยาวทั้งลูกซอง และอาวุธปืนเอ็ม 16 กระจายกันอยู่ในหลายจุดที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ประกาศขอคืนพื้นที่ ภายใต้แผนปฏิบัติการคืนความสงบสุข มองผิวเผินหากพบเห็นชายลักษณะนี้ต้องเป็นกลุ่มข้าราชการทหารหรือตำรวจเป็นแน่ เพราะคงไม่มีใครหาญกล้ามาถืออาวุธกลางกรุงเทพฯ ยิ่งในห้วงภาวะสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ

กลุ่มดังกล่าวแต่งกายเสื้อกางเกงชุดดำ ไม่ใช่เครื่องแบบทหารหรือตำรวจ รวมทั้งไม่มีเครื่องหมายบอกสังกัดถืออาวุธปืนร้ายแรง ยืนกลางเมือง คอยตรวจสอบผู้คนและรถราที่ผ่านไปมาบริเวณด้านหน้าโรงเรียนหอวัง ถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท.

เมื่อภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมตำรวจต้องแต่งกายนอกเครื่องแบบ และยังมีอาวุธครบมือมาปฏิบัติงานในการขอคืนพื้นที่ครั้งนี้

แหล่งข่าว ระบุว่าการที่ออกมาโดยปกปิดหน้าตาแบบนี้ สมัยก่อนถือว่าเป็นเหมือนภารกิจลับที่ไม่ต้องการเปิดเผยให้ใครรู้ ซึ่งบอกได้ว่าไม่ใช่ชุดตำรวจควบคุมฝูงชนหรือตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งการแต่งตัวอย่างที่เห็นกันถือว่าเหมือนกับแฝงตัวเข้ามาป่วนสร้างความรุนแรงด้วยอย่างแน่นอน อาจเป็นกองกำลังจากต่างชาติเช่น กัมพูชา พม่า มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน เพราะมีพยานที่ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาอยู่ในเหตุการณ์ได้ยินเสียงสนทนาของกองกำลังเหล่านี้เป็นภาษาต่างด้าว

เรื่องนี้ ศรส.ผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ กล้าหรือไม่ที่จะเปิดเผยโดยกระจ่าง.






กำลังโหลดความคิดเห็น