ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ครบ 1 ทศวรรษนับตั้งแต่ โรมัน อบราโมวิช สร้างปรากฏการณ์หอบเงินเข้ามาเทกโอเวอร์พร้อมปฏิวัติ เชลซี จากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งปัจจุบันสโมสรต่างๆ ของลีกดังทั่วยุโรปก็ยังคงตกเป็นเป้าหมายของบรรดาเศรษฐีจากเอเชีย รัสเซีย อาหรับ และอเมริกัน ที่ต้องการเข้ามาฮุบกิจการอย่างต่อเนื่อง
จาก เชลซี เมื่อปี 2003 ตอนนี้มาถึง อินเตอร์ มิลาน ยักษ์ใหญ่แห่งศึกกัลโช เซเรีย อา อิตาลี ที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของ เอริค ธอเฮียร์ เจ้าพ่อสื่อสารอินโดนีเซีย ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์ แลกกับเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีหุ้น ดีซี ยูไนเต็ด สโมสร เมเจอร์ ลีก ซอคเกอร์ สหรัฐอเมริกา รวมถึง เพอร์ซิบ บันดัง ลูกหนังแดนอิเหนา ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนมือเจ้าของทีมอย่างต่อเนื่อง
พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ดูจะดึงดูดมากที่สุด ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อนักลงทุน เนื่องจากมีหลายสโมสรจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ตอนนี้ทั้งหมด 20 ทีม มีถึง 11 ทีมอยู่ในมือของต่างชาติ
แต่นักลงทุนก็ให้ความสนใจลีกระดับแนวหน้าอื่นๆ ของยุโรปเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลีก เอิง ฝรั่งเศส เนื่องจากหลายทีมไม่มีหนี้เหมือนกับ อิตาลี หรือสเปน รวมถึงไม่มีกฎหมายป้องกันจากภาคเอกชนเหมือน เยอรมนี ที่ระบุว่า ห้ามเป็นเจ้าของหุ้นมากกว่าร้อยละ 49 เปอร์เซ็นต์
ทำให้ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ถูกซื้อโดย กาตาร์ สปอร์ตส อินเวสต์เมนต์ เมื่อปี 2011 ก่อนฤดูกาลที่แล้วจะกลับมาคว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกรอบ 19 ปี ตามด้วย โมนาโก ที่ถูก ดิมิทรี รายโบลอฟเลฟ มหาเศรษฐีพันล้านจากรัสเซีย เข้ามาควบคุมเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเห็นผลชัดเจนเลื่อนชั้น และหว่านเม็ดเงินซื้อแข้งระดับแนวหน้าของโลกเมื่อซัมเมอร์ นำโดย ราดาเมล ฟัลเกา หอกทีมชาติโคลัมเบียจาก แอตเลติโก มาดริด
ดิดิเยร์ ปริมองต์ ผู้อำนวยการร่วมของ ศูนย์กฎหมายและเศรษฐศาสตร์ของกีฬา (ซีดีอีเอส) ที่ฝรั่งเศส ซึ่งมีหน้าที่ทำรายงานให้ สหภาพยุโรป เพื่อควบคุมระบบการถ่ายโอนเจ้าของต่างชาติ เผยว่า “การไหลเข้ามาของเม็ดเงินมีผลกระทบโดยตรงต่อตลาด สิ่งแรกที่เจ้าของใหม่เหล่านี้เข้ามาคือ ซื้อนักเตะที่ดีที่สุด เป็นสาเหตุให้เงินเฟ้อ และเกิดความไม่สมดุลขึ้นกับสโมสรกีฬา”
อัตราเงินเฟ้อที่เห็นได้ชัดสุดต่อจาก เชลซี ก็คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่ อาบู ดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป เข้ามาซื้อเมื่อปี 2008 ตามด้วย เปแอสเช และ โมนาโก ขณะที่ รีล มาดริด และ บาร์เซโลนา ก็ยังใช้เงินซื้อนักเตะกันอย่างไม่บันยะบันยัง
เศรษฐีอินโดนีเซีย ที่เข้ามาฮุบ อินเตอร์ ยังต้องใช้เงิน 267 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 13,350 ล้านบาท) ชำระหนี้ จากนี้ก็คาดว่าจะซื้อนักเตะแบบไม่คำนึงถึงตรรกะทางเศรษฐกิจของตลาดใดๆ ทั้งสิ้น ล่าสุด โมนาโก ที่จ่ายไป 167 ล้านยูโร (ประมาณ 6,680 ล้านบาท) เมื่อหน้าร้อนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ อันชี มาคาชคาลา ด้าน วินเซนต์ ตัน จากมาเลเซีย ที่ซื้อ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี พร้อมเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ ลีก พร้อมแหวกม่านประเพณีเปลี่ยนสีประจำของทีมจากน้ำเงิน-แดง ชนิดที่ว่าไม่สนใจแฟนบอล นอกจากนี้ ยังให้เพื่อน และครอบครัวช่วยกันคิดซื้อนักเตะด้วย
เฟเดอริค โบล็อตนีย์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจกีฬา เผยว่า “มีนักลงทุนหลายประเภท บางคนมองหาผลประโยชน์ทางอ้อม บ้างเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเมือง เช่น เปแอสเช ด้าน เชลซี กับ โมนาโก ไม่คำนึงเลยว่าจะทำเงินได้หรือไม่ในช่วงแรก โดยทั้งหมดนำมาเทียบกันไม่ได้เลย”
มัลคอล์ม เกลเซอร์ จากสหรัฐฯ คือตัวอย่างที่หายากกับการเข้ามาซื้อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ถือว่ามีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก โดยเข้ามามองหาลู่ทางทำเงินให้แก่สโมสรอย่างแข็งขัน แม้จะกู้ยืมมา แต่ก็กำลังปลดหนี้ และเงินหมุนเวียนก็คล่องมืออย่างไม่มีปัญหา
ทั้งหลายทั้งปวงทำให้ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟา) ออกกฎควบคุมการเงิน เพื่อหยุดการใช้จ่ายที่ไม่สมดุลกับรายรับ โบล็อตนีย์ เผยว่า “ผมไม่เห็นว่ากฎนี้จะใช้บังคับได้ทั้งหมด หลังจาก เปแอสเช มีสิ่งที่เรียกว่า “โกลเดน คอนแทร็ก” ที่ตกลงกับการท่องเที่ยวกาตาร์ ซึ่งเมืองหลวงของ ฝรั่งเศส จะฟันเงินเหนาะๆ ถึง 200 ล้านยูโร (ประมาณ 8 พันล้านบาท) โดยได้คุยกับ ยูฟา ผ่านฉลุย และก้าวผ่านกฎพวกนี้ไปแล้ว”
ดูเหมือนว่าแนวทางของ ยูฟา ที่พยายามจะเหนี่ยวรั้งด้วยการออกกฎแฟร์เพลย์ด้านการเงินนี้จะไม่ประสบความสำเร็จในการนำสโมสรฟุตบอลยุโรปกลับมามีสถานะทางการเงินที่ดี เห็นได้จากเศรษฐีต่างชาติที่ตบเท้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะแสดงความสนใจธุรกิจกีฬาลูกหนังนี้อย่างไม่หยุดยั้งเสียด้วย
เรื่อง สรเดช เพชรแสงใสกุล