โลกโซเชียลเผยคำสั่ง “อดุลย์” คิดแผนชั่ว ใช้อรินทราช 26-นเรศวร 261-สยบริปูสะท้าน-สยบไพรี สะพัดเตรียมพร้อมล้อมปราบม็อบ-จู่โจมจับกุมแกนนำ
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ในโซเชียลมีเดียได้เผยแพร่คำสั่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส.ออกคำสั่งที่ 0001 (ศอ.รส.)/285 ลงวันที่ 12 ธ.ค.ให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ (นเรศวร 261) กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (กก.3 บก.สอ.บช.ตชด.) เดินทางไปเตรียมพร้อม ณ กองบินตำรวจ (บ.ตร.) และให้ พ.ต.อ.ทัศนา แสงงาม รอง ผบก.สอ.บช.ตชด.ให้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ศอ.รส.มอบหมาย
ส่วนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เตรียมพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษ (อรินทราช 26) โดยให้เตรียมพร้อม ณ ที่ตั้ง ปฏิบัติได้ทันที เมื่อสั่ง ขณะที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เตรียมพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษ (สยบริปูสะท้าน) โดยให้เตรียมพร้อม ณ ที่ตั้ง ปฏิบัติได้ทันทีเมื่อสั่ง และกองบัญชาการตำรวจปราบยาเสพติด (บช.ปส.) เตรียมพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษ (สยบไพรี) โดยให้เตรียมพร้อม ณ ที่ตั้ง ปฏิบัติได้ทีนทีเมื่อสั่ง และการปฏิบัติดังกล่าว ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จภารกิจ
อนึ่ง สำหรับอรินทราช 26 เป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ตามแนว “การบริหารวิกฤตการณ์” (Crisis Management) โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเมืองหลวง และปริมณฑล เป็นหน่วยระดับ กองร้อย มีอุปกรณ์ครบมือ เช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิล, ระเบิดมือ, อุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล ฯลฯ ปัจจุบัน อรินราช 26 อยู่ในสังกัด กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) และขึ้นตรงกับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น)
ส่วนนเรศวร 261 เป็นหน่วยตำรวจที่มีขีดความสามารถในการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหาร และไม่ใช่ทหาร ในการสงครามพิเศษ และการแก้ไขปัญหา การก่อความไม่สงบ, การก่อการร้าย ทุกรูปแบบ ด้วยการปฏิบัติการปกปิด รับผิดชอบการปฏิบัติการทั่วประเทศ มีโครงสร้างการจัดหน่วยประกอบด้วย กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ (ร้อย ปพ.) จำนวน 3 กองร้อย, กองร้อยกู้ชีพ และงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ขึ้นตรงกับกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และทางยุทธการ ขึ้นตรงศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย กองบัญชาการกองทัพไทย
ขณะที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ สยบริปูสะท้าน เป็นคอมมานโดของกองปราบปราม ทำงานร่วมกับศูนย์วิทยุและรถสายตรวจเคลื่อนที่เร็ว ประกอบด้วยตำรวจที่มีความสามารถในการต่อสู้ป้องกันตัวสูง มีความสามารถในการปราบปรามทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกองกำลังหรือหน่วยจู่โจมเพื่อระงับเหตุฉุกเฉิน หรือปราบปรามการจลาจล การก่อวินาศกรรม การจับ กุมคนร้ายที่มีอาวุธร้ายแรง หรือมีพรรคพวกมาก ตลอดจนความไม่สงบอื่นๆ โดยมีเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมอยู่เสมอ เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือการร้องขอจากตำรวจท้องที่ สามารถปฏิบัติการได้ทันที
และชุดปฏิบัติการพิเศษ สยบไพรี ของ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) มีหน้าที่กวาดล้างคดีอาชญากรรมและยาเสพติด โดยมีความสามารถในการต่อสู้และปราบปรามผู้ก่อการร้าย ผ่านการฝึกอบรมจากหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์สงครามพิเศษกองทัพบก กรมนาวิกโยธิน กองทัพเรือ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธินกองทัพอากาศ และหน่วยรบพิเศษจากต่างประเทศ DEA ของหน่วยงานยาเสพติดประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ การออกคำสั่งดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการออกคำสั่งย้อนหลัง โดย พล.ต.อ.อดุลย์ ได้มีการสั่งการเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.โดยให้ พ.ต.อ.ทัศนา แสงงาม ซึ่งเป็นนายตำรวจคนใกล้ชิด พล.ต.อ.ออุลย์เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าตำรวจชุดดังกล่าวจะใช้วิธีการจู่โจมจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมคนสำคัญ ที่มีการตั้งข้อหากบฏก่อนหน้านี้ รวมทั้งสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม