xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษาเจาะข้อมูลแบงก์จำคุก117ปีรอลงอาญากับกรณีสั่งจำคุก"สนธิ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์เช้าวันที่ศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ คำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3713/2554 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกพันธ์ กุมมาน้อย อายุ 24 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 54 ถึงวันที่ 8 ก.ค. 2554 จำเลยสุ่มรหัสผ่านของผู้เสียหายที่ 2-15 เพื่อเข้าถึงยังข้อมูลรายชื่อประจำตัวผู้เสียหายที่ 2-15 อันเป็นรหัสผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้เสียหายที่ 1 ออกให้โดยมิชอบและโดยทุจริต เมื่อจำเลยเข้าไปทำรายการถอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายที่ 2-15 ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตของธนาคารไทยพาณิชย์ กระทำผิดรวม 39 ครั้งได้เงินไปจำนวน 103,050 บาท เหตุเกิดที่แขวงและเขตจตุจักร และแขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม. ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5, 269/7, 334, 335, พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 5, 7, 9 ให้จำเลยคืนเงิน 103,050 บาทให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นนักเล่นเกมออนไลน์ เข้ารหัสจากการสุ่มตัวเลข เมื่อรหัสตรงกับผู้เสียหายก็จะถอนเงินออกจากบัญชี ไปเล่นเกมออนไลน์ และชำระค่าโทรศัพท์มือถือ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ชื่อประจำตัวและรหัสผ่านเป็นของผู้เสียหายที่ 2-15 จริง โดยจำเลยได้ลักเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายที่ 1 เห็นว่าเป็นการกระทำที่มุ่งต่อประโยชน์ส่วนตน เป็นภัยต่อสังคม แต่จำเลยได้บรรเทาผลร้ายด้วยการชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 103,050 บาท แล้ว ประกอบกับจำเลยไม่เคยกระทำผิดหรือรับโทษทางอาญามาก่อน ทั้งมีบิดา มารดาต้องดูแล เห็นสมควรให้กลับตัวเป็นพลเมืองดี

จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นบทลงโทษหนักสุด จำคุก 39 กระทงๆ ละ 3 ปี ปรับกระทงๆ ละ 900 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกรวม 39 ปี 234 เดือน ปรับ 17,550 บาท แต่ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 20 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 3 ปี ให้คุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี โดยให้รายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 8 ครั้ง และให้บำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง

ในคดีนี้นั้นศาลได้ใช้วิธีรอลงอาญาเป็นกระทงไป นั่นคือ จำคุกกระทงละ 3 ปี จำนวน 39 กระทง รวมจำนวน 117 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ผู้ต้องหามีความผิด39กระทงเมื่อคูณด้วยกระทงละ1ปี6เดือน ผลจึงเหลือโทษจำคุก 39 ปี234เดือน

จะเห็นได้ว่าจำนวน 39 ปี 234 เดือน จริงๆแล้วก็คือ 58 ปี6เดือน ซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของจำนวน 117 ปี ต่างกับที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวว่าโดนจำคุก39ปี ดังนั้นที่ถูกต้องพาดหัวว่าศาลจำคุก58ปี โดยที่ศาลลงโทษจำคุกสูงสุดได้ตามกฎหมาย เพียง20 ปี

ความน่าสนใจของคดีนี้ก็คือ แม้ว่าผู้ต้องหาจะถูกศาลจำคุกด้วยโทษสูงสุด 20 ปี แต่ศาลกลับมีคำสั่งให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ทั้งที่คดีดังกล่าวมีเจตนาฉ้อโกงเอาทรัพย์ของผู้อื่นโดยใช้ความสามารถและความรู้ในด้านคอมพิวเตอร์อย่างชัดแจ้ง

แต่ประเด็นที่คนสงสัยก็คือว่า ทำไมโทษจำคุก 20 ปีถึงสามารถรอลงอาญาได้ คำตอบก็คือว่า ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรอลงอาญาเป็นกระทงๆได้นั่นคือ ศาลรอลงอาญาให้กับผู้ต้องหาในทุกกระทง แม้ผู้ต้องหาจะถูกจำคุก 39 กระทงกระทงละ 1 ปี 6 เดือน แต่ศาลก็ให้รอการลงโทษทั้ง39กระทงนั่นคือรอการลงโทษให้ถึง39ครั้ง

อย่างไรก็ตามคดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับคดีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่นายสนธิในฐานะกรรมการบริษัทบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับกรรมการบริษัทคนอื่นทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการบริษัทเพื่อผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยไม่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์

เห็นได้ชัดว่า การกระทำการของนายสนธิและกรรมการบริษัทคนอื่นในการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยนั้นเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว และในคดีนี้ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นผู้ให้กู้ได้มาให้การต่อศาลว่า ธนาคารไม่ได้รับความเสียหายจากสัญญากู้ยืมเงินครั้งนี้ แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวถือว่าธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหายแล้ว

กระนั้นก็ตามหากการค้ำประกันกู้เงินดังกล่าวของนายสนธิและกรรมการคนอื่นมีความผิดเพียงกรรมเดียวหรือกระทงเดียว เมื่อศาลจำคุกกระทงละ 5 ปี นายสนธิซึ่งควรจะถูกตัดสินให้จำคุกเพียง 5 ปี และลงโทษลงกึ่งหนึ่งคือ 2.5 ปีเท่านั้นเอง คดีดังกล่าวจึงเป็นความผิดที่รอลงอาญาได้

แต่ศาลกลับมีคำพิพากษาว่า การเบิกเงินของผู้กู้จากยอดกู้ยืมจำนวน 1,078 ล้านบาท ที่นายสนธิและพวกได้ค้ำประกันเป็น 17 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุกนายสนธิในฐานะจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 85 ปี แต่นายสนธิสารภาพลดโทษเหลือกระทงละ 2ปี6เดือน รวมจำคุก 42 ปี 6 เดือน แต่รับโทษสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี

ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ยอดเงินกู้จำนวน 1,078ล้านบาท ครั้งเดียวควรมีความผิดเพียง 1 กระทง แต่ศาลนับเอาจำนวนการเบิกเงินจากยอดเงินกู้ดังกล่าว 17 ครั้งเป็น 17 กระทง

จากบรรทัดฐานของคดีข้างบนซึ่งมีลักษณะที่มีการฉ้อโกงอย่างชัดแจ้ง แต่คดีของนายสนธินั้นเพียงแต่ค้ำประกันเงินกู้โดยไม่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ในคดีข้างบนนั้นธนาคารมาให้การว่าไม่ได้รับความเสียหายเพราะผู้เสียหายได้คืนเงินที่ฉ้อโกงไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับคดีของนายสนธิ ซึ่งธนาคารก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าไม่ได้รับความเสียหาย แต่ผลลัพธ์ของคดีกลับต่างกันอย่างลิบลับ

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับคดีข้างบนแล้วจะเห็นได้ว่า ศาลสามารถรอลงอาญาเป็นกระทงกระทง แม้จะมีความผิดหลายกระทงก็ตาม

ตอนนี้แม้ว่านายสนธิจะน้อมรับต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว แต่ก็ต้องเตรียมสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้เหตุผลที่นายสนธิสารภาพไปในศาลชั้นต้นเพราะเข้าใจว่า ความผิดของตัวเองเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวและมีโทษเบา ประกอบกับคำสารภาพศาลน่าจะเมตตารอลงอาญา แต่เมื่อผลออกมาตรงกันข้ามก็คงจะต้องสู้คดีกันในชั้นอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งกับดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่ทำให้ความผิดเพียงกระทงเดียวกลายเป็น17กระทงนั่นคือมีโทษทวีคูณจากการคาดหมายไปถึง17เท่า

และหวังเพียงว่าจะได้รับความยุติธรรมในชั้นอุทธรณ์เท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น