xs
xsm
sm
md
lg

“ในหลวง-ราชินี” เสด็จฯทอดพระเนตรภาพวาดรามเกียรติ์ วัดพระแก้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงทอดพระเนตรภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ โดยรอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าฯรับเสด็จฯ และถวายการบรรยาย


วันที่ 20 เมษายน 2555 เวลา 17.31 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทอดพระเนตรจิตรกรรมฝาผนังไทย เรื่องรามเกียรติ์ และทรงสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์สูทสีน้ำเงินสดทับฉลองพระองค์เชิ้ตสีฟ้าลายตาราง พระสนับเพลาสีดำ โดยมี รศ.คลินิก นพ.ดิเรก จุลชาต เป็นผู้ถวายการเข็นรถเข็นพระที่นั่ง ส่วน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ฉลองพระองค์สีเหลืองลายดอกไม้ พระสนับเพลาสีเหลืองสด เมื่อเสด็จฯ ถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางประตูศรีรัตน์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำทอดพระเนตร พร้อมถวายการบรรยายจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบพระระเบียง

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมกับทอดพระเนตรความงดงามภายในพระอุโบสถ ซึ่งประดับตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม ตั้งแต่เพดานถึงพื้นกลางห้อง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในบุษบกทองคำ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ปางสมาธิ แกะสลักด้วยหยกมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร 66 เซนติเมตร และพระพุทธรูปสำคัญอีกจำนวนมาก

จิตรกรรมฝาผนังของไทยส่วนมากเป็นพุทธประวัติ หรือทศชาติชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้า ก่อนจะเสวยชาติเป็นกษัตริย์ และเสด็จออกผนวชจนตรัสรู้ ซึ่งการเขียนเรื่องราวดังกล่าวมักจะเขียนเป็นพุทธบูชา เพื่อให้ชาวพุทธทราบความเป็นมาของพระศาสดา แต่สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่มีเค้าโครงเรื่องราวเดิมจากรามายณะ อันเป็นวรรณคดีเก่าแก่ของอินเดีย เขียนครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่ทั้งสองพระองค์ทรงทำศึกต่อสู้กับพม่า เมื่อเริ่มสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีใหม่ๆ และสงครามครั้งใหญ่ๆ ที่ทรงเอาชนะได้ด้วยพระปรีชาสามารถ และความกล้าหาญ เช่น สงครามเก้าทัพที่ทุ่งลาดหญ้า








กำลังโหลดความคิดเห็น