คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.“ในหลวง” ทรงช็อก หลังเครียดวิกฤตน้ำท่วมทำประชาชนเดือดร้อน “ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ” ขอประชาชนอธิษฐานให้กำลังใจ!
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.นนทบุรี ในการนี้ ทรงมีพระดำรัสตอนหนึ่งถึงพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมคนที่ประสบอุทกภัยที่พระนครศรีอยุธยา พอกลับมาพยาบาลมาเชิญ บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถ่ายเป็นเลือด 800 ซีซี ความดันตกมาก อยู่ในภาวะทรงช็อก ไม่รู้สึกพระองค์ ข้าพเจ้าวิ่งไปเลยตอนนั้น เห็นพระองค์ได้รับการถวายเลือด ถวายอาหารทางเส้น หมอสันนิษฐานว่า เป็นเพราะทรงกังวล “ข้าพเจ้าถามพยาบาลว่า ทรงทำอะไรบ้างในวันสองวันนี้ ปรากฏว่า พระองค์ทรงดูข่าวน้ำท่วม แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักประชาชนเหมือนลูกเหมือนหลาน ทรงเป็นห่วงเป็นใย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งน้อยอยู่แล้ว แต่อาการที่แสดงออกทางร่างกาย พอเครียดขึ้นมาก็เกิดอาการทางกระเพาะ ลำไส้ ขณะนี้แพทย์ถวายการรักษาจนเป็นปกติแล้ว”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระดำรัสถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วยเช่นกัน พร้อมเผยวิธีที่ประชาชนสามารถให้กำลังใจทั้งสองพระองค์ได้ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็เช่นกัน ทรงห่วงราษฎรตลอดเวลา ทรงติดตามข่าวทั้งโทรทัศน์และวิทยุอยู่เสมอ ทรงถามข้าพเจ้าเรื่องที่ข้าพเจ้าออกมาเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยต่างๆ จะเห็นได้ว่า ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่ศิริราชก็จริง แต่พระทัยอยู่กับราษฎรทุกคน ถ้าใครรู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระทัย ขอให้อฐิษฐานในใจเท่านั้น ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนม์ยืน และทรงมีพระสุขภาพพลานามัยดี แค่คิดแค่นี้ข้าพเจ้าถือว่า กำลังใจของท่านทุกคนจะถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ”
2.“ยิ่งลักษณ์” ดึง “สุเมธ ตันติเวชกุล” นั่งที่ปรึกษา คกก.ยุทธศาสตร์ฯ น้ำ พร้อมเชื่อ น้ำทะเลหนุนกลางเดือน พ.ย.นี้ไม่รุนแรง!
สถานการณ์น้ำท่วมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่น้ำเริ่มลดระดับลง เช่น บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ,ย่านบางพลัด ฯลฯ ขณะที่ย่านบางแค แม้ระดับน้ำจะลดลงบ้างเล็กน้อย แต่ถือว่าระดับน้ำยังสูงอยู่ โดยเฉพาะที่บริเวณหมู่บ้านเศรษฐกิจ น้ำสูงประมาณ 1.30 เมตร ส่วนระดับน้ำบนถนนเพชรเกษมทั้งฝั่งขาเข้า-ขาออก สูงประมาณ 80-90 ซม. ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะดีขึ้น แต่มีจุดที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ ขอรอดูสถานการณ์วันที่ 13 พ.ย.ก่อน พร้อมเชื่อว่า สถานการณ์น้ำทะเลที่จะหนุนช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ไม่น่าจะรุนแรง
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้หลายพื้นที่น้ำได้ลดระดับลง แต่หลายพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วมก็เริ่มท่วมแล้ว เช่น ย่านรามอินทรา ,คันนายาว ,บางบอน ฯลฯ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันและนิคมฯ ลาดกระบังต่างพยายามเฝ้าระวังและป้องกันเต็มที่ โดยนิคมฯ บางชัน ได้ประกาศแผนฉุกเฉินขั้นที่ 1 จาก 3 ขั้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย.หลังระดับน้ำในคลองแสนแสบเอ่อขึ้นสูงถึงระดับ 1 เมตร ทางนิคมฯ บางชันจึงเตือนให้ผู้ประกอบการเตรียมขนของขึ้นที่สูงเพื่อหนีน้ำ ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่รับปากว่าจะป้องกันนิคมฯ บางชันจากภาวะน้ำท่วมได้ แต่จะพยายามปกป้องอย่างดีที่สุด โดยได้ให้กองทัพไปช่วยดูแล
ส่วนที่บ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งอยู่ในซอยโยธินพัฒนา 3 ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา เลขที่ 38/9 ซอยนวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่มนั้น ปรากฏว่า น้ำได้ผุดตามท่อขึ้นมาบริเวณหน้าบ้าน ขณะที่รั้วบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความสูงถึง 3 เมตร เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากมีการวางกระสอบทรายข้างประตูทางเข้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว มาคอยตรวจสอบสถานการณ์น้ำวันละ 5 ครั้งด้วย โดยจะตรวจสอบคลองหลักๆ ที่อยู่รอบๆ บ้านพัก คือ คลองลำเจียก คลองตาหนัง และคลองจั่น
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางป้องกันนิคมฯ บางชัน ก่อนได้ข้อสรุปว่า ให้ฝ่ายทหารจัดทำแผน “มะรุมมะตุ้ม” โดยจะทำให้ถนนเสรีไทยบริเวณแยกบางชันที่ผ่านไปยังนิคมฯ บางชันที่มีน้ำท่วมขังประมาณ 20 ซม.ให้อยู่สภาพแห้งสนิท โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่คืนวันที่ 11 พ.ย.เป็นต้นไป ด้วยการอุดและบล็อกท่อระบายน้ำ เพื่อให้น้ำที่ไหลเอ่อมา กลับไปสู่ระบบคลอง จากนั้นจะสูบน้ำออกจากถนนเสรีไทย
นอกจากนิคมฯ บางชันแล้ว ถนนพระราม 2 เป็นอีกจุดหนึ่งที่หลายฝ่ายกลัวว่าจะถูกน้ำท่วม ซึ่งจะส่งผลให้เส้นทางลงภาคใต้ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวถูกตัดขาด ซึ่งล่าสุดวันนี้(12 พ.ย.) ถนนพระราม 2 บางจุดได้มีน้ำท่วมขัง เช่น ช่วง กม.28 และ 35 คาดว่าเป็นผลจากน้ำทะเลหนุน ที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ รายงานว่า น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งระหว่างวันที่ 12-15 พ.ย. ขณะที่ จ.สมุทรสาคร ก็เตรียมพร้อมรับน้ำที่จะหลากจากเขตบางบอนและบางขุนเทียนเข้า ถ.พระราม 2 ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ จ.สมุทรสาครแล้ว
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรัฐบาลถูกมองว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ปรากฏว่ารัฐบาลได้พยายามตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาอีก หลังจากได้ตั้งมาแล้วหลายชุด คราวนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุด โดย 2 ขุดนี้จะทำงานคู่กัน ชุดแรกคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) มีนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นกรรมการด้วย ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2 คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า ได้เชิญนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการชุดนี้ด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังบอกด้วยว่า จะเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ รวมทั้งผู้มีประสบการณ์เรื่องผังเมือง ฯลฯ เข้ามาทำงานควบคู่กับที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่จะเชิญมาเช่นกัน
นอกจากความพยายามตั้งคณะกรรมการเพื่อกู้ภาพลักษณ์แล้ว รัฐบาลยังมีปัญหาเรื่องถุงยังชีพและของบริจาคช่วยผู้ประสบภัยที่ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าแพงเกินจริง โดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้จี้ให้รัฐบาลตรวจสอบหลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า ของบริจาคของกระทรวงมหาดไทยไม่สมราคาที่จัดซื้อจัดจ้าง โดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ที่ชัดเจนคือ 1.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ซื้อเรือท้องแบนไฟเบอร์กลาส 30 ลำ ราคาลำละ 2.5 แสนบาท ขอให้รัฐบาลช่วยพิสูจน์ว่าเรือนี้อยู่ที่ไหนและหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะราคาแพงมาก ราคาดังกล่าวสามารถซื้อเรือใหญ่ที่มีเครื่องยนต์ได้ถึง 2-3 ลำด้วยซ้ำ 2.ถุงยังชีพ ซึ่งมี 2 ราคา 800 บาท กับ 500 บาท ซึ่งกระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่ามีของมากมาย ทั้งข้าวถุง ปลากระป๋อง อาหารสำเร็จรูป แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่รับไป ยังไม่มีใครออกมายืนยันข้อมูลเหล่านี้ และ 3.สุขากระดาษ 3 หมื่นชุด ซื้อในราคาชุดละ 245 บาท ขณะที่สุขากระดาษของเครือซีเมนต์ไทยราคาเพียงชุดละ 111 บาทเท่านั้น แถมยังมีกระดาษชำระแถมให้ 2 ม้วน และถุงดำอีก 10 ใบ
ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องถุงยังชีพแพง โดยมีนายบรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยให้ตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 วัน ขณะที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ศปภ.ชี้แจงว่า ถุงยังชีพที่ ศภป.จัดซื้อมี 3 ราคา 1.ถุงละ 300 บาท เป็นสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่น้ำเริ่มท่วม แต่ยังไม่รุนแรง ซึ่งได้ยกเลิกจัดซื้อไปแล้ว 2.ถุงละ 500 บาท เป็นสิ่งของใช้ในชีวิตประจำวันและอาหารที่รับประทานได้ทันที สำหรับน้ำท่วมปานกลางและรุนแรง 3.ถุงละ 800 บาท มีสิ่งของ 8 รายการ เน้นอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน เช่น ข้าวสาร 5 กิโลกรัม 1 ถุง ,ข้าวสวยพร้อมรับประทาน ,ปลากระป๋อง ฯลฯ เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีน้ำท่วมรุนแรง ไม่สามารถประกอบอาหารรับประทานได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังใช้เวลาตรวจสอบ 2 วัน พล.ต.อ.ประชา ได้ออกมายืนยัน(10 พ.ย.)ว่า คณะกรรมการฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบแล้วว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะถุงยังชีพมีหลายขนาด และผู้จัดซื้อมีเพียงสำนักนายกฯ และกรมป้องกันและบรรเทาสารธารณภัย ส่วน ศปภ.ยังไม่ได้จัดซื้อแม้แต่ถุงเดียว เพราะใช้อาสาสมัครนำของที่ซื้อมาประกอบใส่เข้าไปในถุง ศปภ.มีหน้าที่แค่นำไปแจกจ่าย
3.สภาฯ ผ่านงบฯ ปี ’55 วาระแรกฉลุย ด้าน ปชป.ซัดรัฐบาลบริหารผิดพลาดกักน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ ส่งผลน้ำท่วมกรุง ขณะที่นักวิชาการ เล็งฟ้องรัฐบาล!
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ในวาระแรกขั้นรับหลักการ ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดประชุม 2 วัน 9-10 พ.ย. ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2555 โดยอ่านโพยซึ่งมีความยาว 25 หน้ากระดาษเอ 4 โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที สรุปว่า งบฯ ปี 2555 วงเงินทั้งสิ้น 2,380,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบฯ ปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 188,401.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ได้มีการจัดงบกลางสำหรับการเยียวยา ฟื้นฟูและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการวงเงิน 120,000 ล้านบาท รวมทั้งจัดเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ตามโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติและสาธารณภัยจำนวน 10,000 ล้านบาท รวมเป็น 130,000 ล้านบาท
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจัดสรรงบไม่สอดคล้องกับปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ 4 ข้อ เช่น การจัดทำงบของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและขาดความชัดเจนในแง่บริหารจัดการเศรษฐกิจในระยะกลางหลังผ่านพ้นวิกฤต ดังนั้นขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับสถานะการเงินการคลังของประเทศในช่วง 2 ปีข้างหน้าตามความเป็นจริง และกล้าทบทวนนโยบายของตัวเอง ต้องทำสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อช่วยประชาชนได้ทัน รวมทั้งต้องมีการใช้งบอย่างโปร่งใส “จากวันนี้ถึงกลางเดือน ธ.ค. เมื่อกระทรวง ทบวง กรม ทราบว่าจะนำเงินไปทำเรื่องฟื้นฟูน้ำท่วมอะไร ให้กรรมาธิการวิสามัญตัดออกจากงบกลาง แล้วให้แปรญัตติเพิ่มกลับมาให้อยู่ตามกระทรวงต่างๆ จะเป็นการยืนยันว่านายกฯ ไม่ประสงค์รวบอำนาจ แต่จะต้องให้งบเข้าสู่ช่องทางปกติ เพื่อยืนยันความโปร่งใส”
เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรยากาศการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2555 ทั้ง 2 วัน ส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องปัญหาน้ำท่วม โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างโยนความผิดพลาดกันไปมา โดยนายศรันย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายหนุนการจัดทำงบของรัฐบาล และให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมชี้ว่า ปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก 10 ยิ่งลักษณ์ หรือ 100 ผู้นำโลก ก็แก้ปัญหาไม่ได้ พร้อมกล่าวโจมตีว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ บริหารจัดการน้ำไม่เป็น
ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า เหตุน้ำท่วมหนักครั้งนี้มาจากรัฐบาลบริหารน้ำผิดพลาด เพราะพยายามกักน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไว้ โดยนายนิพิฏฐ์ อธิบายว่า นับจากวันยุบสภา น้ำในเขื่อนทั้งสองเขื่อนยังมีไม่เท่าไหร่ โดยเขื่อนภูมิพล กักน้ำอยู่ร้อยละ 46 ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์กักอยู่ร้อยละ 51 จากนั้นวันเลือกตั้ง 3 ก.ค. เขื่อนภูมิพลกักที่ร้อยละ 58 เขื่อนสิริกิติ์กักที่ร้อยละ 65 ต่อมาวันที่โปรดเกล้าฯ นายกฯ 8 ก.ค.ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ร้อยละ69 เขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ร้อยละ 85 แม้นายกฯ จะยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่ก็สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 176 วรรค 2 กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน สั่งปล่อยน้ำออกจากเขื่อนทั้งสองได้ เพราะหากปล่อยช้าไป จะมีน้ำเข้าเขื่อนมากในช่วงเดือน ส.ค.เนื่องจากพายุจะเข้าในช่วง 1-7 ส.ค. เพราะฉะนั้นจังหวะที่ควรระบายน้ำมากที่สุดคือ ต้นเดือน ส.ค. จึงชัดเจนว่า รัฐบาลบริหารความเสี่ยงผิดพลาด
นายนิพิฏฐ์ ยังแฉด้วยว่า ที่ผ่านมามีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์แบบฝืนธรรมชาติ สังเกตได้จากการที่นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ก.ย.โดยพูดชัดว่า ได้สั่งให้กรมชลประทานประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ลดการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพลและหน่วงน้ำไม่ให้เกิน 2,090 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อให้ชาวนาได้เก็บเกี่ยวข้าว นอกจากนี้วันที่ 8 ก.ย.นายธีระได้เดินทางไป อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมนายบรรหาร ศิลปะอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งนายบรรหารระบุว่า ต่อไป ปี 2555 น้ำจะไม่ท่วม อ.บางบาลแล้ว ได้สั่งให้กรมชลประทานจัดการน้ำที่ อ.บางบาล ให้ดี โดยให้คุมน้ำไม่ให้ไหลเกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และกรมชลประทานต้องกักน้ำในเขื่อนภูมิพลไว้ไม่ให้ปล่อยมากเกินไป ซึ่งชัดเจนว่านี่คือการเบี่ยงเบนธรรมชาติน้ำและกักน้ำไว้ น้ำจึงไหลออกทุ่งมาท่วม กทม.แต่ไม่ปล่อยไปทาง จ.สุพรรณบุรี
ด้านนายธีระ ยอมรับว่า ได้สั่งงดระบายน้ำออกจากเขื่อนตามที่นายนิพิฏฐ์พูดจริง แต่อ้างว่าที่ทำเช่นนั้นเพราะช่วงนั้นเริ่มมีการเพาะปลูก และว่า “เดือน ก.ค.-ส.ค.2554 ลุ่มน้ำยมก็ท่วม ลุ่มน้ำน่านก็ท่วม จะให้เขื่อนสิริกิติ์ระบายน้ำมาซ้ำเติมประชาชนอีกหรือ ไม่ว่าอยู่ในรัฐบาลไหน ผมก็ต้องทำอย่างนี้ เพราะการพยากรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยาบอกล่วงหน้าแค่สัปดาห์เดียว ถ้าคาดการณ์ได้หมดเหมือนขงเบ้งที่รู้ดินฟ้าอากาศ ก็ไม่ต้องมาเถียงกันอย่างนี้”
ทั้งนี้ หลังที่ประชุมสภาฯ ใช้เวลาอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ในวาระ 1 ทั้งสิ้น 2 วัน รวม 29 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ ด้วยคะแนนเสียง 273 ต่อ 2 งดออกเสียง 177 และไม่ลงคะแนนเสียง 9 จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 63 คน เพื่อแปรญัตติใน 30 วัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาแฉว่า รัฐบาลบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ส่งผลให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้ แม้แต่นักวิชาการอย่าง รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยืนยันเช่นกันว่า รัฐบาลบริหารจัดการน้ำผิดพลาดจนทำให้ทรัพย์สินประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก ดังนั้น รศ.ดร.ณรงค์จึงได้เตรียมร่วมกับสภาทนายความยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม ไม่ใช่ได้รับแค่ครัวเรือนละ 5,000 บาทตามที่รัฐบาลระบุ “ได้หารือกับทนายความแล้ว พบว่ามีอยู่ 2-3 ประเด็นที่เป็นรูปธรรมพอที่จะฟ้องร้องถึงความเสียหายว่ามีอะไรบ้าง ใครบ้างที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะรวบรวมผู้ที่มีความรู้เพื่อร่างประเด็นนำไปเสนอว่ามีใครบ้างที่ได้รับความเสียหาย ก่อนที่จะยื่นฟ้องหน่วยงานต่างๆ อาจมีทั้งรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกรุงเทพมหานคร”
4.ยูเนสโก ประกาศยกย่อง 2 คนไทย “พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า-ม.ล.บุญเหลือ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก!
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ได้มีมติประกาศยกย่องบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกทั้งสิ้น 98 รายการ เช่น 200 ชาตกาลของริชาร์ด วากเนอร์ นักเขียนชาวเยอรมัน ,300 ปีชาตกาลของฌอง-ฌาค รุสโซ นักปรัชญา นักเขียน และนักการศึกษาชาวสวิส ทั้งนี้ มีบุคคลสำคัญของไทย ได้รับการประกาศยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วยตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
สำหรับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้รับการประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลที่มีผลงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์(สาธารณสุข) วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และจะครบรอบ 150 ปีพระราชสมภพในวันที่ 10 ก.ย.2555 ทั้งนี้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงเป็นหม่อมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) และได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีเมื่อปี 2423 ทรงมีพระราชโอรสและธิดา 8 พระองค์ เสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อปี 2498 พระองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพยืนยาว 6 แผ่นดิน ระหว่าง พ.ศ.2405-2498 เป็นเวลา 93 ปี สำหรับคุณูปการที่พระองค์ทรงทำไว้ ได้แก่ ทรงสร้างสถานพยาบาลเพื่อชุมชนชาวประมงและเกษตรกรรม ที่ จ.ชลบุรี ,ทรงช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วยผ่านสภากาชาดไทย หรือชื่อเดิม สภาอุณาโลมแดง ที่ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนี และทรงก่อตั้งโรงเรียนราชินีบน ที่ถนนเขียวไข่กา บางกระบือ เป็นต้น
ส่วน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้รับการประกาศยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในฐานะที่เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านศึกษา วัฒนธรรม ภาษาและวรรณคดี การส่งเสริมสถานภาพสตรี และการส่งเสริมสันติภาพ รวมทั้งในโอกาส 100 ปีชาตกาลในวันที่ 13 ธ.ค.2555 ทั้งนี้ ม.ล.บุญเหลือ ถือกำเนิดในราชสกุลกุญชร เป็นบุตรคนสุดท้ายของพระเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ และหม่อมนวล ม.ล.บุญเหลือเป็นผู้มีคุณูปการอย่างสำคัญต่อวงการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการขยายโอกาสและการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับการมัธยมศึกษา การฝึกหัดครู และการอุดมศึกษา การอนุรักษ์ภาษาไทย การวิจารณ์วรรณคดี การส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง ฯลฯ
สำหรับผลงานนิพนธ์ที่สำคัญของ ม.ล.บุญเหลือ ได้แก่ วิเคราะห์รสวรรณคดีภาษาไทย ,ภาษาไทยวิชาที่ถูกลืม ส่วนผลงานนวนิยาย ได้แก่ คนถูกคนผิด ,ฉากหนึ่งในชีวิต ,ศิลาอาถรรพ์ ,สะใภ้แหม่ม และสุรัตนารี เป็นต้น
ด้านนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เผยว่า กระทรวงฯ และมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เตรียมเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองและเผยแพร่พระเกียรติคุณให้แพร่หลายทั้งในประเทศและระดับนานาชาติในปี 2555 ในฐานะที่พระองค์ทรงมีคุณูปการต่อสังคมไทยในหลายประการ และทรงเป็นแบบอย่างที่ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ