โฆษก ศปภ.ระบุจัดการบริหารของบริจาคทำเป็นขั้นตอน “การุณ” คุมสต๊อก ด้าน พม.-ปภ.กำหนดพื้นที่โดยวัดตามความวิกฤต ยันไร้สั่งใบสั่งฮุบของบริจาคลงพื้นที่หาเสียง ทุกจุดหมายปลายทางส่งถึงมือ ปชช.ตามใบกำกับ
วันที่ 16 ต.ค. พล.ท.พลางกูร กล้าหาญ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ในฐานะรับผิดชอบฝ่ายขนส่งของบริจาคเพื่อไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย เปิดเผยว่า ในการบริหารจัดการของบริจาคที่ส่งมายังท่าอากาศยานดอนเมือง ทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม., กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ลำดับความสำคัญและความจำเป็นของพื้นที่ก่อนแจกจ่ายไปสู่พี่น้องประชาชน
พล.ท.พลางกูรกล่าวต่อว่า ส่วนการขออาสาสมัครมาช่วยบรรจุถุงยังชีพหรือกิจกรรมต่างๆใน ศปภ.เช่น กำลังบรรจุทรายใส่กระสอบหรือตามคำร้องขอจากพื้นที่เดือดร้อนต่างๆ เป็นหน้าที่ของนายสมบัติ งามบุญอนงค์ บก.ลายจุด เป็นผู้ดูแลประสานงานจัดหากำลังอาสาสมัครภาคประชาชนเข้ามาเสริมสนับสนุน ทั้งนี้ ในแต่ละวันจะมีรถขนของบริจาคออกจาก ศปภ.วันละ 20-30 คัน ส่วนรถบรรทุกได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกที่นำมาสนับสนุน 5-10 คัน และที่เหลือภาคเอกชนขออาสาเข้ามาร่วมช่วยเหลือ เช่น บริษัท ไปรษณีไทย โดยรัฐบาลหรือศปภ.ออกค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนการกำหนดจุดส่งของบริจาคเพื่อนำรถขนส่งของบริจาคเข้าไปในพื้นที่ จะมีการประสานงานระหว่าง ปภ.กับผู้ว่าราชการจังหวัดจากนั้นจะประสานต่อผ่านนายอำเภออีกครั้ง เพื่อแจ้งจุดที่ชัดเจน
“การนำรถขนของบริจาคไปแจกจ่ายและรถแต่ละคันจะต้องมีใบกำกับจุดหมายปลายทางก่อนออกเดินทางทุกครั้ง จึงยืนยันได้ว่าไม่มีการเล่นเส้นหรือใบสั่งให้ส่งขอบริจาคไปเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะพิศษให้กับนักการเมือง และขอยืนยันว่าไม่มีใครจะมาสั่งให้รถขนของบริจาคไปเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ไปแจกของยังจังหวัดหรือพื้นที่ใดของนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษได้ เพราะเราใช้ระบบการบริหารจัดการตามลำดับความสำคัญของพื้นที่เดือดร้อน” พล.ท.พลางกูรกล่าว
นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า ไม่มีการซิกแซกหรือเล่นพรรคเล่นพวกของ ส.ส.หรือ ส.ว.ในการขอโควตาของบริจาค กระสอบทราย หรือ เครื่องสูบน้ำไปยังพื้นที่ตัวเองเพื่อหวังหาเสียงอย่างเด็ดขาด แต่เน้นการจัดส่งจัดหาตามลำดับความเดือดร้อน แม้ในกระบวนการจัดการฝ่ายการเมืองจะเข้ามาบริหารจัดการก็ตามที แต่เนื่องด้วยฝ่ายการเมืองย่อมทราบความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดี ทั้งนี้ ในการส่งของแจกจะเร่งให้ทันต่อเวลาและถึงมือประชาชนโดย ส.ส.และส.วจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการให้ข้อมูลว่ามีประชาชนพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนตรงจุดไหนอย่างไรบ้าง จากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่ของฝ่ายราชการ คือ พม. หรือ ปภ. เป็นต้น เข้ามาดำเนินการ