ปภ.สรุปสถานการณ์น้ำท่วมยังวิกฤตหนัก 26 จังหวัด เสียชีวิตพุ่ง 283 ราย แนะเฝ้าระวังดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก 14-15 ต.ค.นี้ เตือนร่องมรสุมผ่านภาคกลาง-ตะวันออก มีฝนตกหนัก พร้อมขอให้เฝ้าระวัง ทั้งสังเกตความผิดปกติทางธรรมชาติ
วันนี้ (13 ต.ค.) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 26 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร ตาก และ ราชบุรี 188 อำเภอ 1,364 ตำบล 10,443 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 761,044 ครัวเรือน 2,250,469 คน ผู้เสียชีวิต 283 ราย สูญหาย 2 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 9,670,726 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คาดว่า จะเสียหาย บ่อปลา 128,429 บ่อ ด้านปศุสัตว์ สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 9,956,723 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 225 สาย แยกเป็น ทางหลวง 62 สาย ใน 17 จังหวัด ทางหลวงชนบท 163 สาย ใน 34 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 131 เปอร์เซ็นต์ ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมภาคใต้ ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14-15 ต.ค.นี้ ร่องมรสุมจะเลื่อนไปพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว โดยเฉพาะจังหวัดแพร่ (อำเภอเด่นชัย ) สุโขทัย (อำเภอศรีสัชนาลัย) อุตรดิตถ์ (อำเภอลับแล) จันทบุรี (อำเภอมะขาม อำเภอเขาคิฌกูฏ ลำเภอขลุง) ตราด (อำเภอเกาะช้าง อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่) พังงา (อำเภอตะกั่วป่า) ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มโดยบางพื้นที่น้ำในคลองสูงขึ้นและไหลแรง
นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม รวมทั้งหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ หากน้ำในลำห้วยเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดินบนภูเขา มีต้นไม้ขนาดเล็กไหลมากับน้ำ มีเสียงดังผิดปกติจากป่าต้นน้ำ ให้อพยพออกจากพื้นที่ไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยและพ้นจากแนวการไหลของน้ำ