xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 31 ก.ค.-6 ส.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. ครม. อนุมัติงบจัดงานพระศพ “เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ” 100 ล้าน ด้านกรมศิลปากร คาด ใช้เวลาสร้างพระเมรุ 8 เดือน!

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดพิเศษ เพื่อเตรียมงานพระราชพิธีพระราชเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี หลังประชุม นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เผยว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ พร้อมอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดงาน 100 ล้านบาท สำหรับผู้ที่รับหน้าที่ออกแบบพระเมรุ คือ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะสถาปนิกที่เคยออกแบบพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

นายนิพิฎฐ์ เผยด้วยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระบัญชาให้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าภคินิเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เหมือนกับเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขณะที่กรมศิลปากรและ พล.อ.ต.อาวุธ จะใช้เวลาจัดสร้างพระเมรุบริเวณท้องสนามหลวงประมาณ 8 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค.2554 ไปจนถึงเดือน มี.ค.2555 อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรประเมินเบื้องต้นว่า น่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบพระเมรุทั้งหมด 208.8 ล้านบาท

ด้านนายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง ได้แสดงความไม่เห็นด้วยที่กรมศิลปากรจะใช้เวลาก่อสร้างพระเมรุนานถึง 8 เดือน โดยบอกว่า ส่วนตัวแล้วมองว่าการจัดสร้างพระเมรุควรจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 ธ.ค.นี้ เนื่องจากเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ซึ่งจะมีการจัดงานใหญ่ ดังนั้นไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะมีพระเมรุตั้งอยู่ในท้องสนามหลวง นอกจากนี้ในปี 2555 จะมีการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ไม่เหมาะสมเช่นกันที่จะจัดสร้างพระเมรุ ดังนั้น หากกรมศิลปากรทำไม่ทัน ก็ควรจะไปจัดสร้างในปี 2556 ไปเลย นายรัตนาวุธ ยังแนะด้วยว่า ความจริงกรมศิลปากรน่าจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และว่า หากกรมศิลปากรสร้างไม่ได้ สำนักพระราชวังอาจจะเสนอดำเนินการจัดสร้างเอง “ขอให้ไปคิดดูเอาเองว่า พาวิลเลียนที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่ยิ่งใหญ่ลงทุนเป็นพันล้าน ก็ไม่ได้สร้างเป็นปี อย่างน้อยกรมศิลปากรควรจะบอกให้ชัดเจนก่อนวันที่ 15 ส.ค.นี้ ว่าจะทำได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบถึงงานวันที่ 5 ธ.ค.”

ด้านคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 4 ส.ค. โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังประชุม นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เผยว่า กรมได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้ดูแลการจัดสร้างพระเมรุและอาคารประกอบ รวมทั้งการบูรณะปฏิสังขรณ์ราถชรถและพระยานมาศทั้งหมด โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระบัญชาให้แล้วเสร็จในช่วงปลายเดือน ก.พ.-มี.ค.2555 รวมระยะเวลา 7-8 เดือน

2. “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ” ทรงออกแถลงการณ์พร้อมมอบพระราชทรัพย์ เพื่อยุติคดีอายัดเครื่องบิน ด้านรัฐบาล ขอแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน!

แถลงการณ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร( 31 ก.ค.)
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. สำนักราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การอายัดเครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จากกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์ บาว เอจี โดยแถลงการณ์ ระบุตอนหนึ่งว่า แม้พระองค์จะมิได้มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทดังกล่าว และมิได้ทรงเป็นผู้สร้างเรื่องหรือเหตุการณ์พิพาทขึ้นมา แต่ผลจากการที่ศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้อายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ไว้เป็นของกลางในคดีพิพาทระหว่างบริษัท วอลเตอร์ บาว กับรัฐบาลไทย โดยพร้อมถอนอายัด แต่รัฐบาลไทยต้องวางเงินประกัน 20 ล้านยูโร หรือ 840 ล้านบาทนั้น ได้นำมาซึ่งความเดือดร้อนพระราชหฤทัย กระทบต่อพระราชกรณียกิจ และเสี่ยงต่อการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระราชกระแสและพระราชปณิธานที่จะทรงตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทย และทรงใช้หนี้บุญคุณให้กับประเทศชาติในพระราชฐานะที่ทรงเป็นประชาชนชาวไทยพระองค์หนึ่ง และทรงเป็นองค์สยามมกุฎราชกุมารของประเทศไทย และเพื่อให้ข้อพิพาทดังกล่าวจบลงด้วยดีและรวดเร็ว จึงจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาทดังกล่าว

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวันที่ 1 ส.ค. โดยได้มีการหารือเรื่องคดีที่เยอรมนีอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ด้วย ทั้งนี้ ครม.ได้รับทราบแถลงการณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และจะยึดแนวพระราชวินิจฉัยที่จะเร่งรัดระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์ บาว โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท รวมทั้งให้มีมาตรการในการพิทักษ์ทรัพย์สมบัติของคนไทยในต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด อาจจะมีฝ่ายอายัดทรัพย์ตามไปอายัดทรัพย์ของบุคคลที่สาม เหมือนกรณีที่ยึดเครื่องบินส่วนพระองค์ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(2 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือถึงแนวทางการดำเนินการคดีเยอรมนีอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์อีกครั้ง หลังประชุม นายอภิสิทธิ์ เผยว่า ครม.จะสนองพระราชปณิธานเพื่อให้คดียุติโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีหลายแนวทางที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องวางเงินประกัน โดยได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารให้ทรงทราบแล้วว่า รัฐบาลขอดำเนินการตามแนวทางด้วยตัวของรัฐบาลเองก่อน

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แย้มว่า รัฐบาลจะเดินหน้าคดีหลักคือคดีที่บริษัท วอลเตอร์ บาว เรียกร้องค่าเสียหาย 30 ล้านยูโร(1,500 ล้านบาท) ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกเลิกการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์โดยปริยาย เหตุที่มีการยึดเครื่องบินส่วนพระองค์ไว้เพราะคดีหลักยังไม่เสร็จ “ล่าสุดเรื่องนี้ได้ข้อสรุปแล้ว คือพระองค์ท่านไม่ต้องใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการแล้ว แต่จะเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะเข้าไปรับผิดชอบทั้งหมด โดยเราจะดำเนินการในคดีใหญ่และเมื่อเริ่มคดีใหญ่ก็จะยกเลิกการอายัดเครื่องบินไปโดยปริยาย”

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็นคณะของอัยการสูงสุด ,กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปเยอรมนีแล้วเมื่อวันที่ 3 ส.ค. โดยนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม คาดว่า คดีอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์น่าจะได้ข้อยุติในสัปดาห์หน้า

3. สภาฯ โหวตเลือก “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกฯ แล้ว ขณะที่เจ้าตัว เผย ภารกิจแรกหลังโปรดเกล้าฯ เยี่ยมเหยื่อน้ำท่วม!

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.แสดงความยินดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังได้รับการโหวตจากสมาชิกสภาฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี(5ส.ค.)
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. เวลา 17.00น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเปิดการประชุมรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำรัสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบและสุจริตจริงใจเพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศ และความผาสุกร่มเย็นของประชาชน โดยสำนึกและตระหนักว่า ประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ เหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้น “ดังนั้น เรื่องราวและปัญหาใดใดที่เข้ามาสู่สภาแห่งนี้ จึงควรหวังได้ว่าจะมีการศึกษาพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ และตกลงกันด้วยเหตุและผล ด้วยความสมัครสมานปรองดอง และความเสียสละอดทนและอดกลั้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะพึงเกิดมีแก่ประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ”

วันต่อมา(2 ส.ค.) ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ อีก 2 คน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น ได้มีชายลึกลับโทรศัพท์เข้ามายังสำนักงานเลขาธิการสภาฯ โดยขู่ว่ามีการวางระเบิดภายในรัฐสภา 6 จุด แต่หลังจากตรวจสอบไม่พบวัตถุต้องสงสัยหรือสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งในเวลาต่อมา ตำรวจสามารถรวบตัวผู้ที่โทรขู่ได้ ทราบชื่อคือ นายวีระพงศ์ นิลยกานนท์ อายุ 55 ปี เป็นชาวชุมพร โดยจับกุมได้ที่คอนโดมิเนียมคลองจั่น เพลส ย่านหัวหมาก ซึ่งเจ้าตัวสารภาพว่าโทรไปข่มขู่ที่สภาฯ จริง แต่ไม่ได้วางระเบิด เหตุที่ทำไปเพราะคับแค้นใจที่คนดีไม่ได้เข้าสภาฯ แต่คนไม่ดีกลับได้เข้าสภาฯ ทั้งนี้ หลังตำรวจนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องศาล ศาลได้พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 15 วัน

สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ นั้น ล้วนเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ตามที่พรรคเพื่อไทยได้มีมติไว้แล้ว โดยไม่มีพรรคอื่นเสนอชื่อแข่งแต่อย่างใด โดยประธานสภาฯ คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย รองประธานสภาฯ คนที่ 1 คือ นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ส่วนรองประธานสภาฯ คนที่ 2 คือ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ในคืนวันเดียวกัน(2 ส.ค.) จากนั้น นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ได้นัดประชุมสภาฯ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 ส.ค.

สำหรับบรรยากาศการประชุมสภาฯ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคเพื่อไทยได้มีมติให้นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงเวลาที่นายเสนาะลุกขึ้นเสนอชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรากฏว่า นายเสนาะมีอาการตื่นเต้นมากจนพูดผิดอยู่หลายครั้ง โดยครั้งแรกบอกว่า ขอเสนอชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พอรู้ว่าพูดผิดก็พูดใหม่แต่ก็ยังพูดผิดอีก โดยบอกว่า “เป็นนายกรัฐมนตรีมหาดไทย” และได้พูดแก้ไขอีกครั้งจนถูกต้อง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีมติไม่เสนอชื่อเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังการลงคะแนนด้วยการขานชื่อ ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนน 296 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง และงดออกเสียง 197 เสียง ถือว่าเสียงของสภาเกินกึ่งหนึ่ง จึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก หลังทราบผล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ลุกขึ้นเดินไหว้ขอบคุณสมาชิก ก่อนเดินไปไหว้ขอบคุณนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าไปจับมือแสดงความยินดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เช่นกันโดยบอกว่า “ยินดีด้วยครับ พวกผมก็ยินดีที่จะทำงานร่วมกัน” ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยกมือไหว้ขอบคุณ หลังประชุมสภาฯ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย พร้อมเผยว่า ภารกิจแรกที่ตนจะทำหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ คือ การลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย

ด้านสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับแจ้งจากสำนักราชเลขาธิการว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 ส.ค.นี้ เวลา 17.30น.ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

4. กกต.เสียงข้างมากมีมติ 4 ต่อ 1 รับรอง “จตุพร” เป็น ส.ส. อ้าง กลัวติดคุกเพราะถูกฟ้อง ด้านศาล อนุญาตให้ “จตุพร-นิสิต” ประกันตัวแล้ว!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขึ้นรถปราศรัยทันทีหลังได้รับการประกันตัว(2 ส.ค.)
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประชุมพิจารณาว่าจะประกาศรับรองนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 8 พรรคเพื่อไทย เป็น ส.ส.หรือไม่ เนื่องจากนายจตุพรถูกศาลเพิกถอนการประกันตัวในคดีก่อการร้ายและขณะนี้อยู่ระหว่างถูกคุมขังโดยหมายของศาล รวมทั้งไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. โดยก่อนหน้านี้ แกนนำคนเสื้อแดงได้ออกมาขู่ว่า หาก กกต.ไม่ประกาศรับรองนายจตุพรเป็น ส.ส.จะฟ้อง กกต.ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งในที่สุด ที่ประชุม กกต.ได้มีมติ 4 ต่อ 1 ให้ประกาศรับรองการเป็น ส.ส.แก่นายจตุพรไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากครบ 30 วันที่ กกต.มีอำนาจพิจารณารับรองผลเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม กกต.ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคำร้องคัดค้านการประกาศรับรองนายจตุพรจำนวน 3 คำร้อง คือคำร้องของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน และคำร้องของคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

สำหรับ กกต.เสียงข้างมาก 4 เสียงที่ลงมติประกาศรับรองนายจตุพรเป็น ส.ส. ประกอบด้วย นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ,นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ,นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง และนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ส่วน กกต.เสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.

ทั้งนี้ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย อ้างว่า เหตุที่ กกต.ต้องประกาศรับรองนายจตุพรเป็น ส.ส. เพราะประชาชนลงประชามติเห็นชอบให้นายจตุพรเป็น ส.ส.แล้ว หาก กกต.ไม่ประกาศรับรองให้เป็น ส.ส. อาจถูกฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้ กกต.ติดคุกได้ ส่วนประเด็นที่ว่านายจตุพรขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่จากกรณีที่ถูกคุมขังและไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.นั้น นายสมชัย บอกว่า ต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบทำความเห็นเสนอเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมือง(นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.) ให้ความเห็นก่อน หากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่านายจตุพรขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กกต.จะต้องส่งเรื่องให้ประธานสภาฯ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของนายจตุพรต่อไป

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความผิดหวังที่ กกต.เสียงข้างมากมีมติประกาศรับรองนายจตุพรเป็น ส.ส. โดยบอกว่า กกต.ชุดนี้สร้างความผิดหวังให้ประชาชนมาก หลายคนบอกตนว่า กกต.ชุดนี้เป็นความสูญเปล่าที่ประเทศชาติจะต้องให้ความสนใจว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหานี้ได้ จะบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัดเพื่อให้การเลือกตั้งยุติธรรมก็ไม่แสดงอะไรออกมา วินิจฉัยอะไรออกมาก็ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของประชาชน

ทั้งนี้ หลัง กกต.ประกาศรับรองการเป็น ส.ส.แก่นายจตุพร ปรากฏว่า นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายจตุพร ได้ไปยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์จำนวน 1 ล้านบาทต่อศาล เพื่อขอประกันตัวนายจตุพรออกจากคุกทันที ขณะที่นายคารม พลทะกลาง ทนายความของกลุ่มคนเสื้อแดง ก็ได้ไปยื่นหลักทรัพย์ 1 ล้านบาทเพื่อขอประกันตัวนายนิสิต สินธุไพร แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ถูกคุมขังในคดีก่อการร้ายเช่นกัน ด้านศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 2 คนระหว่างพิจารณาคดี โดยตีราคาวงเงินประกันคนละ 6 แสนบาท แต่มีเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้ง 2 กระทำการใดใดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และห้ามนายนิสิตเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

5. ที่ประชุมพรรค “ปชป.” มีมติเลือก “อภิสิทธิ์” รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกสมัย ด้าน “เฉลิมชัย” คั่วเลขาธิการพรรค!

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.พร้อมด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคคนใหม่(6 ส.ค.)
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ โดยบรรดาแกนนำและ ส.ส.ของพรรคได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ที่ประชุมเริ่มด้วยการเลือกตัวหัวหน้าพรรคก่อน โดยใช้วิธีเข้าคูหาลงคะแนนลับ ซึ่งผลปรากฏว่า ที่ประชุมพรรค 96.038% ลงคะแนนเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคต่อ ถือว่าคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้เสนชื่อรองหัวหน้าพรรค 6 คน เพื่อให้ที่ประชุมเลือกเหลือ 3 คน ประกอบด้วย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ,นายกรณ์ จาติกวณิช ,นายจุติ ไกรฤกษ์ ,นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ,นายวิฑูรย์ นามบุตร และนายธีระ สลักเพชร แต่นายวิฑูรย์ นายกรณ์ และนายธีระ ขอถอนตัว นายอภิรักษ์ นายจุติ และนายชำนิ จึงได้เป็นรองหัวหน้าพรรค

สำหรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคนั้น นายอภิสิทธิ์ได้เสนอชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ แต่นายชัยวุฒิขอถอนตัว ที่ประชุมจึงลงคะแนนเลือกนายเฉลิมชัยเป็นเลขาธิการพรรค ส่วนรองเลขาธิการพรรค นายเฉลิมชัยได้เสนอชื่อนายนิพนธ์ บุญญามณี ,นายนราพัฒน์ แก้วทอง ,นายศุภชัย ศรีหล้า ,นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ,นายธีระชาติ ปางวิรุฬรักษ์ และนายอภิชาต สุภาแพ่ง แต่นายธีระชาติ นพ.วรงค์ และนายอภิชาตขอถอนตัว นายนิพนธ์ นายนราพัฒน์ และนายศุภชัย จึงได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการพรรค

ขณะที่ตำแหน่งเหรัญญิกพรรค นายอภิสิทธิ์เสนอชื่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ และนางผุสดี ตามไท แต่นางผุสดีขอถอนตัว ที่ประชุมจึงเลือกนายชินวรณ์เป็นเหรัญญิกพรรค ส่วนตำแหน่งนายทะเบียนพรรค นายอภิสิทธิ์เสนอชื่อนางอัญชลี วานิช เทพบุตร และนายนคร มาฉิม แต่นายนครขอถอนตัว ทำให้นางอัญชลีได้เป็นนายทะเบียนพรรค สำหรับตำแหน่งโฆษกพรรค นายอภิสิทธิ์เสนอชื่อนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี แต่นายอรรถวิชช์ขอถอนตัว นายชวนนท์จึงได้เป็นโฆษกพรรค

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวหลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกสมัย โดยขอบคุณกรรมการบริหารพรรคชุดเก่าที่ทำงานอย่างหนัก แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ก็ตาม พร้อมขอบคุณนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ที่แม้จะไม่ได้เข้าประชุม รวมทั้งขอบคุณนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ที่เหน็ดเหนื่อยอย่างมาก และแม้นายสุเทพจะไม่ได้รับตำแหน่งใดใดในกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่นายสุเทพก็พร้อมสนับสนุนพรรคอย่างเต็มที่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น