นักวิชาการด้านดาราศาสตร์ เผยคืนนี้ประมาณตี 2 จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกหรือซูเปอร์มูน บวกกับคืนนี้เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง จะทำให้คนบนโลกเห็นดวงจันทร์กลมโต สว่างสวยงามมากสุดในรอบ 18 ปี ยันเป็นปรากฎการณ์นี้ทำให้น้ำขึ้นสูงกว่าปกติเท่านั้นไม่เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่อย่างใด
วันนี้ (19 มี.ค.) "ดร.ศรัณย์" รองผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าในเวลาประมาณ 02.00 น.วันที่ (20 มี.ค.) จะเกิด ปรากฏการณ์ดวงจันทร์โคจรใกล้โลก หรือ ซูเปอร์มูน ทำให้มีหลายฝ่ายกังวล ว่าอาจส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุถล่ม สึนามิ หรือ ภูเขาไฟระเบิดเกิดขึ้น ทั้งนี้ ดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี จึงมีจุดที่อยู่ไกลและใกล้ที่สุด ทำให้ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกเป็นปรากฎการณ์ปกติ โดยในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะเต็มดวงและมีระยะห่างจากโลกเพียง 356,577 กิโลเมตร ทำให้สามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3 % ส่วนคำว่าซูปเปอร์มูน เป็นคำเรียกกันเอง ในทางดาราศาสตร์ไม่มีคำนี้ สำหรับปรากฏการณ์นี้ จะทำให้น้ำขึ้นสูงกว่าปกติ แต่แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ไม่มีอิทธิพล ทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวผิดปกติ ดังนั้นการนำปรากฏการณ์ดังกล่าวมาผูกกับเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น หรือ การทำนายว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต จึงเป็นเพียงการนำเรื่องมาผูกตามจินตนาการเท่านั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก
ทางด้าน นายสิทธิชัย จันทรศิลปิน นักวิชาการดาราศาสตร์ หัวหน้าท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ซูเปอร์มูนมีความพิเศษคือ ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกมากที่สุดและเป็นคืนวันเพ็ญ ดวงจันทร์เต็มดวงกลมโตและจะมีสว่างสวยงามมากที่สุดในรอบ 18 ปี หากท้องฟ้าโปร่งไม่มีเมฆบดบัง คนไทยจะได้อาบแสงจันทร์พร้อมกับศึกษาเรียนรู้ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า โดยดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรีเกือบกลม ทำให้ระยะใกล้ไกลระหว่างดวงจันทร์กับโลกมีระยะทางไม่เท่ากัน
"ช่วงเวลาดีที่สุดที่จะชมดวงจันทร์คือ ดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้า ถ้าจะให้สนุกมากขึ้นควรสังเกตสีเทาเข้มที่อยู่ในดวงจันทร์เป็นรูปคล้ายกระต่าย สีเทาเข้มคือพื้นผิวบนดวงจันทร์เป็นที่ราบต่ำ บริเวณนี้เป็นจุดที่ยานอพอลโล 11 ลงเหยียบดวงจันทร์ ส่วนสีขาวสว่างไสวของดวงจันทร์ เป็นพื้นที่ราบสูง สะท้อนแสงจากพระอาทิตย์กลับมายังโลกได้มากกว่า นอกจากนี้ ในคืนวันที่ 19 มีนาคม ยังมีดาวเสาร์ขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะสังเกตเห็นเป็นแสงสว่างสีเหลือง เคียงคู่กับดวงจันทร์กลมโต" หัวหน้าท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เผย
นายสิทธิชัย ยังกล่าวอีกว่า ช่วงวงโคจรที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเรียกว่า "เปริจี" มีระยะทางประมาณ 356,000 กิโลเมตร ส่วนช่วงวงโคจรที่ห่างจากโลกมากที่สุดเรียกว่า "อะโปจี" มีระยะทางประมาณ 407,000 กิโลเมตร การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกและโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ในวันที่ 19 มีนาคม น้ำทะเลจะขึ้นสูงมากกว่าปกติ และไม่ส่งผลต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่อย่างใด
ชมภาพจันทร์กลมโตกระจ่างฟ้า เหนือกรุงเทพมหานคร ที่โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 18 ปี