xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 7-16 มี.ค.2553

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มเสื้อแดง ยกระดับการต่อสู้ด้วยการเจาะเลือด เพื่อไปเทหน้าทำเนียบฯ หลังนายกฯ และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันไม่ยุบสภา(16 มี.ค.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. มือมืด ยิงเอ็ม 79 ถล่ม “ร.1 พัน 1 รอ.”ส่งผล ทหารเจ็บ 2 นาย ด้าน “เสื้อแดง” รีบปัด ไม่เกี่ยว!


ความคืบหน้ากรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นัดชุมนุมใหญ่ใน กทม.เพื่อขับไล่รัฐบาลในวันที่ 14 มี.ค. โดยเริ่มเคลื่อนพลจากต่างจังหวัดตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.นั้น ปรากฏว่า ก่อนจะถึงวันเคลื่อนพล ได้เกิดเหตุการณ์อาวุธปืนและระเบิดหายไปจากคลังอาวุธของกองพันทหารช่างที่ 401 จ.พัทลุงจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย ระเบิดเอ็ม 79 กระสุนปืนเอชเค และปืนพก ด้าน พล.ท.พิเชษฐ์ พิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนแล้ว พร้อมสั่งกักบริเวณเจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรยามทั้งหมด

ส่วนการเตรียมชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงนั้น แม้จะมีการประกาศว่า จะชุมนุมอย่างสันติวิธี แต่กลับมีแกนนำบางคน เช่น นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ได้ประกาศชักชวนให้ผู้ที่จะมาร่วมชุมนุมนำขวดบรรจุน้ำมันติดตัวมาด้วย พร้อมขู่ว่า กรุงเทพฯ เป็นทะเลเพลิงแน่นอน เมื่อสถานการณ์ส่อว่าน่าจะเกิดความรุนแรงระหว่างการชุมนุม ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง(คตม.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน จึงเสนอให้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ระหว่างวันที่ 11-23 มี.ค. รวม 13 วัน ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบ โดยให้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ มีผลครอบคลุมพื้นที่ กทม.และนนทบุรีทั้งจังหวัด รวมทั้งบางพื้นที่ของ 6 จังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย จ.ปทุมธานี ,สมุทรสาคร ,สมุทรปราการ ,นครปฐม ,ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจเลื่อนกำหนดเดินทางไปเยือนออสเตรเลียระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค.ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า เมื่อ คตม.เห็นว่าสถานการณ์มีความจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ตนในฐานะผู้บริหารสูงสุดและมีอำนาจโดยตรง จึงควรอยู่ดูแลให้การบริหารสถานการณ์ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ นอกจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ แล้ว ยังมีรายงานว่า รัฐบาลได้จัด ครม.ชุดเล็กจำนวน 9 คน เพื่อให้สามารถเรียกประชุม ครม.ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า เหตุที่ต้องเตรียม ครม.ชุดเล็กไว้ เพราะรัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากเกิดเหตุรุนแรงหรือความวุ่นวายจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงจะเริ่มขึ้น ปรากฏว่า ลูกๆ และเครือญาติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างพร้อมใจกันเดินทางออกนอกประเทศ เช่น น.ส.พิณทองทา และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนเดินทางไปเยอรมนีต่อ ขณะที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เดินทางไปฮ่องกงกับนายพานทองแท้ ชินวัตร ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ รีบออกมาชี้แจงหลังบุคคลในครอบครัวถูกมองว่าชิ่งหนีเอาตัวรอดทิ้งให้คนเสื้อแดงต่อสู้โดยลำพัง โดยบอกว่า “ลูกสาวสองคนเขาไปดูนิทรรศการเรื่องโรงแรมที่เยอรมนี เขาจองกันไว้ล่วงหน้านานมากแล้ว...”

ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์(9 มี.ค.)ถึงจุดยืนต่อการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 3 ข้อ 1.รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อป้องปรามความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยรัฐบาลต้องยึดสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง 2.ภาคประชาชนจะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร และร่วมกันยับยั้งเหตุแห่งความรุนแรง 3.กลุ่มพันธมิตรฯ จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดใดในระหว่างที่คนเสื้อแดงชุมนุม โดยจะตั้งมั่นอยู่ในที่ตั้ง แต่จะติดตามสถานการณ์ และเตรียมพร้อมเคลื่อนไหวได้ทันที ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ บอกว่า ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดการอะไรได้ ปล่อยให้บ้านเมืองยุ่งเหยิงต่อไป ก็เป็นความจำเป็นที่เราในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน จะต้องออกมาเคลื่อนไหว เพื่อนำสันติสุขมาสู่สังคมบ้านเมือง ถ้าไม่มีทางเลือก

ส่วนการเตรียมการของรัฐบาลเพื่อรับมือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ซึ่งแปรสภาพมาจากคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง(คตม.) ก็ได้เรียกประชุม ศอ.รส. พร้อมมีมติให้ใช้กำลังดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างมีการชุมนุมจำนวน 50,000 คน โดยแบ่งเป็นทหาร 30,000 นาย ตำรวจ 10,000 นาย และพลเรือน 10,000 คน พร้อมยืนยัน เจ้าหน้าที่จะไม่พกพาอาวุธ มีเพียงอุปกรณ์ป้องกันตัวที่จำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ เตือนว่า หากมีใครบุกรุกสถานที่ราชการที่เก็บอาวุธ จะถือว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่ต้องปราบปรามทันที “ถ้ามีใครบุกเข้าไปยังกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือสถานีตำรวจต่างๆ ที่เป็นที่เก็บอาวุธของเจ้าหน้าที่ รัฐบาลจะใช้กำลังและอาวุธเข้าปราบปรามทันที เพราะถือว่าพวกนี้เป็นพวกก่อการร้ายที่มุ่งเอาอาวุธเจ้าหน้าที่มาทำร้ายประชาชน” นายสุเทพ ยังบอกด้วยว่า ศอ.รส.ให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลศิริราชเป็นพิเศษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับอยู่ที่โรงพยาบาล ศอ.รส.จึงกำหนดให้ทุกเส้นทางที่ไปศิริราช เป็นเส้นทางต้องห้ามสำหรับผู้ชุมนุมทั้งทางบกและทางน้ำ โดยการอารักขารอบโรงพยาบาลศิริราช จะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้บัญชาการทหารเรือ

ทั้งนี้ ก่อนที่คนเสื้อแดงจะนัดรวมตัวและเคลื่อนพลจากต่างจังหวัดในวันที่ 12 มี.ค. แกนนำคนเสื้อแดง นายวีระ มุสิกพงศ์ ได้ออกมาประกาศว่า จะมีคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมในวันที่ 14 มี.ค.ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน แต่เมื่อถึงกำหนด ปรากฏว่า ยอดผู้ชุมนุมไม่น่าจะเกิน 1 แสนคน ท่ามกลางข่าวสะพัดว่า มีการจ้างคนมาร่วมชุมนุมหัวละ 1,000 บาทต่อวัน โดยมีภาพหลักฐานให้เห็นกันจะจะ จากกรณีที่มีผู้เผยแพร่คลิปการจ่ายเงินให้คนเสื้อแดงที่ จ.นครพนม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงข่าวการจ้างวานคนมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง แต่ข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงยังพบด้วยว่า มีการไล่กว้านซื้อชุดทหารจำนวนมาก โดยไม่รู้ว่าซื้อไปทำอะไร ซึ่งที่ประชุม ศอ.รส.แสดงความเป็นห่วง เกรงว่าอาจมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อป้ายความผิดว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่

สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในวันชุมนุมใหญ่ 14 มี.ค. แกนนำเสื้อแดงได้อ่านแถลงการณ์จี้ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมงหรือภายในเที่ยงวันที่ 15 มี.ค. โดยผู้ชุมนุมประกาศจะเคลื่อนพลไปปักหลักรอฟังคำตอบจากนายอภิสิทธิ์ ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11 รอ.) ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งกองบัญชาการ ศอ.รส.

อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงกำหนดเส้นตายที่กลุ่มเสื้อแดงขีดไว้ไม่กี่ชั่วโมง นายอภิสิทธิ์ ได้นำทีมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เปิดแถลงข่าวที่ ร.11 รอ. โดยยืนยันว่า รัฐบาลมาตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การยุบสภาในขณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งในสภา และไม่ได้เกิดวิกฤตที่การเลือกตั้งใหม่จะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่การยุบสภาเป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง และข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้พาดพิงไปไกลกว่าเรื่องของตัวนายกฯ หรือรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชนที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุมด้วย

ด้านแกนนำ นปช.ไม่พอใจ ประกาศยกระดับการต่อสู้ตั้งแต่เช้าวันที่ 16 มี.ค. โดยจะเจาะเลือดคนเสื้อแดงคนละ 10 ซีซี ให้ได้ 1 ล้านซีซี เพื่อนำไปเทหน้าทำเนียบรัฐบาล ,หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านนายกฯ

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้วิดีโอลิงก์มายังเวทีกลุ่มเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศทุกคืน โดยเมื่อคืนวันที่ 14 มี.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวหาว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์เป็นผู้สั่งฆ่าประชาชนในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.2552 และ โจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษว่าเป็นผู้บงการลอบสังหารตนกรณีคาร์บอมบ์ พร้อมปลุกคนเสื้อแดงให้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ส่วนเมื่อคืนนี้(15 มี.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ปลุกให้คนเสื้อแดงอย่าเพิ่งถอดใจ สู้ต่อไป แพ้ไม่ได้ ต้องชนะ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังยุให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลด้วย เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา ,นายชัย ชิดชอบ ,นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ,นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ,นายพินิจ จารุสมบัติ เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณที่พยายามปลุกคนเสื้อแดงแล้ว ยังมีท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล ประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิบำรุงขวัญทหาร ตำรวจ อาสาสมัครชายแดน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ไปขึ้นเวทีปราศรัยให้กำลังใจกลุ่มเสื้อแดงเมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค.ด้วย ทั้งนี้ ท่านผู้หญิงวิระยาเคยมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการจัดทำเสื้อสีฟ้า ซึ่งมีพระนามาภิไธย ส.ก.ออกจำหน่ายเมื่อปี 2547 โดยมีลักษณะการบังคับซื้อด้วยการออกหนังสือเวียนให้ข้าราชการและพนักงานกระทรวงมหาดไทยทุกระดับชั้นซื้อ กระทั่งมีการฎีการ้องทุกข์ว่าวิธีจำหน่ายเสื้อในลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้มีรายได้น้อยเดือดร้อน หลังสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบจากฎีการ้องทุกข์ ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง พร้อมทรงมีพระราชเสาวนีย์ผ่านกองราชเลขานุการในพระองค์ให้ผู้เกี่ยวข้องยุติการจำหน่ายเสื้อดังกล่าว ซึ่งนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เคยออกมาแฉเรื่องดังกล่าว พร้อมระบุว่า ท่านผู้หญิงวิระยายังไม่ได้นำรายได้จากการจำหน่ายเสื้อดังกล่าวหลายร้อยล้านบาททูลเกล้าฯ ถวายแต่อย่างใด ซึ่งท่านผู้หญิงวิระยา ได้ออกมายอมรับหลังจากนั้นว่า ยังไม่ได้นำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายจริง โดยอ้างว่า ยังไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ

ด้านนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.บอกว่า ท่านผู้หญิงวิระยาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ นปช.มานานแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มาชุมนุมด้วยตัวเอง และว่า ท่านผู้หญิงวิระยาจะช่วยเหลือค่าอาหารให้ผู้ชุมนุมครั้งนี้ด้วย แต่ไม่เปิดเผยจำนวนเงิน

ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 มี.ค. เพื่อพิจารณาสนธิสัญญาที่กระทรวงการคลังต้องทำกับต่างประเทศ ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) จะมีมติไม่เห็นด้วยกับการประชุมร่วมรัฐสภาในช่วงนี้ เพราะเกรงจะเป็นการยั่วยุให้กลุ่มเสื้อแดงมาปิดล้อมรัฐสภา แต่นายชัยก็ยังยืนยันประชุมตามกำหนดเดิม ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ปรากฏว่า มี ส.ส.มาร่วมประชุมแค่ 80 คน( ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย) ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังกลุ่มเสื้อแดงชุมนุมใหญ่ได้แค่ 2 วัน ก็ได้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นแล้ว โดยคนร้ายได้ยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์(ร.1 พัน 1 รอ.) จำนวน 4 ลูกเมื่อช่วงบ่ายวานนี้(15 มี.ค.) ส่งผลให้ทหารที่ยืนรักษาการณ์ด้านหน้ากรมฯ ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย ทราบชื่อคือ จ.ส.อ.ปรีชา ปานสมุทร โดยถูกสะเก็ตระเบิดบริเวณช่องท้อง ส่วนอีกนายคือ พลทหารหนุ่ม ศรีเฟื่อง ได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้าย ล่าสุด อาการของทั้งคู่อยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว

ทั้งนี้ คาดว่าคนร้ายน่าจะยิงระเบิดเอ็ม 79 จากรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนวิภาวดีฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสกัดจับรถต้องสงสัยที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุแล้ว เป็นรถแวน ยี่ห้อมิตซูบิชิ สเปซวากอน สีขาว ทะเบียน ศษ 231 กทม. ผู้ครอบครองรถดังกล่าวคือ นายนาวิน ดวงสนิท อย่างไรก็ตาม หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมด้วย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ทำการตรวจสอบเขม่าดินปืนทั้งบริเวณตัวคนและรถ ไม่พบคราบเขม่าดินปืนหรือระเบิดแต่อย่างใด

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย รีบออกมาปฏิเสธว่า เหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับกลุ่มเสื้อแดง พร้อมอ้างว่า น่าจะยิงมาจากหน่วยงานราชการ เพราะรัฐบาลกำลังหาเหตุเพื่อประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

อนึ่ง ก่อนเกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กรมทหารราบที่ 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกค้นแหล่งผลิตเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 2 แห่งเมื่อวันที่ 13 และ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยแห่งหนึ่งอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นโรงงานของบริษัท ฟูจิ ออโต้พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมแฟกเตอร์รี่แลนด์ อ.วังน้อย ส่วนอีกแห่งอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ เป็นโรงงานของ หจก.สยาม เคเอส แมชชีน แอนด์ เซอร์วิส จากการตรวจค้นทั้ง 2 แห่ง พบอุปกรณ์ประกอบเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 และเครื่องยิงกระสุนเอ็ม 79 จำนวนมาก ด้าน พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก รีบออกมาอ้างว่า “วัตถุที่ตำรวจจับได้ เป็นเพียงอะไหล่ของเครื่องยิงเอ็ม 79 เพื่อนำไปส่งบริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อนำไปประกอบเป็นเครื่องยิงเอ็ม 79 ต่อไป ...รัฐบาลนี้เป็นศรีธนญชัยหวังสร้างประเด็นเพื่อต้องการโยนความผิดและใส่ร้ายกลุ่มคนเสื้อแดง...”


2. ตร.รวบตัวแนวร่วมปาบึ้มแบงก์กรุงเทพได้แล้ว 2 -ซัดทอด คนเสื้อแดงโทร.สั่ง!

นายเอกชัย มูลเกษ และนายไสว ยางสันเทียะ ซึ่งยอมรับเป็นคนเสื้อแดงผู้ร่วมขบวนการปาระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม ถูกรวบตัวเมื่อ(7 มี.ค.)
ความคืบหน้ากรณีคนร้ายปาระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ 4 สาขาเมื่อคืนวันที่ 27 ก.พ. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สเก็ตช์ภาพคนร้าย พร้อมออกหมายจับแล้วนั้น ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้แล้ว 2 คน โดย พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เปิดแถลงผลการจับกุม 2 คนร้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ประกอบด้วย นายเอกชัย มูลเกษ อายุ 21 ปี เป็นชาว กทม.ทำหน้าที่ขับขี่รถจักรยานยนต์พาคนร้ายที่ขณะนี้ยังหลบหนีอยู่ ไปปาระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม ส่วนอีกคนคือ นายไสว ยางสันเทียะ อายุ 42 ปี เป็นผู้จ้างวาน ซึ่งทั้งสองเป็นน้า-หลานกัน โดยเจ้าหน้าที่จับกุมได้ที่บ้านพักของทั้งสอง ในซอยจันทน์ 23 แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานนาวา

จากการสอบปากคำ ทั้งสองสารภาพว่า เป็นคนเสื้อแดง โดยนายไสว บอกว่า ส่วนใหญ่จะไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่สนามหลวง ส่วนการรับงานครั้งนี้ ได้รับการติดต่อจากคนที่รู้จักระหว่างชุมนุมและแลกเบอร์โทรศัพท์กัน โดยบุคคลดังกล่าว โทร.มาถามว่า มีเด็กก่อกวนบ้างไหม จะให้มาช่วยก่อกวนหน่อย ส่วนเรื่องที่พาไปปาระเบิดนั้น นายไสว อ้างว่า ไม่รู้มาก่อน ถ้ารู้คงไม่ทำ เพราะไม่ชอบแบบนั้น ชอบแบบเฮๆ ไม่ชอบรุนแรงแบบนี้

ด้านนายเอกชัย บอกว่า ชอบอุดมการณ์คนเสื้อแดงและเคยไปร่วมชุมนุมบ้าง ส่วนการทำหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์ให้คนที่ไปปาระเบิดนั้น นายเอกชัย บอกว่า เพิ่งเคยเห็นหน้าครั้งแรก โดยไปรับบุคคลดังกล่าวบริเวณซอยนราธิวาส 3 และว่า ตอนแรกไม่รู้ว่าเขาจะไปทำอะไร พอขับรถวนอยู่ 1 รอบ เขาถึงบอกให้รู้ว่าจะให้พาไปก่อเหตุ นายเอกชัย ยังอ้างด้วยว่า พาชายดังกล่าวไปก่อเหตุเพียงจุดเดียว “ผมพาไปเพียงจุดเดียวคือ หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลมเท่านั้น จุดอื่นๆ ไม่รู้ ทำเสร็จก็กลับบ้านไปเล่นเกม ไม่คิดจะหลบหนี ที่ทำมีเวลาตัดสินใจแค่แป๊บเดียวเท่านั้น ระหว่างที่ไปร้านเกม ได้ฟังวิทยุ จส.100 ด้วย เล่นเกมแถวซอยสวนพลูไปด้วย จึงได้ยินข่าว ตกใจนิดหน่อย” นายเอกชัย บอกอีกว่า หลังก่อเหตุแล้ว ตนได้พาชายดังกล่าวไปส่งแถวปากซอยประมวล ใกล้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และว่า ดูจากภาพสเก็ตช์คนปาระเบิดที่ตำรวจนำออกมาเผยแพร่แล้ว มีความคล้ายประมาณ 80% โดยเป็นชายผิวดำแดง อายุประมาณ 30-40 ปี พูดด้วยสำเนียงคนภาคกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตามจับ ส่วนคนบงการยังสาวไม่ถึง สำหรับค่าจ้างในการขับรถพาคนร้ายไปก่อเหตุครั้งนี้ นายเอกชัย บอกว่า ปกติแล้ว เวลานายไสวใช้งาน จะให้เงิน 200-300 บาท แต่ครั้งนี้ บอกจะให้เงินค่าโทรศัพท์ 7,000 บาท แต่ก็ยังไม่ได้รับ มีเพียงแค่หมวกกันน็อคใบใหม่มาเปลี่ยนให้เท่านั้น

ทั้งนี้ ตำรวจ สน.ยานนาวา ได้นำตัวนายไสวและนายเอกชัยไปขอศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อฝากขังผลัดแรกเมื่อวันที่ 8 มี.ค. เนื่องจากยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนีหรือยุ่งกับพยานหลักฐาน ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ถึงวันที่ 19 มี.ค.

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ตำรวจกองปราบฯ ควบคุมตัว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พร้อมลูกน้องอีก 6 คน ฐานให้ที่หลบซ่อนนายพรวัฒน์ ทองธนบูรณ์ หรือเคทอง คนสนิท เสธ.แดง ที่พูดข่มขู่ผ่านอินเตอร์เน็ตว่าจะมีระเบิดตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.เป็นต้นไป กระทั่งเกิดระเบิดธนาคารกรุงเทพ 4 สาขา โดยเจ้าหน้าที่รวบตัว เสธ.แดง พร้อมลูกน้องและนายเคทองได้ ขณะที่ เสธ.แดงทำทีมาถามตำรวจที่กองปราบฯ ว่า ถ้านายเคทองเข้ามอบตัวต้องทำอย่างไร กระทั่งตำรวจได้ค้นรถตู้ส่วนตัวที่ เสธ.แดงเตรียมเดินทางกลับ จึงพบว่านายเคทองซ่อนตัวอยู่ภายในรถ พร้อมทั้งอาวุธปืนภายในรถจำนวนมากนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ตำรวจกองปราบฯ พร้อมหน่วยคอมมานโดอาวุธครบมือ ได้นำตัว เสธ.แดง พร้อมนายเคทอง และลูกน้องไปขอศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อฝากขังผลัดแรก พร้อมคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ขณะที่ญาติของผู้ต้องหาได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวคนละ 2 แสนบาท ด้านศาลพิจารณาคำร้องแล้ว อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เสธ.แดง พร้อมลูกน้อง 6 คน ยกเว้นนายเคทองเพียงคนเดียวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากศาลเห็นว่าพฤติการณ์การกระทำผิดของนายเคทองนั้น เกี่ยวกับอาวุธปืน และความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความตระหนกแก่ประชาชน เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและก่อการร้าย เกรงว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว จะกระทำผิดในลักษณะเดียวกันอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งนี้ นายเคทอง ถึงกับซึมและหยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาซับน้ำตาเมื่อทราบว่าตัวเองไม่ได้รับการประกันตัว แต่เสธ.แดงกับพวกได้รับการประกันตัว

ด้าน เสธ.แดง อ้างว่า ตนไม่ได้ให้ที่หลบซ่อนหรือเตรียมพานายเคทองหนี แต่ตนนำตัวนายเคทองเพื่อมามอบตัวต่อตำรวจต่างหาก


3. “สมชาย-นพดล” รอด ไม่ถูกถอดถอน กรณี “7 ตุลาฯ-พระวิหาร” หลังเสียง ส.ว.ไม่พอถอด!

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. วุฒิสภาได้ประชุมเพื่อลงมติว่า จะถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งหรือไม่ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดนายสมชายกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 โดยการลงมติครั้งนี้เป็นไปตาม รธน.มาตรา 273

ทั้งนี้ หลังที่ประชุมเปิดให้ลงมติโดยใช้วิธีลงคะแนนลับด้วยการกดบัตรลงคะแนนว่าจะถอดถอนนายสมชายหรือไม่ ซึ่งการจะถอดถอนได้ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด คือ 90 เสียง จาก 150 เสียง แต่ผลการลงมติปรากฏว่า มีผู้ลงมติให้ถอดถอน 49 เสียง ขณะที่ผู้ลงมติไม่ถอดถอนมีจำนวน 76 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และบัตรเสีย 3 ใบ

หลังลงมติ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา แจ้งว่า ผลการลงมติของวุฒิสภาถือเป็นที่สุด แต่จะไม่กระทบกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อาจจะมีการดำเนินคดีนายสมชายในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

ด้านนายสมชาย ได้เปิดแถลงขอบคุณ ส.ว.ที่ลงมติไม่ถอดถอนตน นายสมชาย ยังอ้างด้วยว่า การที่ ส.ว.ลงมติไม่ถอดถอนตน ถือเป็นสิ่งยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

นอกจากการลงมติกรณีนายสมชายแล้ว อีก 3 วันต่อมา(12 มี.ค.) วุฒิสภาก็ได้ประชุมเพื่อลงมติว่าจะถอดถอนนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่งหรือไม่ หลัง ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายนพดลกรณีลงนามในบันทึกความตกลงร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งที่ประชุมใช้วิธีลงคะแนนลับโดยใช้บัตรลงคะแนนเช่นกัน ผลปรากฏว่า มี ส.ว.ลงมติให้ถอดถอน 57 เสียง ส่วน ส.ว.ที่ลงมติไม่ถอดถอนมีจำนวน 55 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง บัตรเสีย 1 ใบ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เสียง ส.ว.ที่ลงมติให้ถอดถอนจะมากกว่าผู้ลงมติไม่ถอดถอน แต่เมื่อเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด คือไม่ถึง 90 คน จาก 150 คน ก็ไม่สามารถถอดถอนได้

ขณะที่นายนพดล เผยหลังรู้ผลการลงมติของวุฒิสภาว่า รู้สึกโล่งใจมาก เพราะหากที่ประชุมวุฒิสภามีมติถอดถอน จะเหมือนกับการประหารชีวิตตนทางการเมืองทันที และว่า ขณะนี้ถือได้ว่าพ้นวิบากกรรมไปอีก 1 เรื่อง ตนถือว่าเป็นหนี้บุญคุณ ส.ว.ทั้ง 55 คนที่เข้าใจว่า ตนทำไปเพราะต้องการปกป้องพื้นที่ทับซ้อนและไม่มีเจตนาที่จะขัด รธน.มาตรา 190 อย่างที่ถูกกล่าวหา

4. สลด! ผกก.บันนังสตา “สมเพียร เอกสมญา”ถูกโจรใต้ลอบบึ้มดับ หลังขอย้ายออกนอกพื้นที่ไม่สำเร็จ!
พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา ก่อนเสียชีวิต
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุสลดกับวงการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จ.ยะลา เจ้าของฉายา “นักสู้แห่งเทือกเขาบูโด” ซึ่งเคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอย้ายออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่มานานกว่า 20 ปี และเหลืออายุราชการอีกแค่ปีกว่า จึงอยากใช้ชีวิตช่วงอายุราชการที่เหลือแบบไม่เสี่ยง แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ขณะลาดตระเวนและเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่บ้านทับช้าง โดยคนร้ายได้ลอบฝังระเบิดไว้ใต้พื้นถนน แรงระเบิดทำให้รถพังยับเยิน ขณะที่ พ.ต.อ.สมเพียรและลูกน้องอีก 3 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งต่อมา พ.ต.อ.สมเพียร ทนพิษบาดแผลไม่ไหว ได้เสียชีวิตลงในวันเดียวกัน ขณะที่ ด.ต.โสภณ อินทรบวร คนขับรถ พ.ต.อ.สมเพียร ก็เสียชีวิตลงเช่นกันเมื่อวันที่ 14 มี.ค.

ทั้งนี้ พ.ต.อ.สมเพียร เคยให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาขณะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ทำนองว่า ได้ขอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโยกย้ายตนไปเป็นผู้กำกับการ สภ.กันตัง จ.ตรังแทนตำแหน่งเดิมที่ว่างอยู่ แต่สุดท้ายไม่ได้รับการพิจารณา โดยผู้บังคับบัญชาบอกว่า มีนายบางคนต้องการเงินมากกว่าคนทำงาน พ.ต.อ.สมเพียร จึงให้สัมภาษณ์ทำนองประชดผู้บังคับบัญชาว่า “...คงอยากจะทำเรื่องขอพระราชทานยศ พล.ต.อ.ให้ผมตอนตายแล้ว”

หลัง พ.ต.อ.สมเพียร หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “จ่าเพียร”เสียชีวิตลง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอพระราชทานยศ พล.ต.อ.ให้ พ.ต.อ.สมเพียร พร้อมดูแลด้านสวัสดิการเงินช่วยเหลือ 3 ล้านบาท รวมทั้งดูแลครอบครัวและทายาทของ พ.ต.อ.สมเพียร ส่วน ด.ต.โสภณ คนขับรถของ พ.ต.อ.สมเพียร ที่เสียชีวิตเช่นกันนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พ.ต.อ. พร้อมทั้งดูแลด้านสวัสดิการและเงินช่วยเหลือเช่นกัน

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นอกจากได้เดินทางไปร่วมงานศพ พ.ต.อ.สมเพียรแล้ว ยังพูดถึงกรณีที่ พ.ต.อ.สมเพียรได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค.เพื่อรับในหลักการเรื่องเยียวยา โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่มาเกิดเหตุเสียชีวิตก่อน พร้อมยืนยันว่า เมื่อมีการร้องเรียนเรื่องความเป็นธรรม ไม่ได้มีการเพิกเฉย และพยายามแก้ปัญหาการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมอยู่

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพวงมาลาหน้าหีบศพ พ.ต.อ.สมเพียร และ ด.ต.โสภณ พร้อมมีพระราชเสาวนีย์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดูแลครอบครัวของบุคคลทั้งสองอย่างดี ด้านนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เผยระหว่างอัญเชิญสิ่งของพระราชทานเยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บพร้อม พ.ต.อ.สมเพียร ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งได้ทรงทราบว่า พ.ต.อ.สมเพียรอยากจะขอพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ แต่ก็ไม่มีโอกาส กระทั่งเสียชีวิต.

กำลังโหลดความคิดเห็น