เมื่อสิบกว่าปีก่อน หรือ ปี 2540 (ค.ศ.1997) มีภาพยนตร์แอ็คชั่น จากฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งที่สร้างความฮือฮาให้กับชาวไทยและชาวโลกมากเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการสับเปลี่ยนใบหน้า โดยผู้ร้ายสามารถสับเปลี่ยนใบหน้ามาเป็นตำรวจ และตำรวจสามารถสับเปลี่ยนมาเป็นผู้ร้ายได้
ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกำกับโดย “จอห์น วู” ผู้กำกับหนังบู๊ชื่อดังชาวฮ่องกง นำแสดงโดยนักแสดงชื่อดังระดับโลกคือ จอห์น ทราโวลต้า และ นิโคลาส เคจ และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Face/Off” ส่วนชื่อที่ใช้เข้าฉายในประเทศไทยคือ “สลับหน้า ล่าล้างนรก” โดยภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถสร้างรายได้ทั่วโลกมากกว่า 245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งให้ชื่อ Face/Off หรือ การสลับสับเปลี่ยนหน้ากลายเป็นคำพูดติดปากไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นใน Face/Off กลับไม่ได้หยุดแค่ในภาพยนตร์เท่านั้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การทำศัลยกรรมตกแต่ง ศัลยกรรมพลาสติก ศัลยกรรมความงาม กลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดา และ มีค่าใช้จ่ายในการทำต่ำลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวคราวและคดีความในลักษณะต่างๆ ขึ้นมากมาย แต่ที่น่าตกใจคือนอกจากผู้ก่อเหตุจะมีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อการฉ้อโกงและหนีคดีแล้ว ยังปรากฏว่าได้มีการทำศัลยกรรมใบหน้าเพื่ออำพรางตัวในการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่แบบที่หลายคนคิดว่าน่าจะมีแต่ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเท่านั้น
วิธีการหนึ่งที่ผู้ต้องหามักจะดำเนินการไปพร้อมกับการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงใบหน้าก็คือ การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการยื่นเอกสารเท็จเพื่อขอเปลี่ยนชื่อ และบางรายก็มีการยื่นขอเปลี่ยนชื่อ ณ ที่ว่าการอำเภอในจังหวัดต่างๆ ถึง 20 กว่าครั้ง แต่คดีที่โด่งดังและได้รับการกล่าวขานมากที่สุดคงหนีไม่พ้นคดีของ นางกันต์กนิษฐ์ หรือ ปานจิต ชิ้นศิริ บุตรสาวของ “แป๋ง” นายปิยะ อังกินันท์ อดีต ส.ส.เพชรบุรี พรรคไทยรักไทย ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง ซึ่งนายชาญชัย ชิ้นศิริ ผู้เป็นสามีแจ้งว่าเสียชีวิตจากเหตุสึนามิ ที่ จ.ระนอง เมื่อปี 2547 และได้แอบไปทำศัลยกรรม พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อ-สกุลใหม่ เพื่อหลบหนีคดี แต่ท้ายที่สุดก็ถูกทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามรวบตัวได้
คดีนี้โด่งดังถึงขนาดที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในกองปราบฯต่างเรียกขานกันว่า “คดี Face/Off” เหมือนกับชื่อภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวนเรื่องดังจากฮอลลีวูด ที่คนร้ายทำศัลยกรรมสลับใบหน้ากับพระเอก
Face/Off ลูกนักการเมืองใหญ่โกง 3,000 ล้าน
พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองผู้บังคับการ กองบังคับการกองปราบปราม ได้ขยายความถึงการติดตามดำเนินดังกล่าว ว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2548 พ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ซึ่งยังดำรงตำแหน่ง ผกก.ปพ.บก.ป. ได้รับการร้องเรียนจาก นายเพิ่มเกีรยติ โพธิเพียรทอง กับพวก ซึ่งดำเนินกิจการบริษัทโชคชัย มหาชัย จำกัด ให้ช่วยตรวจสอบการเสียชีวิตของนางกันต์กนิษฐ์ เนื่องจากไม่เชื่อว่านางกันต์กนิษฐ์ได้เสียชีวิตจริง เพราะพบข้อพิรุธหลายประการ เช่น ผู้ตายเป็นบุตรสาวของนักการเมืองดังแต่กลับจัดงานศพแบบเงียบๆ บุคคลในครอบครัวไม่ได้แสดงอาการเสียใจ ไม่พบหลักฐานยืนยันว่านางกันต์กนิษฐ์เสียชีวิต อีกทั้งมีการผ่องถ่ายทรัพย์สินของผู้ตายไปยังบุคคลอื่น โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการสร้างเรื่องเพื่อหลบหนีคดีฉ้อโกงในธุรกิจน้ำมัน ซึ่งนางกันต์กนิษฐ์และสามีมีหมายจับร่วมกันกว่า 50 คดี เป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท
เมื่อได้รับการร้องเรียน พ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ จึงสั่งการให้มีการสืบสวนในทางลับ พร้อมกับตรวจสอบข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ติดตามคดีมานานถึง 5 ปี กระทั่ง พ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ได้ขึ้นเป็น ผบก.ป. (ตำแหน่งปัจจุบัน) จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ สุขวัฒน์ธนกุล ผกก.5 บก.ป. เร่งรัดตรวจสอบคดีดังกล่าว โดยได้ตั้งทีมสืบสวนขึ้นมาทำคดีนี้โดยเฉพาะ
ทางด้าน พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.ฯ ช่วยราชการ บก.ป. หนึ่งในทีมสืบสวนคดีดังกล่าว ได้เล่าถึงขั้นตอนการสืบสวนติดตามคดีจนกระทั่งสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาว่า
“ หลังจากได้รับคำสั่งให้ติดตามคดีนางกันต์กนิษฐ์ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการแจ้งตายเท็จ เราก็เริ่มตรวจสอบเพื่อหาข้อบ่งชี้ว่าบุคคลดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยเริ่มตรวจสอบจากเอกลักษณ์บุคคลก่อน เช่น ดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือ เพราะสิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลซึ่งจะไม่มีใครเหมือนกันเลย โดยเราเช็คไปที่สำนักทะเบียนราษฎร์ ทำให้ทราบว่าในเดือน เมษายน 2547 ก่อนที่จะมีการแจ้งเสียชีวิต นางปานจิต ชิ้นศิริ ได้ยื่นเปลี่ยนชื่อเป็นนางกันต์กนิษฐ์ ชิ้นศิริ และทำบัตรประชาชนใหม่ ซึ่งในการทำบัตรประชาชนนั้นได้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือเก็บไว้ในฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ เมื่อได้ลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัยแล้วเราจึงตรวจสอบต่อไปว่าลายนิ้วมือเดียวกันนี้ได้มีการยื่นขอทำบัตรประชาชนใหม่หรือไม่ ก็ปรากฏว่ามีการยื่นทำบัตรประชาชนในชื่อของ น.ส.พะเยาว์ ปานหว่าง ที่สำนักงานเทศบาลเมืองบางกรวย จ.นนทบุรี ทำให้เรามั่นใจว่านางกันต์กนิษฐ์ยังมีชีวิตอยู่
แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้จากภาพที่ถ่ายในวันทำบัตรประชาชนก็คือใบหน้าของนางกันต์กนิษฐ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือไม่มีรอยปานดำ ริมฝีปากที่เคยตกมีลักษณะยกสูงขึ้น ลักษณะคิ้วเปลี่ยนไป และใบหน้าดูอ่อนเยาว์ลง จึงเชื่อว่าน่ามีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงใบหน้า ซึ่งก็ทำให้การติดตามตัวยากขึ้นเพราะหน้าตาเปลี่ยนไป อีกทั้งผู้ต้องหาเป็นลูกของนักการเมืองผู้มีอิทธิพลในจังหวัดเพชรบุรี ทำให้การสืบสวนหาข้อเท็จจริงทำได้ยากเพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่มีใครกล้าให้ข้อมูล เราจึงมองหาจุดอ่อนที่จะตามถึงตัวผู้ต้องหา ซึ่งก็คือลูกของผู้ต้องหานั่นเอง เพราะโดยธรรมชาติแม่มักจะวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ลูก เราจึงไปเฝ้าที่โรงเรียนของลูกนางกันต์กนิษฐ์ และก็พบว่ามักมีผู้หญิงคนหนึ่งไปรับไปส่งเด็กคนนี้เป็นประจำ ซึ่งเราคาดว่าน่าจะเป็นนางกันต์กนิษฐ์ จึงได้แสดงตัวเข้าจับกุม จากการสอบสวนก็ทำให้ได้ข้อมูลหลักฐานที่สามารถมัดตัวผู้ต้องหา และ นายชาญชัย ชิ้นศิริ สามีซึ่งร่วมในคดีฉ้อโกงได้ ” พ.ต.ท.ธีรเดช เปิดเผยถึงการทำคดี
ยิ่งปกปิด ยิ่งทิ้งหลักฐาน
จากกรณีดังกล่าว ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าไม่ว่าผู้ต้องหาจะมีเล่ห์กลในการหลบหนีสักแค่ไหน และมีอำนาจมากมายเพียงใด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจมุ่งมั่นที่จะทำคดีอย่างจริงจัง บนพื้นฐานของกฎหมายและความถูกต้อง โดยไม่หวั่นต่ออิทธิพลใดๆ ก็สามารถติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีได้ในที่สุด
พ.ต.ท.ธีรเดช ยังตั้งข้อสังเกตถึงการอำพรางตัวเพื่อหลบหนีคดีของผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวว่า “ คดีนี้ถ้าสืบจากข้อมูลทั่วไปก็คงไม่ทราบว่านางกันต์กนิษฐ์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ผู้ต้องหาพลาดตรงที่ในขณะที่พยายามปกปิดตัวตนที่แท้จริงโดยการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล แต่ก็ได้ทิ้งข้อมูลลายนิ้วมือไว้เป็นหลักฐานอย่างไม่รู้ตัว เราจึงสามารถสืบจากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ผู้ต้องหาพยายามปกปิด ซึ่งโดยธรรมชาติของคนเรานั้นยิ่งพยายามปกปิดร่องรอยก็ยิ่งทิ้งหลักฐานไว้โดยไม่รู้ตัว ”
Face/Off “แก๊งต้มตุ๋น” 23 ครั้ง
นอกจากคดีของนางกันต์กนิษฐ์แล้ว เมื่อเร็วนี้ๆ ยังมีคดีของ “เจ๊หมวย” หรือ นางวรรวณัช บุทฤทธิ์ ซึ่งเป็นแก๊งต้มตุ๋นที่ก่อคดีในแถบภาคอีสานไว้มากมาย โดยคนร้ายได้ทำศัลยกรรมใบหน้าเพื่อตบตาให้ชาวบ้านเชื่อถือ อีกทั้งมีการเปลี่ยนชื่อเพื่อหนีคดีถึง 23 ครั้ง ซึ่งหลังจากที่ได้ข้อมูลว่านางวรรวณัชได้หนีไปกบดานที่กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ยุทธนา งามชัด พนักงานสอบสวน (สบ.2) สภอ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าของคดีจึงได้ประสานไปยัง พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป.เพื่อให้ทางกองบังคับการกองปราบปรามช่วยติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี
พ.ต.ต.ธีรพัฒน์ ธารีไทย สว.1กก.1 บก.ป. หนี่งในทีมตำรวจกองปราบฯ ที่รับผิดชอบในการติดตามคดีดังกล่าว ได้ให้รายละเอียดในการสืบสวนติดตามคดีว่า
“ พ.ต.ต.ยุทธนา ได้ติดต่อมาให้ทางกองปราบฯ ช่วยติดตามคดีฉ้อโกง เนื่องจากชาวบ้านในหลายจังหวัดทางภาคอีสานเดือดร้อนมาก บางคนถึงกับขายที่นาเพื่อนำเงินมาร่วมลงทุนกับนางวรรวณัช โดยถูกนางวรรวณัชหลอกว่ามีตู้เซฟอยู่ 3 ใบ แต่ไม่สามารถเปิดตู้เซฟนำเงินมาใช้ได้เพราะเป็นเงินที่ได้จากกระบวนการทุจริตของนักการเมืองในต่างประเทศ และขอให้ชาวบ้านร่วมลงทุนนำเงินไปวิ่งเต้นเพื่อเปิดตู้เซฟดังกล่าว พร้อมกับเอาตู้เซฟไปฝากไว้ที่บ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านไว้วางใจ ทางกองปราบฯจึงเข้าไปสืบสวนและติดตามคดี
แต่จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เมื่อเราพิมพ์ชื่อนางวรรวณัช บุทฤทธิ์ ซึ่งเป็นชื่อปัจจุบันของเขาจะไม่พบว่าเคยมีหมายจับ เราก็เลยย้อนไปดูว่าเคยมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลหรือเปล่า ก็ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนชื่อถึง 23 ครั้ง และมีคดีค้างเก่าเยอะมาก มีทั้งคดีที่หมดอายุความแล้ว คดีที่เคยถูกจับกุม และคดีที่ยังจับไม่ได้ รวมแล้วถึง 17 คดี รวมถึงมีการทำศัลยกรรมใบหน้าด้วย ซึ่งแต่ละครั้งที่ขอเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลและทำบัตรประชาชนใหม่นั้นใบหน้าก็จะเปลี่ยนไปตลอด พอดีตอนนั้นมีผู้เสียหายแจ้งมาว่าพบคนร้ายรายนี้พักอยู่ที่เมโทรปาร์ค ย่านถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี เราจึงนำรูปถ่ายของนางวรรวณัชไปสอบถามเจ้าหน้าที่ รปภ.ของเมโทรปาร์คว่าเคยเห็นคนในรูปไหม รปภ.ยืนว่าเคยเห็นเข้าออกในหมู่บ้าน เราเลยไปเฝ้าดู แต่การจับกุมก็ไม่ง่ายเพราะเขาค่อนข้างระวังตัว การเข้าออกไม่เป็นเวลา บางทีก็เรียกแท็กซี่มารับ แต่ก็จะมีรถคันหนึ่งที่มารับมาส่งประจำ พอเรารู้ว่ารถที่มารับเป็นคันไหน ทะเบียนอะไร เราก็ติดตามการเข้าออกของรถคันนี้จนสามารถจับกุมตัวได้ และส่งตัวไปให้ สภอ.เมืองขอนแก่นซึ่งเป็นเจ้าของคดี ทั้งนี้เราเชื่อว่าการฉ้อโกงดังกล่าวน่าจะทำกันเป็นแก๊ง ซึ่งมีมากกว่า 3 คนขึ้นไป ”
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา งามชัด พนักงานสอบสวน (สบ.2) สภอ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าของคดี เปิดเผยว่า “ หลังจากได้รับตัวผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ เราก็นำตัวมาสอบสวน ซึ่งนางวรรวณัชยอมรับว่าได้มีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลถึง 23 ครั้งเพื่อหลบหนีคดี และบางทีก็ยื่นเปลี่ยนชื่อถึง 2 ครั้งภายในวันเดียว ส่วนการทำศัลยกรรมใบหน้านั้นผู้ต้องหาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเพื่ออำพรางตัวในการหลบหนีคดี แต่ทำเพื่อต้องการให้ดูเป็นคนที่มีฐานะและน่าเชื่อถือในสายตาชาวบ้านเท่านั้น นอกจากนั้นเราก็ได้ขยายผลเพื่อติดตามผู้ร่วมขบวนการคนอื่นๆ ต่อไป”
Face/Off หนีคดีฉ้อโกง
อีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือของ น.ส.คัทลียา มาลี ที่ก่อตั้งบริษัทกำมะลอขึ้นมาเพื่อหลอกซื้อสินค้าประเภทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วเชิดของหนี อีกทั้งยังนำชื่อของ นายฉกาจ กุลวานิช ผู้พิพากษา จ.ภูเก็ต และ นายคฑา กาญจนสุธา ผู้พิพากษา จ.พังงา ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินวันทูโกตก ที่ จ.ภูเก็ต มาแอบอ้างว่าเป็นกรรมการบริษัท พร้อมทั้งวางแผนที่จะทำศัลยกรรมแปลงโฉมเพื่อหลบหนีการจับกุม
พ.ต.ท.ธีรเดช รอง ผกก.ฯ ช่วยราชการ บก.ป. หนึ่งในนายตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามคดีดังกล่าว เล่าถึงรายละเอียดในการทำคดีนี้ว่า
“ เนื่องจากได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่าถูกนางสาวคัทลียา มาลี เจ้าของบริษัทสมาร์ทริช อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส จำกัด ต้มตุ๋นหลอกลวง โดยหลอกซื้อสินค้าแล้วไม่จ่ายเงิน เมื่อพยายามติดตามทวงถามก็ไม่สามารถติดต่อนางสาวคัทลียาได้ ทางกองปราบฯ จึงเข้าไปตรวจสอบและพบว่าที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวเป็นเพียงบ้านเช่าซึ่งไม่ได้เปิดดำเนินกิจการใดๆ และจากการสอบสวนผู้ที่เคยทำงานกับนางสาวคัทลียาทราบว่าผู้ต้องหาเคยบอกว่าจะไปทำศัลยกรรมแปลงโฉมเพื่อหลบหนีคดี เราจึงได้ตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำศัลยกรรม จนกระทั่งทราบว่านางสาวคัทลียาเป็นคนไข้ที่อยู่ระหว่างการทำศัลยกรรมของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทีมตำรวจกองปราบฯ จึงไปเฝ้าที่โรงพยาบาล แต่นางสาวคัทลียาไหวตัวทัน เลยไม่มาตามใบนัดของแพทย์
คดีนี้นับว่าเป็นคดีหนึ่งที่เรามีหลักฐานชัดเจนว่าคนร้ายได้ทำศัลยกรรมเพื่อหลบหนีการจับกุม โดยจากข้อมูลนั้นขาทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงใบหน้าไปพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่จบคอร์ส ซึ่งเชื่อได้ว่าแม้จะไม่มาทำศัลยกรรมต่อที่โรงพยาบาลเดิมเขาก็ต้องพยายามไปทำศัลยกรรมที่ใดที่หนึ่งอย่างแน่นอน ซึ่งเรากำลังจับตามดูอยู่ และมั่นใจว่าจะสามารถติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน ”
“ลายฝ่ามือ-ลายนิ้วมือ” กุญแจสำคัญ
อย่างไรก็ดี แม้คนร้ายจะพยายามสรรหาวิธีการต่างๆในการอำพรางตัวเพื่อหนีคดี ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เปลี่ยนถิ่นที่อยู่ แจ้งตาย หรือถึงขั้นลงทุนทำศัลยกรรมผ่าตัดใบหน้า แต่ก็มีสิ่งหนึ่งซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และยังกลายเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามล่าตัวมาดำเนินคดีได้ นั่นก็คือ “ลายนิ้วมือ” โดย พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองผู้บังคับการ กองบังคับการกองปราบปราม ได้ยืนยันข้อมูลในเรื่องนี้ว่า
“ การทำศัลยกรรมเพื่อหลบหนีคดีนั้นทำได้ยาก เพราะแม้จะทำศัลยกรรมใบหน้าให้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว แต่ลายนิ้วมือนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และลายนิ้วมือของแต่ละคนก็จะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะบุคคลที่เคยต้องคดีแล้วยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะหลบหนีคดี เนื่องจากการเก็บลายนิ้วมือนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้พิมพ์ลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว รวมทั้งประทับรอยฝ่ามือด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบความโดดเด่นของส่วนต่างๆบนรอยนิ้วมือทั้ง 10 จุดได้ เช่น สันดอน จุดก้นหอย รอยตัดต่างๆ วิธีที่คนร้ายจะลบรอยนิ้วมือออกส่วนใหญ่เขาก็จะทำให้นิ้วมือเป็นแผลเป็น แต่วิธีนี้ไม่สามารถขูดลายนิ้วมือออกได้หมด นอกจากจะทำให้นิ้วมือเน่าและเกิดเป็นแผลเป็นทั้งนิ้ว และถ้าจะทำก็ต้องทำทั้ง 10 นิ้ว ซึ่งจริงๆแล้วถึงจะตัดนิ้วบางนิ้วทิ้ง แต่หลักฐานของลายฝ่ามือก็ยังอยู่ ดังนั้นวิธีเดียวที่จะทำลายหลักฐานลายนิ้วมือก็คือตัดมือทิ้งทั้ง 2 ข้าง ซึ่งคนร้ายคงไม่ลงทุนทำขนาดนั้น ”
ช่องโหว่ “ศัลยกรรมอำพราง”
ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายยอมรับว่าเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทำศัลยกรรมแปลงโฉมเพื่อหลบหนีคดนั้นก็คือเรื่องของสิทธิ์ของผู้ป่วยหรือผู้เข้ารับการผ่าตัดซึ่งทางโรงพยาบาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบประวัติของคนไข้หรือวัตถุประสงค์ในการทำศัลยกรรมได้เพราะจะถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
โดย นพ.กรีชาติ พรสินศิริรักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยกรรมตกแต่ง ได้ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อมีคนไข้แสดงความจำนงว่าต้องการทำศัลยกรรม ทางโรงพยาบาลไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการทำศัลยกรรมคืออะไร อีกทั้งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลของคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทางโรงพยาบาลทราบ แพทย์ที่ทำศัลยกรรมทำได้เพียงดูประวัติการทำศัลยกรรมที่ผ่านมา และพิจารณาว่าคนไข้สามารถทำศัลยกรรมตามที่ต้องการได้หรือไม่ เช่น หากเคยเหลาคางมา 2 ครั้ง แต่คนไข้ต้องการให้เหลาคางให้เล็กลงไปอีก แพทย์ก็จะพิจารณาโครงหน้า ลักษณะกระดูก และผิวหน้าของคนไข้ว่าปลอดภัยหรือไม่ที่จะเหลาคางให้เล็กลงไปอีก และรูปหน้าที่ออกมาจะเป็นไปตามที่คนไข้ต้องการได้หรือไม่ หากพบว่าไม่ปลอดภัย ทำศัลยกรรมแล้วรูปหน้าออกมาไม่สวย หรือไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แพทย์ก็แนะนำคนไข้ว่าไม่ควรทำศัลยกรรม
“ เราจะสอบประวัติเพื่อดูถึงความปลอดภัยในการทำศัลยกรรมเป็นหลัก เช่น บางคนเคยตัดกระดูกโหนกแก้ม ตัดคางให้สั้นลง แต่ยังอยากตัดออกอีกเพื่อให้ใบเล็กลง เราก็ดูว่าทำได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าตัดมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว มันจะไปโดนเส้นประสาท เราก็จะบอกคนไข้ว่ามันอันตราย ทำให้ไม่ได้ แต่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเขาทำศัลยกรรมไปเพื่ออะไร ข้อมูลที่เขาให้อาจจะโกหกก็ได้ และโดยมารยาทแล้วแพทย์ไม่มีสิทธิซักถามข้อมูลในส่วนนี้ รวมทั้งไม่มีสิทธิไปตรวจสอบประวัติด้วยว่าคนไข้เคยต้องคดีมาหรือเปล่าเพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนไข้ แม้กระทั่งว่าหากคนไข้ที่มาทำศัลยกรรมไม่ต้องการเปิดเผยชื่อจริง ทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธการรักษา ซึ่งปัจจุบันนี้หากเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ เขาก็มีระเบียบว่าห้ามแม้แต่ติดชื่อคนไข้ไว้หน้าห้องผู้ป่วย เพราะการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นถือเป็นสิทธิส่วนตัวของคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องให้ใครรู้
ผมเชื่อว่าการทำศัลยกรรมเพื่อหลบหนีคดีนั้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีเหมือนกัน คือเมื่อ 6-7 ปีก่อน มีชาวต่างชาติคนหนึ่งมาทำจมูกให้สั้นลง เสริมคาง และทำริมฝีปาก แต่เรามาทราบภายหลังว่าเขาเป็นคนร้ายที่หนีคดีอยู่ และเข้ามากบดานในเมืองไทย คือมาทราบหลังจากที่เขาถูกจับกุมแล้ว เพราะฉะนั้นผมว่าการทำศัลยกรรมเพื่อหนีคดีมันป้องกันได้ยาก เพราะโรงพยาบาลไม่มีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ ยกเว้นว่าจะได้รับแจ้งหรือประสานจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นพ.กรีชาติ กล่าว
ขณะที่ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยอมรับว่าระเบียบทางการแพทย์ดังกล่าวถือเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทำศัลยกรรมเพื่อหลบหนีคดี และเป็นอุปสรรคต่อการติดตามจับกุมคนร้าย
พ.ต.ท.ธีรเดช รอง ผกก.ฯ ช่วยราชการ บก.ป. แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การที่แพทย์ไม่สามารถตรวจสอบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการทำศัลยกรรม และไม่สามารถเช็คประวัติการก่ออาชญากรรมของคนไข้ได้นั้นถือเป็นการเปิดช่องให้มีการทำศัลยกรรมเพื่อหนีคดีกันมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคในการสืบสวนจับกุมคนร้ายด้วย เพราะหากมีการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงโฉมหน้า การตามตัวก็ยากขึ้นเพราะใบหน้าใหม่ไม่เหมือนกับหลักฐานรูปถ่ายที่มีอยู่เดิม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็คงต้องใช้วิธีอื่นๆ สืบสวนจับกุมต่อไป เช่น สืบจากลายนิ้วมือ หรือดีเอ็นเอของคนร้าย”
* * * * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน