ทอ.ทูลเกล้าฯถวาย เครื่องบินพระราชพาหนะ 4 ลำ ภายใต้งบ 3.65พันล้านบาท พร้อมเข้าประจำการฝูงบิน 603 ชี้เหตุ ของเก่าลำใหญ่ไม่สามารถลงรันเวย์ต่างประเทศได้ อีกทั้งพระราชกิจมากขึ้นต้องจัดเครื่องที่สามารถลงได้ทุกสนามบิน เตรียมคัดเลือกนักบินพิเศษรักษาความปลอดภัยให้กับพระบรมวงศานุวงษ์
วันนี้ (9 ก.ย.) พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้เป็นประธานในพิธีต้อนรับเครื่องบินพระราชพาหนะแบบ ATR 72-500 ที่ลานจอดอากาศยาน ท่าอากาศยานกองบัญชาการ กองทัพอากาศ และในเวลา 09.19 น. เครื่องบินลำดังกล่าวพร้อมนักบิน 8 นาย ได้ร่อนลงที่รันเวย์ทิศเหนือ ในเที่ยวบินแรก ที่ถือเป็นเที่ยวบินนำส่งเครื่องพระราชทาน หลังจากได้มีการส่งมอบจากบริษัทผู้ผลิตจองประเทศฝรั่งเศสมาก่อนหน้านี้
ทั้งนี้โครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงขนาดกลางจำนวน 4 เครื่อง เพื่อบรรจุเป็นเครื่องบินพระราชพาหนะ 1 เครื่อง เครื่องบินสำรองพระราชพาหนะสำรอง 1 เครื่อง และ เครื่องบินสำหรับรับ-ส่ง บุคคลสำคัญหรือ วีไอพี 2 เครื่อง ในสมัยของคณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการ ดำเนินการจัดซื้อและคณะกรรมการคัดเลือกแบบเห็นชอบในการจัดซื้อเครื่องบิน รุ่นดังกล่าวจาก บริษัทอาวิลอน เดอ ทรานสปอร์ต ริจินัล ( AVIONS DE TRANSPORT REGIONAL: ATR) ประเทศฝรั่งเศสจำนวน 4 เครื่องนี้ พร้อมอุปกรณ์ตกแต่งภายใน เครื่องมือภาคพื้นอะไหล่ การฝึกอบรมและการสร้างโรงเก็บมาตรฐานจำนวน 2 โรง ซึ่งมีวงเงินงบประมาณ 3,650 ล้านบาท โดยเครื่องบินทั้งหมด จะเข้าประจำการที่ฝูงบิน 603
พล.อ. อ.อิทธิพร กล่าวว่า สาเหตุที่กองทัพอากาศจัดหาเครื่องบินขนาดกลางเพื่อสนับสนุนภารกิจเครื่อง บินพระราชพาหนะ เพราะเครื่องพระราชพาหนะ เครื่องสำรองพระราชพาหนะ ที่ประจำการอยู่ เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ จึงมีข้อขัดข้องในการสนองภารกิจ คือ ไม่สามารถเดินทางไปสนามบินในประเทศที่มีรันเวย์สั้นได้ แต่กองทัพอากาศได้แก้ไขปัญหาโดยการใช้ เครื่องบินลำเลียง C-130 เข้าปฏิบัติการทดแทนในบางภารกิจแทน อีกทั้ง พระราชกิจของแต่ละพระองค์มากขึ้น แต่เครื่องบินที่ประจำการอยู่นั้นเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ ไม่สามารถขึ้นลง ในบางสนามบินเป็นสนามค่อนข้างสั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราจะต้องจัดหาเครื่องบินพระราชพาหนะขนาดกลางที่ขึ้นลงได้ทุกสนามบิน
สุดท้ายนี้ พล.อ.อ.อิทธิพร กล่าวอีกว่า แต่ส่วนที่เป็นเครื่องบินประเภทอื่น ทอ.ได้รับผลกระทบเพราะถูกตัดงบประมาณ แต่เครื่องบินพระราชพาหนะ ทอ.ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น ทอ.ได้เตรียมพร้อมในการคัดเลือกนักบินไปฝึกเป็นอย่างดี โดยจะพิจารณาคุณสมบัติพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป ดังนั้นนักบินที่ได้รับการคัดเลือกจะมี แผนยุทธการ 999 ที่จะคัดเลือกรวมถึงการรักษาความปลอดภัยให้กับพระบรมวงศานุวงษ์ ดังนั้นการคัดเลือกนักบิน โดยเฉพาะนักบินที่ 1 จะต้องมีชั่วโมงบินอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 1.6 พันชั่วโมง และต้องมีชั่วโมงบินเฉพาะกับเครื่องบินหลายเครื่องยนต์ หรือ สองเครื่องยนต์ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมง
" ที่สำคัญคือนักบินที่ 1 ต้องมีชั่วโมงบินกับเครื่องบินเฉพาะแบบ คือ ATR อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 300 ชั่วโมง เพื่อให้มีความพร้อม และนักบินมีความรู้ความสามารถจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งคิดว่าประมาณ 8-10 เดือนขึ้นไป ถึงจะทำการฝึกนักบิและเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมและมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน ที่จะเป็นนักบินพระราชพาหนะ ที่ต้องมีความปลอดภัยสูงสุด ขั้นตอนต่อไปคือการฝึกบินให้มีความพร้อมต่อไปก็จะทูลเกล้าฯ ถวาย อีกครั้งหนึ่ง" พล.อ.อ.อิทธิพร กล่าว