xs
xsm
sm
md
lg

“มีเดียมอนิเตอร์” เผย ตื้นลึกหนาบาง สื่อรายงานข่าวหวัด 2009

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"มีเดียมอนิเตอร์" เผย การรายงานข่าวไข้หวัดใหญ่ 2009 "ฟรีทีวี" เน้นเกาะประเด็นเร็ว แต่ขาดประเด็นลึก เนื้อหาข่าวสั้น สกู๊ป-รายงานพิเศษน้อย ส่วน"ทีวีรัฐ-สาธารณะ" ยังดี มีสปอตรณรงค์การดูแลรักษาป้องกัน เน้นผลกระทบการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ เกาะติดตัวเลข การระบาด ขาดข้อมูลเชิงลึก ลุ้นระทึกผู้ป่วยรายวัน ขณะที่ข่าวหนังสือพิมพ์ เน้นเร็ว ลึก เตือนภัยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังขาดข้อมูลให้ความรู้ ขณะที่ภาษาข่าวเร้าใจ อาจสร้างความตระหนักและตระหนกไปพร้อมๆกัน

วันนี้ (5 กันยายน 2552) ที่ห้องประชุมศาลาชื่น สวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ “มีเดียมอนิเตอร์” ร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกัน ในการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “แนวทางการรายงานข่าวเพื่อการป้องกันและแพร่ระบาดโรคอุบัติใหม่”

ทั้งนี้ มีเดียมอนิเตอร์ได้เปิดเผยผลการศึกษารอบที่ 41 เรื่อง “สื่อกับการรายงานข่าวโรคอุบัติใหม่ กรณีการระบาดไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009” โดยศึกษาเนื้อหาจากข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ (ช่วง 3 สัปดาห์แรกของการระบาด 28 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2552) และช่วงรายการข่าวภาคค่ำในฟรีทีวี (ช่วงการระบาดในตอนหลัง 28 กรกฎาคม – 17 สิงหาคม 2552) ด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)

ผลการศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. ผลการศึกษาสื่อหนังสือพิมพ์ (สรุปจาก 28 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2552)

1.1) ปริมาณและรูปแบบการนำเสนอ การศึกษาเนื้อหาข่าวในช่วง 3 สัปดาห์แรกของสถานการณ์การระบาด (ระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2552) จากหนังสือพิมพ์ 8 หัวคือ ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ ไทยโพสต์ โพสต์ทูเดย์ และผู้จัดการ โดยวิเคราะห์จากเนื้อหาข่าว บทความ บทบรรณาธิการ คอลัมน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ตารางแสดงจำนวนตัวบทที่มีเนื้อหาไข้หวัดสายพันธุ์ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในช่วง 3 สัปดาห์แรก (28 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2552)
รายชื่อหนังสือพิมพ์ ข่าว บทความ รายงานพิเศษ คอลัมน์ บทบรรณาธิการ รวม
เดลินิวส์                 43       0             7             21            0           71
ไทยรัฐ                  26       1             0             1              0           28
คมชัดลึก               26        0             9             5             1            41
โพสต์ทูเดย์            60       25            0             6              0           91
ไทยโพสต์             25        5             0             1              0           31
มติชน                   72        0             5            17             0           94
กรุงเทพธุรกิจ         48        0             8             2              3           61
ผู้จัดการ                60        1             2             4              0           67

จากตารางแสดงให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวเรื่องสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มากที่สุดคือมติชน (72 ชิ้น) รองลงมาคือผู้จัดการและโพสต์ทูเดย์ (เท่ากันที่ 60 ชิ้น) ขณะที่ไทยรัฐ คมชัดลึก และไทยโพสต์ต่ำที่สุด (26-25ชิ้น) เท่านั้น

ส่วนการนำเสนอในรูปแบบบทความ มากที่สุดคือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (25 ชิ้น) คอลัมน์ มากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ (21 ชิ้น) รองลงมาคือหนังสือพิมพ์มติชน (17 ชิ้น) โดยเนื้อหาในคอลัมน์และบทความส่วนมากจะมีประเด็นเรื่องสถานการณ์ระบาด การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในการแก้ไขปัญหา การให้ความรู้พื้นฐานของโรคและการป้องกันตนเอง ค่อนข้างมีความละเอียดของข้อมูลในระดับหนึ่ง การอ้างอิงสาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ครบถ้วน มีความลึก

1.2) ประเด็นข่าวในหนังสือพิมพ์ จากการศึกษาหนังสือพิมพ์ทั้ง 8 ฉบับ พบว่า มีการรายงานข่าวในประเด็นที่ใกล้เคียง เน้นเรื่องสถานการณ์การระบาดทั่วโลก มาตรการเฝ้าระวัง การติดต่อ และข้อมูลสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อ และความโปร่งใสของรัฐในการแก้ไขปัญหา

1. ในช่วงสัปดาห์แรก สถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและเข้าสู่ประเทศไทยในระยะแรก, (จากเม็กซิโก), ประเด็นเรื่องความพร้อมของรัฐและหน่วยงานในการเตรียมมาตรการรับมือ, การเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อในประเทศและต่างชาติ, ข้อมูลตัวเลขและสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อ
2. เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง เริ่มเน้นที่มาตรการเฝ้าระวังภายในประเทศ, ความตื่นตัวของหน่วยงานความตระหนกของสาธารณชน, ที่มาของโรค –สาเหตุการติดต่อ, ความรู้ในการป้องกันตนเอง

3. ประเด็นข่าวในสัปดาห์ที่ 3 เริ่มเน้นสถานการณ์การระบาดที่แพร่ขยายมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ผลกระทบของโรคต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว, การขยายระดับความรุนแรงของโรค และเนื้อหาการระมัดระวังการป้องกันตัวโดยการสวมใส่หน้ากากและการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
4. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาของการระบาด ประเด็นข่าวของสื่อหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมีความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และมีบทบาทในการสื่อสารเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดี

1.3) แหล่งข่าวในหนังสือพิมพ์ โดยภาพรวมหนังสือพิมพ์ใช้แหล่งข่าวบุคคลมากที่สุด โดยเฉพาะแพทย์ ข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส โรคระบาด ซึ่งสังกัดหน่วยงานด้านสาธารณะสุข, องค์การเภสัชกรรม, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานสาธารณะสุขของต่างประเทศ

ประเภทข้อมูลที่หนังสือพิมพ์มักใช้คือสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความคิดเห็นต่อสถานการณ์การระบาด การประกาศพื้นที่เฝ้าระวัง สาเหตุการติดโรค ลักษณะอาการ-กลุ่มเสี่ยง ระดับความรุนแรง ที่มา-สายพันธุ์ของโรค และมาตรการการเฝ้าระวัง การกักตัวผู้ป่วย ณ สนามบินและด่านตรวจคนเข้าเมือง

ขณะที่ความคิดเห็นด้านผลกระทบของโรค ความเชื่อมั่นต่อการควบคุมสถานการณ์การระบาด ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว พบจากแหล่งข่าวด้านหน่วยงานเศรษฐกิจ

1.4) บทบาทสื่อหนังสือพิมพ์ในการอธิบายข่าว เตือนภัย ให้ความรู้ จากการศึกษาพบว่า สื่อหนังสือพิมพ์เน้นนำเสนอข่าวในลักษณะการเตือนภัย ผ่าน 2 ลักษณะคือ 1) การพาดหัวข่าวที่รุนแรง ตื่นเต้น และความน่าวิตก 2) ผ่านการให้ข้อมูลผ่านบทความ/คอลัมน์ รายงานพิเศษ ซึ่งจะให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจในพื้นฐานของโรค วิธีการป้องกัน การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสี่ยง การสังเกตอาการ สิทธิการรักษาพยาบาล

อีกบทบาทหนึ่งที่ชัดเจนของสื่อหนังสือพิมพ์คือบทบรรณาธิการ ที่ส่วนมากมุ่งโดยตรงวิพากษ์วิจารณ์มาตรการรับมือของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปรียบเทียบกับสถานการณ์โรคระบาด SARS และไข้หวัดนก และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเชิงลึก บทบาทเสนอแนะแนวทางการทำงานต่อรัฐ และหน่วยงานสาธารณะสุข ให้มีการเตรียมการล่วงหน้า

1.5) ภาษาข่าวที่อาจสร้างความตื่นตระหนก การใช้ภาษาข่าวโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ที่หวือหวา เร้าใจ ตื่นเต้น และเร้าอารมณ์นั้น มีส่วนทำให้ข่าวมีความน่าสนใจมากขึ้นจริง ช่วยดึงดุดความสนใจจากผู้อ่านได้มาก ช่วยเพิ่มยอดขายหรือเรตติ้งได้มาก ขณะเดียวกันในสถานการณ์การระบาดของโรคภัย หรือเหตุการณ์วิกฤติอื่นใด การใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์เช่นนี้ ก็ยิ่งขยายความน่ากลัวของสถานการณ์ให้มากขึ้นไปอีกด้วย

• ภาษาเรียกชื่อโรค เช่น "ไข้หวัดเม็กซิโก" กลายพันธุ์ผสมไวรัสหมู-นก-คน, “หวัดเม็กซิโก”, “ไข้หวัดเม็กซิโก", "ไข้หวัดหมู", "หวัดใหญ่เม็กซิกัน", “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก”ม “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1”, “หวัดใหญ่เม็กซิโก”, "ไข้หวัดเม็กซิโก" ไวรัสมรณะพันธุ์ใหม่?, "หวัดจังโก้" ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก “ไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1 เอ็น 1”

• ภาษาพาดหัวข่าวที่เร้าอารมณ์ มี 3 ลักษณะคือพาดหัวข่าวที่มุ่งไปที่สถานการณ์การระบาดที่ลุกลามจนควบคุมไม่อยู่ มุ่งไปที่การเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ และการสร้างภาพความน่ากลัวให้กับตัวเชื้อโรค เช่น
“จากเม็กซิโกลามทั่ว "หวัดหมู" โลกผวา-ตาย 103 ศพ” (28/4/52)
“ตายเป็นตายรายแรกเด็กสหรัฐเซ่นหวัดเม็กซิโก” (30/4/52)
“ฮูเพิ่มเตือนภัยหวัดหมูถึงระดับ5เม็กซิโกตาย180” (1/5/52)
“หวัดมรณะทำพิษสหรัฐอ่วมคนป่วยพุ่งพรวด” (8/5/52)
“สาวหวัดนรกรวยหวย6พันล.ทุกขลาภยังโดนกักตัวในรพ.ยอดคนติดเชื้อทะยาน6พัน” (14/5/52)
“หวัดมรณะผวากลายพันธุ์มีระลอก 2 "รามาธิบดี"พัฒนาชุดตรวจ4ชม.รู้ผล” (16/5/52)
“ไวรัสกลายพันธุ์ เชื้อมรณะ”
“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่: มหันตภัย 2009”
“ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ระบาด ทำเมืองหลวงเม็กซิโกร้าง” 28/4/2552
“ไขพัฒนาการ"ไข้หวัดหมู" แรงสูงสุด"คนสู่คน" 29/4/2552
“เหยื่อหวัดหมูจังโก้พุ่ง103ศพ” (28/4/52)
“จังโก้ลดยอดตายหวัดพันธุ์ใหม่เหลือ101เชื้อนรกลาม19ชาติ-ฮูชี้อาจเตือนภัยขั้น6” (6/5/52)
“หวัดมรณะลาม24ชาติติดเชื้อเลย2พัน” (7/5/52)

2. ผลการศึกษาสื่อโทรทัศน์ (สรุปจากข่าวภาคค่ำ 28 กรกฎาคม – 17 สิงหาคม 2552)

2.1) ประเด็นข่าว – มีลักษณะซ้ำ ใกล้เคียง ขาดความคืบหน้าในแต่ละช่อง

พบว่าฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องมีประเด็นข่าวที่รายงานในแต่ละวันที่คล้ายคลึงกัน คือเน้นสถานการณ์การระบาด (ซ้ำกันมากในกรณีผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์, แพทย์เชียงใหม่, หญิงแท้งลูก) ประเด็นเรื่องมาตรการการควบคุมการระบาด การแจกจ่ายยาต้านไวรัส การแยกแยะอาการของโรค ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การปิด-เปิดโรงเรียนกวดวิชา จำนวนนักท่องเที่ยว

โดยรวมของทุกช่องมีลักษณะเน้นรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิต ทั้งที่มีส่วนจากการติดไข้หวัด 2009 และจะรายงานเกาะติดอย่างต่อเนื่อง(และเป็นกรณีที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต) แต่หากพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เสียชีวิตเพราะไม่ติดเชื้อ ก็จะสรุปในภายหลังแทนสั้นๆ

ประเด็นข่าวเรื่องการทดลองกระจายยาต้านไวรัสให้คลินิก ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก เหล่านี้มาจากสำนักข่าวต่างประเทศเดียวกัน ศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสารอยู่ที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารโดยตรงที่คัดกรองแล้วเท่านั้น (กระทรวงสาธารณะสุข และหรือแพทย์เจ้าของไข้ / ประจำโรงพยาบาล)

ประเด็นข่าวเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจมักเชื่อมโยงกับการปิดสถานการศึกษา การปิดสถานบันเทิง ผลกระทบธุรกิจท่องเที่ยว บางช่องเชื่อมโยงเหตุผลการระบาดเข้ากับภาวะทรุดตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในช่อง 3-5

และมีประเด็นเรื่องประสิทธิผลของยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) การคาดว่าจะดื้อ มาตรฐานการจ่ายที่ไม่เท่าทเยมกันในสถานพยาบาล การใช้ยาตัวที่สอง (ซานามิเวียร์) การคิดค้น และผลิตวัคซีนต้านไวรัส และประเด็นอื่นๆ เช่น ดาราหรือคนในวงการบันเทิงติดโรคไข้หวัดฯ (ช่อง 3) กรณีการทุจริตการสั่งผลิตหน้ากากอนามัย (ช่องทีวีไทย) หรือมีสกู๊ปพิเศษที่รายงานถึงการสังเกตแยกแยะความแตกต่างระหว่างไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 หรืออาจมีสกู๊ปงานพิเศษหน้ากากอนามัยแฟชั่น

2.2) แหล่งข่าว – ใช้เจ้าหน้าที่รัฐ แพทย์ สถานพยาบาลเป็นหลัก
แหล่งข้อมูลหลักของข่าวไข้หวัดใหญ่ฯ คือบุคคลด้านการแพทย์ (จากโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีโอกาสจะเสียชีวิต เช่น มารดาที่คลอดลูก/แท้งลูก หรือเด็กอนุบาลหรือแพทย์เชียงใหม่) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขและผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคติดต่อเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม โดยมักผู้สื่อข่าวจะสรุปความตัดตอนสาระสำคัญมานำเสนอ ขณะที่ช่อง ทีวีไทย และช่อง สทท. อาจให้พื้นที่เสียงแก่เจ้าหน้าที่แพทย์มากกว่าช่องอื่นๆ

2.3) ประเภท/ลักษณะข้อมูล – สถานการณ์การระบาด/จำนวนผู้ป่วย และมาตรการใช้ยา

เนื้อหาที่นำเสนอเน้นไปที่ “สถานการณ์การระบาดในกลุ่มพื้นที่นั้นๆ” หรืออาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อว่าเป็นเช่นไร (ซึ่งก็จะมีไม่กี่กรณี ที่รายงานซ้ำเหมือนกันในทุกช่อง) ข้อมูลที่มักนำมาทำเป็นสกู๊ป-รายงานพิเศษ คือ มาตรการป้องกันตัวเองจากโรค การสังเกตอาการ การไปพบแพทย์ การเบิกจ่ายยา สิทธิในการรักษา

ขณะที่ข้อมูลด้านการผลิต การแจกจ่ายยา การดื้อยา การทดลองผลิตวัคซีนต้านไวรัสนั้น ก็มีเหมือนกันในทุกช่อง แต่อาจมีรายงานพิเศษที่ตั้งคำถามเรื่องความสำเร็จในการทดลองวัคซีนของรัฐบาล การปกปิด ซ่อนเร้นข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนผู้ป่วย จำนวนผู้ป่วยคาดการณ์ ความเป็นไปได้การติดเชื้อระหว่างสัตว์-คน

2.4) ข้อมูลที่อาจสร้างความตระหนกหรือความเข้าใจผิด เพราะการให้ข้อมูลของสื่อโทรทัศน์นั้นค่อนข้าง “ไม่สมบูรณ์” เมื่อเทียบกับสื่อหนังสือพิมพ์ จึงทำให้ประเด็นข่าวโทรทัศน์ที่รายงานจึงค่อนข้างขาดความชัดเจน และสร้างความสับสน มากที่สุดคือข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิต การติดเชื้อของผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ แพทย์เชียงใหม่ หรือ การสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มักมาจากโรคประจำตัวแต่การรายงานมักใช้คำว่า “ผู้ติดเชื้อ” การรายงานข่าวในประเด็นการจ่ายยาที่ล่าช้าหรือไม่ได้รับยา หรือความรู้สึกไม่แน่ชัดในการรักษา (เช่น ทานแค่ยาพาราเซตตามอล ก็หาย หรือเพียงพักผ่อนอยู่ที่บ้านก็สามารถหายได้เองใช่หรือไม่)

นอกจากนี้ความสับสนในเรื่องการกระจาย การเบิกจ่ายยาตามสถานพยาบาลก็ดูจะเป็นข้อมูลที่สื่อโทรทัศน์แต่ละช่องรายงานอย่างหนักและออกมาในลักษณะเชิงวิพากษ์ การทดลองวัคซีน จังหวัดนำร่องการจ่ายยา การเบิกจ่าย การใช้สิทธ์ในการรักษา

ปริมาณการรายงานข่าวลดลงมากในช่วงสัปดาห์สุดท้าย แต่เน้นข่าวต่างประเทศมากขึ้น

องค์การอนามัยโลกเสนอความคิดง่ายๆ เกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภัย มี5 ข้อคือ 1) สร้างความน่าเชื่อถือ 2) ประกาศแจ้งเตือนแต่เนิ่นๆ 3) ทำทุกอย่างให้มีความโปร่งใส 4) คำนึงและเคารพความรู้สึกสาธารณชน และ 5) มีแผนเตรียมการล่วงหน้า

สำหรับผลศึกษาการรายงานข่าวสถานการณ์ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ของสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ โครงการฯ มีข้อเสนอแนะต่อการายงานข่าวของสื่อมวลชน ดังนี้

• กำหนดประเด็นข่าวสอดคล้องกับความต้องการและความเหมาะสมของผู้รับสารที่แตกต่างกัน ในสถานการณ์วิกฤติ ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องย่อมต้องการข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ฉับไว ดังนั้นสื่อจึงควรใช้คุณสมบัติของความรวดเร็วในข่าวสารโดยคำนึงถึงลักษณะความต้องการข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องที่แตกต่างกัน ดังนี้
• สาธารณชน เน้นประเด็นข่าวที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ความปลอดภัย ความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโรคและการป้องกันตนเอง

• ในกรณีที่มีความเข้าในผิดในสาระสำคัญของสถานการณ์ระบาด ควรรีบตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่เด่นชัด สรุปสุดท้ายจากผู้ที่น่าเชื่อถือและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยตรงก่อน แล้วจึงค่อยนำเสนอออกไป หากเป็นข้อมูลประเภท ความคิดเห็น-การคาดการณ์ ความคิดเห็นส่วนตัว ก็อาจไม่จำเป็นต้องนำเสนอ เพราะอาจยิ่งสร้างภาวะข่าวลือให้กระจายได้เร็วมากขึ้น

• หน่วยงานรัฐ เน้นประเด็นข่าวที่แสดงถึงความโปร่งใสของการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพื่อการตรวจสอบและป้องกันการปกปิด ซ่อนเร้นข้อเท็จจริงให้สาธารณชนรับรู้ ประเด็นเรื่องความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา ปัญหาหรืออุปสรรคภายในหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันรัฐปกปิดข้อมูล เช่น ประเด็นความขัดแย้งภายในรัฐบาล การสร้างภาพ สร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์จริง การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อกลบเกลื่อนปัญหา สถานการณ์การแพร่ระบาด มาตรการควบคุม การกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง การมีแผนการล่วงหน้า สื่อควรรายงาน วิเคราะห์ วิจารณ์ อย่างโปร่งใส ปราศจากอคติ และสร้างสรรค์

• กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เน้นข้อเท็จจริง ที่ส่งผลกระทบโดยตรงทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ระบบการเมือง ระบบสาธารณสุข การแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สื่อควรมีข้อมูลที่แน่ชัดที่ตรวจสอบแล้วว่าการเกิดโรคระบาดส่งผลโดยตรงต่อผลกระทบนั้นๆ แล้วจึงค่อยรายงานออกไป

เนื่องจากพบว่าประเด็นข่าวไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่รายงานในสื่อมีความคล้ายคลึงกัน แต่อาจแตกต่างในรายละเอียดของเนื้อหา (ความสั้น-ยาว การให้พื้นที่เสียงแก่ผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้สัมภาษณ์ และจากการสรุปข้อมูลด้วยตัวผู้ประกาศข่าว และบทสนทนาข่าวระหว่างพิธีกรข่าว) เหล่านี้ส่งผลให้ “ความถูกถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลที่รายงานมีคุณภาพแตกต่างกัน”

• ในการรายงานข่าวสถานการณ์ระบาด อาจจำเป็นที่ผู้ประกาศข่าว ทีมข่าว กองบรรณาธิการข่าว ควรรายงานข่าวเรื่องนี้ “อย่างค่อนข้างเป็นทางการ” และวางแผนการรายงานข่าวมากกว่า “กระแสข่าวรายวัน” ซึ่งมักจบเนื้อหาข่าวแบบ “ต้องติดตามกันต่อไปสำหรับอาการความเจ็บป่วยของคนไข้”
• อาจมีประเด็นอื่นๆ ที่สื่อโทรทัศน์สามารถรายงานข่าวได้ เช่น กรณีการทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายยาในแต่ละพื้นที่ การสำรวจความเข้าใจในโรคของประชาชน เน้นพื้นที่เมืองหลวงในภูมิภาคอื่นๆ และชนบทที่ห่างไกล หรือประเด็นการระบาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน หรือเปรียบเทียบมาตรการการรับมือการระบาดของประเทศใกล้เคียง
• ขณะที่สกู๊ปข่าว/รายงานพิเศษ ที่ให้ความรู้ในการป้องกันโรค สปอตสั้นรณรงค์ควรทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องการสวมหน้ากาก การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการหรือเริ่มสงสัยว่ามีอาการ การคัดแยกลักษณะอาการ การบอกสิทธิขั้นพื้นฐานการรักษา การให้ข้อมูลการระวังป้องกันที่ถูกต้องนั้น

• กำหนดประเด็นข่าวรู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์
ในช่วงเวลาของการระบาด จะแบ่งช่วงเหตุการณ์ได้ 5 ช่วง ดังนี้ คือ 1. ช่วงก่อนการระบาด 2. ช่วงสืบหาสาเหตุการระบาด 3. ช่วงระยะการระบาดสู่คนอย่างหนัก 4. ช่วงการจัดการปฏิกิริยา/ความรู้สึกสังคม และ 5. ช่วงหลังการเกิดความสูญเสียจากการระบาด ซึ่งแต่ละช่วง สื่อจะต้องคำนึงว่าประเด็นเนื้อหาข่าวที่เหมาะสมคืออะไร โดยทั่วไปมีประเด็นหลักๆ ดังนี้

• ความโปร่งใส การปกปิดข้อมูล ข่าวลือ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดให้สาธารณชนทราบผ่านทางสื่อต่างๆ
• ความตื่นกลัว วิตกกังวล ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของประชาชนที่มีต่อโรคระบาด
• สาเหตุโรค ที่มาหรือต้นตอของโรคระบาด ปัญหา/สภาพที่ก่อให้เกิดโรค
• สถานการณ์การแพร่ระบาด การแพร่ระบาดของโรคไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
• ผลกระทบต่อบริบทต่างๆ ผลกระทบด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว การแพทย์และสาธารณะสุข วิทยาศาสตร์ การเมือง ความมั่นคงของประเทศ
• การติดต่อ และการป้องกันรักษา เนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลรักษาและควบคุมโรคในคนและสัตว์
• มาตรการแก้ไข การกักกันตัว การเฝ้าระวังด่านเข้าออกสนามบิน การรักษา การใช้ยาวัคซีน การประกาศพื้นที่เสี่ยง
• พื้นที่เฝ้าระวัง การประกาศพื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่ระบาดหนัก พื้นที่ปลอดภัย
• ข้อมูลทางวิชาการ เนื้อหาเกี่ยวกับสภาพโรค เอกสารการวิจัย การประชุม สัมมนา คำอธิบายทางการแพทย์
• ข้อมูลสถิติ จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต อัตราการจ่ายยา

สื่อควรรู้ว่าประเด็นข่าวเรื่องใดเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงใด และการรายงานข่าวควรมีเป้าหมายเพื่อควบคุม ระงับความรุนแรงไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป มากกว่าที่จะรายงานข่าวเพื่อดึงดูดความสนใจผู้ชมผู้อ่าน นอกจากนี้ การให้ข้อมูลข่าวสารควรระบุวัน เวลา สถานที่ ของเนื้อหาข่าวนั้นอย่างชัดเจน เพื่อที่ผู้รับสารจะสมารถแยกแยะได้ว่าข่าวสารนั้นเกิดขึ้นมานานแล้วหรือไม่

• กำหนดปริมาณข่าวให้มีปริมาณที่เหมาะสม เราไม่สามารถรู้ได้เป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้ว่าสัดส่วนปริมาณข่าวสารเท่าไรที่สื่อควรจะรายงาน แต่สื่อสามารถหาจุดสมดุลของปริมาณข่าวที่เหมาะสมได้ โดยคำนึงถึง
• ความจำเป็น/เปลี่ยนแปลง ของช่วงเวลาระยะต่างๆ ของเหตุการณ์
• ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ ความคืบหน้า การได้ข้อมูลชุดใหม่
• เจตนาและความตั้งใจนำเสนอข่าวสารว่าจะทำเพื่อ เข้าช่วยระงับ/ควบคุมเหตุการณ์ ว่าจะนำเสนอเพื่อป้องกัน ลดระดับความสูญเสีย หรือคงความเสียหายนั้นไม่ให้ขยายมากขึ้น หรืออยู่ในช่วงความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุการณ์นั้นๆ

ข้อควรคำนึงข้างต้น จะช่วยให้สื่อสามารถวางแผนการกำหนดประเด็นข่าวหรือการสื่อสารกับสาธารณะโดยรู้ว่าประเด็นข่าวลักษณะใด เหมาะสมที่จะนำเสนอในปริมาณมาก ถี่ซ้ำได้ ข่าวสารใดที่ไม่จำเป็นต้องรายงานถี่บ่อย

• เน้นผลกระทบของข่าวหลากหลายมิติ รายงานข่าวเชิงลึก ให้มากกว่า 5Ws+1H (3Cs+1S)

การศึกษาชี้ให้เห็นว่าข่าวสื่อสิ่งพิมพ์มีความลึก ความกว้างรอบด้านของประเด็นมากสื่อโทรทัศน์ เพราะไม่ถูกจำกัดพื้นที่เท่าสื่อโทรทัศน์ อย่างไรก็ตามข้อมูลเชิงลึกนี้ก็สามารถทำได้ในรูปแบบรายงานพิเศษ โดยควรเพิ่มความลึก รอบด้านของเนื้อหาข่าวที่อธิบายถึง c-cause สาเหตุ-ที่มาของปัญหา, c-context สภาพบริบทแวดล้อมตัวเหตุการณ์, c-circumstance ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา และ “ทางออกสำหรับปัญหา” s-solution ซึ่งจะทำให้เนื้อหาข่าวมีมากกว่าเพียงแค่การบอกเล่า รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ในเนื้อหาของข่าว สื่อควรให้บริบทของข่าว สถานการณ์ปัจจุบัน ในภาพรวม (ไม่เน้นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง คนไข้รายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ) ควรกระจายความสำคัญของข่าวไปยังประเด็นต่างๆ ให้มีความสมดุล รอบด้าน เหมาะสม

สื่อโทรทัศน์มักไม่ให้ข้อมูลเชิงลึกเหมือนสื่อหนังสือพิมพ์ เพียงแค่รายงาน/ให้ข้อมูลข่าวในระดับเหตุการณ์ทั่วไป

• สื่อควรตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะรายงานโดยตรง โดยเฉพาะข้อมูลที่อาจสร้างความคลุมเครือ เข้าใจผิด เช่น สาเหตุการติดเชื้อ (ติดจริงหรือไม่ได้ติด) สาเหตุการเสียชีวิต (ว่ามาจากโรคไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 หรือจากโรคประจำตัวร่วมด้วย) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเบิกจ่ายยา สามารถทำได้โดยสถานพยาบาลเอกชนหรือไม่ ขั้นตอน มาตรฐานควรเป็นเช่นไร

• งดเว้น ภาษาข่าวเร้าอารมณ์ ขยายความกลัว ความตื่นเต้น ตื่นตระหนก การรายงานข่าวผู้เสียชีวิต หรือการใช้ภาษาข่าวที่เร้าอารมณ์อาจส่งผลต่อการเตือนภัยให้สังคมและรัฐตื่นตัว แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกได้เช่นกัน ในภาวะวิกฤติสื่อจึงต้องเน้นการรายงานข่าวที่เน้นตัวเลขข้อ เท็จจริงของเหตุการณ์ที่ได้รับการพิสูจน์ ตรวจสอบแล้วเท่านั้น การรายงานข่าวโดยเน้นคุณค่าข่าวเรื่องผลกระทบของโรคระบาดนั้นแตกต่างจากการายงานข่าวที่เน้นการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บของผู้ป่วย เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อการสร้างความกังวลใจให้เกิดขึ้นต่อมวลชน

• สื่อควรใช้ภาษาข่าวที่ตรงไปตรงมา สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ปราศจากการขยายหรือสร้างความหวาดกลัว การพาดหัวข่าวในลักษณะชี้นำสถานการณ์ควรเป็นไปในทางป้องกัน (โดยเฉพาะการพาดเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ การเสียชีวิต ระดับความรุนแรง การแพร่เชื้อ การกลายพันธุ์ การดื้อยา สถานที่เสี่ยง) เหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความพยายามแก้ไขและควบคุมปัญหา หากได้รับข้อมูลไม่ชัดเจนและเป็นไปในทางเดียวกัน

• ชื่อโรคที่เรียกควรมีความชัดเจน การบรรยายรายละเอียดอาการ การปกปิดหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ติดเชื้อควรมีความระมัดระวัง ควรงดเว้นคำเรียกชื่อผู้ติดเชื้อที่มีลักษณะเหมือนฉายา ควรสืบสาเหตุที่แน่ชัดของการเสียชีวิตก่อนรายงานออกไป (ว่าเสียชีวิตเพราะโรคระบาดนั้น หรือเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวหรืออาการข้างเคียง) การรายงานกลุ่มเสี่ยง/พฤติกรรมเสี่ยงควรมีความชัดเจน สาเหตุและอัตราการเสียชีวิต การเข้ารับการรักษา ประสิทธิภาพของยา การดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้ออย่างปลอดภัย ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความกังวลใจของสาธารณ
·   บทบาทของสื่อจึงอยู่ที่การสื่อสารเพื่อช่วยควบคุมการระบาดของโรคภัย มิใช่การแพร่ระบาดความกังวล ตื่นตระหนกในข้อมูลข่าวสาร
• การเกาะติดประเด็นข่าว สื่อควรรายงานข่าวสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญมากกว่าข่าวอื่นๆ ในขณะนั้น การรายงานข่าวที่ขาดช่วงขาดตอนไป จะทำให้สังคมรู้สึกว่า สถานการณ์ได้คลี่คลายลงไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นช่วงระยะเวลาของการพักช่วงการระบาด หรือเป็นช่วงที่ยังไม่มีเหตุการณ์ใหม่ที่มีความสำคัญเกิดขึ้น สื่ออาจเปลี่ยนแบบแผนการรายงานข่าวจากการรายงานมาเน้นบทบาทในการให้ความรู้ อาจผ่านคอลัมน์ บทความ สกู๊ปหรือรายงานพิเศษ ที่อาจสอดแทรกแง่มุมทางผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย แต่ไม่ควรสร้างบรรยากาศที่วางใจ หากในความเป็นจริงสถานการณ์การระบาดไม่ได้ลดลงหรือยังไม่ได้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้

• แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องโดยตรง และรายงานเน้นที่ตัวเหตุการณ์มากกว่าบุคคล ในสถานการณ์วิกฤติ การคัดเลือกและตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็น

• ในสถานการณ์วิกฤติของโรคระบาด แหล่งข่าวที่ดีที่สุดก็คือแพทย์ หรือผู้ที่รัฐมอบหมายให้เป็นผู้ให้ข่าว ควรแจ้งชื่อ หน่วยงานสังกัด พื้นที่ที่สังกัด และตำแหน่ง/ความเชี่ยวชาญพิเศษอย่างครบถ้วน และนำเสนอเนื้อหาคำสัมภาษณ์ให้ได้สาระใจความครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอ

• สื่อโทรทัศน์ควรระมัดระวังการนำแหล่งข่าวที่มีความขัดแย้งมาออกรายการ หากจำเป็นต้องนำเสนอ เช่น กรณีนำเอาญาติผู้เสียชีวิตกับแพทย์โรงพยาบาล ออกอากาศรายการสด และแสดงความไม่พอใจต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้วนำเจ้าหน้าที่ แพทย์ หรือผู้ที่มาเกี่ยวข้องมาออกในรายการ แม้จะดูว่าสื่อได้ทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสาร แต่เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่ายภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้ง เพราะอาจส่งผลต่อการสร้างความตระหนกต่อสาธารณชนได้ การคัดเลือกผู้ป่วย-ญาติผู้ป่วยมาให้ข้อมูลในรายการควรมีความระมัดระวังและกลั่นกรองก่อนนำออกอากาศ เพราะผู้ป่วยอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง แต่อาจมีความรู้สึกไม่ได้รับความชอบธรรมจากการรักษา สื่อควรให้พื้นที่แก่ทั้ง 2 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด

• ควรลดการนำเสนอข่าว “ความคืบหน้าของอาการผู้ติดเชื้อ” ในลักษณะรายวันลง แต่ควรเน้นการรายงานข่าวสถานการณ์การระบาดทั่วไปในพื้นที่เขตโรงเรียน แหล่งทำงาน แหล่งชุมชน สถานบันเทิง ตลาด หรือสถาบันการศึกษา เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึง “สภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่มีความเสี่ยง” แทนที่จะเป็น “กลุ่มความเสี่ยง” เช่น “หญิงตั้งครรภ์ / คนอ้วน หรือผู้มีโรคประจำตัว”

เพราะเนื้อหาข่าวโทรทัศน์ส่วนมากมักเน้นไปที่สถานการณ์การระบาด อาการเจ็บป่วย ระยะเวลาการเสียชีวิต จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต หรือ โอกาสที่จะติดเชื้อและเสียชีวิต ซึ่งอาจเพิ่ม/สร้างความตระหนักในความน่ากลัวของสถานการณ์การระบาดได้ แต่ควรปิดท้ายด้วยข้อมูลการป้องกันหรือให้ความรู้แก่ผู้ชมในตอนท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น