xs
xsm
sm
md
lg

คู่เกย์-ทอม-ตุ๊ด-ดี้ กับปัญหาที่มากกว่า “คำว่ารัก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปอย” ไม่ร้างชาย ควงหนุ่มใหม่ร่อนสมุย …
ฝรั่งไอริชแต่งกระเทยนครพนมสินสอด 2.8 ล้าน ...
“ปีใหม่” หลง “ป๋าต๊อบ” สร้างประสบการณ์ใหม่เวิร์คสุดๆ ...

ปัจจุบัน สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง ให้การยอมรับ และให้โอกาส สำหรับการดำรงอยู่ “เพศที่ 3” มากกว่าอีกหลายๆ สังคมบนโลกใบนี้ โดยสังเกตได้จากข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายๆ ชิ้น ข้างต้นที่พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า แม้แต่ชายหนุ่มแปลงเพศเป็นสาวสวย อย่าง “ปอย” ตรีชฎา เพชรรัตน์ (หรือ นายศักดิ์นรินทร์ มาลยาภรณ์) ก็ยังได้รับการยอมรับจากสังคม มีชายหนุ่มสนใจอยากคบเป็นคู่ควงมากมาย ทั้งยังได้โอกาสทำงานในวงการบันเทิงที่สร้างรายได้ อย่างมากมาย

ทว่า ภายใต้ข่าวคราว และ ภาพลักษณ์อันดูชื่นมื่นของบรรดา ชาวเพศที่ 3 ทั้งหลายนั้น มีปัญหาหนึ่งที่รบกวนและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของพวกเขามาตลอด แม้สังคมไทยจะให้โอกาส เปิดประตูยอมรับ การดำรงอยู่ของพวกเขาแล้วก็ตาม


นิกร อาทิตย์ ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ องค์กรซึ่งเป็นที่รวมของกลุ่มเกย์หรือชายรักร่วมเพศ กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้ชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัวของชาวเพศที่ 3 ว่า จริงๆ แล้วคือ สิทธิตามกฎหมายในการใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกัน มิใช่ “ทะเบียนสมรส” อย่างที่คนส่วนใหญ่ในสังคมคิดและคัดค้าน

“ผมว่าทะเบียนสมรสมันเป็นแค่เครื่องแสดงสถานภาพในการใช้ชีวิตคู่เท่านั้น แต่มันไม่ใช่เครื่องการันตีว่าชีวิตคู่จะยืนยาวหรือเปล่า สิ่งที่กลุ่มเพศที่สามต้องการจริงๆ คือ สิทธิตามกฎหมายในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันซึ่งมันจะสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต

เราอยากให้มีกฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่มากกว่าอยากได้ทะเบียนสมรส เพราะปัจจุบันนี้เราเจอปัญหาหลายอย่าง ที่เป็นปัญหาอย่างมากคือกรณีที่คู่ชีวิตป่วยและต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่คนรักซึ่งเป็นเพศเดียวกันไม่สามารถเซ็นอนุญาตได้ เพราะกฎหมายระบุว่าผู้ที่จะเซ็นอนุญาตให้ผ่าตัดได้ต้องเป็นญาติพี่น้องและสามี-ภรรยา ทั้งที่เขาและคู่ชีวิตอยู่ด้วยกันและดูแลกันมาตลอด ขณะที่ญาติพี่น้องอาจจะอยู่ไกลกันและเดินทางมาไม่ทันเวลา … อย่างเคสหนึ่งซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่เป็นหญิงรักหญิง แฟนเธอต้องเข้าผ่าตัดฉุกเฉินและเสียชีวิต แต่เธอไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเข้าไปดูใจแฟนเป็นครั้งสุดท้ายเพราะโรงพยาบาลอนุญาตเฉพาะคนที่เป็นญาติหรือสามี-ภรรยาเท่านั้น” ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ กล่าว

นิกรยกตัวอย่างต่อว่า มีบางคู่ที่ทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยกัน แต่ถึงวันหนึ่งที่คนใดคนหนึ่งเสียชีวิต ทรัพย์สมบัติต่างๆ ก็ไม่ได้ตกกับคู่ชีวิต แต่ไปตกอยู่กับญาติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้รับมรดกตามสายเลือด ขณะที่คนที่ทำมาหากินด้วยกันมากลับไม่ได้อะไรเลยเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ หรือการทำประกันชีวิตก็ไม่สามารถให้คู่ชีวิตรับผลประโยชน์ได้ เนื่องจากกรมธรรม์ส่วนใหญ่ระบุว่าห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ญาติหรือคนที่ไม่ได้ใช้นามสกุลเดียวกันเป็นผู้รับผลประโยชน์

“ตรงนี้มันเป็นข้อจำกัดของชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกัน บางคู่จะขอสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดฯก็กู้ร่วมไม่ได้ เพราะคนละนามสกุลและไม่ได้เป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย ทางธนาคารก็มองว่าถ้าคนใดคนหนึ่งไม่ส่งค่างวด ธนาคารก็ไม่สามารถติดตามทวงถามจากอีกคนหนึ่งได้เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ผิดกับสามีภรรยาที่เป็นคู่ชายหญิงซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันชาย-หญิงที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐนั้นสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้สามีหรือภรรยาตามกฎหมายได้ แต่คู่รักซึ่งเป็นเพศที่สามไม่สามารถทำได้ ชาย-หญิงที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสสามารถลดหย่อนภาษีได้ แต่เพศที่สามไม่ได้รับสิทธิตรงนี้ เราก็รู้สึกว่าเราก็เสียภาษีเหมือนกันแต่ทำไมไม่ได้รับสิทธิเหมือนคนอื่น และการที่เรามีคู่ครองเป็นเพศเดียวกันมันก็ไม่ใช่ความผิดของเรา กลุ่มเพศที่สามจะมุมานะทำงานเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีเพราะต้องการการยอมรับจากสังคม เมื่อตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนมากขึ้น จ่ายภาษีมากขึ้น แต่กลับไม่มีสิทธิรับสวัสดิการต่างๆ เหมือนชายหญิงทั่วไป” นิกร กล่าวถึงอุปสรรคในการใช้ชีวิตคู่ของบุคคลซึ่งมีเพศเดียวกัน

ทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกัน

ในส่วนของ กฎหมายการจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกันที่ใช้อยู่ในประเทศต่างๆ นั้น ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ Gay Marriage หรือ Same Sex Marriage อันเป็นกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์แก่คู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันเช่นเดียวกับคู่สมรสระหว่างชาย-หญิง และ Partnership Law กฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่าการจดทะเบียนในลักษณะ Gay Marriage

อย่างไรก็ดี เนื่องจากจารีตประเพณีและความเคร่งครัดทางศาสนา ทำให้ประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่มองว่าการแต่งงาน (Marriage) เป็นเหมือนสถาบันที่ควรรักษาไว้สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเท่านั้น พวกเขาจึงรู้สึกต่อต้านการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ทำให้รัฐบาลหลายประเทศหาทางออกเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมด้วยการออกกฎหมาย Civil Union มาบังคับใช้แทน โดยแม้กฎหมายดังกล่าวจะให้สิทธิตามกฎหมายแก่คู่สมรสเช่นเดียวกับ Gay Marriage แต่ต่างกันตรงที่ Civil Union ไม่สามารถเรียกว่าเป็น Marriage

ดังนั้น “ชายรักชาย” และ “หญิงรักหญิง” จึงไม่มีการจัดพิธีแต่งงานและจดทะเบียนสมรสในโบสถ์เหมือนกับคู่รักชาย-หญิง แต่จะจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอแทน นอกจากนั้นพิธีการต่างๆ ยังเป็นไปอย่างเรียบง่าย คู่รักแต่งตัวกันแบบสบายๆ และมีเพียงญาติของแต่ละฝ่ายมาเป็นสักขีพยานเท่านั้น แต่หากต้องการจะมีงานเลี้ยงฉลองสมรสก็สามารถจัดกันเองในภายหลังได้

นที ธีระโรจนพงษ์ ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกันว่า

“ปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาตให้เพศเดียวกันจดทะเบียนกันได้ถึง 40 กว่าประเทศ เช่น เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปตุเกส สวีเดน ฟินแลนด์ สเปน แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เบลเยียม ไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ลักเซมเบิร์ก อิสราเอล อาร์เจนตินา อันดอร์ร่า บราซิล โครเอเชีย อารูบา แอฟริกาใต้ รัฐส่วนใหญ่ของประเทศออสเตรเลีย (ยกเว้นออสเตรเลียใต้กับออสเตรเลียตะวันตก) และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา รวมแล้วประมาณ 10 กว่ารัฐ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ฮาวาย นิวเจอร์ซี นิวยอร์ก และวอชิงตัน ดีซี โดยมีทั้งที่เป็นการจดทะเบียนแบบ Gay Marriage หรือ Civil Union และการจดทะเบียนในลักษณะ Partnership Law ”

อย่างไรก็ดี การที่กลุ่มรักร่วมเพศในประเทศหนึ่งเดินทางไปจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนรับรองการใช้ชีวิตคู่ในอีกประเทศหนึ่งนั้น สิทธิที่ได้จากการจดทะเบียนดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับต่อการทำนิติกรรมหรือการดำเนินชีวิตในประเทศบ้านเกิดของตนเอง รวมถึงการจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกันในรัฐใดรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีผลบังคับต่อรัฐอื่นๆที่ไม่มีกฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่ ดังนั้นเมื่อคู่สมรสเดินทางไปยังรัฐอื่น รัฐนั้นก็อาจจะไม่ยอมรับสถานภาพและสิทธิจากการจดทะเบียนของบุคคลดังกล่าวก็ได้ นอกจากนั้นแม้ว่าจะเป็นการจดทะเบียนในลักษณะ Civil Union แต่ก็อาจจะไม่ได้รับสิทธิบางอย่างเหมือนกับคู่สมรสที่เป็นชาย-หญิง โดยเฉพาะในเรื่องของการขอรับอุปการะบุตรบุญธรรม

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้กลุ่มรักร่วมเพศส่วนใหญ่ต้องการให้มีกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างเพศเดียวกันก็คือสิทธิประโยชน์ต่างๆที่พึงได้รับเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิงนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่คู่สมรสเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ สิทธิในสินสมรส สิทธิมรดกในกรณีที่คู่รักเสียชีวิต สิทธิที่จะเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการทำประกันชีวิตของคู่สมรส สิทธิในการขอกู้ร่วมในกรณีขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

Case Study : หนุ่มไทย-เยอรมัน จดทะเบียนกันมา 5 ปี

ปัจจุบันมีกลุ่มรักร่วมเพศซึ่งเป็นคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสได้แต่งงานและจดทะเบียนตามกฎหมายกับคู่รักชาวต่างชาติ เช่นกรณีของ วุฒิพงศ์ อารยะธรรมโสภณ หนุ่มไทยที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกับคู่รักหนุ่มชาวเยอรมันมากว่า 5 ปีแล้ว

วุฒิพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เขาพบรักกับ เดิร์ก เบเวอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพมือและเท้า ตั้งแต่ครั้งที่เขาช่วยเป็นล่ามให้กับเบเวอร์ซึ่งเดินมาเที่ยวงานลอยกระทงที่เมืองไทย และได้คบหาดูใจกันเรื่อยมา เมื่อวุฒิพงศ์เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเคมีที่เมืองไทย เขาก็บินไปเรียนต่อที่เยอรมนี โดยโอนย้ายไปเรียนคณะแพทย์ด้านมือและเท้าเช่นเดียวกับแฟนหนุ่ม และได้ตัดสินใจแต่งงาน จดทะเบียนสมรสกันที่เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีกฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่

“การจดทะเบียนระหว่างคนเพศเดียวกันในเยอรมนีมีเยอะมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างเบอร์ลิน คนไทยที่ไปจดทะเบียนในลักษณะนี้ก็เยอะ เท่าที่ผมรู้จักมีประมาณ 30 กว่าคน ส่วนใหญ่จะเป็นชายกับชายนะ คือเยอรมนีเพิ่งจะอนุญาตให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนกันได้เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งผมกับแฟนเป็นเกย์คู่ที่ 2 ของเยอรมนีที่จดทะเบียนกัน คู่แรกเป็นหนุ่มเยอรมันทั้งคู่ เราไปทำพิธีจดทะเบียนกันที่ว่าการอำเภอ คือถ้าเป็นคู่หญิง-ชายที่แต่งงานกันเขาจะไปทำพิธีแต่งงานและจดทะเบียนกันในโบสถ์ แต่ถ้าเป็นคู่ของเกย์หรือเลสเบี้ยนเขาจะไม่ให้เข้าโบสถ์เพราะขัดกับหลักศาสนาของเขา ตอนนั้นก็มีคุณพ่อคุณแม่ของเราทั้งคู่มาเป็นสักขีพยาน

คือในเยอรมนีจะเรียกว่ากฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่ ไม่ใช่ทะเบียนสมรสเหมือนกับคู่หญิง-ชายทั่วไป ซึ่งขั้นตอนการจดทะเบียนของเราก็เหมือนกับการจดทะเบียนของคู่หญิง-ชาย คือต้องมีหลักฐานต่างๆ เช่น บัตรประชาชน ใบสูติบัตร ทะเบียนบ้าน พาสปอร์ต และหากมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลก็ต้องนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงด้วย ซึ่งเอกสารเหล่านี้ถ้าเป็นภาษาไทยก็ต้องแปลเป็นภาษาเยอรมันด้วย หลังจดทะเบียนแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็จะมาตรวจสอบว่าเราใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจริงหรือเปล่า เขาจะมาตรวจปีละ 2 ครั้งโดยไม่แจ้งให้เราทราบล่วงหน้า คือถ้าเขาพบว่าไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยกันแต่จดทะเบียนเพื่อต้องการใช้สิทธิในการอาศัยและทำงานในเยอรมนีก็จะถูกส่งตัวกลับ

สำหรับสิทธิต่างๆ จากการจดทะเบียนก็จะแตกต่างจากคู่รักชาย-หญิงเล็กน้อย คือคู่เกย์หรือเลสเบี้ยนจะไม่มีสิทธิรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม และหากคู่ชีวิตตาย อีกคนหนึ่งไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จบำนาญแทนคู่ของตน แต่สำหรับสิทธิอื่นๆจะเหมือนกับคู่สมรสชาย-หญิงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในสินสมรส สิทธิในการรับผลประโยชน์จากประกันชีวิตของคู่สมรส สิทธิในการเซ็นยินยอมให้ทำการรักษาหรือผ่าตัดในกรณีที่คู่สมรสเจ็บป่วย สามารถกู้ร่วมเพื่อขอสินเชื่อในการซื้อบ้าน แต่สิทธิในมรดกของคู่สมรสนั้นเราจะได้รับก็ต่อเมื่อจดทะเบียนกันแล้วอย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากผมเป็นชาวต่างชาติ นอกจากนั้นเมื่ออยู่กินกันครบ 3 ปีผมก็ยังได้วีซ่าถาวรด้วย แต่ผมกับแฟนเพิ่งจะกลับมาจัดงานแต่งงานกันที่เมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้เราก็ไปๆ มาๆ ระหว่างไทยกับเยอรมนี เพราะเรามีคลิกนิกด้านมือและเท้าที่เยอรมนี และมาเปิดคลินิกที่เชียงใหม่ด้วย ผมว่าการจดทะเบียนมันทำให้ชีวิตคู่ของเรามั่นคงขึ้น การทำนิติกรรมต่างๆในแต่ละประเทศก็ง่ายขึ้นด้วย” วุฒิพงศ์ กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

“จิ๋ม ซาร่า” สู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียม

อีกกรณีหนึ่งซึ่งถือเป็นตัวอย่างการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมของผู้ที่เกิดมาเป็นเพศที่สามก็คือกรณีของ สุจินต์รัตน์ ประชาไทย หรือ ‘จิ๋ม ซาร่า’ อดีตนักแสดงสาวประเภทสองซึ่งต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อให้ความฝันที่จะได้เป็นผู้หญิงสมบูรณ์แบบนั้นเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแปลงเพศซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากในยุค 20 ปีที่แล้ว ความพยายามที่จะมีโอกาสได้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ไปจนถึงการขอจดทะเบียนสมรสกับชายคนรัก และที่สำคัญคนรักของเธอนั้นเป็น “คนไทย” ไม่ใช่ฝรั่งต่างชาติซึ่งอยู่ในประเทศที่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกันเหมือนกับคนอื่นๆ

“หลังจากผ่าตัดแปลงเพศแล้วจิ๋มก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นผู้หญิงเต็มตัว ให้ได้ใช้คำนำหน้าว่านางสาว ทำแม้กระทั่งจะไปแต่งงานกับเพื่อนชาวออสเตรเลียเพื่อให้ได้สัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าจาก ‘นาย’ เป็น ‘นางสาว’ ได้ แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ หลังจากนั้นไม่นานจิ๋มก็ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ก็พยายามหาทางรักษา ทีนี้จิ๋มทราบว่าที่นิวซีแลนด์เราสามารถรับการรักษาได้ฟรีหมดถ้าเราเป็นพลเมืองของเขา จิ๋มก็บินไปนิวซีแลนด์เลย พอไปถึงก็คุยกับทนายแล้วเขาก็พาไปยื่นเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ โดยจิ๋มบอกกับเขาตรงๆ ว่าเราเป็นสาวประเภทสองซึ่งมีเพศตามกฎหมายเป็นชาย เราอยากได้สัญชาตินิวซีแลนด์เพราะต้องการจะเป็นนางสาวและเข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เจ้าหน้าที่เขาใจดีมาก เขาก็ช่วยให้ได้เข้ารับการรักษาโดยระบุว่าจิ๋มเป็นผู้อพยพและช่วยให้จิ๋มได้สัญชาตินิวซีแลนด์และสามารถเปลี่ยนมาใช้นางสาวได้ แต่ก็ไม่ใช่ง่ายนะคะคือเราต้องพิสูจน์ให้เขาเชื่อว่าเราผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าที่เขากำหนด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก ในที่สุดจิ๋มก็ได้เป็นนางสาวเมื่อปี 2000 ซึ่งตรงกับวันเกิดจิ๋มพอดี

หลังจากนั้นจิ๋มก็ได้แต่งงานและจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่นิวซีแลนด์ ตอนนี้ก็เลยเปลี่ยนมาใช้คำนำหน้าว่านาง (หัวเราะ) แต่ว่าจดทะเบียนกับผู้ชายไทยนะคะ ซึ่งกว่าจะพาแฟนซึ่งเป็นคนไทยไปจดทะเบียนที่นิวซีแลนด์ได้ก็ค่อนข้างยาก โดยจิ๋มขอความเห็นใจว่าเราจดทะเบียนที่ประเทศไทยไม่ได้จึงขอไปจดที่นิวซีแลนด์ ซึ่งน่าจะสามารถทำได้เพราะจิ๋มได้สัญชาตินิวซีแลนด์แล้ว ก็ถามเขาว่าเราทำพิธีแต่งงานที่สถานทูตนิวซีแลนด์ในประเทศไทยได้ไหมเพราะตรงนั้นก็ถือว่าเป็นสิทธิอาณาเขตของประเทศนิวซีแลนด์ เขาก็บอกว่าไม่ได้ ทนายฝ่ายเราก็สู้เต็มที่ จนกระทั่งจิ๋มได้จดทะเบียนกับแฟน ซึ่งทะเบียนสมรสนี้เป็น Gay Marriage นะ ไม่ใช่แค่ Partnership Law ก็นับว่าคุ้มค่ากับการต่อสู้ด้านกฎหมายที่จิ๋มทำมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะตรงนี้ทำให้เราได้รับสิทธิต่างๆเช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาที่เป็นชายจริงหญิงแท้ ” จิ๋ม ซาร่า กล่าวถึงประสบการณ์การต่อสู้อันยากลำบากของตัวเอง

กุญแจอยู่ที่กฎหมาย

ปัจจุบันกลุ่มเพศที่สามในประเทศไทยต่างก็ตื่นตัวที่จะเรียกร้องสิทธิพึงมีพึงได้จากการจดทะเบียน แม้จะไม่คาดหวังถึงขั้นให้ได้ใบทะเบียนสมรสมาครอบครอง ขอแต่เพียงให้มีกฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่ก็ดูยังไกลเกินเอื้อม

นที ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวว่า “ตอนนี้กลุ่มเกย์การเมืองไทยได้มีการหารือร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ อาทิ กลุ่มบางกอกเรนโบว์ กลุ่มแสงจากใจ กลุ่มบ้านสีม่วง และกลุ่มผู้หญิงไม่แท้แห่งประเทศไทย ซึ่งต่างก็เห็นพ้องกันว่าการจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกันจะเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิตคู่ของเพศที่สาม จึงมีการร่วมลงชื่อกันเพื่อแสดงเจตจำนงว่าต้องการให้มีกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้น โดยเราจะเสนอความเห็นนี้ไปยังคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความสนับสนุนและให้สภาช่วยผลักดันให้มีการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งในส่วนขององค์กรเครือข่ายก็พร้อมที่จะสนับสนุนด้านข้อมูลต่างๆอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกันนั้นอาจจะถูกกระแสสังคมต่อต้าน เนื่องจากวัฒนธรรมไทยยังไม่ยอมรับในเรื่องนี้ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่ากลุ่มเกย์หรือเลสเบี้ยนเป็นเหมือนเนื้องอกในสังคม แต่ถึงแม้ว่าการผลักดันให้มีกฎหมายดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่เราก็มองว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ดูอย่างกำแพงเมืองจีนก็ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย กล่าวด้วยแววตาที่มุ่งมั่น

* * * * * * * * * * 

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน

นที  ธีระโรจนพงษ์ ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย
งานแต่งงานระหว่างหนุ่มเยอรมัน ‘เดิร์ก เบเวอร์’ กับหนุ่มไทย ‘วุฒิพงศ์  อารยะธรรมโสภณ’ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมฮิลิเดย์ อิน จ.เชียงใหม่  เมื่อปีที่แล้ว
นางสุจินต์รัตน์ ประชาไทย หรือ ‘จิ๋ม ซาร่า’
ใบรับรองการใช้ชีวิตคู่ระหว่าง ‘เดิร์ก เบเวอร์’ กับ ‘วุฒิพงศ์  อารยะธรรม
พ่อแม่ของเบเวอร์ร่วมแสดงความยินดีที่ทั้งสองได้ใช้ชีวิตคู่ตามกฎหมาย
‘จิ๋ม ซาร่า’ เมื่อครั้งไปออกรายการของสถานีโทรทัศน์ ASTV
ผู้ใหญ่ฝ่ายวุฒิพงศ์ร่วมเป็นสักขีพยานในงานมงคลสมรส
ภาพถ่ายจากเวดดิ้ง สตูดิโอ

‘จิ๋ม ซาร่า’สมัยยังสาว

กำลังโหลดความคิดเห็น