xs
xsm
sm
md
lg

7 ตุลาฯ เลือด : เมื่อ “เหยื่อ” กลับกลายเป็น “ผู้ต้องหา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ตูม ตูม ตูม ... ปัง ปัง ปัง ... บึม บึม บึม …โอย โอย โอย”

ถึงวันนี้แม้เสียงของระเบิดแก๊สน้ำตา กระสุนปืนที่หลุดจากปากกระบอกมาพิฆาตประชาชน และเสียงกู่ร้องด้วยยความเจ็บปวดของผู้บริสุทธิ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จะจางหายไปจากความทรงจำของคนบางกลุ่มแล้ว แต่เสียงมัจจุราชและความทุกข์ระทมยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำส่วนที่ลึกที่สุดของใครหลายคน


แม้อีกเพียง 3 เดือนก็จะครบรอบหนึ่งปีของ “เหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด” แล้ว แต่ในส่วนของการดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายกับนักการเมืองชั่วซึ่งสั่งให้หมู่ตำรวจโฉดเข้ากลุ้มรุมทำร้าย ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยอาวุธสงครามนานาชนิด กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยเรื่องยังค้างคาอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ไต่สวน แจ้งข้อกล่าวหาและพิจารณาส่งฟ้องศาล

ทว่า ในทางกลับกันอีกคดีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกันกลับถูกดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว มีการออกหมายจับ ส่งฟ้อง จนสามารถขึ้นสู่ชั้นการพิจารณาของศาลเรียบร้อยแล้ว

คดีนั้นคือ คดีของ คุณปรีชา ตรีจรูญ พันธมิตรฯ ที่เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 7 ต.ค. 2551 ซึ่งตกเป็นจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งๆ ที่ในวันเดียวกัน ตัวเขาเองก็ถูกอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงจนตาบอด

วันที่ 7 ต.ค. 2551 หลังจากที่เหล่าประชาชนผู้รักชาติซึ่งเดินทางมาชุมนุมบริเวณรอบรัฐสภาเพื่อคัดค้านการแถลงนโยบายของรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจถล่มยิงอย่างไร้ความปราณี ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส และพิการเป็นจำนวนมากตั้งแต่หกโมงเช้า ปรีชา ตรีจรูญ ข้าราชการวัยใกล้เกษียณก็เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดดังกล่าวด้วย

“วันนั้นผมมาชุมนุมตั้งแต่คืนวันที่ 6 ตุลาฯซึ่งมีการประกาศระดมพล พอเช้าวันที่ 7 ตำรวจก็เริ่มยิงระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีคนบาดเจ็บเลือดสาดเต็มไปหมด คือเห็นภาพแล้วมันเศร้ามาก แต่เราทำอะไรไม่ได้ รถพยาบาลวิ่งขนคนเจ็บออกมาคันแล้วคันเล่า ผมเองไม่ได้นั่งชุมนุมอยู่กับที่ ไปทางโน้นทีทางนี้ที อย่างตอนที่ตำรวจกักรถพยาบาลไม่ให้พาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล ผมก็ขับรถออกไปวนออกดูรอบๆ คือตั้งแต่มาถึงคืนวันที่ 6 จนถึงบ่ายวันที่ 7 ผมไม่ได้กินอะไรเลย ผมก็อยู่จนมีระเบิดลงมาอีกในช่วงกลางวัน หลังจากวิ่งหลบระเบิดจนระเบิดซาไป ผมก็เพลียมากเลยออกไปหาที่พักนอนแถวๆถนนสุโขทัยเพราะตรงลานพระรูปทรงม้าร้อนมาก ไม่มีที่หลบแดดเลย พอตื่นมารู้สึกหิวมากก็เลยขับรถออกไปหาอะไรกิน นั่งกินข้าวอยู่เห็นข่าวในทีวีว่าตำรวจเริ่มยิงอีก โอย..พวกเราโดนอีกแล้ว ผมก็เลยรีบกลับไปสมทบ

ขับมาทางถนนราชวิถีจนมาถึงแยกอู่ทอง ผมก็ปะทะกับตำรวจตรงนั้น คือมันอัดอั้นมาก เราโดนกราดยิง โดนระเบิดกันมาตั้งแต่เช้า รถผมอยู่ด้านราชวิถี ส่วนตำรวจอยู่ด้านแยกการเรือน ผมก็ขับรถพุ่งไปทางตำรวจ คือตอนนั้นมันทนไม่ไหวแล้ว ตำรวจยิงถล่มตั้งแต่เช้าจนบ่ายทั้งๆที่ตำรวจก็เห็นว่าพวกเราไม่มีอาวุธอะไร ถ้าพวกเรามีอาวุธนะตำรวจก็ต้องถูกยิงบาดเจ็บบ้างแล้ว แต่นี่เขายิงเราข้างเดียว ยิงอย่างคะนองมือ

ตอนขับรถพุ่งไปเนี่ยผมโกรธจนตัวสั่น ไม่รู้หรอกว่ามีตำรวจกี่คน ตอนนั้นรู้แต่ว่ารถบัสของตำรวจพยายามมาขวางทาง ผมก็ขับถอยหลัง ตอนนั้นก็ไม่เห็นว่าข้างหลังรถเนี่ยมีตำรวจหรือเปล่า เพราะว่ารถผมมันสูง เป็นรถปิ๊กอัพ โฟร์วิล ยกสูง ตอนนั้นผมโกรธจนปากสั่นตัวสั่น เบลอไปหมดแล้ว ผมไม่รู้หรอกว่าชนอะไรบ้างหรือเปล่า ตอนนั้นจำได้ว่าผมขับรถเคลื่อนไปข้างหน้า พอเห็นว่ามีรถบัสของตำรวจขวางอยู่ ผมก็เข้าเกียร์ถอยหลัง แล้วก็รู้สึกว่ามีอะไรมากระแทกที่หน้า แล้วผมก็มองอะไรไม่เห็นอีกเลย ตอนนั้นยังไม่รู้สึกเจ็บนะ ก็รู้สึกว่ามีคนมาพาออกไปจากรถ แต่ไม่รู้ว่าใคร มารู้ทีหลังว่าถูกตำรวจยิงแล้วมีคนพาส่งโรงพยาบาลรามาฯ ปรากฏว่าตาขวาแตก แล้วก็บอดสนิท ดั้งจมูกหัก ก็รักษาอยู่นานหลายเดือนครับ ผมเพิ่งใส่ลูกตาเทียมเมื่อตอนต้นปี ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม นี่แหล่ะ แต่สภาพร่างกายอะไรมันก็ไม่เหมือนเดิมหรอกเพราะเราแก่แล้ว ยิงโดนประสาทตาซึ่งเป็นจุดสำคัญและเราเสียเลือดไปเยอะ ” ปรีชา บอกเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. อันเป็นที่มาของข้อกล่าวหา “พยายามฆ่า” ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยัดเยียดให้

ชีวิตที่เลือนพร่า กับดวงตาเพียงข้างเดียว

หลังจากที่ต้องสังเวยดวงตาข้างขวาให้แก่ความป่าเถื่อนและลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบสีกาสีแล้วชีวิตของปรีชาก็เปลี่ยนไป จากชายสูงวัยที่มีร่างกายล่ำสัน เดินเหินและทำงานด้วยความคล่องแคล่วว่องไว กลับกลายเป็นชายร่างผอมบางที่ต้องค่อยๆ ก้าวเดินอย่างช้าๆ บ่อยครั้งที่เขาหกล้มขณะก้าวลงบันได หรือบาดเจ็บจากการเดินชนข้าวของที่ขวางอยู่ข้างหน้า อีกทั้งไม่สามารถทำได้แม้แต่เรื่อง่ายๆ อย่างการจุดเทียนไขเพราะไม่สามารถกะระยะได้ถูก และในบางขณะตัวของเขาจะโคลงไปมาเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการทรงตัว ผลกระทบเหล่านี้ล้วนบั่นทอนทั้งร่างกายและสภาพจิตใจของปรีชาให้ซึมเศร้าและทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งเขายังถูกข่มขู่คุกคามจนไม่กล้ากลับบ้านเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยทั้งของตัวเขาเองและภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก

“พอเราเสียตาไปข้างหนึ่งเนี่ย เรากะระยะไม่ได้ เวลาเดินก็ต้องระวัง คือถ้าเรามีตา 2 ข้าง ภาพที่เห็นมันจะมีความลึก แต่พอเหลือตาข้างเดียว ภาพที่เห็นจะไม่มีความลึก ทำให้เราไม่สามารถกะระยะได้ อย่างรางรถไฟซึ่งปกติกว้าง 1 เมตรเนี่ย ผมจะรู้สึกว่ากว้างแค่ 60 เซนติเมตร คือรุ้สึกว่ารางรถไฟมันแคบลง อาการแบบนี้ทำให้มีปัญหาเวลาเดิน ทางที่เดินสบายที่สุดคือทางเรียบ ถ้าทางเป็นคลื่นหน่อยก็จะสะดุดได้ง่าย หรือเวลาขึ้นลงบันไดก็จะก้าวพลาดเพราะกะระยะไม่ถูก ยิ่งถ้าขึ้นบันไดชันๆนี่จะอันตรายมาก แม้แต่บันไดเลื่อนที่อยู่นิ่งๆเนี่ย ช่วงปลายบันไดขั้นมันจะไม่เท่ากัน ก็ต้องระวัง คือผมตาบอดข้างขวา การกะระยะข้างขวาก็จะพลาด ร่างกายข้างขวาก็มักจะชนโน่นชนนี่อยู่เรื่อย เดินไปแล้วมันกะไม่ถูกว่าจะพ้นหรือไม่พ้น แล้วเมื่อก่อนนี้ผมเดินลงปลายเท้า แต่ตั้งแต่ถูกยิงตาบอดผมเดินลงปรายเท้าไม่ได้ เพราะกะระยะที่จะวางปลายเท้าลงไม่ได้ ผมก็ต้องเดินลงส้นเท้าแทน ซึ่งตอนเดินแรกๆเนี่ยมันเจ็บมากเพราะเราคำนวณระยะไม่ถูก ส้นเท้าเลยกระแทกกับพื้น ตอนนี้ก็ดีขึ้น แต่มันไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมหรอกครับ (เสียงเศร้าลงถนัดใจ) อย่างเมื่อก่อนเวลามองเราจะกลอกตามองได้ เรากลอกตาไปทางซ้ายทางขวาได้ แต่ตอนนี้เวลาจะมองอะไรต้องหันไปทั้งหน้าเพราะเราเหลือตาข้างเดียว

ผลกระทบต่อการทำงานก็มีเหมือนกัน คือผมเป็นช่างซ่อมระบบไฟฟ้าของเครื่องจักรในหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ตอนกลับไปทำงานแรกๆ ด้วยความที่เรากะระยะไม่ถูก นิ้วก็จิ้มเข้าไปในวงจรไฟฟ้า โชคดีที่ไม่ถูกไฟดูด ผมก็เลยพยายามทำอะไรให้ช้าลงกว่าเดิม บางอย่างเป็นแค่เรื่อง่ายๆ อย่างการจุดเทียนเนี่ยผมก็ทำไม่ได้ คือพอจุดไม้ขีดแล้วมันไม่สามารถเอาไฟไปจ่อตรงเทียนได้เพราะมันคำนวณระยะไม่ได้ว่ามันประมาณไหน ปกติผมจะเดินเร็ว แต่หลังจากเสียตาไปข้างหนึ่งก็ต้องเดินช้าๆ ก้มหน้าก้มตาเดิน ไม่งั้นจะสะดุดล้ม ตาบอดไปข้างหนึ่งการมองเห็นหรือการทรงตัวอะไรมันก็ไม่เหมือนเดิมหรอก นอกจากนั้นตอนนี้ผมก็อยู่บ้านไม่ได้ ต้องหลบไปอยู่ที่อื่น เพราะโดนทั้งจดหมายขู่ แล้วก็มีพวกเสื้อแดงที่จ้องจะทำร้ายเนื่องจากซอยที่ผมอยู่เนี่ยเป็นถิ่นของเสื้อแดงที่มีนิสัยอันธพาล พอมีข่าวเรื่องคดีความพวกนี้ก็รู้ว่าผมเป็นพันธมิตรฯเขาก็จ้องแล้ว ผมเลยไม่กล้ากลับบ้านเพราะห่วงว่าภรรยาจะถูกหางเลขไปด้วย” ปรีชากล่าวด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียด

ใครพยามยามฆ่าใคร?

สำหรับข้อกล่าวหาที่ปรีชาได้รับจากกรณีที่เขาขับรถพุ่งเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะที่มีการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.นั้น ดูจะเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินจริง ไม่สมเหตุสมผล และเป็นไปในลักษณะใส่ร้ายป้ายสีโดยไม่มีมูลความจริง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาว่า “พยายามฆ่าเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ” ซึ่งในเรื่องนี้ รัศมี (เพ็ญสุข) ไวยเนตร กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในฐานะทนายผู้รับผิดชอบคดีของปรีชา ได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็นและมีความเห็นที่น่าสนใจว่า

“ทางตำรวจตั้งข้อหาว่าคุณปรีชาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 288-289 แต่ถ้าพิจารณาจากเหตุการณ์แล้วจะเห็นได้ว่าในวันนั้นพันธมิตรฯถูกตำรวจทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมและได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก ทำให้บรรดาพันธมิตรฯ รวมถึงคุณปรีชาด้วยรู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้ว คุณปรีชาก็เลยขับรถเข้าไป สถานการณ์ขณะนั้นเป็นเหตุเฉพาะหน้า ไม่มีพันธมิตรฯ คนไหนมีเวลามาไตร่ตรองมาอะไรหรอก การที่คุณปรีชาขับรถพุ่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เพราะเกิดจากความกดดันที่เห็นเพื่อนพันธมิตรฯ ถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม มีการระดมยิงตั้งแต่เช้า กระทั่งตกเย็นตำรวจก็ยังยิงใส่พันธมิตรฯ อยู่ คือกรณีของคุณปรีชาเกิดเหตุในช่วงเย็น ช่วงประมาณ 16.00-17.00 น. คือเขาเจอเหตุการณ์ที่ตำรวจฆ่าประชาชนสองมือเปล่าก็ทนไม่ได้ พันธมิตรฯทุกคนหรือแม้แต่คนที่ดูข่าวทางทีวีก็ไม่มีใครทนได้หรอก คุณปรีชาก็เลยขับรถพุ่งเข้าไปเพราะบันดาลโทสะแต่ไม่ได้มีเจตนาฆ่าตำรวจ

คือถามว่าถ้ามีการไตร่ตรองไว้ก่อนทำไมคุณปรีชาถึงไม่ถอดแผ่นป้ายทะเบียนรถออกก่อน จะติดแผ่นป้ายทะเบียนไว้ให้ตำรวจตามตัวเจอทำไมกัน แล้วที่บอกว่าคุณปรีชาพยายาฆ่านั้นนายตำรวจที่อ้างว่าถูกรถคุณปรีชาชนนั้นเราก็ยังไม่เห็นหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์จริงหรือไม่ เพราะจากภาพวิดีโอที่เราเห็นนั้นมันไม่ชัดว่าใครเป็นใคร ชนลักษณะไหน บาดเจ็บตรงไหนอย่างไร เพราะภาพมันตัดไปตัดมาตลอด และถ้าพิจารณาถึงวิธีการที่ตำรวจยิงสวนกลับมาจนทำให้คุณปรีชาตาขวาบอดตลอดชีวิต และดั้งแหว่งหายไปเนี่ย ก็ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกเล็งยิงในจุดสำคัญคือบริเวณศีรษะ ซึ่งหากจุดที่ถูกกระสุนเจาะสูงขึ้นไปอีกนิดเดียวก็อาจทะลุสมองและส่งผลให้คุณปรีชาเสียชีวิตคาที่ การกระทำเช่นนี้ถือว่ามีเจตนาพยายามฆ่า เพราะหากจะแค่ยิงสกัดตำรวจก็คงจะเลือกยิงที่ล้อรถหรือกระโปรงหน้าซึ่งเป็นห้องเครื่อง ไม่ใช่เล็งยิงที่ศีรษะเช่นนี้” รัศมีตั้งข้อสังเกต

ทนายเจ้าของคดีของปรีชา กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีการระบุในข้อกล่าวหาว่า มีการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก็ดูจะไม่สมเหตุสมผล เพราะหากจะแจ้งข้อหานี้ก็ต้องแจ้งจับพันธมิตรฯทุกคนที่มาร่วมชุมนุม แต่ทำไมจึงจับปรีชาเพียงคนเดียว และที่ตั้งข้อหาว่าใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ พร้อมทั้งระบุรายละเอียดในสำนวนฟ้องว่า “จำเลย (ปรีชา ตรีจรูญ) กับกลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ ใช้อาวุธปืนยิง ใช้มีด ท่อนเหล็ก ท่อนไม้ ไล่ตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ก็เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่แปลกมากเพราะดูเหมือนเป็นการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งพร้อมกันหลายๆคน และพยายามโยงว่าปรีชาอยู่ในกลุ่มดังกล่าวซึ่งมีการวางแผนกันก่อนที่จะลงมือทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่จริงๆแล้วในวันนั้นปรีชาขับรถเข้ามาคนเดียว และไม่ได้พกพาอาวุธ อีกทั้งกรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดำเนินคดีกับปรีชาเพียงคนเดียว ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกอ้างถึงแต่อย่างใด

“คือตำรวจพยายามสร้างประเด็นว่ามีการสมคบกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเตรียมอาวุธมาเพื่อก่อการด้วย ทั้งๆที่ตอนนั้นตัวคุณปรีชามาคนเดียว ตัวเขาเองและผู้ชุมนุมคนอื่นๆก็ไม่ได้มีอาวุธอะไร แต่คนที่ถืออาวุธและใช้อาวุธนั้นทำร้ายคนอื่นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งระดมยิงผู้ชุมนุมอย่างไร้ความปราณี การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าทำตามหน้าที่นั้นก็ต้องถามกลับว่ามีระเบียบปฏิบัติข้อไหนที่ระบุว่าตำรวจมีหน้าที่ทำร้ายและเข่นฆ่าประชาชน เขาอ้างหน้าที่ไม่ได้เลย เพราะวันนั้นตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลการชุมนุม ไม่ได้เกิดการปะทะหรือเกิดความรุนแรงแล้วตำรวจต้องเข้ามาสลายการชุมนุม แต่เหตุการณ์วันนั้นคือตำรวจถล่มยิงพันธมิตรที่ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีระเบียบปฏิบัติข้อไหนที่ระบุว่าตำรวจสามารถทำร้ายหรือฆ่าประชาชนได้ตามอำเภอใจ” รัศมี กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ข้อพิรุธและความสามานย์ของเจ้าหน้าที่

นอกจากนั้น ทนายจากสภาทนายความ ยังมีข้อสังเกตว่าการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้นั้นมีหลายจุดที่ขัดแย้งกับข้อมูลที่ระบุไว้ในสำนวนฟ้อง สื่อให้เห็นถึงเจตนาที่ต้องการบิดเบือน ใส่ร้ายและสร้างความเสียหายให้แก่นายปรีชาซึ่งเป็นจำเลย เช่น

วีระ มุสิกพงษ์ ได้กล่าวในรายการความจริงวันนี้ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2551 ว่า ร.ต.อ.เกรียงไกร กิ่งสามี รอง สวป.ป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ถูกรถของนายปรีชาพุ่งชนว่า “ ตอนนั้นมีการยิงปืนเข้ามาในรัฐสภาจึงต้องล่าถอย ช่วงที่เดินมาบริเวณราชภัฏสวนดุสิตมีรถยนต์โตโยต้าขับมาเรื่อยๆ ต่อมารถเร่งความเร็วและพุ่งเข้าชน ตนไม่ทันระวังเลยล้มลงไปนอนกับพื้น รถคันดังกล่าวถอยมาทับ หันมาขาเละไปหมดเลยครับ ไม่คิดว่าเขาจะใจร้ายกับตนขนาดนี้ ทั้งที่ตนปฏิบัติตามหน้าที่ และทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ”

แต่ในขณะที่ในสำนวนฟ้องระบุว่า “ จำเลย (ปรีชา ตรีจรูญ) ได้บังอาจขับรถยนต์กระบะที่เตรียมการไว้ไล่ชนผู้เสียหายที่ 1 (ร.ต.ต.เกรียงไกร กิ่งสามี) อย่างแรง จนผู้เสียหายที่ 1 ล้มลง จากนั้นจำเลยขับรถยนต์กระบะถอยหลังเพื่อทับร่างผู้เสียหายที่ 1 ที่นอนบาดเจ็บอยู่ แต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 หลบทัน และมีผู้เข้าช่วยเหลือ” นอกจากนั้นในรายงานผลการตรวจบาดแผลของแพทย์ที่แนบในส่วนท้ายของคำฟ้องก็ระบุเพียงว่า “ มีบาดแผลเย็บที่ศีรษะและที่คาง, มีแผลถลอกที่ขมับขวา โหนกแก้มขวา หลังมือขวาและซ้าย, มีแผลถลอกช้ำ อักเสบ ตามขาขวาและซ้าย , ผลการเอ็กซเรย์ ทรวงอก เข่าขวา หน้าแข็งซ้าย และข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง ไม่พบว่ามีกระดูกหัก

นอกจากนี้ก็ยังมีคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้เสียหายขัดแย้งกันอีกด้วย คือ

ส.ต.ท.เศรษฐวุฒิ บัวทุม เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2551 ว่า “ ผมได้รับบาดเจ็บจากการถูกรถยนต์ชนและลากไปไกลพอสมควร ใต้คาง รูจมูกเป็นแผล ฟันหัก 3 ซี่ ศีรษะแตก สมองได้รับความกระทบกระเทือน ผมไม่รู้เรื่องเพราะสลบไป เพื่อนเล่าให้ฟังว่ามีคนจะขับรถมาทับแต่ทำไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าเขาโกรธแค้นผมมาจากไหน”

ขณะที่ในคำฟ้องกลับระบุว่า “จำเลย (ปรีชา ตรีจรูญ) ได้บังอาจได้บังอาจขับรถยนต์กระบะที่เตรียมการไว้ไล่ชนผู้เสียหายที่ 4 (ส.ต.ท.เศรษฐวุฒิ บัวทุม) อย่างแรง จนผู้เสียหายที่ 4 ล้มลง แต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากผู้เสียหายที่ 4 หลบทันและมีผู้เข้าช่วยเหลือ”

ทนายคนเดิมกล่าวต่อว่า จะเห็นได้ชัดว่า แม้แต่การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นคู่กรณียังมีลักษณะบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงแล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ปรีชาซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาที่มีคดีความกับตำรวจที่สลายการชุมนุมในวันที่ 7 ต.ค. นั้นจะเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใส ในเมื่อคนทำคดีก็อยู่ในเครื่องแบบสีกากีเช่นกัน อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากถูกสังคมตั้งคำถามต่อการใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามประชาชนเพื่อสลายการชุมนุม 7 ต.ค. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างความชอบธรรมต่อปฎิบัติการดังกล่าว

นี่หรือคือผลตอบแทนของ “การทำเพื่อชาติ”?

คดีของปรีชา ตรีจรูญ จึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สังคมยังเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยไม่เข้าใจว่าเหตุใดประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามจนบาดเจ็บล้มตาย และในขณะที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งซึ่งพยายามสกัดกั้นการกระทำของตำรวจเพื่อช่วยปกป้องชีวิตของผู้ชุมนุมด้วยกันกลับถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง จึงเกิดคำถามตามมาว่าความเป็นธรรมในบ้านนี้เมืองนี้ยังคงมีอยู่หรือไม่?

“เขาคงคิดว่าเขาประสบความสำเร็จที่สามารถทำร้ายประชาชนได้โดยไม่มีความผิด เขาไม่ได้คิดว่าประชาชนที่มาชุมนุมก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ทั้งที่ประชาชนมาชุมนุมเพื่อปกป้องประเทศชาติและสถาบัน ผมก็รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมสำหรับเรา เพราะสิ่งที่เราทำเราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองแต่ทำเพื่อชาติ แต่เราถูกกระทำอย่างนี้ และไม่รู้ว่าพอเรื่องขึ้นสู่ศาลแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ตอนเกิดเรื่องใหม่ๆ ก็มีเพื่อนพันธมิตรฯ หลายๆ คนที่บอกว่าอยู่ในเหตุการณ์ เขารู้เห็นเหตุการณ์ แต่ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะตามหาตัวได้ที่ไหน และไม่รู้ว่าใครจะพร้อมเป็นพยานให้บ้าง

พอเจอเหตุการณ์อย่างนี้ บางคนเขาก็ถามว่ารักชาติ ออกมาทำเพื่อชาติ แล้วต้องโดนขนาดนี้มันคุ้มกันไหม แต่ผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องคุ้มหรือไม่คุ้ม เพราะเราไม่ได้คิดว่าเราทำเพื่อจะได้อะไรตอบแทน เราทำเพราะความจงรักภักดี ผมอยากให้สังคมเราดีขึ้น คือผมไม่ได้มาชุมนุมเพื่อตัวเอง ผมไม่มีลูก ผมไม่ต้องสนใจอะไรก็ได้ อายุก็ 50 กว่าแล้ว อยู่อีกไม่กี่ปีเดี๋ยวก็ตายแล้ว แต่เราเป็นคนไทย ถึงเด็กรุ่นต่อไปจะไม่ใช่ลูกหลานเรา เราไม่ต้องห่วงใครก็ได้ แต่ผมสงสารในหลวง ไม่มียุคไหนที่สถาบันจะถูกจาบจ้วงเท่ายุคที่ระบอบทักษิณปกครองประเทศ ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ เวลาเขาไปตรวจเยี่ยมประชาชนในต่างจังหวัด ก็มีการเอาธง‘ทรงพระเจริญ’ ไปให้ชาวบ้านโบกต้อนรับ ธงที่ใช้กับในหลวง เอาไปใช้กับทักษิณได้ยังไง ถ้าเราคนไทยไม่คิดจะทำอะไรกันเลย ต่อไปบ้านเมืองเราจะเป็นอย่างไร” ปรีชากล่าว

นับแต่นี้ พันธมิตรฯ ทุกคนคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและเอาเอาใจช่วยต่อไปว่า คดีของ “ปรีชา ตรีจรูญ” คนธรรมดาที่มีหัวใจรักชาติจะจบลงอย่างไรในชั้นศาล ศาลซึ่งจะเป็นผู้ชี้ขาดว่า ‘ความเป็นธรรม’ ในกระบวนการยุติธรรมนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ในสังคมไทย?

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน

หมายเหตุ  : 
1.ผู้ที่ประสงค์จะช่วยเหลือ คุณปรีชา สามารถส่งความช่วยเหลือได้ที่ บัญชี ปรีชา ตรีจรูญ ธนาคารกรุงไทย สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เลขบัญชี 009-1-56839-0
2.ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และประสงค์ช่วยเป็นพยานในคดีของคุณปรีชา สามารถติดต่อได้ที่
คุณรัศมี (เพ็ญสุข) ไวยเนตร ทนายผู้รับผิดชอบคดีของคุณปรีชา โทร. 089-7894720
รัศมี (เพ็ญสุข) ไวยเนตร กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ทนายผู้รับผิดชอบคดีของปรีชา
จดหมายขู่ที่ถูกส่งถึงปรีชา ตรีจรูญ
ตำรวจใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุ
พันธมิตรฯที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากการใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุม
พันธมิตรฯที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากการใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุม
พันธมิตรฯที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากการใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม
ภาพจาก นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 มี.ค.2549
ภาพจากสำนักข่าวรอยเตอร์
ทักษิณ ชินวัตร รับม็อบชาวเหนือ-อีสาน ที่ อ.วังน้อย จ.อยุธยา เมื่อ 16 มี.ค.2549 / ภาพจาก
ผู้ชุมนุมสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ท้องสนามหลวง ในช่วงที่เขายังดำรงตำแหน่งนายกฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น