xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองวิกฤต เศรษฐกิจตกสะเก็ด ... ยุคทองของ “คนขายเสียงหัวเราะ”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภักดี แสนทวีสุข หรือ ‘พี่ต่าย’ แห่งขายหัวเราะ
ในขณะที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่รุมเร้าจากทุกด้าน ผู้คนกำลังอยู่ในภาวะวิตกและตึงเครียด ทั้งจากปัญหาโรคติดต่ออย่างไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ปัญหาทางการเมืองที่เรื้อรังข้ามปี มาจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ดูเหมือนว่าผู้คนในสังคมไทยต่างพยายามแสวงหาช่องทางในการระบายความเครียดด้วยกันทุกคน

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้เมื่อเปิดโทรทัศน์ไป ไม่ว่าจะช่องไหน รายการใดก็ดูเหมือนว่าต่างถูก “ดาราตลก” ยึดครองไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นดาราตลกสายคาเฟ่ หรือ ดาราตลกสายจอทีวี โดยดาราเหล่านี้อย่างเช่น หม่ำ-เท่ง-โหน่ง เชิญยิ้ม ชวนชื่น โก๊ะตี๋ ต่างปรากฎตัวในรายการต่างๆ ของทุกช่องโดยแทบจะไม่ถูกกีดกันจากช่องต่างๆ เหมือนกับพระเอก นางเอกละคร แต่อย่างใด ขณะเดียวกันในห้วงสองเดือนที่ผ่านมา “สาระแนห้าวเป้ง” ภาพยนตร์ตลกเบาสมอง ของสามหนุ่มจอมสาระแน “วิลลี่-เปิ้ล-หอย” ซึ่งเข้าฉายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 ก็หักปากกานักวิจารณ์ กลายเป็นภาพยนต์ที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดประจำปี 2552 โดยทำรายได้ทะลุ 50 ล้านบาทในเวลาไม่ถึง 10 วันหลังจากเข้าฉายวันแรกไปเสียอีก

ขณะที่ผู้คนในสังคมไทย กำลังโหยหา “เสียงหัวเราะ” วัคซีนชั้นดีที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ วันนี้ “ASTV ผุ้จัดการ” จึงขันอาสาขอพาท่านไปพูดคุยและเพิ่มความคุ้นเคยกับคนขายเสียงหัวเราะในหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักเขียนการ์ตูน ศิลปินตลก และวงดนตรีที่มีเสียงหัวเราะเป็นจุดขาย รวมถึงไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบจากพวกเขาด้วยว่า “รู้สึกอย่างไร ในภาวะการเมืองและเศรษฐกิจเช่นนี้?”

“ขายหัวเราะ” นับเป็นหนังสือการ์ตูนขนาดถนัดมือที่สร้างอารมณ์ขันให้แก่คนไทยมายาวนานถึง 36 ปีแล้ว แต่ละมุกแต่ละแก๊กที่ปรากฎอยู่บนหน้ากระดาษนั้นล้วนเกิดจากการสร้างสรรค์ของการ์ตูนนิสต์ (นักวาดการ์ตูน) ในเครือบรรลือสาสน์ ทั้งนี้หากให้แฟนๆ ขายหัวเราะ บอกชื่อบรรดาการ์ตูนนิสต์ “ขายหัวเราะ” ในดวงใจ เชื่อแน่ได้ว่าหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “ต่าย” ผู้ให้กำเนิดเด็กน้อยหน้าทะเล้น ตากลมโตกับผม 3 เส้น ที่ชื่อ “ปังปอนด์” ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างสูง และ โด่งดังจนถูกพัฒนาเป็นการ์ตูนแอนิเมชันออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 อีกทั้งกำลังโกอินเตอร์ไปออกอากาศตามเคเบิลทีวีของประเทศต่างๆ ถึง 6 ประเทศด้วยกัน

ทั้งนี้ด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังของ “ปังปอนด์” เชื่อแน่ได้ว่าหลายต่อหลายคนก็คงอยากรู้จักผู้ให้กำเนิด “ปังปอนด์” ด้วยเช่นกัน

รู้จักพ่อ “ปังปอนด์” (ตัวจริง)

“ต่าย” ซึ่งมีชื่อจริงว่า ภักดี แสนทวีสุข เปิดเผยกับ ASTVผู้จัดการ ว่า ตัวเองชอบเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก จึงมุ่งมั่นฝึกฝนและผลิตผลงานนำไปเสนอให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้น ปวช. และด้วยพรสวรรค์ประกอบกับความขยันหมั่นเพียรทำให้ผลงานของ “ต่าย” นั้นไปเข้าตา วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการหนังสือในเครือบรรลือสาสน์ซึ่งจัดพิมพ์หนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก และหนูจ๋า โดย บก.วิธิต ตกลงรับเขาเข้าทำงานตั้งแต่ครั้งแรกที่ต่ายนำต้นฉบับไปเสนอ โดยมอบหมายให้เขาเขียนการ์ตูนลงในหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ และมหาสนุก

“ผมชอบวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กๆ ก็หัดวาดมาเรื่อย นั่งวาดทั้งวันทั้งคืน จำได้ว่าตอนนั้นผมอาศัยอยู่ในแฟลตตำรวจ แล้วแม่ของเพื่อนเขามองขึ้นมาก็เห็นผมนั่งอ่านหนังสืออยู่ข้างหน้าต่างทั้งวัน ไม่เล่นไม่ซนเลย แต่ลูกชายเขาดื้อและซนมาก เขาก็ชมผมให้ลูกชายเขาฟังว่า ... ดูต่ายเป็นตัวอย่างสิ วันๆไม่ไปไหนเลย อยู่แต่บ้าน นั่งอ่านหนังสือ เพื่อนผมมันก็บอกว่า โธ่! แม่ ... มันนั่งอ่านการ์ตูน (หัวเราะ) ความที่อยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ช่วงที่เรียน ปวช. ผมก็เลยเขียนงานไปให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ดู แล้วผมชอบการ์ตูนของอาจุ๋มจิ๋ม (จำรูญ เล็กสมทิศ) ซึ่งเขียนลงในหนังสือขายหัวเราะมาก เพราะตัวการ์ตูนของเขามีเสน่ห์ ดูทะเล้น และเขาเก็บรายละเอียดได้ดี อารมณ์ในตัวการ์ตูนสื่อให้เราขำได้ ผมก็เลยอยากทำงานกับหนังสือขายหัวเราะ

แต่ด้วยความที่บรรลือสาส์นเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ผมก็คิดว่าก่อนมาที่นี่ควรลองฝึกปรือฝีมือที่อื่นก่อน ก็เอางานไปเสนอที่นั่นที่นี่ เขาก็รับงานบ้างไม่รับบ้าง งานที่เอาไปเสนอส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการ์ตูนเล่มละบาท คือเราแต่งเรื่องและวาดภาพการ์ตูนออกมาเป็นเรื่องๆ มี 24 หน้า เมื่อก่อนราคาเล่มละบาทเดียว (ปัจจุบันราคาเล่มละ 5 บาท) แต่ใจจริงผมชอบการ์ตูนแนวขายหัวเราะมากกว่า พอดีมีครั้งหนึ่งการ์ตูนเล่มละบาทที่ผมส่งไปถูกตีกลับ ผมเลยคิดว่าไม่เอาแล้ว ถึงเวลาแล้วที่จะมาสมัครที่ขายหัวเราะแล้ว ปรากฏว่าสมัครปุ๊บเขาก็รับเลย และก็อยู่ที่นี่มาตลอด คือมันเป็นงานที่เราชอบ ได้คิดมุกนั้นมุกนี้แล้วก็วาดออกมาเป็นเรื่องเป็นราว หรือบางทีก็หยิบมาจากเรื่องที่อยู่รอบๆตัว” ภักดี เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเลือกเป็นนักเขียนการ์ตูนแนวคิดแก๊ก ตบมุก แบบขายหัวเราะ

สำหรับตัวการ์ตูนของต่ายมีจุดเด่นตรงที่ดวงตาโปนกลมโต ตัวป้อมหนา แขนขาเป็นปล้อง และสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนใครคือต่ายมักจะกำหนดให้ตัวเองและคนใกล้ชิดเป็นหนึ่งในตัวการ์ตูนที่เขาวาดลงในขายหัวเราะและหนังสือการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์นด้วย ไม่ว่าจะเป็น แม่กุ้ง-ภรรยาของต่าย ปังปอนด์-ลูกชายคนโต นินจา-ลูกชายคนเล็ก หรือแม่แต่ บก.วิติ๊ด- วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการหนังสือในเครือบรรลือสาสน์ ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ยอมแพ้กับความขี้เล่นของต่ายและยอมให้นำคาร์แรกเตอร์มาเขียนเป็นการ์ตูน

ส่วนตัวการ์ตูนซึ่งเป็นตัวต่ายเองนั้นจะเป็น ชายหนุ่มไว้ผมรองทรง ใส่เสื้อยืดลายอักษร “ต” ระบายสีแดงอยู่ครึ่งบน ส่วนครึ่งล่างเป็นสีขาว มักใช้ชื่อว่า ต่าย, ภักดู หรือ เต่ย เห่ยสกุล เป็นต้น โดยมาจากการเอาชื่อจริงของตนมาดัดแปลง ซึ่งในการ์ตูนชุดสองเกลอและไอ้ตัวเล็กยุคแรกๆ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นปังปอนด์) นั้นต่ายในการ์ตูนจะดูผอมสูงแบบชายไทยมาตรฐาน ขณะที่ในการ์ตูนสามช่องจบนั้น ต่ายมักจะมีสัดส่วนที่เล็กลงและดูหนากว่า ในระยะหลังๆ ต่ายมักเขียนตัวเองให้ดูอ้วนและลงพุงไปตามวัยของตนเองทั้งในการ์ตูนชุดไอ้ตัวเล็กและในการ์ตูนสามช่องจบ

เทคนิคการคิดมุก

สำหรับเทคนิคในการคิดมุกตลกซึ่งนำมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวในหนังสือการ์ตูนนั้นต่ายบอกว่า เขาสรรหาวัตถุดิบจากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ได้พบเจอในแต่ละวัน ภาพยนตร์ ละครทีวี เพลงฮิตติดชาร์ต หนังโฆษณา หรือข่าวสารบ้านเมืองที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ โดยมุกที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งมุกที่ปิ๊งขึ้นมาเองในหัวสมอง และมุกที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ที่พบเจอ

“บางทีผมก็เอาตัวการ์ตูนที่เขียนอยู่ประจำเป็นตัวตั้งแล้วเอาเหตุการณ์มาใส่ บางทีก็ดูหนังสือพิมพ์แล้วเห็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วก็จินตนาการไปว่าจะเอามาแมตช์กับตัวการ์ตูนที่มีอยู่ได้อย่างไร บางครั้งอ่านข่าวปุ๊บก็ได้มุกเลย คือมันต้องอินไปในข่าวด้วยมุกมันถึงจะออก คือมันออกมาเองโดยธรรมชาตินะ อ่านข่าวไปมันคลี่คลายของมันเอง เช่น ข่าวโจรปล้นร้านทอง ข่าวผัวเมียตีกัน ข่าวการเมือง อ่านแล้วเราก็นึกมุกได้ มันก็เหมือนการเล่าเรื่องตลกเราก็ปูมาก่อนแล้วก็ตบมุก หักมุมไปเลย ความตลกมันก็อยู่ตรงนั้น ถ้าคนตามข่าวอยู่แล้วก็จะเข้าใจมุกทันที แต่เราก็จะพยายามไม่ให้ข่าวมามีอิทธิพลกับการมุกมากนัก คือไม่จำเป็นต้องรู้อะไรเกี่ยวกับข่าวนั้นๆก็สามารถเข้าใจมุกได้ คือผู้อ่านเรามีหลายกลุ่ม ตั้งแต่เด็กๆไปจนถึงผู้สูงวัย เราก็เลยปูมุกแบบกว้างๆไว้” การ์ตูนนิสต์แห่งขายหัวเราะกล่าว

“มุก” สุดคลาสสิค

สำหรับมุกยอดฮิตที่การ์ตูนแนวขายหัวเราะใช้กันมานมนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนมีหลายคนนำไปเลียนแบบเช่นรายการตลกทางโทรทัศน์ และเป็นที่คุ้นเคยกันดีในหมู่บรรดาแฟนพันธุ์แท้ของขายหัวเราะ-มหาสนุก อย่างเช่น มุกติดเกาะ โจรมุมตึก ขอทานข้างถนน แม่บ้านกับสามี คุณผู้ชายกับคนใช้สาว จิตแพทย์กับคนไข้ ยมบาลกับคนตาย พระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร โจรวิ่งราว ล้อเลียนโฆษณา และมุกล้อเลียน บก. การเหล่านี้สามารถนำมาดัดแปลงเรียกอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะจากผู้อ่านได้อยู่เรื่อยๆ นับสิบปีก็ต้องยกให้เป็นความสามารถเฉพาะตัวของนักเขียนการ์ตูนที่สามารถพัฒนาต่อยอดมุกเหล่านี้ออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“คือมุกที่จัดว่าเป็นมุกคลาสิคเนี่ยมักจะเป็นมุกพื้นๆ ที่เขียนเมื่อไรคนอ่านก็เข้าใจและเรียกเสียงหัวเราะได้ อย่างมุกโจรมุมตึกนี่ถือเป็นแก๊กต้นแบบเลย เป็นแก๊กครูสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ในยุคนี้ คือมุกโจรมุมตึกนี่มีมานานก่อนขายหัวเราะจะเกิดอีกนะ มันมาจากมุกของฝรั่ง มันคลี่คลายมาเรื่อยๆ แต่ขายหัวเรานำมาต่อยอดแบบไม่รู้จบ บางทีแจอแฟนๆ ขายหัวเราะเขาก็แซวว่าเขียนอยู่ได้มุกโจรมุมตึกเนี่ย (หัวเราะ)

จริงๆวิธีที่นำมุกมาต่อยอดไปเรื่อยๆเนี่ยมันก็ใช้กับมุกอื่นได้ด้วย อย่างมุกไข้หวัดนกก็ทำได้ หรือ พระจันทร์ยิ้ม ซึ่งจริงๆ แล้วมันเกิดปรากฏการณ์พระจันทร์ยิ้มอยู่คืนเดียว แต่เราสามารถนำมาคลี่คลายให้มันเกิดเป็นมุกใหม่ๆได้ คือไหนๆ ก็ปรากฏการณ์นี้แล้วและเกิดแค่คืนเดียว ในฐานะนักเขียนการ์ตูนเนี่ยเราจะทิ้งไปก็เสียดาย เราก็เลยเขียนออกมาเป็นชุดเลย แล้วเราก็ดัดแปลงมุกพระจันทร์ยิ้มไปลงได้ทั้งในขายหัวเราะและใน ไอ้ตัวเล็ก-ปังปอนด์ คือเราเห็นอะไรเราหยิบมาเล่นได้หมด” ต่ายกล่าว

มุกการเมือง กับ มุกต้องห้าม

ผู้อ่านหลายคนมักจะสงสัยว่าหนังสือตลกเบาสมองแบบขายหัวเราะหรือมหาสนุก สามารถหยิบเอาเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบ้านการเมืองมาเล่นได้หรือไม่? แล้วจะทำอย่างไรที่จะแปลงเรื่องเครียดอย่างการเมืองให้กลายเป็นเรื่องตลกได้ ซึ่งต่ายอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า

“มุกการเมืองเราก็หยิบมาเล่นได้ แต่เล่นในมุมของขายหัวเราะ ไม่ใช่การ์ตูนล้อการเมืองเหมือนในหนังสือพิมพ์ เราต้องเบากว่านั้น แล้วคนอ่านของเรามีเด็กๆ เยอะเขาอาจจะไม่เข้าใจมุกในลักษณะนี้ ถ้าเราจะเล่นลูกการเมืองเราก็ตัดประเด็นออกมา แล้วเอามาคลี่คลายให้เป็นสไตล์ขายหัวเราะ คือไม่ต้องเอาเนื้อหาของเรื่องนั้นๆมามากนัก อาจจะมีเนื้อหาอยู่บ้างแต่ไม่เข้าไปในแกนของเรื่องมากเกินไป หรือช่วงนั้นๆ ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนไหนดัง เราก็เอามาเล่น นายรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็น คุณทักษิณ (ชินวัตร) คุณสมัคร (สุนทรเวช) คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) มีหมด คือผมเล่นมาตั้งแต่รุ่นคุณชวน (หลีกภัย) แล้ว อย่างยุคคุณทักษิณซึ่งมีการเปิดตู้ไปรษณีย์รับเรื่องร้องทุกข์ เราก็เขียนเป็นรูปตู้ไปรษณีย์ พอประชาชนเปิดตู้ออกมาก็เห็นนายกฯ เล่นตลก แลบลิ้นปลิ้นตาอยู่ในตู้ คือด้วยภาพที่เป็นการ์ตูนทำให้เนื้อหามันดูเบาลง

วิธีเล่นอีกอย่างหนึ่งคือดึงมาเฉพาะหัวข้อข่าว เช่น เรื่องปลากระป๋องเน่า เราก็เอารูปปลากระป๋องมาใส่ แล้วอาจจะมีนักการเมืองอยู่ในนั้นสักคนหนึ่ง ส่วนประเด็นก็ฉีกไปเรื่องอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทุจริตในการจัดซื้อปลากระป๋อง มันก็จะเบาลง อย่างมุก เสื้อเหลือง-เสื้อแดง เราก็แอบเอามาเล่นนะ แต่ไม่เล่นแบบรุนแรง แต่ก็มีบางมุกเหมือนกันที่ต้องหลีกเลี่ยง เช่น มุกที่เกี่ยวกับศาสนา และคนพิการ คือมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่างคนพิการเนี่ยเขียนไม่ได้เลย ถึงแม้เราจะไม่ได้เอามาล้อ แค่เขียนรูปคนไม่มีแขนก็ไม่ได้แล้ว”

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวเช่นนี้ ต่ายมองว่าน่าจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของผู้ที่ขายเสียงหัวเราะอยู่พอสมควร แต่สำหรับการ์ตูนนิสต์ซึ่งมีสถานะเป็นพนักงานประจำเช่นเขานั้นดูจะโชคดีที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงอันเกิดจากกำลังซื้อที่ลดลงของคนที่บริโภคอารมณ์ขัน

“จิ้ม ชวนชื่น” แฟมิลี่โจ๊กเกอร์

นอกจาก “หนังสือการ์ตูน” แล้ว “การแสดงตลก” ก็เป็นความบันเทิงอีกแขนงหนึ่งที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมมาตั้งแต่ครั้งอดีตที่เรียกกันว่า “จำอวด” เรื่อยมาถึง “ยุคตลกคาเฟ่” จนถึง ยุคที่ตลกคาเฟ่ยกระดับอาชีพเป็นดาราประจำตามหน้าจอทีวีและภาพยนตร์ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้นอกจากตลกคณะ “เชิญยิ้ม” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานานจนออกลูกออกหลานมาแทบนับไม่ถ้วนแล้ว คณะตลกอีกเจ้าที่โด่งดังไม่แพ้กันเห็นจะหนีไม่พ้น “ชวนชื่น” คณะตลกรุ่นใหม่ที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งการด้านแสดง เล่นลิเก ดนตรีไทย ดนตรีสากล ไปจนถึงเต้นบีบอย เป็นตลกที่มีมุกพลิกพลิ้วและทันสมัย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำที่หยาบคายในการสร้างความขบขัน นอกจากนั้น “ชวนชื่น” ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการเป็นตลกคณะเดียวในประเทศไทยที่นักแสดงตลกแทบทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น

นพดล ทรงแสง หรือ “จิ้ม ชวนชื่น” ตลกแถวหน้าที่มีบทบาทสำคัญในคณะชวนชื่นรองจากหัวหน้าคณะคือ “อุดม ชวนชื่น” ผู้เป็นพ่อ บอกเล่าถึงการสร้างสรรค์มุกตลกของคณะชวนชื่นว่า จุดเด่นของตลกคณะนี้คือการหามุกที่ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ว่าช่วงนั้นจะเกิดอะไรขึ้นพวกเขาก็จะหยิบเอามาแปรเปลี่ยนเป็นมุกตลกเพื่อใช้ในการแสดงทันที

ด้วยเหตุนี้ทุกคนในทีมชวนชื่นจึงต้องคอยติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในแง่มุมต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อจะได้มีวัตถุดิบที่นำมาใช้สร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้ชมทุกกลุ่มทุกวัยโดยไม่มีคำว่า มุกซ้ำ มุกแป๊ก อีกทั้งยังต้องพัฒนาฝีมือยู่สมอ โดยนอกจากการเล่นลิเก ร้องเพลง เล่นดนตรีทั้งไทยและสากล ซึ่งคุณพ่ออุดม หัวหน้าคณะผู้มากประสบการณ์ได้ฝึกสอนให้แก่ลูกๆ หลานในทีมแล้ว จิ้มในฐานะพี่ใหญ่ ยังต้องส่งน้องๆ ไปเรียนศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งการแสดง การเต้น ละครใบ้ ไปจนถึงการแสดงในแนวคอนเทมโพรารี (การแสดงที่ผสมผสานการศิลปะตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน) เพราะเขามองว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการแสดง ส่งผลให้ชวนชื่นเป็นตลกที่แตกต่างจากตลกทั่วไปซึ่งขายเพียงแค่มุกกะเทย หรือมุกเจ็บตัวที่ใช้ถาดตีหัวทุกรอบที่ขึ้นแสดง

“ คือเราต้องเล่นอะไรที่อินเทรนด์ ตอนนี้เพลงอะไรมาแรง บอยแบนด์เกาหลีเขาร้องเขาเต้นยังไง ละครเรื่องไหนดัง เราก็หยิบมาเล่นหมด หรือเหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้เรื่องอะไรที่คนพูดถึงกันเยอะเราก็เอามาล้อมาอำกัน อย่างช่วงนี้เศรษฐกิจฝืดเคืองเราก็พูดถึงเรื่องความยากจน คนตกงาน ให้มันดูเป็นเรื่องขำๆไป แบบว่าถึงจะจนจะเครียดยังไงก็ยังหัวเราะได้ (ยิ้ม) แต่คณะเรามีข้อห้ามว่าจะไม่เล่นมุกที่หยาบคาย หรือสองแง่สองง่าม เพราะแฟนๆ ของเราเป็นเด็กๆเยอะ เราก็ต้องรับผิดชอบกับตรงนี้ด้วย

นอกจากนั้นมุกที่เราพยามยามหลีกเลี่ยงในช่วงนี้คือมุกการเมือง โดยเฉพาะเรื่อง สีเหลือง-สีแดง เพราะเรื่องนี้มันอ่อนไหวต่อความรู้สึกคน ยิ่งช่วงที่สีแดงเขาชุมนุมกันแรงๆ นี่ ความสนใจของคนมาทางนี้หมด เรียกว่าเป็นเรื่องที่อินเทรนด์สุดแต่เราเล่นไม่ได้ ตอนนั้นมันก็เหงามุกไปเหมือนกัน (หัวเราะ)

สำหรับมุกของชวนชื่นจะมีทั้งแบบชาวบ้าน แบบอินเตอร์ การแสดงแบบไทยๆ เช่น ลิเก ละครร้อง เพลงแหล่ เพลงไทยเดิม เพลงสากล เพลงแร็พ เพลงเกาหลี ละครใบ้ ละครเวที มีหมด เนื่องจากผู้ชมของเรามีหลายกลุ่ม หลายวัย เราก็ต้องพัฒนาให้ตลกของเราทำได้หลายๆอย่าง เล่นดนตรีได้ ร้องเพลงไทยเพลงสากล ฝึกเต้นเหมือนที่แดนเซอร์เขาเต้นกัน ถ้าเราฝึกกันเองไม่ได้ก็ต้องส่งไปเรียน หรือเวลามีละครเวที คอนเสิร์ตหรือโชว์จากต่างประเทศเข้ามาเราก็จะซื้อตั๋วไปดูกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นโชว์หรือแม้แต่การจัดฉากเราก็เก็บมาปรับใช้กับการแสดงของเราได้” จิ้ม พูดถึงวิธีการสรรหามุกและการปลุกปั้นให้คณะชวนชื่นเป็นตลกมืออาชีพ

“คาเฟ่” ถึง “ร้านหมูกระทะ”

เมื่อถามว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยด้วยส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่ต่อคณะตลกที่พึ่งพิงกับการหารายได้ตามสถานบันเทิงต่างๆ จิ้ม ตอบว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อคณะชวนชื่น รวมถึงตลกทั่วไปไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อคาเฟ่ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของคณะตลกพากันปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้บรรดาตลกต้องหาที่แสดงแห่งใหม่เพื่อประคับประคองคณะไม่ให้ต้องแยกวงล้มหายตามคาเฟ่ไปด้วย

ทั้งนี้นอกจากตลกจะต้องวิ่งรับงานละคร ภาพยนตร์ เกมโชว์ งานพิธีกร ไปจนถึงลงทุนซื้อเวลาทำรายการตลกของตัวเองออกอากาศทางฟรีทีวีและเคเบิลทีวีแล้ว ปัจจุบันคณะตลกยังหันมาแสดงตามร้านหมูกระทะด้วย โดยแม้ว่าค่าตัวที่ได้จะน้อยกว่าการขึ้นเวทีตามคาเฟ่แต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่มีงานแสดง

“ ตอนนี้งานแสดงตามคาเฟ่ลดลงมาก จนเราไม่คาดหวังแล้ว ปัจจุบันชวนชื่นก็ย้ายไปเล่นตามร้านหมูกระทะแทน เพราะช่วงนี้ร้านหมูกระทะเขานิยมเอาตลกไปเล่นเพื่อเรียกแขกกัน ค่าตัวไม่มากแต่ก็พออยู่ได้ นอกจากนั้นเราก็มีรายการตลกของเราเองที่ออกอากาศทางยูบีซี ชื่อรายการ “ชวนชื่นโชว์” เริ่มออนแอร์มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเกินคาด เรตติ้งของรายการเรามาเป็นอันดับหนึ่งของช่องเฮฮา (ช่อง 23) ก็ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พวกเราจะขายเสียงหัวเราะได้” หนึ่งในเสาหลักของคณะชวนชื่นกล่าว

“โปงลางสะออน” วงดนตรีที่ขายเสียงหัวเราะ

สำหรับความบันเทิงในสาขาดนตรีนั้น ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาจะไม่มีดนตรีวงใดที่เน้นการนำเสียงหัวเราะมาเป็นจุดขาย แม้กระทั่งวงดนตรีประเภทเสียงพิณแดนอีสานที่มีการแสดงตลกสลับฉากก็เป็นเพียงตลกหน้าม่านที่ออกขั้นรายการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อวงดนตรีปัญญาชนอย่าง “โปงลางสะออน” วงดนตรีที่นำศิลปะพื้นบ้านของภาคอีสานมาประยุกต์ เกิดขึ้นมาพร้อมกับ นำจุดขายที่แตกต่าง คือการสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมไปพร้อมๆ กับความรื่นรมย์จากดนตรีที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมอีสาน จึงทำให้ชื่อเสียงของวงดนตรีวงนี้โด่งดังขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากที่พวกเขามีโอกาสโชว์ลีลาโปงลางประยุกต์และสะบัดมุกฮากระจาย ในช่วง “ดันดารา” ของรายการ “ตีสิบ” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็มีเสียงเรียกร้องจากผู้ชมทางบ้านให้นำโปงลางสะออนมาออกรายการอีกหลายครั้ง

จนกระทั่งค่ายเทปยักษ์ใหญ่อย่างอาร์เอส รีบชิงตัวดึงเข้าค่ายโดยให้เซ็นสัญญากับอาร์สยามซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ตามด้วยการออกอัลบั้มและจัดคอนเสิร์ตอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งยอดขายซีดีเพลงและบัตรคอนเสิร์ตในแต่ละครั้งก็ไม่ทำให้ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ นายใหญ่ของอาร์เอส ผิดหวัง โดยนอกจากยอดขายทั้งอัลบั้ม-วีซีดีจะถล่มทลาย คิวงานแสดงแน่นเอียดชนิดที่ต้องจองคิวกันข้ามปีแล้ว กระแสนิยมที่มีต่อวงโปงลางยังขยายวงครอบคลุมแฟนเพลงแทบทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปยังผู้สูงอายุ ไม่ว่าในเขตเมืองหรือต่างจังหวัดต่างก็หลงรักวงดนตรีเลือดอีสานวงนี้ ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการเพลงไทยเลยทีเดียว ความโด่งดังของโปงลางสะออนนั้นถึงขั้นที่มีการต่อยอดนำไปทำเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี โดยมี อี๊ด นักร้องนำ กับลูลู่และลาล่า 2 นางไหที่มุกพลิ้วกระจายไม่แพ้กันเป็นตัวดำเนินเรื่อง

“อี๊ด” สมพงษ์ คุนาประถม หัวหน้าวงโปงลางสะออน ออกตัวว่าการนำมุกตลกมาเป็นจุดขายของวงโปงลางสะออนนั้นเกิดจากความบังเอิญตั้งแต่ครั้งที่เขาพาน้องๆ ในวงไปแสดงดนตรีตามร้านอาหาร เนื่องจากระยะเวลาในการแสดงแต่ละรอบค่อนข้างนานพวกเขาจึงพยายามดึงคนดูด้วยการปล่อยมุกเรียกสียงฮาเพื่อให้คนดูไม่รู้สึกเบื่อ ปรากฎว่าเสียงตอบรับดีเกินความคาดหมายมุกตลกจึงกลายเป็นเป็นเอกลักษณ์และจุดขายของวงในที่สุด

“ คือวงโปงลางสะออนจะมาจากนักศึกษานาฏศิลป์ทั้งหมด จบปริญญาตรีกันทุกคน แต่ละคนก็จะเก่งไปคนละทาง บางคนเล่นดนตรี บางคนร้อง บางคนรำ แต่บางคนก็มีความสามารถหลายอย่าง เราก็มารวมกันเป็นวง เน้นดนตรีแบบอีสานซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด ตอนแรกๆ เราโชว์ดนตรีและการฟ้อนรำอย่างเดียว แต่พอการแสดงมันใช้เวลานานเราเริ่มเอาคนดูไม่อยู่ ก็เลยต้องหาอะไรมาเล่น ก็ยิงมุกบ้างอะไรบ้าง คนก็ชอบ จนได้มาออกดันดาราและได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินค่ายอาร์เอส ถึงจะมีหยิบแนวดนตรีแบบสากลเข้ามาเล่นมากขึ้น แต่เราก็ยังคงเอกลักษณ์ของดนตรีแบบอีสานไว้เหมือนเดิม

ความสามารถด้านการร้องเต้นเล่นดนตรีนั้นทุกคนมีอยู่แล้ว เราก็ใส่มุกตลกเข้าไปเพื่อให้ดูสนุกสนาน มุกที่เราหยิบมาเล่นก็เป็นเรื่องรอบๆ ตัว เอาเพลงของคนอื่นมาแปลงบ้าง อำคนดูบ้าง คนดูเขาก็รู้สึกว่าเขาสนุกกับเราไปด้วย ข้อสำคัญคือเราต้องพยายามรักษามาตรฐานในการเล่นดนตรีเอาไว้ ไม่ใช่มุ่งแต่จะตลกอย่างเดียว เพราะต้องไม่ลืมว่าเราคือนักดนตรีลูกอีสาน” อี๊ดกล่าวถึงแนวทางของโปงลางสะออน

เก็บตก ตลกการเมือง

ในขณะที่ตลกรุ่นใหม่อย่างวงชวนชื่นเลี่ยงที่จะเล่นมุกการเมือง แต่ ‘อี๊ด โปงลางฯ’ มองว่ามุกการเมืองนั้นสามารถนำมาเล่นได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

“ คือการคิดมุกการเมืองเราจะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (หัวเราะ) เราจะเอามาเย้าแหย่กันมากกว่า ถึงบางครั้งสถานการณ์จะดูรุนแรง แต่เราเอามาแปลงให้เป็นเรื่องขำๆ ดูน่ารักๆ ก็มีมุกที่ให้น้องจีจี้ ซึ่งเขาจะอวบๆ ดูฮาๆ ถามคนดูว่า ...ใครสีแดงยกมือขึ้น เอ้า..แล้วใครสีเหลืองยกมือขึ้น เอ้า! ตีกันเลย กลองก็รับ ... ตึ่งโป๊ะ สมาชิกในวงก็แตกกระจาย แล้วผมก็วิ่งออกมาหน้าตาตื่นบอกว่านี่เป็นความคิดของน้องจีจี้คนเดียวนะครับ คนอื่นไม่เกี่ยว คนดูเขาก็ฮากัน หรืออย่างช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่าง 2 สีรุนแรง เราก็มีการแสดงชุดดึงครกดึงสาก ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านของอีสาน เราก็ให้นางรำฝ่ายหนึ่งนุ่งผ้าสีเหลือง อีกฝ่ายหนึ่งนุ่งผ้าสีแดง ก็ดึงกันไปมา สุดท้ายก็มีธงชาติไทยผืนใหญ่ขึ้นมา เพื่อสื่อว่าทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่เราไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิดนะ

ผมว่าบางทีสถานการณ์บ้านเมืองมันตึงเครียดเราก็พยายามมองให้มันขำๆไป อย่างช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพฯ เราก็ต้องยกเลิกงานที่รับไว้ไปเพราะทางผู้ใหญ่ก็ไม่มั่นใจว่าจะขัดกฎหมายหรือเปล่า เขาก็ต้องระวัง พวกเราก็อืม..ดีเหมือนกัน เพราะสมาชิกวงเรามีเกิน 5 คน เดี๋ยวแสดงอยู่ดีถูกจับติดคุกกันทั้งวง (หัวเราะ) ก็ขำๆกันไป” สมพงษ์ให้สัมภาษณ์พร้อมปล่อยมุกไปด้วย

กระนั้นในภาวะที่บ้านเมืองมีปัญหารุมเร้าหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งกำลังกลายเป็นภาระหนักของประชาชนทั้งประเทศในขณะนี้ แต่คนไทยก็ยังยังอยากได้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เพียงแต่มีข้อแม้ว่าถ้าได้ฮาแบบฟรีๆ ก็คงดีไม่น้อย วงโปงลางสะออนเองก็ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนขายเสียงหัวเราะอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหางานหายรายได้หด

“ ความจริงตอนนี้คนไทยต้องการเสียงหัวเราะมากขึ้น แต่กำลังซื้อลดลง (หัวเราะ) อย่าวงโปงลางสะออนเนี่ยสังเกตได้เลยว่าเดี๋ยวนี้ถ้างานไหนดูฟรีนะ โหย ... คนดูล้นหลามเลย แต่ถ้าเสียเงินซื้อบัตรนะคนดูจะน้อยมาก อย่างไปแสดงต่างจังหวัดเนี่ย แม้แต่บัตรราคาแค่ 30-40 บาท ยังเหลือเลย จากแต่ก่อนบัตรใบละ 100 ขายหมดเกลี้ยง ก็มีวันหนึ่งไปเปิดคอนเสิร์ตต่างจังหวัด ผมยืนอยู่บนเวที ก็ เอ...ทำไมวันนี้คนน้อยจัง พอเดินออกมาดูนอกรั้วสังกะสีที่ล้อมอยู่เท่านั้นแหล่ะ โอ้โฮ ...คนมหาศาลเลย คือเขาไม่ซื้อบัตร แต่ใช้วิธีปีนรั้วดูบ้าง ปีนต้นไม้บ้าง ยืนบนรถกระบะบ้าง พอกลับขึ้นเวทีผมก็แซวว่า เอ้า ... ระวังตกต้นไม้กันนะคร้าบ(หัวเราะขำ)

ต้องยอมรับว่าช่วงนี้งานของวงเราลดลงไปเยอะ ปกติเนี่ยจะเดินสายกันทั้งปี แทบจะไม่มีเวลาว่างเลย แต่ก็นับว่ายังดีกว่าอีกหลายๆวงนะ เพราะก็ยังมีงานเข้ามาเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าบ้านเมืองจะเป็นยังไงผมก็อยากให้คนไทยมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะนะ เพราะมันเป็นเหมือนภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เราเครียด ไม่ให้เราซึมเศร้า คือถ้าเรามองโลกในแง่ดี เราก็มีความสุขกับชีวิตได้ ” อี๊ด พูดถึงผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่วงโปงลางสะออนเผชิญอยู่อย่างอารมณ์ดี

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ แม้แต่คนที่มีอาชีพขายเสียงหัวเราะก็ยังต้องพบเจอกับปัญหาที่บางครั้งก็ทำให้หัวเราะไม่ออกเช่นกัน แต่พวกเขาก็พยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยเลือกที่จะยิ้มสู้กับปัญหาและเผชิญหน้าอย่างมีสติดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ – วารี น้อยใหญ่

นพดล ทรงแสง  หรือ ‘จิ้ม ชวนชื่น’
 ‘อี๊ด’ สมพงษ์ คุนาประถม หัวหน้าวงโปงลางสะออน
พ่อต่าย และปังปอนด์ ลายเส้นจากฝีมือของภักดี
‘วงชวนชื่น’ คณะตลกชื่อดัง
การแสดงที่เรียกเสียงหัวเราะของวงโปงลางสะออน
อี๊ดกับแมสคอตของตัวเขาเองที่ไปปรากฏโฉมในโปงลางสะออนภาคแอนิเมชั่น
การ์ตูนล้อการเมือง ของ ‘พี่ต่าย ขายหัวเราะ’
การ์ตูนล้อการเมือง ของ ‘พี่ต่าย ขายหัวเราะ’
การ์ตูนล้อการเมือง ของ ‘พี่ต่าย ขายหัวเราะ’
การ์ตูนล้อการเมือง ของ ‘พี่ต่าย ขายหัวเราะ’
การ์ตูนล้อการเมือง ของ ‘พี่ต่าย ขายหัวเราะ’
กำลังโหลดความคิดเห็น