xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 ก.พ.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังแพทย์ถวายการรักษาจนพระหทัยเต้นเป็นปกติ(16 ก.พ.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. พระหทัย “พระราชินี”เต้นผิดปกติ- แพทย์ถวายยารักษา 17 นาที คืนสู่ปกติ!

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงตรวจพระหทัย” มีใจความว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระอาการพระหทัยเต้นผิดจังหวะ คณะแพทย์จึงได้เชิญเสด็จเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อตรวจพระอาการเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 15 ก.พ. จากนั้นคณะแพทย์ได้ถวายการตรวจและรักษาจนพระหทัยเต้นเป็นปกติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ กลับวังไกลกังวลแล้วในวันนี้(16 ก.พ.) ด้าน นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. คณะแพทย์ได้ตรวจพบว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระอาการพระหทัยช่องบนเต้นเร็วผิดปกติกว่าพระหทัยช่องล่าง โดยพระหทัยช่องบนเต้นประมาณ 200-300 ครั้ง/นาที ขณะที่พระหทัยช่องล่างเต้นประมาณ 100 กว่าครั้ง/นาทีเท่านั้น คณะแพทย์จึงทูลขอให้ทรงเข้ารับการตรวจรักษา พระองค์จึงได้เสด็จฯ จากพระตำหนักวังไกลกังวลมาถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในเวลาประมาณ 22.00น. คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาโดยการให้ยาทางเส้นพระโลหิต หลังจากนั้นประมาณ 17 นาที พระหทัยของพระองค์ก็กลับมาเต้นเป็นปกติ และตลอดทั้งคืนทรงไม่มีพระอาการแทรกซ้อน โดยพระอาการเป็นปกติดังเดิม นพ.อดิศร เผยด้วยว่า อาการหัวใจเต้นผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้สูงอายุหรือพบในบุคคลทั่วไปที่พักผ่อนไม่เต็มที่ แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงไม่สามารถระบุพระอาการที่แน่ชัดได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาพระองค์ทรงงานหนัก คณะแพทย์จึงถวายคำแนะนำให้ทรงงานลดลง

2. “เสื้อแดง”เตรียมล้อมทำเนียบฯ 24 ก.พ.นี้ ขณะที่ “รบ.”เปลี่ยนแผน-ย้ายประชุม ครม.ที่หัวหิน!
พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.สส.และญาติผู้พี่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น ปธ.พิธีสืบชะตาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และมีการเขียนชื่อศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณลงในบาตรด้วย เช่น ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงที่เตรียมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 24 ก.พ.นี้แล้ว ยังมีกรณีที่กลุ่มเสื้อแดง จ.เชียงใหม่ จัดพิธีสืบชะตาแบบล้านนาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย โดยพิธีสืบชะตาดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่วัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 แล้ว ยังมี พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ญาติผู้พี่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมคนในครอบครัวเข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย พร้อมกันนี้มีการนำภาพ พ.ต.ท.ทักษิณมาตั้งในพิธี เพื่อแทนตัวที่ไม่ได้เดินทางมาประกอบพิธี นอกจากนี้ยังมีการเขียนข้อความวางไว้บริเวณฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติว่า “เจ้ามูลเมืองและเจ้าษิณขอคืนอำนาจให้กับเจ้าชายสิกะ กษัตริย์และมเหสีขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน” ขณะเดียวกันก็มีหญิงแต่งชุดขาวเป็นร่างทรงพระเจ้ามูลเมือง ซึ่งเชื่อว่าเป็น พ.ต.ท.ทักษิณในอดีตชาติมาประทับทรง พร้อมอ้างว่า ชาติก่อน เจ้ามูลเมืองไปทำกรรมไว้ในระหว่างการสู้รบกับพม่า ทั้งการฆ่าและนำเงินข้าศึกกลับมา จนกลายเป็นกรรมติดตัวมาจนถึงชาตินี้ จึงเป็นกรรมหนักที่ต้องแก้ด้วยการทำบุญบารมี เพื่อชดใช้กรรมในอดีต อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ล้านนา อาจารย์ศักดิ์เสริญ รัตนชัย ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ยืนยันว่า เจ้าผู้ครองล้านนาตั้งแต่อดีตกาลมา ไม่มีชื่อ “เจ้ามูลเมือง” แต่อย่างใด คำอ้างของร่างทรงจึงอาจเป็นเพียงเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเท่านั้น เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า การประกอบพิธีสืบชะตา-แก้กรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ กลุ่มเสื้อแดงมีการเขียนชื่อศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณลงในกระดาษแล้วใส่ลงในบาตรเพื่อให้สิ่งที่ศัตรูทำไว้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ย้อนกลับเข้าตัวเองด้วย เช่น ชื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ,พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ,นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ รวมไปถึงชื่อบุคคลสำคัญอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นต้น ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงกรณีที่ถูกกลุ่มเสื้อแดงเขียนชื่อใส่ลงในบาตรว่า ไม่เป็นไร ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่ พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี พูดถึงกรณีที่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ไปร่วมพิธีสืบชะตาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมทั้งมีการเขียนชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษใส่ลงในบาตรขณะทำพิธีว่า ผมคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี อย่าไปใส่ใจ เพราะผมไม่รู้ว่าคนที่ทำเรื่องนี้มีระดับความคิดแค่ไหน มีโลกทรรศน์แค่ไหน และว่า พล.อ.เปรมไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ตนคิดว่า คนที่เป็นทหารต้องช่วยกัน อย่าไปปล่อยไก่ เพราะจะอายชาวบ้านเขา การที่มีความคิดเช่นนี้จะทำให้เราอาย ทหารที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองควรให้เกียรติกัน ด้าน พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.สส. และญาติผู้พี่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดถึงการไปร่วมพิธีสืบชะตา พ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้างว่า เผอิญตนไป จ.เชียงใหม่พอดี จึงมีการเชิญตนไปเป็นประธานงานดังกล่าว และว่า ในพิธีดังกล่าว ไม่ได้มีการสาปแช่งใคร เป็นการแผ่เมตตาให้ประชาชนคนไทยทุกคนเป็นมิตร แผ่เมตตาให้ศัตรู คือ ให้ศัตรูจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย ไม่เห็นมีอะไร อย่าคิดมาก เพราะไม่ได้สาปแช่ง ตำพริกตำห่าอะไร เพียงแต่อุทิศส่วนกุศลให้... ทั้งนี้ ไม่เพียงบุคคลในตระกูลชินวัตรจะทำพิธีสืบชะตาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังมีรายงานว่า นายพายัพ ชินวัตร และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องชายและน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ได้นำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทยอยเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ฮ่องกงด้วยตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณจริง โดยยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการไปหาทุนก่อนการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง แต่ไปหาเพราะมีความรักใคร่ชอบพอกับ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น ด้านที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ กับพวก ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งราชการตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีสั่งให้ธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อแก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ซึ่งมีสถานะลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นเงินกว่า 9,000 ล้านบาท สำหรับผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยังมีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณด้วย เพราะจากการตรวจสอบพบว่าเงินที่ธนาคารปล่อยกู้บางส่วน ถูกโอนเข้าบัญชีนายพานทองแท้ ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.และคนเสื้แดงที่จะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 24 ก.พ.นี้นั้น นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.ได้แถลง(เมื่อ 19 ก.พ.)ถึงเหตุผลที่ต้องชุมนุมใหญ่ในวันดังกล่าวว่า เพื่อทวงคำตอบเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 4 ข้อที่ทางกลุ่มได้เรียกร้องต่อรัฐบาลก่อนหน้านี้(1.เร่งดำเนินคดีพันธมิตรฯ – ปลดนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ –ยกเลิก รธน.2550 กลับไปใช้ รธน.2540 แทน – ยุบสภา) ซึ่งรัฐบาลไม่รับข้อเรียกร้อง คนเสื้อแดงจึงมีมติจะเดินขบวนจากสนามหลวงไปทวงถามรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล(เวลา 10.00น.) ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ยืนยัน กลุ่มเสื้อแดงจะไม่บุกเข้าไปในทำเนียบฯ เหมือนที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยทำ และว่า จะมีการจัดชุดเฉพาะกิจไปที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย และคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปชุมนุมที่หัวหิน สถานที่จัดประชุมอาเซียนซัมมิท ขณะที่นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ซึ่งเคยประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับแกนนำ นปช.แล้ว และจะไม่นำคนรักอุดรมาร่วมชุมนุมที่สนามหลวง กลับกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการออกมาพูดใหม่ว่า จะนำคนรักอุดรมาชุมนุมที่สนามหลวง 2,500 คนในวันที่ 24 ก.พ. พร้อมอ้างว่า ที่ผ่านมาไม่ได้แตกแยกกับแกนนำ นปช.เพียงแต่ไม่เข้าใจกันเท่านั้น ด้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตัดสินใจประชุม ครม.นอกสถานที่วันที่ 24 ก.พ. โดยจะไปประชุมที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมยืนยัน การไม่ประชุม ครม.ที่ทำเนียบฯ ในวันดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเพราะกลุ่มเสื้อแดงจะมาล้อมทำเนียบฯ แต่เพราะ ครม.ต้องการไปสำรวจสถานที่และการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนซัมมิทระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค.

3. คกก.สอบฯ 7 ตุลา ชุด “สมชาย”เอาผิดใครไม่ได้ ด้าน “ป.ป.ช.”มีมติฟันอาญา “ขวัญชัย-อุทัย”ทำร้าย “พันธมิตรอุดรฯ”!

โฉมหน้านายขวัญชัย ไพรพนา และนายอุทัย แสนแก้ว แกนนำชมรมคนรักอุดร ที่ปลุกระดมให้มีการทำร้ายพันธมิตรฯ
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีที่นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี กับพวก ถูกร้องเรียนว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีปล่อยให้กลุ่มคนรักอุดรพร้อมอาวุธบุกเข้าทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล(นายสมัคร)ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคมเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 ทั้งนี้ จากการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2551 ชมรมคนรักอุดร ได้ประกาศจะจัดการชุมนุมที่ทุ่งศรีเมืองในวันที่ 24-25 ก.ค. ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะจัดการชุมนุมที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ฯ โดยได้ทำหนังสือขอใช้สถานที่กับทางจังหวัด ด้านนายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าฯ อุดรธานี จึงได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมของทั้ง 2 กลุ่ม โดยให้นโยบายป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มทำร้ายกัน พร้อมมอบหมายให้ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผู้การฯ อุดรธานี เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติการทั้งหมด และให้นายยุทธนา วิริยะกิตติ ปลัดจังหวัดอุดรฯ และนายอำเภออุดรฯ เป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดกำลังสมาชิก อส.และ อปพร.สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ก็ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมมอบหมายให้ พ.ต.อ.ภัทราวุธ เอื้อมศศิธร และ พ.ต.อ.บุญลือ กอบางยาง รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการชุมนุม เมื่อถึงวันที่ทั้ง 2 กลุ่มชุมนุม 24 ก.ค. นายขวัญชัย ไพรพนา ได้จัดเวทีปราศรัยที่ทุ่งศรีเมือง พร้อมถ่ายทอดออกอากาศผ่านวิทยุชุมชนของชมรมฯ ด้วย โดยปลุกระดมให้ประชาชนคนรักอุดรมารวมกันที่ทุ่งศรีเมืองเพื่อขับไล่กลุ่มพันธมิตรฯ จากนั้น เวลาประมาณ 15.00น.นายขวัญชัย และนายอุทัย แสนแก้ว แกนนำคนรักอุดร ก็ได้ปลุกระดมให้กลุ่มคนรักอุดรเคลื่อนขบวนจากทุ่งศรีเมือง ไปยังสวนสาธารณะหนองประจักษ์ฯ เพื่อขับไล่และขัดขวางการเปิดเวทีของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยกลุ่มคนรักอุดรพร้อมอาวุธ ได้ฝ่าแนวป้องกันของตำรวจและเจ้าหน้าที่จังหวัด เข้าไปทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ภายในบริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ฯ จนมีผู้บาดเจ็บถึงบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก รวมทั้งได้ทำลายเวทีและทรัพย์สินของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย ก่อนที่จะเคลื่อนกลับไปที่ทุ่งศรีเมืองเหมือนเดิม ทั้งนี้ จากการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบว่า ระหว่างเกิดเหตุกลุ่มคนรักอุดรบุกทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าฯ อุดรธานี และนายยุทธนา วิริยะกิตติ ปลัด จ.อุดรฯ ได้รับรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอด แต่ไม่ได้เดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุเพื่อควบคุมดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม หรือดำเนินการใดใดเพื่อป้องกันและระงับเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่ พ.ต.อ.ภัทราวุธ เอื้อมศศิธร รองผู้การฯ อุดรธานี ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง จริงจัง ปล่อยให้กลุ่มคนรักอุดรบุกเข้าไปภายในสวนสาธารณะหนองประจักษ์อย่างง่ายดาย ส่วน พ.ต.อ.บุญลือ กอบางยาง รองผู้การฯ อุดรธานี ก็อ้างว่าไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่นที่ได้รับมอบหมายก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่ควรจะทราบดีว่าสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนกรณีนี้มีความสำคัญยิ่งกว่า แต่ก็มิได้ดำเนินการหรือสั่งการใดใดเพื่อป้องกันขัดขวางมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ป.ป.ช.จึงมีมติชี้มูลว่า นายสุพจน์ ในฐานะผู้ว่าฯ อุดรธานี ,นายยุทธนา ปลัดจังหวัดฯ รวมทั้ง พ.ต.อ.ภัทราวุธ และ พ.ต.อ.บุญลือ มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ และประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ส่วน พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี นั้น ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ อุดรธานี ให้เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติการทั้งหมด แต่กลับไม่ได้ใส่ใจที่จะติดตามดูแลควบคุมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มคนรักอุดร เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายประชาชนจนได้รับอันตรายแก่กายและบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดใด อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่บุคคลทั้ง 5 ต่อไป คือ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ,นายสุพจน์ ,นายยุทธนา ,พ.ต.อ.ภัทราวุธ และ พ.ต.อ.บุญลือ ส่วนนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ (แต่งตั้งโดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ) ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากกรณีที่ยุงยงกลุ่มคนรักอุดรให้ใช้กำลังอาวุธบุกเข้าไปทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สินของกลุ่มพันธมิตรฯ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนนายอุทัย แสนแก้ว ก็ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นกัน ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนายขวัญชัย ไพรพนา ป.ป.ช.จึงมีมติส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องนายขวัญชัยและนายอุทัย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และ 70 ทั้งนี้ นอกจากความคืบหน้าเรื่องคดีกลุ่มคนรักอุดรบุกทำร้ายพันธมิตรฯ แล้ว ยังมีกรณีที่ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ได้รับทราบผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ในขณะนั้น ซึ่งมีนายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธานสอบ ได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2551 ก่อนหน้าที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แถลงผลสอบดังกล่าวให้สาธารณชนทราบเมื่อวานนี้(20 ก.พ.) โดยนอกจากคณะกรรมการสอบฯ จะระบุว่า ไม่ได้รับความร่วมมือจากพยานในการเข้าให้ข้อมูลแล้ว ยังประสบปัญหาขาดแคลนกรรมการสอบและอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วย แต่กระนั้นคณะกรรมการสอบฯ ชุดนายปรีชาที่ตั้งโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ (ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียเพราะถูกคณะกรรมการสอบชุดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ว่า เป็นผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.) ก็ได้สรุปผลสอบแบบไม่ชี้ว่าใครผิดหรือใครสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ โดยใช้แก๊สน้ำตาอานุภาพร้ายแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยผลสอบ ระบุว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ บอกกับคณะกรรมการสอบฯ ว่า ตนไม่ได้มีนโยบายให้มีการสลายการชุมนุม และได้มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ เป็นผู้ดูแลสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย จึงไม่ทราบว่า พล.อ.ชวลิตไปสั่งการหรือมอบหมายให้บุคคลใดดำเนินการต่อ ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ก็ยืนยันกับคณะกรรมการสอบฯ ว่า ตนไม่ได้สั่งให้สลายการชุมนุม แค่แจ้งที่ประชุมกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่า ให้รักษารัฐสภาให้ได้ และให้หาทางเปิดทางเข้ารัฐสภา เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าประชุมสภา แต่ก็ให้แนวทางเพิ่มเติมว่า ถ้าเข้าสภาไม่ได้ ก็ให้ฝ่ายการเมืองแก้ปัญหากันเอง ส่วนที่ไม่ย้ายสถานที่ประชุมนั้น พล.อ.ชวลิต บอกว่า เพราะเลขาธิการนายกฯ แจ้งว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เห็นว่าควรประชุมที่รัฐสภา เพราะไม่ต้องการเร่ร่อนเหมือนรัฐบาล ที่ประชุม ครม.คืนวันที่ 6 ต.ค.จึงมีมติให้ประชุมที่รัฐสภาตามเดิม เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากผลสอบของคณะกรรมการสอบฯ ที่นายสมชายตั้งขึ้น จะไม่สามารถเอาผิดนักการเมืองว่าเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุมหรือต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียจากการสลายการชุมนุมแล้ว ผลสอบบางส่วนยังขัดแย้งกับผลสอบชุดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาด้วย เช่น การเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ที่ผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งมี พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมเป็นกรรมการสอบ และยืนยันว่า น.ส.อังคณาเสียชีวิตจากกระสุนแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีนซึ่งมีส่วนผสมของสารระเบิดร้ายแรงอาร์ดีเอกซ์ หรือซีโฟร์ โดยพบสารดังกล่าวบริเวณบาดแผล ผิวหนัง และเสื้อผ้าของ น.ส.อังคณาจำนวนมาก แต่คณะกรรมการสอบชุดนายปรีชาที่นายสมชายตั้งขึ้น ระบุว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ยืนยันว่า กระสุนแก๊สน้ำตาที่ สตช.นำมาใช้ในราชการทุกชนิด ไม่มีส่วนประกอบสารซีโฟร์ จึงสรุปได้ว่าบาดแผลที่ทำให้ น.ส.อังคณาเสียชีวิต น่าจะเกิดจากแรงระเบิดที่มีส่วนประกอบของซีโฟร์ ไม่ใช่แก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้ในการสลายการชุมนุม จึงควรมีการตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ย้ำว่า ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบฯ ชุดนายปรีชา เป็นการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมา จึงเป็นคนละส่วนกับที่ ป.ป.ช.กำลังดำเนินการสอบสวนอยู่ ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดถึงผลสอบของคณะกรรมการสอบชุดนายปรีชาที่ไม่สามารถเอาผิดใครในฐานะสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม 7 ต.ค.ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลสอบออกมาแบบนี้ เพราะถ้าคณะกรรมการสอบฯ สามารถระบุคนผิดได้ นายสมชายก็คงไม่ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ และว่า จุดยืนของพันธมิตรฯ ไม่ยอมรับคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ลงนามแต่งตั้งคือนายสมชาย ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะถูกกล่าวหาว่าสั่งการให้มีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม เมื่อพันธมิตรฯ ไม่ยอมรับคณะกรรมการสอบชุดนี้ แกนนำพันธมิตรฯ จึงไม่ไปให้การกับคณะกรรมการสอบฯ เพราะไม่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับความไม่ชอบธรรม จึงไม่แปลกที่รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการชุดนี้เป็นการให้ข้อมูลจากตำรวจเพียงฝ่ายเดียว และไม่รู้ว่า กลุ่มที่ไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสอบฯ มีการจัดตั้งมาหรือไม่

4. “กกต.”มีมติ 3 : 2 ยกคำร้อง ส.ส.เพื่อไทยกล่าวหา “มาร์ค”ได้เป็นนายกฯ โดยไม่ชอบ!
กกต.เสียงข้างมาก เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สามารถพบปะนายเนวิน ชิดชอบ อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้ ไม่ขัด รธน.
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้ประชุมพิจารณาคำร้องของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ขอให้ กกต.พิจารณากรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ไปพบปะกับนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรคนั้น ขัดต่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการกระทำของนายอภิสิทธิ์ เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยที่ประชุม กกต.มีมติ 3 : 2 ว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์ไม่เป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5 /2550 เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-20 /2551 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 94 ,96 และ 98 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 และมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญเป็นการวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะโยงไปถึงสิทธิในการเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งไม่ให้ไปจัดตั้งพรรคการเมือง และไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคการเมืองได้ แต่ไม่ได้จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นประชาชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ดังนั้นนายอภิสิทธิ์และกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(นายเนวิน)จึงยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง ส่วนที่มีการร้องว่า นายอภิสิทธิ์ได้อำนาจการปกครองประเทศโดยมิชอบนั้น กกต.ก็เห็นพ้องตามคณะกรรมการไต่สวนว่า กระบวนการในการลงมติเลือกนายกฯ ได้กระทำโดยเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งกระทำในสภาผู้แทนราษฎร และมีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ให้ประชาชนได้รับชม อีกทั้งมีผู้ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ 2 คนด้วยกัน ดังนั้นจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นการแสดงให้เห็นว่า มีการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ กกต.เสียงข้างมากจึงเห็นสมควรให้ยุติคำร้องดังกล่าว สำหรับ กกต.เสียงข้างมาก 3 เสียง ประกอบด้วย นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ (ประธาน กกต.) ,นายสุเมธ อุปนิสากร ,นางสดศรี สัตยธรรม ส่วน กกต.เสียงข้างน้อย 2 เสียง ซึ่งเห็นว่าควรสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ประกอบด้วย นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายประพันธ์ นัยโกวิท ด้านนายสุเมธ อุปนิสากร กกต.เสียงข้างมาก เผยเหตุผลที่มีมติยกคำร้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ให้วินิจฉัยกรณีนายอภิสิทธิ์ว่า เนื่องจากเห็นว่า การได้เป็นนายกฯ ของนายอภิสิทธิ์ มีการโหวตเสียงในสภา ถือเป็นการได้อำนาจมาโดยผู้แทน ไม่ใช่ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้อง จึงไม่ถือว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์ขัด รธน.มาตรา 68 ส่วนกรณีที่ผู้ร้องระบุว่า ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์นั้น นายสุเมธ บอกว่า จากพยานและหลักฐานที่คณะกรรมการไต่สวนนำมาแสดง ก็ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่นายอภิสิทธิ์ไปพบนายเนวิน มีการพูดจาตกลงในเรื่องอะไรกัน จึงไม่อาจรับฟังได้

5. รบ.เคาะแล้ว จ่าย 2 พันเป็น “เช็คเงินสด”หวังกระตุ้นใช้จ่าย คาด เริ่มแจก 26 มี.ค.นี้!
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงขั้นตอนการใช้เช็ค 2 พันบาท ในการแลกซื้อสินค้าง่ายๆ เพียงสลักชื่อตัวเองหลังเช็ค พร้อมเลขบัตรประจำตัวประชาชน ก็สามารถแลกซื้อสินค้าได้แล้ว
เมื่อวันที่ 15 ก.พ.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ทางสสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพผู้มีรายได้ไม่ถึงเดือน 15,000 บาท รายละ 2,000 บาทว่า กำลังพิจารณารูปแบบการจ่ายเงินว่าจะจ่ายเป็นเงินสดหรือเป็นเช็คหรือโอนเข้าบัญชี และว่า ขณะนี้เริ่มมีเอกชนสนใจช่วยเหลือ โดยหากเป็นเช็ค และเอาเช็คไปใช้จ่ายในส่วนของเอกชน เอกชนอาจจะมีส่วนลดให้ รัฐบาลจึงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะจ่ายเป็นเช็คดีหรือไม่ ด้านนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พูดถึงแนวทางการจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพ 2,000 บาทว่า ได้หารือกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ แล้ว และได้ข้อสรุปตรงกันว่า จะใช้วิธีสั่งจ่ายเป็นเช็คเงินสด โดยมีรูปแบบเดียวกับการจ่ายเช็คคืนภาษีให้กับประชาชน ซึ่งไม่ยุ่งยากเหมือนการออกเช็คปกติที่จะต้องมานั่งเซ็นชื่อกำกับกัน เพราะแค่ป้อนข้อมูลเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์และจัดพิมพ์ออกมา ก็เรียบร้อยแล้ว และว่า ขั้นตอนการใช้ก็ง่าย หากใครต้องการนำเงินเข้าบัญชีไว้ก่อน ก็สามารถนำไปแจ้งกับธนาคารได้ทันที หรือจะนำไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าก็ได้ นายไพฑูรย์ เผยถึงรูปแบบการจ่ายเช็คให้ผู้มีสิทธิได้รับว่า มี 3 ช่องทาง 1.ผู้ประกันตน(ที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท) ติดต่อรับเงินจากสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ 2.จ่ายเงินผ่านสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ และ 3.ส่งตรงไปยังบ้านของผู้ประกันตนทางไปรษณีย์ ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องแจ้งกับสำนักงานประกันสังคมว่า สะดวกที่จะรับเงินด้วยวิธีใด โดยสามารถตรวจสอบสิทธิและสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1506 ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ บอกว่า การนำเช็ค 2,000 บาทไปใช้จ่ายซื้อสินค้านั้น จะมีการวางกฎเกณฑ์ให้ผู้ได้รับเช็ค จะต้องยื่นบัตรประชาชนก่อนซื้อสินค้า เพื่อผู้ขายจะได้มั่นใจว่าเป็นเจ้าของเช็คจริง และว่า นอกเหนือจากผู้ประกันตน 8 ล้านคนที่มีสิทธิได้รับเช็ค 2,000 บาทแล้ว ขณะนี้ยังได้สำรวจข้อมูลบุคลากรในท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่จะให้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย คาดว่าจะต้องใช้เงินในส่วนงบฯ ฉุกเฉินที่กันไว้ 4,000 ล้านบาทมาจ่าย ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้แถลงแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะจ่ายเงิน 2,000 บาทตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจ่ายเป็นเช็คเงินสดว่า เมื่อประชาชนรับเป็นเช็ค การนำไปใช้จ่ายจะมีความลำบาก นายสุรพงษ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจจ่ายเป็นเช็คเงินสด จะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับพวกพ้องที่เป็นร้านค้าหรือไม่ จึงเห็นว่าจ่ายเป็นเงินสดดีกว่า ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเช็ค 2,000 บาทหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ว่า เช็คดังกล่าวจะมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ทำหน้าที่ออกเช็ค ขณะที่สำนักงานประกันสังคมจะทำหน้าที่แจกจ่ายเช็คให้กับผู้มีสิทธิได้รับ โดยรูปแบบเช็คจะมีการขีดคร่อมด้านหน้า แต่จะไม่ขีดคร่อมทับชื่อผู้ถือ ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ เผยหลังประชุม กรอ.เช่นกันว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจ่ายเช็ค 2,000 บาทว่า เช็คดังกล่าวจะใช้ชื่อว่า “เช็คช่วยชาติ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก” โดยอยู่ในรูปเช็คที่จ่ายเงินปันผลหรือเช็คคืนภาษี ซึ่งจะระบุชื่อผู้ที่ได้รับสิทธิในเช็คแต่ละใบและขีดคร่อม แต่จะไม่ขีดชื่อผู้ถือ(account payee) เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่ประชาชนนำเช็คดังกล่าวไปซื้อสินค้า สามารถนำไปขึ้นเงินได้ โดยคาดว่า จะสามารถออกเช็คได้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-8 เม.ย.นี้ นายกอร์ปศักดิ์ ยังขอร้องประชาชนที่มีสิทธิได้รับเช็ค 2,000 บาทด้วยว่า เมื่อได้รับเช็คมาแล้ว อย่านำไปขายแล้วเสียค่าส่วนต่างให้กับคนอื่น เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้กำหนดหรือห้ามไม่ให้นำเช็คไปขึ้นเงินสด และวิธีการที่รัฐดำเนินการก็ถือว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว คือ สามารถนำเช็คไปขึ้นที่ธนาคารใดสาขาใดก็ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น