จุดเทียนเล่มน้อย แล้วนำมาร้อยรวมกัน
ประคองให้มั่น หลอมรวมกันให้เป็นดวงใหญ่
สยบพวกมาร เผาผลาญผีเปรตจัญไร
ไล่มันออกไป จากประเทศไทยของเราเสียที...............
บทเพลงนี้ดังกระหึ่มท่ามกลางการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คนเสื้อเหลืองที่ลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลขายชาติ และกลายเป็นบทเพลงแห่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จนใครต่อใครต่างอยากรู้จักตัวตนของคนที่แต่งเพลงนี้ว่าเขาคือใคร เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรารู้แต่เพียงว่าเขาชื่อ ‘เธียร์รี่ ลาสเวกัส’
จุดเริ่มของแรงบันดาลใจ
นับเป็นโชคดีที่หนุ่มหล่อคนนี้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากสหรัฐอเมริกากลับมาประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน เราจึงมีโอกาสพูดกับเขาถึงเรื่องราวและที่มาของบทเพลงดังกล่าว
เธียร์รี่มีชื่อจริงว่า ‘เธียรพงศ์ พลอยเพชร’ ซึ่งไม่แปลกที่หลายคนอาจรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาเพราะเขาคืออดีตนักร้องนำของวง ‘เดอะเจเนอเรชั่น’ที่เคยโด่งดังเมื่อ 20 กว่าปีก่อน แม้เขาจะไปลงหลักปักฐานเป็นนักดนตรีอยู่ที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา แต่ทว่าเลือดรักชาติก็ยังคงไหลเวียนอยู่ในร่างกายและหัวใจของผู้ชายคนนี้
เธียร์รี่บอกว่าเพลงเทียนแห่งธรรมถูกเขียนขึ้นในช่วงปลายปี 2548 หลังจากที่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกถอดออกจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. และคุณสนธิได้ออกมาจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และย้ายไปที่สวนลุมพินีในเวลาต่อมา เขาได้รับทราบเรื่องราวต่างๆผ่านสัญญาณดาวเทียมที่ส่งจากเมืองไทยไปยังลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ความห่วงใยบ้านเกิดเมืองนอนที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตจากปัญหาคอร์รัปชั่น การบ่อนทำลายสถาบัน และการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงถูกถ่ายทอดเป็นบทเพลงด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเทียนแห่งปัญญาที่สื่อหัวแข็งอย่าง ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ จุดขึ้นจะถูกจุดต่อๆกันไปเพื่อให้แสงสว่างกลายเป็นพลังขับไล่นักการเมืองชั่วที่เป็นดั่งภูตผีร้ายทำคอยกัดกินทำลายบ้านเมือง
เธียร์รี่ส่งเพลงที่เขาบันทึกใส่ซีดีมาให้คุณสนธิเพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องโดยไม่เคยคาดคิดว่าเพลงของเขาจะกลายเป็นบทเพลงแห่งประวัติศาสตร์และเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
“ คือผมได้ดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ตั้งแต่ที่คุณสนธิและคุณสโรชา (สโรชา พรอุดมศักดิ์) จัดอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ตั้งแต่คุณสนธิยังไม่ออกมาแฉคุณทักษิณเลย จนกระทั่งรายการถูกปลดหลังจากที่นำเสนอบทความเรื่องลูกแกะหลงทาง ซึ่งเปรียบเทียบถึงความเหิมเกริมในการใช้อำนาจแสวงประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผมมองว่าคุณสนธิทำหน้าที่ในฐานะสื่อที่ต้องการบอกความจริงแก่ประชาชน ในขณะที่คุณทักษิณกลับไม่เคยชี้แจงข้อกังขาเรื่องการทุจริตต่างๆเลย หนำซ้ำยังคุกคามกลั่นแกล้งสื่อที่ออกมาต่อต้านเขาด้วย กระทั่งคุณสนธิมาจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมฯ ผมรู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนั้นน่าเป็นห่วงมาก คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องประเทศชาติ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าจะสำเร็จหรือเปล่าเพราะช่วงนั้นอำนาจของคุณทักษิณครอบคลุมไปทุกวงการ
ผมก็เลยเขียนเป็นเพลงขึ้นมา คือผมเป็นนักร้องอยู่แล้วมีอะไรที่ประทับใจก็จะเขียนเป็นเพลงเก็บไว้ จำได้ว่าตอนนั้นฉากหลังของรายการเป็นรูปเทียนหลายเล่ม คุณสนธิได้เปรียบเทียบว่านักการเมืองที่โกงกินบ้านเมืองก็เหมือนผีเปรตผีมารซึ่งอยู่ในความมืดและกลัวแสงสว่าง ก็เหมือนนักการเมืองที่กลัวความจริง เพราะฉะนั้นคุณสนธิก็ขอจุดเทียนทางปัญญาให้ทุกคนได้รู้ความจริง และบอกว่าเราต้องช่วยกันจุดเทียน รวมเทียนดวงเล็กๆให้กลายเป็นเทียนพรรษา ผีเปรตผีมารเห็นแสงสว่างจะได้กลัวและอยู่ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นที่มาของชื่อเพลง ‘เทียนแห่งธรรม’ เพลงนี้พอเขียนเสร็จผมก็มานั่งเกากีตาร์ ใส่คอร์ดเก็บไว้ แต่ก็แอบนึกในใจว่าเพลงนี้ถ้าเอาไปร้องให้ประชาชนได้ฟังคงช่วยปลุกจิตสำนึกเรื่องความรักชาติได้บ้าง” เธียร์รี่เล่าถึงที่มาที่ไปของแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงเทียนแห่งธรรม
เรียงถ้อยร้อยคำ
สิ่งที่ทำให้บทเพลงเทียนแห่งธรรมตราตรึงอยู่ในใจของใครหลายคนก็คือการเรียงร้อยเนื้อร้องที่ลึกซึ้งกินใจทั้งความหมายและถ้อยคำ แต่ละวรรคตอนสื่อถึงการรวมพลังของคนไทยที่มีหัวใจรักชาติซึ่งพร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศชาติและสถาบัน เป็นบทเพลงที่นอกจากจะมีความงดงามทางภาษาแล้วยังก่อให้เกิดพลังแก่ผู้ฟังอย่างไม่รู้ตัว
“เนื้อหาต่างๆของเพลงนี้ก็เกิดจากการประมวลถ้อยคำที่คุณสนธิพูด ซึ่งผมรู้สึกว่ามันโดนใจ เลยนำมาร้อยเป็นเพลง เช่นที่คุณสนธิบอกว่าเราต้องช่วยกันจุดเทียนแห่งปัญญาเพื่อขับไล่ผีเปรตผีมารที่โกงกินบ้านเมือง เราสู้โดยเอาธรรมนำหน้า เราสู้เพื่อในหลวง นักการเมืองโกงกินขนาดนี้มันไม่ไหวแล้วนะ เราต้องเอาประเทศไทยของเราคืนมาให้ได้ คุณสนธิพูดเสมอว่าเราไม่ขอมักใหญ่ใฝ่สูงเป็นนักการเมือง แต่เราจะขอเป็นแค่ยาม เป็นยามเฝ้าแผ่นดิน คือฟังแล้วมันโดนทุกประโยคนะ
ตอนแรกผมแต่งเก็บไว้เฉยๆ จนกระทั่งช่วงปลายปี 2548 ทางสมาคมชาวใต้ที่นิวยอร์กเขาจัดงานวันพ่อ แล้วเชิญผมไปร้องเพลง ก็ได้ไปเจอพี่ๆวงเดอะสวิงซึ่งเป็นคนใต้ที่ไปอยู่ที่นั่น ก็ได้พูดคุยเรื่องการเมืองกัน พี่คนหนึ่งเขาบอกว่าเธียร์รี่คงไม่สนใจการเมืองหรอก ผมก็บอกน้อยไปสิพี่..ผมเขียนเพลงด่าไว้เลยล่ะ เขาถามว่าเพลงอะไร ด่าทักษิณใช่ไหม ผมก็ตอบว่าผมไม่ได้ด่าทักษิณ ผมด่าพวกโกงกินชาติ เขาก็เลยให้ร้องให้ฟัง ตอนนั้นยังเขียนไม่จบ ยังไม่ได้ตั้งชื่อด้วย พี่ๆเขาบอกว่าเพลงนี้มันจะไปปลุกใครให้มาสู้ได้ล่ะ ผมก็บอกว่ามันเป็นเพลงช้าพี่ แต่มันปลุกจิตสำนึกดีนะ เขาก็บอกว่าเออ..งั้นอัดเก็บไว้ไหม พอดีมีพี่อีกคนชื่อ "พี่หมู" เขาบอกว่าพี่รู้จักกับพวกบ้านพระอาทิตย์ เดี๋ยวพี่จะเอาซีดีส่งไปให้คุณสนธิ
ผมก็บอกว่าจะส่งไปยังไง ผมยังไม่ได้อัดเลย แล้วพรุ่งนี้ผมก็จะบินกลับลาสเวกัสแล้ว บังเอิญมีพี่อยู่คนหนึ่งเขาเป็นหมอ ชื่อ "หมอชิน" บ้านเขามีเครื่องอัดเสียง ผมก็โอเค..แต่ต้องไปบ้านพี่แต่เช้าเลยนะเพราะเครื่องบินออกเที่ยงครึ่ง กลับไปที่พักคืนนั้นผมก็ไม่ได้นอนเลย นั่งเขียนเนื้อเพลงที่เหลือต่อจนจบ รุ่งเช้าก็อัดเสียงกันเลย ห้องอัดก็มีแค่อิเล็กโทนตัวเดียว ผมมีกีตาร์อยู่ตัวหนึ่ง ก็เล่นเองร้องเอง ใช้เวลาในห้องอัดไม่เกินชั่วโมง ฟังแล้วก็ยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร แต่มันได้แค่นั้น แล้วคือใจจริงเนี่ยก็ไม่คิดว่าเขาจะส่งมาให้คุณสนธิจริงๆ ถึงจะส่งไปจริงก็ไม่รู้จะมีใครฟังหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าอยากให้รู้ว่ามันเป็นเพลงอิมพอร์ต ส่งมาจากเมืองนอก ผมก็เลยเขียนข้อความฝากมาว่าเพลงนี้ขอมอบให้คุณสนธิ ไว้เป็นกำลังใจในการต่อสู้ ก็คิดอะไรไม่ออก คือปกติเพื่อนที่เป็นฝรั่งจะเรียกผมว่าเธียร์รี่ แล้วผมอยู่ที่ลาสเวกัส ผมก็เลยใช้ชื่อว่า เธียร์รี่ ลาสเวกัส” เธียร์รี่เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนที่เพลงเทียนแห่งธรรมของเขาจะกลายเป็นเพลงแห่งหน้าประวัติศาสตร์
บทเพลงแห่งหน้าประวัติศาสตร์
เธียร์รี่บอกว่านับเป็นความบังเอิญที่เพลงของเขาได้รับเสียงชื่นชมจากพี่น้องพันธมิตรฯหลังจากที่เพลงนี้ถูกเปิดครั้งแรกในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ก่อนที่คุณสนธิจะขึ้นปราศรัยในวันนั้น และได้กลายเป็นเพลงประจำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ในเวลาต่อมา จนกระทั่งมีการชุมนุมของพันธมิตรฯภาค 2 ในปี 2551 เพลงเทียนแห่งธรรมก็ถูกเปิดขึ้นบนเวทีพันธมิตรฯอีกครั้ง และยังเป็นเพลงที่ทุกคนจะร่วมกันร้องก่อนที่ 5 แกนนำพันธมิตรฯจะขึ้นปราศรัยในแต่ละวันอีกด้วย
ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของเขา เพราะที่ผ่านมาเธียร์รี่หวังเล็กๆเพียงว่าคุณสนธิอาจจะได้หยิบเพลงของเขาขึ้นมาฟังบ้าง แต่เขาไม่เคยคาดคิดว่าเพลงที่เขาแต่งขึ้นจากความห่วงใยในบ้านเกิดเมืองนอนจะกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นการรวมพลังของคนไทยที่มีหัวใจรักชาติ
“วันนั้นจำได้ว่า เช้าวันที่ 4 กุมภาฯ ปี 49 ผมนอนดูเอเอสทีวีอยู่ ตอนนั้นเขาชุมนุมกันที่ลานพระรูปฯ กำลังสะลึมสะลือ อยู่ๆเพลงเทียนแห่งธรรมก็ดังขึ้น โอ้โห...น้ำตาไหลเลย ดีใจมาก แต่ตอนนั้นทีมงานเขาใช้ชื่อเพลงว่ายามเฝ้าแผ่นดินนะ พี่สำราญ(สำราญ รอดเพชร) กับพิธีกรผู้หญิงอีกคนเขาก็พูดถึงเพลงของผมว่า เพลงนี้ส่งมาจากสหรัฐอเมริกา คนแต่งชื่อเธียร์รี่ ลาสเวกัส โอ..ฟังแล้วขนลุก อย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็ยิ่งภูมิใจใหญ่เลย หลังจากนั้นเอเอสทีวีก็เอามาเปิดบ่อยๆ เพราะโฆษณาไม่ค่อยมี (หัวเราะ) เขาก็จะเปิดแต่เพลงกู้ชาติ แล้วก็มีเพลงของผมด้วย
จากนั้นทีมงานก็โทร.ไปหาผมที่ลาสเวกัส เขาก็ถามว่าเพลงของคุณจะใช้ชื่อว่าอะไร ผมก็บอกว่าชื่อเพลงเทียนแห่งธรรม เพราะเพลงนี้มันจุดประกายมาจากเทียน ผมว่าที่มันกลายเป็นเพลงประจำพันธมิตรฯ คงเป็นเพราะคุณสนธิและหลายๆคนชอบ ผมก็ดีใจนะที่ทุกคนชอบ ผมจะรู้สึกตื้นตันทุกครั้งที่เปิดเพลงนี้แล้วกล้องแพนไปข้างล่างเวที เห็นพี่น้องพันธมิตรนับพันนับหมื่นไกลสุดสายตา บางคนน้ำตาไหล ผมก็พลอยน้ำตาไหลตามไปด้วย” เทียร์รี่กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
เทียนแห่งธรรมภาค 2
เทียร์รี่บอกว่าตอนนี้เขาทำเพลงเทียนแห่งธรรม ภาค 2 ออกมาแล้ว เป็นเพลงช้าๆแต่เนื้อหายังคงปลุกใจในเรื่องความรักชาติเหมือนเดิม นอกจากนั้นเขายังนำเพลงเทียนแห่งธรรมไปรีมิกซ์ใหม่ในเวอร์ชั่นแดนซ์อีกด้วย ซึ่งเขาหวังว่าอย่างน้อยคนที่ได้ฟังเพลงของเขาจะมีกำลังใจในการช่วยกันปกป้องผืนแผ่นดินไทยและสถาบันอันเป็นที่รักของเราทุกคน
“อยู่ที่ลาสเวกัสผมก็ร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯที่นั่น มีกิจกรรมอะไรก็ไปช่วยกัน ส่วนมากก็ไปร้องเพลงให้ แล้วในช่วงปี 2549 ผมก็แต่งเพลงไว้อีกเพลงหนึ่ง ชื่อเพลงเทียนแห่งธรรม ภาค 2 คือตอนที่แต่งเนี่ยเป็นช่วงที่รู้สึกว่าเราชุมนุมกันมายาวนานมาก แต่คุณทักษิณและเครือข่ายก็ยังอยู่เหมือนเดิม ก็กลัวว่าจะท้อกัน ผมเลยแต่งเพลงนี้ให้เป็นกำลังใจ ตอนนี้ก็ทำเป็นเพลงออกมาแล้ว นอกจากนั้นผมยังรีมิกซ์เพลงเทียนแห่งธรรมภาคแรกใหม่ ทำเป็นเวอร์ชั่นแดนซ์ คือบางคนฟังเทียนแห่งธรรมเวอร์ชั่นแรกนานๆก็อาจจะเบื่อ แต่ส่วนตัวผมก็ยังชอบเวอร์ชั่นเดิมอยู่นะ”
จากนี้ไปไม่ว่าการเมืองไทยจะสดใสหรือมืดมน แต่เสียงเพลง ‘เทียนแห่งธรรม’ ก็จะยังคงดังกึกก้องในหัวใจของพี่น้องพันธมิตรฯผู้พร้อมพลีชีวิตเพื่อปกป้องประเทศชาติและสถาบันตลอดไป
ดาวน์โหลด เพลงเทียนแห่งธรรม ภาค 2 ได้ที่นี่! (ไฟล์ขนาด 6.1MB)
* * * * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ – ชไมพร จันทร์แก้ว