1. “ในหลวง” รับสั่ง ครม.ทำให้ประเทศสงบ-เรียบร้อย เพื่อคนไทยมีสุข ด้าน “อภิสิทธิ์”รีบรับใส่เกล้าฯ !
หลัง ครม.“อภิสิทธิ์ 1” จำนวน 36 คนได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ให้หลัง 2 วัน(22 ธ.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ นำ ครม.เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โอกาสนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทให้ ครม.ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ปฏิญาณตนว่า จะทำหน้าที่อย่างดี เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยทรงย้ำว่า หน้าที่ของ ครม.ก็คือต้องทำให้ประเทศชาติมีความสุขความเรียบร้อย ให้ประเทศชาติผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนคนไทยทุกคน ที่จะให้ประเทศชาติดำเนินไปโดยดี เพราะจะสามารถมีความเป็นไทยอยู่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งด้วยว่า ครม.มีหน้าที่สำคัญเพราะอยู่ในตำแหน่งที่สูง มีหน้าที่สูงก็ต้องทำให้ประเทศชาติดำเนินไปด้วยดี ถ้าคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงหรือคนทั่วๆ ไปทำไม่ดีอะไร ก็จะทำให้ประเทศชาติล่มจมได้ จึงขอให้ ครม.สามารถปฏิบัติงานเพื่อความดีของประเทศ ความสงบสุขของประเทศ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่สุด ... ถ้าท่านช่วยกันดูแลประเทศชาติให้มีความราบรื่น ท่านเองก็จะมีความสุขด้วย ฉะนั้นที่ท่านตั้งใจจะปฏิบัติงานให้ดีนั้น ก็เป็นความดีที่ท่านได้ทำเพื่อตัวเองและเพื่อส่วนรวมด้วย ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กล่าวหลังเข้าเฝ้าฯ โดยยืนยันจะน้อมนำพระราชดำรัสขึ้นไว้เหนือเกล้าฯ และนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะที่พระองค์รับสั่งถึงความสำคัญของการทำงานให้สำเร็จเพื่อให้บ้านเมืองเรียบร้อย เพื่อความสุขของส่วนรวม ส่วนกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หน้าตา ครม.ว่าขี้เหร่ โดยเฉพาะกระทรวงด้านเศรษฐกิจอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ที่ได้มือใหม่หัดขับอย่างนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง(จากพรรคเพื่อแผ่นดิน)และนางพรทิวา นาคาศัย จากพรรคภูมิใจไทยหรือมัชฌิมาธิปไตยเดิม มาเป็นรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ บอกว่า น้อมรับทุกคำวิจารณ์ แต่สิ่งที่ตัดสินใจไปนั้นเพื่อเสถียรภาพทางการเมืองที่จะเดินหน้าทำงานได้ทันที และจะทำงานบนความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อรัฐมนตรีถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีประสบการณ์ ก็ได้บอกรัฐมนตรีเหล่านั้นไปแล้วว่า ให้จัดทีมงานให้เกิดความเชื่อมั่น ส่วนที่มีความคลางแคลงใจเรื่องการเข้ามาหาผลประโยชน์นั้น นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า จะไม่ยอมให้มีสิ่งเหล่านั้นแน่นอน ด้านนายวีระชัย วีระเมธีกุล อดีตลูกเขยผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ซึ่งถูกนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพราะได้บริจาคเงิน 80 ล้านให้พรรคฯ หรือไม่ ก็ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว(21 ธ.ค.) โดยบอกว่า “ผมจะเอาเงินที่ไหนให้เขา ...ไม่มีเงินขนาดนั้น สาเหตุที่เข้ารับตำแหน่งเพราะได้รับการทาบทามให้มาช่วยดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่ดูแลด้านกฎหมายตามที่บางฝ่ายเข้าใจ” ขณะที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารและประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ออกมาปฏิเสธเช่นกัน(23 ธ.ค.)ว่า ไม่ได้บริจาคเงิน 80 ล้านให้พรรคประชาธิปัตย์เพื่อแลกกับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของนายวีระชัย โดยยืนยันว่า ซีพีเป็นมิตรกับทุกพรรค แต่ถ้าซีพีจะช่วยใคร สู้ไปตั้งพรรคการเมืองเองดีกว่า พร้อมย้ำว่า นายวีระชัยไม่ได้ทำเพื่อซีพี และไม่เคยทำงานกับซีพีแต่อย่างใด ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากได้เคลียร์เรื่องเงิน 80 ล้านกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และหัวหน้าพรรคฯ รวมทั้งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคฯ แล้ว ได้ออกมายืนยัน(22 ธ.ค.)ว่า เรื่องนี้จบแล้ว และว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ทุกคนต้องยอมกลืนเลือด คนที่ผิดหวังไม่ได้รับการเลือกเข้ามาทำงานก็ต้องยอมกลืนเลือดเพื่อชาติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของชาติและประชาชนเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนตัวพร้อมยอมเสียสละชีวิตเพื่อพรรค เพื่อประเทศ ด้านแกนนำพรรคเพื่อไทย(นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่)สบช่องเล่นงานพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการนำเรื่องเงิน 80 ล้านยื่นให้อัยการสูงสุด(23 ธ.ค.)เพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคเพื่อไทยอาจไม่สมหวัง เพราะทาง กกต.(นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง) ได้ออกมาเผยว่า จากการตรวจสอบยอดเงินบริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่เดือน ม.ค.-14 ธ.ค.2551 ไม่มีใครบริจาคเงินให้พรรคฯ 80 ล้านแต่อย่างใด และว่า ตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ก็ระบุไว้ชัดว่า บุคคลหรือนิติบุคคลไม่สามารถบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปีได้ ด้าน ครม.อภิสิทธิ์ 1 หลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ได้ประชุม ครม.นัดแรกเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.เพื่ออนุมัติร่างนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 29-30 ธ.ค.โดยนโยบายพื้นฐานของรัฐบาลนี้มี 4 ประการ 1.ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ 3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนและบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนจะประสบ 4.พัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเมืองให้มีความมั่นคง ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการในปีแรกมี 4 ด้าน 1.การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม 2.การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน เช่น ร่วมมือกับเอกชนในการชะลอการเลิกจ้าง ,จัดโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานประมาณ 5 แสนคนใน 1 ปี ,ขยายเพดานให้กู้ยืมเงินจากกองทุนผู้สูงอายุเป็น 3 หมื่นบาทต่อราย ,จัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ 3.การลดค่าครองชีพของประชาชน เช่น ให้ทุกคนได้ศึกษาฟรี 15 ปี ,กำกับดูแลราคาสินค้าและบริการให้มีราคาที่เป็นธรรม ฯลฯ 4.จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งรัด-ลดขั้นตอนในการปฏิบัติ และกำหนดมาตรการโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วน ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้ร่างนโยบายรัฐบาล บอกว่า เรื่องการแก้ รธน.จะไม่ระบุไว้ในนโยบาย แต่จะระบุว่าเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อการปฏิรูปการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ รธน.ในภายหลังก็ได้ และว่า รัฐบาลนี้จะสานต่อ 6 มาตรการ 6 เดือน(เช่น ค่าน้ำ-ไฟฟรี ,ขึ้นรถเมล์ฟรี ฯลฯ) เพื่อฟันฝ่าวิกฤตประเทศ เนื่องจากบางเรื่องเป็นนโยบายที่ช่วยลดภาระของประชาชน แต่บางเรื่องก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ ทั้งนี้ นอกจากการลดภาระประชาชนแล้ว รัฐบาลยังได้เตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ที่วิกฤตหนักกว่าเมื่อปี 2540 โดยจะใช้เงิน 3 แสนล้าน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เผยที่มาของเงิน 3 แสนล้านที่จะนำมาแก้วิกฤตเศรษฐกิจว่า นำมาจากงบฯ กลางปี 1 แสนล้าน ,เงินกู้จากธนาคารของรัฐที่จะใช้ในโครงการประกันราคาพืชผล 1 แสนล้าน และงบประมาณค้างจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)อีก 1 แสนล้าน นายอภิสิทธิ์ ยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลจะไม่ล้มนโยบายเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ แต่จะปรับแผนมาเน้นก่อสร้างโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กแทน เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นภายใน 2-3 เดือนได้ เพราะมีกฎระเบียบและขั้นตอนในการประมูลมาก เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการเมืองเปลี่ยนขั้วโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เอแบคโพลล์ ได้สำรวจความรู้สึกประชาชนใน 17 จังหวัดกว่า 3,500 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนมีความสุขมากขึ้น จาก 4.84 ในช่วงเดือน ต.ค.มาอยู่ที่ 6.55 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือว่าเป็นค่าความสุขสูงที่สุดนับแต่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือตั้งแต่ต้นปี 2551 นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 79.7 นอนหลับได้สนิทขึ้นหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว
2. “นปช.”ขู่ นรกของ รบ.-เสื้อแดงเรือนแสนหน้าสภา ด้าน “อภิสิทธิ์”ยืนยัน ไม่ใช้กำลังสลายการชุมนุม!
หลังรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 29-30 ธ.ค.นี้ ทางกลุ่มเสื้อแดงของ นปช.ที่มีนายวีระ มุสิกพงศ์ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นแกนนำ ได้ประกาศชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงในวันที่ 28 ธ.ค. ก่อนเคลื่อนไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภาวันที่ 29-30 ธ.ค.เพื่อจี้ให้รัฐบาลประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ โดยอ้างว่ารัฐบาลนี้มาโดยไม่ชอบธรรม ขณะที่บางฝ่ายเกรงว่าอาจเกิดเหตุรุนแรงซ้ำรอยการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ออกมายืนยันว่า เจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความรุนแรง เพราะมีบทเรียนจากอดีตมาแล้ว พร้อมเชื่อว่า สถานการณ์จะผ่านไปอย่างราบรื่น นายอภิสิทธิ์ ยังบอกด้วยว่า ถ้าคลี่คลายวิกฤตได้จะยุบสภา แต่ไม่ควรขีดเส้นล่วงหน้า ต้องดูสถานการณ์และความเหมาะสม ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. คุยโวว่า วันที่ 28 ธ.ค.จะมีคนเสื้อแดงมาร่วมเป็นแสน พร้อมขู่ด้วยว่า การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง 28-30 ธ.ค.จะเป็นนรกของรัฐบาลอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามยังต้องลุ้นว่าจำนวนผู้ชุมนุมจะมากอย่างที่นายจตุพรว่าไว้หรือไม่ เพราะดูเหมือนจะเกิดการเสียงแตกขึ้นในหมู่คนเสื้อแดง เมื่อนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำชมรมคนรักอุดรฯ ได้ออกมาประกาศ(24 ธ.ค.)ว่า สมาชิกของชมรมฯ จะไม่ลงมาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในช่วงดังกล่าว เพราะเป็นช่วงที่พี่น้องประชาชนกลับบ้านกราบพ่อแม่ จึงอยากให้พ้นช่วงปีใหม่ไปก่อน เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายขวัญชัยเผยท่าทีไม่นำมวลชนที่อุดรฯ มาร่วมชุมนุมกับแกนนำ นปช.ที่กรุงเทพฯ ทางนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณที่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรคพลังประชาชน ได้เดินทางจากเชียงใหม่ไปพบหารือกับนายขวัญชัยที่อุดรฯ แต่ปฏิเสธว่า ไม่ได้ไปหารือเรื่องดังกล่าว ด้าน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกมาเตือนการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 28-30 ธ.ค.ว่า การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธทำได้ตาม รธน. แต่ถ้าปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้แถลงนโยบายหรือขัดขวางไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติประชุมได้หรือไม่ให้ฝ่ายบริหารได้บริหารประเทศ ก็เป็นการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ซึ่งหนีไม่พ้นข้อหากบฏ โดยตำรวจจะทำหลักฐานขออนุมัติหมายจับข้อหากบฏอีก ไม่ใช่สะใจดุดัน แต่ว่ากันตามตัวบทกฎหมาย ทั้งนี้ นอกจากรัฐบาลจะต้องเผชิญกับม็อบเสื้อแดงในวันแถลงนโยบายแล้ว ยังต้องเตรียมชี้แจงกรณีที่ฝ่ายค้านและ ส.ว.จะอภิปรายนโยบายรัฐบาลด้วย โดยวิปรัฐบาลได้ประชุมและสรุปว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลจะใช้เวลา 2 วัน(29-30 ธ.ค.) แบ่งเป็นนายกฯ แถลงนโยบาย 2 ชม. อีก 24 ชม.แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส.ส.ฝ่ายค้าน ,ส.ว. ,ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ,รัฐบาลชี้แจง ฝ่ายละ 6 ชม.โดยให้แต่ละพรรคไปบริหารจัดการเวลากันเอง อย่างไรก็ตาม ภายหลัง วิปรัฐบาลได้ตัดสินใจลดเวลาการอภิปรายของฝ่ายรัฐบาลเหลือ 5 ชม.เพื่อให้เวลาฝ่ายค้านได้อภิปรายมากขึ้น แต่ดูเหมือนจะยังไม่สะใจฝ่ายค้าน โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย บอกว่า พรรคฯ ได้เจรจาต่อรองให้มีการขยายเวลาการอภิปรายนโยบายรัฐบาลของฝ่ายค้านออกไปอีก จากเดิม 6 ชม.เป็น 18 ชม. นายจตุพร เผยด้วยว่า ตนจะอภิปรายเรื่องคุณสมบัติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร รวมทั้งนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ และให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า การปิดสนามบินเป็นเรื่องสนุก-อาหารอร่อย-ดนตรีไพเราะ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม ที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมากราบขอโทษประชาชน(24 ธ.ค.) หากคำพูดของตนที่สื่อต่างประเทศนำไปรายงานทำให้เกิดการตีความหรือเข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่า เจตนาที่จะมุ่งร้ายหรือทำความเสื่อมเสียให้ประเทศไทยเป็นไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะประวัติการทำงานและสิ่งที่ตนพูดในที่แจ้งตลอดมา ทุกคนได้ฟังกันทั่วประเทศ นายกษิต ยังชี้แจงด้วยว่า ชีวิตตนต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงก่อนมาเป็นรัฐมนตรีคือก่อนวันที่ 22 ธ.ค. ซึ่งตนพูดอะไรไว้ในช่วงนั้น ก็จะไม่ลบล้างสิ่งที่ได้พูดไป แต่ชีวิตช่วงหลัง 22 ธ.ค.ซึ่งตนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ครม.นายอภิสิทธิ์แล้ว การดำเนินงานและการปฏิบัติตัวต้องอยู่ในกรอบ 9 ข้อที่นายอภิสิทธิ์ได้วางนโยบายให้ ครม.ไว้(เช่น น้อมนำพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ ครม. ,ให้รัฐมนตรีทุกคนปฏิบัติตนโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ไม่อยากให้มีเงื่อนไขที่นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นและไม่ศรัทธา ฯลฯ) ซึ่งตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งนี้ นอกจากการอภิปรายนโยบายรัฐบาลของฝ่ายค้านจะมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านชั่วคราว เป็นหัวหน้าทีมในการอภิปรายแล้ว ยังจะมี ส.ส.พรรคประชาราช ,พรรคเพื่อแผ่นดินและพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาบางส่วนร่วมอภิปรายด้วย ส่วนการเตรียมเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิจากกรณียุบพรรคพลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตยจำนวน 29 คน 26 เขต 22 จังหวัดในวันที่ 11 ม.ค.2552 นั้น ปรากฏว่า หลังจาก กกต.เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 22-26 ธ.ค. มีพรรคต่างๆ ส่งผู้สมัครลงชิงชัยทั้งสิ้น 83 คน โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครมากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทยส่ง 19 คน รองลงมาคือพรรคชาติไทยพัฒนา 13 คน ตามด้วยพรรคประชาราช 11 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 10 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน ฯลฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ลงชิงชัยในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ มีบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ต้องหาหมิ่นสถาบันและผู้ที่อาจเข้าข่ายหมิ่นสถาบันลงสมัครด้วย คือ นายจารุวงศ์ เรืองสุวรรณ (ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 10) ซึ่งเป็นอดีตเลขานุการของนายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน และนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล (ผู้สมัคร ส.ส.ลำพูน) ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มคนรักเชียงใหม่ 51 ที่พูดกระทบกระแทกสถาบันว่า “คนเชียงใหม่นับถือกษัตริย์แค่ 3 องค์เท่านั้น คือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์(พญาเม็งราย พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง) ไปกรุงเทพฯ ก็ไปสักการะเฉพาะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเท่านั้น ส่วนอย่างอื่นอยู่ในอุ้ง...คนเชียงใหม่หมด”
3. “ศาลฎีกาฯ”ปัดคำขอ “ทักษิณ”ยื้อคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล. ด้านสื่อเทศ เผย “แม้ว”เจ๊งหุ้น-เหลือเงินแค่ 500 ล้านดอลล์!
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพร้อมคู่ความคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฐานร่ำรวยผิดปกติ พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวจำนวนกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลานัด ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณและบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ถือครองทรัพย์สิน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ เพื่อขอขยายเวลายื่นคำคัดค้านออกไปอีก 30 วัน หลังจากที่ศาลฯ เคยอนุญาตให้ขยายเวลายื่นคำคัดค้านมาแล้วรอบหนึ่ง จากวันที่ 4 ธ.ค.เป็นวันที่ 4 ม.ค. ซึ่งศาลฯ เห็นว่า ที่ผ่านมาได้ขยายเวลาให้พอสมควรแล้ว ประกอบกับในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาและบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นำพยานหลักฐานยื่นคัดค้านเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินแล้ว คำร้องขอขยายเวลายื่นคำคัดค้านออกไปอีกยังไม่มีเหตุเพียงพอ จึงให้ยกคำร้อง และให้นัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 26 ,27 และ 30 มี.ค.2552(เวลา 10.00น.) โดยให้คู่ความยื่นบัญชีพยานต่อศาลก่อนวันนัดตรวจสอบพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน ด้านนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ซึ่งรับผิดชอบสำนวนคดีนี้ เผยว่า ในส่วนของอัยการมีพยานบุคคลที่จะเสนอให้ศาลฯ ไต่สวนประมาณ 100 คน และยังไม่ทราบว่า ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินได้มีการยื่นคำคัดค้านบัญชีใดบ้างและมีจำนวนเท่าใด เนื่องจากยังไม่ได้รับสำเนาจากศาลฯ ด้านหนังสือพิมพ์สเตรท ไทมส์ ของสิงคโปร์ รายงานเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เหลือทรัพย์สินเพียง 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.75 หมื่นล้านบาท เหตุที่เหลือเงินเท่านี้ เนื่องจากเขาขาดทุนจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศและการเก็งกำไรประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหุ้นกำลังอยู่ในภาวะผันผวนจากภาวะหุ้นตกทั่วโลกและราคาน้ำมันร่วง ทั้งนี้ นักการเงินรายหนึ่ง เผยว่า ก่อนหน้านี้ ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์ ก็ถูกรัฐบาลอังกฤษสั่งอายัด หลังประกาศเพิกถอนวีซ่าของเขาและคุณหญิงพจมานเมื่อเดือน พ.ย. ส่งผลให้เขาต้องขายกิจการสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้แก่นักลงทุนอาหรับ รายงานแจ้งว่า เงิน 4.2 พันล้านดอลลาร์ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกอังกฤษอายัดนั้น ประกอบด้วย เงิน 1.4 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ,เงินลงทุนในตลาดหุ้นล่วงหน้า 40 ล้านดอลลาร์ ,เงิน 300 ล้านดอลลาร์ในธนาคารสวิส ซึ่งปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณขณะนี้ก็คือ จะต้องพิสูจน์แหล่งที่มาของเงินดังกล่าว เพื่อให้เงินหลุดจากการถูกอายัด ซึ่งแม้ว่าเขาจะมีหุ้นในบริษัทต่างๆ ในต่างแดนเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่อาจช่วยได้ เนื่องจากเขาถูกตัดสินว่าคอร์รัปชั่น รายงานชี้ด้วยว่า การลงทุนมากมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้รัฐบาลอังกฤษเปิดการสอบสวนแหล่งที่มาของเงิน และนำไปสู่การเพิกถอนวีซ่าของเขาและคุณหญิงพจมาน ขณะที่นักการเงินระบุว่า สาเหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องขาดทุนจากการลงทุน เพราะเขาได้กำไรแล้วไม่เลิก ดังนั้น เงิน 500 ล้านดอลลาร์ที่เหลืออยู่ในขณะนี้ จึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเขา ขณะที่คุณหญิงพจมาน ได้เดินทางกลับเมืองไทย ก็เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินก้อนสุดท้าย(7.6 หมื่นล้านบาท)ของพวกเขาที่เหลืออยู่
4. ผลโพลล์ผู้ว่าฯ กทม. 2 สำนัก ตรงกัน “สุขุมพันธุ์”ยังนำ “ปลื้ม” ด้าน “ยุรนันท์”คะแนนนิยมกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ !
บรรยากาศการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงก่อนโค้งสุดท้ายยังเป็นไปด้วยความคึกคัก ขณะที่โพลล์หลายสำนักยังคงสำรวจความคิดเห็นคนกรุงต่อความนิยมในตัวผู้สมัครฯ ซึ่งพบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ยังมีคะแนนนำผู้สมัครรายอื่น โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่ 2 “ใครนำใครตาม ใครช่วงชิงฐานเสียงของใคร” ระหว่างวันที่ 19-24 ธ.ค.จำนวนกว่า 2 พันตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.6 ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รองลงมาร้อยละ 29.6 เลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ ปลื้ม ,ร้อยละ 25.8 เลือกนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนของเอแบคโพลล์ พบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่ตั้งใจจะเลือกเท่าเดิม ขณะที่ฐานเสียงสนับสนุน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ลดลง ส่วนฐานเสียงที่สนับสนุนนายยุรนันท์เพิ่มขึ้น ด้านสวนดุสิตโพลล์ ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกระหว่างวันที่ 11-16 ธ.ค. ช่วงที่สอง 18-21 ธ.ค. และช่วงที่สาม 23-25 ธ.ค. พบว่า ทั้งสามช่วง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ล้วนนำมาอันดับหนึ่ง ขณะที่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ตามมาอันดับสอง ส่วนนายยุรนันท์ตามมาอันดับสาม อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า หากดูพัฒนาการผลคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนในแต่ละช่วง จะพบว่า คะแนนนิยม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ลดลง ขณะที่คะแนนนิยมของนายยุรนันท์เพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจช่วงแรก มีผู้ตั้งใจเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ร้อยละ 42.57 ช่วงที่สอง ลดลงมาอยู่ที่ 40.95 ช่วงที่สาม ลดลงมาเหลือ 40.60 ส่วน ม.ล.ณัฏฐกรณ์นั้น ช่วงแรกมีผู้ต้องการเลือกร้อยละ 37.47 ช่วงที่สอง ลดลงเหลือ 30.63 ส่วนช่วงที่สาม ลดลงมาอีกเหลือ 29.73 ขณะที่นายยุรนันท์ ช่วงแรกมีผู้ตั้งใจเลือกร้อยละ 13.44 ช่วงที่สอง เพิ่มขึ้นมาเป็น 19.03 ส่วนช่วงที่สาม เพิ่มขึ้นมาอีกเป็นร้อยละ 20