1. “สมชาย”งัด พรก.ฉุกเฉิน จัดการ “พธม.”ปิดสนามบิน พร้อมเด้งฟ้าผ่า “ผบ.ตร.”-สะพัด เซ็นเด้ง “อนุพงษ์”ล่วงหน้าแล้ว!
หลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสุดทนกับการถูกมือมืดฝ่ายอำนาจรัฐใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมทั้งในและนอกทำเนียบฯ แทบทุกคืน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปแล้วจำนวนมาก จึงได้ประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23 พ.ย.เพื่อเคลื่อนไปปิดล้อมรัฐสภาในวันที่ 24 พ.ย.เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. ฉบับ คปพร.ของ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ซึ่งถูกบรรจุเป็นวาระด่วนอันดับที่ 1 นอกจากนี้พันธมิตรฯ ยังต้องการหยุดยั้งสภา เพื่อไม่ให้เป็น “สภาทาส” ให้กับรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมด้วย เนื่องจากรัฐบาลสมชายไม่แสดงความรับผิดชอบ หลังคณะกรรมการสอบสวนเหตุเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการของคณะกรรมาธิการ 3 ชุดของวุฒิสภา มีมติว่า รัฐบาลนายสมชายสั่งให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แถมรัฐบาลยังคงใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมให้ผจญกับความหวาดกลัวจากอาวุธสงครามอย่างต่อเนื่อง โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของสุดท้ายแล้ว จะไม่ยืดเยื้อ ม้วนเดียวจบ และหากรัฐบาลกระทำรุนแรงขนาดนี้แล้ว ประชาชนยังไม่ออกมาร่วมต่อสู้ พันธมิตรฯ ก็จะขนของกลับบ้าน ปล่อยให้บ้านเมืองนี้เป็นของทรราชไป ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด ได้มีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ จำนวนมาก ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาแม้จะไม่ยอมสั่งย้ายสถานที่ประชุมตามที่หลายฝ่ายแนะนำ แต่สุดท้ายเมื่อเห็นว่าไม่สามารถเข้าไปประชุมได้ นายชัยจึงแถลงข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือว่างดประชุมรัฐสภาจนกว่าเหตุการณ์จะปกติ ทั้งนี้ แม้พันธมิตรฯ จะประสบผลสำเร็จไม่ให้รัฐสภาประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ฉบับ คปพร.ของ นปช.ได้ แต่ทาง ส.ส.พรรคพลังประชาชนก็ยังไม่ละความพยายามที่จะแก้ รธน. โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พปช.บอก(25 พ.ย.)ว่า จะเสนอให้รัฐสภาไปจัดประชุมสัญจรเพื่อแก้ไข รธน.ที่ จ.อุดรธานี หรือ จ.เชียงรายแทน เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนประชุม มีข่าวว่า ครม.จะไปประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวสนามบินดอนเมือง พันธมิตรฯ จึงยกเลิกการปิดล้อมรัฐสภา และดาวกระจายไปที่ดอนเมือง ขณะที่ ครม.เมื่อทราบว่าพันธมิตรฯ จะเคลื่อนมา จึงรีบยกเลิกการประชุมทันที ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ แถลงว่า จุดยืนของพันธมิตรฯ คือ ทันทีที่เปิดประชุมสภาหรือประชุม ครม.ไม่ว่าที่ไหน กลุ่มพันธมิตรฯ จะเข้าปิดล้อมทุกที่ เพราะถือว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังยกเลิกประชุม ครม.ที่ทำเนียบฯ ชั่วคราวดอนเมือง มีข่าวว่า ครม.จะไปประชุมที่กองบัญชาการกองทัพไทย พันธมิตรฯ จึงดาวกระจายไปที่นั่น แต่เมื่อกองทัพไทยยืนยันว่าไม่มีการประชุม ครม. พันธมิตรฯ จึงสลายตัว และเปลี่ยนจุดหมายดาวกระจายไปยังสนามบินสุวรรณภูมิแทน เพื่อแสดงออกว่าไม่ต้อนรับนายสมชาย ที่จะเดินทางกลับจากเปรูมาไทยในวันที่ 26 พ.ย. ทั้งนี้ หลังพันธมิตรฯ เคลื่อนพลไปปักหลักที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่ส่วนหนึ่งยังปักหลักอยู่ที่ทำเนียบฯ ถ.พิษณุโลก และทำเนียบฯ ชั่วคราวดอนเมือง ทางนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ทอท.ได้สั่งปิดการใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่เวลา 21.00น.วันที่ 25 พ.ย. จากนั้นไม่นานได้สั่งปิดสนามบินดอนเมืองตามมา โดยนายเสรีรัตน์ อ้างว่า เหตุที่ต้องปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพราไม่มั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าฯ สมุทรปราการและหน่วยงานความมั่นคงให้ส่งกำลังมาช่วยเหลือ แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับ ขณะที่พันธมิตรฯ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ลาออกทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมกราบขออภัยพี่น้องประชาชนทุกท่านที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน แต่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่พันธมิตรฯ ต้องหยุดอำนาจของรัฐบาลทรราชฆาตรกรหุ่นเชิดให้ได้ ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ที่ประเทศเปรู(25 พ.ย.)โดยโจมตีพันธมิตรฯ ที่เรียกร้องให้ตนลาออกว่า ตนจะออกหรือไม่ออก ต้องแล้วแต่ประชาชน เพราะมาจากการเลือกตั้ง และว่า คนที่บังคับให้ตนออกได้ต้องเป็นประชาชนทั้งประเทศ นายสมชาย ยังขู่พันธมิตรฯ ด้วยโดยอ้างว่า รธน.กำหนดชัดว่า ใครล้มล้างรัฐบาลถือเป็นกบฏ ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จะบังคับให้ตนออกไม่ได้ ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรักษาการนายกฯ ได้ทำบันทึกด่วนจี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เพื่อให้คลี่คลายสถานการณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยด่วน ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม(คตร.)และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(รอง ผอ.รมน.) ได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งหัวหน้าส่วนภาคเอกชน (เช่น นายกสมาคมทุกสาขาอาชีพ ,ประธานสภาหอการค้าไทย ,ประธานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,ประธานกรรมการสภาธนาคารไทย)และอธิการบดีมหาวิทยาลัย เพื่อประชุมหาทางออกวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น(26 พ.ย.) โดยหลังประชุม พล.อ.อนุพงษ์ แถลงว่า ที่ประชุมเสนอทางออกแก่นายกฯ สมชาย ให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน และให้พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยจะมีการทำหนังสือส่งให้นายกฯ โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ข้อเสนอของที่ประชุม คตร.ส่งผลให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน(เช่น นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทย)ไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยชี้ว่า เป็นข้อเสนอที่บ้องตื้น อ่อนหัด พร้อมขู่จะล่าชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นถอดถอน พล.อ.อนุพงษ์ ต่อ ป.ป.ช. ขณะที่นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรค พปช. ก็ออกมาเป่านกหวีดให้ประชาชนออกมาชุมนุมเพื่อให้นายกฯ คงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ซึ่งเดินทางกลับจากประเทศเปรูในวันเดียวกัน(26 พ.ย.) โดยเครื่องบินไปลงที่สนามบิน จ.เชียงใหม่ ได้เปิดแถลงในช่วงดึกคืนเดียวกัน โดยยืนยันเหมือนเดิมว่า รัฐบาลมาตามความชอบธรรมจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่การยึดทำเนียบฯ และสนามบินของพันธมิตรฯ เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยและละเมิดกฎหมาย ดังนั้น ตนจะประชุม ครม.ด่วนในวันที่ 27 พ.ย. เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม ขณะที่อดีตแกนนำ นปก.อย่างนายวีระ มุสิกพงศ์ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายจักรภพ เพ็ญแข นอกจากเปิดแถลง(26 พ.ย.)กล่าวหาว่าการกระทำของพันธมิตรฯ ที่ปักหลักชุมนุมที่สนามบิน เข้าข่ายก่อการร้ายสากลแล้ว นายวีระ ยังจี้ให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย พร้อมขู่ว่า หากไม่ประกาศหรือประกาศแล้วไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง จะนัดชุมนุมเสื้อแดงพร้อมกันอีกครั้ง ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีคมนาคม เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง จากนั้นสั่งให้นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ทอท.ไปยื่นขอความคุ้มครองต่อศาลแพ่ง เพื่อให้มีคำสั่งให้พันธมิตรฯ ถอนตัวออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้านนายเสรีรัตน์ได้ร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้พันธมิตรฯ ถอนตัวทั้งจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งภายหลังศาลแพ่งได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้พันธมิตรฯ ถอนตัวออกจากสนามบินทั้งสอง อย่างไรก็ตามทางพันธมิตรฯ ได้ขอใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลแพ่ง วันต่อมา(27 พ.ย.)ระหว่างที่นายสมชายประชุม ครม.ที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ มีข่าวว่านายสมชายอาจสั่งปลด พล.อ.อนุพงษ์ ขณะเดียวกันก็มีข่าวสะพัดว่าอาจมีการปฏิวัติ นายสมชายกลัวว่าจะมีการปฏิวัติ จึงได้ให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกรัฐบาลออกจากที่ประชุม ครม.มาแถลงยืนยันว่า จะไม่มีการปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพและไม่มีการปฏิวัติตามที่มีข่าว ส่วนที่รัฐสภา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลกว่า 50 คน(เช่น นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปรัฐบาล ฯลฯ) ได้เปิดแถลงจี้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจัดการพันธมิตรฯ อย่างเร่งด่วน พร้อมขอให้ ส.ส.ทุกคนระดมประชาชนคนละ 2 หมื่นคนมาต่อต้านการปฏิวัติ จากนั้นช่วงค่ำวันเดียวกัน(27 พ.ย.)นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกรัฐบาล ได้แถลงผลประชุม ครม.ว่า นายกฯ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ดอนเมืองและลาดกระบัง กทม.และ อ.บางพลี บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เพราะมีเหตุเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ทั้งนี้ นายกฯ ได้ตั้ง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับบริเวณสนามบินดอนเมืองให้ ผบช.น.(พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว)เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ โดยให้ข้าราชการตำรวจและทหารกองทัพอากาศเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ส่วนบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ให้ ผบช.ภ.ภาค 1(พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ) เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ โดยให้ข้าราชการตำรวจและทหารกองทัพเรือ เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เป็นที่น่าสังเกตว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ เหมือนเป็นการลอยแพ ไม่ใช้บริการจากกองทัพบก ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่นายกฯ ไม่พอใจข้อเสนอของ พล.อ.อนุพงษ์และ คตร.ที่ให้ ยุบสภา ทั้งนี้ หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ รวมทั้งอาจมีการใช้ความรุนแรงในการสลายผู้ชุมนุม จะยิ่งก่อให้เกิดความสูญเสียตามมา ซึ่ง พ.ร.ก.ฉบับนี้คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการ ให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา หรือทางวินัยด้วย ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ก็ยอมรับตอนหนึ่งระหว่างแถลงเรื่องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ว่า เพราะต้องการให้เจ้าหน้าที่ได้รับความสะดวกในการทำงาน ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความฝ่ายสิทธิมนุษยชน จากสภาทนายความ ได้ใช้สิทธิในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยื่นฟ้องนายกฯ และ ครม.ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ไม่เข้าองค์ประกอบตามที่กำหนด และขัดต่อเจตนารมณ์ของ รธน.และกฎหมายหลายฉบับ โดยพันธมิตรฯ ได้ชุมนุมด้วยความสงบ ไม่มีความรุนแรง หรือทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด จึงขอให้ศาลไต่สวนและสั่งระงับประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณา เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากนายสมชายจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตามที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนและวิปรัฐบาลจี้ให้ประกาศเพื่อจัดการพันธมิตรฯ แล้ว ทางด้านตำรวจ(พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) ยังออกมารับลูกอดีตแกนนำ นปก.(นายวีระ มุสิกพงศ์)ที่กล่าวหาว่าการกระทำของพันธมิตรฯ เป็นการก่อการร้าย โดย พล.ต.ต.อำนวย ขู่(27 พ.ย.)ว่า การกระทำของพันธมิตรฯ กำลังจะเข้าข่ายการก่อการร้าย ขณะที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีมหาดไทย ก็ขู่งัดกฎหมาย ป.ป.ง.เพื่อตรวจสอบพันธมิตรฯ และผู้สนับสนุน ด้านแนวร่วม นปช.(นายสุดชาย บุญไชย แกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ)ต้องการให้มีการรวบตัวแกนนำพันธมิตรฯ จึงได้ยื่นหนังสือจี้ ผบ.ตร.ให้ตำรวจขอศาลเพื่อถอนประกัน 9 แกนนำพันธมิตรฯ แต่ปรากฏว่า เมื่อตำรวจยื่นเรื่องไป ทางอัยการได้ตีกลับ เนื่องจากหนังสือไม่ได้ระบุสาเหตุที่จะให้อัยการถอนประกันแกนนำพันธมิตรฯ วันต่อมา(28 พ.ย.)อดีตแกนนำ นปก.ผู้ดำเนินรายการ “ความจริงวันนี้”(นายวีระ มุสิกพงศ์-นายจตุพร พรหมพันธุ์-นายก่อแก้ว พิกุลทอง) ได้เปิดแถลงขอบคุณที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม นายวีระ ขู่ว่า หากภายในค่ำวันนี้(28 พ.ย.)ผบช.น.และ ผบช.ภ.ภาค 1 ไม่ดำเนินการใดใดกับกลุ่มพันธมิตรฯ จะนัดแนวร่วมเสื้อแดงทั้งหมดแสดงพลังเพื่อหนุนรัฐบาลและต้านรัฐประหาร ซึ่งล่าสุดนายวีระได้นัดรวมพลคนเสื้อแดงแล้วเย็นวันนี้(30 พ.ย.)ที่ลานคนเมือง ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ได้มีคำสั่งเด้งฟ้าผ่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.โดยไม่เผยเหตุผลแต่อย่างใด แต่เป็นที่คาดกันว่า เป็นเพราะนายกฯ ไม่พอใจที่ พล.ต.อ.พัชรวาทไม่จัดการพันธมิตรฯ ดังที่รัฐบาลต้องการ สำหรับผู้ที่นายกฯ แต่งตั้งให้รักษาการ ผบ.ตร.แทน คือ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจ ซึ่งมีข่าวว่า เป็นผู้ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับนักการเมืองย่านฝั่งธนฯ ในรัฐบาล ทั้งนี้ มีรายงานว่า หลังนายสมชายสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาทแล้ว นายสมชายได้ลงนามคำสั่งย้าย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ไปช่วยราชการที่สำนักนายกฯ พร้อมกับ พล.ต.อ.พัชรวาทด้วย โดยแต่งตั้งให้ พล.อ.จิรเดช คชรัตน์ รอง ผบ.ทบ.รักษาการแทน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ยังไม่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะออกมาเร็วๆ นี้ ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า ถ้ามีการปลด ผบ.ทบ.บ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่ เพราะสิ่งที่ พล.อ.อนุพงษ์ทำในช่วงที่ผ่านมาถือว่าถูกต้องแล้ว
2. มือมืดบึ้ม “พธม.”ไม่เลิก ล่าสุด เจ็บกว่า 50 ราย ด้าน“หอการค้าทั่ว ปท.”จี้ รบ.ยุบสภา-ลาออกเปลี่ยนขั้ว!
แม้ว่าเหตุรุนแรง โดยเฉพาะการยิงระเบิดใส่กลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบฯ จะเกิดขึ้นรายวันตั้งแต่ก่อนนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 24 พ.ย. แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้(30 พ.ย.) มือมืดฝ่ายรัฐบาลก็ยังคงยิงระเบิดใส่พันธมิตรฯ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งบริเวณที่ชุมนุม 3 จุด(ทำเนียบรัฐบาล-ทำเนียบฯ ชั่วคราวดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ) ไม่เว้นแม้แต่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีที่ถ่ายทอดสัญญาณการชุมนุมของพันธมิตรฯ ขณะที่แนวร่วมพันธมิตรฯ ในต่างจังหวัดก็ถูกรุมทำร้ายถึงขั้นเสียชีวิตด้วย โดยผู้เสียชีวิตก็คือ นายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา บิดาของนายเทอดศักดิ์ แกนนำกลุ่มทหารเสือพระราชา เจ้าของสถานีวิทยุ “วิหคเรดิโอ” ที่ จ.เชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 26 พ.ย. กลุ่มเสื้อแดงที่ชื่อ กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ประมาณ 200 คนได้บุกไปปิดล้อมหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุและที่พักของนายเทอดศักดิ์ จากนั้นได้รุมทำร้ายกลุ่มทหารเสือพระราชาประมาณ 20 นายที่พยายามป้องกันที่ตั้งของตน เป็นเหตุให้กลุ่มทหารเสือพระราชาบาดเจ็บ 3 ราย จากนั้นไม่นาน นายเศรษฐา บิดานายเทอดศักดิ์ ได้ขับรถมายังหมู่บ้าน ทางกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้เข้าปิดล้อม นายเศรษฐาพยายามขับรถฝ่าออกไป แต่ไม่พ้น ถูกกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ใช้ไม้และเหล็กรุมทุบรถและลากตัวนายเศรษฐาลงมาซ้อม จากนั้นใช้มีดแทงลำคอ ก่อนยิงเสียชีวิต ด้าน พล.ต.ต.สุเทพ เดชรักษา ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ยอมรับว่า สาเหตุที่ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเสริมกำลังที่หมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ เพราะได้สั่งตำรวจให้ไปดูแลบริเวณสนามบินเชียงใหม่ เพื่อดูแลนายกฯ ที่จะมาลงเครื่องบินที่นั่น เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงคนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 จะรุมทำร้ายบิดาแกนนำกลุ่มทหารเสือพระราชาเสียชีวิตอย่างเหี้ยมโหด แต่คนกลุ่มนี้ยังได้รุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนที่สนามบินเชียงใหม่จนศีรษะแตกและแขนหักด้วย ส่วนเหตุการณ์ที่คนร้ายปาระเบิดและยิงระเบิดใส่พันธมิตรฯ ได้แก่ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.(06.00น.)ได้มีการยิงระเบิดเข้าใส่ที่สนามบินดอนเมือง ส่งผลให้การ์ดพันธมิตรฯ บาดเจ็บ 3 ราย คาดว่าเป็นระเบิดเอ็ม 79 หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมง คนร้ายก็ปาระเบิดขวดใส่การ์ดพันธมิตรฯ ที่สนามบินดอนเมืองอีก ทำให้มีผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย ส่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ถูกคนร้ายยิงระเบิดเข้าใส่เช่นกัน คาดว่าเป็นระเบิดเอ็ม 79 ส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรฯ ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ,วันที่ 27 พ.ย.(02.00น.ล่วงเข้า 28 พ.ย.) คนร้ายยิงระเบิดอาก้า 47 ใส่สำนักงานเอเอสทีวี นอกจากส่งผลให้กระจกสำนักงานแตกหลายบานแล้ว ยังทำให้ผู้ประกาศข่าวที่กำลังอ่านข่าวต้องหลบกระสุนจ้าละหวั่นและบาดเจ็บที่มือจากการถูกกระจกบาด ,วันที่ 29 พ.ย.(23.50น.) คนร้ายยิงระเบิดคาดว่าเป็นระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่ผู้ชุมนุมในทำเนียบฯ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 54 ราย สาหัส 4 ราย เช่น น.ส.กาญจนา หมื่นหนู อายุ 27 ปี มีอาการปอดฉีก หลังจากนั้นประมาณ 4 ชั่วโมง(04.00น.) คนร้ายได้ปาระเบิดที่สนามบินดอนเมืองอีก ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย ทั้งนี้ หลังพันธมิตรฯ ปักหลักชุมนุม 3 จุด(ทำเนียบฯ –สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ) เพื่อเรียกร้องให้นายสมชายลาออก แต่นายสมชายพยายามอ้างความชอบธรรมในการอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ได้มีแค่ พล.อ.อนุพงษ์ และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และภาคเอกชน ตลอดจนนักวิชาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้นที่เสนอให้นายกฯ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน แต่ยังมีอีกหลายภาคส่วนในสังคมที่เห็นคล้ายๆ กัน เช่น ที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยเป็นประธานได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ว่า ขณะนี้รัฐบาลหมดความชอบธรรมทางด้านการบริหารแล้ว การแก้ปัญหาประเทศเพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยสากล ก็คือ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือไม่ พรรคร่วมรัฐบาลก็ควรแสดงความกล้าหาญด้วยการถอนตัวเปิดทางให้ผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย หรือไม่ ก็ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ขณะที่ อ.ธีรยุทธ บุญมี แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า รากเหง้าของปัญหาที่นำมาสู่สถานการณ์ในขณะนี้เกิดจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมี “อุบาทว์พญายมหน้าเหลี่ยม” เข้าแทรก จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก คาดว่าจะเกิดวิปริตอาเพศอีกนาน พร้อมกันนี้ อ.ธีรยุทธ ยังได้ตั้งฉายาให้รัฐบาลนายสมชายว่า “รัฐบาลชายกระโปรง” เพราะคิดแต่จะอยู่ในอำนาจเพื่อจ้องหาผลประโยชน์ โดยใช้ลีลายึกยักเรื่องแก้ รธน.จนวิกฤตบานปลาย และว่า รัฐบาลชายกระโปรงจะทำบาปมหันต์ถ้าเลือกใช้วิธีระดมมวลชนมาปะทะกัน ซึ่งจะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ด้านคณาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์(ฉะเชิงเทรา) ออกแถลงการณ์(28 พ.ย.)เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาหรือลาออกคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ จากนั้นให้พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อรักษาคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองให้อยู่คู่กับประเทศต่อไป ขณะที่ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ก็แนะนำให้รัฐบาลยุบสภาเช่นกัน โดยเห็นว่า การบริหารของรัฐบาลขณะนี้มีความยากลำบาก และได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่าย ดังนั้นทางออกที่ดีสุดของรัฐบาล น่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชน พล.อ.อ.อิทธพร ยังบอกด้วยว่า หากการแสดงความคิดเห็นของตน จะทำให้ตนถูกปลดออกจากตำแหน่งก็ยินดี เนื่องจากผลของการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความถูกต้องไม่จำเป็นต้องกลัว ด้านนายสมชาย ยังไม่ยอมฟังเสียงใคร เดินสายทำบุญและตีกอล์ฟอย่างสบายใจ ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ และพี่ภรรยานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ “อาราเบียน บิซิเนส”ระหว่างพำนักอยู่ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยการโจมตีประเทศอังกฤษที่ถอนวีซ่าตนและคุณหญิงพจมานว่า อังกฤษไม่เคารพค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังพูดพาดพิงในลักษณะต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย โดยบอกว่า ตนจะกลับประเทศไทยก็ต่อเมื่อประชาชนต้องการ และเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “หากพวกเขารู้สึกว่า พวกเขาอยู่อย่างยากลำบากและต้องการให้ผมช่วย ผมก็จะกลับไป หากในหลวงทรงเห็นว่าผมยังสามารถทำคุณประโยชน์ได้ ผมจะกลับไป และพระองค์อาจพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผม แต่ถ้าพวกเขาไม่ต้องการผม และพระองค์ทรงเห็นว่าผมกลับไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมก็จะอยู่ที่นี่(ดูไบ)ทำธุรกิจไป” ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ อินเตอร์ เฮรัลด์ ทริบูน และนิวยอร์กไทม์เมื่อวันที่ 28 พ.ย. โดยเตือนให้กลุ่มพันธมิตรฯ ย้ายออกจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ หรือไม่ก็เตรียมพบกับผลที่จะตามมา พร้อมขู่ด้วยว่า หากทหารจะทำรัฐประหาร จะเกิดการนองเลือดมากกว่าครั้งที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณเรียกร้องให้พันธมิตรฯ เคารพกฎหมาย แต่ตนเองกลับไม่เคารพกฎหมายด้วยการหนีคดีหนีโทษจำคุก 2 ปี
3. “ศาล รธน.”เตรียมแถลงปิดคดียุบพรรค 2 ธ.ค.นี้ ด้าน“พปช.”เตรียมขน “เสื้อแดง”กดดัน-ขู่ ยุบอีก เจอดีแน่!
เมื่อวันที่ 26 พ.ย.คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดพร้อมคู่ความคดีที่อัยการสูงสุดขอให้ศาลฯ มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน-พรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตย เพื่อกำหนดประเด็นพิจารณาคดีและเสนอบัญชีพยาน โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรคเข้ารับฟังอย่างพร้อมเพรียง โดยพรรคพลังประชาชนเสนอบัญชีพยาน 60 ปาก ,พรรคชาติไทย เสนอ 42 ปาก พร้อมพยานเทปซีดีคำปราศรัยหาเสียงและพยานเอกสาร 33 รายการ ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตย เสนอ 20 ปาก และขอเพิ่มเติมอีก 29 ปาก ด้านศาลฯ ได้ซักถามตัวแทนอัยการสูงสุดว่า กรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดหรือไม่ และมีพยานหลักฐานใดชี้ว่ามีส่วนรู้เห็นหรือไม่ ซึ่งตัวแทนอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า หลักฐานที่ได้มาจาก กกต.ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละให้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา รวมทั้งยังมีบันทึกของ กกต.ที่ไม่ได้ระบุว่ากรรมการบริหารพรรคคนอื่นมีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดด้วย ด้านคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดตรวจพยาน 3 พรรคในวันที่ 28 พ.ย. หากทั้ง 3 พรรคไม่มา ศาลจะถือว่าไม่ติดใจ ซึ่งเมื่อถึงกำหนด คณะตุลาการฯ ได้ให้ตัวแทนทั้ง 3 พรรคและอัยการสูงสุดตรวจพยานเป็นเวลา 1 ชม.จากนั้น คณะตุลาการฯ ได้อ่านรายงานว่า คณะตุลาการฯ ได้พิจารณาเอกสารหลักฐานที่ทั้ง 3 พรรคยื่นมาแล้ว ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกเอกสารจากคู่กรณีอีก จึงของดการไต่สวน และให้ทั้ง 3 พรรคส่งหัวหน้าพรรคหรือผู้แทนมาแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 2 ธ.ค.(09.30น.) หากไม่มาตามนัด จะถือว่าไม่ติดใจ ส่วนที่พรรคการเมืองขอให้ศาลพิจารณาให้กรรมการบริหารพรรคเป็นคู่กรณีฝ่ายที่ 3 นั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้รวมเป็นคำชี้แจงไว้ในสำนวนคำร้อง ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคใดหรือทั้ง 3 พรรค ต้องลุ้นว่า ศาลฯ จะวินิจฉัยให้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่ทำผิด หรือตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทุกคน ซึ่งอัยการสูงสุดเสนอ 2 แนวทางให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า จะตัดสิทธิเฉพาะบุคคลหรือทั้งหมดแล้วแต่ดุลพินิจ ส่วนปฏิกิริยาของพรรคที่อาจถูกยุบนั้น หลังทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงปิดคดีในวันที่ 2 ธ.ค.ส่งผลให้ทั้ง 3 พรรครู้สึกช็อคไปตามๆ กัน เพราะไม่คาดคิดว่ากระบวนการพิจารณาจะรวดเร็วเช่นนี้ โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคพลังประชาชนต่างออกอาการไม่พอใจศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคามและกรรมการบริหารพรรคประชาชน ออกมาขู่ว่า ถ้ามีการยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคอีก คราวนี้เจอดีแน่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของพรรคพลังประชาชนได้มีการตั้งรับเรื่องยุบพรรค ด้วยการให้ ส.ส.สัดส่วนของพรรคที่เป็นกรรมการบริหารพรรคจำนวน 10 คนทยอยลาออก เพื่อให้ ส.ส.สัดส่วนในลำดับรองลงมาได้ขึ้นเป็น ส.ส.แทน เพื่อเป็นการรักษาจำนวน ส.ส.ไว้ ซึ่งจนถึงวันนี้(30 พ.ย.)มี ส.ส.สัดส่วนของ พปช.ลาออกแล้ว 9 คน คนล่าสุดคือ นายสมัคร สุนทรเวช จึงเหลือเพียงคนเดียวที่ยังไม่ได้ลาออก คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ด้านอดีตแกนนำ นปก.ผู้จัดรายการ “ความจริงวันนี้”นายวีระ มุสิกพงศ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน เปิดแถลงเมื่อวานนี้(29 พ.ย.) โดยนอกจากจะนัดรวมพลคนเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.เพื่อต่อต้านการรัฐประหารแล้ว ยังได้โจมตีศาลรัฐธรรมนูญที่นัดแถลงปิดคดียุบพรรคในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ว่า เป็น “รัฐประหารซ่อนรูป” โดยนายวีระ กล่าวหาว่า คดีนี้ มีบุคคลลึกลับจะใช้มาตรการทางศาลเพื่อล้มรัฐบาล แต่มีข้อตกลงว่า พันธมิตรฯ ต้องออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาพูดทำนองข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้(30 พ.ย.) โดยบอกว่า ต้องดูว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีโอกาสได้มีคำวินิจฉัยคดีนี้หรือไม่ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนออกมาพูดในลักษณะข่มขู่จะนำคนเสื้อแดงไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยคดียุบพรรคว่า “อย่าไปทำให้เกิดภาพที่ว่า เวลาผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลทำผิดกฎหมาย ก็ย้ำเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย แต่เวลาตนเองทำผิดกฎหมายก็บอกว่าศาลผิด ตรงนี้เป็น 2 มาตรฐานชัดเจน” ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงปิดคดียุบพรรคในวันที่ 2 ธ.ค. ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของพรรคพลังประชาชนได้เริ่มขนของและทำลายเอกสารแล้ว โดยเริ่มทยอยขนเครื่องใช้สำนักงานและเอกสารจำนวนมากจากที่ทำการพรรคพลังประชาชนที่อาคารไอเอฟซีที ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย อาคารชินวัตรไหมไทย ถ.พระราม 4 พร้อมกันนี้ยังได้มีการทำลายเอกสารและข้อมูลส่วนตัวของอดีตผู้สมัคร ส.ส.และ ส.ส.ของพรรคด้วย
4. เปิดรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.แล้ว “สุขุมพันธุ์”คว้าเบอร์ 2 - “พปช.”ยังหาคนลงไม่ได้ ด้าน “แก้วสรร-ม.ล.ปลื้ม”เสนอตัวเข้าชิง!
ในที่สุด การเปิดรับสมัครผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ก็เริ่มขึ้นแล้วในวันนี้(30 พ.ย.)เป็นวันแรก โดยจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 4 ธ.ค. สำหรับวันแรกนี้ มีผู้สนใจมาสมัครทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล ได้หมายเลข 1 ,ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้หมายเลข 2 ,นางลีนา จังจรรยา ได้หมายเลข 3 ,นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ ได้หมายเลข 4 ,นายกงจักร ใจดี ได้หมายเลข 5 ,ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ ได้หมายเลข 6 ,นายอิสระ อมรเวช ได้หมายเลข 7 ส่วน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ ปลื้ม ที่เปิดตัวเมื่อวานนี้(29 พ.ย.)ว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วยนั้น มีข่าวว่าจะเดินทางมาสมัครในวันพรุ่งนี้(1 ธ.ค.) ขณะที่พรรคพลังประชาชนยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะส่งใครลงสมัคร หลังจากบุคคลที่ทาบทามไว้ยังไม่ตัดสินใจ คือ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส.ซึ่งพลาดหวังไม่ได้รับเลือกจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็เชิญไปร่วมงานด้วยนั้น ปรากฏว่า นายแก้วสรรตัดสินใจที่จะลงสมัครอิสระแล้ว โดยจะเดินทางไปสมัครในวันที่ 4 ธ.ค. พร้อมแถลงเปิดนโยบายหลังจากสมัครเรียบร้อยแล้ว นายแก้วสรร ยังพูดถึงเหตุผลที่ตนต้องการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วยว่า เห็นว่าการเมือง เศรษฐกิจ กำลังวิกฤต ตนอยู่ในจุดที่สามารถช่วยบ้านเมืองได้ จึงอยากเสนอทางเลือกให้กับผู้คนในยามทุกข์ยาก ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงสมัครในนามอิสระ จะมีปัญหาเรื่องฐานเสียงหรือไม่ นายแก้วสรร บอกว่า สถานการณ์การเมืองแบบนี้ เวลาหาเสียงสั้น วิกฤตการเมืองมาจ่อ ปีใหม่มาคั่น สมาธิผู้คนเบื่อโลก จึงลำบากต่อผู้สมัครอิสระ แต่เมื่อทบทวนดูแล้วเห็นว่า ความเป็นอิสระอาจช่วยบ้านเมืองได้.