xs
xsm
sm
md
lg

แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 ก.พ.51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้(12 ก.พ.)นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐาะโฆษกรัฐบาล แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้

“นายกฯ”แบ่งงานรองนายกฯให้กำกับดูแล และแบ่งหน้าที่ให้รมต.ประจำสำนักนายกฯ
นายจักรภพ แถลงว่า เรื่องแรกคือ มอบหมายการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และการมอบงานรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีรายละเอียด ดังนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายเป็นหลักการให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนตามนายกรัฐมนตรีมอบหมายตามลำดับ ดังนี้

1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
2. นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
3. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ
4. นายสหัส บัณฑิตกุล
5. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
6. นายสุวิทย์ คุณกิตติ

ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนขั้นต้นจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการอนุมัติเงินงบประมาณ อันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ หากต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน

ส่วนการมอบหมายงานให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มีดังนี้
รองนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้กำกับการบริหารราชการของส่วนราชการ ดังนี้
1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. กระทรวงมหาดไทย
3. กระทรวงวัฒนธรรม
4. กระทรวงศึกษาธิการ
5. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
และให้รองนายกฯ สมชาย กำกับการบริหารราชการ และสั่ง และปฏิบัติราชการ ของส่วนราชการ ดังนี้
- สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
และมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชน ดังนี้
- สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
นอกจากนั้น รองนายกฯ สมชาย เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และการดำเนินคดีปกครอง รวมทั้งลงนามมอบอำนาจให้พนักงานอัยการดำเนินคดีปกครอง กรณีที่มีการฟ้องนายกรัฐมนตรี ในการสั่งการตามกฎหมายดังกล่าว
รองนายกฯ สมชาย เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย และการสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู ซึ่งเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย และการดำเนินคดีปกครอง
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย การสถาปนาพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ สมณศักดิ์ เป็นต้น ตรงนี้เดี๋ยวมีรายละเอียด ที่อ่านข้างหลังคือยกเว้นไม่ใช่ของท่านรองฯ สมชาย เป็นของท่านนายกฯ

รองนายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการของส่วนราชการแทนนายกฯ ดังนี้
1. กระทรวงการคลัง
2. กระทรวงสาธารณสุข
ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการ และสั่ง และปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ดังนี้
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รองฯ สุรพงษ์ ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
1. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
2. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
3. สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ

รองนายกรัฐมนตรี นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ดังนี้ ส่วนราชการ
1. กระทรวงการต่างประเทศ
2. กระทรวงพาณิชย์
3. กระทรวงแรงงาน
4. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
5. กรมประชาสัมพันธ์ กำกับการบริหารราชการ
สั่งและปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ดังนี้
- สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลของรัฐ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยการขายตรงและตลาดแบบตรง

รองนายกฯ นายสหัส บัณฑิตกุล ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ของส่วนราชการ คือ
1. กระทรวงคมนาคม
2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3. กระทรวงพลังงาน
4. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นผู้กำกับการบริหารราชการในส่วนราชการ คือ
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ได้รับมอบหมาย ดังนี้
1. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้รับมอบหมายให้ดูแลองค์การมหาชน ดังนี้
- สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
- องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
เป็นผู้สั่งการตามกฎหมายว่าด้วยนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ

รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ คุณกิตติ ดูแลดังนี้
1. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
2. กระทรวงอุตสาหกรรม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ ศิรินิล ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ดังนี้
1. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
2. สำนักานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
3. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจักรภพ เพ็ญแข ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ดังนี้
1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2. กรมประชาสัมพันธ์
ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ดังนี้
- บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน)

“หมัก”ตีกลับ โผตั้งข้าราชการการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษาฯ-เลขาฯรมต.
นายจักรภพ แถลงว่า เรื่องการแต่งตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรี ตามกำหนดน่าจะมีวันนี้ แต่ได้มีการเลื่อนออกไป โดยนายกฯ ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม.ว่า ไม่มีปัญหาใดๆ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เพียงแต่จะมีการทบทวนในส่วนของพรรคพลังประชาชนเอง เหตุผลหลักก็คือว่า นายกฯ ต้องการให้รัฐมนตรีแต่ละท่านมีส่วนในการเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะมาช่วยในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่านายกฯ ไม่เห็นด้วยกับรายชื่อที่นำเสนอมา แต่ท่านคิดว่ารายชื่อที่ได้รับการเสนอขั้นต้นโดยคณะทำงานของพรรค ควรที่จะได้รับการดูแลเพิ่มเติมโดยรัฐมนตรี ที่จะเป็นผู้ขอท่านเหล่านี้มาช่วยงาน นั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นคาดว่าสัปดาห์หน้าในการประชุม ครม.จะมีรายชื่อของที่ปรึกษารัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรี อย่างครบถ้วน

นายกฯ ได้พูดในที่ประชุม ครม.เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรคได้ทราบว่าไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวข้องกับของแต่ละพรรค ทุกอย่างลงตัวตามที่เสนอมาทุกประการ แต่เป็นในส่วนของพรรคหลัก คือพรรคพลังประชาชน จะได้พูดคุยกันเองในแง่ตัวบุคคล

วันนี้รองนายกฯ สุวิทย์ คุณกิตติ ได้เสนอตั้ง และ ครม.ได้อนุมัติข้าราชการการเมือง 2 ตำแหน่ง รองเลขาฯ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของรองฯ สุวิทย์ คือ นางพรรณี จารุสมบัติ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้แก่ พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล

“นายกฯ” ย้ำครม.ตรวจสอบนโยบาย เตรียมแถลงต่อสภาฯ 18ก.พ.นี้
นายจักรภพ แถลงว่า ท่านนายกฯ ได้ขอให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนได้ดูแนวนโยบายที่รัฐบาลได้ยกร่างขึ้น เพื่อเตรียมแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา คำว่าที่ประชุมรัฐสภานี้ หมายถึงทั้งสองสภาร่วมกันประชุม คือสภาผู้แทนราษฎร และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่เป็นวุฒิสภา การแถลงนโยบายต้องกระทำต่อทั้งสองสภานี้ เป็นที่ประชุมร่วม นายกฯ ได้ขอให้รัฐมนตรีแต่ละคนได้แสดงความเห็นไปในส่วนงานที่ตัวรับผิดชอบ ซึ่งได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง และเป็นที่เรียบร้อย ราบรื่น และเป็นเติมมากกว่าจะเป็นการตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลง ช่วยกันระดมสมองอยู่นาน เพื่อจะให้แนวนโยบายเป็นที่สมบูรณ์แบบและพอใจของรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะ ครม. ก่อนที่จะนำเสนอต่อรัฐสภา

ส่วนเรื่องของการนัดหมายกับรัฐสภาเพื่อเปิดการแถลงนโยบายนั้น คาดว่าจะเป็นในวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ส่วนจะใช้เวลานานอย่างไรจะได้มีการประสานกันต่อไป ในส่วนของการแถลงนโยบาย

การแถลงนโยบายจะเป็นไปตามที่ท่านนายกฯ ได้ให้นโยบายไว้ก่อน ก็คือ ครม.จะให้ความสำคัญต่อกระบวนการนี้อย่างเต็มที่ หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งชนิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ครม.โดยท่านนายกฯ อาจจะพิจารณาเลื่อนวันประชุม ครม.เพื่อจะให้การอภิปรายในการแถลงนโยบายเป็นไปอย่างเต็มที่ คือกำหนดไว้ว่าเป็นวันจันทร์ที่ 18 แต่ถ้าหากจำเป็นต้องล่วงเลยถึงวันอังคารที่ 19 ครม.ก็อาจจะพิจารณาเลื่อนการประชุม ครม. เพื่อจะให้การแถลงนโยบายนั้นเป็นไปอย่างเรียบร้อย สมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับผลการคุยกันว่าตกลงจะวันไหน ใช้เวลานานเท่าไร วันนี้ก็ใช้เวลาในเรื่องนี้

หากว่าการแถลงนโยบายผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อยดี ครม.จะจัดประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ซึ่งจะเป็นจัดการร่วมกัน โดยท่านนายกฯ จะเป็นประธานในการชี้แจงนโยบายเหล่านี้ในวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 - 12.00 น. จะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และจะมีการนำบางส่วน ถ้าไม่ทั้งหมดของการชี้แจงนโยบายนี้ไปออกซ้ำในเวลาค่ำของวันเดียวกัน เพื่อจะให้พี่น้องประชาชนได้ทราบพร้อมๆ กัน หัวหน้าหน่วยราชการที่มาร่วม

นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงเรื่องของรายละเอียดนโยบาย โดยที่มีการปรับปรุงให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ท่านนายกฯ ได้ให้นโยบายว่า ยังไม่เผยแพร่แนวนโยบายนี้เพียงแต่เล่าในภาพรวมได้ก่อนว่า นโยบายจำนวนมากเป็นการต่อยอดจากรัฐบาลก่อนหน้าจะมีการรัฐประหาร นโยบายหลายประการจะเดินหน้าต่อไป บางนโยบายทำอย่างเดิมที่เคยเป็นมา แต่ว่าในขั้นตอนที่สูงขึ้น บางนโยบายเป็นการปรับปรุงจากของเดิมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ทุกนโยบายเหล่านี้ที่มีการนำมาใช้ต่อ มีการประเมินผลทางด้านนโยบายก่อนจะนำมาบรรจุอยู่ในแนวนโยบายนี้ทั้งสิ้น เพื่อให้ดีขึ้นกว่าที่เคยทำมา พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทุกพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการจัดทำนโยบายนี้ ทั้งในขั้นตอนการยกร่างและขั้นตอนของการเพิ่มเติม แก้ไข ปรับปรุงในวันนี้ด้วย

ครม.อนุมัติ กรอบเตรียมจัดงบปี52
นายจักรภพ แถลงว่า ครม.ได้อนุมัติกรอบของการเตรียมการจัดทำงบประมาณ และรับทราบปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 (มีเอกสารแจก) คร่าวๆ คือว่า ในวันนี้ถือว่า ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการเตรียมการจัดทำงบประมาณ และการปรับปฏิทินงบประมาณ วันนี้ถือว่าเห็นชอบในกรอบนี้ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ คาดว่า ครม.จะได้พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อแผนการบริหารราชการแผ่นดิน วันที่ 4 มีนาคม คาดว่า ครม.จะให้ความเห็นชอบนโยบายงบประมาณ วงเงิน โครงสร้าง และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 โดยรายละเอียดจะมีทั้งหมดว่ารัฐมนตรีดูตอนไหน ส่งให้นายกฯ ตอนไหน อย่างไร สำนักงบประมาณเกี่ยวข้องในขั้นตอนไหนบ้าง

ครม. ถกเครียดเลขาฯกกต. เตรียมพร้อมรับมือเลือกตั้งส.ว.
นายจักรภพ แถลงว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเลขาธิการสำนักงาน คุณสุทธิพล ทวีชัยการ ได้เข้าชี้แจงต่อ ครม.ในวันนี้ เกี่ยวข้องกับเรื่องของมติ ครม.เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 มีนาคมนี้ เหตุผลที่ต้องมีวาระนี้ก็เพราะว่า มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติในหลายข้อ ว่าอะไรบ้างที่รัฐบาลทำได้ และทำไม่ได้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็มีการพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติโดยตรง เช่น มีการห้ามไม่ให้ส่วนราชการจัดประชุมสัมมนาเป็นเวลา 10 วันก่อนการเลือกตั้ง เพราะเกรงว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการไม่สามารถจะมาอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งได้ เหล่านี้ก็มีการพูดคุยกันว่า การประชุมชี้แจงนโยบายต่างๆ รวมถึงเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งทางเลขาฯ กกต.ก็ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน

ครม.ได้ใช้โอกาสนี้ตั้งคำถามกับ กกต.หลายเรื่อง เป็นการหารือกัน ครม.ทราบดีว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่ส่วนราชการ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการหารือกันระหว่าง 2 ฝ่าย เช่น ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของความลักลั่นบางอย่างที่ตั้งเป็นข้อสังเกตขึ้น เช่น ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา มีคำสั่งห้าม เป็นระบบ กกต.ว่า ห้ามมิให้มีการอำนวยความสะดวกในการนำพาคนไปสู่คูหาเลือกตั้ง ที่เรียกว่า ขนคน ไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ห้ามขาด แต่ ส.ว.ครั้งนี้กลับทำได้ โดยที่มีระเบียบในแง่ที่ว่า ถ้าหากเป็นส่วนราชการจัดอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนโดยไม่มีการจูงใจทางการเมือง ถือว่าทำได้ไม่ผิด เหล่านี้มีหลักปฏิบัติที่ลักลั่นอยู่บ้าง คณะรัฐมนตรีเลยฝากเลขาฯ กกต.ไปหารือกับท่านกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 ท่านว่าอยากให้เกิดความชัดเจน เพราะคณะรัฐมนตรีต้องการจะทำตามกฎหมาย แล้วต้องการเป็นตัวอย่างที่ดี แต่บางอย่างยังไม่ชัดเจนว่าตกลงจะเอาอย่างไร หรือว่าเรื่องของ หารือไกลถึงขั้น กระบวนการเลือกตั้ง เช่น การเก็บหีบบัตรเลือกตั้ง ซึ่งก็มีรัฐมนตรีหลายท่านที่มีประสบการณ์ว่า ยังมีความสงสัยอยู่มากว่า การเก็บหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นไปอย่างเรียบร้อยดีหรือไม่ มีโอกาสที่จะเกิดสภาวะที่ไม่โปร่งใสอย่างไรหรือไม่ มีการเสนอความเห็นหลายประการ ซึ่งท่านเลขาธิการ กกต. ได้รับไปโดยดี ท่านมีท่าทีที่ดีมาก รับข้อสังเกตเหล่านี้ไปปรึกษาหารือกัน แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอทาง กกต.เป็นผู้แถลง ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้แถลง

กำลังโหลดความคิดเห็น