xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! วงการค้า เศษวัสดุรีไซเคิล แหล่งฟอกเงิน และโกงภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แฉ! วงการค้า เศษวัสดุรีไซเคิล แหล่งฟอกเงิน และโกงภาษี

แม้จะมีข้อเสนอจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิชัย ชุณหวชิร ให้ปรับลดเกณฑ์รายได้สำหรับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลงมาอยู่ที่ 1.5 ล้านบาทต่อปี โดยใช้ระบบ VAT ประเภทที่ 2 ซึ่งอาจจัดเก็บในอัตรา 1% ของรายได้ เพื่อขยายฐานภาษีและลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อกังวลสำคัญที่กรมสรรพากรควรให้ความสำคัญก่อนดำเนินการ คือ ปัญหาการใช้ใบกำกับภาษีอย่างถูกต้อง (ปัญหาการใช้ใบกำกับภาษีซื้อปลอม)

การปรับเปลี่ยนเกณฑ์รายได้โดยยังไม่แก้ไขช่องโหว่ของระบบกำกับภาษี อาจยิ่งเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวดและโปร่งใสในการตรวจสอบการออกใบกำกับภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายและทันเวลา หรือการเพิ่มแรงจูงใจในการนำผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอย่างสุจริตเข้าระบบภาษี

ธุรกิจการค้าเศษวัสดุรีไซเคิล: โครงสร้างกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและช่องโหว่การโกงภาษี
อุตสาหกรรมการค้าเศษวัสดุรีไซเคิลในประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในแหล่งหมุนเวียนเงินขนาดใหญ่ ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงถึงหลักแสนล้านบาทต่อปี ธุรกิจประเภทนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการฟอกเงิน หลีกเลี่ยงภาษี รวมไปถึงทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี เนื่องจากมีช่องว่างในกระบวนการจัดเก็บ ตรวจสอบ และควบคุมกระบวนการของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างของวงจรของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องนี้อย่างชัดเจน สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้:

กลุ่มที่ 1: ผู้ขายเศษวัสดุรายย่อย
กลุ่มนี้ ได้แก่ ซาเล้งหรือบุคคลทั่วไปที่เก็บรวบรวมเศษเหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม พลาสติก กระดาษ ฯลฯ จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาขายต่อ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือเป็นแรงงานนอกระบบ

กลุ่มที่ 2: ร้านรับซื้อของเก่า
เป็นร้านค้าที่รับซื้อเศษวัสดุจากกลุ่มที่ 1 มีทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่โดยทั่วไปแล้วมักไม่ได้จดทะเบียน เนื่องจากไม่สามารถขอใบกำกับภาษีจากผู้ขายที่อยู่นอกระบบได้ ส่งผลให้ร้านค้าไม่สามารถนำส่ง VAT ได้อย่างถูกต้อง

กลุ่มที่ 3: บุคคล/นิติบุคคลจดทะเบียน (พ่อค้าคนกลาง)
ทำหน้าที่รวบรวมเศษวัสดุจากร้านรับซื้อของเก่า ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายโดยใช้เงินสด แล้วนำไปจำหน่ายต่อให้กับโรงงานรีไซเคิลหรือธุรกิจปลายทาง โดยกลุ่มนี้มักจดทะเบียน VAT และอยู่ในระบบภาษี

กลุ่มที่ 4: โรงงานรีไซเคิลหรือธุรกิจปลายทาง
ได้แก่ โรงงานพลาสติก โรงหลอมเหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง หรือโรงงานผลิตกระดาษ ที่เป็นผู้รับซื้อเศษวัสดุจากพ่อค้าคนกลาง/นิติบุคคล โดยโรงงานมีการจดทะเบียนและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง ซึ่งโรงงานเหล่านี้ต้องได้รับใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง และออกโดยผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีเพื่อใช้สำหรับเครดิตภาษีขายในแต่ละเดือน

กลุ่มที่ 5: บริษัทตัวแทน (Nominee)
อาจเป็นนิติบุคคลที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยพ่อค้าคนกลางบุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นใด ที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้นิติบุคคลดังกล่าวจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างถูกต้อง โดยใช้ชื่อกรรมการที่เป็นนอมินีเสมือนบัญชีม้าจดทะเบียนบริษัท ทำหน้าที่ออกใบกำกับภาษีเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำบัญชีและใช้ประโยชน์ทางภาษี ซึ่งอาจจะมีทั้งบริษัทที่มีสถานประกอบกิจการจริง หรือบริษัทไม่มีสถานประกอบกิจการจริง

โครงสร้างกลุ่มทั้ง 5 กลุ่มนี้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของธุรกิจการค้าเศษวัสดุรีไซเคิล ซึ่งมีทั้งผู้ที่อยู่ในระบบภาษีและนอกระบบ รวมถึงการใช้ตัวแทน (Nominee)เพื่อวัตถุประสงค์ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต หากไม่มีการกำกับดูแลและตรวจสอบที่เพียงพอและทันเวลาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

เมื่อทราบถึงกลุ่มหลักในวงจรนี้แล้ว จะสามารถอธิบายวงจรช่องโหว่การโกงของภาษีได้โดยมีลำดับ ดังนี้:
กลุ่มที่ 2 ร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเศษวัสดุ ได้ทำการซื้อวัสดุรีไซเคิลจากกลุ่มที่ 1 ผู้ขายรายย่อย ซึ่งมักเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้เก็บของเก่า (เช่น ซาเล้ง) ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ 2 ไม่สามารถขายวัสดุต่อให้กลุ่มที่ 4 ที่เป็นโรงงาน/ธุรกิจปลายทาง ได้โดยตรง เนื่องจากโรงงานหรือธุรกิจปลายทางได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องใช้ใบกำกับภาษีที่สมบูรณ์จากผู้ขายที่สามารถออกใบกำกับภาษีได้เท่านั้น เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการขอเครดิตภาษีขาย

จึงเกิดกลุ่มบุคคลที่เห็นช่องโหว่ดังกล่าวและทำการสร้างกลุ่มที่ 3 คือ พ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีการจดทะเบียน VAT โดยเป็นผู้ที่รับซื้อเศษวัสดุจากกลุ่มที่ 2 ที่ไม่อยู่ในระบบภาษี (ร้านรับซื้อของเก่า) แล้วนำไปขายต่อให้กลุ่มที่ 4 (โรงงาน/ธุรกิจปลายทาง)

เนื่องจากกลุ่มที่ 3 บุคคล/นิติบุคคลได้จดทะเบียน VAT ดังนั้น การขายให้กลุ่มที่ 4 ที่เป็นโรงงาน/ธุรกิจปลายทาง จึงต้องรวมภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีขาย 7% เข้าไปด้วย ซึ่งหมายความว่ากลุ่มที่ 3 มีภาษีขาย 7 บาท (สมมติว่าราคาขายเท่ากับ 100บาท) ที่จะต้องนำส่งแก่กรมสรรพากร ปัญหา คือ กลุ่มที่ 3 ไม่มีใบกำกับภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายได้ เพราะผู้ขาย คือร้านรับซื้อของเก่า (กลุ่มที่ 2) ที่ไม่มีการออกใบกำกับภาษี VAT
ต่อมา กลุ่มที่ 3 พ่อค้าคนกลาง จึงสร้างกลุ่มที่ 5 ขึ้นมาในลักษณะเป็น "บริษัทในเครือ" หรือ "นอมินี" หรือ “บริษัทม้า” ที่มีการจดทะเบียน VAT แต่ไม่มีการซื้อขายจริง โดยให้กลุ่มที่ 5 เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขายให้แก่บุคคลกลุ่มที่ 3

ผลลัพธ์คือ กลุ่มที่ 3 พ่อค้าคนกลางสามารถใช้ใบกำกับภาษีจากกลุ่มที่ 5 ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนที่จัดตั้งขึ้นมามีการตกลงจำนวนเงิน โดยนำใบกำกับภาษีที่บริษัทตัวแทนออกให้มาหักออกจากภาษีขาย 7 บาท ที่เกิดจากการขายสินค้าให้กลุ่มที่ 4 คือโรงงาน/ธุรกิจปลายทาง ทำให้เหลือภาษีขายที่ต้องนำส่งน้อย หรือแม้กระทั่งเป็นกรณีของการขอภาษีซื้อคืนจากสรรพากร (เนื่องจากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย หรือในบางกรณีที่ทำงบให้บริษัทขาดทุนเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย) และอาจมีการตกลงแบ่งผลประโยชน์จากส่วนต่างที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลกลุ่มที่ 3 และ/หรือกลุ่มที่ 2 และ/หรือกลุ่มที่พฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นกลโกงภาษีโดยใช้บริษัทตัวแทน (Nominee) ออกใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร และสร้างผลกระทบต่อระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศในภาพรวม

 อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างสุจริต ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น กลุ่มที่ 4 ซึ่งได้นำใบกำกับภาษีจากกลุ่มที่ 3 มาใช้เป็นภาษีซื้อและยื่นขอคืนภาษี ภายหลังกรมสรรพากร ได้เข้าตรวจสอบภาษีซื้อที่มีการขอคืน จึงพบว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีปลอม (ใบกำกับภาษีปลอมจะหมายความถึง “ใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี” และการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกันจริง) โดยมีการสืบย้อนกลับไปยังกลุ่มที่ 5 ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบพบตัวตนได้
ส่งผลให้กลุ่มที่ 3 ถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานใช้ใบกำกับภาษีปลอม และกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ดังนั้น ใบกำกับภาษีที่ออกโดยบุคคล/นิติบุคคลกลุ่มที่ 3 จึงอาจถือได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม โดยผู้ที่นำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปใช้ (กลุ่มที่ 4) จะไม่มีทางทราบได้เลยว่าใบกำกับดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออก    ทำให้ผู้ใช้ใบกำกับต้องตกอยู่ในสถานะของผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมโดยปริยาย และถูกประเมินภาษีย้อนหลังหลายราย

การจัดการของกรมสรรพากร คือ การประชาสัมพันธ์ทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ให้ผู้ประกอบการพึงระมัดระวัง และมีการจับกุมผู้ประกอบการที่เป็นผู้ออกหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม โดยการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีอย่างสุจริตและนำส่งภาษีถูกต้อง แต่กลับเป็นการซ้ำเติมจากการถูกประเมินภาษีโดยกรมสรรพากร เนื่องจากไม่สามารถดำเนินคดีถึงต้นตอผู้อยู่เบื้องหลังวงจรข้างต้น แต่กลับเป็นบัญชีม้า และผู้ประกอบการที่สุจริตที่ต้องมารับผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว

จากสถานการณ์ดังกล่าว ในปี 2566 กรมสรรพากรได้ออกมากล่าวถึงวิธีการแก้ไขปัญหาใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเหล่านี้ โดยเสนอให้โรงงานซึ่งเป็นปลายทางของธุรกิจ ทำหน้าที่ในการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มแทนซัพพลายเชนต้นทาง ซึ่งเรียกว่า “ระบบการตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบย้อนหลัง Reverse charge VAT” แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและไม่อาจทราบถึงทิศทางในอนาคตว่าปัญหานี้จะจบอย่างไร หรือปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะถูกลืมและหายไปพร้อมกับอธิบดีกรมสรรพากรคนเก่า

ในขณะที่กระทรวงการคลังกลับมีมาตรการในการนำผู้ประกอบการรายย่อยเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น โดยปรับลดเกณฑ์รายได้สำหรับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลงมาอยู่ที่ 1.5 ล้านบาทต่อปี หากยังเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ต้องรับผลของวงจรข้างต้นในอนาคตก็ยังคงเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจอย่างสุจริตต่อไป

จากช่องโหว่นี้ที่กรมสรรพากร ไม่ได้มีความจริงจังในการแก้ปัญหา หรือจูงใจให้ผู้ประกอบการอยากเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ในทางกลับกันจะถือว่าเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งประเทศไม่อยากเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม


กำลังโหลดความคิดเห็น