ASF – โรคระบาดทั่วเอเชีย...ต้นทุนป้องกันโรคกระทบภาคปศุสัตว์ หนุนพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคที่ได้มาตรฐาน
โดย : กัญจาฤก แว่นแก้ว นักวิชาการด้านปศุสัตว์
โรคระบาดสัตว์ สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ภาคปศุสัตว์ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนกและโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่เกิดในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจาก ASF เช่นกัน
ปัจจุบัน โรคนี้ยังคงสร้างความเสียหายอยู่เป็นระยะ จากรายงานการพบโรคในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา และ สปป.ลาว ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็มีโอกาสเสียหายได้ทันที เกษตรกรจึงต้องยกระดับระบบการป้องกันโรค หรือ ไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) โดยเข้มงวดในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงนำโรคเข้าสู่ฟาร์ม ตั้งแต่การสร้างรั้วรอบขอบชิด การติดตั้งระบบฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะ จุดอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนเข้าฟาร์ม หรือการสร้างเล้าขายหมูในบางฟาร์ม รวมถึงการใช้ยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ต่างๆ คาดว่าจะส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงหมูเกิดจริงพุ่งไปถึง 80 -85 บาท/กก. แต่ผู้เลี้ยงก็ยินดีรับภาระนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยารักษา หากเกิดปัญหาการกำจัดเชื้อให้หมดไปเป็นเรื่องยาก และมักเกิดการระบาดซ้ำซาก
ขณะที่ กรมปศุสัตว์ ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกษตรกรรายย่อย รายกลาง ยกระดับการป้องกันโรคและระบบการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน GFM ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่และบริษัทเอกชนต้องได้มาตรฐาน GAP เพื่อป้องกันความเสียหายจากโรค ASF และโรคระบาดสัตว์อื่นๆ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงหมูและคุณภาพเนื้อหมูของไทย ขณะเดียวกัน การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคที่ได้มาตรฐานก็ถือเป็นอีกทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาในอนาคต
ล่าสุดราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม ตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงหมูแห่งชาติ (17 กุมภาพันธ์) ภาคตะวันตก-ตะวันออก-อีสาน-ใต้ ราคาอยู่ในระดับเดียวกันที่ 80 บาท/กก. ส่วนภาคเหนือ 81-83 บาท ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรยังต้องแบกรับภาวะขาดทุนมาตลอด จากต้นทุนที่สูงกว่าราคาขาย จนหลายรายต้องชะลอหรือลดปริมาณการเลี้ยง
ราคาหมูเป็นไปตามกลไกตลาด และเกษตรกรผู้เลี้ยงยังให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคว่า มีหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลราคาให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค ผู้ค้า และเกษตรกร โดยให้ปรับราคาที่เหมาะสมอยู่ร่วมกันได้ตลอดห่วงโซ่อยู่แล้ว เพราะหากภาคการผลิตขาดทุน ผู้เลี้ยงก็ไปไม่รอด ดังนั้น ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานสร้างสมดุลราคา และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทย มีเนื้อหมูบริโภคในราคาที่สมเหตุสมผล