xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงแดง” แม้อุบัติเหตุทำพิการ สู้ทำเกษตรอินทรีย์ จนประสบผลสำเร็จ พร้อมถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนจนมีอาหารปลอดภัยไว้รับประทาน-จำหน่าย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ลุงแดง” ที่แม้พิการ แต่ฮึดสู้ หาความรู้-ลงมือทำเกษตรอินทรีย์ จนประสบผลสำเร็จ พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชน จนมีพืชผักอาหารปลอดภัยไว้รับประทาน-จำหน่ายเพิ่มรายได้



“ลุงแดง” พรชัย หารศรี อดีตคนขับรถสิบล้อ ชีวิตต้องพลิกผันจากคนปกติ กลายเป็นคนพิการเดินไม่ได้ ด้วยอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ขณะซ่อมช่วงล่างของรถ แล้วเกิดดินทรุด จนรถทับตนเองเมื่อปี 2555


“ขามันไม่ถึงกับไร้ความรู้สึก แต่ไม่มีกำลังที่เราจะรับน้ำหนักตัวลง ก็ต้องเป็นผู้พิการ”

จากคนที่เดินได้ กลับกลายต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์ ไร้กำลังใจ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ โชคดี “สุนัข” ทำให้เปลี่ยนใจ


“ช่วงนั้นก็มีจิตตก หมกมุ่น แต่ก่อนอาศัยบ้านแม่ ก็จะหมกมุ่นอยู่ใต้ถุนบ้าน อะไรชีวิตเราจะมาตกอับถึงขั้น เราเคยมีโน่นนี่นั่น ก็อยากจะตายอย่างเดียว เข็นรถไป เผอิญไม่รู้เป็นอะไร ไปเห็นหมาตัวหนึ่ง 3 ขา มันก็กระด๊อกๆๆ เราก็นั่งพิจารณาดู นั่งมอง เห็นเขาก็มองตัวเอง เขาก็พยายามตะกุยตะกายกับถังขยะเพื่อจะหากินอาหารเหล่านั้น ก็เปลี่ยนใจ”


เริ่มมีแรงใจสู้ชีวิต ประเดิมด้วยการเพาะเห็ด!

“เปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดเราทั้งหมด ก็กลับมาบ้าน มานั่งพิจารณาดูว่า เราจะทำอะไรบ้าง เขารู้เนอะ เขาก็มอง เขาไปซื้อก้อนเห็ดมาให้ ประมาณ 200 ก้อน ก็แค่ 200 ก้อน มันได้นิดเดียว แต่ก่อนค่าใช้จ่ายมันมีแพมเพิสเยอะ ห่อหนึ่ง 400 กว่าบาทเกือบ 500 ขายเห็ด โลครึ่งโล โลละ 70-80 บาท มันไม่พอ ก็มองเห็นว่า เราปลูกผักไหม คิดปลูกบวบ เริ่มปลูกบวบยาวเลย”


แสวงหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพ!

“ผมก็เริ่มไปหาความรู้เพิ่มเติม โดยที่ไปที่ศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผมก็ไปศึกษาตรงนั้นมาว่าปลูกพืชชนิดนี้มีโรคอะไรบ้าง ปรุงดินกับพืชตัวนี้ยังไงบ้าง ผมก็ไปศึกษามาเรื่อยๆ”


หลังชาวบ้านเห็นความสำเร็จของลุงแดงในการผลิตพืชผลทางการเกษตร จึงเริ่มสนใจและเข้ามาสอบถาม ซึ่งลุงแดงก็พร้อมให้คำแนะนำ ตั้งแต่การปรุงดิน ไปจนถึงการทำเกษตรแบบอินทรีย์ และพัฒนามาสู่ การตั้งวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองกระทิง


“(ถาม-แล้วเราช่วยเหลือเขาในส่วนไหนบ้างที่จะทำให้เขาได้ผลิตผลที่มีคุณภาพออกมา?) ก็คือปุ๋ย เพราะเราเรียนรู้เรื่องปุ๋ยมา สมมุติมะนาวต้นหนึ่ง เวลาออกลูกมา เราจะแก้ไขยังไง อย่างเชื้อราจากอากาศ เราจะแก้ไขยังไง เราก็ไปบอกขั้นตอน”


สากล จริงประโคน เกษตรกรบ้านหนองกระทิง ยอมรับว่า ความรู้ที่ได้จากลุงแดง ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย

“ที่บ้านปลูกหลายอย่าง ลำไย มะม่วง มะพร้าว เงาะ กล้วย มะเขือ ปลูกทั้งขายและกิน ส่วนมากแบ่งปันก่อน พอเยอะ ถึงเอาไปขาย ตอนยังไม่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ก็เจอปัญหาหลายอย่าง พวกเพลี้ยไฟ หนอน เพราะแก้ปัญหาไม่ได้ เอาของตลาดมาฉีด ก็ไม่ได้ผล พอเข้ามากับอาจารย์แดง ก็มีพวกบุก กลอย ทำน้ำหมักอย่างนี้ฉีดพ่น 3 วันพ่นที มันก็ดี ของเราก็ไม่เสียหาย เราก็ปลอดภัยด้วย”


“ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก หมักขี้วัว ก่อนมาปลูก เขาสอนให้ทำขี้วัว ทำยังไงกี่เดือนถึงใช้ได้ ผลผลิตสวย อย่างทำลำไย เริ่มแรกเขาให้ขุดร่องก่อน แล้วเอาขี้ไก่ เอาฮอร์โมนไข่ไก่มาทำ เป็นปุ๋ยหมัก ทำร่อง มีหลายตัวทำให้มันมีลูก ผลลัพธ์ดีมาก ลูกสวย อร่อย คนกินติดใจ ถ้าใช้น้ำหมักของอาจารย์แดง ดีมาก แต่เราต้องใช้ติดต่อ ไม่ 3 วันก็อาทิตย์หนึ่ง ฉีดตลอด แมลงจะมาเฉยๆ แต่เขาไม่ได้มาทำลาย เราไม่ได้ฆ่าเขา ไล่ไปเฉยๆ”


ขณะที่ทองมูล แจ่มจันทร์ เกษตรกรบ้านหนองกระทิง การันตีผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ ทำรายได้ดีมาก“ผลดีมากๆ เลย สำหรับครอบครัว ตัวเราด้วย และคนที่ซื้อของเราไปกินด้วย ได้กินปลอดภัย ร่างกายไม่ค่อยเจ็บป่วย ไม่ต้องพึ่งยา รายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ ขายดีมาก ถึงจะไม่สวย ไม่เป็นไร ขอให้ปลอดภัย การลงทุนลงแรงก็คุ้มในแง่สุขภาพ”


ชาตรี สุพร เกษตรกรบ้านหนองกระทิง เป็นอีก 1 คน ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ตามลุงแดง พร้อมยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องยาก

“ตอนนี้ที่บ้านทำนา และปลูกพืชผักสวนครัวในการบริโภค พื้นที่มี 8 ไร่ ขุดสระไว้ 3 บ่อ และทำนาปี 3 ไร่ ที่เหลือปลูกพืชเศรษฐกิจ (ถาม-มารู้จักการทำเกษตรอินทรีย์ได้ยังไง?) เริ่มจากอยากทำ เราเลยตามหาปราชญ์ชาวบ้าน ที่เขาพาเราทำได้ เดินได้ เลยมาเจออาจารย์แดง ตอนแรกคิดว่าเขาเป็นคนพิการ พอมาคุยกับเขา เลยรู้ว่าคนนี้เป็นคนที่มีองค์ความรู้ ไม่ใช่นักวิชาการ เราเลยสัมผัสได้ว่า เราไม่ได้ต้องการแบบนั้น เราต้องการอะไรง่ายๆ ก็ปรึกษาเขาว่า อย่างเราไม่มีปุ๋ยไม่มีอะไร เราต้องสร้างดินยังไง เขาก็แนะนำในการปรุงดิน ปรับสภาพดิน โดยใช้วัตถุดิบในแปลงของเรา มาทำปุ๋ยได้ เลยทำให้เรารู้สึกว่ามันง่าย”


ลุงแดงไม่เพียงส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังหาวิธีให้ผู้สูงอายุมีรายได้อีกด้วย

“เราก็มองว่า คนที่เป็นปราชญ์ในชุมชน มารวมกัน อย่างคนทำตะกร้า ก็เป็นคนแก่นั่งเลี้ยงหลาน รายได้ก็ไม่มี ก็ไปเอาเขามา อย่างหน่อไม้ก็เป็นคนแก่ เรียกให้เขามาเป็นสมาชิก อย่างแฟง ก็เป็นอีกเจ้าหนึ่ง (ถาม-คำว่าสมาชิก เขาต้องมีส่วนร่วมอะไรกับเราบ้าง?) อย่างเราไปออกบูธที่เขาหินซ้อน รพ. ตลาด เราก็จะบอกเขานะว่า เอาสินค้ามานะ เขาจะเอามารวมคนละเล็กละน้อย เราก็มาวางรวมกันเป็นรูปแบบของวิสาหกิจ พอไปขายปุ๊บ ก็เกิดรายได้เข้ามา เราก็หักส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อน อีกส่วนหนึ่งก็เป็นของเขาไป เราจะทำวิถีนี้ เราจะไม่ค้ากำไรเกินควร”


ทุกวันนี้ ลุงแดงไม่ได้มีแค่ความพิการที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต แต่ยังมีโรคร้ายคุกคาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ลุงแดงเสียกำลังใจในการทำงานแต่อย่างใด


“ผมป่วยและติดเชื้อจากกระแสเลือดบ่อยเข้า มันแปรสภาพจากติดเชื้อในกระแสเลือด มันจะกลายเป็นเกล็ดเลือด ทางการแพทย์เรียกว่า เป็นมะเร็งในเกล็ดเลือดขาว”

แม้จะมีโรครุมเร้า แต่ลุงแดงยังคงทำหน้าที่เดินทางไปขายสินค้าเกษตรตามสถานที่ต่างๆ เป็นประจำตามช่วงเวลา เดือนละครั้งบ้าง บางครั้งเดินทางเข้ามาขายไกลถึงชานเมืองกรุงเทพฯ ย่านหนองจอก (ตลาดนัดคุณปู่) ซึ่งไกลจากบ้านที่ จ.ฉะเชิงเทรา มากถึง 150 กม.


“บางครั้งมีงานบุญ เราก็เอาของกลุ่มเราเอาไปให้กับโรงทาน เขาทำกับข้าว เราก็เอาของพวกนี้ไปช่วย (ถาม-รายได้พอต่อการดำเนินชีวิตไหม ไปขายเดือนละครั้ง และต้องแจกเขาด้วย?) ถามว่ามีไหม มันก็มีบางครั้งที่ช็อต บางครั้งกล้อมแกล้ม พอได้ พอมีอยู่มีกินบ้าง บางที อย่างหน่อไม้ เขาอยากกินหน่อไม้สด เขาก็มาซื้อ แต่ส่วนมากผมให้ไป ยิ่งให้ยิ่งได้มา ขาดทุนคือกำไร เมื่อวานผมเอาเห็ดไปให้เขา เขาก็แกงขี้เหล็กมาให้ผม ตรงนี้ก็ช่วยซัพพอร์ตเรื่องกับข้าว แต่ทีมงานที่ผมเอาไปให้ ผมรู้ที่มาที่ไปที่เขาเอาผลิตภัณฑ์มาส่งผม ดังนั้น ผมก็สามารถกินได้”

“(ถาม-อาจารย์ทำมา 6-7 ปีแล้ว มองอนาคตกับสิ่งที่ทำ เราคาดหวังหรืออยากเห็นอะไรในภายหน้า?) อยากเห็นมีโรงเรือนสักที่หนึ่ง และเอาสถานที่ของเราให้สมาชิกมาทำผักนอกฤดูกาล เพื่อสร้างเสริมรายได้ของเขา เพื่อกระตุ้น เรามีผลิตภัณฑ์นอกฤดูกาลนะ”


แม้พิการ ต้องสร้างคุณค่าความเป็นคนให้ตนเอง!

“(ถาม-อาจารย์มีข้อคิดอะไรเป็นสิ่งผลักดันให้ตัวเองลุกขึ้นมาสู้?) 1 เราเป็นคน เราก็ต้องสร้างค่าคำว่าคนให้ได้ ฉันมีลักษณะนี้ ฉันยังทำ ถึงได้น้อย ก็ทยอยทำไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะได้สิ่งดีๆ กลับมา”


“(ถาม-อาจารย์หาความสุขจากอะไร?) ที่ตัวเองก่อน สร้างกำลังใจจากตัวเองนี่แหละ เรามาทำงานให้มีความสุข เรามีอารมณ์ในการทำงานที่มีความสุขแล้ว เราก็ไม่ทุกข์แล้ว พอเราไม่ทุกข์ เราก็หยิบยื่นความไม่ทุกข์ไปให้คนอื่น”

หากท่านใดต้องการสนับสนุนสินค้า หรือสนับสนุนเงินสร้างโรงเรือน ติดต่อไปได้ที่ 085-433-1845 หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ชื่อบัญชี นายพรชัย หารศรี เลขที่บัญชี 016-252-581-469


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “ลุงแดง...เกษตรกรหัวใจแกร่ง”

https://www.youtube.com/watch?v=ee0x20_AZlU


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น