รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พาคุณผู้ชมไปพบกับเรื่องราวของครูนักพัฒนาที่โรงเรียนชายแดนไทย-พม่า ผู้ได้รับรางวัล “ครูดีเด่นชายขอบ” กับความสุขที่ได้เดินตามรอยเท้าพ่อ ในหลวง ร.9 ความสุขที่ได้ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส
คุณพจนพร จิตเจริญทวีโชค เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์ ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มา 9 ปีแล้ว โรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.3 มีนักเรียนกว่า 1,200 คน
ผอ.พจนพร เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาเป็น ผอ.โรงเรียนรุจิรพัฒน์ เมื่อปี 2551 โรงเรียนนี้ยังห่างไกลความเจริญและทุรกันดารมาก
“ผอ.เหมือนมาเปลี่ยนมาพลิกแผ่นดินที่นี่ แม้แต่สภาพแวดล้อมก็ไม่ใช่อย่างนี้ มาใหม่ๆ ต้นไม้ก็ไม่มี เราพลิกโฉมเลย ก็คุ้มค่ากับที่เราเหนื่อย 9 ปีที่นี่ เราเปลี่ยนให้เขาไม่เหลือซากเดิมเลย เดี๋ยวนี้ห้องน้ำสวย ไปดูสิ ทำเหมือนรีสอร์ทเลย” ผอ.พจนพร เล่าด้วยความภูมิใจที่สามารถพัฒนาโรงเรียนรุจิรพัฒน์ให้น่าอยู่ขึ้น
ไม่เพียงโรงเรียนแห่งนี้จะอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า แต่นักเรียนส่วนใหญ่ยังเป็นชาวกะเหรี่ยง-กะหร่าง-พม่า ที่ไม่ค่อยรู้ภาษาไทย ทั้งยังมีฐานะยากไร้อีกด้วย
“บ้านเป็นเพิง ที่รอรถเมล์ยังดีกว่าบ้านเด็ก และใน 1 บ้านนี่อยู่กันเป็นสิบๆ บ้านเหมือนกระต๊อบ เป็นเพิงหลังคา และมีพื้นนอน มีฝานิดหน่อย open เลย เข้าไปนี่เจอทุกห้อง ห้องกินห้องอะไรอยู่ตรงนั้นหมดเลย โดยเฉพาะบ้านเด็กพิการ เป็นอย่างนี้หมดส่วนใหญ่” ผอ.พจนพร ฉายภาพความยากจนของนักเรียนชายขอบ
ลำพังที่อยู่อาศัยก็สะท้อนถึงความอัตคัตขัดสนแล้ว เด็กๆ เหล่านี้ยังอยู่ในภาวะอดอยาก ไม่มีกิน ขณะที่หลายคนมีความพิการทางร่างกายด้วย ทางโรงเรียนจึงดูแลเรื่องอาหารการกินทั้ง 3 มื้อ เด็กหลายคนถึงกับบอกว่า ไม่อยากให้โรงเรียนปิด
“เด็กที่นี่ 260 กว่าคนที่มีภาวะโภชนาการต่ำกว่าเกณฑ์ ฉะนั้นต้องดูแลตั้งแต่อาหารเช้า และอาหารกลางวัน ใน 260 กว่าคนนี้ ส่วนเด็กพิการไม่ได้อยู่ใน 260 นะ แต่ ผอ.ให้เขากินข้าวเช้าที่นี่ และกลางวันให้เขา และอาหารกลางวันที่เหลือนี่ ให้แม่ครัวใส่ถุงรอไว้เลย มากี่คน 10 คนก็ 10 ถุง ฉะนั้นเด็กเหล่านี้ ผอ.ดูเขา 3 มื้อนะ อ้วนเลยนะ ปิดเทอมมานี่ผอมมากเลย หัวโต ผมยาว เขาบอกไม่อยากให้ รร.ปิด เพราะไม่มีกิน”
นอกจากดูแลเรื่องอาหารให้เด็กทั้ง 3 มื้อแล้ว ผอ.พจนพร ยังจัดงานระดมทุนเพื่อสร้างห้องเรียนให้เด็กพิการ รวมทั้งตั้งกองทุนเพื่อดูแลเด็กๆ เหล่านี้ด้วย
เมื่อปัญหาของเด็กชายขอบคือไม่รู้ภาษาไทย ส่งผลให้เด็กไม่ค่อยสนใจเรียนในแง่วิชาการ ผอ.พจนพร จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสอนวิชาชีพให้ด้วย เพื่อตอบสนองทั้งความต้องการของเด็กและผู้ปกครอง ที่มองว่า อาชีพสามารถนำมาซึ่งรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว
โรงเรียนรุจิรพัฒน์ เป็น 1 ในโรงเรียนขาดแคลนที่โชคดีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ร.9 ทรงคัดเลือกให้เข้าโครงการโรงเรียนกองทุนพระเจ้าอยู่หัว
“โรงเรียนกองทุนพระเจ้าอยู่หัว ท่านตั้งตั้งแต่ปี 2554 เมื่อครั้งพระองค์ประชวรอยู่ที่ รพ.ศิริราช ท่านมีรับสั่งให้องคมนตรีเข้าเฝ้า พระองค์บอกจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก้อนหนึ่ง เพื่อให้องคมนตรีไปดูแลโรงเรียนที่ขาดแคลน เขาก็ตระเวนหากัน รอบแรกไม่ได้มาที่เรา ...พระเจ้าอยู่หัวฝากให้สร้างเด็กดีให้กับบ้านเมือง ถ้าเด็กดีแล้ว เก่งจะตามมาเอง พระองค์ไม่ได้เน้นคนเก่ง ...รุ่นแรกสำเร็จ ก็มีรุ่นที่ 2 ก็มาที่รุจิรพัฒน์ รับเป็นกองทุนการศึกษารุ่นที่ 2 รร.กองทุนฯ ทำอะไรบ้าง เน้นคุณธรรมเป็นอันดับแรก เน้นความดี ไม่ใช่ความเก่ง ให้ครูและ ผอ.ทั้งโรงเลยไปอบรม 1 สัปดาห์ มีวิทยากรมาถ่ายทอด เน้นสร้างเด็กดี คือเรื่องคุณธรรม เรียกว่าโรงเรียนคุณธรรม...” ผอ.พจนพร เล่าด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.9
ผลจากการทุ่มเทพัฒนาโรงเรียนของ ผอ.พจนพร ทำให้โรงเรียนรุจิรพัฒน์ได้รับรางวัลทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด ขณะที่ตัว ผอ.เอง ก็ได้รับรางวัล “ครูดีเด่นชายขอบ” เช่นกัน
“ไม่ได้เป็นคนสนใจรางวัลหรอก ...เรามุ่งทำเกี่ยวกับ รร.เกี่ยวกับเด็กมากกว่า ไม่ได้ทำเพื่อตัวเรา ที่ได้มา ก็โอเค เป็นความภูมิใจนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ที่สุดของชีวิต ...ที่สุดคือการที่เราได้ทำงาน ผอ.รู้สึก เราโชคดีมากนะ และเราได้ทำงานรับใช้พระเจ้าอยู่หัว เราเดินตามรอยเท้าพ่อ อยู่อย่างพอเพียง เรียบง่าย ประหยัด แล้ว ผอ.ใช้แนวปรัชญา ศก.พอเพียง มาดำเนินชีวิต ...และเราได้ทำอะไรที่เราอยากทำ พอทำแล้วมันเห็นผลน่ะ ทำแล้วมันเป็นประโยชน์กับคนอื่น โดยเฉพาะกับเด็กด้อยโอกาส ผอ.ถือว่าเราโชคดีนะที่เราได้ทำ” ผอ.พจนพร ย้ำที่สุดของชีวิตไม่ได้อยู่ที่รางวัล แต่อยู่ที่ได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น
หากท่านใดต้องการสานฝันของเด็กชายขอบให้มีอนาคตที่สดใส สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาสวนผึ้ง ชื่อบัญชี โครงการกองทุนช่วยเหลือเด็กพิการและด้อยโอกาสโรงเรียนรุจิรพัฒน์ เลขบัญชี 729-033-237-7
ติดตามรับชมรายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1