นางสุภาพร ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (บลจ.กรุงศรี) เปิดเผยว่า ปีนี้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกมีความชัดเจนมากขึ้น Earnings ของตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยตลาดคาดว่าจะโตที่ 10% ซึ่งตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนายังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว แนะลงทุนกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้นประเทศกำลังพัฒนา และหุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว
“สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ IMF คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.9% โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มขยายตัวได้ 1.4% นำโดยสหรัฐฯ ในส่วนของ GDP กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเติบโต 4% ซึ่งปรับลดจากคาดการณ์เดิมจากความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็น้อยลงเช่นกัน ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ คาดว่าไทยจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้มากขึ้นจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ดีขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี 2567 เงินบาทจะอยู่ที่ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ”
“แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาเพราะมีแนวโน้มที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนายังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว และการฟื้นตัวของ Earnings ช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย” นางสุภาพรกล่าว
นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า "ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย โอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลงเหลือประมาณ 50% ภาพรวมอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบทุกประเทศทั่วโลกในปีนี้จะเริ่มเข้าสู่วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ทยอยปรับตัวลดลงตามลำดับ ขณะที่ความตึงตัวของตลาดแรงงานเริ่มคลี่คลายลงเช่นกัน คาดว่าเฟดจะยังคงมีการปรับลดปริมาณถือครองพันธบัตร ซึ่งถือได้ว่ายังคงใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเหลืออยู่บ้าง"
“อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงรวมตลอดทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 75-150 bps นั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีความผันผวนรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ที่อาจทำให้เกิดแรงเทขายขึ้นได้เป็นระยะ ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาได้เช่นกัน”
“ด้านเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัว 3.7% (ยังไม่รวมผลของนโยบาย Digital Wallet) โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3.8% ภาคการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต 5.3% ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในตลาดหลักที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน ขณะที่การส่งออกไปยังจีน และยุโรปปรับตัวลดลง การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ส่วนเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.47% ในปีนี้ จากระดับ 1.3% ในปีที่แล้ว ในส่วนของปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบาย Digital Wallet และภัยแล้งจากเอลนีโญ”
“สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 2567 คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหนึ่งครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ขึ้นกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นหลัก”
“ตลาดหุ้นไทยปี 2567 ยังมีความน่าสนใจจากการปรับตัวลดลงมาและมีอัตราการเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยปัจจัยบวกสำคัญในระยะสั้นคือความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล คาดการณ์ว่าแนวโน้มหุ้นไทยจะได้รับผลบวกจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึงค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น และมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยหลังจากขายออกไปกว่า 1.92 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า SET Index ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 1,552 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 9.61% จากสิ้นปี 2566 บนสมมติฐาน EPS ที่ 96.8 บาท และค่า PER ที่ 16 เท่า”
“แนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศปี 2567 มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นหากเปรียบเทียบกับช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแต่อาจมีความผันผวนอยู่บ้าง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ได้ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่น่าลงทุนมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปและอยู่ในระดับขอบล่างของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ร้อยละ 1.00-3.00 ดังนั้น กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนมีโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้อีก การปรับอายุคงเหลือเฉลี่ยกองทุนด้วยกลยุทธ์เชิงรุกช่วยเพิ่มโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุนได้จากความผันผวนของตลาดตลอดทั้งปี ทั้งนี้ แนะนำให้เพิ่มการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือเฉลี่ยที่ยาวขึ้นควบคู่ไปกับการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพดี”
*+ชี้เป้าอินเดีย-เวียดนามน่าสนใจ**
“ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในปี 2567 ได้แก่ 1. การลงทุนในตราสารหนี้เพราะได้ประโยชน์จากการที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ กลับตัวเป็นขาลง โดยมีกองทุนแนะนำ คือ KFTRB และ KF-CSINCOM 2. การลงทุนในตลาดประเทศกำลังพัฒนาซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัว โดยมีกองทุนแนะนำ คือ KF-EM, KFINDIA และ KFVIET 3. การลงทุนหุ้นคุณภาพสูงที่มีหนี้อยู่ในระดับต่ำ มีอัตราการทำกำไรสูง มีกระแสเงินสดดี และมีความทนทานในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ดี โดยมีกองทุนแนะนำ คือ KFGBRAND 4. การลงทุนในกลุ่มที่มีปัจจัยบวกโดดเด่นเฉพาะตัว เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่าตลาดโดยรวม รวมถึงปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์และการฟื้นตัวของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีกองทุนแนะนำคือ KFHTECH 5. การลงทุนในหุ้นไทยที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี”
“สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2567 นั้น นักลงทุนควรให้ความสำคัญต่อการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ แนะนำให้นักลงทุนสร้างพอร์ตการลงทุนหลัก (Core Portfolio) ด้วยกองทุนกรุงศรี The One ทางเลือกที่ตอบทุกเป้าหมายผลตอบแทน โดดเด่นด้วยการผสานจุดแข็งของกลุ่มกรุงศรีและพันธมิตรด้านการลงทุนระดับโลก มีการคัดสรรกองทุนเด่นที่มีผลงานดีเข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุน มีการกระจายการลงทุนทั่วโลก ปรับพอร์ตอย่างรวดเร็ว โดยกรุงศรี The One มี 3 กองทุนให้เลือกลงทุนตามเป้าหมายผลตอบแทนที่ต้องการและระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ มีตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง ได้แก่ KF1MILD ที่มีเป้าหมายผลตอบแทนในการชนะเงินเฟ้อ KF1MEAN เน้นรักษาสมดุลของผลตอบแทนและความเสี่ยง และ KF1MAX ที่เน้นโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและลงทุนตามธีมที่โดดเด่นจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตที่ดีของพอร์ตการลงทุนในระยะยาวได้” นายศิระกล่าว
นางสุภาพรกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปี 2566 ที่ผ่านมานั้น กองทุนรวมยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยมี AUM ประมาณ 73% ของ AUM รวม ซึ่งการเติบโตที่แข็งแกร่งในปีที่ผ่านมาได้รับประโยชน์จากเงินลงทุนที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่องมูลค่ารวมกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะเงินลงทุนในกองทุน Term fund กองทุน FIF และกลุ่มกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ กองทุนรวมของ บลจ.กรุงศรี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรม มีอัตราการเติบโตที่ 6% (อุตสาหกรรม 5.46%) ด้านฐานลูกค้าก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 4 หมื่นบัญชี คิดเป็น 9% ของฐานลูกค้าในปีก่อน นอกจากนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา บลจ.กรุงศรียังได้รับมอบรางวัลจากสถาบันชั้นนำระดับสากล จำนวนรวมทั้งสิ้น 9 รางวัล ได้แก่ รางวัลบริษัทจัดการกองทุนรวมดีเด่น ผู้จัดการกองทุนรวมดีเด่น รางวัลกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพประเภทกองทุนตราสารหนี้ดีเด่นจากกองทุน KFMTFIRMF และรางวัลกองทุนรวมเพื่อการออมดีเด่นจากกองทุน KFENS50SSF สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศักยภาพและความเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการกองทุน” (ข้อมูล : AIMC / บลจ.กรุงศรี ณ 28 ธ.ค. 66)
“สำหรับปี 2567 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการกองทุนควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ให้ความสำคัญต่อการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในวงกว้าง เน้นการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิทัล โดยเฉพาะบน @ccess Mobile เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งลูกค้ากองทุนรวมและลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งเพิ่มตัวแทนขายอิสระให้มากขึ้นเช่นกัน สำหรับแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้จะมีการเสนอกองทุนขาย Thai ESG และกองทุนกลุ่ม FIF ที่มีความน่าสนใจและเหมาะกับสภาวะตลาดเพิ่มเติม โดยเร็วๆ นี้จะมีการเสนอขายกองทุนที่มีการกระจายลงทุนในหุ้นโลกคุณภาพดี เป็นต้น” นางสุภาพรกล่าว