โดย นายชยุต เลาหคุณากร
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ปี 2566 อาจเป็นปีที่ไม่สดใสนักสำหรับนักลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ หรือยุโรป ยังทรงตัวในระดับสูงไม่ได้ลดลงเร็วอย่างคาดไว้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเติบโตได้ดี ไม่มีสัญญาณที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางของกลุ่มยูโรจำต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น เพื่อความพยายามกดเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในกรอบที่เหมาะสมให้ได้ ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ต่างประเทศปรับลดลงโดยภาพรวมและอาจสร้างผลขาดทุนให้นักลงทุนในปีนี้ แล้วปี 2567 ตราสารหนี้ต่างประเทศจะเป็นอย่างไร? ผู้เขียนขอชวนคิดสัก 3 ประเด็นที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการกลับมาของตราสารหนี้ต่างประเทศ
ประเด็นที่หนึ่ง ธนาคารกลางสหรัฐฯจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วหรือยัง? ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับลดลงแรงอีกครั้งหลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่าความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน อาจทำให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อได้อีก กดดันให้อัตราผลตอบแทน (Yield) พันธบัตร 10 ปี ปรับขึ้นไปแตะระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยได้เห็นนับตั้งแต่ปี 2550 แต่ภาพดังกล่าวเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วในเดือนพฤศจิกายน จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พร้อมใจกันออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด นักลงทุนในตลาดจึงปรับมุมมองว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2566 คงไม่เห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว และบางที ณ ระดับปัจจุบันอาจจะเป็นจุดสูงสุดของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้แล้วก็ได้
ประเด็นที่สอง ในปีหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงหรือไม่? โอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยคงขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจว่าจะส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนจนธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศล่าสุดพบว่า ทั้ง อัตราว่างงาน การจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราค่าแรงรายชั่วโมง ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เช่นเดียวกันกับการบริโภคที่เริ่มเห็นตัวเลขยอดค้าปลีกและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัว สอดคล้องกับมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2567 ของนักวิเคราะห์การลงทุนต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะปรับลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ระดับการปรับลดจะต่างกันไปตามฉากทัศน์ของแต่ละที่ เช่น Morgan Stanley คาดว่า จะเริ่มมีการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายนปีหน้าและอีกครั้งในเดือนกันยายน หลังจากนั้นจะลดอัตราดอกเบี้ยทุกรอบที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินจนถึงปลายปี 2568 และระดับดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5% โดยมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตไม่ดี ขณะที่ Goldman Sachs คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และจะมีการลดทุกไตรมาสจนถึงกลางปี 2569 สู่ระดับ 3.5-3.7%
ประเด็นที่สาม ความเสี่ยงของการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ที่จะทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้คุณภาพสูงปรับเพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์การลงทุนต่างประเทศคิดว่ามีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยน้อยลง แต่ข้อสังเกตที่น่าติดตาม คือ Financial Condition ในไตรมาสที่ 3 เข้มงวดกว่าไตรมาส 2 โดยเฉพาะตัวเลขการอนุมัติสินเชื่อในสหรัฐฯโดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Commercial Real Estate) และกลุ่มออฟฟิศซึ่งได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการทำงานและการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปหลังจากการล็อกดาวน์ แนวโน้มที่สูงขึ้นของอัตราการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อยานพาหนะ และความเสี่ยงของราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจากภาวะสงครามอิสราเอล-ฮามาส หากขยายวงกว้างและรุนแรงขึ้น อาจพาเข้าสู่เศรษฐกิจโลกถดถอยได้ทันที
แม้ว่าสามประเด็นดังกล่าวน่าจะส่งผลบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้ แต่ผลการลงทุนมักจะไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้ทั้งหมด ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ดังนั้นนักลงทุนทุกท่านควรศึกษาหาข้อมูลและพิจารณาทั้งความคาดหวัง ความเสี่ยง ปัจจัยบวก ปัจจัยลบ ให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง และนักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลขาดทุนหนักหากสิ่งที่เราคิดไว้ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
Disclaimer บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียน มิใช่คำแนะนำการลงทุน ผู้ลงทุนควรติดต่อผู้แนะนำการลงทุนและศึกษาข้อมูลการลงทุนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน