นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพกองทุนรวมไทยปี 2565 มีมูลค่าทรัพย์สินรวม (AUM) 4.9 ล้านล้านบาท หดตัว 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) หากไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund จะมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.8 ล้านล้านบาท หดตัว 11.1% จากสิ้นปี 2565 แต่เพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสสุดท้ายของปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีเป็นเงินไหลออกสุทธิ 2.0 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นรวมถึงปัจจัยลบต่างๆ ยังคงฉุดเม็ดเงินลงทุนในกองทุนรวมให้เติบโตได้ไม่เต็มที่มากนัก ส่วนกองทุนหุ้นไทยปี 2565 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 2.3 แสนล้านบาท ลดลง 1.8% จากสิ้นปี 2564 แต่สูงขึ้น 5.4% จากไตรมาสที่ 3 ด้านทิศทางเม็ดเงินลงทุนในไตรมาสสุดท้ายเป็นเงินไหลเข้า 490 ล้านบาท รวมทั้งปีมีเงินไหลออกสุทธิ 6.6 พันล้านบาท ขณะที่กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% จากสิ้นปี 2564 และ 32.7% จากไตรมาสก่อน ในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้ามากกว่าทุกไตรมาสอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดิมที่มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าปีที่แล้วประมาณ 600 ล้านบาท รวมทั้งปีเป็นเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนเงินลงทุนจากกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ในปี 2017 ที่ครบอายุไถ่ถอนในปีนี้มีทั้งสิ้น 3.7 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินลงทุนดังกล่าวไถ่ถอนออกมาเพียง 3.5 พันล้านบาทเท่านั้น เชื่อว่าการไถ่ถอนเงินลงทุนดังกล่าวในปีนี้จะไม่กระทบดัชนีหุ้นไทยแน่นอน โดยจะมีภาพคล้ายกับช่วงปีที่ผ่านมาที่ดัชนียังเติบโตได้ต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว
โดยกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีมูลค่าทรัพย์สินหดตัวลงเกือบ 4% ซึ่งเกิดจากเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องใน 3 ไตรมาสแรก แต่กลับมีเงินไหลเข้าได้ในไตรมาสสุดท้ายที่ 1.7 พันล้านบาท อาจไม่มีนัยต่อกลุ่มเนื่องจากขนาดที่ใหญ่ถึงระดับ 6 แสนล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออกสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาท
บลจ.กสิกรไทยยังคงเป็นผู้นำตลาดด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย (ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) บลจ.ไทยพาณิชย์อันดับ 2 ส่วนบลจ.บัวหลวงอันดับ 3 มีการหดตัวของมูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่ารายอื่นใน 10 อันดับแรก ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ บลจ.กรุงไทยมีมูลค่าทรัพย์สินลดลงในอัตราที่สูงกว่ารายอื่น29% เกิดจากมูลค่ากองทุนตราสารหนี้ที่หดตัวลง จึงเป็นเหตุให้ บลจ.กรุงไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงไปอยู่ที่ 7.6%