โดย ทีมจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด
NASDAQ Composite และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเริ่มปรับตัวลง ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2021 หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเร่งตัวสูงขึ้นกว่า 7% ไม่ใช่ “Transitory Inflation” ตามที่หลายฝ่ายมองไว้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (Quantitative Easing) และการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาลกลางผ่านมาตรการต่างๆ ตลอดทั้งการแจก Stimulus Check เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ด้วยท่าทีที่ยืดเยื้อของอัตราเงินเฟ้อ ได้สร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หันมาส่งสัญญาณที่จะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดการถือครองทรัพย์สิน (Quantitative Tightening) เพื่อดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบเศรษฐกิจและชะลออุปสงค์ของผู้บริโภค
ณ ปัจจุบัน เศรษฐกิจทั่วโลกต่างถูกรุมล้อมจากหลายปัจจัย ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนภูมิภาคยุโรปกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน ประเทศจีนกับอสังหาริมทรัพย์และนโยบาย Zero-COVID 19 ตลอดจนสหรัฐอเมริกากับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้บริโภคในระดับที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของแต่ละปัญหา ตลอดจนถึงสภาพทางการเงินและความพร้อมของผู้บริโภค โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาของเดือนกันยายน (CPI) ที่ระดับ +8.2% YoY ได้สะท้อนถึงสัญญาณการชะลอตัวลดลงสามเดือนติดต่อกัน หลังจากแตะจุดสูงสุดที่ +9.1% YoY ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ที่ยังต้องจับตามองคือตัวเลข Core CPI +6.6% YoY ในเดือนล่าสุดที่เร่งตัวขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 1982 โดยสาเหตุหลักมาจากค่าเช่าบ้านและภาคการบริการที่ร้อนแรงอย่างไม่หยุดหย่อน
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยตลาดให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.75% ต่อรอบการประชุมสำหรับ 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ทำให้ Fed Fund Rate ณ สิ้นปี 2022 จะอยู่ที่ 4.50-4.75% ในส่วนปี 2023 อัตราดอกเบี้ยจะไปแตะที่ระดับ 5% ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงจากฐานที่อยู่สูงของปีนี้และความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้นตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การผ่อนคันเร่งนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้น ลดแรงกดดันต่อมูลค่าพื้นฐานและต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะกับหุ้นกลุ่มเติบโตและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาสูง
เมื่อนำภาพใหญ่มาประกอบกับตัวเลขตลาดแรงงานและผลการดำเนินงานล่าสุดใน 3Q22 ของกลุ่มธนาคารและท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกาจะพบว่า การใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการมีการขยายตัวมากที่สุด ขัดแย้งกับภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ดูเปราะบาง นี่เป็นสิ่งที่แสดงถึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง และผลกระทบจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในวงที่จำกัด ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณอัตราการออมเงินที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นค่าจ้าง และความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน
อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าประเมินในช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป ดังนั้น เพื่อที่จะควบคุมและบริหารความเสี่ยงหล่านี้ การเลือกจังหวะในการลงทุนและการคัดเลือกหุ้นจึงถือเป็นส่วนสำคัญ จากทิศทางของโลกในปัจจุบันและเทรนด์อนาคต นำมารวมกับนโยบายของทางภาครัฐ จะสามารถสรุปภาพใหญ่ของการลงทุนได้ ดังนี้
(1) Large-Cap Companies with Leading Market Share ที่มีกำไรมั่นคงจากฐานลูกค้ารอบโลกและความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง
(2) Resilient Earnings from Brand Stickiness and Pricing Power ซึ่งจะทำให้สามารถปรับราคาเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภคและรักษาอัตรากำไร
(3) Cloud and Software for Digital Transformation ที่เป็นสิ่งจำเป็นในการเติบโตและแข่งขันของบริษัทในโลกยุคใหม่
(4) EV and Battery ที่ประเทศทั่วโลกต่างเห็นตรงกันถึงภัยของสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสหรัฐอเมริกาที่มีผ่านกฎหมาย Infrastructure Bill กับ Inflation Reduction Act เพื่อให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่ทำธุรกิจพลังงานสะอาดทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งหมดนี้ จากทิศทางของโลกปัจจุบัน NASDAQ 100 สามารถตอบโจทย์ได้ครอบคลุมที่สุด ทั้งการได้ลงทุนในบริษัทพื้นฐานดี อัตราการทำกำไรสูง เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมของเทรนด์โลกอนาคต และได้กระจายความเสี่ยงไปพร้อมกันท่ามกลางสภาพแวดล้อมของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น รายได้และกำไรของ NASDAQ 100 คาดว่ายังสามารถขยายตัวได้ โดยในปี 2023 และปี 2024 รายได้จะเติบโต 8% และ 9% ส่วนกำไรจะเติบโต 13% และ 15% ตามลำดับ แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะไม่เท่ากับช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม ในส่วนของราคา ณ ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าความกังวลของนักลงทุนต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้สะท้อนเข้าไปในราคามากแล้ว พิจารณาจาก P/E Ratio ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 22x ซึ่งใกล้เคียงกับระดับต่ำสุด 21.5x (มีนาคม 2020) หลังจาก COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดรอบโลก หรือถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 28.9x ก็จะอยู่ต่ำกว่า -1x ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ถือได้ว่ามี Margin of Safety ดังนั้น NASDAQ 100 จึงเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นทั้งสำหรับการเก็งกำไรระยะสั้นและการเก็บทยอยสะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว