xs
xsm
sm
md
lg

เงินบาทอ่อนค่าน่ากังวลไหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด

สหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนสิงหาคมที่ 8.3% เทียบกับปีก่อน ซึ่งมากกว่าตลาดคาดที่ 8.1% และหากไม่นับรวมผลจากราคาอาหารและพลังงาน เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) จะอยู่ที่ 6.3% มากกว่าตลาดคาดที่ 6.1% เช่นกัน จะเห็นว่าถึงแม้ราคาพลังงานจะปรับตัวลงมาบางส่วนแล้ว แต่ราคาของอาหารที่แพงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่ปรับตัวลงมา ซึ่งทำให้ FED มีแนวโน้มจะยังคงปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดมองว่า FED มีโอกาสที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในครั้งถัดไปที่ 75 bps และเริ่มให้น้ำหนักกับการที่จะเพิ่มถึง 100 bps จากสถานการณ์นโยบายการเงินในสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่ผ่อนคลายลง วันนี้ผมเลยอยากเล่าผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อกระแสเงินที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยกันครับ

อย่างที่ทราบกันว่าเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงยังเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำที่ 0.75% เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัว ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ 2.5% และมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องและอาจจะมีโอกาสไปถึง 4.5% ในสิ้นปีนี้ จะเห็นได้ว่าถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เกิดขึ้นก็จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ และเนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วกระแสเงินจะไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเสมอ เมื่อการฝากเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ผลกระทบที่จะตามมาคือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการอ่อนค่าลงของเงินบาท

อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวของเงินบาทจะไม่ได้รุนแรงเหมือนในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาที่นับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทได้อ่อนค่าไปแล้วถึง 9.5% ที่เชื่อเช่นนั้น ประเด็นแรกคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย โดยเฉพาะการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากภาคการท่องเที่ยวที่จะช่วยให้ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงในช่วงปลายปี ส่วนประเด็นถัดมา คือการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเองนั้นเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ทั้งจากนโยบายการเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เราน่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นครั้งละ 75 bps ในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อาจจะไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปกับสถานการณ์ที่ปริมาณเงินทุนสำรองของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในช่วงครั้งปีหลัง ทำให้ประเทศไทยอาจจะไม่ต้องพึ่งการแทรกแซงค่าเงินบาทจากธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมมองว่าโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะหันหลังให้ตลาดประเทศไทย เนื่องจากความกังวลในเรื่องของเงินบาทอ่อนค่านั้นยังมีโอกาสค่อนข้างน้อย และยังมองว่าตลาดทุนของประเทศไทยที่กำลังฟื้นตัวยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ ในขณะที่ตลาดในฝั่งตะวันตกต้องรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ที่กำลังทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนในตลาดจีนก็ยังได้รับแรงกดดันจากมาตรการ Zero Covid และปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม จากการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยตามขึ้นไปด้วย ซึ่งนักลงทุนก็น่าจะต้องคอยติดตามว่าเศรษฐกิจประเทศไทยที่กำลังฟื้นตัวจะสามารถแบกรับภาระต้นทุนตรงนี้ได้ขนาดไหนด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น