อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัยมั่นใจเบี้ยปีนี้ 6.2 พันล้าน โต 10% รับกระแสผู้บริโภคเลือกบริษัทประกันภัยที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมรุกขยายฐานสินค้าสุขภาพและเพิ่มความร่วมมือหลังควบกิจการเอ็ทน่าประกันภัยสุขภาพ ชู 3 ช่องทางทั้งตัวแทน/โบรกเกอร์ ช่องทางแบงก์ และพันธมิตรธุรกิจ 3 เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนยอดขาย ระบุเงินเฟ้อไม่กระทบต้นทุนดำเนินงานภาพรวมเบี้ยประกันยังไม่ปรับขึ้น
มร.ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย เปิดเผยว่า ปีนี้เบี้ยประกันภัยรับรวมของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.2 พันล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 10% ซึ่งเป็นตัวเลขก่อนที่เราจะควบรวมกับบริษัทเอ็ทน่าประกันสุขภาพ แต่ถ้าดูตัวเลขจนถึงเดือนเมษายนจะพบว่าบริษัทมีอัตราการเติบโตในตัวเลข 2 หลักแล้ว โดยปีนี้ถึงแม้จะเป็นปีที่ท้าทาย แต่ก็เป็นปีที่ลูกค้ามองหาแบรนด์ประกันที่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง จึงเป็นโอกาสของเรา และปีนี้แผนงานในการขยายฐานลูกค้าของเราจะเน้น 3 ช่องทางด้วยกัน คือ 1. ตัวแทน/โบรกเกอร์ เน้นที่ตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 2. พันธมิตรธุรกิจ โดยเฉพาะธนาคารกรุงศรีฯ ที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมาก รวมถึงธนาคาร ttb ที่จะเพิ่มศักยภาพในช่องทางธนาคารมากขึ้น สุดท้ายช่องทางที่ 3 กลุ่มลูกค้าองค์กร
"เรามีเครื่องยนต์ 3 ตัวหลักสำหรับช่องทางการขายที่เราให้ความสำคัญ แต่การจะไปให้ถึงตามเป้าหมายเราจะมีกลยุทธ์หลักอีก 3 ด้านเป็นการผลักดันให้เครื่องยนต์ทำงาน โดยสิ่งแรกคือช่องทางการจำหน่าย เราเพิ่งผ่านการควบรวมและเพิ่งวางรากฐานเพื่อทำให้ทั้ง 3 ช่องทางมั่นคงแข็งแกร่งเพื่อจะวิ่งทำงานต่อไปได้ เสาที่ 2 คือการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าด้วยดิจิทัล AI เข้ามาพัฒนาเพื่อบริการ ซึ่งจะต้องบริหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้พันธมิตรธุรกิจเดินไปในแนวทางเดียวกัน และทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี 3. การรีบาลานซ์เพื่อปรับพอร์ตธุรกิจให้มีความสมดุลมากขึ้นหลังจากมีการควบรวมกับเอ็ทน่า รวมถึงการคัดเลือกคนที่มีศักยภาพเดินไปด้วยกันกับบริษัทได้ตามเป้า" มร.ลาร์สกล่าว
สำหรับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นบริษัทมองว่ายังไม่กระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานที่จะทำให้อัตราเบี้ยประกันโดยรวมปรับตัวขึ้น ซึ่งบริษัทมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพราะเงินเฟ้อเกิดขึ้นในระดับมหภาค และในช่วง 6-12 เดือนที่ผ่านมามีการพูดถึงปัญหานี้มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีผลกระทบให้เห็นออกมาในช่วงเริ่มต้นบ้างแล้ว แต่เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คงต้องจับตาดูอีกสักระยะหนึ่งว่าเมื่อสถานการณ์เบาบางลงจะเกิดอะไรขึ้นกับต้นทุนการดำเนินงานหรือเปล่า โดยหากดูจากในอดีตช่วงที่เกิดโควิดก็มักจะมีผลกระทบช่วงแรก และในปีนี้เชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อก็น่าจะค่อยคลี่คลายลงได้เช่นเดียวกัน
มร.ลาร์สกล่าวอีกว่า แนวทางการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมนั้น บริษัทยังไม่มีแผนเพิ่มเติม แต่ในอนาคตหากมีโอกาสเกิดขึ้นอาจมีการพิจารณาอีกครั้ง เพราะทางกลุ่มอลิอันซ์ไม่เคยปิดโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทจะเน้นการดูแลธุรกิจและลูกค้าของบริษัทเป็นหลักก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนของการดูแลธุรกิจนั้น บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่คาดว่าจะตอบโจทย์และเป็นนวัตกรรมให้แก่ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาแบบประกันเพื่อคุ้มครองผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในอนาคต เพราะในช่วงที่ผ่านมาอลิอันซ์ได้มีการเปิดขายความคุ้มครองรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วที่ประเทศอังกฤษ และสิงคโปร์ โดยไทยน่าจะเป็นอีกประเทศที่จะมีแบบประกันนี้ออกมารองรับภายหลังที่นโยบายของรัฐบาลไทยมีความพยายามผลักดันการใช้รถยนต์ประเภทนี้มากขึ้น
2. สินค้าสุขภาพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แต่เรื่องสุขภาพไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ ยังมีบริการอื่นๆ ที่บริษัทมอบให้ลูกค้าได้ เช่น การปรึกษาแพทย์ผ่านออนไลน์ และการที่บริษัทมีเอ็ทน่าประกันสุขภาพเข้ามาจะช่วยต่อยอดบริการสุขภาพได้ และอาจมีออปชันของแบบประกันภัยที่มีบริการเสริมในการดูแลลูกค้ามากขึ้น ส่วนสุดท้ายคือการประกันภัยไซเบอร์ ก็น่าจะมีการพัฒนาออกมาเสริมมากขึ้นในอนาคต