xs
xsm
sm
md
lg

แผลเป็นทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตทางเศรษฐกิจนั้นนอกจากจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ในระยะสั้นแล้วยังอาจจะกระทบเศรษฐกิจในระยะยาวได้เช่นกัน หากเราลองย้อนกลับไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน ทุกครั้งหลังจากที่เราเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะแผ่วลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า คำถามสำคัญที่เรากำลังเผชิญ นอกเหนือจากการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และการประคองเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว เราควรคำนึงถึงผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจจะส่งผลต่อภาพการลงทุนในระยะยาวเช่นกัน


เวลาที่เกิดวิกฤตนั้น ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นก็คือจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ว่าจะจากการเลิกจ้างหรือกิจการที่ต้องหยุดตัวลง ปัญหานี้ได้นำไปสู่ปัญหาด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่ชะลอตัวลงตามรายได้ที่ลดลง หนี้สินที่เพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้อาจจะถูกแก้ไขได้เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมา แต่ในวิกฤตครั้งนี้อาจจะไม่เหมือนเดิมก็ได้ เมื่อหลายธุรกิจต้องทำการปรับตัวและมักจะมุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ลูกจ้างต้องสามารถทำงานได้หลากหลายและมีทักษะมากขึ้น อาจจะทำให้แรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวหรือยังขาดโอกาสไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบได้เร็วนัก นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดสร้างความท้าทายให้แก่ระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เมื่อการเรียนการสอนไม่สามารถทำได้ตามห้องเรียนตามปกติส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้นั้นลดลง และท้ายที่สุดแล้วปัญหาเหล่านี้จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มขึ้นได้

หากเราย้อนกลับไปดูในอดีต ในช่วงต้มยำกุ้งเศรษฐกิจเราติดลบ 2 ปี และใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีกว่าเศรษฐกิจจะกลับไประดับก่อนวิกฤต ช่วงแฮมเบอร์เกอร์เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไม่มากนักเศรษฐกิจติดลบไปแค่ปีเดียวแล้วกลับมาอย่างรวดเร็วในปีถัดไป แต่จากการระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจหลายตัวของไทยต้องดับไป ผมคิดว่ากว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าที่คงต้องปลายปี 2566 แต่หลังจากนี้ไปประเทศไทยจะเติบโตไปทางไหนต่อคงเป็นคำถามที่เราควรต้องกลับมาช่วยกันทบทวนให้ดีอีกครั้งครับ

โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น