xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” แนะ 5 ทางแก้ ทวงเงินเยียวยาคนทำงาน-ลูกจ้างพื้นที่สีแดงเข้ม ชี้ต้องได้รับทั้งหมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หน.พรรคกล้า เสนอ 5 ทางแก้ ทวงเงินเยียวยาให้คนทำงาน-ลูกจ้างทุกประเภท ในพื้นที่สีแดงเข้ม ต้องได้รับการเยียวยาทั้งหมด


วันนี้ (6 ส.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ทวงเงินให้ “คนทำงาน” ภาค 2 หลังจากที่ได้โพสต์ทวงเงินเยียวยาประกันสังคมไปแล้วเมื่อวานนี้ ปรากฏว่า มีคำถามจากคนทำงานต่อรัฐบาล หลั่งไหลเข้ามามากมาย ล้วนเป็นเสียงสะท้อนข้อบกพร่อง และความไม่ยุติธรรมของมาตรการรัฐบาล ปัญหา-ระบบ Data ต้องลงทะเบียนซ้ำซาก ทั้งๆ ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว, ประเมินความเดือดร้อนไม่ครอบคลุมทุกคน คนนอก 9 ประเภทกิจการถูกมองว่าไม่เดือดร้อน, อยู่ในพื้นที่แดงเข้มแท้ แต่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ไม่มองว่าธุรกิจมันต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เดือดร้อนทุกประเภท, ทำไม จ่ายแค่ 1-2 เดือน ทั้งที่ปิดมานานมากแล้ว และดูเหมือนจะต้องปิดอีกนาน

นายกรณ์ กล่าวว่า ยังมีปัญหาข้อมูลภาครัฐไม่ลงรายละเอียด ของพื้นที่ทำงานจริงของประชาชน, คนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่บัตรประชาชนอยู่จังหวัดนอกเขตแดงเข้ม ทำไมถึงไม่ได้, ชื่อในระบบนายจ้าง สำนักงานใหญ่อยู่จังหวัดปลอดภัย แต่ต้องมาประจำอยู่จังหวัดแดงเข้ม ทำไมไม่ได้เงิน, นอกจากเยียวยาแล้ว ทำไมถึงช่วยเรื่องอื่นมากกว่านี้ไม่ได้ น้ำ ไฟ อินเทอร์เน็ต ค่าเช่า ดอกเบี้ย, ทำไม การจ่ายเยียวยาให้คนใน ม.39 ต้องเอาไปรอคนลงทะเบียนใหม่ของ ม.40

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ข้อเสนอ วิธีแก้ปัญหา ทางออกสมัยตนเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แก้ปัญหากำลังซื้อหดหายจากภาคบริโภคในประเทศ ตอนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ใช้ฐานข้อมูลจาก “ประกันสังคม” ออกมาตรการ “เช็คช่วยชาติ” โดยประชาชนไม่ต้องทำอะไรเลย รอรับเช็คเยียวยาอย่างเดียว ซึ่งนั่นคือ ยุค Analogue ในยุคดิจิทัลน่าจะทำได้ดีกว่านี้มาก จึงเสนอทางออก 5 ข้อ คือ 1) ใช้ data ที่มีให้เป็นประโยชน์ อย่าไปสร้างภาระกรอกข้อมูลซ้ำซาก 2) ยกเลิก 9 ประเภทกิจการนั้น และให้ทุกประเภทกิจการในพื้นที่สีแดงเข้ม ต้องได้รับการเยียวยาทั้งหมด 3) คนที่ระบบประกันสังคมมีข้อมูลเก่าอยู่แล้ว ต้องได้รับการโอนเงินทันที 4) ใครยังไม่เข้าระบบ เร่งให้ลงทะเบียน ม.40 และเปิดพร้อมเพย์ให้ครบ พร้อมยิงเงินตรงรอบละ 7 วัน และ 5) หลีกเลี่ยงการโยนความรับผิดชอบไป-มา ตั้งทีมเฉพาะกิจดูแล “คนทำงาน” ร่วมกันระหว่างกระทรวง “แรงงาน-พาณิชย์-คลัง”


กำลังโหลดความคิดเห็น