แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดก็ไม่มีวี่แววจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นมากนัก แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มได้มีการฉีดวัคซีนเป็นที่กว้างขวางแล้วก็ตาม การระบาดระลอกใหม่จากเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์มีออกมาให้เห็นอยู่เป็นระยะ ส่งผลให้การฟื้นตัวที่เราคาดหวังไว้มีแนวโน้มที่จะกลับมาได้ช้ากว่าที่คิด ประเทศที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราการฉีดวัคซีนนั้นสูงเกินกว่า 70-80% จะส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อได้ไม่ต้องกลับมาปิดเมืองอยู่เป็นระยะ ส่วนประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงช้าอยู่นั้นก็คงต้องฝ่าฟันมรสุมลูกนี้กันต่อไป
อย่างที่ทุกท่านคงทราบกันดีประเทศไทยนั้นอยู่ในกลุ่มหลัง โดยเปอร์เซ็นต์การฉีดสะสมหรือความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนนั้นอยู่ที่ 15.5% ของจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร (ข้อมูลวันที่ 14 ก.ค. 64) หรือประมาณ 13.5 ล้านคน โดยในปีนี้นั้นทางรัฐตั้งเป้าหมายว่าจะต้องฉีดให้ได้ 50 ล้านคนหรือประมาณ 70% ของประชากร หรือประมาณ 215,000 คนต่อวันก็ถือว่าน่าจะอยู่ในวิสัยที่น่าจะทำได้ แม้ว่าในทางตัวเลขนั้นดูมีความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในปีนี้ แต่ประเด็นเรื่อง ประสิทธิภาพของวัคซีน ความคลุมเครือในการสรรหาวัคซีนทางเลือก รวมไปถึงการระบาดของสายพันธุ์ใหม่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้ากว่าที่วาดฝันกันไว้ได้
การกลับมายกระดับมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่เเล้ว การระบาดระลอกใหม่นั้นส่งผลต่อการบริโภคจับจ่ายใช้สอยอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงก่อนการแพร่ระบาดก็ไม่มีทีท่าจะฟื้น จากเดิมที่เคยคาดกันไว้ว่าการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาได้ในช่วงครึ่งปีหลังคาดหวังนักท่องเที่ยวประมาณ 4-5 ล้านคน ก็ปรับลดประมาณการเหลือไม่ถึง 1 ล้านคน และดูเหมือนจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ สองปัจจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยตอนนี้เหลือเพียงแค่ภาคการส่งออกที่ยังพอประคับประคองไทยให้พอทรงตัวอยู่ได้ในปีนี้
ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยนั้นไม่ได้มาจากแค่ปัจจัยภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ปัจจัยภายนอกอย่างแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่สามารถเปิดเมืองได้แล้ว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของหลายอุตสาหกรรม และหากผู้ผลิตไม่สามารถผลักต้นทุนเหล่านี้ได้ก็จะได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการ แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไปคงเป็นอะไรที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะหากเงินเฟ้อยังคงสูงต่อเนื่องไปในระยะยาวแล้วนั้นเราก็คงหนีไม่พ้นจากภาวะ Stagflation หรือของแพงขึ้นแต่เศรษฐกิจยังคงแย่อยู่ นอกจากนี้แล้ว ประเด็นเรื่องการเมืองคงกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งหากสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ ในช่วงนี้นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยคงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนเป็นพิเศษ ให้ความสำคัญต่อพื้นฐานธุรกิจและมูลค่าที่เหมาะสมอยู่เสมอครับ
ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด