บลจ.บีแคปตั้งเป้า AUM โตแตะแสนล้านภายใน 4 ปี ส่วนปีนี้โต 20% แตะ 6.2 หมื่นล้าน พร้อมแนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นไทยรับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้น ระบุอสังหาฯ น่าลงทุน เน้นกลุ่มฟื้นตัวช้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นางเมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางกอกแคปปิตอล (BCAP) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ 20% หรือประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท จากเดิมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย กองทุนรวม 1.3 หมื่นล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.82 หมื่นล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาก็เติบโตไปแล้วถึง 4 พันล้านบาท และคาดว่าภายใน 4 ปีเอยูเอ็มของบริษัทจะเติบโตได้ถึง 1 แสนล้านบาท
“ในวันนี้เราจะออกกองทุนอีกประมาณ 10 กอง และน่าจะเป็นกองหุ้นต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งจะเน้นการลงทุนใน ETF ต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่การลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ โดยใช้ระบบและทีมงานที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้การลงทุนมีการปรับเปลี่ยนและดูแลพอร์ตการลงทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางเมธ์วดีกล่าว
การเติบโตของกองทุนรวมปีนี้โตขึ้น 95% เทียบกับสิ้นปี 2019 เทียบกับภาพรวมตลาดกองทุนรวมที่ลดลง 8% ถือว่า BCAP Asset มีการเติบโตที่สวนทางกับภาพรวมอุตสาหกรรม โดย BCAP Asset ได้มีกองทุนมากมายเพื่อตอบโจทย์นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็น BCAP-GW กองทุนที่เป็นรูปแบบพอร์ตโฟลิโอการลงทุนที่นักลงทุนสามารถถือเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตการลงทุนได้ (Core-Portfolio) และยังมีกองทุนทรัพย์สินทางเลือก BCAP-GPROP กองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก และเพื่อให้ตอบสนองนักลงทุน เราจึงมีการออกกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี BCAP-GW SSF และยังนำโมเดลการลงทุนเพื่อการเกษียณจากต่างประเทศมาออกเป็นกองทุน Target date RMF ซีรีส์กองทุน RMF แรกในประเทศไทยที่ปรับสัดส่วนการลงทุนตามช่วงอายุของผู้ลงทุนอัตโนมัติ และยังมีกองหุ้นเทคโนโลยี BCAP-CTECH กองทุนที่ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน และ BCAP-USND100 กองทุนหุ้นดัชนี NASDAQ-100 ที่ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย เช่น Apple Google Amazon ที่สร้างผลตอบแทนหลังจาก IPO มา 11 เดือนถึง 60%
ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบัวหลวงทรัพย์มั่งคั่งของเราก็มีการเติบโตของ AUM เป็น 18,000 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2019 15% เทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โตเพียง 2% อีกทั้งยังได้รับพระราชทานรางวัลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้
ส่วน Private fund เรามียอด AUM ณ สิ้นปีประมาณ 20,800 ล้านบาท โตขึ้น 19% เทียบกับปีก่อน โดยกองทุนส่วนบุคคลของเรามีจุดเด่นคือนโยบายการลงทุนที่ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายประเภทและทั่วโลก บริหารด้วยรูปแบบการลงทุนระดับโลก
นางเมธ์วดีกล่าวอีกว่า แนวโน้มการลงทุนในปีนี้บริษัทแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย หลังจากในปีที่ผ่านมาได้มีการลดน้ำหนักลงและเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ โดยกลุ่มที่น่าลงทุนจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและมีอัตราการเติบโตช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กองทุนรีทและกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นทางเลือกหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญในปีนี้ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นโรงแรม และโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
“หุ้นไทยระยะสั้นเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น และบริษัทมีความเห็นว่าควรจะทยอยสะสมเพิ่มเข้ามาในพอร์ตการลงทุน โดยกลยุทธ์ที่แนะนำให้ใช้มีความจำเป็นต้องมีการคัดเลือกหุ้นมากขึ้น ซึ่งหุ้นไทยถือว่ามีการฟื้นตัวช้า คาดว่าน่าจะเติบโตได้ในช่วงที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน”